One Day Trip พาแม่ไปเที่ยวปราจีน ก่อนวันแม่



วันเสาร์ที่ 10 ส.ค.56

ตั้งใจพาแม่และครอบครัว ไปเที่ยวแบบสบายๆหนึ่งวัน ไม่อยากพาไปตรงกับวันแม่ เพราะเบื่อเรื่องการจารจร นักท่องเที่ยวจำนวนมากและร้านอาหารที่วันนั้นทุกคนต้องพาแม่มากิน ยิ่งร้านดังๆด้วย ไม่อยากอารมณ์เสียเลยขอพาแม่มาเที่ยวก่อน ส่วนวันแม่ นอนอยู่บ้านหาอะไรมาทำกินเองดีกว่า ว่าแล้วก็ไปเที่ยวด้วยกันครับ





สมาชิกวันนี้ไปทั้งหมด 5 คน ออกเดินทางเวลา 08.30 น.ชิวๆครับ ไม่รีบ เซทไมล์ที่ 0 น้ำมันเต็มถัง จากนนท์ (ศาลากลางนนท์) ใช้เส้นทางวิภาวดี-รังสิต-นครนายก-ปราจีนบุรี ใครไปไม่ถูกให้ดูป้าย จังหวัด รับรองไม่หลงครับ

เข้าตัวจังหวัดปราจีน ได้หลงตามระเบียบ 555 ถามทางไปตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร รู้จักทุกคนครับ บอกทางเป็นอย่างดี รู้แต่ว่าขับข้ามสะพานจะเป็นสี่แยกสัญญาณจราจร เลี้ยวซ้ายขับตามแม่น้ำไป ก็จะถึง รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร

ผมมาถึง ร.พ.เวลา 11.30 น. ระยะทาง 136 ก.ม. ขับมาเรื่อยๆครับแวะบ้านญาติแถวคลอง 6 ทริปนี้ไม่รีบ





อยู่ภายในโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ห่างจากตัวเมือง
ประมาณ 2.5 กิโลเมตรเป็นตึกที่เจ้าพระยาอภัยภูเบศร สร้างขึ้นในปี
พ.ศ. 2452 เพื่อถวายเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
เจ้าอยู่หัวในคราวเสด็จประพาส มณฑลปราจีน มีลักษณะสถาปัตยกรรม
เป็นตึกสองชั้น แบบยุโรปสมัยเรอเนสซอง มีมุขด้านหน้า ตรงกลางเป็น
โดม ผนังด้านนอกมีลายปูนปั้นลายพฤกษาประดับซุ้มประตูและหน้าต่าง







ผมพาแม่มาไม่ได้ มาตามรอยละครดังอะไรหรอกครับ เพียงแต่แม่กับแฟนผมเค้าชอบผลิตภัณฑ์ของ พระยาอภัยภูเบศร นะครับ ไหนๆมาเที่ยวปราจีนแล้วเลยพามาซื้อถึงที่เลยครับ

แต่จะว่าไปตึกเค้าก็สวยอยู่เหมือนกันครับ







ตัวตึกถ้าหันหน้าเข้า ร.พ.จะอยู่ทางซ้ายมือครับ

ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรนี้เป็นออาคารสถาปัตยกรรมตะวันตกสองชั้น
ก่ออิฐถือปูน หลังคาทรงปั้นหยามุงกระเบื้องสี่เหลี่ยมลอนเล็กที่สั่งมาจาก
ฝรั่งเศล ตรงกลางหลังคาเป็นโดม ที่ยอดโดมมีเครื่องบอกทิศทางลม
ทำด้วยโลหะเป็นรูปไก่

ขนาดตัวอาคารกว้าง 18.60 เมตร ยาว 38.40 เมตร ภายในตัวอาคาร
แต่ละชั้นแบ่งออกเป็น 3 ห้อง ด้านหน้าของห้องโถงใหญ่ชั้นบนทำเป็น
ดาดฟ้า อาคารหลังนี้สร้างตามแบบอาคารเดิมของท่านเมื่ออยู่พระตะบอง
วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างล้วนนำมาจากต่า่งประเทศทั้งสิ้น ส่วนช่าง
สันนิฐานว่ามาจากดินแดนอินโดจีน ลัษณะสถาปัตยกรรมของตึกนี้
เป็นการเลียนแบบสถาปัตยกรรมยุคบาร็อค (Baroque)



















