All the girls standing in the line for the bathroom !!!

*** หมายเหตุ : สงวนลิขสิทธิ์ บทความและผลงาน ใน Blog นี้ครับ ***
Group Blog
 
<<
เมษายน 2554
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
16 เมษายน 2554
 
All Blogs
 

*** Source Code *** สัมพัทธภาพพิเศษ และ 8

*** Source Code ***






หลังจากดู Moon จบ (เมื่อกลางปีที่แล้ว) ชื่อของ Duncan Jones ก็ถูกผมจดจำในฐานะผู้กำกับ/เขียนบท หน้าใหม่ ที่น่าจับตามองทันทีครับ


ด้วยเนื้อหาที่มีความเป็น Science-Fiction ในแบบเรื่องสั้นชั้นดี ขณะเดียวกันก็สะท้อนและวิพากษ์วิจารณ์มนุษย์และวิกฤติการณ์ในปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ ที่สำคัญหนังมีองค์ประกอบเยี่ยมๆอย่าง การแสดงชั้นดีของ Sam Rockwell ดนตรีประกอบของ Clint Mansell ที่ช่วยขับอารมณ์ของหนังได้อย่างทรงพลัง และการสร้างอารมณ์ร่วมที่ทำได้อย่างลงตัว



Source Code คือผลงานกำกับชิ้นล่าสุดของ Jones ที่คราวนี้ไม่ได้เขียนบทเอง แต่เป็นหน้าที่ของ Ben Ripley หน้าใหม่ในวงการหนังอีกคน



หนังเล่าเรื่องราวของ Colter Stevens (Jake Gyllenhaal) อดีตนายทหาร ที่ต้องเข้าไปสำรวจ 8 นาทีก่อนเกิดวินาศกรรมครั้งใหญ่ใน “Source Code” ระบบจำลองสถานการณ์ ที่สร้างจากความทรงจำ 8 นาทีสุดท้ายของผู้เสียชีวิตรายหนึ่ง ซึ่งถูกผสมรวมด้วยข้อมูลแวดล้อมทั้งหลาย



Colter ต้องควานหาตัวคนร้าย และความเชื่อมโยงต่างๆ ให้ได้ เนื่องจากมีคำขู่ว่าจะมีการก่อวินาศกรรมครั้งใหญ่ในเมืองอีกครั้ง

ถึงแม้ว่า Colter จะมีเวลาแค่ 8 นาที แต่เขาสามารถ restart Source Code ใหม่ได้ไม่จำกัด

อย่างไรก็ตามเขาก็ต้องแข่งกับเวลาเพราะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ที่คนร้ายจะลงมืออีกครั้ง







จาก Plot และเรื่องย่อ ทำให้อดคิดไปถึงหนังอย่าง Deja vu (การพยายามแก้ไข/สืบสวนเหตุการณ์วินาศกรรม โดยอาศัยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเวลา) และ Groundhog Day (การติดอยู่ในช่วงเวลาอันจำกัดซ้ำไปซ้ำมา) ไม่ได้ และเมื่อได้ชมก็ยังพบแง่มุมบางประการที่คล้ายกับ Moon อีกด้วย



โดยรวมแล้ว Theme ของ Source Code วนเวียนอยู่กับคำถามที่ว่า “คุณจะทำอย่างไร ถ้าคุณมีโอกาสได้กลับไปแก้ไขความผิดพลาดในอดีตอีกครั้ง”


เราจะพบว่า Colter มีเรื่องที่ติดค้างในใจก่อนตาย โดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับพ่อ ที่ไม่ได้รับการแก้ไข และเมื่อเขาต้องเข้าๆออกๆใน Source Code หลายครั้ง ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับ Christina Warren (Michelle Monaghan) ก็เริ่มพัฒนาขึ้นมาด้วย

นี่เองที่ทำให้ Colter พบว่า แม้จะมีเวลาเพียงแค่ 8 นาที แต่มันก็พอเพียงที่จะถือเป็นโอกาสอันดีในการแก้ไขความผิดพลาดในอดีต

