ปวดเข่า ความหมาย ปวดเข่า


ปวดเข่า
ความหมาย ปวดเข่า
 

ปวดเข่า คืออาการปวดที่เกิดขึ้นบริเวณข้อต่อซึ่งเชื่อมระหว่างกระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้ง ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้รองรับน้ำหนักของร่างกาย อาการปวดเข่าพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่มักมีกลุ่มเสี่ยงเป็นผู้สูงอายุ ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน และนักกีฬาที่ต้องใช้กำลังขาและเข่ามาก

ปวดเข่าเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ วิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการปวด ดังนั้น หากเกิดอาการปวด ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาที่ตรงจุด แต่หากเกิดจากสาเหตุที่ไม่รุนแรง ผู้ป่วยอาจดูแลรักษาด้วยตนเอง



อาการปวดเข่า
ความรุนแรงของอาการปวดเข่า ขึ้นอยู่กับสาเหตุ บริเวณที่ปวด และสภาพทางกายภาพของผู้ป่วยเป็นหลัก โดยผู้ป่วยปวดเข่าจะมีอาการทั่วไปดังนี้

งอเข่าหรือยืดเข่าได้ลำบาก
ผิวหนังที่เข่าแดงหรือสัมผัสแล้วรู้สึกอุ่น
เกิดเสียงผิดปกติเมื่อขยับเข่า เช่น เสียงดังกึก เสียงลั่นในข้อ
บางครั้ง อาการปวดเข่าอาจเกิดขึ้นในระดับที่รุนแรง ดังนี้

เกิดอาการปวด ร่วมกับอาการบวม แดง และเป็นไข้
ไม่สามารถยืนได้ ล้มเมื่อพยายามยืน หรือเดินลำบาก
รู้สึกชาบริเวณขาข้างที่ผิดปกติ
เข่ามีรูปร่างผิดปกติ
สาเหตุของอาการปวดเข่า
โดยทั่วไปแล้วอาการปวดเข่าเกิดจากสาเหตุหลัก คือ การบาดเจ็บบริเวณเข่า การอักเสบ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อาการปวดเข่าอาจเกิดจากความผิดปกติบริเวณใกล้เคียงแต่ส่งผลให้มีอาการปวดที่เข่าได้ เช่น เกิดจากกลุ่มอาการปวดเข่าบริเวณกระดูกสะบ้า (Patellofemoral Pain Syndrome)

อาการบาดเจ็บบริเวณเข่า
อาการปวดเข่าอาจเกิดขึ้นจากการบาดเจ็บของส่วนประกอบต่าง ๆ บริเวณเข่า เช่น เอ็น เส้นเอ็น กระดูก กระดูกอ่อน หรือ ถุงของเหลวหล่อลื่นข้อต่อ (Bursa) โดยการบาดเจ็บที่มักพบมีดังนี้

