ความหวังไม่มีที่สิ้นสุด.... เพราะฉะนั้นอย่าหยุดหวัง... โลกนี้อยู่ได้ด้วยความหวัง... และความรักล้วนๆ....
 
สิงหาคม 2558
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
27 สิงหาคม 2558
 
 
“เด็กอัจฉริยะที่เป็นออทิสติก กับ เด็กออทิสติกที่เป็นอัจฉริยะ อะไรคือความแตกต่าง”

“เด็กอัจฉริยะที่เป็นออทิสติก กับ เด็กออทิสติกที่เป็นอัจฉริยะ อะไรคือความแตกต่าง”

ผู้ที่เป็นอัจฉริยะอาจมีความผิดปกติในบางเรื่อง ในขณะเดียวกัน ผู้ที่มีความผิดปกติก็อาจมีความเป็นอัจฉริยะในบางเรื่องได้เช่นกัน

อัลเบิร์ต ไอสไตน์ (Albert Einstein) นักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลก ผู้มีความสามารถเป็นเลิศ ทั้งในด้านคณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ ผู้ซึ่งเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของความเป็นอัจฉริยะ แต่ในขณะเดียวกัน ก็มักมีการตั้งคำถามเสมอ ถึงความผิดปกติที่มีในตัวเขา เนื่องจากเขาพูดได้ตอนอายุ 3 ปี เขียนหนังสือ สะกดคำไม่ค่อยคล่อง ไม่ค่อยใส่ใจในบุคลิกภาพของตนเอง การที่เขาผมเผ้ายุ่งเหยิง ไม่ตัดผม ก็ไม่ใช่สไตล์ หรือแฟชั่น ของการไว้ทรงผมในช่วงยุคสมัยนั้น

อัลเบิร์ต ไอสไตน์

  เมื่อประมาณ 17 ปีก่อน ภาพยนตร์เรื่อง “เรนแมน” ภาพยนตร์ฮอลลีวูด 4 รางวัลออสการ์ ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของบุคคลออทิสติกที่มีความเป็นอัจฉริยะ ให้โลกได้รู้จักและจดจำ โดยสร้างจากข้อมูลจริงของบุคคลออทิสติก ที่มีความสามารถพิเศษหลายๆ คน มารวมอยู่ในตัวพระเอกเพียงคนเดียว

 ความเชื่อมโยงระหว่างความเป็นอัจฉริยะ กับความผิดปกติ มักมีตัวอย่างให้เห็นมากมาย จนในบางครั้งแยกจากกันไม่ออก “เส้นแบ่งระหว่างความเป็นอัจฉริยะ กับความผิดปกติ อยู่ตรงไหน” อาจเป็นคำถามที่ตอบยาก และในบางครั้งอาจไม่มีคำตอบ

    สำหรับบุคคลออทิสติก จากสถิติพบว่ามีเกือบร้อยละ 10 ที่มีความเป็นอัจฉริยะอยู่ในตัว เรียกกลุ่มนี้ว่า “ออทิสติก ซาวองก์” (Autistic Savant) อาจเป็นความอัจฉริยะเฉพาะด้าน หรือหลายๆ ด้านพร้อมกัน อาจเป็นอัจฉริยะในศาสตร์สาขาต่างๆ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ศิลปศาสตร์ ดนตรี ฯลฯ บางคนอาจแสดงออกมาให้เห็นชัดเจนตั้งแต่เด็ก บางคนก็รอจังหวะเวลาและโอกาสในการแสดงออก และในขณะเดียวกัน หลายๆ คนไม่มีแม้แต่โอกาสด้วยซ้ำ

แต่เมื่อถูกระบุว่าเป็นออทิสติกแล้ว บางครั้งความเป็นอัจฉริยะ จะถูกมองข้ามไป ไม่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ เนื่องจากเราไปให้ความสำคัญกับความผิดปกติมากกว่าความเป็นอัจฉริยะ ไปมุ่งเน้นการแก้ไขความผิดปกติ จนลืมส่งเสริมความเป็นอัจฉริยะ

