Neothais : We will save the world


 
กุมภาพันธ์ 2550
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728 
 
16 กุมภาพันธ์ 2550
 

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

วิธีเจริญสมาธิภาวนา โดย หลวงปู่ดูลย์ อตุโล



วิธีเจริญสมาธิภาวนาตามแนวการสอนของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล มีดังต่อไปนี้

๑. เริ่มต้นด้วยอิริยาบถที่สบาย ยืน เดิน นั่ง นอน ได้ตามสะดวก

ทำความรู้ตัวเต็มที่ และ รู้อยู่กับที่ โดยไม่ต้องรู้อะไร คือ รู้ตัว หรือรู้ ตัว อย่างเดียว

รักษาจิตเช่นนี้ไว้เรื่อยๆ ให้ รู้อยู่เฉยๆ ไม่ต้องไปจำแนกแยกแยะ อย่าบังคับ อย่าพยายาม อย่าปล่อยล่องลอยตามยถากรรม

เมื่อ รักษาได้สักครู่ จิตจะคิดแส่ไปในอารมณ์ต่างๆ โดยไม่มีทางรู้ทันก่อน เป็นธรรมดาสำหรับผู้ฝึกใหม่ ต่อเมื่อจิตแล่นไป คิดไปในอารมณ์นั้นๆ จนอิ่มแล้ว ก็จะรู้สึกตัวขึ้นมาเอง เมื่อรู้สึกตัวแล้วให้พิจารณาเปรียบเทียบสภาวะของตนเอง ระหว่างที่มีความรู้อยู่กับที่ และระหว่างที่จิตคิดไปในอารมณ์ ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร เพื่อเป็นอุบายสอนจิตให้จดจำ

จากนั้น ค่อยๆ รักษาจิตให้อยู่ในสภาวะรู้อยู่กับที่ต่อไป ครั้นพลั้งเผลอรักษาไม่ดีพอ จิตก็จะแล่นไปเสวยอารมณ์ข้างนอกอีกจนอิ่มแล้ว ก็จะกลับรู้ตัว รู้ตัวแล้วก็พิจารณาและรักษาจิตต่อไป

ด้วยอุบายอย่าง นี้ ไม่นานนัก ก็จะสามารถควบคุมจิตได้และบรรลุสมาธิในที่สุด และจะเป็นผู้ฉลาดใน พฤติแห่งจิต โดยไม่ต้องไปปรึกษาหารือใคร

ข้อห้าม ในเวลาจิตฟุ้งเต็มที่ อย่าทำ เพราะไม่มีประโยชน์และยังทำให้บั่นทอนพลังความเพียร ไม่มีกำลังใจในการ เจริญจิตครั้งต่อๆ ไป

ใน กรณีที่ไม่สามารทำเช่นนี้ได้ ให้ลองนึกคำว่า ?พุทโธ? หรือคำอะไรก็ได้ที่ไม่เป็นเหตุเย้ายวน หรือเป็นเหตุขัดเคืองใจ นึกไปเรื่อยๆ แล้วสังเกตดูว่า คำที่นึกนั้น ชัดที่สุดที่ตรงไหน ที่ตรงนั้นแหละคือฐานแห่งจิต

พึงสังเกตว่า ฐานนี้ไม่อยู่คงที่ตลอดกาล บางวันอยู่ที่หนึ่ง บางวันอยู่อีกที่หนึ่ง

ฐาน แห่งจิตที่คำนึงพุทโธปรากฏชัดที่สุดนี้ ย่อมไม่อยู่ภายนอกกายแน่นอน ต้องอยู่ภายในกายแน่ แต่เมื่อพิจารณาดูให้ดีแล้ว จะเห็นว่าฐานนี้จะว่าอยู่ที่ส่วนไหนของร่างกายก็ไม่ถูก ดังนั้น จะว่าอยู่ภายนอกก็ไม่ใช่ จะว่าอยู่ภายในก็ไม่เชิง เมื่อเป็นเช่นนี้ แสดงว่าได้กำหนดถูกฐานแห่งจิตแล้ว

เมื่อกำหนดถูก และพุทโธปรากฏในมโนนึกชัดเจนดี ก็ให้กำหนดนึกไปเรื่อย อย่าให้ขาดสายได้

ถ้าขาดสายเมื่อใด จิตก็จะแล่นไปสู่อารมณ์ทันที

เมื่อ เสวยอารมณ์อิ่มแล้ว จึงจะรู้สึกตัวเอง ก็ค่อยๆ นึกพุทโธต่อไป ด้วยอุบายวิธีในทำนองเดียวกับที่กล่าวไว้เบื้องต้น ในที่สุดก็จะค่อยๆ ควบคุมจิตให้อยู่ในอำนาจได้เอง

ข้อควรจำ ในการกำหนดจิตนั้น ต้องมีเจตจำนงแน่วแน่ในอันที่จะเจริญจิตให้อยู่ในสภาวะที่ต้องการ

เจตจำนงนี้ คือ ตัว ศีล


การบ ริกรรม พุทโธ เปล่าๆ โดยไร้เจตจำนงไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย กลับเป็นเครื่องบั่นทอนความเพียร ทำลายกำลังใจในการเจริญจิตในคราวต่อๆ ไป

แต่ถ้าเจตจำนงมั่นคง การเจริญจิตจะปรากฏผลทุกครั้ง ไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน

ดังนั้น ในการนึก พุทโธ การเพ่งเล็งสอดส่องถึงความชัดเจนและความไม่ขาดสายของพุทโธจะต้องเป็นไปด้วยความไม่ลดละ

เจต จำนงที่มีอยู่อย่างไม่ลดละนี้ หลวงปู่เคยเปรียบไว้ว่ามีลักษณาการประหนึ่งบุรุษผู้หนึ่งจดจ้องสายตาอยู่ที่ คมดาบที่ข้าศึกเงื้อขึ้นสุดแขน พร้อมที่จะฟันลงมา บุรุษผู้นั้นจดจ้องคอยทีอยู่ว่าถ้าคมดาบนั้นฟาดฟันลงมา ตนจะหลบหนีประการใดจึงจะพ้นอันตราย