Colter ค่อยๆแก้ไขความผิดพลาดให้ดีขึ้นในแต่ละรอบของเวลา เขาพยายามควานหาตัวคนร้าย พยายามสานสัมพันธ์กับ Christina และพยายามมอบความสุขให้กับทุกคนในวินาทีสุดท้าย


ไม่ใช่แค่ Colter ที่ได้รับโอกาสใหม่ให้แก้ตัว ตัวละครอื่นๆต่างก็ได้รับโอกาสด้วยเช่นกัน ซึ่ง Colter นี่เองที่เป็นคนมอบโอกาสกลับคืนให้กับพวกเขาเหล่านั้น ทั้ง Colleen Goodwin (Vera Farmiga) ที่ได้รับโอกาสในการแก้ไขความรู้สึกผิดในใจที่มีต่อ Colter ในโลกจริง และบรรดาผู้ที่จะต้องเสียชีวิตจากวินาศกรรมในโลกเสมือนนับร้อยชีวิต ให้มีโอกาสใช้ชีวิตต่อไปอีกครั้ง







ในแง่มุมวิทยาศาสตร์ หนังเล่นกับอุปมาอุปไมย เกี่ยวกับมิติคู่ขนานได้อย่างน่าสนใจ โดยหนังเปรียบเทียบ มิติคู่ขนานกับขบวนรถไฟ ที่แต่ละมิติต่างก็มีเส้นทางเป็นของตนเอง ซึ่งไม่มีวันมาพบกัน (Colter คือคนเดียวที่ได้รับอนุญาตให้ กระโดดข้ามไปในแต่ละขบวนได้)


ดังนั้นแม้จะมีจุดเริ่มต้นเดียวกัน แต่มิติที่ต่างกัน ย่อมมีการกระทำที่ต่างกันส่งผลให้แต่ละมิติมีอนาคตเป็นของตนเอง


ในหนังเทคโนโลยี Source Code นี่เองที่เป็นเครื่องเปิดมิติคู่ขนานให้เกิดขึ้น โดยเป็นการสร้างโลกสมมติจาก เวลา 8 นาทีให้ต่อยอดได้โดยไม่มีที่สิ้นสุด



อาจสงสัยว่า แล้วทำไมในตอนสุดท้าย มิติคู่ขนานถึงถูกยืดยาวไปไกลกว่า 8 นาทีได้


ถ้าเราใช้ตรรกะที่หนังให้มา (อาจไม่ได้ถูกต้องในโลกจริง แต่ถูกต้องในโลกของหนัง) มาผนวกกับทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษของ Albert Einstein (แบบแถนิดๆ ) เราก็จะได้คำตอบ



จากในหนังมิติคู่ขนานทุกมิติ จะถูกทำลายเมื่อครบ 8 นาที เพราะเมื่อครบ 8 นาที Source Code จะ Reset ระบบ เพื่อกลับไปเริ่มต้นใหม่ แต่ว่าในรอบสุดท้าย Source Code ไม่ได้ถูก Reset เพราะ Colleen ได้ทำลายระบบนี้ด้วยการ ปิด Source Code ลงก่อนที่มันจะทำการ Reset ตัวเอง และแน่นอนว่า Colter ก็จะต้องตายไปด้วย



แล้วทำไม Colter ถึงใช้ชีวิตต่อในโลกของ Source Code ทั้งที่ตายไปแล้วได้ ถึงตรงนี้อาจต้องนำ "ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษของ Einstein" มาอธิบายหล่ะครับ



(ผมไม่ขอยกเอาทฤษฎีทั้งหมดมาอธิบายนะครับ มันจะกลายเป็นการเรียนฟิสิกส์ แทนที่จะเป็นการวิเคราะห์-วิจารณ์หนัง และอีกอย่างผมเองก็ไม่ได้แม่นยำและแตกฉานในทฤษฎีนี้มากนัก )






ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษของ Einstein กล่าวว่า



“แสงมีความเร็วคงที่ แต่เวลา และระยะทางไม่คงที่”



