กุมภาพันธ์ 2551

 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
13
14
15
16
17
19
20
21
22
24
25
27
29
 
 
All Blog
มารู้จักสถานทูตไทยในต่างประเทศขึ้นอีกนิด ถ้าคุณกำลังสงสัยว่าพวกเลขานุการสถานทูตทำอะไรกัน


มีหลายคนยังงง ๆ กับตำแหน่งในกระทรวงการต่างประเทศ และสถานทูต/ สถานกงสุลในต่างประเทศอยู่บ่อย ๆ บางคราว เราก็ได้ยิน ผู้ประกาศข่าว ในโทรทัศน์ และวิทยุ เรียกชื่อตำแหน่งผิดเสมอ ๆ แต่อย่างว่าแหละนะคะ ศาสตร์ทุกแขนงมีศัพท์เฉพาะทางฉันใด การต่างประเทศก็เป็นฉันนั้นทุกประการ ศัพท์เฉพาะทำให้เราดูอนุรักษ์นิยมและดูเป็นศาสตร์เฉพาะด้านดี คำศัพท์ด้านการต่างประเทศในภาษาอังกฤษเอง บางทีฝรั่งทั่วไปได้ยินเข้าก็งง ๆ ได้เหมือนกัน ศัพท์แสงที่ใช้เขียนในหนังสือราชการภาษาอังกฤษเป็นอะไรที่เรายังอ่านแล้วไม่ค่อยเข้าใจความหมายเลย เป็นเหมือนภาษาฝรั่งโบราณ ๆ ซึ่งบางประเทศไม่ค่อยใช้แล้ว นอกจากในหนังสือที่เป็นทางการมาก ๆ

เรามาทำความรู้จักกับตำแหน่งต่าง ๆ ในกระทรวงการต่างประเทศ และสถานทูต/สถานกงสุลกันสักหน่อยนะคะ ปัจจุบันเจ้าหน้าที่การทูตในและนอกกระทรวงฯ มีประมาณ 600-700 คนได้ ไม่รวมเจ้าหน้าที่สายสนับสนุนนะคะ

ข้าราชการในกระทรวงฯ แบ่งออกเป็น 2 สาย คือ เจ้าหน้าที่สายสนับสนุน ก็เป็นเจ้าหน้าที่ด้านบริหาร เจ้าหน้าที่คลัง เจ้าหน้าที่ธุรการทั่วไปน่ะค่ะ ส่วนเจ้าหน้าที่การทูต จะทำงานด้านวิชาการค่ะ ทั้งเจ้าหน้าที่สายการทูต และสายสนับสนุน หรือบริหาร สามารถออกไปประจำการในต่างประเทศได้เหมือนกันค่ะ





เวลากระทรวงการต่างประเทศ เปิดรับสมัครสอบข้าราชการใหม่ คำเรียกชื่อตำแหน่งก็คือ เจ้าหน้าที่การทูต 3 และ 4 (ซึ่งในอนาคตข้างหน้า ชื่อตำแหน่งนี้จะเปลี่ยนแปลงไป เพราะระบบราชการอีกหน่อยจะไม่มีระบบซีแล้วนะคะ แต่จะเป็นระบบแท่งแทน)

เจ้าหน้าที่การทูต 3 สำหรับผู้เรียนจบปริญญาตรี ส่วนผู้ที่เรียนจบปริญญาโทขึ้นไปจะบรรจุในตำแหน่งเจ้าหน้าที่การทูต 4 (กรณีที่ใช้วุฒิโทเข้าทำงาน ต้องเป็นเจ้าหน้าที่การทูต 4 ประมาณ 2 ปี จึงจะเลื่อนไหลเป็นเจ้าหน้าที่การทูต 5 ส่วนใช้วุฒิเอกเข้าทำงาน เป็นเจ้าหน้าที่การทูต 4 ได้ 1 ปี ก็จะเลื่อนไหลเป็น 5 เลยค่ะ) สำหรับตำแหน่งเจ้าหน้าที่การทูต 1-2 ไม่มีค่ะ และไม่มีเปิดสอบด้วยค่ะ เราจะเริ่มต้นตำแหน่งกันที่เจ้าหน้าที่การทูต 3 เป็นต้นไป

