Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2551
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
4 กรกฏาคม 2551
 
All Blogs
 

ภูสวนทราย...ดูนก บนหลังคาอิสาน และตำนานปากนกแก้วหางสั้น

...มีหลาย ๆ คน ถามผมว่า ถ้าอยากไปดูนกป่าแถว ๆ อิสานจะไปไหนดี...ผมก็นิ่งไปพัก ก่อนจะตอบไปว่า มีภูหลวง ภูเขียว เขาใหญ่ ดงใหญ่ นึกออกได้แค่นี้จริง ๆ ณ ตอนนั้น....แต่ภายหลังผมได้เดินทางมายังอิสานโซนด้านเหนือติดกับภาคเหนือด้านตะวันออก...ครับ แล้วมาเอะใจชื่ออุทยานแห่งชาติแห่งหนึ่ง...ซึ่งเคยเจอผ่านตาว่าที่จังหวัดเลยนอกจากมีอุทยาน ฯ ที่ภูกระดึง และภูเรือแล้วยังมีอุทยาน ฯ อีกที่ชื่อว่า " นาแห้ว " แต่ด้วยส่วนลึกก็คิดว่าเป็นอุทยาน ฯ ทางอิสานป่าคงแล้ง ๆ แดง ๆ เป็นป่าติดทุ่งนาเพราะชื่อนาแห้ว แล้วคำว่าแห้วก็อีกที่ทำให้ไม่มีแรงจูงใจที่จะมาที่นี่....แต่ด้วยความบังเอิญที่ไปดูนกที่ภูหลวงมาแล้ว ก็เลยคิดว่ามีเวลาเหลืออีก ๑ คืน ๒ วัน เลยไปแวะดูซะหน่อยว่าที่นาแห้ว....มันอยู่ตรงไหน มีอะไรให้ดูบ้าง....

...ขอตัดความมาลงตอนที่ได้มาเหยียบที่นี่เป็นครั้งแรก และได้สัมผัสกับที่นี่วันเต็ม ๆ ทุกอย่างที่เคยคิดไว้กับที่นี่ตอนแรกถูกลบทิ้งโดยสิ้นเชิง เพราะไม่คิดเลยว่าป่าที่นี่จะอยู่ในเขตแผ่นดินอิสาน แถมระดับความสูงก็อยู่ตั้งแต่เกือบพันเมตรไปถึง ๑,๔๐๐ เมตรเศษโน่น...เป็นป่าดิบเขาและดิบชื้นที่สมบูรณ์มาก นกก็ดีผิดคาด แถมไม่แห้วอย่างที่คิดเพราะสัมผัสแรกกับที่นี่...นกที่ได้พบแบบอึ้ง ทึ่ง ตะลึงไปตาม ๆ กันคือ....นกปากนกแก้วหางสั้น ไม่น่าเชื่อว่าเขาจะหลบซ่อนอยู่ที่นี่มาตั้งนานโข แล้วทำไมที่ผ่านมาเราจึงละเลยที่นี่ไปได้......

.....นี่เป็นบทเริ่มต้น สัมผัสแรกในนาม นาแห้ว และมาอีกหลาย ๆ ครั้ง กระทั่งเปลี่ยนชื่อเป็น.....ภูสวนทราย แหล่งขุมทรัพย์บินได้ บนหลังคาแห่งอิสาน




...หลังจากที่นาแห้ว( ชื่อในขณะนั้น ) ได้ถูกกล่าวขานกันปากต่อปาก จากนักดูนกคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่ง จากกลุ่มเล็กไปสู่กลุ่มใหญ่....การเดินทางเข้าออกที่นี่จึงมีไม่ขาดสายในช่วงนั้น ซึ่งก็ส่งผลให้มีรายงานนกหายากจากที่นี่เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ ...นกที่เด่น ๆ แล้วก็ต้องมาหาดูซะให้ได้คือนกปากนกแก้วหางสั้น( Short-tailed Parrotbill ) ซึ่งภายหลังได้รับเกียรติให้เป็นตราประจำอุทยานแห่งชาติภูสวนทรายและอีกตัวก็ต้องนกมุ่นรกคอแดง( Rufous-throated Fulvetta )เลยครับ...นกสถานะหายากทั้งสองตัวนี้ ไม่ค่อยทำให้ใครผิดหวังนัก...แต่ก็อย่าลืมพกดวงติดกระเป๋ามาด้วยครับไม่งั้นเดี๋ยวแห้วรับทานจะหาว่าไม่เตือน...