ชั้นล่างตรงกลางจะถ่ายทำละครเรื่องวนิดา จะมีมุมสวยๆให้ถ่ายเยอะ ตอนละครดังๆออกอากาศช่วงแรกๆนักท่องเที่ยวคงมาชมกันเยอะมาก ตอนนี้ไม่ค่อยมีแล้วครับ

ทางด้านขวามือจะเป็น ร้านโพธิ์เงินโอสถ















จะขายยาสมุนไพร มีหลายอย่าง พวกยาดองก็มีให้เลือกหลายอย่าง หรือจะซื้อไปต้มเองก็ได้ สนใจลองค้นในอากู๋ดูเอา ผมลงลิงค์ไม่ได้ เวปพันทิปไม่อนุญาตให้ลงครับ

ส่วนทางด้านซ้ายมือจะจัดแสดงประวัติความเป็นมา ของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ครับ





ส่วนชั้นสองไม่รู้ว่าเปิดให้ขึ้นไปชมหรือเปล่า ผมไม่ได้ขึ้นไปครับ เดินถ่ายรูปได้ซักพัก แม่ผมก็ไปซื้อผลิตภัณฑ์ ศูนย์สมุนไพรเพื่อสุขภาพอภัยภูเบศร อีกตึกหนึ่ง จะอยู่แถว 7/11 ครับ







ภายในมีผลิตภัณฑ์เยอะมากเลยครับ













ใครสนใจเข้าชม ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศและซื้อผลิตภัณฑ์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 0 3721 1088 ต่อ 3166 หรือ 0 3721 6164 และยังมีร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ในราคาย่อมเยาว์ชั้นล่าง ของโรงพยาบาล เปิดทุกวัน เวลา 08.30-20.30 น.หป โทร. 0 3721 1088 ต่อ 3166 เปิดบริการทุกวันเวลา 08.30-17.00 น.

































หลังจากซื้อผลิตภัณฑ์เสร็จ ก็ได้เวลากินข้าวเที่ยงแล้วครับ ออกจาก รพ.ก็เลี้ยวขวา (เลี้ยวซ้ายจะกลับเข้าปราจีน) ขับไปประมาณ 1 ก.ม.ก็จะเจอร้านอาหารชมชล แถวนี้มีสองร้านครับ จะผ่านร้าน บ้านริมน้ำก่อน (ทั้งสองร้านจะติดแม่น้ำปราจีนบุรี) ผมเลือกไปกินที่ร้านชมชล ห่างจาก รพ.ประมาณ 1 ก.ม.





ร้านอาหารจะมีสองส่วน อยู่ข้างบนและลงแพ ใครไปแนะนำให้ลงแพดีกว่าครับ เพราะจะเย็นกว่าข้างบนเยอะ ช่วงที่ผมไป ในแพลูกค้าเต็มทุกโต๊ะ นั่งรอซักพักก็ได้นั่งในแพ บรรยากาศดีกว่าข้างบนเยอะเลย





ระหว่างนั่งรอโต๊ะ มาดูเมนูร้านกันก่อนครับ







อาหารจานแรกที่ผมสั่ง เห็ดสามอย่างผัดซอส อยู่ในเมนูแนะนำ จานนี้อร่อยมากเลยครับ ต้องสั่งเพิ่มมาอีกจาน แนะนำเลยครับใครมีโอกาสแวะไปกินอย่าลืมสั่งจานนี้เด็ดขาด





จานที่สอง ส้มตำสาหร่ายแก้ว จะเสิร์ฟมาพร้อมกับเส้นหมี่ขาว ส้มตำเผ็ดไปหน่อยแต่พอมาคลุกกับเส้นหมี่ รสชาติไม่หวานมากเปรี้ยวกำลังดี เสียดายเผ็ดไปหน่อย (บ้านผมไม่กินเผ็ดครับ)





จานต่อไป ปูม้าผัดผงกระหรี่ จานนี้จานโปรดผมครับ ตอนแรกอยากได้แบบเป็นเนื้อปู ขี้เกียจแกะ แต่ทางร้านบอกไม่มี ขายเป็นตัวก็เลยเอามาจานนึงครับ ตัวไม่ใหญ่มากกำลังดี จานนึงมีประมาณสามตัวได้ รสชาติออกหวานไปหน่อย (พอดีผมกินหวาน) แต่ไม่ถึงกับหวามมากและที่ขัดใจอีกอย่างใส่กระหล่ำปีไว้ข้างจานทำไมอ่ะ แต่ดีที่ปูนั้นสดมากครับ เนื้อแน่น ก้ามปูดึงเนื้อออกมาเป็นก้อนไม่ติดกระดอง ผมกับแม่นั่งแทะกันหมดจานเลย ส่วนแฟนผมบอกว่าเฉยๆ รสยังไม่เข้มข้นเท่าไหร ก็ว่ากันไป อิอิ