ข้อเคล็ดและกล้ามเนื้อฉีก (Sprains and Strains)
ข้อเคล็ดและกล้ามเนื้อฉีกขาดเป็นการบาดเจ็บที่พบได้โดยทั่วไป ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อข้อต่อหรือกล้ามเนื้อถูกเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว ลงน้ำหนักผิดจังหวะ หรือถูกกระแทก
ข้อเคล็ด คืออาการบาดเจ็บที่เกิดจากเอ็นข้อต่อซึ่งเป็นแผ่นเนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่ยึดระหว่างกระดูกสองชิ้นจนเกิดเป็นข้อต่อถูกบิดผิดรูปหรือฉีกขาดจากการรับแรงเกินข้อจำกัด
กล้ามเนื้อฉีก คืออาการบาดเจ็บที่เกิดจากเส้นใยกล้ามเนื้อฉีกขาด จากการถูกยืดเกินขีดจำกัด หรือหดอย่างรวดเร็ว
ภาวะเลือดออกในข้อเข่า (Haemarthrosis)
ภาวะเลือดออกในข้อเข่าเกิดจากเส้นเอ็นภายในข้อเข่าฉีกขาด กระดูกเข่าหัก หรือการรับประทานยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกในข้อเข่าแม้ไม่ได้รับบาดเจ็บ
เส้นเอ็นไขว้หน้าหัวเข่า (ACL Injury) บาดเจ็บ
ACL Injury คือ อาการบาดเจ็บที่เกิดจากเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่า ACL (Anterior Cruciate Ligament) ซึ่งเป็นเส้นเอ็นหนึ่งในสองเส้นที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อกระดูกหน้าแข้งกับกระดูกต้นขาเกิดการฉีกขาด โดยส่วนมากมักเกิดกับนักกีฬาที่ต้องเปลี่ยนท่าหรือทิศทางการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เช่น นักฟุตบอล นักบาสเกตบอล นักเทนนิส อาการโดยทั่วไปคือ ได้ยินเสียงดังกึก เมื่อเส้นเอ็นฉีกขาด เข่ามีอาการบวม และรู้สึกเจ็บเมื่อต้องรับน้ำหนัก
โรคเอ็นสะบ้าอักเสบ (Patellar Tendinitis)
โรคเอ็นสะบ้าอักเสบ เกิดจากการบาดเจ็บของเอ็นที่ยึดกระดูกตั้งแต่บริเวณสะบ้าไปจนถึงบริเวณหน้าแข้ง ซึ่งทำหน้าที่ควบคู่ไปกับกล้ามเนื้อต้นขาส่วนหน้า ทำให้สามารถงอหรือยืดเข่าได้ โดยมักเกิดในนักกีฬาที่ต้องใช้กำลังกระโดดอยู่เสมอ เช่น นักบาสเกตบอล นักวอลเลย์บอล
การอักเสบของถุงน้ำลดการเสียดสีในเข่า (Knee Bursitis)
การอักเสบของถุงน้ำลดการเสียดสีในเข่า เกิดจากถุงน้ำที่ทำหน้าที่ลดการเสียดสีและกันกระแทกระหว่างกระดูกและเอ็นบริเวณเข่าเกิดการอักเสบ ซึ่งมักเกิดในถุงน้ำเหนือกระดูกสะบ้า หรือถุงน้ำใต้ข้อต่อเข่า ส่งผลให้เจ็บที่เข่า และเคลื่อนไหวเข่าได้ลำบาก สาเหตุหลักมักเกิดจากการนั่งคุกเข่าบนพื้นผิวแข็งเป็นประจำ จึงทำให้ในบางครั้งอาการนี้ถูกเรียกว่า เข่าแม่บ้าน (Housemaid's Knee) ซึ่งเลียนมาจากลักษณะท่าทางการทำงานของแม่บ้านที่มักคุกเข่านั่นเอง
หมอนรองกระดูกฉีกขาด (Torn Meniscus)
หมอนรองกระดูก คือกระดูกอ่อนที่มีรูปร่างคล้ายจาน ทำหน้าที่เป็นส่วนรองรับน้ำหนักและกันกระแทกภายในข้อต่อ อีกทั้งยังเป็นตัวช่วยในการกระจายน้ำไขข้อเพื่อลดการเสียดสีระหว่างกระดูก โดยเข่าแต่ละข้างจะประกอบด้วยหมอนรองกระดูกสองชิ้นอยู่ระหว่างกระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้ง การฉีกขาดมักเกิดระหว่างลงน้ำหนักที่เข่าหรือหมุนเข่าผิดจังหวะ อาการทั่วไปของหมอนรองกระดูกฉีกขาด คือ รู้สึกเจ็บบริเวณเข่า เข่าบวม งอหรือยืดเข่าได้ลำบาก เคลื่อนไหวเข่าไม่ได้หรือเข่าล็อก
กระดูกหัก
กระดูกเข่าหักอาจเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ อุบัติเหตุระหว่างเล่นกีฬา ตกจากที่สูง หรืออาจเกิดขึ้นจากการล้มหรือก้าวพลาดซึ่งมีแนวโน้มเกิดในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน เป็นต้น
ปัญหาทางกลไกในร่างกาย
ในบางครั้งอาการปวดเข่าอาจไม่ได้มีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บ หรือผลกระทบของโรคไขข้อ แต่เกิดขึ้นจากกลไกในร่างกาย ดังนี้

เศษกระดูกหลุดอยู่ในข้อเข่า (Loose Body)
ความเสื่อมโทรมของกระดูกหรืออุบัติเหตุ อาจส่งผลให้กระดูกหรือกระดูกอ่อนบริเวณเข่าเกิดการแตกหัก และหลุดลอยอยู่ในช่องข้อเข่า โดยปกติเศษกระดูกจะไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย หากไม่ไปขัดขวางการเคลื่อนไหวของข้อเข่า ซึ่งถ้าเกิดขึ้น อาจส่งผลให้ปวดเข่า และเคลื่อนไหวได้ไม่สะดวก
สะบ้าผิดตำแหน่ง (Dislocated Kneecap)
สะบ้าผิดตำแหน่ง เกิดขึ้นเมื่อกระดูกสะบ้า ซึ่งเป็นกระดูกครอบด้านหน้าเข่าทรงสามเหลี่ยม เกิดการเคลื่อนไปอยู่ผิดตำแหน่ง และอาจทำให้เนื้อเยื่อโดยรอบเกิดการฉีกขาด โดยสะบ้าที่อยู่ผิดตำแหน่งส่วนมากมักสังเกตเห็นได้จากภายนอก ส่งผลให้ปวดเข่า เข่าบวม ไม่สามารถยืดเข่าและเดินได้
Iliotibial Band Syndrome: ITBS
เป็นลักษณะอาการที่เกิดจากเส้นใยเนื้อเยื่อ Iliotibial ซึ่งเป็นเส้นใยเนื้อเยื่อที่เชื่อมจากด้านนอกเอวไปจนถึงด้านนอกหัวเข่าหดรัดจนเสียดสีเข้ากับกระดูกบริเวณเข่าด้านข้าง ส่งผลให้เข่าเกิดอาการปวด โดยเป็นอาการที่มักเกิดขึ้นกับนักวิ่งระยะไกล ทำให้กระดูกบริเวณเข่าเสียดสีกับเนื้อเยื่ออย่างต่อเนื่อง
อาการบาดเจ็บที่เอวหรือเท้า
อาการบาดเจ็บที่เอวหรืออาการบาดเจ็บเท้า อาจทำให้ผู้ป่วยเปลี่ยนลักษณะการเดินเพื่อผ่อนแรงกดทับที่อวัยวะนั้นๆ ซึ่งอาจส่งผลให้ข้อเข่าต้องรับแรงกดทับมากกว่าปกติ และเกิดอาการปวดขึ้นได้
โรคไขข้ออักเสบชนิดต่าง ๆ
โรคไขข้ออักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งส่วนมากอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดเข่าได้ โดยโรคไขข้ออักเสบที่พบได้บ่อยมีดังนี้

โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis)
โรคข้อเสื่อม คือหนึ่งในโรคของกลุ่มโรคไขข้ออักเสบที่พบได้ทั่วไป เกิดจากการสึกกร่อนของกระดูกอ่อนที่ปลายกระดูกซึ่งเป็นส่วนของข้อต่อ โดยเฉพาะข้อต่อบริเวณ เข่า มือ เอว และกระดูกสันหลัง ซึ่งหากเกิดขึ้นกับข้อเข่า อาจส่งผลให้รู้สึกเจ็บเมื่อเคลื่อนไหวเข่าหรือเมื่อใช้แรงกดลงไปบริเวณเข่า ขยับเข่าได้ลำบาก บางครั้งอาจคลำได้ก้อนแข็ง หรือที่เรียกว่าหินปูนเกาะกระดูก (Bone Spurs) บริเวณข้อเข่า โรคข้อเสื่อมมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย นอกจากนั้น อายุที่เพิ่มมากขึ้น และน้ำหนักตัวที่เกินมาตรฐาน อาจไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคข้อเสื่อมได้เช่นกัน
โรคข้ออักเสบติดเชื้อ (Septic Arthritis)
โรคข้ออักเสบติดเชื้อ คือการติดเชื้อบริเวณข้อต่อ อาจเกิดจากเชื้อโรคที่อยู่ในกระแสเลือดซึ่งมาจากส่วนอื่นของร่างกาย หรือเกิดจากเชื้อโรคที่เข้ามาทางบาดแผลบริเวณข้อต่อโดยตรง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ตามข้อต่อส่วนต่างๆ แต่ส่วนใหญ่มักพบในข้อเข่าเป็นหลัก โดยการติดเชื้ออาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ส่งผลให้ข้อต่อบริเวณที่ติดเชื้อบวม แดง รู้สึกร้อน ผู้ป่วยใช้งานข้อต่อที่ติดเชื้อได้ลำบากและอาจมีไข้
โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis)
โรคข้อรูมาตอยด์เป็นการอักเสบชนิดเรื้อรัง ที่เกิดขึ้นตามข้อต่อส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย ซึ่งหากเกิดขึ้นในข้อต่อข้างใดข้างหนึ่ง มักพบว่าข้อต่ออีกข้างเกิดการอักเสบด้วยเช่นกัน โดยเกิดขึ้นจากความผิดปกติของระบบคุ้มกัน เมื่อเม็ดเลือดขาวเลือกทำลายเยื่อบุผิวข้อต่อแทนที่จะเป็นสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย เช่น ไวรัสหรือแบคทีเรีย (Autoimmune Disease) เยื่อบุผิวข้อต่อที่ถูกทำลายจะเกิดการอักเสบและมีลักษณะหนาขึ้น จนไปทำลายกระดูกและกระดูกอ่อนภายในข้อต่อ
อีกทั้งยังส่งผลให้เส้นเอ็นภายในข้อต่ออ่อนแอ ทำให้ข้อต่อผิดรูปร่าง อาการทั่วไป คือ รู้สึกเจ็บและร้อนที่ข้อต่อ ข้อต่อบวม มีอาการข้อติด โดยเฉพาะในช่วงเช้า รู้สึกอ่อนเพลีย มีไข้ และน้ำหนักลดลง โดยในระยะแรก มักเกิดกับข้อต่อขนาดเล็ก เช่น ข้อต่อนิ้วมือ นิ้วเท้า และขยายไปยังข้อต่อส่วนอื่นในร่างกาย เช่น เข่า สะโพก เอว ไหล่

ซึ่งในบางครั้งอาจส่งผลไปถึงอวัยวะอื่นด้วย เช่น ตา ปอด หัวใจ ยังไม่มีงานวิจัยใดที่ออกมายืนยันถึงสาเหตุแท้จริงที่ทำให้ภูมิคุ้มกันทำลายตัวเองและส่งผลให้เกิดโรคข้อรูมาตอยด์ แต่พบว่าพันธุกรรม พฤติกรรม และสิ่งแวดล้อมโดยรอบของผู้ป่วยอาจไปเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรค เช่น การสูบบุหรี่ เป็นต้น