เจตจำนงต้องแน่วแน่เห็นปานนี้ จึงจะยังสมาธิให้บังเกิดได้ ไม่เช่นนั้นอย่าทำให้เสียเวลาและบั่นทอนความศรัทธาของตนเองเลย

เมื่อ จิตค่อยๆ หยั่งลงสู่ความสงบทีละน้อยๆ อาการที่จิตแล่นไปสู่อารมณ์ภายนอก ก็ค่อยๆ ลดความรุนแรงลง ถึงไปก็ไปประเดี๋ยวประด๋าวก็รู้สึกตัวได้เร็ว ถึงตอนนี้คำบริกรรมพุทโธ ก็จะขาดไปเอง เพราะคำบริกรรมนั้นเป็นอารมณ์หยาบ เมื่อจิตล่วงพ้นอารมณ์หยาบและคำบริกรรมขาดไปแล้ว ไม่ต้องย้อนถอยมาบริกรรมอีก เพียงรักษาจิตไว้ในฐานที่กำหนดเดิมไปเรื่อยๆ และสังเกตดูความรู้สึก และ พฤติแห่งจิต ที่ฐานนั้นๆ

บริกรรมเพื่อรวมจิตให้เป็นหนึ่ง สังเกตดูว่า ใครเป็นผู้บริกรรมพุทโธ

๒. ดูจิตเมื่ออารมณ์สงบแล้ว ให้สติจดจ่ออยู่ที่ฐานเดิมเช่นนั้น เมื่อมีอารมณ์อะไรเกิดขึ้น ก็ให้ละอารมณ์นั้นทิ้งไป มาดูที่จิตต่อไปอีก ไม่ต้องกังวลใจ พยายามประคับประคองรักษาให้จิตอยู่ในฐานที่ตั้งเสมอๆ สติคอยกำหนดควบคุมอยู่อย่างเงียบๆ (รู้อยู่) ไม่ต้องวิจารณ์กิริยาจิตใดๆ ที่เกิดขึ้น เพียงกำหนดรู้แล้วละไปเท่านั้น เป็นไปเช่นนี้เรื่อยๆ ก็จะค่อยๆ เข้าใจกิริยาหรือพฤติแห่งจิตได้เอง (จิตปรุงกิเลส หรือกิเลสปรุงจิต)

ทำความเข้าใจในอารมณ์ความนึกคิด สังเกตอารมณ์ทั้งสามคือ ราคะ โทสะ โมหะ

๓. อย่าส่งจิตออกนอก กำหนด รู้อยู่ในอารมณ์เดียวเท่านั้น อย่าให้ซัดส่ายไปในอารมณ์ภายนอก เมื่อจิตเผลอคิดไป ก็ให้ตั้งสติระลึกถึงฐานกำหนดเดิม รักษาสัมปชัญญะให้สมบูรณ์อยู่เสมอ (รูปนิมิต ให้ยกไว้ ส่วนนามนิมิตทั้งหลายอย่าได้ใส่ใจกับมัน)

ระวังจิตไม่ให้คิดถึงเรื่องภายนอก สังเกตการหวั่นไหวของจิตตามอารมณ์ที่รับมาทางอายตนะ ๖

๔. จงทำญาณให้เห็นจิต เหมือนดั่งตาเห็นรูป เมื่อ เราสังเกตกิริยาจิตไปเรื่อยๆ จนเข้าใจถึงเหตุปัจจัยของอารมณ์ความนึกคิดต่างๆ ได้แล้ว จิตก็จะค่อยๆ รู้เท่าทันการเกิดของอารมณ์ต่างๆ อารมณ์ความนึกคิดต่างๆ ก็จะค่อยๆ ดับไปเรื่อยๆ จนจิตว่างจากอารมณ์ แล้วจิตก็จะเป็นอิสระ อยู่ต่างหากจากเวทนาของรูปกาย อยู่ที่ฐานกำหนดเดิมนั่นเอง การเห็นนี้เป็นการเห็นด้วยปัญญาจักษุ

คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดคิดจึงรู้ แต่ต้องอาศัยคิด

๕. แยกรูปถอด ด้วยวิชชา มรรคจิต เมื่อสามารถเข้าใจได้ว่า จิต กับ กาย อยู่คนละส่วนได้แล้ว ให้ดูที่จิตต่อไปว่า ยังมีอะไรหลงเหลืออยู่ที่ฐานที่กำหนด (จิต) อีกหรือไม่ พยายามใช้สติ สังเกตดูที่จิต ทำความสงบอยู่ในจิตไปเรื่อยๆ จนสามารถเข้าใจ พฤติแห่งจิต ได้อย่างละเอียดละออตามขั้นตอน เข้าใจในความเป็นเหตุเป็นผลกันว่าเกิดจากความคิดนั่นเอง และความคิดมันออกไปจากจิตนี่เอง ไปหาปรุงหาแต่งหาก่อหาเกิดไม่มีที่สิ้นสุด มันเป็นมายาหลอกลวงให้คนหลง แล้วจิตก็จะเพิกถอนสิ่งที่มีอยู่ในจิตไปเรื่อยๆ จนหมด หมายถึงเจริญจิตจนสามารถเพิกรูปปรมาณูวิญญาณที่เล็กที่สุดภายในจิตได้

คำว่า แยกรูปถอด นั้น หมายความถึง แยกรูปวิญญาณ นั่นเอง

๖. เหตุต้องละ ผลต้องละ เมื่อ เจริญจิตจนปราศจากความคิดปรุงแต่งได้แล้ว (ว่าง) ก็ไม่ต้องอิงอาศัยกับกฎเกณฑ์แห่งความเป็นเหตุเป็นผลใดๆ ทั้งสิ้น จิตก็จะอยู่เหนือภาวะแห่งคลองความคิดนึกต่างๆ อยู่เป็นอิสระ ปราศจากสิ่งใดๆ ครอบงำอำพรางทั้งสิ้น