ปลาสำลีทอดน้ำปลา จานนี้เนื้อปลาหวานมากแสดงถึงความสด ทอดกรอบกำลังดี เด็กที่ดูแลแม่ผมเอาตรงส่วนหัวไปแกะกินจนแมวร้องไห้เลยครับ บอกว่าอร่อยกว่าเนื้ออีก เคี้ยวกรอบอร่อยดี ไม่ต้องจิ้มกับน้ำจิ้มเลย





ต้มยำไก่บ้าน ให้มาเป็นหม้อน้ำต้มยำแซ่บมาก รสชาติกลมกล่ม เปรี้ยวกำลังดี ที่เด็ดตรงใส่เห็ดมาให้ด้วย สมาชิกต่างตักเห็ดไปกินกันหมด ส่วนไก่ไม่มีใครกินนอกจากผม เสร็จโจร 555 รู้งี้ สั่งต้มยำเห็ดดีกว่าอีก





ฉู่ฉี่กุ้งแม่น้ำ จานนี้หวานไปหน่อย เครื่องแกงยังไม่ค่อยหอมเท่าไหร่ แต่ก็ไม่ถึงกับเลวร้าย ถ้าลดหวานลงมาหน่อย เติมเผ็ดอีกนิดโอเคเลยครับ





สั่งมาทั้งหมด 6 อย่าง 7 จาน ข้าว 1 โถ กับอีก 2 จาน น้ำแข็ง 1 กระติ๊ก น้ำเปล่า+เป็ปซี่ 5 ขวด ราคา 1,515 บาท  สำหรับวัตถุดิบที่นำมาใช้ ทุกอย่างใหม่สด ส่วนรสชาติผมให้ผ่านด้านความอร่อยแต่ไม่ถึงกับสุดยอด การบริการน้องผู้ชายบริการดีมาก เอาใจใส่ดูแลบริการเป็นอย่างดี ความสะอาดผมให้ 3.5 เต็ม 5 ในระดับร้านอย่างนี้ผมถือว่าสะอาดแล้วครับ ส่วนอาหารไม่ถือว่าเร็ว แต่ก็ไม่นานจนหงุดหงิด อาหารรอจะลงมาเสิร์ฟพร้อมกันทีเดียวเลยก็โอเค ส่วนอีกร้านไม่เคยกิน ใครไปเที่ยวปราจีนยังไม่รู้จะกินที่ร้านไหน ก็ลองมากินที่ ร้าน ชมชล ได้ครับ





เรียกเก็บตังค์เสร็จ ทางร้านเค้าจะเตรียมขนมใส่ไส้แถมให้กินฟรี 1 จาน ผมกินไม่ลงแล้วครับ มีแต่หลานกับแฟนที่กิน บอกว่าอร่อย เสียดายผมอิ่มเลยไม่ได้ชิม สำหรับร้านนี้ บอกได้คำเดียวว่าไม่เสียดายเงินที่จ่ายไปเลยครับ ไว้มีโอกาสไปอีกจะแวะไปอุดหนุนใหม่นะครับ





อิ่มเสร็จ เวลา 13.55 น.ระยะทาง 137 ก.ม.ก็ออกเดินทางไป ดาษดา รีสอร์สต่อ

ออกจากร้านให้วิ่งกลับไปทาง รพ.จะเจอสี่แยกไฟแดงเลี้ยวขวาขึ้นสะพาน ขับตรงไปจะเจอสี่แยกแรก เลี้ยวซ้ายเลยครับ วิ่งตรงโลดจะไปสุดถนนเจอสามแยกตัวที ให้เลี้ยวขวา ขับตรงไปตามทางจะไปถึงสถานีรถไฟปราจีนบุรี บังคับเลี้ยวขวาวิ่งไปตามทางจะข้ามทางรถไฟ ผ่าน รพ.จักรพงษ์ ก็ขับตรงยาวเลยครับ จะมาถึง วงเวียนสมเด็จตากสินมหาราช ให้ขับตรงขึ้นไปทางเขาใหญ่ จากแยกไปเขาใหญ่ระยะทางประมาณ 8 ก.ม.ก็มาถึง ดาษดา รีสอร์ท แล้วครับ