เมื่อได้เป็นเจ้าหน้าที่การทูต 5 แล้ว พอระดับเงินเดือน และระยะเวลาที่เป็นเจ้าหน้าที่การทูต 5 ครบตามกำหนด ก็จะมีสิทธิสอบเป็นเจ้าหน้าที่การทูต 6 ค่ะ อันนี้ ที่กระทรวงฯ จัดขึ้นทุกปี และมีการสอบที่เรียกว่า “หิน” และ “โหด” มากทีเดียวค่ะ หลายคนสอบหลายครั้งเหมือนกันกว่าจะผ่านด่านนี้ไปได้ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่การทูต 6 สำหรับหน่วยราชการอื่นอาจมีลูกน้องเป็นร้อย ๆ คน แต่ที่นี่ บางคนก็ทำงานในระดับปฏิบัติการอยู่ เพราะข้าราชการกระทรวงนี้มีน้อยมากค่ะ

ถัดจากตำแหน่งเจ้าหน้าที่การทูต 6 ก็คือ เจ้าหน้าที่การทูต 7 ซึ่งจะเป็นระดับเลขานุการกรม หรือหัวหน้าฝ่าย จากนั้นเราก็เขยิบไปเป็นเจ้าหน้าที่การทูต 8 หรือผู้อำนวยการกอง เจ้าหน้าที่การทูต 9 คือ ตำแหน่งรองอธิบดี เจ้าหน้าที่การทูต 10 คือ ตำแหน่งอธิบดี/ รองปลัดกระทรวงฯ และเจ้าหน้าที่การทูตระดับ 11 คือ ปลัดกระทรวงฯ ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดที่เป็นข้าราชการ ทั้งนี้ ไม่นับตำแหน่งข้าราชการการเมือง (รัฐมนตรีช่วยฯ และรัฐมนตรีว่าการนะคะ)





ตำแหน่งเหล่านี้ เมื่อไปประจำการในต่างประเทศ ก็จะเปลี่ยนไปเป็นตำแหน่งสากล ที่สถานทูต/ สถานกงสุลของทุกประเทศที่ตั้งอยู่ในประเทศอื่น ๆ จะใช้เหมือน ๆ กันทั้งหมดค่ะ

ตำแหน่งที่ 1 คือ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม หรือ Ambassador Extraordinary and Plenipotentiary (เทียบเท่าเจ้าหน้าที่การทูต 11 หรือ 10 ระดับอธิบดี/ รองปลัด และปลัดกระทรวงฯ) ซึ่งจะเป็นหัวหน้าคณะข้าราชการในต่างประเทศ หรือ Head of Mission

เมื่อมีการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตไปประจำในประเทศใด ท่านทูตก็ต้องไปเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย ตำแหน่งนี้ ถือเป็นผู้แทนพระเจ้าแผ่นดินในการส่งเสริมความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยในหลาย ๆ ประเทศยังมีเขตอาณาครอบคลุมไปในประเทศที่ไทยไม่มีสถานทูต หรือสถานกงสุลด้วย เช่น เอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน ยังมีเขตอาณาในประเทศไอซ์แลนด์ และลิทัวเนีย แต่พำนักอยู่ในเดนมาร์ก เพราะฉะนั้น ถือว่าท่านเป็น Non-resident Ambassador ของไทยประจำไอซ์แลนด์และลิทัวเนียนั่นเอง คือ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเรยะวิก (เมืองหลวงของไอซ์แลนด์) ซึ่งมีถิ่นพำนักอยู่ที่เดนมาร์ก

การไปรับตำแหน่งเอกอัครราชทูตในประเทศที่ท่านทูตไปประจำการนั้น ก็มีพิธีการอยู่เหมือนกัน ถ้าไปในประเทศที่มีระบบกษัตริย์ ท่านทูตก็ต้องไปถวายพระราชสาส์นตราตั้ง หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า letters of credence ซึ่งลงพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแด่กษัตริย์ของประเทศประจำการ ในกรณีที่ไม่มีระบบกษัตริย์ ก็ต้องไปมอบพระราชสาส์นตราตั้งให้แก่ประมุขสูงสุดของประเทศนั้น ๆ ในกรณีที่ท่านทูตไปเป็นหัวหน้าคณะที่คณะทูตถาวรประจำนครนิวยอร์ก หรือเจนีวา ท่านก็ต้องไปมอบหนังสือแต่งตั้งให้แก่ผู้นำสูงสุดขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งก็คือ เลขาธิการสหประชาชาตินั่นเอง