...........ที่นี่...ภูสวนทราย เป็นจุดดูนกที่ดีอีกแห่งในส่วนอิสานเหนือ แถมเดินดูนกสบาย ๆ ตามทางลาดยาง หรือในเทรลเดินป่าสั้น ๆ บางครั้งก็ขับรถดูตามจุดต่าง ๆ อย่างภูหัวห้อม น้ำตกตาดเหือง( น้ำตกพรมแดนไทยและสปป.ลาว ) รวมทั้งกลุ่มน้ำตกรายทาง หรือจะเลือกเดินป่าฝ่าดงทาก ลากสังขารขึ้นยอดภูสวนทรายก็ท้าทายไม่น้อย อาจได้นกดี ๆ กลับมาและโปรโมชั่นพิเศษช่วงหน้าฝนแถมทากดูดเลือด ๒-๓ ตัวก็เลือกเอาตามสบายครับ....
.......จริง ๆ แล้วเราสามารถดูนกได้เลยบริเวณที่ทำการอุทยาน ฯ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวและร้านค้าสวัสดิการของอุทยาน ฯ ครับ เป็นโซนพื้นที่เปิดโล่ง ขนาบด้วยชายป่าไผ่ ป่าเบญจพรรณแซมด้วยป่าดิบแล้งและไกล ๆ ป่าดิบเขาและดิบชื้น....การดูนกบริเวณนี้จึงสามารถดูนกได้รอบทิศทาง อย่างในพื้นที่ที่ติดกับอ่างน้ำด้านล่างเป็นชายป่าที่พบนกประจำถิ่นทั่วไป เช่น นกกะปูดใหญ่( Greater Coucal ) นกบั้งรอกใหญ่( Green-billed Malkoha ) นกกางเขนดง( White-rumped Shama ) นกกะรางหัวหงอก( White-crested Laughingthrush ) นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่( Greater Racket-tailed Drongo ) นกตีทอง( Coppersmith Barbet ) นกปรอดหัวสีเขม่า( Sooty-headed Bulbul ) นกจาบคาเคราน้ำเงิน( Blue-bearded Bee-eater )ที่ชอบร้องเสียงเหมือนหมาเห่า นกกินปลีอกเหลือง( Olive-backed Sunbird ) และนกปรอดเหลืองหัวจุก( Black-crested Bulbul ) เป็นต้น แต่ใช่ว่าจะพบเห็นแต่นกเหล่านี้นะครับนกปากนกแก้วหางสั้นก็ชอบพาฝูงมาเที่ยวเล่นแถบนี้เช่นกัน......

..........แต่ในพื้นที่เปิดโล่งเช่นนี้กลุ่มนกขนาดใหญ่ ๆ อย่างเหยี่ยวก็พบเห็นเห็นได้ง่าย บ้างบินร่อน ช่วงสาย ๆ แดดร้อน ๆ เหมาะแก่การนั่งรอ พักผ่อนตอนกลางวัน บ้างก็เกาะพักยามเช้า เช่น เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ( Black Baza ) เหยี่ยวรุ้ง( Crested Serpent-Eagle ) เหยี่ยวนกเขาชิครา( Shikra ) เหยี่ยวนกเขาหงอน( Crested Goshawk ) ที่ชอบบินร่อนโชว์ขนปุยสีขาวบริเวณตะโพก เหยี่ยวขาว( Black-shouldered Kite ) เหยี่ยวนกกระจอกเล็ก( Besra ) เหยี่ยวปีกแดง( Rufous-winged Buzzard ) และก็พี่ใหญ่ที่ชอบบินมาสูง ๆ ดำทมึนด้วยแถบปีกที่หนา น่าเกรงขามอย่างนกอินทรีดำ( Black Eagle ) ก็พบได้บ่อย ๆ ในบริเวณนี้เช่นกัน ..ในช่วงอพยพก็มีเหยี่ยวผึ้ง( Oriental Honey Buzzard ) เหยี่ยวหน้าเทา( Grey-faced Buzzard ) กลุ่มเหยี่ยวนกเขา( Accipiter ) และเหยี่ยวดำ( Black kite ) เข้ามาเสริมทัพเหยี่ยวทเพิ่มเติม....บนพื้นหญ้าก็อย่าลืมมองหานะครับ นกเด้าดินสวน( Olive-backed Pipit ) นกอุ้มบาตร( White Wagtail ) และนกเด้าลมหลังเทา( Grey Wagtail ) ชอบมาเดินเล่นช่วงหน้าหนาว...ด้วยลีลาเฉพาะตัว...แต่ถ้าโชคดีก็อาจได้พบนกเด้าดินอกสีชมพู( Rosy Pipit ) ก็เป็นได้ครับ