ดาษดา จะอยู่ทางด้านขวามือ ติดถนน เห็นชัดครับ





ดาษดา เปลี่ยนที่จอดรถใหม่ให้มาจอดด้านหน้าแทน จะเดินไกลหน่อยนะครับ ส่วนผมมีผู้สูงอายุ เค้าให้ไปซื้อบัตรค่าเข้าก่อน (คนละ 50 บาท) แล้วขับไปส่งถึงข้างหน้าได้เลย แล้วผมค่อยขับรถออกมาจอดที่เดิม





จุดที่ซื้อบัตร จะอยู่ปากทางเข้าครับ





ดาษดา จะมีสองส่วน ส่วนที่เป็นรีสอร์ท จะแยกออกไปต่างหาก บุคคลภายนอกห้ามเข้าไป ส่วน ดาษดา แกลลอรี่ ไว้สำหรับจัดดอกไม้ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมได้ แต่ไม่ได้จัดทุกวัน ต้องติดตามเองครับว่าจะจัดวันไหนบ้าง 

ที่เห็นเป็นส่วนของ แกลลอรี่ ครับ







ผมมาถึง ดาษดา เวลา 14.17 น. ระยะทาง 160 ก.ม.

สำหรับผู้สุงอายุ ใครเดินไม่ไหว เค้ามีรถเข็นให้ยืมได้ครับ สะดวกดี ไม่อธิบายแล้วนะครับ ยิงยาวโลด...

























































































ทริปนี้ไม่ได้อธิบาย ดูรูปอย่างเดียวแล้วกัน เพราะผมอธิบายในบล็อกที่แล้ว ขอลาที่ดาษดา ด้วยภาพแม่ผมเองครับ





ผมออกจาก ดาษดา เวลา 16.00 น. ขับกลับเส้นทางเดิม มาถึงแยกแครายแวะกินก๋วยเตี๋ยวมื้อเย็น แล้วเข้าบ้าน เวลา 19.15 น.ระยะทางทั้งหมด 292 ก.ม.พอดีครับ

จบทริปหนึ่งวันแบบสบายๆ ไม่เหนื่อยมาก แม่ผมได้ผลิตภัณฑ์ อภัยภูเบศร และได้เดินชมดอกไม้ที่ ดาษดา แค่นี้แม่ผมก็มีความสุขแล้วครับ





แนะนำสำหรับทริปสั้นๆ 

ออกเช้า ไปฉะเชิงเทราไหว้หลวงพ่อโสธร แวะตลาดบ้านใหม่ หรือขับไปที่ตลาดน้ำบางคล้า เที่ยงๆออกจากตลาดน้ำบางคล้า วิ่งไปออกพนมสารคาม-ศรีมโหสฬถ-ตัวเมืองปราจีนบุรี แวะถ่ายรูปตึกอภัยภูเบศร บ่ายสอง-บ่ายสามเข้า ดาษดา (เช็ดให้ดีก่อนนะครับว่าจัดดอกไม้หรือเปล่า เดี๋ยวจะไปเสียเวลา) เย็นๆวิ่งกลับเส้นรังสิต ถ้ามีเวลาจะแวะเที่ยวน้ำตกแถวนครนายกต่อก็ได้ หรือจะวิ่งวนขึ้นเขาใหญ่แบบทริปผมก็ได้ครับ รังสิต-นครนายก-เขาใหญ่-สระบุรี-นนท์
ใครสนใจทริปนี้ดูในบล็อกผมได้ครับ คลิ๊กจ้า





สรุป
ทริปนี้ ออก 08.30 น.ถึงบ้าน 19.15 น. รวมระยะทางทั้งหมด 292 ก.ม.หมดน้ำมันไปหนึ่งขีดนิดๆ ใช้ความเร็วโดยเฉลี่ย 80 ก.ม./ช.ม.