และเมื่อเราเดินทางด้วยความเร็วที่สูงขึ้น เวลาจะช้าลง และเวลาจะหยุดนิ่ง เมื่อเราเดินทางด้วยความเร็วเท่ากับแสง


เราสามารถยกเรื่อง “แฝดพิศวง” (Twin Paradox) มาอธิบายให้เห็นภาพง่ายๆครับ



“มนุษย์คนนึงได้เดินทางไปในห้วงอวกาศด้วยจรวดความเร็วสูงแล้วกลับมายังโลก เมื่อกลับมาแล้วพบว่ามนุษย์คนนั้นมีอายุน้อยกว่าฝาแฝดของตัวเองที่อาศัยอยู่บนโลกตลอดเวลา ผลการทำนายครั้งนี้ทำดูเหมือนจะเป็นปริศนาถ้ามองในอีกมุมหนึ่งคือ มองว่าฝาแฝดที่อยู่บนโลกก็กำลังเคลื่อนที่หนีฝาแฝดที่อยู่บนจรวด ขณะที่จรวดอยู่นิ่ง ๆ และดูขัด ๆ กันเอง จึงเรียกปัญหานี้ว่า "ปัญหาพิศวง" (paradox) แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปัญหานี้ไม่ได้ขัดกันถ้ามองในกรอบของทฤษฎีสัมพัทธภาพ และได้รับการยืนยันว่าเป็นจริงตามการทดลองจริงบนโลก เกี่ยวกับการวัดช่วงเวลาด้วยนาฬิกาที่แม่นยำสองเครื่อง ที่อยู่บนพื้นโลกหนึ่งเครื่อง และอยู่บนเครื่องบินที่บินรอบโลกหนึ่งเครื่อง” [อ้างอิง 1]



นั่นก็คือ เวลาของ Colter ในโลกจริงที่กำลังจะตายภายในไม่กี่วินาที อาจเป็นเวลาหลายพันล้านปีใน Source Code ครับ เนื่องจากเวลาในแต่ละมิติไม่เท่ากันครับ



Colter ใน Source Code ก็เหมือน ฝาแฝดคนที่อยู่บนโลกมนุษย์ (เวลาเดินเร็ว) ส่วน Colter ในโลกจริง ก็คือ ฝาแฝดคนที่อยู่ในยานอวกาศ (เวลาเดินช้า)







หนังบอกเป็นนัยๆว่า เวลาใน Source Code เดินเร็วกว่า เวลาในโลกจริงมากๆ จากฉากที่ Colter ตายใน Source Code แล้วถูกดึงกลับมาในโลกจริง เขาจะเห็นภาพต่างๆผ่านเข้ามาเร็วมาก (ซึ่งบางภาพ เป็นภาพในเมือง Chicago ที่เขาไปพบเจอในมิติคู่ขนานในตอนสุดท้ายนั่นเอง แต่บางภาพก็เป็นภาพหลอนจากจิตใจที่ซ้อนทับเข้ามา) เพราะว่า Colter เปลี่ยนจากกรอบอ้างอิงเวลาที่เร็วมาก มาเป็นช้ามากนั่นเอง



ถ้านึกไม่ออกก็ลองนึกถึง Colter ที่อยู่บนรถไฟที่วิ่งด้วยความเร็ว 120 Km/h (โลกที่เวลาเดินเร็ว/เคลื่อนที่ด้วยความเร็วต่ำกว่าความเร็วแสงมาก) เห็นชายคนหนึ่งเดินบนรถไฟในทิศทางเดียวกับรถไฟด้วยความเร็ว 5 Km/h

แต่ถ้าเขาถูกเตะตกจากรถไฟ เมื่อเขามองกลับไปบนรถไฟขณะที่ตัวเองกำลังลดความเร็ว (โลกที่เวลาเดินช้า/เคลื่อนที่ด้วยความเร็วใกล้ความเร็วแสง) ก่อนจะหยุดนิ่งในที่สุด (โลกที่เวลาหยุดนิ่ง/เดินทางเท่ากับความเร็วแสง) เขาจะเห็นชายคนนั้นเดินด้วยความเร็วที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็น 125 Km/h ในที่สุด





แล้วทำไมเวลาใน Source Code ถึงเดินเร็ว ?



