All the girls standing in the line for the bathroom !!!

*** หมายเหตุ : สงวนลิขสิทธิ์ บทความและผลงาน ใน Blog นี้ครับ ***
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2552
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
5 ธันวาคม 2552
 
All Blogs
 

ในห้วงแห่งความคิด มีเราสองคน

นวกานต์ กับ บุราณกานต์

ตอนที่ 3 "ในห้วงแห่งความคิด มีเราสองคน"






ในพื้นที่ที่มืดสนิทมองไม่เห็นสิ่งใด เสียงสนทนาในภาษาไทย ของ นวกานต์ และ บุราณกานต์ ดังขึ้นมา



นวกานต์ : สวัสดี

บุราณกานต์ : สวัสดี เช่นกัน



นวกานต์ : เคยสังเกตไหมว่า เวลาที่เรา “คิดในใจ” เราจะคิดเป็น “ภาษาพูด”

บุราณกานต์ : อืม ไม่เคยสังเกตนะ อ้าว แล้วถ้าเป็น “คนใบ้” หรือ “คนหูหนวก” หล่ะ



นวกานต์ : ก็คงเป็น “ภาษามือ” มั้ง ไม่มีความรู้ด้านนี้แฮะ

บุราณกานต์ : แล้วคนตาบอดหล่ะ จะคิดอย่างไร ฝันอย่างไร



นวกานต์ : เคยได้ยินว่า คนตาบอดจะฝันเป็น เสียง หรือ สัมผัสน่ะนะ

บุราณกานต์ : อืม












นวกานต์ : เอาเป็นว่ากรณีคนธรรมดาแล้วกัน ลองนึกดูเวลาเราคิดอะไรในใจ เราจะคิดเป็น “ภาษาพูด” ใช่ไหม

บุราณกานต์ : อืม



นวกานต์ : อย่างเราเป็นคนไทยเวลาคิดในใจก็จะได้ยิน “เสียง” ภาษาไทย โดยเสียงนั้นก็เป็นเสียงของเรานั่นเอง

บุราณกานต์ : อืม คนจีนก็คงคิดในใจเป็น เสียงภาษาจีน สินะ อันนี้ค่อนข้างเห็นด้วยนะ



นวกานต์ : ทีนี้มันก็น่าคิดว่า ในยุคที่ยังไม่มีภาษาพูด หล่ะ มนุษย์เราคิดในใจอย่างไร

บุราณกานต์ : คิดเป็นภาพหรือเปล่า



นวกานต์ : คงใช่

นี่หรือเปล่านะที่ทำให้มนุษย์ไม่ฉลาดขึ้น เพราะการคิดแบบเป็นภาษาพูด มันง่ายกว่าที่จะคิดเป็นภาพ

การคิดเป็นภาพ เป็นการฝึกทักษะทางสมองที่ดีกว่าการคิดเป็นคำพูด เพราะมันซับซ้อนกว่า


บุราณกานต์ : ทำไมถึงคิดอย่างนั้น?












นวกานต์ : ลองคิดดู คนที่นั่งกดรีโมตเปิดทีวีทุกวัน กับคนที่เดินไปเปิดทีวีทุกวัน ใครจะมีขาที่แข็งแรงกว่ากัน

บุราณกานต์ : อืม เห็นภาพเลย เหมือนกำลังจะบอกว่า “ภาษา เป็นสิ่งที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการสื่อสาร” และมันก็ส่งผลต่อวิวัฒนาการของสมอง



นวกานต์ : อีกอย่างคือ เคยอ่านเจอว่าความสามารถของสมองมนุษย์ใน ยุค ค.ศ. 2000 เนี่ย ไม่ได้ต่างกับยุคหลายพันปีก่อนคริสตกาลเลย

บุราณกานต์ : อ้าวแล้วการเดินทางไปนอกโลก หรือ เทคโนโลยีที่ล้ำหน้าในยุคของเราหล่ะ มันแตกต่างกับสมัยก่อนมากนะ



นวกานต์ : นั่นเป็นเพราะเรา “สะสม” ความรู้ต่างๆมาจากอดีต แล้วนำมาต่อยอดไปเรื่อยๆต่างหาก

ระดับสติปัญญาของเราไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย


บุราณกานต์ : เดี๋ยวก่อนนะ นึกออกแล้ว บางทีเวลานึกอะไรในใจก็ไม่ได้นึกเป็นภาษาพูดนะ

อย่างเวลาหิวข้าว ก็จะนึกถึงภาพสิ่งที่อยากกินนะ เช่นอยากกินผัดไทย ก็คิดถึงภาพผัดไทยแบบที่ชอบกิน

ไม่ได้คิดเป็นเสียงว่า “ฉัน-อยาก-กิน-ผัดไทย” นะ




นวกานต์ : อืม แต่นี่คงเป็นแค่การคิดแบบง่ายง่ายแค่นั้นมั้ง ที่คิดเป็นภาพ

บุราณกานต์ : ไม่จริง ไม่จริง เวลาคิดอะไรที่ซับซ้อน อย่างการแก้ปัญหาเราก็จะคิดเป็นภาพ

ลองนึกดู เวลาเข็มกลัดตกลงไปในท่อแล้วเอามือล้วงเก็บไม่ได้ เราต้องคิดเป็นภาพว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรใช่ไหม













นวกานต์ : เออแฮะ อันนี้เห็นด้วย เราคงไม่คิดเป็นภาษาพูดว่า

“เราจะเอาแม่เหล็กก้อนเล็กๆ ติดไว้กับปลายไม้เสียบลูกชิ้น แล้วหย่อนลงท่อ เพื่อให้ดูดติดกับเข็มกลัด แล้วดึงขึ้นมา”

สมองเราจะคิดมันเป็นภาพ แล้วก็คงคิดได้เร็วกว่าที่จะคิดเป็นภาษาพูดอีกนะ


บุราณกานต์ : ใช่ไหมหล่ะ ฉะนั้นการที่เราจะสรุปว่า “ภาษา” เป็นตัวการทำลายพัฒนาการทางสมองนั้น มันเป็นการคิดที่ตื้นเกินไป



นวกานต์ : เออแฮะ พอมานึกดูแล้วเวลาเราคิดในใจก็ไม่ได้คิดเป็นภาษาพูดอย่างเดียวนี่นา

บุราณกานต์ : นี่ ถ้าพูดถึงทุเรียนแล้ว คงนึกถึงภาพผลไม้สีเขียวมีหนาม ไส้ในสีเหลืองใช่ไหม



นวกานต์ : ก็อาจจะใช่ อยากจะบอกอะไรงั้นหรือ

บุราณกานต์ : การคิดอะไรในใจเนี่ย บางทีมันเป็นการดึงข้อมูลต่างๆในสมองออกมาประมวลผลใช่ไหม



นวกานต์ : อืม เห็นด้วย

บุราณกานต์ : ซึ่งข้อมูลแบบต่างๆที่สมองเราจดจำไว้ ก็จะถูกดึงมาใช้

อย่างเราเลือกที่จะจดจำคุณสมบัติของแม่เหล็กว่า ดูดติดโลหะได้ สมองจะจำเป็น “ภาพของการที่มันดูดติดกับวัตถุอื่น” มากกว่าจะเป็นเสียงพูดว่า “ดูดติดได้”




นวกานต์ : จะบอกว่าการที่เราจะคิดเป็นเสียงหรือภาพนั้น ขึ้นอยู่กับว่า สมองเก็บข้อมูลของวัตถุดิบที่เรานำมาคิดในรูปแบบไหนเหรอ

บุราณกานต์ : ใช่












นวกานต์ : แล้วทำไมเราไม่คิดทุกอย่างเป็นภาพไปเลยหล่ะ มนุษย์เรา เห็นง่ายกว่า และ เห็นบ่อยกว่าได้ยินเสียงพูดนะ เพราะเราแทบจะใช้ตามองตลอดเวลา

บุราณกานต์ : อืม อาจเป็นเพราะว่า ส่วนใหญ่แล้วภาษาพูดมันมีความซับซ้อนน้อยกว่าน่ะสิ มันจึงจดจำได้ง่ายกว่า



นวกานต์ : ลองยกตัวอย่างได้ไหม

บุราณกานต์ : ง่ายๆ ลองเปรียบเทียบดู ถ้าเราต้องจดจำวัตถุชิ้นหนึ่ง ที่รายละเอียดเยอะมาก อย่าง “คีมปอกสายไฟ” ถ้าเราต้องจำรายละเอียดมันทั้งหมดจากการเห็น กับการ จำแค่รูปร่างคร่าวๆ และชื่อของมันที่เขียนไว้ว่า “คีมปอกสายไฟ”

