All the girls standing in the line for the bathroom !!!

*** หมายเหตุ : สงวนลิขสิทธิ์ บทความและผลงาน ใน Blog นี้ครับ ***
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
13 กรกฏาคม 2555
 
All Blogs
 
*** The Amazing Spider-Man *** Who am I

*** The Amazing Spider-Man ***






ด้วยเรื่องของลิขสิทธิ์ Spider-Man ที่กำหนดไว้ตามสัญญาว่า หาก Sony ไม่สร้างหนัง Spider-Man อย่างน้อย 1 เรื่อง ในรอบ 5 ปี สิทธิในการสร้างหนังจะกลับคืนสู่ Marvel ทันที (ซึ่งตอนนี้เปิด Studio สร้างหนังเองเรียบร้อยแล้ว)


นั่นทำให้เราได้ดู Spider-Man อีกครั้ง แถมยังเป็น version ใหม่ เพราะทีมงานหลักจาก 3 ภาคก่อน โดยเฉพาะ Sam Raimi และ Tobey Maguire ไม่สนใจที่จะทำต่อไปแล้ว



Sony เริ่มต้นปั้น franchise นี้ใหม่อีกครั้ง โดยเปลี่ยนชื่อเป็น The Amazing Spider-Man พร้อมกับทีมงานใหม่ยกชุด ภายใต้การนำของ Marc Webb อดีตผู้กำกับ MV ที่เปิดตัวได้สวยกับหนังเรื่องแรกอย่าง (500) Days of Summer



ก่อนจะวิจารณ์ ออกตัวไว้ก่อนว่า ไม่ได้ติดตาม Spider-Man ในรูปแบบอื่นๆที่ไม่ใช่หนังเลยแม้แต่น้อย จะเคยก็แค่การ์ตูนทีวีสมัยที่ฉายทางช่อง 9 เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว


แต่สำหรับหนัง 3 ภาคของ Raimi นั้นได้ดูครบทุกภาค ซึ่งส่วนตัวแล้วภาคที่ 2 เป็นภาคที่ดีที่สุด และลงตัวที่สุด ไม่ใช่แค่ในฐานะ franchise Spider-Man แต่เป็นหนังที่ดีเยี่ยมในฐานะหนังทั่วๆไปเรื่องหนึ่งอีกด้วย ขณะที่ภาคที่ 3 คือภาคที่แย่ที่สุด







คล้ายกับที่ตัวละครคุณครูในหนังบอกไว้ในฉากท้ายๆว่า



แท้จริงแล้วหนังทุกเรื่องมีพล็อตเรื่องแบบเดียวนั่นก็คือ “Who am I” หรือ “ใครคือฉัน”



The Amazing Spider-Man เล่าเรื่องราวง่ายๆว่า “Spider-Man คือใคร” เช่นกัน



หนังเปิดเรื่องด้วยการท้าวความไปถึงวัยเด็กของ Peter Parker (Andrew Garfield) ที่ต้องพลัดพรากจากพ่อและแม่ ผู้เต็มไปด้วย “ความลับ” ของเขา



ก่อนที่จะตัดเข้ามาสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของ Parker ที่ปัจจุบันอาศัยอยู่กับ ลุง Ben (Martin Sheen) และ ป้า May (Sally Field) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ Spider-Man ได้ถือกำเนิดขึ้น



พล็อตหลักที่ว่าด้วยก้าวแรกในการเป็น Spider-Man ของ Parker ที่โดยรวมแล้วก็ไม่ต่างจากเดิมมากนัก จะต่างกันก็แค่รายละเอียดปลีกย่อย และพล็อตรองที่คราวนี้กรุ่นไปด้วยกลิ่นของหนังรักวัยรุ่นที่ไม่หวานเลี่ยนจนเกินไป







ฉาก Action ในหนังทำได้ดี และดูดีมากในระบบ 3D การต่อสู้ใช้ประโยชน์จากใยแมงมุม และลักษณะการเคลื่อนไหวของ Spider-Man ได้ดีเยี่ยม



ขณะที่งานกำกับภาพ และงาน Production design ทำให้ฉากห้อยโหนโจนทะยานของ Spider-Man ดูสมจริง ตึกสูงดูสูงจริง เมืองใหญ่ดูใหญ่จริง

ขณะที่ Spider-Man ถูกบีบให้ดูเล็กบนจอในหลายฉาก ช่วยเพิ่มความรู้สึกหนักหนาสาหัส จนทำให้ผู้ชมรู้สึกว่า



"Spider-Man คือคนตัวเล็กๆ ที่ต้องแบกรับกับปัญหาของเมืองใหญ่เมืองนี้ให้ได้"