ตอนที่ดิฉันประจำการอยู่ที่เดนมาร์ก มีโอกาสได้รับผิดชอบเรื่องพิธีการทูต ยังเคยมีโอกาสได้ไปรอส่งท่านทูต ไปถวายพระราชสาส์นแด่พระราชินีเดนมาร์กที่พระราชวังเลยนะคะ ทางสำนักพระราชวังจะส่งรถม้ามารับท่านทูตและภริยาเข้าวังค่ะ เหมือนเรากำลังดูหนังสมัยศตวรรษที่ 14-15 อยู่อย่างนั้นแหละ การต้อนรับท่านทูตจะทำอย่างมีพิธีรีตรองและใหญ่โตสมศักดิ์ศรีประเทศมากค่ะ ท่านทูตได้เล่าให้ฟังว่า สมเด็จพระราชินีมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก และพระราชสวามีได้พระราชทานเลี้ยงพระสุธารสชาในโอกาสที่เข้าไปถวายพระราชสาส์นตราตั้งด้วยค่ะ

สำหรับสถานทูตบางแห่ง ที่ไทยเราไปเปิดสถานทูตอยู่ แต่ยังมิได้แต่งตั้งเอกอัครราชทูตไปดำรงตำแหน่งที่นั่น และมอบหมายให้อุปทูตเป็นผู้ดูแลสถานทูตไปพลาง ๆ ก่อนนั้น ตำแหน่งอุปทูตเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Chargé d'affaires หรือ เรียกสั้น ๆ ว่า Chargé (ชาเช่) หมายถึงผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าคณะชั่วคราวแทนเอกอัครราชทูต ซึ่งยังไม่มีการพิจารณาที่จะส่งไปดำรงตำแหน่งที่นั่น

แต่ในกรณีที่ท่านทูตอาจจะเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อไปปฏิบัติราชการ หรือเดินทางไปที่ไหนนอกประเทศที่ประจำการ หรือประเทศในเขตอาณา ก็จะต้องมีการแต่งตั้งอุปทูตชั่วคราว หรือ Chargé d'affaires ad interim ขึ้นมาดูแลสถานทูตแทน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นข้าราชการระดับสูงรองจากเอกอัครราชทูตนั่นเอง เวลาที่ท่านทูตไม่อยู่ เจ้าหน้าที่สถานทูต ก็ต้องทำหนังสือแจ้งประเทศที่ประจำการด้วยว่า ใครจะเป็นอุปทูตชั่วคราวแทนท่านทูตในเวลานั้น ๆ เพื่อให้รับทราบอย่างเป็นทางการ (งานด้านพิธีการทูตนี่มันมีแต่พิธีการทั้งนั้นเลยค่ะ)

ตำแหน่งที่ 2 คือ ตำแหน่งอัครราชทูต (เจ้าหน้าที่การทูต 9 เทียบเท่าตำแหน่งรองอธิบดี) หรือเรียกภาษาอังกฤษว่า Minister เขียนอย่างเดียวกับคำที่แปลว่ารัฐมนตรีนั่นแหละค่ะ แต่ไม่ใช่รัฐมนตรีนะคะ ตำแหน่งนี้ เป็นตำแหน่งรองจากท่านทูต ที่เราเรียกกันเล่น ๆ ภายในว่า “ท่านอัคร” หรือ “เบอร์สอง” ซึ่งก็หมายถึงเบอร์สองรองจากทูตนั่นเอง ตำแหน่งนี้ ส่วนใหญ่จะมีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องการดูแลงานด้านการบริหารในสถานทูตค่ะ

ตำแหน่งที่ 3 คือ ตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษา (เจ้าหน้าที่การทูต 8 เทียบเท่าผู้อำนวยการกอง) หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Minister-Counselor เป็นตำแหน่งที่จะรับผิดชอบงานด้านการเมือง การค้าที่สำคัญ ๆ หรือดูแลรับผิดชอบงานด้านวิชาการของสถานทูตทั้งหมด ตำแหน่งนี้ยังแบ่งออกเป็นด้านต่าง ๆ เช่น อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการพาณิชย์ หรือที่คนทั่วไปมักเรียกกันว่า “ทูตพาณิชย์” นั่นเอง ซึ่งเป็นการเรียกที่ผิด เพราะทูตนั้นมีได้เพียงคนเดียว คือ เอกอัครราชทูต ส่วนอัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นข้าราชการกระทรวงพาณิชย์นั้นไม่ได้เป็น “ทูต” ส่วนตำแหน่งผู้ช่วยทูตฝ่ายการทหาร ก็มักจะเรียกกันสั้น ๆ ว่า “ทูตทหาร” นั่นเอง