เรียกว่า สมุจเฉทธรรมทั้งปวง

๗. ใช้หนี้ก็หมด พ้นเหตุเกิด เมื่อเพิกรูปปรมาณูที่เล็กที่สุดเสียได้ กรรมชั่วที่ประทับ บรรจุ บันทึกถ่ายภาพ ติดอยู่กับรูปปรมาณูนั้นก็หมดโอกาสที่จะให้ผลต่อไปในเบื้องหน้า การเพิ่มหนี้ก็เป็นอันสะดุดหยุดลง เหตุปัจจัยภายนอกภายในที่มากระทบ ก็เป็นสักแต่ว่ามากระทบ ไม่มีผลสืบเนื่องต่อไป หนี้กรรมชั่วที่ได้ทำไว้ตั้งแต่ชาติแรก ก็เป็นอันได้รับการชดใช้หมดสิ้น หมดเรื่องหมดราวหมดพันธะผูกพันที่จะต้องเกิดมาใช้หนี้กรรมกันอีก เพราะ กรรมชั่วอันเป็นเหตุให้ต้องเกิดอีกไม่อาจให้ผลต่อไปได้ เรียกว่า พ้นเหตุเกิด

๘. ผู้ที่ตรัสรู้แล้ว เขาไม่พูดหรอกว่า เขารู้อะไร

เมื่อธรรม ทั้งหลายได้ถูกถ่ายทอดไปแล้ว สิ่งที่เรียกว่าธรรม จะเป็นธรรมไปได้อย่างไร สิ่งที่ว่าไม่มีธรรมนั่นแหละ มันเป็นธรรมของมันในตัว (ผู้รู้น่ะจริง แต่สิ่งที่ถูกรู้ทั้งหลายนั้นไม่จริง)

เมื่อจิตว่างจาก พฤติกรรม ต่างๆ แล้ว จิตก็จะถึง ความว่างที่แท้จริง ไม่มีอะไรให้สังเกตได้อีกต่อไป จึงทราบได้ว่าแท้ที่จริงแล้ว จิตนั้นไม่มีรูปร่าง มันรวมอยู่กับความว่าง ในความว่างนั้น ไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ ซึมซาบอยู่ในสิ่งทุกๆ สิ่ง และจิตกับผู้รู้เป็นสิ่งเดียวกัน

เมื่อจิตกับผู้รู้เป็นสิ่งสิ่ง เดียวกัน และเป็นความว่าง ก็ย่อมไม่มีอะไรที่จะให้อะไรหรือให้ใครรู้ถึง ไม่มีความเป็นอะไรจะไปรู้สภาวะของอะไร ไม่มีสภาวะของใครจะไปรู้ความมีความเป็นของอะไร

เมื่อเจริญจิตจนเข้า ถึงสภาวะเดิมแท้ของมันได้ดังนี้แล้ว ?จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง? จิตก็จะอยู่เหนือสภาวะสมมติบัญญัติทั้งปวง เหนือความมีความเป็นทั้งปวง มันอยู่เหนือคำพูด และพ้นไปจากการกล่าวอ้างใดๆ ทั้งสิ้น เป็นธรรมชาติอันบริสุทธิ์และสว่าง รวมกันเข้ากับความว่างอันบริสุทธิ์และสว่างของจักรวาลเดิม เข้าเป็นหนึ่งเรียกว่า นิพพาน

โดยปกติ คำสอนธรรมะของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล นั้นเป็นแบบ ?ปริศนาธรรม? มิใช่เป็นการบรรยายธรรม ฉะนั้นคำสอนของท่านจึงสั้น จำกัดในความหมายของธรรม เพื่อไม่ให้เฝือหรือฟุ่มเฟือยมากนัก เพราะจะทำให้สับสน เมื่อผู้ใดเป็นผู้ปฏิบัติธรรม เขาย่อมเข้าใจได้เองว่า กิริยาอาการของจิตที่เกิดขึ้นนั้น มีมากมายหลายอย่าง ยากที่จะอธิบายให้ได้หมด ด้วยเหตุนั้น หลวงปู่ท่านจึงใช้คำว่า พฤติของจิต แทนกิริยาทั้งหลายเหล่านั้น

คำว่า ดูจิต อย่าส่งจิตออกนอก ทำญาณให้เห็นจิต เหล่านี้ย่อมมีความหมายครอบคลุมไปทั้งหมดตลอดองค์ภาวนา แต่เพื่ออธิบายให้เป็นขั้นตอน จึงจัดเรียงให้ดูง่าย เข้าใจง่ายเท่านั้น หาได้จัดเรียงไปตามลำดับกระแสการเจริญจิตแต่อย่างใดไม่

ท่านผู้มีจิต ศรัทธาในทางปฏิบัติ เมื่อเจริญจิตภาวนาตามคำสอนแล้ว ตามธรรมดาการปฏิบัติในแนวนี้ ผู้ปฏิบัติจะค่อยๆ มีความรู้ความเข้าใจได้ด้วยตนเองเป็นลำดับๆ ไป เพราะมีการใส่ใจสังเกตและกำหนดรู้ ?พฤติแห่งจิต? อยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าหากเกิดปัญหาในระหว่างการ ปฏิบัติ ควรรีบเข้าหาครูบาอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระโดยเร็ว หากประมาทแล้วอาจผิดพลาดเป็นปัญหาตามมาภายหลังเพราะคำว่า มรรคปฏิปทา นั้น จะต้องอยู่ใน มรรคจิต เท่านั้น มิใช่มรรคภายนอกต่างๆ นานาเลย

การ เจริญจิตเข้าสู่ที่สุดแห่งทุกข์นั้น จะต้องถึงพร้อมด้วยวิสุทธิศีล วิสุทธิมรรค พร้อมทั้ง ๓ ทวาร คือ กาย วาจา ใจ จึงจะยังกิจให้ลุล่วงถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้


Create Date : 16 กุมภาพันธ์ 2550
Last Update : 30 ธันวาคม 2553 19:51:02 น. 3 comments
Counter : 509 Pageviews.  
 
