เดินบนดิน กินเพียงอิ่ม ส่งยิ้มให้กัน แบ่งปันสู่มวลชน
Group Blog
 
<<
กันยายน 2551
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
7 กันยายน 2551
 
All Blogs
 
สภาปฏิวัติแห่งชาติกับทางออกการเมืองไทย? #2



๒. พัฒนาระบบเศรษฐกิจแห่งชาติให้สำเร็จ
ระบบเศรษฐกิจเป็นรากฐานของระบอบการเมือง และระบอบการเมืองมีบทบาทผลักดันพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจจึงจะดำเนินการโดยเอกเทศมิได้ แต่จะต้องนำเอาการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไปสัมพันธ์กับการแก้ปัญหาการเมือง โดยลงมือแก้ปัญหาการเมืองทันที และลงมือแก้ปัญหาเศรษฐกิจไปพร้อมกัน การที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยตกอยู่ในภาวะล้าหลังมาเป็นเวลานาน ยังผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศยากจน ฐานะการครองชีพของประชาชนต่ำ ไม่สามารถพัฒนาขึ้นเป็นประเทศร่ำรวย และยกฐานะการครองชีพของประชนชนให้สูงขึ้นได้ ทั้ง ๆ ที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาตินั้น ก็เพราะได้ดำเนินการแก้ปัญหาเศรษฐกิจมาโดยไม่ได้แก้ปัญหาการเมือง คือ ไม่ดำเนินการเพื่อบรรลุถึงซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันแท้จริง ฉะนั้น บนรากฐานของการแก้ปัญหาการเมืองเพื่อความสำเร็จของระบอบประชาธิปไตยดังกล่าวมาแล้ว สภาปฏิวัติแห่งชาติจะพัฒนาระบบเศรษฐกิจแห่งชาติใดสำเร็จด้วยมาตรการต่อไปนี้

๒.๑ ปรับปรุงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ความมุ่งหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คือ เพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตยสังคมประชาธิปไตย คือ สังคมที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย และมีระบบเศรษฐกิจเสรีนิยม ระบอบเศรษฐกิจเสรีนิยมที่พัฒนาภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง จะนำมาซึ่งความไพบูลย์และความยุติธรรม แต่การที่จะบรรลุความมุ่งหมายดังกล่าวนี้ได้ จะต้องใช้ระบอบประชาธิปไตยทำการเปลี่ยนระบบเสรีนิยมที่ล้าหลังและผูกขาดดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันให้เป็นระบบเสรีนิยมที่ก้าวหน้าและเสรี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีบทบาทสำคัญอันดับแรกต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ ฉะนั้นจึงต้องทบทวนโครงสร้างของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแก้ไขปรับปรุงให้สอดคล้องกับความมุ่งหมายเพื่อบรรลุถึงสังคมประชาธิปไตยที่พัฒนา ซึ่งเป็นแผนที่มีเนื้อหาในการทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่เหมาะสมกับภาวการณ์ของประเทศไทยโดยเฉพาะคือ เน้นหนักการพัฒนาการเกษตรกรรม และพัฒนาอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และการขนส่งให้สอดคล้องกัน

๒.๒ การกระจายทุน
การรวมศูนย์ทุน ทำให้วิสาหกิจขนาดใหญ่โดยเฉพาะคือ วิสาหกิจเส้นเลือดใหญ่ ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ อุตสาหกรรมหนัก การค้าต่างประเทศ การค้าส่งสินค้าหลักภายในประเทศ การขนส่งระหว่างประเทศ การขนส่งหลักภายในประเทศ มีอำนาจครอบงำและบงการต่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของระบบเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉะนั้น จึงต้องลดอำนาจของการครอบงำและบงการดังกล่าวลง โดยทำให้ทุนกระจายไปสู่ประชาชนด้วยมาตรการเหล่านี้คือ