.......ข้ามถนนมาดูป่าอีกฝั่ง ซึ่งไกล ๆ ก็จะมองเห็นเป็นภูเขาสูงต่ำ สลับไปกับป่ายางธรรมชาติแหล่งกบดานของเจ้านกกะลิงเขียดสีเทา( Grey Treepie ) ในป่าไผ่ใกล้ ๆ เมื่อมองลงไปในหุบช่วงที่ดอกไผ่บานก็อย่าลืมมองหานกแฟนตาซีอย่าง นกกระติ๊ดเขียว( Pin-tailed Parrotfinch ) นะครับ เพราะด้วยสีสันสะดุดตา เขียว เหลือง แดง ฟ้า ขนาดนั้นเป็นฝูงเล็ก ๆ ก้คงหาตัวไม่ยาก........บนสายไฟก็มักพบเห็นนกนางแอ่นบ้าน( Barn Swallow ) เกาะเรียงกันแน่น นกนางแอ่นลาย( Striated Swallow )และนกนางแอ่นตะโพกแดง( Red-rumped Swallow ) ก็ชอบแฝงตัวอยู่ปะปนกันไปด้วย....ดูนกจนจุใจแล้ว ก็สามารถเดินย้อนขึ้นมายังร้านค้าสวัสดิการครับ ด้านหน้าทางเข้า มักมีลูกไม้สุก อาหารโปรดของนกปรอดสีขี้เถ้า( Ashy Bulbul ) นกแว่นตาขาวสีทอง( Oriental White-eye ) นกแว่นตาขาวหลังเขียว( Japanese White-eye ) และนกปรอดหัวตาขาว( Flavescent Bulbul ) ซึ่งก็เป็นนกอีกชนิดที่พบได้ทั่วทั้งอุทยาน ฯ ในบางครั้งบนต้นไม้นี้ก็เคยพบนกจับแมลงดำอกสีส้ม( Mugimaki Flycatcher ) นกอีเสือหลังเทา( Grey-backed Shrike ) มาป้วนเปี้ยนบนต้นซึ่งก็ไม่รู้มาแจมอะไรกับเขาด้วย... ด้านหลังครัวร้านค้าสวัสดิการ พบนกหัวขวานด่างหัวแดงอกลาย( Stripe-breasted Woodpecker ) ได้บ่อย ๆ รวมทั้งนกพญาไฟใหญ่( Scarlet Minivet ) นกภูหงอนท้องขาว( White-bellied Erpornis ) นกปรอดภูเขา( Mountain Bulbul ) และนกมุ่นรกตาขาว( Brown-cheeked Fulvetta )





.............จากจุดเปิดโล่งด้านหน้าอุทยาน ฯ คราวนี้ลองไปดูหลังบ้านกันบ้างครับ ว่าจะมีนกอะไรให้ได้ยลโฉมกันบ้าง...บริเวณนี้เป็นโซนป่าดิบเขาและป่าเบญจพรรณที่ร่มครึ้มเต็มไปด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ ขนาบข้างสองฝั่ง ต้นไม้เยอะแน่นทึบ นกก็เยอะตามไปด้วยครับ แล้วก็เดินง่าย สะดวกสบายบนถนนลาดยาง แต่บางช่วงก็อาจขึ้น ๆ ลง ๆ ตามความสูงชันของเส้นทางครับ ถ้ามีแรงแข็งขันก็สามารถเดินตามทางนี้ไปได้เรื่อย ๆ แค่ไปกลับ ๕-๖ กิโลเมตรคุณก็สามารถพบนกได้มากมาย หลายหลากหน้า....ดูแต่เช้าเรื่อยๆ กระทั่งแดดร้อนก็หลบเข้าเทรลในป่าเส้นเนินสำนึกบาปได้...นกก็ดีไม่หยอกนะครับ