โรคเก๊าท์
โรคเก๊าท์คือโรคไขข้ออักเสบชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อร่างกายผลิตกรดยูริคในปริมาณที่มากเกินหรือไตไม่สามารถขับกรดยูริคได้ปกติ ทำให้กรดยูริคเกิดการสะสมกลายเป็นผลึกเล็ก ๆ ซึ่งส่วนมากจะเกิดภายในช่องข้อต่อ ส่งผลให้ข้อต่อเกิดการอักเสบ และรู้สึกเจ็บรุนแรงบริเวณข้อต่อ ข้อต่อแดงและบวม เกิดขึ้นในข้อต่อเกือบทุกส่วนในร่างกาย และหลายจุดพร้อมกัน ส่วนใหญ่มักเกิดเก๊าท์ที่นิ้วหัวแม่เท้า ข้อเท้า เข่า
โรคเก๊าท์เทียม (Pseudogout)
มีสาเหตุการเกิดคล้ายกับโรคเก๊าท์ แต่แตกต่างกันที่ชนิดของสารต้นกำเนิดผลึก โดยโรคเก๊าท์เทียมเกิดจากสารแคลเซียมไพโรฟอสเฟสไดไฮเดรต (CPPD) ถูกสะสมและเกิดเป็นผลึกเล็ก ๆ ในช่องข้อต่อ ผลึก CPPD จะทำให้ข้อต่อเกิดการอักเสบ ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นที่เข่า อาการของโรคเก๊าท์เทียมโดยทั่วไปคือ รู้สึกเจ็บบริเวณข้อต่อที่อักเสบ ข้อต่อบวม มีน้ำในข้อต่อ ข้อต่ออักเสบเรื้อรัง
ความผิดปกติอื่น
กลุ่มอาการปวดเข่าบริเวณกระดูกสะบ้า (Patellofemoral Pain Syndrome)
กลุ่มอาการปวดเข่าบริเวณกระดูกสะบ้า คือ อาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นบริเวณเข่าด้านหน้ารอบกระดูกสะบ้า ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับบุคคลวัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะกลุ่มที่กระดูกสะบ้าเคลื่อน และนักกีฬาที่ต้องใช้กำลังวิ่งหรือกระโดด ในบางครั้งจึงเรียกกลุ่มอาการนี้ว่า Runner’s Knee อาการทั่วไปคือ รู้สึกเจ็บปวดบริเวณด้านหน้าเข่า โดยอาการมักกำเริบเมื่อ ขึ้นหรือลงบันได นั่งคุกเข่าหรืองอเข่าเป็นระยะเวลานาน
เจ็บเข่ามีโอกาสเกิดได้กับบุคคลทุกเพศ ทุกวัย อย่างไรก็ตาม พบว่ามีปัจจัยหรือพฤติกรรมบางอย่างที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการปวดเข่าได้ ดังนี้

การเล่นกีฬาบางชนิด การเล่นกีฬาบางชนิดที่ต้องวิ่ง หรือกระโดดอยู่เสมอ เช่น บาสเกตบอล ฟุตบอล อาจไปเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้เล่นเกิดอาการเจ็บเข่า
น้ำหนักมากเกินมาตรฐาน ผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานหรือมีโรคอ้วน มักเสี่ยงต่อการเกิดหมอนรองกระดูกอักเสบ เนื่องจากแรงกดบนเข่าจากน้ำหนักตัวของร่างกาย จากกิจกรรมที่ใช้ในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็น การเดิน การวิ่ง การขึ้นหรือลงบันได
กล้ามเนื้อขาดความยืดหยุ่นหรือไม่แข็งแรง หากกล้ามเนื้อขาดความยืดหยุ่นหรือไม่แข็งแรงเพียงพอที่จะรองรับแรงที่มากระทำ จะส่งผลให้ข้อต่อต้องรับแรงโดยตรงและเสี่ยงต่อการเกิดอาการบาดเจ็บ
อาการบาดเจ็บที่เคยเกิดขึ้น ผู้ที่เคยบาดเจ็บบริเวณเข่ามาก่อน อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดการบาดเจ็บอีกครั้งมากกว่าคนที่ไม่เคยบาดเจ็บมาก่อน
การวินิจฉัยอาการปวดเข่า
เจ็บเข่าเกิดได้จากหลายสาเหตุ หากรู้สึกเจ็บหรือพบความผิดปกติที่เข่า เช่น เข่าผิดรูปร่าง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง โดยแพทย์จะมีวิธีการวินิจฉัยอาการเจ็บเข่า ดังนี้