๒.๒.๑ การปฏิรูปที่ดิน
เป็นวิธีการกระจายทุนทางที่ดินไปสู่ชาวไร่ชาวนา ในขณะเดียวกันรายได้ของเจ้าของที่ดินจากการเวนคืนที่ดิน ก็จะกระจายไปสู่รัฐวิสาหกิจอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และอื่นๆ โดยเฉพาะในรูปของพันธบัติหุ้นส่วนในรัฐวิสาหกิจเหล่านั้น การกระจายทุนทางที่ดินด้วยการปฏิรูปที่ดิน เป็นปัจจัยอันดับแรกของความเติบโตของระบบเศรษฐกิจแห่งชาติทั้งเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และการขนส่ง โดยทำเกษตรกรรมสามารถสนองวัตถุดิบแก่อุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมสนองเครื่องมือวัตถุอุปกรณ์และการป้องกันภัยธรรมชาติให้แก่เกษตรกรรม และเกษตรกรรมกับอุตสาหกรรมต่างก็สนองตลาดให้แก่กันและกัน ฉะนั้น การปฏิรูปที่ดินจึงมิใช่เพียงเพื่อการเกษตรกรรม หรือเพียงเพื่อช่วยเหลือชาวนาชาวไร่ให้มีที่ทำกิน แต่ข้อสำคัญเพื่อความเติบโตของระบบเศรษฐกิจแห่งชาติทั้งระบบ

๒.๒.๒ เปลี่ยนบริษัทครอบครัวของวิสาหกิจเอกชนต่างๆ เป็นบริษัทมหาชน

๒.๒.๓ ให้สหกรณ์เป็นเครื่องมือของการกระจายทุน

๒.๒.๔ รัฐเข้ามีส่วนร่วมนากรบริหารวิสาหกิจเอกชน
แต่เดิมรัฐเพียงแต่ควบคุมวิสาหกิจเอกชน เช่น ธนาคารชาติควบคุมธนาคารพาณิชย์ด้วยการจดทะเบียนปริมาณทุนปริมาณเงินฝาก ปริมาณเงินวางธนาคารชาติ ฯลฯ ซึ่งไม่เพียงพอแก่การลดการรวมศูนย์ทุน แต่รัฐจะต้องทำการควบคุมโดยตรง เช่น ผู้แทนของรัฐเข้ามีส่วนในการบริหารเป็นต้นอีกด้วย

๒.๓ สร้างความสมดุลระหว่างภาคสาธารณะกับภาคเอกชน
ระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมของประเทศไทย มิใช่มีแต่เศรษฐกิจเอกชนอย่างเดียว แต่มีเศรษฐกิจสาธารณะ โดยเฉพาะคือเศรษฐกิจของรัฐอีกด้วย โดยภาคสาธารณะตั้งอยู่บนรากฐานของภาคเอกชน แต่ภาคสาธารณะแม้ว่าจะเป็นฝ่ายข้างน้อยก็มีความสำคัญในฐานะเป็นหลักนำต่อภาคเอกชน และส่งเสริมช่วยเหลือภาคเอกชน ภาคสาธารณะกับภาคเอกชนจะต้องมีความสมดุลกัน จึงจะสามารถเป็นปัจจัยให้แก่การขยายตัวของกันและกัน วิธีการสร้างความสมดุล คือ ปรับปรุงการบริหารของภาคสาธารณะโดยเฉพาะของรัฐวิสาหกิจเสียใหม่ทั้งหมดทั้งฝ่ายสาธารณูปโภคและฝ่ายบริโภค ทั้งที่ผูกขาดและไม่ผูกขาด เพื่อให้รัฐวิสาหกิจเหล่านั้นมีประสิทธิภาพเท่าเทียมหรือเหนือกว่าวิสาหกิจเอกชน เพื่อจะได้ทำหน้าที่เป็นหลักนำและส่งเสริมช่วยเหลือวิสาหกิจเอกชน และเพื่อคานวิสาหกิจเอกชนในการรักษาเสถียรภาพของตลาด การปรับปรุงการบริหารของภาคสาธารณะนั้น ให้องค์การแรงงานของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ เข้าร่วมดำเนินการด้วย

๒.๔ สร้างความสมดุลระหว่างเกษตรกรรมกับอุตสาหกรรม
สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบัน เกษตรกรรมเป็นฝ่ายครอบงำ แต่ทิศทางของพัฒนาการจะต้องมุ่งไปสู่ความเป็นอุตสาหกรรม ภายใต้สภาวการณ์ดังกล่าวการพัฒนาจะต้องเน้นหนักในการพัฒนาเกษตรกรรม ขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาอุตสาหกรรมให้ได้สัดส่วนกัน และการพัฒนาอุตสาหกรรมจะต้องเน้นหนักการพัฒนาอุตสาหกรรมเบา (อุตสาหกรรมแปรวัตถุดิบเกษตรกรรมภายในประเทศ เป็นสินค้าสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูป) แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมเบาก็ต้องมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก (อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมเครื่องจักร อุตสาหกรรมเคมี) ซึ่งเป็นรากฐานอันสำคัญที่สุดของการทำเกษตรกรรมให้ทันสมัย