อันไหนที่สมองจะจดจำและดึงออกมาใช้เวลาคิดในใจ ได้ง่ายกว่ากันหล่ะ







นวกานต์ : อืม เวลาคิด ถ้ามัวนั่งนึกภาพของมันคงช้ากว่าคิดเป็นเสียงพูดสินะ จะเว้นก็แต่เราเห็นมันบ่อยจนนึกออกเป็นภาพได้ง่ายกว่าเสียงพูด

จะบอกว่าที่คนเราส่วนใหญ่จะคิดเป็นภาษาพูด เพราะ ภาษาพูดถูกออกแบบมาให้ซับซ้อนน้อยกว่า และสามารถจดจำได้ง่ายกว่าใช่ไหม


บุราณกานต์ : ใช่ แต่ในบางกรณีที่สิ่งๆนั้นมี “ภาพ” ของมันชัดเจนกว่า “เสียงพูด” เราก็จะจำเป็นภาพ



นวกานต์ : แต่เดี่ยวก่อน ตะกี๊นี้บอกว่า “มันเขียนว่า คีมปอกสายไฟ” แล้วทำไมสมองถึงไม่บันทึกภาพของคำว่า “คีมปอกสายไฟ” ไปแทนหล่ะ

บุราณกานต์ : มันจะต่างอะไรกับการจำภาพหล่ะ ตัวหนังสือตั้งกี่ตัว ดังนั้นเพื่อให้ง่ายสมองเลยบอกให้เราอ่านมัน แล้วจัดการจำเสียงที่เราอ่านไว้ในหัว แม้ว่ามันจะเป็นการอ่านในใจก็ตาม

แต่ก็มีนะ คนที่จำตัวหนังสือเป็นภาพ

เคยมีเพื่อนบางคนบอกว่า ตอนสอบมันอ่านหลายรอบจนจำได้ว่าหน้านี้เป็นอย่างไร บรรทัดนี้เขียนว่าอะไร

สามารถนึกออกมาเป็น “ภาพ” ของหน้าหนังสือนั้น ในหัวได้เลย

ขณะที่บางคนที่อ่านเพียงไม่กี่รอบ ก็จะจำได้เป็น “เสียงพูด” ซึ่งเกิดจากการอ่านนั่นเอง

นี่เป็นอีกข้อพิสูจน์ว่า การจดจำในรูปแบบ “เสียงพูด” ทำได้ง่ายกว่า การจดจำในรูปแบบ “ภาพ”




นวกานต์ : อืม

บุราณกานต์ : ใช่ แต่เห็นด้วยนะที่ว่ามนุษย์เราส่วนใหญ่จะคิดเป็นเสียงพูด












นวกานต์ : ไม่ใช่แค่เสียง แต่ต้องเป็น “เสียงที่มาจากภาษาพูด”

บุราณกานต์ : อืม นั่นหมายความว่ามนุษย์เราโดน “ภาษา” ครอบงำอยู่สินะ



นวกานต์ : ใช่ ไม่ว่าจะภาษาไทย ภาษามือ ภาษากาย หรือ ภาษาพูด

บุราณกานต์ : อาจเป็นเพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม การสื่อสารจึงเป็นเรื่องจำเป็น และกระทำบ่อยจนเป็นความเคยชิน



นวกานต์ : ใช่ ภาษาถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการสื่อสาร เพื่อให้ง่ายและสะดวก ที่สำคัญมันยังทำให้เราเข้าใจเรื่องยากๆได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องจินตนาการเป็นภาพ

บุราณกานต์ : ใช่ อย่างเราอยากจะอธิบายเรื่องการหลุดของอิเล็กตรอนจากอะตอม เราจะอธิบายอย่างไรให้เข้าใจได้ง่ายที่สุด และไม่ผิดเพี้ยน

นอกจากจะใช้ “ภาษา” เป็นสื่อกลาง




นวกานต์ : ทำเป็นภาพอนิเมชั่น?