สอบถามประวัติทางการแพทย์ คือการสอบถามอาการเบื้องต้นของผู้ป่วย เช่น ระยะเวลาที่รู้สึกปวด อาการปวด นอกจากนั้นแพทย์จะสอบถามถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลถึงอาการปวดเข่า เช่น ปัญหาสุขภาพของผู้ป่วย เป็นต้น
การตรวจร่างกาย แพทย์ตรวจสอบการเคลื่อนไหวของเข่าและคาดคะเนตำแหน่งของการบาดเจ็บจากการ หมุนเข่า ยืดเข่า และการใช้แรงกดลงไปบนเข่า ในบางครั้งแพทย์อาจให้ผู้ป่วยลองเดิน ยืน หรือนั่งยอง ๆ เพื่อตรวจสอบการทำงานของเข่า
เครื่องมือที่ช่วยในการวินิจฉัย แพทย์จะเลือกใช้การตรวจวินิจฉัยให้เหมาะสมกับอาการและผลตรวจร่างกายที่พบ ดังนี้
เอกซเรย์ (X-Ray) คือการใช้รังสีเอกซ์สร้างภาพ
เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) คือการใช้รังสีเอ็กซ์สร้างภาพ 3 มิติของเข่าที่มีอาการเจ็บ โดยภาพที่เกิดขึ้นนั้นสามารถแสดงถึง เนื้อเยื่ออ่อน เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อ ที่มีความละเอียดมากกว่าการใช้วิธีเอกซเรย์
อัลตราซาวด์ (Ultrasound) คือการใช้คลื่นเสียงเพื่อแสดงโครงสร้างของเนื้อเยื่ออ่อนภายในเข่า
การใช้เครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) คือการใช้สนามแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อสร้างภาพส่วนประกอบต่าง ๆ ภายในเข่า สามารถแสดงรายละเอียดเนื้อเยื่ออ่อนได้ชัดเจนกว่าวิธีอื่น ซึ่งมักถูกนำมาใช้ตรวจหาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับกระดูก
การส่องกล้องตรวจภายในข้อ (Arthroscopy) คือเทคนิคการผ่าตัดแบบหนึ่ง โดยแพทย์จะสร้างแผลเล็ก ๆ บริเวณเข่าและสอดท่อขนาดเล็กที่มีกล้องเข้าไป เพื่อตรวจสอบภายในข้อเข่า
การเจาะระบายน้ำในข้อ (Joint Aspiration) คือการใช้กระบอกฉีดยาดูดของเหลวภายในเข่าออกมา เพื่อลดอาการบวม โดยแพทย์จะนำของเหลวมาตรวจสอบการอักเสบ หรือการติดเชื้อภายในเข่า
การรักษาอาการปวดเข่า
การรักษาอาการปวดเข่าทำได้หลายวิธี แตกต่างกันไปตามสาเหตุของอาการปวด ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยา การบำบัดรักษา การฉีดยา การผ่าตัด และการแพทย์ทางเลือก

การใช้ยา

แพทย์จะจ่ายยาเพื่อบรรเทาอาการปวด และรักษาโรคเรื้อรังที่ส่งผลต่ออาการปวดเข่า เช่น โรคข้อรูมาตอยด์ โรคเกาต์

กายภาพบำบัดรักษา

แพทย์จะแนะนำวิธีการเสริมสร้างให้กล้ามเนื้อรอบเข่าแข็งแรงขึ้น โดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณต้นขาด้านหน้าและต้นขาด้านหลัง ซึ่งในบางรายอาจให้ใช้เครื่องมือเสริมเพื่อป้องกันและรองรับแรงที่มากระทำกับข้อเข่า เช่น การใช้วัสดุรองรับอุ้งเท้าในผู้ป่วยข้อเสื่อม นอกจากนั้น ผู้ป่วยซึ่งปวดเข่าควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสียหายของเข่า ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายและเล่นกีฬาในท่าที่ถูกต้อง หรือหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

การฉีดยา

ในบางครั้งแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยฉีดยาเข้าไปที่เข่าโดยตรง ซึ่งยาที่แพทย์ส่วนใหญ่ใช้ในการรักษาอาการปวดเข่ามีดังนี้

กรดไฮยาลูรอนิค (Hyaluronic acid) มีลักษณะเป็นของเหลวข้นคล้ายของเหลวที่เป็นน้ำหล่อลื่นข้อเข่าในร่างกาย แพทย์จะฉีดกรดไฮยาลูรอนิคเข้าไปในเข่าเพื่อบรรเทาอาการปวดและช่วยให้เข่าเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ซึ่งยาจะมีฤทธิ์อยู่ได้ประมาณ 6 เดือน
คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) แพทย์จะฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์เพื่อบรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบในผู้ป่วยโรคไขข้ออักเสบ อย่างไรก็ตาม ฤทธิ์ของยาอาจไม่ได้ผลกับผู้ป่วยทุกคน
การผ่าตัด

แม้แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยปวดเข่าเข้ารับการผ่าตัด แต่โดยส่วนใหญ่อาการปวดเข่าไม่ใช่การบาดเจ็บที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดทันที ผู้ป่วยจึงควรศึกษาถึงผลกระทบของการรักษาก่อนการตัดสินใจผ่าตัด โดยการผ่าตัดที่แพทย์อาจเลือกใช้มีดังนี้