...........โซนนี้นกตัวแรกที่ออกมาทักทายคงหนีไม่พ้นเจ้านกหัวขวานจิ๋วคิ้วขาว( White-browed Piculet ) แสนน่ารัก ตัวกลม ๆ สีส้มไต่ไปตามพุ่มไม้หรือกลุ่มหญ้าเตี้ย ๆ พร้อมเสียงร้องเล็กแหลม...นกกินปลีหางยาวคอดำ( Black-throated Sunbird ) ก็ชอบพาคู่ออกมารับแดดยามเช้า นกโพระดกหน้าผากดำ( Blue-eared Barbet )และนกโพระดกคอสีฟ้า( Blue-throated Barbet ) ก็สาละวนบนต้นไม้ที่เต็มไปด้วยลูกไม้สุกงอม แต่อย่าลืมมองหาดาวเด่นอย่างนกปีกแพรสีเขียว( Green Cochoa ) ด้วยนะ เพราะสีสันเหมือนใบไม้ก็มักพลางตาได้ง่าย นกมุ่นรกตาแดง( Grey-cheeked Fulvetta ) นกกินแมลงคอเทา( Grey-throated Babbler ) นกระวังไพรปากเหลือง( White-browed Scimitar-Babbler ) นกระวังไพรปากแดงยาว( Red-billed Scimitar-Babbler ) นกกินแมลงหัวสีทอง( Golden Babbler ) และนกกระจิบหญ้าคิ้วขาว( Hill Prinia ) เป็นอีกกลุ่มที่สามารถพบได้ตามพุ่มหญ้าเตี้ย ๆ แต่ขึ้นหนาแน่นมองหาตัวได้ยากกว่า แต่ก็ชอบที่จะส่งเสียงร้องทักทายให้รู้ก่อนว่าเป็นนกชนิดไหน....ตามยอดไม้ก็มักได้เห็นนกศิวะปีกสีฟ้า( Blue-winged Minla ) นกกระจ้อยคอขาว( Yellow-bellied Warbler ) นกกินปลีท้ายทอยน้ำเงิน( Purple-naped Sunbird ) นกกาฝากอกเพลิง( Fire-breasted Flowerpecker ) นกกระจิบภูเขา( Mountain Tailobird ) และนกจาบปีกอ่อนสีตาล( Chestnut Bunting ) ได้ไม่ยาก......เดินมาได้สักพักจะเข้าสู่โซนป่าที่เปิดโล่งเหมาะแก่การมองหานกในระยะไกล เบื้องหน้าก็จะเป็นเส้นทางลงเขาที่ลาดชัน นกหัวขวานแดงหลังลาย( Bay Woodpecker )และนกตั้งล้อ( Great Barbet ) ชอบที่จะส่งเสียงร้องแนะนำตัวบนยอดไม้แห้งอีกฟากเขา ชายป่าใกล้ ๆ ก็มักพบนกพญาปากกว้างอกสีเงิน( Silver-breasted Broadbill ) เกาะนิ่งบนกิ่งไม้ นกกะรางอกสีน้ำตาลไหม้( White-necked Laughingthrush )และนกกะรางคอดำ( Black-throated Laughingthrush ) มักพาฝูงกระโดดไปมาตามพุ่มไม้ไหวพร้อมส่งเสียงร้องโหวกเหวกโวยวายลั่นป่า เมื่อลงจากเนินลาดชันสู่จุดที่เป็นทางราบ เป็นบริเวณที่เป็นป่าไผ่มีน้ำขังอยู่ฝั่งด้านซ้าย...ดาราของที่นี่คือ นกสีหวานอย่างนกกระเต็นน้อยสามนิ้วหลังดำ( Black-backed Kingfisher )และนกกระเต็นลาย( Banded Kingfisher ) นักจับสัตว์เลื้อยคลานมือฉมัง ใกล้ ๆ กันก็ได้ยินเสียงร้องของนกกางเขนน้ำหัวขาว( White-crowned Forktail ) บางครั้งก็ออกมาโชว์ตัวในระยะใกล้ บนยอดไม้แถบนี้ได้เห็นนกเสือแมลงปีกแดง( White-browed Shrike-Babbler ) นกเสือแมลงคอสีตาล( Black-eared Shrike-Babbler ) นกเสือแมลงหน้าสีตาล( Chestnut-fronted Shrike-Babbler ) นกปลีกล้วยลาย( Streaked Spiderhunter ) นกภูหงอนหัวน้ำตาลแดง( Striated Yuhina ) ชนิดย่อยโตเควโอลาที่พบได้ในภาคเหนือด้านตะวันออก นกเขาลายใหญ่( Barred Cuckoo-Dove ) และนกพญาปากกว้างหางยาว( Long-tailed Broadbill )ที่ชอบทำรังบนต้นผึ้งปากทางเข้าเทรลเนินสำนึกบาป.....เป็นประจำ