บุราณกานต์ : มันทำยากกว่าเขียนอธิบายน่ะสิ และถึงจะมีภาพก็ต้องมีการอธิบายประกอบอยู่ดี ถ้าจะให้เข้าใจลึกซึ้ง และถูกต้อง

อืม ดังนั้นภาษาน่าจะช่วยให้เกิดการแชร์ความรู้ และเป็นตัวกลางสำคัญในการเก็บรักษา และส่งถ่ายความรู้สินะ













นวกานต์ : อืม ในการสื่อสาร มันต้องประกอบไปด้วยผู้รับสาร และ ผู้ส่งสาร ใช่ไหม

บุราณกานต์ : ถูกต้อง



นวกานต์ : ดังนั้นถ้าเราเริ่มใช้ภาษา หมายความว่าเราต้องการสื่อสาร

บุราณกานต์ : ใช่ และถ้าเราเป็นผู้ส่งสาร ย่อมต้องมีผู้รับสาร



นวกานต์ : แล้วการที่เรา “พูดในใจ” กับตัวเองหล่ะ เราพูดกับใคร ก็ในเมื่อเราเป็นผู้ส่งสาร เราย่อมรู้ “เนื้อสาร” แล้วจะพูดอีกทำไม?

บุราณกานต์ : และก็เป็นเราเองอีกเช่นกัน ที่เป็นผู้รับสาร ซึ่งเราในฐานะผู้รับสารย่อมไม่รู้ “เนื้อสาร” จนกว่าผู้ส่งสารซึ่งก็คือตัวเราเอง จะพูดจบด้วยซ้ำ

มันเป็นไปได้อย่างไรที่มีตัวเราที่ทั้ง “รู้” และ “ไม่รู้” ในช่วงเวลาเดียวกัน




นวกานต์ : หรือว่ามันเป็นกระบวนการในการ "จดบันทึก" ของสมอง เพื่อให้สมองได้เก็บข้อมูลสิ่งที่เราคิดในรูปแบบเสียงพูด

หรือว่าในบางครั้งกระบวนการคิดต้องทำผ่านการใช้ภาษา ซึ่งการ “พูดในใจ” เป็นกระบวนการดึงข้อมูลออกจากสมอง


บุราณกานต์ : ก็เป็นไปได้

ที่แน่ๆ ขณะพูดกับตัวเอง ในความคิดเราจะมี 2 ตัวตน นั่นคือ “ผู้ส่งสาร” กับ “ผู้รับสาร”




นวกานต์ : อืม พูดอย่างนี้เหมือนบอกว่า ความเป็นตัวตนของเราเนี่ย แท้จริงแล้วคือ “ข้อมูลทั้งหลายที่อยู่ในสมอง” ไม่ใช่ตัวสมอง

งั้นเราจะสรุปอย่างชัดเจนได้ไหมว่า ในห้วงขณะหนึ่งของความคิด เรามี 2 ตัวตน นั่นคือ ผู้ส่งสาร และ ผู้รับสาร


บุราณกานต์ : หรือว่า มีตัวตนเดียวแต่ทำได้สองหน้าที่ พร้อมกัน



นวกานต์ : อืม น่าสนใจ คิดไม่ตก และคงต้องคิดนานๆ

ขอตัวไปคิดก่อนก็แล้วกัน






บุราณกานต์ : ลาก่อน

นวกานต์ : ลาก่อน เช่นกัน




 

Create Date : 05 ธันวาคม 2552
12 comments
Last Update : 6 ธันวาคม 2552 4:27:48 น.
Counter : 1634 Pageviews.

 


ขบกันไปอีกนาน ^_^

 

โดย: renton_renton 13 ธันวาคม 2552 12:28:33 น.  

 

ขอเอาบางส่วนจากห้องสมุด กลุ่มย่อยปรัชญา มาลงนะครับ

ซึ่งถือว่าน่าสนใจ (และน่าดีใจ) ที่มีคนมาถกต่อกับ นวกานต์ และ บุราณกานต์

 

โดย: navagan 14 ธันวาคม 2552 0:31:23 น.  