หนังไม่ได้อธิบายไว้ครับ แต่ขอแถช่วยหนังแล้วกัน (อีกแล้ว )


ลองนึกถึงเวลาฝันก็ได้ครับ บางทีเราฝัน เวลาในฝันนานมาก แต่เมื่อตื่นมาดูนาฬิกาพบว่ามันเพิ่งผ่านไปแค่ 5 นาทีเอง ใครดู Inception แล้วก็คงนึกออกนะครับ เพราะ Inception เอาเหตุการณ์นี้ไปเป็นหนึ่งในกฎแห่งฝันเลยครับ



หรือไม่ก็ เวลาที่จิตสงบนิ่งนั้น จิตแทบจะไม่ได้คลื่อนที่ไปตามแสงครับ เวลาจึงผ่านไปเร็วมาก (หลายพันล้านปีในจิต อาจเท่ากับ 1 วินาทีในโลกจริง)




(อาจเป็นความเชื่อที่มีมานานแล้วก็ได้ครับ เพราะใน American Beauty (1999) ก็เคยพูดถึงว่า เวลา 1 วินาทีสุดท้ายของชีวิต จะยาวนานเหมือนได้ย้อนดูชีวิตตนเองใหม่ทั้งหมดอีกรอบ)






ออกจากเรื่องวิทยาศาสตร์ มาเข้าสู่สัญลักษณ์ในหนังกันบ้าง นอกจาก “รถไฟ” แล้ว "เลข 8" ยังเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ ที่หนังหยิบมาใช้บ่อยๆครับ



หนังใช้เลข 8 แทนจำนวนนาทีของข้อมูลในสมองของเหยื่อที่เก็บรักษาไว้ได้ และสร้าง Source Code ที่เป็นเวลา 8 นาทีสุดท้ายก่อนเกิดวินาศกรรม
(ไม่แน่ใจว่าจำนวนครั้งที่ Colter เข้าไปใน Source Code เท่ากับ 8 ครั้งหรือไม่ และไม่แน่ใจว่าเหตุการณ์เกิดตอน 8.00 พอดีหรือเปล่า ถ้าใช่ก็ยิ่งชัดเจนขึ้นว่า หนังจงใจใช้เลข 8)


แล้วทำไมถึงต้องเป็นเลข 8 เพราะเลข 8 อาจหมายถึงความเป็นอนันต์ (Infinity) ได้ด้วย หากเราหมุนเลข 8 ไป 90 องศา ก็จะได้สัญลักษณ์ Infinity



สัญลักษณ์นี้ยังหมายถึงการเชื่อมโลกคนละด้านเข้าด้วยกันได้ด้วยครับ



(เนื่องจากผมหาภาพมาไม่ได้ เลยเชิญชวนให้ลองทำเอาเอง ลองเอากระดาษตัดเป็นแผ่นยาวคล้ายไม้บรรทัด เอาปากกาจุดที่ปลายกระดาษคนละด้าน โดยให้อยู่คนละหน้ากันนะครับ จากนั้นให้เอาปลายทั้งสองมาเชื่อมกัน โดยให้จุดทั้งสองอยู่บนหน้าเดียวกัน ทีนี้ก็จะได้ สัญลักษณ์ Infinity ครับ จากนั้นลองลากเส้นตามแนวยาวครับ จะพบว่า เส้นที่ลากเชื่อมนั้น ผ่านทั้งสองด้านของกระดาษครับ ทำแล้ว Post ภาพมาแชร์กันก็ดีครับ )



นอกจากนี้ Poster ที่ออกมาก่อนหนังฉายใบข้างล่างนี้ ก็อธิบายหนังทั้งเรื่องได้อย่างคร่าวๆเลยครับ (สังเกตรางที่ 8 มันแอบมีรอยเชื่อมอยู่ ขณะที่รางอื่นๆไม่มี )