...........เลยจากจุดลำธารน้ำมาประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ เมตร ด้านขวามือเป็นเทรลเดินป่าเนินสำนึกบาปครับ...จะสังเกตุเห็นต้นผึ้งขนาดใหญ่ สูงชะลูดอยู่ปากทางเข้าพอดี ที่นี่เหมาะสำหรับหลบร้อนช่วงสาย ๆ ถึงบ่าย ในอุโมงค์ธรรมชาติที่แวดล้อมด้วยต้นไม้และใบไม้แน่นทึบเช่นนี้นอกจากดูนกได้อย่างสนุกสุดมันส์แล้ว ไงก็มองก้มต่ำดูที่ขาแข้งบ้างนะครับเพราะเห็บและทากมักมาเกาะแกะโดยไม่รู้ตัว ...มาว่ากันในส่วนของนกที่พบในเทรลนี้บ้างละกันครับ นกที่พบได้เช่น นกจับแมลงหลังสีเทา( Slaty-backed Flycatcher ) นกจับแมลงหัวเทา( Grey-headed Flycatcher ) นกจับแมลงแถบคอสีส้ม( Rufous-gorgeted Flycatcher ) ที่ชอบโฉบจับแมลงบริเวณชายป่า ในกอไผ่ก็มองหานกหัวขวานป่าไผ่( Bamboo Woodpecker )ได้ง่าย บนพื้นก็นกเขนสีฟ้าหางแถบขาว( White-tailed Robin ) นกเขนน้อยไซบีเรีย( Siberian Blue Robin ) นกจู๋เต้นหางสั้น( Streaked Wren Babbler ) นกจู๋เต้นคิ้วยาว( Eyebrowed Wren Babbler ) ไก่ฟ้าหลังขาว( Silver Pheasant )และนกกระทาดงอกสีน้ำตาล( Bar-backed Partridge ) เทรลนี้แหละครับสำหรับผู้ที่แสวงหาเจ้าปากนกแก้วหางสั้น โชคดีอาจได้ของแถมอย่างเจ้าเห้งเจีย นกปากนกแก้วหูเทา( Black-throated Parrotbill ) ฝูงเล็ก ๆ กระโดดไปมาในพุ่มกอไผ่ เหนือหัวบนยอดไม้แห้งมักพบนกกลุ่มเขาเปล้า อย่างนกเปล้าหน้าเหลือง( Pompadour Green Pigeon ) นกเปล้าหางพลั่ว( Wedge-tailed Green Pigeon ) นกเปล้าท้องขาว( White-bellied Green Pigeon )และนกเขาเปล้าธรรมดา( Thick-billed Green Pigeon ) รวมฝูงเกาะพัก บนฟ้าก็มีนกขุนทองพันธุ์เหนือ( Hill Myna ) ร่วมด้วยนกเอี้ยงหัวสีทอง( Golden-crested Myna ) ฝูงใหญ่บินผ่านไปมา จริง ๆ แล้วเส้นนี้เมื่อเดินไปเรื่อย ๆ สามารถเดินวกกลับไปยังแคมป์ที่พักได้ แต่ถ้าเอาสะดวกก็ย้อนกลับไปทางเดิมหาดูนกเรื่อย ๆ สบาย ๆ จะดีกว่าสำหรับนักดูนกที่ต้องการเก็บตก.....