 
 
 
ทีนี้เราพึงทราบว่าการพิจารณาในสติปัฏฐาน ๔ นี้ เราจะต้องพิจารณากายเสียก่อน แล้วก็ต่อไปเวทนา ต่อไปจิต และต่อไปธรรมนั้น เป็นการคาดผิดไป อันนี้เป็นชื่อของส่วนแห่งสภาพซึ่งมีอยู่ด้วยกันแล้วท่านแยกออกเป็น ๔ ประเภทเท่านั้น ในประเภททั้งหมดนี้มีอยู่กายอันเดียวนี้ เวทนาก็อยู่กาย จิตก็อยู่ในกายอันนี้ ธรรมก็อยู่ในกายอันนี้ แต่ท่านแยกประเภทออกไป ฉะนั้น ความเข้าใจของเราอาจจะมีความเห็นผิดไปว่า เมื่อท่านแยกออกเป็นกาย เป็นเวทนา เป็นจิต เป็นธรรมแล้ว

ถ้าหากเราจะพิจารณาในเวทนา หรือในจิต ในธรรม ส่วนใดส่วนหนึ่งก่อนแล้วจะเป็นการผิดอย่างนี้ นี่อาจเกิดขึ้นในความหลงผิด แต่แท้ที่จริงเวลาเราพิจารณากาย เวทนาก็แฝงอยู่ในกายนั้น ความทุกข์ไม่เลือกกาลใด จะเป็นกาลที่เรากำลังพิจารณากายอยู่ก็ตาม หรือออกจากกายนั้นแล้วก็ตาม เกิดขึ้นได้ทั้งสุขทั้งทุกข์ทั้งความเฉยๆ เช่นเป็นโอกาสหรือเป็นช่องที่เราจะควรพิจารณาในเวลาเวทนาเกิดขึ้นนั้น ให้ได้ทราบชัดว่าเวทนานี้เป็นอะไร นอกจากว่ากายนี้ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเราแล้ว เราจะเห็นว่าเวทนาที่เกิดขึ้นนี้เป็นอะไรอีกในบรรดาเวทนาทั้งสามนี้

เราก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาในเวทนาทั้งสามนี้อีก มีลักษณะเช่นเดียวกันว่า อนิจฺจํ เวทนาจะเป็นสุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม เฉยๆ ก็ตามเกิดขึ้น ทุกกาลทุกสมัยมันต้องเป็นไปกับด้วยไตรลักษณ์ทั้งนั้น ไม่มีระยะเดียวที่จะห่างจาก ไตรลักษณ์ คือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ไป แล้วจะปฏิเสธความเป็นสัตว์เป็นบุคคลตายตัวอยู่เช่นนั้นตามสภาพของเขานี่เรียกว่าพิจารณาเวทนา เราจะพิจารณากาลใดสมัยใดไม่ขัดข้องทั้งนั้น เพราะเป็นเรื่องของสติปัฏฐาน ๔ แล้วความติดในอาการทั้งสี่หรือในสภาวธรรมทั้งสี่นี้ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม นี้ เราไม่ได้เลือกติดตามกาลตามเวลาของเขา

ติดได้ทุกขณะ ติดได้ทุกเวลาในสภาวธรรมทั้งสี่นี้ เพราะเหตุนั้นการที่เราจะพิจารณาแก้ไขในสภาวธรรมทั้งสี่นี้ จึงไม่จำเป็นจะต้องกำหนดเวล่ำเวลา คำว่าพิจารณาจิต จะพิจารณาอย่างไร.. จิตก็พิจารณาเจตสิกซึ่งเกิดขึ้นจากใจนั่นเอง ว่าไปสำคัญมั่นหมายในกายในเวทนาเหล่านี้ เป็นอะไรบ้าง ปรุงแต่งจะเป็น กายนอกก็ตาม กายในก็ตาม ปรุงว่าอย่างไร หมายว่าอย่างไร กำหนดพิจารณาตามกระแสของใจ สิ่งที่ไปหมายหรืออารมณ์เหล่านั้นเป็นธรรมขึ้นมาแล้วที่นี่ เรียกว่าเป้าหมายนั่นเอง อารมณ์ที่จิตพิจารณา ที่จิตจดจ่อนั้นเรียกว่าเป็นเป้าหมายของใจ เป้าหมายนั้นเองท่านเรียกว่าธรรม

ทีนี้ท่านว่าพิจารณา เวทนา ใน เวทนา นอก อันนี้เป็นปัญหาอันหนึ่ง ส่วนกายในกายนอกเราพอทราบกันได้ชัด เช่นอย่างกายของคนอื่นหรือเราไปเยี่ยมป่าช้า ก็แสดงว่าเราไปพิจารณากายนอก แต่เวทนาในนี้จะหมายถึงเวทนาอะไร เวทนานอกหมายถึงเวทนาอะไร เวทนานอกถ้าเราจะไปหมายคนอื่นเป็นทุกข์ทนลำบาก หากเขาไม่แสดงกิริยามารยาทอาการให้เราเห็นว่าเขาเป็นสุขหรือเป็นทุกข์แล้ว เราจะมีช่องทางหรือโอกาสพิจารณาเวทนาของเขาได้อย่างไร