 

ความคิดเห็นที่ 9

เป็นปรัชญาที่ล้ำลึกครับ ผมชอบนะทำให้มีมุมมองที่เข้าใกล้หลักสากล

ผมอยากให้คุณ นาวากาน ทำเรื่องอื่นๆบ้างนะครับ เรื่องภาษาเรื่องนี้ อยากให้เขียน
เป็นบทสรุปด้วยนะครับ ชอบ ครับ

ภาษา กำลังทำให้มนุษย์โง่ลง

จินตนาการสำคัญกว่าการพูด

วัตถุคือจุดเริ่มของทุกสิ่ง

จากคุณ : สหายDSL
เขียนเมื่อ : วันรัฐธรรมนูญ 52 07:07:09


 

โดย: navagan 14 ธันวาคม 2552 0:32:04 น.  

 

ความคิดเห็นที่ 10

คห.ที่๕
บุราณกานต์ : อืม นั่นหมายความว่ามนุษย์เราโดน “ภาษา” ครอบงำอยู่สินะ

และ คห.ที่๙
ภาษา กำลังทำให้มนุษย์โง่ลง

ไม่น่าจะจริง เนื่องจากภาษาเป็นเพียงเครื่องมือ และอยู่นิ่ง ไม่ได้เป็นปีศาจ สุนัข เสือ สิงโต หรือสัตว์ดุร้ายอะไร

แก้ไขเมื่อ 10 ธ.ค. 52 14:02:08

จากคุณ : ขามเรียง
เขียนเมื่อ : วันรัฐธรรมนูญ 52 13:48:40

 

โดย: navagan 14 ธันวาคม 2552 0:32:17 น.  

 

ความคิดเห็นที่ 12

พฤติกรรมของจิต เป็นทั้งผู้สัเกต ผู้ถูกสังเกต และผู้กระทำ

มันเป็นตรีเอกานุภาพ ที่คงมีให้เห็นเชิงประจักษ์ในแต่ละผู้คน สุดแต่จะให้น้ำหนักไปทางไหน

ภาษา ถือเป็นเครื่องมือของจิต ต่อ การคิด รู้สึก และสื่อสาร
นั่นคือ สิ่งสะท้อนว่า มนุษย์ต้องอิงคนอื่น เพื่อ การดำรงอยู่
ต้นแบบ ก็มาจาก มิติสัมพันธ์ภายในครอบครัวที่เราถือกำเนิด เติบโต ขึ้นมา

บางเวลา เราอาจอยากอยู่คนเดียว
แต่ไม่นาน เสียงเรียกร้องต่อเพื่อนมนุษย์จักทำให้เรา กระหายหาสัมพันธภาพกับมนุษย์ร่วมโลก
และนั่น คือ ความก้าวหน้าในมนุษย์ ที่มี ภาษา เป็นสะพานเชื่อมโยงพวกเขาเข้าไว้ด้วยกัน

ดังนั้น การพูดกันไม่รู้เรื่อง จึงเป็นยุทธวิธีสร้างความแตกแยกระหว่างคนได้เป็นอย่างดี
ในขณะที่การพูดกันรู้เรื่อง แต่ไร้จริยธรรม กลับทำให้สังคมมีความสลับซับซ้อนที่มีหลุมพรางน่าหวาดหวั่น ขยะแขยง

การคิดเป็นภาพ เกิดกับแนวโน้มของคนที่มองโลกเชิงวัตถุวิสัย ทางกายภาพ
การคิดเป็นถ้อยคำ หรือภาษา เกิดขึ้นกับแนวโน้มของคนที่มองโลกเชิงอัตวิสัย
ซึ่งให้น้ำหนักต่อ ความรู้สึก และจินตนาการนามธรรม

ในความเป็นจริง ไม่ว่าจะสื่อสารด้วยภาพ หรือ ภาษา ในกระบวนการคิด หรือ การสื่อสารเอง
ก็คงมีปะปนพร้อมกันไป คงอาจแล้วแต่จริตที่แตกต่างระหว่างบุคคล...

จากคุณ : dicky5
เขียนเมื่อ : 11 ธ.ค. 52 19:05:38
ถูกใจ : ขามเรียง, navagan

 

โดย: navagan 14 ธันวาคม 2552 0:32:37 น.  