..........เทรลอีกแห่งที่เดินเข้าได้สะดวกก็คือเส้นที่ทำการ-บ้านพัก-แล้ววนกลับออกมาทางถนน เป็นเส้นทางสายป่าเบญจพรรณ ป่าไผ่และป่าดิบเขาผสมปนเปกัน นกที่พบจึงหลากหลาย เริ่มต้นจากที่ทำการ เดินย้อนถนนขึ้นมาสังเกตุด้านซ้ายมีป้อมยามที่หน้าทางเข้าบ้านพัก ใช้เส้นนี้เดินตัดผ่านบ้านพักมาเรื่อย ๆ จนเข้าสู่แนวป่าร่มครึ้ม นกกินแมลงป่าอกสีน้ำตาล( Buff-breasted Babbler ) นกระวังไพรปากยาว( Large Scimitar-Babbler ) และนกเด่นสุดยอดอย่างนกมุ่นรกคอแดง( rufous-throated Fulvetta ) ชอบที่จะกระโดดไปมาในที่รกทึบ นกเขียวก้านตองท้องสีส้ม( Orange-bellied Leafbird ) เกาะอยู่บนยอดไม้ และนกที่สามารถพบได้ในเทรลนี้ เช่น นกสาลิกาเขียว( Common Green Magpie ) นกจาบดินอกลาย( Puff-throated Babbler ) นกปรอดดำ( Black bulbul ) นกไต่ไม้หน้าผากกำมะหยี่( Velvet-fronted Nuthatch ) นกเดินดงสีคล้ำ( Eyebrowed Thrush ) นกเอี้ยงถ้ำ( Blue Whistling-Thrush ) นกกระเบื้องคอขาว( White-throated Rock-Thrush ) นกจับแมลงเล็กขาวดำ( Little Pied Flycatcher ) นกแต้วแร้วอกเขียว( Hooded Pitta ) นกแต้วแร้วสีน้ำเงิน( Blue Pitta ) นกขี้เถ้าใหญ่( Large Cuckooshrike ) นกแซวสวรรค์( Asian Paradise-Flycatcher ) นกขุนแผนอกสีส้ม( Orange-breasted Trogon ) และนกขุนแผนหัวแดง( Red-headed Trogon )...





......ส่วนอีกสองจุดที่ไม่น่าพลาดเช่นกันคือ...

๑. เส้นทางขึ้นยอดภูสวนทราย สำหรับนักดูนกที่กำลังวังชายังดีอยู่ เดินดูนก ฝ่าฝูงทากขึ้นไปเรื่อย ๆ ครับแต่นกในเส้นทางสายนี้ก็ไม่ได้ผิดแปลกไปจากด้านล่างบริเวณเทรลในพื้นที่ที่ทำการ ฯ สักเท่าไหร่แต่ก็มีชนิดเพิ่มเติมเช่น นกหางรำหางยาว( Long-tailed Sibia ) นกจู๋เต้นจิ๋ว( Pygmy Wren Babbler ) นกติตแก้มเหลือง( Yellow-cheeked Tit ) นกนิลตวาท้องสีส้ม( Vivid Niltava ) นกแซงแซวหางบ่วงเล็ก( Lesser Racket-tailed Drongo ) นกแต้วแร้วใหญ่หัวสีน้ำตาล( Rusty-naped Pitta ) นกพญาไฟคอเทา( Grey-chinned Minivet )และนกอีแพรดคอขาว( White-throated Fanatail ) เป็นต้น

๒. เส้นทางบริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยาน ฯ ภูหัวห้อม เดินทางต่อจากอุทยาน ฯ ไปอีกประมาณ ๑๐ กิโลเมตร และบริเวณน้ำตกตาดเหือง...นกเด่น ๆ ได้แก่ นกหัวขวานเขียวตะโพกแดง( Black-headed Woodpecker ) นกเฉี่ยวบุ้งใหญ่( Black-winged Cuckooshrike ) นกอัญชันป่าขาเทา( Slaty-legged Crake ) เหยี่ยวภูเขา( Mountain Hawk Eagle ) นกแซงแซวหงอนขน( Spangled Drongo ) นกขมิ้นหัวดำใหญ่( Black-hooded Oriole ) นกสีชมพูสวน( Scarlet-backed Flowerpecker ) เป็นต้น ส่วนบริเวณน้ำตกตาดเหือง นกเด่น ๆ ก็คือนกยางเขียว( Little Heron )และนกกระเต็นหัวดำ( Black-capped Kingfisher )....