๒.๕ สร้างความสมดุลระหว่างเมืองกับชนบท
ที่แล้วมาการขยายตัวของเมืองและชนบทเป็นไปอย่างไม่สม่ำเสมอ ความเจริญเข้ามารวมอยู่ในเมืองหลวงและนครใหญ่ ชนบทยังล้าหลังห่างไกล ฉะนั้น จึงต้องเร่งรัดสร้างความเจริญให้แก่ชนบทในทุกทาง และทำให้ชนบทให้เป็นที่อยู่ดีกินดี ขณะเดียวกันก็ระบายความแออัดยัดเยียดออกจากเมืองหลวงและนครใหญ่ วิธีการคือ จะต้องแบ่งสันปันส่วนภาษีอากรระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นอย่างเหมาะสม และทำให้ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นไม่ต้องอาศัยงบประมาณส่วนกลาง กับขยายอุตสาหกรรมไปสู่ชนบทให้สอดคล้องกับเกษตรกรรม ที่ไหนมีเกษตรกรรมอย่างไรก็ขยายอุตสาหกรรมแปรวัตถุดิบอย่างนั้น สร้างความสมดุลระหว่างเกษตรกรรมกับอุตสาหกรรมขึ้นในท้องถิ่นและยกระดับของชนบทจนถึงขนาดที่คนไม่ไหลเข้าสู่เมือง แต่ชนบทกลับเป็นที่ดึงดูดคนในเมืองให้ระบายออกไป

๒.๖ สร้างความสมดุลระหว่างการขยายตัวทางเศรษฐกิจกับการขยายตัวของประชากร
ปัญหาร้ายแรงในปัจจุบันก็คือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ทันกับการขยายตัวของประชากร จึงจำเป็นอย่างรีบด่วนที่จะต้องเร่งรัดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างงานให้เพียงพอกับคน ขณะเดียวกันก็จะต้องลดการขยายตัวของประชากรอย่างน้อยชั่วระยะหนึ่ง การเร่งรัดการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็คือ

๒.๖.๑ เพิ่มการผลิตทางการเกษตร บนรากฐานของการปฏิรูปที่ดินและทำเกษตรกรรมให้ทันสมัย
ทำการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ โดยเฉพาะคือพืชเศรษฐกิจด้วยการใช้วิชาการเกษตรกรรมแบบใหม่ให้ทั่วถึง ปรับปรุงระบบชลประทาน จัดหาและจำหน่ายปุ๋ยในราคาเยา ส่งเสริมการปลูกพืชหมุนเวียน ให้การศึกษาด้านเกษตรกรรมแก่ชาวนาชาวไร่อย่างเต็มที่ ขยายกิจการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ให้กว้างขวางทั่วประเทศ เพิ่มบริการชาวนาชาวไร่อย่างมีประสิทธิภาพ จัดประเภทการผลิตทางเกษตรกรรมให้เหมาะสมกับท้องที่ และแนะนำเกษตรกรให้ปลูกพืชให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด ประกันราคาของสินค้าเกษตรกรรม โดยขยายและรักษาตลาดต่างประเทศอย่างมั่นคงและใช้ค่าพรีเมี่ยมทั้งหมดเป็นกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ใช้วิธีการสหกรณ์เข้าช่วยเหลือการขยายเกษตรกรรมอย่างเต็มที่ และสนับสนุนการรวมกลุ่มเกษตรกรเป็นสถาบันการเกษตร

๒.๖.๒ เพิ่มการผลิตทางอุตสาหกรรม เน้นหนักอุตสาหกรรมที่แปรรูปวัตถุดิบเกษตรกรรมภายในประเทศ ให้เป็นสินค้าสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูปพร้อมทั้งขยายการผลิตของอุตสาหกรรมครอบครัว ทั้งนี้เพื่อเพิ่มพูนสินค้าบริโภคให้มากที่สุด และการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว จะต้องมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอุตสหกรรมขั้นมูลฐาน ป้องกันการโจมตีจากต่างประเทศโดยตั้งกำแพงภาษี หรือห้ามสั่งสินค้าเข้าตามความเหมาะสม กระจายอุตสาหกรรมไปยังแหล่งวัตถุดิบขยายการฝึกอบรมแรงงาน ส่งเสริมสมาคมนายจ้างและสหภาพแรงงาน และส่งเสริมหลักการผลประโยชน์ซึ่งกันและกันระหว่างนายทุนกับแรงงาน ส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