ในสถานทูตที่มีขนาดใหญ่ และมีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศของไทย จะมีอัคราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการพาณิชย์ และผู้ช่วยทูตฝ่ายการทหารอยู่ด้วยเสมอ ซึ่งส่วนใหญ่ทั้งสองหน่วยงานจะมีสำนักงานของตัวเอง โดยสำนักงานของพาณิชย์ เรียกว่า สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือ Office of Commercial Affairs ส่วนสำนักงานผู้ช่วยทูตทหาร เรียกว่า Office of the Defence Attache บางที สำนักงานผู้ช่วยทูตทหารก็จะประกอบด้วยทหารหลายเหล่าทัพ ทั้งบก เรือ อากาศ

ตำแหน่งที่ 4 คือ ตำแหน่งที่ปรึกษา (เจ้าหน้าที่การทูต 7 เทียบเท่าหัวหน้าฝ่าย) หรือ Counselor ตำแหน่งนี้ เป็นตำแหน่งที่มีอยู่ในสถานทูต/ สถานกงสุลเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น ส่วนใหญ่จะรับราชการอยู่ในกระทรวงฯ จะมีเฉพาะสถานทูตใหญ่ ๆ เท่านั้นที่จะมีเจ้าหน้าที่ในตำแหน่งนี้

ตำแหน่งที่ 5-8 คือ

เลขานุการเอก (เจ้าหน้าที่การทูต 6) หรือ First Secretary ตำแหน่งนี้ ไม่ได้แปลตรงตัวว่า เลขานุการที่ 1 นะคะ แต่เรียกอย่างเป็นทางการว่า เลขานุการเอก

เลขานุการโท (เจ้าหน้าที่การทูต 5) หรือ Second Secretary

เลขานุการตรี (เจ้าหน้าที่การทูต 4) หรือ Third Secretary

ผู้ช่วยเลขานุการ (เจ้าหน้าที่การทูต 3) หรือ Attaché

ตำแหน่งที่ 5-8 จะเป็นเจ้าหน้าที่ทั้งสายการทูต หรือสายสนับสนุนก็ได้ค่ะ หน้าที่รับผิดชอบก็จะแบ่งกันไป เป็นฝ่าย ๆ เช่น ฝ่ายการเมือง ฝ่ายเศรษฐกิจ ฝ่ายพิธีการทูต และสารนิเทศ ฝ่ายกงสุล ฝ่ายการคลัง ฯลฯ ทุกคนไม่ได้ทำงานเป็นเลขานุการเอกอัครราชทูตนะคะ ส่วนใหญ่ท่านทูตจะมีเลขานุการของท่าน เป็นเจ้าหน้าที่ที่เราจ้างมาจากท้องถิ่น เนื่องจากต้องหวังพึ่งพาความรู้เกี่ยวกับประเทศนั้น ๆ จากเขา

เลขานุการของท่านทูตที่เดนมาร์ก เป็นสาวชาวเดนิช ชื่ออูลลา (เราเรียกกันว่าป้าอูลลาเพราะทำงานมานานเกือบยี่สิบปีแล้ว และมีอายุหกสิบกว่าปีแล้ว แต่อูลลาเหมือนวิกีปีเดียเกี่ยวกับเดนมาร์กที่เคลื่อนที่ได้ ป้าช่วยเราทำงานได้ดีทีเดียวค่ะ เพราะยังเป็นสาวน้อยที่มีความสดชื่นร่าเริง และมีพลังอย่างเหลือเฟือ)

ปัจจุบันกระทรวงฯ ไม่ค่อยส่งเจ้าหน้าที่ระดับผู้ช่วยเลขานุการ และเลขานุการตรีมาประจำการในต่างประเทศแล้วค่ะ เพราะว่าอยากให้ข้าราชการรุ่นใหม่ ทำงานในกระทรวงฯ จนมีประสบการณ์แล้วอย่างน้อย 3-4 ปี จึงจะได้ออกประจำการครั้งแรก

การออกประจำการครั้งแรก จะจำกัดให้ไปได้เฉพาะโพสต์ในประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น ส่วนโพสต์ที่เรียกว่า Multi-lateral หรือพหุภาคี เช่น คณะทูตถาวรต่าง ๆ กระทรวงฯ จะมีระบบคัดเลือกผู้ที่มีความเหมาะสมไปประจำการเอง