 

ความคิดเห็นที่ 13

คุณดิคกี้5

ถ้อยแถลงนี้ขยายความรู้ให้ผมได้อีกมาก

การคิดเป็นภาพ เกิดกับแนวโน้มของคนที่มองโลกเชิงวัตถุวิสัย ทางกายภาพ
การคิดเป็นถ้อยคำ หรือภาษา เกิดขึ้นกับแนวโน้มของคนที่มองโลกเชิงอัตวิสัย
ซึ่งให้น้ำหนักต่อ ความรู้สึก และจินตนาการนามธรรม

อยากทราบว่า การคิดเป็นตัวเลข มีคำอธิบายตามแนวข้างต้นได้อย่างไรครับ?

จากคุณ : ขามเรียง
เขียนเมื่อ : 11 ธ.ค. 52 22:13:19


 

โดย: navagan 14 ธันวาคม 2552 0:32:49 น.  

 

ความคิดเห็นที่ 14

รอคำตอบคุณ dicky5 ด้วยนะครับ สำหรับที่ว่า "การคิดเป็นตัวเลข มีคำอธิบายอย่างไร"



ส่วนผมจัดว่า (ไม่มีใครถาม แต่อยากตอบ )คณิตศาสตร์ เป็น รูปแบบหนึ่งของ "ภาษา" ครับ

แนวโน้มของมันจึงน่าจะเหมือนกับภาษา ตามแนวคิดของคุณ dicky5




และคิดว่า ในมหาวิทยาลัย ควรมี "คณะคณิตศาสตร์" แยกจาก "คณะวิทยาศาสตร์" นะครับ

เพราะคณิตศาตร์เป็นเรื่องของตรรกะ และไม่ได้จำเป็นต้องมีการทดลองทางวิทยาศาสตร์



เพียงแต่ "คณิตศาสตร์เป็นภาษาหลักของวิทยาศาสตร์" นั่นเอง มันจึงถูกรวมใน วิทยาศาสตร์





ทั้งที่จริงๆแล้ว ถ้าพิจารณาที่ความคล้ายคลึง

"คณิตศาสตร์" เป็นพวกเดียวกับ "อักษรศาสตร์"

การเรียนการสอนน่าจะไปรวมกับ คณะอักษรศาสตร์ได้ไม่ยาก และน่าจะเข้ากลุ่มมากกว่า




ปล. ศาสตร์ด้านภาษาก็มีบทบาททางวิทยาศาสตร์ไม่น้อยกว่าคณิตศาสตร์ ยังไม่ถูกรวมในคณะวิทยาศาสตร์เลย
ทำไมคณิตศาสตร์จึงโดนรวมไปได้หล่ะเนี่ย (ถ้าไม่คิดในกรณีว่าคนมันเรียนน้อยอ่ะนะ )

แก้ไขเมื่อ 12 ธ.ค. 52 12:49:34

จากคุณ : navagan
เขียนเมื่อ : 12 ธ.ค. 52 12:48:46


 

โดย: navagan 14 ธันวาคม 2552 0:33:02 น.  

 

ความคิดเห็นที่ 15

ต่อ...


แสดงว่าคุณ Dicky5 คิดเหมือนผมนะครับ ที่ว่า "ภาษา" เป็นเครื่องมือ (กระบวนการ) ของ "จิต"

และเรื่องพฤติกรรมการอยู่เป็นสังคมของมนุษย์ นั้นมีแนวโน้มต่อ "จิต"



ซึ่งที่ผมว่า "ภาษา" ครอบงำมนุษย์ คงไม่ใช่เรื่องที่เกินเลยนัก





ปล. ส่วนเรื่อง ที่ว่า

"ภาษาพูด เป็นเครื่องมือสำคัญช่วยเปิดจินตนาการในสิ่งที่เรามองไม่เห็น หรือไม่มีจริง
ได้ดีกว่าและง่ายกว่า ภาษาภาพ (ทั้งที่จริงๆแล้ว เราจินตนาการเป็นภาพก็ได้)"

คล้ายๆกับที่คุณ dicky5 ได้พูดถึงนั้น อยู่ในบทต่อไปของเรื่องสั้นชุดนี้ครับ คอยติดตามกันต่อไป

(และไปอ่านเรื่องเก่าๆได้ใน Blog ครับ แอบโฆษณา )




หมายเหตุ : เรื่องสั้นชุดนี้ คือการพยายามคุยกันในหัวของผมเองครับ

จากคุณ : navagan
เขียนเมื่อ : 12 ธ.ค. 52 13:04:43


 

โดย: navagan 14 ธันวาคม 2552 0:33:14 น.  