ค่าใช้จ่าย
- สินค้า ผลิตภัณฑ์ที่ รพ.อภัยภูเบศร ทั้งหมด 1,305 บาท
- ผักปลอดสารที่ รพ.อภัยภูเบศร 295 บาท
- กินข้าวมื้อเที่ยง ร้านชมชล 1,550 บาท (อาหาร 1,515 ทิปพนักงาน 35 บาท)
- ค่าเข้า ดาษดา 250 บาท (5 คนคนละ 50 บาท)
- ซื้อต้นไม้ที่ดาษดา 500 บาท (5 ต้นต้นละ 100 บาท)
- ก๋วยเตี๋ยวมื้อเย็น 325 บาท

รวมทั้งหมด 4,225 บาท






Create Date : 12 สิงหาคม 2556
Last Update : 10 ตุลาคม 2560 16:46:18 น. 3 comments
Counter : 14904 Pageviews.

 
ประวัติตึกเจ้าพระยา



ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2452 โดยท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) เพื่อใช้รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่ทรงสิ้นพระชนม์ก่อน ต่อมาตึกหลังนี้ได้ใช้รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2455 และเชื้อพระวงศ์อีกหลายพระองค์ ตึกหลังนี้เป็นมรดกตกทอดมาถึงพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6 และพระองค์ได้มอบตึกหลังนี้ให้แก่ทางราชการ ในปี พ.ศ. 2482 และได้กลายเป็นตึกผู้ป่วยที่สวยงามที่สุดจนถึงปี พ.ศ. 2512 ในสมัยนายแพทย์สุจินต์ พลานุกูล ได้ทำการบูรณะและจะเปิดใช้เฉพาะในโอกาสพิเศษเท่านั้น ต่อมาได้มีการบูรณะตึกครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2537 โดยงบประมาณของจังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 2.5 ล้านบาท และคุณป้าจรวย ประสมสน บริจาคสมทบอีก 100,000 บาท เพื่อจัดทำเป็น พิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร



ประวัติเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ( ชุ่ม อภัยวงศ์ ) (พ.ศ.2404 - 2465)

ต้นตระกูลอภัยวงศ์นั้นคือ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) ซึ่งในสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้รับราชการอยู่ที่กัมพูชา เพราะขณะนั้นเกิดการจลาจลเหลือแต่นักองค์เอง ซึ่งยังทรงพระเยาว์อยู่ เมื่อนักองค์เองเติบใหญ่ได้พระราชทานภิเษกให้ปกครองกัมพูชา และทรงมีพระราชดำรัสขอเมืองพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) ครอบครองตรงต่อกรุงเทพฯตั้งแต่ พ.ศ.2337 เพื่อเป็นบำเหน็จแก่เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) ที่ปกครองกัมพูชาโดยเรียบร้อยมาถึง 12 ปี

เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ( ชุ่ม อภัยวงศ์ ) เกิดเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2404 ที่ จังหวัดพระตะบอง เป็นบุตรเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ ( เยีย) ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบองและท่านผู้หญิงทิม เมื่อเจริญวัยมีอายุสมควรเข้ารับราชการได้ บิดาจึงได้นำเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กวิเศษอยู่มณฑลกรุงเทพ ฯ ในสมัย



รัชกาลที่ 5 ได้ ไปฝึกหัดราชการในสำนักสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และในราชสำนักท่านมีความกตัญญูกตเวทิตาคุณต่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างยิ่ง ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนเป็น พระอภัยพิทักษ์ ตำแหน่งผู้ช่วยราชการเมืองพระตะบอง จากนั้นจึงได้ออกไปรับราชการกับบิดา

ปี พ.ศ. 2435 บิดาถึงแก่อสัญกรรม ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์เลื่อนเป็น พระอภัยพิทักษ์ ตำแหน่ง ผู้ช่วยราชการเมืองพระตะบอง ปี พ.ศ. 2439 โปรดเกล้า ฯ ให้รวมหัวเมือง พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ และพนมศก เข้าเป็นมณฑลเรียกว่า มณฑลบูรพา

ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ( ชุ่ม อภัยวงศ์ ) มีความแตกต่างจากบรรพบุรุษ เนื่องจากได้เข้ามาศึกษาในมณฑลกรุงเทพ ฯ จึงเป็นที่คุ้นเคยกับขนบธรรมเนียมประเพณีของสยามและนโยบายของรัชกาลที่ 5 เจ้าพระยาอภัยภูเบศรรับราชการด้วยความสามารถ ฉลาด รู้ทางได้ทางเสีย ปฏิบัติราชการมิได้บกพร่อง ในปี พ.ศ. 2446 จึง โปรดเกล้าให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นผู้สำเร็จราชการ มณฑลบูรพาและให้ว่าราชการเมืองพระตะบอง ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์เลื่อนเป็นพระยาคทาธรธรณินทร์