ตอนดิฉันออกประจำการครั้งแรก ก็เลือกไปกัมพูชานั่นแหละค่ะ การไปประเทศเพื่อนบ้าน นับเป็นประสบการณ์ที่มีค่าของดิฉันทีเดียว เพราะเนื้อหางานที่รับผิดชอบ คือ ด้านเศรษฐกิจ เป็นงานที่ท้าทาย และสนุกสนานอย่างยิ่ง ในประเทศอาเซียน จะมีกิจกรรมให้ร่วม และมีงานให้เราใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มากมาย สังคมนักการทูตต่างประเทศก็สนุก พอดิฉันไปประจำการอยู่ที่เดนมาร์ก ดิฉันพบว่า หลายครั้งงานไม่ท้าทายเท่ากับประเทศเพื่อนบ้าน แถมสังคมนักการทูตต่างประเทศก็เข้าถึงได้ยาก เพราะประเทศไทยเป็นเพียงประเทศเล็ก ๆ ในเอเชียที่ประเทศในยุโรป ไม่ได้สนใจอะไรมากมายเท่าไหร่นัก





พอเล่าถึงตรงนี้ ก็อยากจะเล่าต่ออีกนิดนะคะว่า เวลาที่ข้าราชการใหม่ ๆ สอบผ่านเข้ามาทำงานในกระทรวงฯ ก็จะต้องแยกย้ายไปทำงานในกรมต่าง ๆ ถ้าได้ไปทำงานในกรมภูมิภาค ซึ่ง มีอยู่ 4-5 กรม คือ กรมเอเชียตะวันออก กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและอาฟริกา กรมอเมริกาและเอเชียแปซิฟิก ฯลฯ น้อง ๆ ก็จะได้เป็นเจ้าหน้าที่โต๊ะ หรือ Desk Officer อันนี้ ก็เป็นศัพท์เฉพาะของการต่างประเทศอีกคำ ที่เป็นที่รู้จักในสากล เจ้าหน้าที่โต๊ะ คือ เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลรับผิดชอบประเทศต่าง ๆ

สมัยที่ดิฉันเข้ารับราชการใหม่ ๆ ได้เป็นเจ้าหน้าที่โต๊ะสิงคโปร์ค่ะ สมัยนั้น หลาย ๆ คนมองว่า เป็นประเทศเล็ก ๆ ที่ไม่ได้มีอะไรน่าสนใจมากมายนัก แต่ดิฉันกลับพบว่า ระยะเวลา 2 ปีที่ได้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่โต๊ะสิงคโปร์ มันทำให้เรากลายเป็นคนทำงานไว เพราะคนสิงคโปร์ทำงานไวมาก มีความ Aggressive (อันนี้ ไม่ได้หมายถึงความหยาบคายก้าวร้าวนะคะ แต่หมายถึงความมุ่งมั่นที่จะทำงานอย่างแข็งกร้าว) และ Paperless คือ ไม่ค่อยใส่ใจเรื่องหนังสือทางการมากนัก ส่งมาทางแฟกซ์หรืออีเมลล์ก็พอแล้ว มันทำให้การประสานงานเป็นไปอย่างฉับไว และมีประสิทธิภาพมากกว่า ประสบการณ์ตรงนั้น หล่อหลอมนิสัยการทำงานไว้ได้มากทีเดียว

ผู้ใหญ่ในกระทรวงฯ สอนไว้เสมอ ๆ ว่าเจ้าหน้าที่โต๊ะ ต้องรู้เรื่องเกี่ยวกับประเทศที่ตนดูแลรับผิดชอบ ทำให้เช้า ๆ พอเข้ามาทำงานก็ต้องนั่งอัพเดทข่าวเกี่ยวกับประเทศของเรา ถ้าเกิดเรื่องอะไรขึ้น เราต้องรู้ และสามารถเตรียมประเด็นท่าทีตอบโต้กับเรื่องนั้น ๆ ได้ทันที