ข้อมูลการเดินทาง

.....อุทยานแห่งชาติภูสวนทราย สามารถเดินทางจากจังหวัดพิษณุโลก-อำเภอชาติตระการ-บ้านบ่อภาค ถึงกิโลเมตรที่ ๕๐ เลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหมายเลข ๑๒๖๘ ผ่านบ้านร่มเกล้า ผ่านตำบลเหล่ากอหก ถึงหลักกิโลเมตรที่ ๐ อีกประมาณ ๓ กม. ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูสวนทราย ....หรือถ้ามาจากจังหวัดเลย เข้าเส้นทางภูเรือ-ด่านซ้าย-นาแห้ว เลยอำเภอนาแห้วมา ๔ กม.จะมีทางแยกซ้ายขึ้นเขาบนทางหลวง ๑๒๖๘ กระทั่งถึง กม. ๐ เลี้ยวขวาขึ้นอุทยาน ฯ ระยะทาง ๓ กม.เช่นกัน


ข้อควรระวัง....

- ที่ภูสวนทรายระหว่างการเดินดูนก จะมีรถสวนทางไปมาเป็นบางครั้ง ขณะเดินดูนกบนทางลาดยางในอุทยาน ฯ ควรระมัดระวัง เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเอง
- ที่ภูสวนทรายในเทรลช่วงหน้าฝนมีทากและเห็บมาก ควรหาวิธีป้องกันก่อนเข้าเทรลนะครับ
- ที่ภูสวนทรายเส้นทางเข้าอุทยาน ฯ ทั้งด้านพิษณุโลกและด้านด่านซ้าย จ.เลยเป็นทางคดเคี้ยว ลาดชันสูง ควรขับรถด้วยความระมัดระวังนะครับ

.....นึกอะไรไม่ออกช่วงหน้าหนาว ไม่รู้จะไปดูนกที่ไหน ที่นี่...ภูสวนทรายจะไม่ทำให้ท่านผิดหวังแน่นอน......

ดูนกให้สนุกนะครับ.......




 

Create Date : 04 กรกฎาคม 2551
9 comments
Last Update : 4 กรกฎาคม 2551 15:45:11 น.
Counter : 5925 Pageviews.

 

 

โดย: ริวคิ-mawin-maji-minic 4 กรกฎาคม 2551 13:36:48 น.  

 



สวัสดีครับคุณนก



อัพบล๊อคเป็นด้วย ขอแซวหน่อย
ผมยังไม่เคยไปซักทีเลยที่นี่ อยากไปมากๆครับ
อยากไปดูเจ้าหางสั้น บรรยากาศดีด้วย
ภาพสวยมากครับ โดยเฉพาะเจ้าคิ้วขาว



 

โดย: B/W 4 กรกฎาคม 2551 20:41:33 น.  

 

อิอิ เพิ่งมีอารมณ์มาอัพจ้า ป๋าเอก โทษที งวดนี้คงมาเป็นชุดครับ

ขอบคุณมากนะครับ.....

 

โดย: นกสุโขทัย 4 กรกฎาคม 2551 20:50:31 น.  

 

ข้อมูลดีมากครับพี่ เหมือนได้ไปด้วยตัวเองเลย อิอิ
หนาวนี้คงได้ไปอีกซักรอบนะครับ
ปล.ขอยืมภาพงูไปแปะไว้ใน siamensis หน่อยนะครับ

 

โดย: เอม IP: 58.147.74.4 18 กรกฎาคม 2551 13:20:43 น.  

 

น่าไปเที่ยวจังเลยครับจารย์...

 

โดย: nengneng 11 สิงหาคม 2551 15:51:31 น.  

 

หาข้อมูลจะไปดูนกที่นี่คะ ละเอียดยิบเลยคะ

"คุณคือความหวังของพวกเราจริงๆ "

 

โดย: จะไปลาสา (จะไปลาสา ) 21 พฤศจิกายน 2551 23:33:56 น.  

 

น่าจะมาเที่ยวแม่ฮ่องสอนบ้าง

 

โดย: เกรียงไกร IP: 112.142.233.226 3 กรกฎาคม 2552 9:19:03 น.  

 

พะเยาดีกว่า

 

โดย: สมพงษ์ IP: 112.142.233.226 3 กรกฎาคม 2552 9:20:55 น.  

 

สบายดีไหม น้อง พี่ นานแล้วไม่เจอกันหลายๆๆปี แต่ไม่ลืมน้อง
ตรี บางบำหรุ
chartee.k@egat.co.th

 

โดย: ตรี บางบำหรุ IP: 58.11.192.172 21 พฤษภาคม 2554 19:46:53 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


นกสุโขทัย
Location :
สุโขทัย Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ปีกงาม..แห่งพื้นน้ำทะเลหลวง
Friends' blogs
[Add นกสุโขทัย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.