 

ความคิดเห็นที่ 16

^
^
คุณนวกานต์ ให้ความเห็นที่ตรงใจผมมาก ในเรื่องคณิตศาสตร์ควรแยกตัวจากวิทยาศาสตร์

และผมขอเพิ่มเติมว่า
๑. คณิตศาสตร์ควรไปอยู่ในกลุ่มวิชามนุษย์ศาสตร์
๒.กลุ่มวิชามนุษย์ศาสตร์ควรแยกออกจากกลุ่มวิชาสังคมศาสตร์ ปัจจุบันส่วนใหญ่อยู่ด้วยกัน
๓.คณะมนุษยศาสตร์ จะต้องมีนักศึกษาจากกลุ่มวิชาคณะวิทยาศาสตร์/เทคโนโลยีไปเรียน
มีนักศึกษาจากคณะสังคมศาสตร์ไปเรียน ในบางวิชาที่เป็นส่วนผูกโยงกัน ทั้งเป็นวิชาบังคับและวิชาเลือก

จากคุณ : ขามเรียง
เขียนเมื่อ : 12 ธ.ค. 52 13:20:19
ถูกใจ : navagan

 

โดย: navagan 14 ธันวาคม 2552 0:33:28 น.  

 

ความคิดเห็นที่ 17

ตอบ #13 คุณขามเรียง


เพราะ ผมเห็นด้วยกับ #14 จขกท. อย่างไม่มีข้อโต้แย้ง
ดังนั้น เท่ากับ จขกท.ได้ตอบคุณขามเรียงแล้ว ..ขอพระคุณ

และจาก #15 "ซึ่งที่ผมว่า "ภาษา" ครอบงำมนุษย์ คงไม่ใช่เรื่องที่เกินเลยนัก"..จขกท.
^
^
โอเค ครับ แต่ขอเพิ่มเติมว่า..

เพราะ เมื่อแรก เราเลือกเกิดไม่ได้ เราต่างจำเป็นต้องเติบโตขึ้นมาพร้อมกับพัฒนาการทางภาษา
จากคนที่มาก่อนหน้าเรา มันเป็นสายธารทางประวัติศาสตร์ ซึ่งตัวเราถูกจัดวางไว้เป็นส่วนหนึ่ง
นั่นย่อมหมายความว่า เราต่างเป็นส่วนย่อย หรือเป็นส่วนหนึ่งของข่ายใยชีวิตทางสังคม จะเรียกว่า
เราไม่ได้มีเสรีภาพอย่างเอกเทศ

ต่อเมื่อเราเริ่มมีสำนึกรู้สถานะแห่งตน(เมื่อโตขึ้น) ด้วยการ
ขยายกรอบการรับรู้โลกกว้างที่หลากหลายแตกต่าง...โดย ภาษา
จึงช่วยย่นย่อตัวตนของข่ายใยชีวิตทั้งหมด(..เท่าที่จะสำนึกรู้ได้)


ดังนั้น ถ้าภาษาจะครอบงำมนุษย์แล้วไซ้ร ก็จักเป็นสิ่งพึงปรารถนา(ที่จำเป็น) สำหรับผู้ใฝ่เสรีภาพ

เพราะ ไม่มีเสรีภาพที่ไร้การครอบงำจากอดีต มีแต่เสรีภาพบนบริบทแห่งความเป็นมนุษย์ก่อนหน้าเรา
จึงจักเรียกว่า เป็นการปลดพันธนาการของวันวานได้

จากคุณ : dicky5
เขียนเมื่อ : 12 ธ.ค. 52 18:33:04
ถูกใจ : navagan

 

โดย: navagan 14 ธันวาคม 2552 0:33:44 น.  