แต่ที่ตรงกันข้ามคือบทหนังที่ให้รายละเอียดในสถานการณ์ต่างๆอย่างรวบรัด และ แก้ไขสถานการณ์ต่างๆอย่างง่ายดายเกินไป แม้จะมีข้อดีคือ ทำให้ผู้ชมเข้าใจง่าย และเพลิดเพลินกับหนังโดยไม่ต้องคิดมาก แต่ข้อเสียคือการขาดความสมจริงและความเป็นไปได้ในแง่ของเหตุผล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การขาดซึ่งอารมณ์ร่วมของผู้ชม” ที่น่าจะมีมากกว่านี้


นี่เองที่ทำให้ “ความประทับใจ” ที่หนังพยายามจะสร้าง ไปไม่ถึงเป้าหมายที่ต้องการ







หนังยังเต็มไปด้วย ประเด็นมากมายที่พยายามจะให้คมคาย และเป็นที่จดจำของผู้ชมอย่างที่ “พลังอันยิ่งใหญ่ มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่” ของ Spider-Man version Raimi เคยทำได้



แต่ใน The Amazing Spider-Man หนังยัดคำพูดเหล่านี้เข้ามามากมาย ไม่ว่าจะเป็น “ความลับ มักมีราคาที่จะต้องจ่าย” หรือ “นี่ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นความรับผิดชอบ” แต่ประเด็นเหล่านี้กลับไม่ “กระทบ” ไปที่ผู้ชมได้อย่างที่ต้องการ



สาเหตุหลักก็คือ แม้คำเหล่านี้จะคมคายสักแค่ไหนก็ตาม แต่มันไม่ได้ถูกส่งเสริมโดยบทให้กลายเป็นประเด็นหลักของหนัง


อีกทั้งจังหวะในการ “ปล่อยของ” ก็ยังไม่ถูกที่ถูกทางนัก



ทางที่ดีแล้วหนังไม่จำเป็นเลยที่จะต้องยัดเยียดประเด็นเหล่านี้ลงไปเพียงเพราะมันเป็น “ท่าบังคับ” ของหนัง Super Hero







Andrew Garfield ประสบความสำเร็จในการสร้างตัวละคร Peter Parker และ Spider-Man ในแบบของตัวเอง ด้วยเอกลักษณ์อันแตกต่างจนสลัดภาพของ Tobey Maguire ใน version ก่อนไปได้


แต่ที่ยังสู้ Maguire ไม่ได้ และต้องพยายามให้มากขึ้นคือ การทำให้ตัวละครเป็นที่รักของผู้ชมมากกว่านี้ ซึ่งถ้าทำได้หนังจะเต็มไปด้วยอารมณ์ร่วม และจะเป็นความประทับใจของผู้ชมได้มากกว่าที่เป็นอยู่


แต่ใช่ว่า Garfield จะต้องรับผิดชอบเรื่องเหล่านี้เพียงลำพัง บทหนังก็ต้องคอยส่งเสริมเขาด้วย



Emma Stone ในบท Gwen Stacy มอบความกระชุ่มกระชวยและความสดใสให้กับหนัง ทั้งทางตรง (โดยเฉพาะผู้ชมเพศชาย ) และทางอ้อม ผ่านเคมีที่เข้ากันระหว่างเธอกับ Garfield


บทหนังยังเปิดโอกาสให้เธอแสดงฝีมือเล็กน้อย ด้วยการเพิ่มบทบาทของตัวละครนี้ในสถานการณ์ต่างๆ มากกว่าการเป็นแค่คนรักของ Spider-Man หรือหญิงสาวที่เอาแต่ร้องขอความช่วยเหลือเท่านั้น







ในขณะที่บท Dr. Curt Connors หรือ The Lizard ของ Rhys Ifans นั้น หนังไม่ได้ให้ความสำคัญในระดับที่เป็นหัวใจของหนัง เพราะใน The Amazing spider-Man หนังเน้นไปที่เรื่องราวพัฒนาการของ Parker มากกว่า

(เป็นเรื่องปกติ ที่ตัวร้ายในภาคแรกของหนัง Super Hero จะไม่โดดเด่น เพราะหนังต้องให้ความสำคัญไปกับการแนะนำตัว Super Hero ต่อผู้ชม แต่ในภาคต่อไปเมื่อผู้ชมรู้จักดีแล้ว จึงแบ่งน้ำหนักมาที่ตัวร้ายได้มากขึ้น ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ Series Batman ของ Christopher Nolan ที่ภาค 2 เน้นไปที่ตัวร้ายแบบเต็มๆ)