๒.๖.๓ ขยายพาณิชยกรรม ขยายตลาดต่างประเทศทั้งสินค้าเกษตรกรรมและสินค้าอุตสาหกรรม พยายามขยายตลาดเข้าไปในตลาดสังคมนิยมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และรัฐเข้าดำเนินการค้าต่างประเทศเองตามความจำเป็น แก้ไขความเสียเปรียบในวิธีดำเนินการค้าและธุริจของต่างประเทศ แก้ไขการเสียเปรียบดุลการค้า โดยลดปริมาณสินค้าปัจจัยบริโภคโดยเฉพาะ คือ ของฟุ้มเฟือย และเพิ่มปริมาณสินค้าปัจจัยการผลิตโดยเฉพาะคือ เครื่องจักร พยายามตัดคนกลางในการส่งวัตถุดิบไปต่างประเทศ พร้อมทั้งกวดขันการควบคุมมาตรฐานสินค้า เพิ่มปริมาณส่งออกวัตถุแปรรูป การค้าบางอย่างใช้วิธีแลกเปลี่ยนสินค้าโดยตรง ส่วนตลาดภายในประเทศจะต้องทำให้มีเสถียรภาพ โดยให้องค์การค้าของรัฐทำหน้าที่ตรึงราคาอย่างมีประสิทธิภาพ และใช้สหกรณ์กำจัดคนกลาง

๒.๖.๔ ขยายการขนส่ง โดยเพิ่มปัจจัยการขนส่งอย่างรอบด้าน ควบคุมค่าขนส่งให้พอเหมาะพอดี มิให้มีผลกระทบกระเทือนต่อการตลาดและการผลิต

๒.๖.๕ ขยายทุน ระดมและกระจายทุนทั้งทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และการขนส่ง โดยเน้นหนักในการขยายทุนทางเกษตรกรรม แหล่งของทุนเอามาจากการผลิต ภาษีอากร การประหยัด และทุนจากต่างประเทศที่ไม่มีเงื่อนไขทางการเมือง

๒.๗ ควบคุมการเฉลี่ยรายได้แห่งชาติให้เป็นธรรม
ตามสภาพที่เป็นอยู่รายได้แห่งชาติ ๙๐ % เฉลี่ยระหว่างคนรวย และรายได้แห่งชาติ ๑๐% เฉลี่ยระหว่างคนจน ซึ่งเป็นการเฉลี่ยที่ไม่เป็นธรรม เป็นเหตุให้ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยกว้างมาก รัฐจึงต้องควบคุมการเฉลี่ยรายได้แห่งชาติให้เป็นธรรม เพื่อลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนให้แคบลง การควบคุมเฉลี่ยรายได้แห่งชาตินั้น มิใช่กระทำด้วยกฎหมายหรืออำนาจบังคับ แต่กระทำโดยการส่งเสริมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจให้เหมาะสมกับสภาพของประเทศไทย ตามนโยบายและแผนอันถูกต้อง เพื่อให้เศรษฐกิจแห่งชาติได้ขยายตัวไปอย่างราบรื่นและรวดเร็ว เช่น การจำกัดการผูกขาด การกระจายทุน การขยายการผลิต การตัดคนกลาง การเฉลี่ยงบประมาณระหว่างส่วนกลางกับส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น เป็นต้น การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างได้ผลตามนโยบายและแผนอันถูกต้อง ทำให้รายได้เฉลี่ยของประชากรทั่วไปสูงขึ้น และการใช้ระบบผูกขาดควบคุมการครองชีพของประชาชนก็จะเบาบางหรือหมดสิ้นไป ทำให้เกิดการเฉลี่ยรายได้แห่งชาติเป็นธรรมโดยอัตโนมัติ แม้จะใช้กฎหมายบ้างก็เป็นส่วนประกอบเท่านั้น แต่ถ้าไม่พัฒนาเศรษฐกิจให้ได้ผล การใช้กฎหมายในเรื่องนี้ก็ไม่มีประโยชน์ อย่างกฎหมายกำหนัดค่าจ้างขั้นต่ำ ถ้าพัฒนาเศรษฐกิจล้มเหลว กฎหมายนั้นก็เป็นเพียงเศษกระดาษชิ้นหนึ่ง รวมความว่าการควบคุมเฉลี่ยรายได้แห่งชาติ ก็คือการพัฒนาระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมที่เหมาะสมกับประเทศไทยให้เป็นไปตามนโยบายและแผนอันถูกต้อง