 

ความคิดเห็นที่ 18

๑.หากจะใช้คำว่ามีอิทธิพล แทนคำว่าครอบงำ น่าจะเหมาะกว่านะ
ครับ
๒.จริงอยู่คณิตศาสตร์เป็นสัญศาสตร์เช่นเดียวกับอักษรศาสตร์ แต่มีบทบาทหน้าที่แยกกันด้วย
....ผมมีความรู้สึกแผ่วเบา ว่ามันมีนิยามของมันต่างหากออกไป
และบอกแนวโน้มการมองโลกและพฤติกรรมความถนัดของมนุษย์ได้เช่นกัน...ไม่ได้ลองภูมิครับ

จากคุณ : ขามเรียง
เขียนเมื่อ : 12 ธ.ค. 52 22:00:27

 

โดย: navagan 14 ธันวาคม 2552 0:33:55 น.  

 

ความคิดเห็นที่ 19

มาเพิ่มมุมมองที่แตกต่าง จากแง่มุมที่ว่า ภาษาครอบงำมนุษย์


เพราะ เราเคยชินกับการคิดและการสื่อสาร โดยใช้ภาษา
แต่นั่น มีเหตุผลในตัวมันเอง ซึ่งไม่ใช่ทั้งหมดของการค้นหาความจริงเป็นแน่

ภาษาอาจครอบงำเรา จนมิอาจเบิกฟ้าต่อความจริงพื้นฐาน ที่ซ่อนอยู่ได้
อย่างที่ทราบ คนเราเคยชินกับความซ้ำซากที่เชื่อว่า ปลอดภัย ดี หรือปรกติ

แต่วิถีของความจริงสูงสุด มันไม่อนุญาตให้เกิดความมั่นคง ความนิ่ง หรือ การควบคุมถาวรจากสิ่งใด
และนี่ คือ สิ่งที่ภาษาได้ครอบงำเรา ปกคลุมเราจากสัจจะ หรือ การเปลี่ยนแปลง การวิวัฒน์ใหม่ๆ
อาจเรียกว่า มันมีหลุมพรางที่เราสมยอม(ตาม/อิงมาตรฐานวิถีสังคม) แต่สำหรับผู้ใฝ่ความจริง
ย่อม..ไม่

โฟกัสมาที่จุดเริ่มต้น(ของความจริง)
การไม่คิด คือ สิ่งที่ต้องการบอก (ทำยาก) นั่นคือ เหตุผลว่า ทำไมภาษาจึงครอบงำเราไว้
แต่เพราะ ความจริงอยู่ตรงนั้น ที่ที่ภาษาไปไม่ถึง มีแต่การรับรู้และการเฝ้าสังเกตในสโคปกว้างต่อ
เนื่อง จึงจักเห็นการทำงานของ"สิ่งสำคัญ"นั้น ซึ่งเป็นหน่ออ่อนของความเปลี่ยนแปลง และที่นั่น
คือ สิ่งที่ทำให้คนต่างกันในคุณภาพการเห็น ...มันอาจเรียกว่า สติ จิตสำนึกจุลภาค ความละเมียด
หรือคุณภาพการเปลี่ยนแปลง ก็น่าจะอยู่ในกลุ่มแนวทางเดียวกัน

ที่ว่ามา มันเป็นประสบการณ์การเห็น ซึ่งภาษาก็ได้แต่เทียบเคียงให้ไปถึง
ยิ่งพยายามหาเหตุผลจากมัน ก็ไม่ใช่การเข้าชน เพื่อที่ปัญหาจะแตก หรือพบเจอ"สิ่งสำคัญ"

จากคุณ : dicky5
เขียนเมื่อ : 13 ธ.ค. 52 02:41:10
ถูกใจ : navagan

 

โดย: navagan 14 ธันวาคม 2552 0:34:11 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


navagan
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 73 คน [?]




นวกานต์ ราชานาค
Navagan Rachanark


สนใจใน ภาพยนตร์, การวิเคราะห์-วิจารณ์ ภาพยนตร์,ดนตรี, งานเขียน และ ศิลปะอื่นๆ

สร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ทดลอง และ งานดนตรีทดลอง และ งานเขียน


ปัจจุบันทำงานด้านการตลาด การวิจัยและพัฒนายางสังเคราะห์และยางธรรมชาติ

เริ่มจัดเก็บข้อมูลสถิติการเข้าชม

Time 09:00 Date 31/01/2010

by Histats.com

blogger web statistics

ถูกใจบทความ หรืออยากสนับสนุนเจ้าของ Blog

ก็ช่วย click ที่ Link โฆษณาครับ

ขอบคุณครับ

Friends' blogs
[Add navagan's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.