การทำงานเป็นเจ้าหน้าที่โต๊ะสิงคโปร์ ทำให้ดิฉันได้มีโอกาสเข้าไปในห้องสนทนาระหว่างนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย และนายลี กวน ยู รัฐมนตรีอาวุโสของสิงคโปร์ในสมัยนั้น เห็นได้ชัดว่า นายลี กวน ยู เป็นคนที่เก่งมาก ฉลาดคิด และฉลาดตอบ น่าทึ่งมาก ๆ เลยค่ะ นอกจากนี้ ดิฉันยังมีโอกาสได้จัดการประชุม CSEP (Civil-Service Exchange Programme) ครั้งที่ 1 (ที่สิงคโปร์) และครั้งที่ 2 (ที่กรุงเทพฯ) ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่ากิจกรรมนี้ ยังยืนยาวมาจนถึงทุกวันนี้ ล่าสุด เห็นข่าวว่า ไทยกับสิงคโปร์จะดำเนินโครงการนี้ร่วมกันอีกครั้งหลังจากที่หยุดไปเกือบปี โครงการนี้เป็นโครงการทวิภาคีที่มีผลในทางบวก และเป็นการแลกเปลี่ยนความร่วมมือที่ทำแล้วสนุก เพราะเจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายไทยและสิงคโปร์ต่างก็มีความกระตือรอืร้นที่จะทำงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์

แต่เมื่อดิฉันเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมนี้ ครั้งแรกที่สิงคโปร์ ดิฉันได้มีโอกาสเดินทางไปกับพี่เลี้ยง ซึ่งทำงานเก่งมาก ๆ ท่านหนึ่ง (ท่านเป็นแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ของดิฉันทีเดียว) พี่ท่านนี้ ทำงานเตรียมการประชุม จัดเตรียมเอกสาร ทำบทสรุป ฯลฯ ได้ทั้งวัน เลิกงานตอนตีสี่ และตื่น 6 โมงเช้ามานั่งพิมพ์งานได้ (เพราะฉะนั้นใครว่าข้าราชการเช้าชามเย็นชาม ขอโกรธสุด ๆ) พี่ท่านนี้ มีไฟและความกระชับกระเฉงจริง ๆ ค่ะ ดิฉันเลยมีโอกาสได้เรียนรู้มากมายจากพี่เค้า แต่ตอนนั้น ก็ทำเอาดิฉันนึกอยากลาออกเหมือนกัน เพราะให้ดิฉันนอนแค่ 2-3 ชั่วโมงและทำงานนั้น ดิฉันไม่สามารถทำได้ค่ะ

ดิฉันมีความกดดัน และอึดอัดใจอยู่เหมือนกัน และนึกว่าเราต้องฝืนเป็นเหมือนคนอื่น แต่แล้วดิฉันก็ค้นพบจังหวะในการทำงานของตนเอง ที่ไม่ต้องฝืนไปตามแนวทางของคนอื่น ถ้าหากเราสามารถทำให้งานในหน้าที่รับผิดชอบของเราเกิดผลได้ ไม่ว่าคุณจะนอนกี่ชั่วโมงไม่สำคัญเลยจริง ๆ นะ ไม่ทราบว่าปัจจุบัน พี่ท่านนี้ ยังทำแบบนี้อยู่หรือเปล่านะคะ แต่ดิฉันขอนอนตอนตีสอง และตื่น 6 โมงเช้าแล้วกันนะ เวลาไปประชุมที่ต่างประเทศน่ะค่ะ นอนตีสี่ไม่ไหวจริง ๆ ค่ะ





รูปภาพสมัยจัดงานดอกไม้ประดิษฐ์ไทยที่รอสกิลด์ ประเทศเดนมาร์ก งานนี้ จัดดอกไม้กันจนเหนื่อย แต่สนุกมาก ได้รับน้ำใจจากพี่คนไทยที่อยู่ในเดนมาร์กท่านหนึ่ง มาช่วยจัดดอกไม้ทั้งวัน และยังได้รับน้ำใจจากชาวเดนมาร์กที่มีร้านขายของอยู่ในห้างนั้น ให้แจกันมาเป็นอุปกรณ์ตกแต่งด้วย













Create Date : 23 กุมภาพันธ์ 2551
Last Update : 26 กุมภาพันธ์ 2551 14:52:44 น.
Counter : 26516 Pageviews.

22 comments
  
ขอบคุณ ความรู้รอบตัว ดีดีคะ..
ฟังผ่านหูบ่อยๆๆ แต่ไม่เคยเข้าใจซักที
โดย: a_mulika วันที่: 23 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:15:01:58 น.
  