การผ่าตัดผ่านกล้อง (Arthroscopic Surgery)

การผ่าตัดผ่านกล้อง ทำได้โดยสร้างแผลขนาดเล็กบริเวณหัวเข่า และสอดเครื่องมือเล็ก ๆ ที่มีกล้องเข้าไปในเข่า เพื่อตรวจดูความผิดปกติและซ่อมแซมข้อเข่า เช่น การเสริมความแข็งแรงให้เส้นเอ็น การซ่อมแซมหมอนรองกระดูก การนำเศษกระดูกหรือกระดูกอ่อนออกมา

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเฉพาะส่วน

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเฉพาะส่วน คือ การผ่าตัดเพื่อนำข้อเข่าเทียม ซึ่งทำจากโลหะและพลาสติก มาทดแทนข้อเข่าเฉพาะส่วนที่เสียหาย และมักเป็นการผ่าตัดเล็ก ผู้ป่วยจึงอาจใช้เวลาพักฟื้นเพียงเวลาสั้นๆ

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

การผ่าตัดเพื่อนำข้อเข่าเทียมซึ่งทำจากโลหะ หรือพลาสติกคุณภาพสูง มาทดแทนกระดูกและกระดูกอ่อนบริเวณข้อเข่าทั้งหมด

การแพทย์ทางเลือก

ปัจจุบันมีงานวิจัยออกมาให้ข้อมูลถึงวิธีการรักษาอาการปวดเข่าวิธีใหม่ ทำให้ผู้ป่วยมีทางเลือกในการรักษามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือการฝังเข็ม

กลูโคซามีนและคอนดรอยติน (Glucosamine and Chondroitin)

ผลงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า กลูโคซามีนและคอนดรอยดิน ซึ่งเป็นสารที่มักถูกนำมาใช้เป็นอาหารเสริม หากรับประทานร่วมกัน จะมีประโยชน์ช่วยฟื้นฟูข้อเสื่อม โดยจะเห็นผลชัดเจนในผู้ป่วยที่มีอาการปวดปานกลางหรือปวดค่อนข้างรุนแรง

การฝังเข็ม

การใช้เข็มขนาดเล็กฝังลงไปจุดต่าง ๆ ตามร่างกายของผู้ป่วย ซึ่งมีงานวิจัยอ้างว่า การฝังเข็มอาจช่วยบรรเทาอาการปวดเข่า ที่เกิดจากโรคข้อเสื่อมได้

ผู้ป่วยที่มีอาการปวดเข่าเพียงเล็กน้อยและเกิดจากสาเหตุที่ไม่รุนแรง อาจรักษาอาการปวดเข่าด้วยตนเองได้ ดังนี้

รับประทานยา

ผู้ป่วยอาจรับประทานยาภายใต้การให้คำปรึกษาจากเภสัชกร เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพนเฟน หรือนาพรอกเซน

ทาครีมที่มีส่วนผสมของสารที่ทำให้เกิดอาการชาหรือรู้สึกร้อน

ผู้ป่วยสามารถบรรเทาอาการปวดด้วยการทาครีมที่มีส่วนผสมของสารที่ทำให้เกิดอาการชา เช่น สารลิโดเคน หรือสารที่ทำให้รู้สึกร้อนผิวบริเวณที่ทา เช่น สารแคปไซซิน

ปฏิบัติตามหลัก “ RICE”

ซึ่งเป็นหลักที่ควรปฏิบัติ 4 ประการ เมื่อเข่าได้รับบาดเจ็บ ดังนี้

Rest ผู้ป่วยควรเว้นการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันสักระยะ อาจนาน 1-2 วัน ในผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บเล็กน้อย เพื่อให้เวลาร่างกายฟื้นฟูการบาดเจ็บและลดความเสี่ยงที่จะเกิดการบาดเจ็บมากขึ้น
Ice ผู้ป่วยควรประคบบริเวณเข่าที่ปวดด้วยเจลเก็บความเย็น หรือผ้าขนหนูห่อด้วยน้ำแข็ง เพื่อลดอาการปวดและอักเสบ โดยไม่ควรประคบติดต่อกันนานเกิน 20 นาที เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อผิวหนังและระบบประสาทได้
Compression ผู้ป่วยควรพันผ้ายืดบริเวณเข่า โดยเป็นผ้าที่มีน้ำหนักเบา อากาศลอดผ่านได้ และไม่พันแน่นจนเกินไป เพื่อลดการก่อตัวของของเหลวในเข่า อีกทั้งผ้าจะช่วยจัดเข่าให้อยู่ในรูปร่างปกติ
Elevation ผู้ป่วยควรวางขาข้างที่เกิดอาการปวดเข่าไว้ในระดับสูงเพื่อลดอาการบวม โดยอาจวางขาไว้บนหมอน หรือนั่งเก้าอี้เอนนอนที่ปรับระดับความสูงของส่วนขาได้
การรักษาอาการปวดเข่าด้วยวิธีธรรมชาติ