แต่บทนี้ก็เป็นตัวละครที่ขาดไม่ได้ เพราะเป็นอีกหนึ่งตัวละครสำคัญที่มีผลต่ออนาคตของ Parker ในอนาคต ซึ่ง Ifans ก็รับผิดชอบบทนี้ไปแบบสบายสบาย



ผู้กำกับ Marc Webb ทำการปรับลดอายุของตัวหนังลงมาทั้งด้านเนื้อหา และมุมมองที่ถูกใช้ถ่ายทอดออกมา ถ้าเปรียบเป็นคน The Amazing Spider-Man คือเด็กวัยรุ่นอายุ 17 ปี ที่กระฉับกระเฉงว่องไว ขณะเดียวกันเด็กคนนี้ก็กำลังจะเผชิญหน้าเข้าสู่วัยผู้ใหญ่


แต่การที่หนังเดินเรื่องอย่างรวดเร็วเกินไป โดยไม่ปล่อยจังหวะให้ผู้ชมซึมซับอารมณ์ที่จำเป็นในบางครั้ง ทำให้ความผูกพันระหว่างตัวละครทั้งหลายดูบางเบา

นี่ถ้าหนังแก้ไขในจุดนี้ได้ (โดยเฉพาะในส่วนของ Parker, ป้า May และ ลุง Ben) ความผูกพันระหว่างตัวละคร น่าจะส่งผลมาเป็นความผูกพันระหว่างตัวละครและผู้ชมด้วย



Webb ยังผสมผสานอารมณ์ในแบบหนังเรื่องแรกของเขาลงไป แต่ก็ยังไม่เข้มข้นถึงขั้นที่จะกลายเป็น (500) days of Parker







The Amazing Spider-Man ประสบความสำเร็จในการฉีกตัวเองออกจาก version เก่า หนังมีอารมณ์และสไตล์ที่เป็นตัวของตัวเอง และเป็นความบันเทิงที่สอบผ่าน แม้ในภาพรวมจะยังไม่ถึงขั้นยอดเยี่ยมก็ตาม



ถ้าคำถามพื้นฐานของหนังทุกเรื่อง คือ “Who am I” หรือ “ฉันคือใคร” แล้ว


The Amazing Spider-Man ก็ตอบคำถามนั้นกับตัวเองและผู้ชมได้อย่างชัดเจน






7 / 10




Create Date : 13 กรกฎาคม 2555
Last Update : 14 กรกฎาคม 2555 17:41:52 น. 2 comments
Counter : 4875 Pageviews.

 
ผมชอบงานของคุณ Navagan นะครับ กระชับฉับไว ทั้งการวิเคราะห์หรือวิจารณ์ และมุมมองที่แตกต่างดีครับ

รอติดตามผลงานต่อๆไปนะครับ






โดย: A-Bellamy วันที่: 16 กรกฎาคม 2555 เวลา:10:13:16 น.  

 
ชอบผู้กำกับคนนี้นะคะ รักเรื่อง ห้าร้อยวันมาก 555
เรื่องนี้ก็ทำออกมาได้ดี มันลบภาพของ สไปเดอร์คนเก่าหมด
ถ้าไม่เปรียบเทียบ...เราว่าก็อยู่ในระดับหนึ่ง ถึงหนังจะสนุก แต่ดูเสร็จแล้วไม่มีอะไรให้ประทับใจเก็บกับบ้านไปนอนคิด
ขอบคุณบทความดีๆค่ะ ภาค 2 คุณมาร์คเขาน่าจะแก้ไขออกมาได้ดีกว่าเดิม^^


โดย: พัดลม IP: 125.26.71.82 วันที่: 15 ตุลาคม 2555 เวลา:17:07:22 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

navagan
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 73 คน [?]




นวกานต์ ราชานาค
Navagan Rachanark


สนใจใน ภาพยนตร์, การวิเคราะห์-วิจารณ์ ภาพยนตร์,ดนตรี, งานเขียน และ ศิลปะอื่นๆ

สร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ทดลอง และ งานดนตรีทดลอง และ งานเขียน


ปัจจุบันทำงานด้านการตลาด การวิจัยและพัฒนายางสังเคราะห์และยางธรรมชาติ

เริ่มจัดเก็บข้อมูลสถิติการเข้าชม

Time 09:00 Date 31/01/2010

by Histats.com

blogger web statistics

ถูกใจบทความ หรืออยากสนับสนุนเจ้าของ Blog

ก็ช่วย click ที่ Link โฆษณาครับ

ขอบคุณครับ

Friends' blogs
[Add navagan's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.