ขอบคุณมากครับที่ มาโพสความรู้ให้ครับ

ตอนนี้พี่ชายผมจะจบปี3แล้ว ครับพี่ผมจะสอบเข้า การคลัง

ส่วนผมก็ กำลังเตรียมเข้ามหาลัยครับ

แต่อยากได้ป้าอูลลา มาอยู่ข้างโต๊ะสอบจังครับ คงจะช่วยได้เยอะ^^

ขอบคุณมากครับ
โดย: anthony IP: 124.157.166.245 วันที่: 23 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:15:09:40 น.
  
ได้ความรู้เพิ่มอีกเยอะเลยค่ะ

เมื่อวานพึ่งไปซื้อตัวอย่างข้อสอบภาค ก. มา พอตกเย็นฟังข่าว เค้าบอกว่าจะยกเลิกระบบซี เลยงงเลย แล้วระบบใหม่จะเป็นไงอ่ะคะ การสอบจะเหมือนเดิมป่าวเอ่ย
โดย: bebek วันที่: 23 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:15:12:14 น.
  
ขอบคุณค่ะ ขอบคุณๆ

เสี้ยวเรียน IR อยู่ปี 4 ค่ะ จะจบอยู่แล้ว

วันก่อนคาบสุดท้ายวิชานโยบายต่างประเทศเปรียบเทียบ อาจารย์ตั้งคำถามว่า

ในยุคที่อะไรๆมันก็รวดเร็วเชื่อมต่อกันไปหมดอย่างนี้ หน้าที่ของทูตควรจะเปลี่ยนแปลงจากอดีตไปหรือไม่ เปลี่ยนยังไง

ตอบไงดีล่ะคะ

(ไม่ใช่ข้อสอบนะคะ เพราะว่าไม่มีสอบ แต่ว่า เสี้ยวอยากรู้โดยส่วนตัว)
โดย: gluhp วันที่: 23 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:15:46:53 น.
  
ได้ความรู้ดี ครับ ขอบคุณ
โดย: wildbirds วันที่: 23 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:16:56:32 น.
  
เพิ่งไปเจอความน่าสมเพชเรื่องหนึ่ง แต่พอได้อ่านบล็อกคุณ ก็พยายามคิดว่า เอาน่า ช้างเผือกก็ยังมีบ้าง
โดย: shin chan (alei ) วันที่: 23 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:17:28:40 น.
  
โอ๊ะ โอ.... ความรู้ใหม่
โดย: น้องเบจัง วันที่: 23 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:17:46:43 น.
  
ได้ความรู้ใหม่เพิ่มขึ้นอีกแล้ว ขอบคุณนะคะ
โดย: leslie วันที่: 23 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:21:33:17 น.
  
ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาเยี่ยมบล็อกค่ะ หวังว่าคงทำให้เข้าใจกลไกต่าง ๆ ในกระทรวงฯ สถานทูต และสถานกงสุลได้มากขึ้นนะคะ

>> คุณเสี้ยวคะ คำถามอาจารย์ยากจังเลย เดี๋ยวจะไปสัมภาษณ์ผู้คนมาตอบให้นะคะ รอก่อนนะจ๊ะ ยากประมาณข้อสอบเข้ากระทรวงฯ นะเนี่ย

>> คุณ Shin Chan ความไม่สบอารมณ์ต่าง ๆ ที่คุณเจอมาได้ผ่อนคลายไปบ้าง เพราะข้อมูลในบล้อกเล็ก ๆ แห่งนี้ ก็ดีใจค่ะ :-)
โดย: Ninie วันที่: 26 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:15:36:13 น.
  
ขอบคุณมากมากเลยค่ะ กำลังสงสัยเรื่องตำแหน่งทางการทูตอยู่พอดี

ได้ความรู้ไปเยอะทีเดียว
โดย: lemonade IP: 125.25.28.176 วันที่: 5 กรกฎาคม 2551 เวลา:2:52:23 น.
  
พี่หมูแดงนี่เอง
โดย: ... IP: 122.0.3.204 วันที่: 6 สิงหาคม 2551 เวลา:15:42:51 น.
  
ว้าว สนใจแหะ ผมชอบภาษาอังกฤษและคล่องด้วย แต่ก็งง แหะ ว่าเราจะทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศ หรือ สถานทูต ต้องเรียนจบคณะและสาขาใดครับ

ตัวอย่าง เท่าที่ผมเข้าใจ
-เรียนจบภาษาของประเทศนั้นๆๆ
-รัฐศาสตร์
-ภาษาอังกฤษ
มีอะไรอีกหรือป่าว ครับ

โดย: ภาสกร IP: 58.8.90.192 วันที่: 14 ธันวาคม 2551 เวลา:9:53:03 น.
  