จากงานวิจัยพบว่ามีสมุนไพรหลายชนิดที่มีสรรพคุณในการช่วยรักษาอาการปวดเข่าได้ ดังนี้
โสม
มีการศึกษาที่พบว่าโสมมีสรรพคุณในการช่วยลดการอักเสบซึ่งอาจช่วยลดอาการปวดเข่าที่มีสาเหตุมาจากการอักเสบของข้อได้ และยังพบว่าโสมนั้นมีช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาเหล่านี้อาจยังต้องการการศึกษาในมนุษย์เพิ่มเติมเพื่อที่จะยืนยันถึงสรรพคุณในการแก้ปวดเข่าของโสม
ตังกุย
จากการทดลองในห้องปฏิบัติการพบว่าตังกุยนั้นมีส่วนประกอบกว่าสองชนิดที่มีสรรพคุณในการซ่อมแซมกระดูกอ่อน ซึ่งอาจช่วยฟื้นฟูอาการของโรคข้ออักเสบได้
เห็ดหลินจือ
เป็นสมุนไพรที่ออกฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบของร่างกาย มักนำมาเป็นส่วนประกอบในรักษาโรคที่เกี่ยวกับการอักเสบ โดยเฉพาะโรคแพ้ภูมิตัวเอง อย่างโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
ขมิ้น
จากการศึกษาพบว่าขมิ้นนั้นออกฤทธิ์ต้านการอักเสบและลดการเสื่อมของร่างกาย ซึ่งสรรพคุณเหล่านี้อาจช่วยป้องกันและยืดระยะเวลาการเกิดโรคข้อเสื่อมให้ช้าลงได้ อย่างไรก็ตาม สรรพคุณในการต้านอักเสบและชะลอการเสื่อมในขมิ้นนั้นยังต้องการการศึกษาในมนุษย์เพิ่มเติม เพื่อยืนยันถึงสรรพคุณในการรักษาอาการปวดเข่า
เจียวกู่หลาน
ผลการศึกษาจากห้องปฏิบัติการพบว่าสารสกัดจากเจียวกู่หลานนั้นมีสรรพคุณในการช่วยลดการอักเสบของเซลล์กระดูกอ่อน ซึ่งอาจช่วยในการป้องกันและลดอาการของโรคข้อเสื่อมได้
ภาวะแทรกซ้อนของอาการปวดเข่า
อาการปวดเข่าส่วนใหญ่มักไม่ใช่อาการที่รุนแรง แต่อาการปวดเข่าที่มีสาเหตุมาจากปัจจัยบางอย่าง เช่น โรคข้อเสื่อม หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รีบรักษา อาการอาจรุนแรงขึ้นและทำให้พิการได้ นอกจากนั้น ผู้ป่วยที่เคยมีอาการบาดเจ็บที่เข่า แม้จะเป็นเพียงการบาดเจ็บเล็กน้อย อาจมีแนวโน้มที่จะเกิดการบาดเจ็บคล้ายเดิมขึ้นอีกในอนาคต

การป้องกันอาการปวดเข่า
แม้อาการปวดเข่าจากอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ยากจะคาดการณ์ล่วงหน้า อาจไม่สามารถป้องกันได้ แต่อาการปวดเข่าที่มีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่น ส่วนใหญ่ล้วนป้องกันได้ ซึ่งควรปฏิบัติตัวดังนี้

อบอุ่นร่างกายและยืดกล้ามเนื้อก่อนออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา โดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณต้นขาส่วนหน้าและต้นขาส่วนหลัง เพื่อลดอาการตึงของกล้ามเนื้อบริเวณเข่า
สร้างกล้ามเนื้อส่วนขาให้แข็งแรง โดยออกกำลังกายที่เน้นการสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อส่วนขา เช่น การเดินขึ้นบันได การปั่นจักรยาน หรือการเล่นเวทที่ขา
ระหว่างการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย ควรหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนท่าหรือทิศทางกะทันหัน
รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อลดแรงกดที่เข่าจากน้ำหนักตัวที่มากเกิน
สวมรองเท้าที่มีขนาดพอดีและเหมาะสมกับเท้า เพื่อรักษาสมดุลของขาขณะเดินหรือวิ่ง นอกจากนั้นผู้ป่วยโรคเท้าแบนหรือผู้ที่มีลักษณะเท้าแบน อาจมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่เข่า ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการปวดเข่าได้ จึงควรสวมรองเท้าสำหรับคนเท้าแบนโดยเฉพาะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.pobpad.com/%E0%B8%9B%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2

 


 
Health Blog
 
newyorknurse




 

Create Date : 12 พฤศจิกายน 2564
8 comments
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2564 4:22:41 น.
Counter : 908 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณอุ้มสี, คุณปรศุราม, คุณหอมกร, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณเนินน้ำ, คุณhaiku, คุณสองแผ่นดิน, คุณนายแว่นขยันเที่ยว, คุณกะว่าก๋า, คุณnonnoiGiwGiw, คุณKavanich96, คุณtuk-tuk@korat, คุณtoor36, คุณทนายอ้วน

 

เป็นอาการเริ่มต้นของ ส.ว.
เลยนะคะ

 

โดย: อุ้มสี 17 พฤศจิกายน 2564 7:29:39 น.  