นี่เป็นปัญหาอยู่ แต่นี้เพื่อจะให้เป็นสิ่งสำเร็จรูปในทางด้านปฏิบัติของเรา จะถูกก็ตามผิดก็ตาม ข้อสำคัญให้ถือเอาผลประโยชน์ซึ่งเกิดขึ้นในการกระทำของตน เป็นความสุข เป็นไปเพื่อความสงบ เป็นไปเพื่อความแยบคาย เป็นไปเพื่อความเฉลียวฉลาดแล้ว ให้ถือว่านั้นเป็นของใช้ได้ เป็นการถูกกับหลักธรรมของพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นในสถานที่นี้หรือเวลานี้จะขออธิบายตามอัตโนมัติหรือความรู้โดยตนได้พิจารณาอย่างไรให้บรรดาท่านทั้งหลายฟัง

เวทนานอกนั้นหมายถึงกายเวทนา เวทนาในหมายถึงจิตเวทนาคือ เวทนาซึ่งเกิดขึ้นในส่วนแห่งกาย จะเป็นการเจ็บท้อง ปวดหัวก็ตาม เจ็บส่วนแห่งอวัยวะ หรือปวดที่ตรงไหนทุกข์ที่ตรงไหนก็ตามในส่วนแห่งอวัยวะนี้ทั้งหมดเรียกว่าเป็น เวทนา นอก จะเป็นสุขทางกายก็ตาม เฉยๆ ขึ้นทางกายก็ตามจัดว่าเป็นเวทนานอกทั้งนั้น ส่วนเวทนาในนั้น หมายถึงใจได้รับอารมณ์อันใดขึ้นมาเพราะอำนาจของสมุทัยเป็นเครื่องผลักดัน เกิดความทุกข์ขึ้นมาบ้าง

เกิดความสุขความรื่นเริงขึ้นมาบ้าง เฉยๆ บ้าง เรียกว่าเวทนาใน การพิจารณาเวทนานอก การพิจารณาเวทนาใน มีไตรลักษณ์เป็นเครื่องยืนยันหรือเป็นเครื่องตัดสิน เป็นเครื่องดำเนินด้วยกันทั้งนั้น แต่เมื่อเราได้พิจารณาในส่วนกายให้เห็นชัด ส่วนเวทนานอกขึ้นอยู่กับกายนี้ชัดแล้ว แม้จะพิจารณาเวทนาส่วนภายในนี้ก็ย่อมจะชัดไปได้ เพราะอำนาจของปัญญาที่มีความละเอียดเข้าไปเป็นลำดับนี่การพิจารณาสติปัฏฐานพิจารณาอย่างนี้

พิจารณาจิตตามปริยัติท่านกล่าวไว้นั้น บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลายก็พอเข้าใจแล้ว กระแสของใจเรามีความเกี่ยวข้องกระดิกพลิกแพลงไปในอารมณ์อันใดคอยสังเกตความเคลื่อนไหวของใจอยู่เสมอ นี่เรียกว่าพิจารณาจิต คือพิจารณาในขณะเดียวกันนั่นเอง เวลานั่งหรือเวลายืนเวลาทำความเพียรอยู่นั้นเอง ในกาลในสมัยเดียวนั้นเองสามารถที่จะพิจารณาสติปัฏฐานทั้งสี่นี้ไปพร้อมๆ กันได้

เพราะอาการทั้งสี่นี้เป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นสับสนปนเปกันอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้มีการกำหนดว่ากายจะต้องปรากฏขึ้นก่อน แล้ว เวทนาเป็นที่สอง จิตเป็นที่สามธรรมเป็นที่สี่ ไม่ใช่อย่างนั้น เป็นสิ่งที่สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันอยู่ทั่วสรรพางค์ร่างกาย และจิตใจ ของเราล้วนแล้วตั้งแต่เป็นเรื่องของสติปัฏฐาน ๔ ทั้งนั้น การที่เราจะพิจารณาในส่วนสภาวะทั้งหลายที่ปรากฏขึ้นมาสัมผัสกับใจของเราส่วนใดนั้นเป็นเรื่องถูกต้อง

เมื่อท่านผู้ใดเป็นผู้หักห้ามร่างกายจิตใจของตน บังคับจิตใจของตนให้ท่องเที่ยวอยู่ใน สติปัฏฐานทั้งสี่นี้แล้ว เรื่องของสติก็ดี เรื่องของปัญญาก็ดี จะเป็นขึ้นในสถานที่นี้ คำว่าอริยะที่ท่านกล่าวตั้งแต่เบื้องต้นว่า โสดา สกิทา อนาคา อรหันต์ก็ต้องได้อุบายไปจากธรรมทั้งสี่ประเภทนี้เอง ด้วยอำนาจของปัญญา เมื่อพิจารณาให้เห็นชัดแจ่มแจ้งตามเป็นจริงในสภาวะนี้แล้ว ควรจะได้รับผลในธรรมขั้นใดก็ต้องปรากฏขึ้นเป็นขั้นๆ ตามแต่กำลังความสามารถของตนจะพิจารณาได้ในธรรมขั้นไหน เพราะเหตุนั้นผลจึงปรากฏขึ้นว่าเป็น พระโสดาบ้าง เป็นพระสกิทาคาบ้าง เป็นพระอนาคาบ้าง เป็นพระอรหันต์บ้าง อย่างนี้

การพิจารณาสติปัฏฐาน ทั้งสี่ก็ดี การพิจารณาในอริยสัจธรรมทั้งสี่ก็ดี อย่าพึงทราบว่าเป็นคนละทางและอย่าพึงทราบว่าเป็นคนละประเภท เป็นคนละหน้าที่ ต่างกันตั้งแต่ชื่อเท่านั้น ในหลักธรรมชาติแล้วเป็นอันเดียวกัน กายก็ ทุกฺขํอริยสจฺจํ ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา มรณมฺปิ ทุกฺขํ นี้เรียกว่ากาย การพิจารณาในความทุกข์ความลำบากความทรมานของกายนี้ ก็จัดเป็นกายานุปัสสนาด้วย