๒.๘ ร่วมมือทางเศรษฐกิจกับนานาประเทศ โดยไม่เลือกระบบสังคม ภายใต้หลักการของความเป็นอิสระและพึ่งตนเอง
การเมืองตั้งอยู่บนรากฐานของเศรษฐกิจ ฉะนั้น การร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่จะไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเลยจึงเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือระหว่างประเทศในระบบสังคมเดียวกัน หรือคนละระบบสังคมก็ตาม ถ้ายอมรับว่าเศรษฐกิจและการค้าขึ้นต่อการเมืองและดำเนินไปตามหลักการนี้ โดยทำให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้ากับประเทศสังคมนิยมและประเทศเสรีนิยมด้วยกันขึ้นต่อนโยบายต่างประเทศที่ถูกต้องแล้ว การร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการค้ากับนานาประเทศโดยไม่เลือกระบบสังคม ก็จะเป็นผลดีแก่การพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติอย่างใหญ่หลวง และนี่คือการร่วมมือภายใต้หลักการของความเป็นอิสระ และพึ่งตนเองตามลักษณะพิเศษของนโยบายต่างประเทศที่ถูกต้องของไทย คือ นโยบายอิสระ

๒.๙ ปัญหาการคลังและการเงิน
การคลังและการเงินเป็นองค์ประกอบสำคัญของเศรษฐกิจ จึงต้องแก้ปัญหาการคลังและการเงินโดยสัมพันธ์กับการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ การขยายเศรษฐกิจจะต้องดูจากการผลิตการภาษีว่าขยายตัวได้อย่างไร ไม่ให้เกินตัวจนต้องอาศัยเงินกู้จนเกินควร การเก็บภาษีควรเอาจากการผลิตเป็นอันดับแรก ภาษีสินค้าขาเข้าขาออกเป็นอันดับต่อมา ภาษีเอกชนเป็นอันดับสุดท้าย แต่ภาษีสินค้าเข้าสินค้าออกจะต้องไม่ทำลายการส่งเสริมการผลิตและการค้าต่างประเทศ ปัญหาการเงินที่สำคัญนั้นอยู่ที่จะต้องรักษาเสถียรภาพของเงินบาท วิธีการคือ เปลี่ยนมาตรฐานเงินตราต่างประเทศเป็นมาตรฐานทองคำเป็นหลัก เพราะในปัจจุบันเงินตราต่างประเทศ เช่นสกุลดอลล่าร์มักจะขาดเสถียรภาพ แต่ไม่หมายความว่าจะยกเลิกมาตรฐานเงินตราต่างประเทศเพียงมาตรฐานดอลล่าร์ มาตรฐานปอนด์ ฯลฯ เป็นส่วนประกอบ วิธีการเช่นนี้จะเป็นส่วนช่วยอย่างสำคัญในการรักษาเสถียรภาพของเงินบาท



Create Date : 07 กันยายน 2551
Last Update : 7 กันยายน 2551 8:33:18 น. 2 comments
Counter : 330 Pageviews.

 
คุณศานติ ช่วยกรุณา บอกที่มาที่ไปให้หน่อยซีคะ ว่า
“คดีสภาปฏิวัติแห่งชาติ " มันมีที่มาที่ไปอย่างไร ใคร หรือคณะใดเป็นคนคิด มีการดำเนินการกันอย่างไร ไปบ้างแล้ว เพราะอ่านแล้วชอบค่ะ ก้เลยอยากรู้ความเป็นมา


โดย: มะนาว (manow_noi ) วันที่: 7 กันยายน 2551 เวลา:10:53:43 น.  

 
ถูกต้อง

เมื่อสิ่งไหนไม่ดีต้อง ปฏิวัต ไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

เสียงเค้าว่ากันพรรณนั้น จ๊ะ


โดย: บ้าได้ถ้วย วันที่: 7 กันยายน 2551 เวลา:20:02:16 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sarntee
Location :
นครราชสีมา Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add sarntee's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.