  เมื่อเด็กออทิสติกได้รับการแก้ไขความบกพร่อง สิ่งหนึ่งที่มักจะถูกแนะนำให้แก้ไขด้วย คือการลดความหมกมุ่นในกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งที่มากเกินไป ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามแนวทางการรักษาในปัจจุบัน แต่ในบางครั้ง ความหมกมุ่นในบางเรื่อง นำมาซึ่งความรู้จริง ความรอบรู้ในเรื่องนั้นๆ ได้เช่นกัน รายการเกมโชว์ทางทีวี “แฟนพันธุ์แท้” เป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า เมื่อคนเรามีความสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และศึกษา ค้นคว้า แสวงหาความรู้ในเรื่องนั้นอย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่อง ก็จะเป็นผู้รอบรู้ในเรื่องนั้นได้

  ดังนั้นแนวทางการแก้ไขความหมกมุ่น ไม่ใช่การห้าม งดทำ หรือเบี่ยงเบนเท่านั้น แต่ควรเน้นการขยายขอบเขตความสนใจในเรื่องเดิมให้กว้างขึ้น ให้มีมิติ มุมมองใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ก็สามารถช่วยลดความหมกมุ่น โดยไม่ปิดกั้นความสนใจได้เช่นกัน

เด็กบางคนไม่ได้รับอนุญาตให้เล่นคอมพิวเตอร์ เนื่องจากทำให้เกิดความหมกมุ่น และไม่ช่วยส่งเสริมในด้านทักษะสังคม ซึ่งบางครั้งการปฏิบัติเช่นนี้อาจไปทำลายโอกาส ทำลายสิ่งที่มีความหมายสำคัญที่สุดในชีวิตของเขาก็ได้ เพราะเมื่อพวกเขาโตขึ้น สิ่งที่ทำให้ชีวิตมีคุณค่า และมีความหมาย คือการได้ทำงานที่ตอบสนองต่อความพึงพอใจ และความสามารถทางสติปัญญาของเขาเอง

“เด็กอัจฉริยะที่เป็นออทิสติก กับ เด็กออทิสติกที่เป็นอัจฉริยะ อะไรคือความแตกต่าง” เป็นคำถามที่อาจทำให้เกิดความสงสัยว่าถามทำไม เนื่องจากไม่มีความแตกต่างอะไรในสิ่งที่เห็น เพียงแค่เรียกสลับตำแหน่งกันเท่านั้น แต่สิ่งที่แตกต่าง คือ แตกต่างในความรู้สึก ความรู้สึกที่จะนำมาซึ่งการยอมรับหรือการปฏิเสธ การให้โอกาส หรือการปิดโอกาส ความรู้สึกที่สามารถเปลี่ยนอนาคตของเด็กได้ทั้งชีวิต

    ในปัจจุบันเรามักเรียกเด็กกลุ่มนี้ว่า “เด็กออทิสติกที่เป็นอัจฉริยะ” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงลำดับความสำคัญที่ให้กับความผิดปกติ ความบกพร่อง ก่อนความสามารถในระดับอัจฉริยะที่เด็กมี เมื่อเด็กถูกมองว่าผิดปกติ เขาก็อาจขาดโอกาสในการพัฒนาที่เด็กอัจฉริยะควรจะได้รับ เพราะสิ่งที่เขามีถูกบดบังและมองข้ามไป

ในทางกลับกัน ถ้าเขาถูกเรียกว่า “เด็กอัจฉริยะ ที่เป็นออทิสติก” อาจสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นได้ เนื่องจากทุกคนจะเห็นความสามารถในระดับอัจฉริยะของเขาก่อน การยอมรับก็เกิดขึ้น โอกาสที่เขาจะได้เรียนรู้และพัฒนาก็เพิ่มขึ้น ส่วนความผิดปกติที่มีก็ได้รับการแก้ไข บนฐานความคิดที่ว่า “แก้ไขเพื่อดึงความสามารถที่มีอยู่ออกมาใช้ให้เต็มที่ เต็มตามศักยภาพ ไม่ใช่แก้ไขเพื่อลดความผิดปกติเท่านั้น” และผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญ คือ เมื่อได้รับการยอมรับในสังคมแล้ว โอกาสที่จะพัฒนาทักษะด้านสังคมก็เพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากพวกเขาไม่ต้องเป็นฝ่ายที่ปรับตัวเข้าหาสังคมเพียงด้านเดียว แต่สังคมก็พยายามปรับตัวเข้าหาพวกเขาด้วยเช่นกัน เป็นการพบกันครึ่งทาง