 

ถ้าปวดเข่าเวลาออกแรงลุกยืนแต่ไม่มีบวมแดง
ผิดรูป อย่างนี้เป็นเพราะอะไรคะพี่น้อย

 

โดย: หอมกร 17 พฤศจิกายน 2564 8:37:28 น.  

 

ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐจริง ๆ ค่ะพี่น้อย

 

โดย: เนินน้ำ 17 พฤศจิกายน 2564 11:34:17 น.  

 


อรุณสวัสดิ์ครับพี่น้อย

โชคดีที่ผมยังไม่มีปัญหาเรื่องเข่าครับพี่
การออกกำลังกายช่วยได้จริงๆครับ
เมื่อก่อนน้ำหนักตัวผมค่อนข้างเยอะ
พอลดน้ำหนักลงมาได้ ก็ช่วยได้มากเลยครับ

 

โดย: กะว่าก๋า 18 พฤศจิกายน 2564 6:01:42 น.  

 

ขอบคุณค่ะพี่น้อย

 

โดย: หอมกร 18 พฤศจิกายน 2564 8:35:21 น.  

 

ขอบคุณค่ะ

 

โดย: tuk-tuk@korat 18 พฤศจิกายน 2564 14:15:22 น.  

 

คนสูงอายุเป็นกันเยอะ ต้องรักษาสุขภาพ และหมั่นตรวจเช็คร่างกายกันให้ดีๆ

 

โดย: คุณต่อ (toor36 ) 18 พฤศจิกายน 2564 16:24:07 น.  

 

ขอบคุณสำหรับกำลังใจให้บล็อก - หมู่บ้านมังกรสวรรค์ สุพรรณบุรี ด้วยนะครับ

 

โดย: ทนายอ้วน 18 พฤศจิกายน 2564 20:36:14 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


newyorknurse
Location :
ราชบุรี .. New York ... United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 164 คน [?]






เริ่มเขียนBlog
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2553

ยินดีต้อนรับค่ะ

จขบ.บันทึกประสบการณ์ต่างๆ
ระยะเวลาทำงานและระยะเกษียณ
เพื่อเก็บไว้เป็นความทรงจำ

จขบ.พยายามใช้ชีวิตเกษียณให้มีคุณค่า
รักษาสุขภาพใจและกาย ท่องเที่ยวกับเพื่อนๆ
ทำสวนดอกไม้ ออกกำลังกาย
สมัครเป็นสมาชิก 24 Hrs Fitness
เพื่อให้ชีวิตที่เหลืออยู่มีคุณภาพ
จะได้ไม่เป็นภาระกับคนที่รักและห่วงใย

จขบ.เพิ่มบล็อกสุขภาพ
เพื่อจะได้นำสาระที่มีประโยชน์
เกี่ยวกับสุขภาพทั่วๆไป

จขบ.หวังว่าข้อมูลต่างๆช่วยให้
ทุกท่านที่มาอ่าน รักษาสุขภาพ
ไปตรวจเพื่อเป็นการป้องกัน
และได้รับการรักษาเนิ่นๆ เพื่อ
ชีวิตที่แข็งแรงและมีคุณภาพ

"A time to enjoy,
a time to spend time with your family
and a time to be with your friends
all comes with retirement"


*****


"Live The Moment"

อยู่กับปัจจุบันขณะ หยุดเสียใจกับสิ่งที่เกิดขี้น
ในอดีตและกลัวหรือกังวล
สิ่งทีเกิดขี้นในอนาคต "วันนี้" และ "ขณะนี้"
คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดของคุณ !!
ใช้มันให้ดีที่สุดให้เป็นช่วงเวลาทีมีคุณค่า
น่าจดจำเพราะว่าเวลาเป็นสิ่งที่ผ่านมา
และผ่านเลยไป เอาคืนไม่ได้และ
หาเพิ่มก็ไม่ได้เช่นกัน

ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาค่ะ


*********


ขอบคุณ Bloggang ทำให้เราได้เขียนบล็อกต่างๆ
ขอบคุณสำหรับคะแนนโหวด
ทุกๆคะแนน นะคะ

BG Popular Award # 19


BG Popular Award # 18


BG Popular Award # 17


BG Popular Award # 16


BG Popular Award # 15


BG Popular Award # 14


BG Popular Award # 13


BG Popular Award # 12


BG Popular Award # 11


BG Popular Award # 10


BG Popular Award # 9


BG Popular Award # 8

**********



ขอบคุณทุกหัวใจวาเลนไทน์ 2561
ที่เพื่อนๆมอบให้ค่ะ


ขอบคุณทุกหัวใจวาเลนไทน์ 2560
ที่เพื่อนๆมอบให้ค่ะ
Flag Counter
New Comments
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2564
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
12 พฤศจิกายน 2564
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add newyorknurse's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.