เป็นทุกขสัจด้วย การพิจารณาถึงเรื่องเวทนา ที่เกิดขึ้นทั้งส่วนแห่งกาย ทั้งส่วนแห่งใจ ก็จัดว่าเป็นการพิจารณาเพื่อจะรื้อถอนถึงเรื่องของสมุทัยและทุกข์ทั้งหลายที่ปรากฏขึ้นเป็นตัวผลในส่วนแห่งกายก็ดี ในส่วนแห่งจิตก็ดี นี้เป็นเรื่องของทุกข์ การพิจารณาเพื่อจะรู้สาเหตุแห่งความทุกข์ที่เกิดขึ้นนี้เกิดขึ้นมาจากอะไร นี่เป็นอุบายที่จะถอนสมุทัยซึ่งเป็นรากสำคัญอยู่ภายในใจพร้อมๆ กันไปแล้ว

เพราะเหตุนั้นอริยสัจธรรมทั้งสี่ก็ดี เรื่องสติปัฏฐานธรรมทั้งสี่ก็ดี พึงทราบว่าธรรมชาตินี้เป็นอันเดียวกัน ต่างกันแต่ชื่อเท่านั้น ถ้าจะเทียบอุปมาแล้วก็เหมือนดังกับว่า กายของเราทั้งหมดนี้ เราให้ชื่อว่าข้างหน้าข้างหนึ่ง ข้างหลังอย่างหนึ่ง ข้างซ้ายอย่างหนึ่ง ข้างขวาอย่างหนึ่ง ข้างบนอย่างหนึ่ง ข้างล่างอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่ว่าข้างบนที่ไหนนอกไปจากกาย ข้างล่างที่ไหนนอกไปจากกาย ข้างหน้าข้างหลัง ข้างซ้ายข้างขวาที่ไหนนอกไปจากกายอันนี้ ออกจากกายอันเดียวกันทั้งนั้น เพราะเหตุนั้นลักษณะอาการที่ท่านว่าในอริยสัจธรรมทั้งสี่ก็ดี สติปัฏฐานธรรมทั้งสี่ก็ดี พึงทราบว่าออกจากธรรมชาติอันเดียวนี้

เมื่อปัญญาของเราได้พิจารณาให้เห็นชัดในส่วนรูป เรียกว่ากายานุปัสสนา ให้เห็นชัดตามเป็นจริงเพราะอำนาจของปัญญา เราพิจารณาไม่หยุดยั้งแล้ว ความปล่อยวางในกายนี้ก็จะปรากฏขึ้นชัดภายในจิตใจของเรา เรียกว่าถอนอุปาทานของกายเสียได้ เมื่อพิจารณาถึงเรื่องเวทนาทั้งสามให้เห็นชัดตามเป็นจริงเช่นเดียวกับส่วนแห่งกายนี้แล้ว สติ ความจำได้หมายรู้ สังขาร ความปรุง ความคิด วิญญาณ ความรับรู้ในสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นมาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เห็นชัดเช่นเดียวกันแล้ว ความปล่อยวางในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้จากความเป็นตน จากความเป็นเรา เป็นของเรา ก็ต้องปล่อยวางเช่นเดียวกันกับเราปล่อยวางกายเช่นนั้น

การกล่าวมาทั้งหมดนี้ หรือการพิจารณาในสภาวธรรมทั้งหลายเหล่านี้ พิจารณาตามขั้นของจิต ที่มีความเกี่ยวข้องติดมั่นพัวพันอยู่ในส่วนใด ก็ต้องคลี่คลายเปิดเผยให้จิตดูว่ามีอะไรบ้างอยู่ภายในนี้ เช่นอย่างพิจารณากาย เหตุที่จะพิจารณากาย ก็เนื่องจากว่าใจ ไปสำคัญกายนี้ว่าเป็นอะไรบ้างไม่รู้กี่ช่องกี่ทาง ไม่รู้กี่สมมุตินิยมที่ใจไปทำความหมายขึ้นจาก กาย ท่อนเดียวหรือก้อนเดียวนี้ว่าเป็นสัตว์บ้าง ว่าเป็นบุคคลบ้าง ว่าเป็นหญิง ว่าเป็นชายบ้าง ว่าเป็นของสวยของงามบ้าง ว่าเป็นที่น่ารักใคร่ชอบใจบ้าง เหล่านี้ล้วนแล้วตั้งแต่เกิดขึ้นเป็นความสำคัญที่เกี่ยวกับกายทั้งนั้น

เมื่อปัญญาได้คลี่คลายดูให้เห็นชัดว่า มีเราอยู่ที่ไหน มีเขาอยู่ที่ไหนในกายอันนี้ มีของสะอาดของสวยงามอยู่ที่ไหนมีของเที่ยงแท้ถาวรที่ไหน มีความเป็นของเที่ยงที่ไหน มีความไม่แปรอยู่ที่ไหน มี อตฺตา หิ อยู่ที่ไหนในส่วนแห่ง กายนี้ ชี้แจงแสดงโดยทางปัญญาให้ใจได้เห็นชัด ก็เทียบกับว่าคลี่คลายดูสิ่งปกปิดให้ใจได้เห็นชัด ให้ใจได้หายสงสัยในสิ่งเหล่านี้ ว่าไม่ใช่เป็นสิ่งที่เป็นไปตามจิตของตนมุ่งหวัง ว่าเป็นเราเป็นของเราเป็นต้น แล้วจิตก็จะปล่อยวางจากสภาพทั้งหลายเหล่านี้โดยอัตโนมัติของตนเอง

ไม่ต้องบังคับให้ถอดให้ถอนให้ปล่อยให้วางแต่อย่างใดเพราะจิตได้เห็นชอบตามปัญญาแล้ว นี่ปล่อยวางมาอย่างนี้ การพิจารณาเวทนา ก็คลี่คลายเช่นเดียวกันกับที่ส่วนกายนี้ให้จิตได้เห็นชัด คลี่คลายดูเวทนา ทั้งสาม สุข ทุกข์ เฉยๆ คลี่คลายดูสัญญาให้ชัด คลี่คลายดูสังขารให้ชัด คลี่คลายดูวิญญาณให้ชัด โดยลักษณะเช่นเดียวกันกับคลี่คลายในส่วนกายด้วยปัญญา ให้จิตได้ตรองตามปัญญา รู้ตามปัญญาที่ชี้ช่องบอกทาง ได้เห็นอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนแล้ว ก็ไม่ต้องบังคับให้ถอดถอนจากสิ่งทั้งหลายเหล่านี้โดยความถือว่าเป็นเราเป็นของเราเป็นต้นเสีย นี่เราก็ไม่ต้องบังคับอีกเช่นเดียวกัน