ปี พ.ศ. 2449 เกิดการผันแปรทางการเมืองระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีน ของฝรั่งเศส ซึ่งกัมพูชา ตกไปอยู่ภายใต้การปกครอง ของฝรั่งเศส ฝรั่งเศสได้ขอเปลี่ยนแผ่นดินเมืองตราด ซึ่งอยู่ภายใต้ความครอบครอง ของมณฑลบูรพาทั้งหมดของไทย รัฐบาลไทยจึงได้ตกลงสัญญา เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2447 และแลกเปลี่ยนสัตยาบรรณสัญญาระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส ณ กรุงปารีส เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2450 ต่อ มาเจ้าพระยาอภัยภูเบศรจึงได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้า อยู่หัว ขอพระ ราชทานราชานุญาต อพยพเข้ามารับราชการสนองพระเดชพระคุณในกรุงเทพฯ ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศรจึงได้อพยพครอบครัวและผู้ติดตามเข้ามาอยู่ในประเทศไทยที่เมืองปราจีนบุรี

ปี พ.ศ. 2452 ท่าน เจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้สร้างตึกใหญ่โตงดงาม โดยมีเจตนารมณ์เพื่อจะกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประทับแรม แต่ไม่ทันเพราะทรงเสด็จสวรรคตเสียก่อน ต่อมาในปี พ.ศ. 2455 พระบาทสมเด็จ พระมหาวชิราวุธมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ 6 ) ได้เสด็จประพาสเมืองปราจีนบุรี เจ้าพระยาอภัยภูเบศรจึงขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสใช้ตึกหลังนี้เป็นที่ รับเสด็จได้อย่างเรียบร้อยและสมพระเกียรติ

ตึกหลังนี้สร้างขึ้น ในปี พ.ศ. 2452 โดยบริษัท โฮวาร์ด เออร์สกิน ซึ่งเป็นแบบเดียวกัน กับตึกของ ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่พระตะบอง นอกจากใช้รับเสด็จรัชกาลที่ 6 แล้ว ยังได้ใช้ รับเสด็จ เชื้อพระวงศ์ ในสมัยต่าง ๆ รวมถึงการรับเสด็จ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ครั้งเสด็จประพาสจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศรไม่เคยใช้ตึกหลังนี้เป็นที่พักส่วนตัวของท่าน แต่อย่างใด เมื่อท่านอสัญกรรม จึงได้ใช้ตึกหลังนี้ตั้งบำเพ็ญกุศลศพเป็นครั้งสุดท้ายเท่านั้น

ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ป่วยเป็นโรคเรื้อรังมาหลายปี จนถึง วันที่ 27 สิงหาคม 2465 ถึงแก่อสัญกรรม หลังจากที่ท่านอสัญกรรม พระยาอภัยวงศ์วรเศรษฐ ( ช่วง อภัยวงศ์ ) บุตรชายที่เกิดจาก หม่อมสอิ้ง ซึ่งเป็นบุตร วัยอาวุโสกว่าคนอื่นได้รับพินัยกรรมให้เป็น ผู้จัดการมรดกต่อมาปี พ.ศ. 2467 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงอภิเษกสมรสกับพระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี ซึ่งเป็น ธิดาของพระยาอภัยภูเบศร ( เลื่อม อภัยวงศ์ ) ซึ่งเป็นพี่ชายของพระยาอภัยวงศ์วรเศรษฐ ( ช่วง อภัยวงศ์ ) จึงได้ถวายตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรและสิ่งปลูกสร้าง ให้แด่ พระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี และพระนางเจ้า ฯ ได้น้อมเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อมา พระองค์ได้ทรงมอบตึกหลังนี้ คืนให้กับ พระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี หลายปีต่อมาพระนางเจ้า ฯ ได้ทรงมอบตึกหลังนี้ให้กับรัฐบาลเพื่อใช้เป็นโรงพยาบาลและประโยชน์ต่อส่วนรวม

โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เปิดทำการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2484 จัดเป็น 1 ใน 19 โรงพยาบาลประจำจังหวัด ยุคแรกของประเทศไทย เดิมใช้ชื่อว่าโรงพยาบาลปราจีนบุรี ต่อมาได้มีการเปลี่ยนเป็น "โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร" เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2509 เนื่อง จากหอผู้ป่วยหลังแรก คือตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรนั้น สร้างโดยเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ตึกนั้นมีคุณค่าทั้งความงามด้านสถาปัตยกรรม และทางประวัติศาสตร์ ปัจจุบันตึกหลังนี้ใช้เป็นที่จัดแสดงพิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทย

ยุคแรก : แต่เดิมตั้งแต่ก่อตั้ง ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรใช้เป็นสถานที่ รับคนไข้ จนถึงปี 2540 ได้มีการปรับปรุงแก้ไข

ยุคที่สอง : ในปี 2540 - 2541 ประเทศ ไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโรงพยาบาลจึงได้นำภูมิปัญญาที่เก็บรวบรวมไว้และสมุนไพร จากชุมชนมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อช่วยเศรษฐกิจชุมชนโดยขยายผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากที่มีเฉพาะยาให้ครอบคลุม ถึงอาหารเสริม เครื่องสำอางค์ และเครื่องดื่ม จากการพัฒนาสมุนไพรของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้จุดประกายให้ผู้คนในสังคมเห็นคุณค่าของการพัฒนาสมุนไพร บนพื้นฐานภูมิปัญญา และวิชาการสมัยใหม่

ยุคที่สาม : จากการพัฒนาการผลิตอย่างต่อเนื่อง การควบคุมคุณภาพโดยยึดมาตรฐานสากลเป็นแนวทางการพัฒนาทำให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร อภัยภูเบศรได้รับความสนใจจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่องแต่จากกฎระเบียบทาง ราชการทำให้โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรไม่สามารถขึ้นทะเบียนตำรับจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้จึงได้จัดตั้งมูลนิธิฯขึ้นโดยแบ่งภาระกิจกรรม หลักของมูลนิธิฯเป็น 2 ฝ่ายคือฝ่ายกิจกรรมของโรงพยาบาลและฝ่ายพัฒนาภูมิปัญญาไทยโดยฝ่ายพัฒนาภูมิปัญญาไทยมีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนา ผลิตภัณฑ์สมุนไพรซึ่งรวมการวิจัยและพัฒนาด้านโรงงานผลิตและด้านการตลาดโดย รายได้ร้อยละ70 มอบเป็นค่าใช้จ่ายให้กับโรงพยาบาลอีกร้อยละ 30 นำมาพัฒนาสมุนไพรและทำประโยชน์ให้สังคม

ปัจจุบัน โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรมีฐานะเป็นโรงพยาบาลศูนย์ มีขีดความสามารถในการให้การบริการทางการแพทย์ในระดับสูง คือ ระดับทุติยภูมิ เช่น เดียวกับโรงพยาบาลศูนย์ทั่ว ๆ ไป แต่สิ่งที่โรงพยาบาลแห่งนี้แตกต่างจากโรงพยาบาลศูนย์ที่อื่น ๆ ในประเทศนั้น คือ มีการผสมผสานการใช้สมุนไพรและการแพทย์แผนไทยเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพของโรงพยาบาล รวมทั้งเพื่อพัฒนาเป็นเศรษฐกิจของชุมชนและออกสู่ตลาดโลก

ข้อมูลจากเวป คลิ๊กจ้า


โดย: nongmalakor วันที่: 12 สิงหาคม 2556 เวลา:10:16:55 น.  

 
thx u crab


โดย: Kavanich96 วันที่: 13 สิงหาคม 2556 เวลา:4:03:08 น.  

 
สวัสดีจ้าพี่ต้อง

ทริปนี้ทำบล็อกเร็วจังนะคะ ขอบคุณพี่ต้องนะไปเที่ยวแล้วส่งไลน์ให้ดูภาพตลอดเหมือนนีได้ไปเที่ยวพร้อม ๆ กับพี่ต้องเลย ชอบ ๆ คะ วันหลังไปไหนส่งภาพให้ดูอีกนะ เพราะเหมือนเราได้ไปเที่ยวพร้อม ๆ กันเลย

ขอบอกว่าภาพคุณแม่สวยมาก เห็นภาพนี้แล้วรู้เลยว่าคุณแม่พี่ต้องมีความสุขแค่ไหน เป็นภาพรอยยิ้มแห่งความสุขจริง ๆ คะ


โดย: paerid วันที่: 13 สิงหาคม 2556 เวลา:14:32:58 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

nongmalakor
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 120 คน [?]




ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง
Google
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2556
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
12 สิงหาคม 2556
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add nongmalakor's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.