ขอบคุณครับที่มาแบ่งปันประสบการณ์ให้ได้รู้กัน
ได้รับความรู้มากเลยทีเดียว
ไม่ทราบว่าสอบเข้ากระทรวงฯยากไหมครับ อัตราแข่งขันสูงไหม ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
โดย: Wat IP: 58.240.105.189 วันที่: 31 มีนาคม 2552 เวลา:20:42:47 น.
  
คุณวัฒน์ (ยินดีต้อนรับสู่บล็อกนี้นะคะ) การสอบเข้ากระทรวงการต่างประเทศ มีอัตราการแข่งขันที่สูงมากทีเดียวค่ะ เปิดสอบเป็นประจำทุกปี แต่ปีที่แล้วไม่เห็นเปิดสอบอ่ะค่ะ การเตรียมตัวลองอ่านในบล็อกเ่ก่าเรื่องการสอบนะคะ
โดย: Ninie วันที่: 2 เมษายน 2552 เวลา:1:43:47 น.
  
อ่านแล้วได้ความรู้มากที่เดียว ปีนี้ตั้งใจว่าจะสอบเจ้าหน้าที่การทูต ช่วยแนะนำด้วยนะครับ
โดย: simon IP: 222.123.41.63 วันที่: 12 เมษายน 2552 เวลา:14:23:58 น.
  
ต้องเรียนจบคณะไรบ้างหรอค่ะ
โดย: มารูโกะ IP: 124.121.115.65 วันที่: 15 พฤษภาคม 2552 เวลา:21:24:25 น.
  
พลอยว่าจะลองสอบเข้ากระทรวงการต่างประเทศปีหน้านี้แหละค่ะ

เข้ามาอ่านแล้วมีกำลังใจเยอะเลย ขอบคุณนะคะ
โดย: PLOY IP: 61.90.15.37 วันที่: 26 สิงหาคม 2552 เวลา:22:23:58 น.
  
สุดยอดไปเลยค่ะ...




ขอบคุณนะค่ะพี่


โดย: hun_lay@hotmail.com IP: 202.91.18.194 วันที่: 8 พฤศจิกายน 2552 เวลา:11:53:59 น.
  
ดีมากเลยอยากเรียน
จบมนุษยศาสตร์เอกเวียดนาม
เป็นทูตดายมัยค่ะ
ช่วยตอบหน่อยค่ะ
ขอบคุณนะค่ะ
โดย: กุ้งค่ะ IP: 118.174.27.155 วันที่: 3 มกราคม 2553 เวลา:21:13:34 น.
  
ขอบคุณมากๆๆค่ะ สำหรับสาระดีๆ
ตอนนี้เรียนภาษาอังกฤษธุรกิจ
ไปทำงานที่สถาฑูตได้มั้ยค่ะ
ตอบหน่อยนะค่ะ ขอบคุณมากค่ะ
โดย: เอวี่ IP: 183.88.91.105 วันที่: 18 มิถุนายน 2555 เวลา:11:35:16 น.
  
วิทยาทาน ดีครับ
โดย: เขมณัฎฐ วัฒนาสถิตย์พร IP: 125.25.5.76 วันที่: 17 กรกฎาคม 2555 เวลา:20:44:56 น.
  
Excellent scoop
โดย: นิจ IP: 118.175.245.114 วันที่: 18 มิถุนายน 2557 เวลา:10:33:04 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Ninie
Location :
กรุงเทพ  Netherlands

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 127 คน [?]




ได้ออกประจำการเสียที....แต่ต้องหนีร้อนไปถึงรัสเซียเชียวหรือ จะไหวรื้อ?
เมื่อเขาฉันถามว่า "เธอจะบ้ารองเท้าไปถึงไหน?"
ใครอยากได้วารสารสราญรมย์ หนังสือดี ๆ ของกระทรวงการต่างประเทศ โปรดเข้ามาอ่านด้วยจ้า
Cast away ที่ La a Natu@Pranburi
เมืองไทยในสายตาของพี่แจส ผ่านเลนส์
10 ยอดการ์ตูนผู้หญิงในดวงใจ ภาค 1
เมื่อคิดจะแต่งงานกับฝรั่ง และย้ายฐานทัพมาอยู่เมืองไทย ต้องทำอย่างไร

บ ล็ อ ก ข อ ง เ พื่ อ น