เพราะอำนาจของปัญญาได้หยั่งทราบทั่วถึงหมดแล้ว เปิดดูให้เห็นชัดไม่มีอันใดลี้ลับเพราะอำนาจของปัญญา จิตก็ถอนเข้ามาๆ กระแสของใจที่วิ่งอยู่ริกๆๆ ต่อสภาวะทั้งหลายเหล่านี้ พร้อมทั้งสัญญาที่มีความสำคัญมั่นหมายในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ก็เป็นอันถอดถอนมาพร้อมๆ กัน การเห็นโทษในสภาวธรรมทั้งหลาย เบื้องต้นก็ต้องเห็นโทษในสภาวธรรมเพราะเราไปเห็นคุณในสภาวธรรม แต่เมื่อได้พิจารณาในสภาวธรรมส่วนหยาบมี รูปเป็นต้นแล้ว ให้ชัดด้วยปัญญา สภาวะทั้งหลายเหล่านั้นก็หมดความลี้ลับ เป็นธรรมที่เปิดเผย เป็นสภาวธรรมที่เปิดเผยโดยทางปัญญา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อได้พิจารณาโดยทางปัญญาแล้ว ก็กลายเป็นธรรมที่เปิดเผยอีกเช่นเดียวกัน ยิ่งจะเห็นกระแสของใจที่เพ่นพ่านอยู่ทั้งวันทั้งคืน

เป็นเรื่องที่ว่า ตื่นเงาของตัวอยู่ตลอดเวลา ให้ชัดขึ้นแล้วในขณะนี้ แต่ก่อนถูกรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส และความสำคัญมั่นหมายในสิ่งเหล่านี้ เป็นเครื่องปกปิดกำบังกระแสของใจ จึงไปเห็นสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น กลายเป็นคุณ เป็นโทษ ไปเสียหมดโดยเราเป็นผู้บริสุทธิ์พุทโธแต่ผู้เดียว ทั้งๆ ที่เราเป็นผู้หลงต่อผู้หลงนั่นเอง ต่อเมื่อได้คลี่คลายสภาวะทั้งเป็นฝ่ายรูป ทั้งเป็นฝ่ายนาม ให้ชัดเจนด้วยปัญญาอย่างไม่มีข้อสงสัยแล้ว ก็ยิ่งจะเห็นกระแสของใจ เห็นกระแสของใจชัด จนกระทั่งถึงเห็นรากฐานของอวิชชา ซึ่งเกิดขึ้นจากธรรมชาติที่รู้ๆ เป็นบ่อเกิดแห่งกระแสของใจนี้ ชัดเจนเข้าไปเช่นเดียวกับสภาวธรรมทั้งหลายแล้วเรียกว่าเปิดเผยขึ้นอีก

คลี่คลายดูความรู้ที่เป็นเจ้าวัฏจักร เป็นความรู้ที่โกหกนี้ให้เห็นชัดด้วยปัญญา ธรรมชาติอันนี้ก็เลยกลายเป็นความเปิดเผยขึ้นมาอีกไม่มีอันใดที่เหลือหลออยู่ เมื่อธรรมชาติอวิชชาที่เป็นความรู้ลี้ลับ เป็นความรู้ที่เต็มไปด้วยโกหกมายาสาไถย ให้เห็นชัดด้วยปัญญานี้แล้ว ธรรมชาติที่ลี้ลับ ธรรมชาติที่ละเอียดที่สุดได้แก่อวิชชา คือความรู้ที่เป็นเจ้าวัฏจักรอันนี้ได้แตกกระจายหรือเป็นธรรมที่เปิดเผยขึ้นมาแล้วนั้นแล เราจึงจะหมดปัญหาใดๆ ในเรื่องความปกปิดแห่งสภาวธรรมทั้งหลายก็ดี ในเรื่องความลุ่มหลงแห่งสภาวธรรมทั้งหลายก็ดี ไม่มีอันใดที่จะเหลือหลออยู่แล้ว จากนั้นไปแล้วธรรมชาติที่บริสุทธิ์พุทโธโดยไม่ต้องเสกสรรแต่อย่างใด ได้ปรากฏเด่นชัดขึ้นมา

ตามหลักธรรมชาติของตนอย่างแจ่มแจ้งแล้วนั้น เรื่องทั้งหลายจึงจะเป็นอันว่า เปิดเผยอยู่ ตลอดเวลา รูป ไม่เพียงแต่ว่ารูปหญิง รูปชาย รูปสัตว์ รูปบุคคล รูปสภาวะทั่วๆ ไป ทั่วทั้งจักรวาล นี้ กลายเป็นสิ่งที่เปิดเผยขึ้นมาพร้อม ๆ กัน นามก็เหมือนกัน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทุกๆ อย่างซึ่งไม่มองเห็นด้วยตาก็กลายเป็นธรรมที่เปิดเผยขึ้นมาพร้อมๆ กัน เพราะเหตุใด เพราะบ่อเกิดแห่งความลี้ลับได้แก่อวิชชานั้น ได้ถูกเปิดเผยขึ้นมาแล้วอย่างชัดเจน ด้วยอำนาจ ของปัญญา สภาวะทั้งหลายทั่วไป ทั่วโลกธาตุนี้ จึงเป็นอันว่ายุติ ไม่ได้เกิดเรื่อง เกิดราว กับจิตใจของเราต่อไปแล้ว วัฏจักรเป็นอันว่ายุติกันลงได้ในจุดนี้เอง ต่อจากนั้นไป ก็ไม่มีอะไร ที่จะเป็นสิ่งลี้ลับต่อใจ ดวงนี้ไปได้อีกแล้ว