สำหรับระบบ วิธีคิด ในเด็กอัจฉริยะที่เป็นออทิสติก แยกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่คิดด้วยภาพ (visual thinker) กับกลุ่มที่คิดโดยไม่ใช้ภาพ (music, math and memory thinker)

     กลุ่มที่คิดด้วยภาพ (visual thinker) เมื่อเขาคิดถึง สุนัข ก็จะมีภาพของสุนัขประเภทต่างๆ ในอิริยาบถต่างๆ อยู่ในหัว รู้ว่าสุนัขแต่ละตัวมีอะไรที่เหมือนกัน และมีความแตกต่างจากแมวอย่างไร จากนั้นก็จะค่อยๆสร้างภาพเฉพาะของสุนัขเป็นความคิดรวบยอดเกี่ยวกับสุนัข หรือที่เรียกว่า การคิดแบบอุปนัย (bottom up thinking)

    ในทางตรงกันข้าม กลุ่มที่คิดโดยไม่ใช้ภาพ (music, math and memory thinker) จะเริ่มคิดจากลักษณะทั่วไปที่เหมือนกันของสุนัข แล้วค่อยแตกย่อยเป็นลักษณะเฉพาะของสุนัขแต่ละสายพันธุ์ หรือที่เรียกว่า การคิดแบบนิรนัย (top down thinking)

  เมื่อเราทราบว่าเด็กออทิสติกมีระบบ วิธีคิด แบบไหนแล้ว ก็จะสามารถหาวิธีการส่งเสริมการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับความสามารถ และความบกพร่องที่เด็กมีได้ไม่ยาก

 แหล่งที่มา ://www.happyhomeclinic.com/au24-autistic%20and%20talented.htm

เอกสารอ้างอิง

Bennett S. 2005, August 15. Intriguing connections between giftedness and autism, music and language (Online). Available URL: //autismcoach.com/gifted_with_learning_disabilitie.htm

Clark C, Callow R. Educating the gifted and talented: resource issues and process for teachers. 2 nd ed. London : David Fulton Publishers, 2002.

Clark T. 2002. The application of savant and splinter skills in the autistic population through an educational curriculum(Online). Case study research project: Autism Association of New South Wales, Sydney , Australia . Available URL: //www.wisconsinmedicalsociety.org/savant/splinterskill.cfm

Edelson SM. 2005, August 15. Autistic savant (Online). Center for the Study of Autism, Salem , Oregon . Available URL: //www.autism.org/savant.html

Grandin T. 2005, August 15. Genius may be an abnormality: educating students with asperger's syndrome, or high functioning autism (Online). Colorado State University , Fort Collins , USA . Available URL: //www.autism.org/temple/genius.html

Treffert D. 2005, August 15. The autistic savant (Online). University of Wisconsin Medical School , Madison . Available URL: //www.wisconsinmedicalsociety.org/savant/savantsyndrome.cfm




Create Date : 27 สิงหาคม 2558
Last Update : 27 สิงหาคม 2558 12:38:04 น. 0 comments
Counter : 1424 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
 

มุกกระจาย
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




รักตัวเอง รักครอบครัว รักคนรอบข้าง
สังคมที่แบ่งปัน ฉันรักเธอ
เธอรักฉัน เรารักกัน ขอบคุณที่แวะมาค่ะ ##ความรัก ความห่วงใย ไม่มีวันสิ้นสุด##
[Add มุกกระจาย's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com