ตามภาษาบาลีท่านกล่าวไว้ว่า วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ, กตํ กรณียํ หมดกิจในพระศาสนา หมดทั้งความบำเพ็ญเพื่อ ใจดวงนี้ให้เจริญยิ่งขึ้นไปอย่างไรอีก หมดทั้งการละ การถอน ความลี้ลับ หรือปิดบังอันใดต่อไปอีกไม่มี เป็นอันว่าสภาวะทั้งหลาย ได้เปิดเผยเสียทุกอย่าง พร้อมทั้งความบริสุทธิ์พุทโธนั้น ก็ได้เปิดขึ้นมาพร้อมๆ กันกับสภาวธรรมทั้งหลายได้เปิดขึ้นมา นี่เรียกว่าธรรมเปิดเผย วัฏจักรก็ได้เปิดเผย วิวัฏจักรก็ได้เปิดเผยขึ้นในขณะเดียวกัน นี่ผลแห่งการปฏิบัติ ผลแห่งการตั้งจิต ตั้งใจ เริ่มตั้งสติ ปัญญา เริ่มจำเพาะเจาะจง เริ่มอุตส่าห์พยายามบำเพ็ญตนของตน ด้วยความจำเพาะเจาะจง

ด้วยความตั้งอกตั้งใจ ตั้งแต่เบื้องต้น จนกระทั่งถึงธรรมที่เปิดเผยไปเสียทั้งสิ้น ไม่มีอันใดลี้ลับในโลกธาตุนี้ แม้แต่ว่า วิวัฏฏะ ที่เรียกว่าพระนิพพานนั้นก็เป็นการเปิดเผยขึ้นมาพร้อมๆ กันเรียกว่า วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ เพราะเหตุนั้นบรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลายให้พึง โอปนยิโก น้อมเข้ามาสู่ตัวของตัวทั้งหมด ในบรรดาธรรมทั้งหลายที่ได้อธิบายมานี้ เวลานี้ เรากำลังอยู่ในความลี้ลับ อันใดก็ลี้ลับเสียทั้งนั้น สำหรับเราซึ่งกำลังลุ่มหลงอยู่ รูปจะเป็นรูปชั่วก็ตาม รูปดีก็ตาม มันให้เกิดได้ทั้งความดีใจ และเสียใจ สิ่งเหล่านั้นจึงกลายเป็นของลี้ลับ

เพราะธรรมชาติอันหนึ่งซึ่งเป็นของใหญ่โตที่สุด แต่เราไม่มองเห็นด้วยตา และไม่สามารถที่จะรู้ได้ด้วยใจด้วย นั้นคืออวิชชาแต่มันก็อยู่กับใจนั่นเองแต่เราไม่สามารถที่จะรู้ ธรรมชาตินั้นเป็นธรรมที่ลี้ลับที่สุด สิ่งทั้งหลาย ซึ่งเป็นบริษัทบริวาร ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาตินั้น เลยกลายเป็นของลี้ลับไปตามๆ กัน พอธรรมชาตินี้ได้ถูกเปิดเผยขึ้นแล้ว ด้วยปัญญาเท่านั้น สภาวธรรมทั้งหลายก็ได้เปิดเผยหมด จนกระทั่งถึงวิวัฏฏะ คือพระนิพพานเสียเอง ก็ถูกเปิดเผยไปพร้อมๆ กัน

นี่ท่านแนะการปฏิบัติเพื่อความเปิดเผยอย่างนี้ เราทำข้อวัตรปฏิบัติทุกชิ้นทุกอันก็ตาม เพื่อความเปิดเผย ทั้งสิ่งที่เป็นวัฏฏะ ทั้งสิ่งที่เป็นวิวัฏฏะ ขอให้บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลาย ได้กำหนดพินิจพิจารณาเข้ามาสู่ตนของตนเสมอ ให้เป็นผู้มีความเป็นอยู่ด้วยสติ ด้วยปัญญา ทุกอิริยาบถ พวกท่านทั้งหลาย จะได้เห็นความเปิดเผยทั้ง วัฏจักรด้วย ทั้งวิวัฏจักรด้วย ใน สนฺทิฏฺฐิโก ความเห็นเองของบรรดาท่านทั้งหลายเอง

ในอวสานแห่งพระธรรมเทศนานี้ขอบุญญานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ จงดลบันดาลให้บรรดาท่านทั้งหลายให้มีความเจริญงอกงาม

 
 

โดย: Mr.Terran วันที่: 16 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:17:26:37 น.  

 
 
 
สวัสดีค่ะ ยินดีที่ได้รู้จักค่ะ
 
 

โดย: nong (nong_jittra_toppeed ) วันที่: 31 มีนาคม 2550 เวลา:10:13:47 น.  

 
 
 


ในวาระดิถีวันปีใหม่ไทย
เทศกาลสงกรานต์ปีนี้
ตี๋น้อยขอนำพาพรอันประเสิรฐ มาสู่ท่าน
มีความสุขกันมากๆน๊ะครับ


 
 

โดย: Zantha วันที่: 13 เมษายน 2550 เวลา:9:43:48 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

Mr.Terran
 
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 39 คน [?]




ซิดนี่ย์ เจ.แฮร์ริส เคยกล่าวไว้ว่า
"อันตรายที่แท้จริง ไม่ใช่อยู่ที่ว่า Computer จะเริ่มคิดเหมือนมนุษย์
แต่อยู่ที่ว่า มนุษย์ จะเริ่มคิดเหมือน Computer" ผลงานทุกชิ้นใน BLOG ขอสงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ดัดแปลง ลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ยกเว้นบทความที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา New Document
New Comments
[Add Mr.Terran's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com