สนุกสนานกับการวิเคราะห์ไปแล้ว มาสู่การวิจารณ์หนังกันบ้างครับ


Source Code จัดเป็นหนังที่มี concept ที่ดี แม้ plot เรื่องจะไม่ใช่ของใหม่ แต่ก็ถือว่าดัดแปลง และฉีกตัวออกมาได้อย่างน่าสนใจ



แม้ว่าหนังจะวางตัวเองเป็นหนัง Sci-fi แต่ด้วยความที่หนังละเลยการอธิบายตรรกะพื้นฐานของเรื่องราวในหนังให้ผู้ชมรับทราบและเข้าใจ ทำให้หนังขาดความน่าเชื่อถือ เพราะเหตุผลที่นำมาอธิบายอ่อนเกินไป

เช่น ทำไมใน Source Code ถึงระบุตำแหน่งที่ตั้งของระเบิดได้แม่นยำขนาดนั้น แล้วเครื่องสามารถจำลองขึ้นมาได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีใครรู้มาก่อน แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าตำแหน่งระเบิดถูกต้อง และคนร้ายคนไหนคือตัวจริง


ซึ่งถ้าหนังทำให้เกิดข้อสงสัยระหว่างชม ก็ยากที่จะทำให้ผู้ชมติดตามเรื่องราวด้วยความลื่นไหลได้



ขณะที่เรื่องราวในส่วนของการสืบสวนนั้น หนังก็คลี่คลายเหตุการณ์ต่างๆอย่างง่ายดายเกินไป ทั้งๆที่น่าจะเล่นกับ “ความซ้ำไปซ้ำมาของเหตุการณ์” ได้มากกว่านี้ เพราะ Plot เรื่องก็เอื้อให้เกิดเงื่อนไขพิเศษที่น่าจะเป็นความบันเทิงของผู้ชมได้มากกว่านี้



เรียกได้ว่าหนังใช้งานจากเงื่อนไขต่างๆที่อุตส่าห์วางเอาไว้ได้อย่างไม่คุ้มค่านัก



หนังยังใส่แง่มุมที่อ่อนไหวจากเรื่องราวความรัก ความสัมพันธ์ ระหว่าง Colter และ Christina เอาไว้ ซึ่ง เคมีระหว่าง Gyllenhaal และ Monaghan ก็ยังพอเข้ากันได้ แต่ก็ยังรู้สึกได้ไม่เต็มร้อยนัก


(อดที่จะพูดถึง Deja vu ไม่ได้ เพราะการแสดงของ Denzel Washington สามารถทำให้ผู้ชมเชื่อในความโรแมนติกของหนังได้มากกว่าใน Source Code ทั้งๆที่พวกเขาต่างก็มีเวลาเจอ “นางเอกของพวกเขา” เท่าๆกัน)







พูดถึงการแสดงกันบ้าง Jake Gyllenhaal เอาอยู่กับการรับผิดชอบบทที่ถือเป็นหัวใจหลักของหนัง อย่างไรก็ตามในหลายๆครั้ง Gyllenhaal ยังไม่สามารถทำให้ผู้ชมรู้สึกไปกับปมในใจของตัวละครได้มากพอ



สำหรับตัวละครอื่นนั้น แทบทุกตัวแบนราบไร้มิติ


สำหรับเหล่าตัวละครในรถไฟ (ใน Source Code) อาจมีข้อแก้ตัวได้ว่า "พวกเราเป็นแค่ตัวละครที่ถูกประมวลผลขึ้นจากโปรแกรม Computer จะให้มีมิติความลึกอะไรมากมาย"


แต่สำหรับตัวละคร ในโลกจริงอาจหมดข้อแก้ตัว โดยเฉพาะ Dr. Rutledge (Jeffrey Wright) ที่ในตอนสุดท้ายยังไม่วายจะโดนบทหนังตอกย้ำความเป็นผู้ร้าย กับอาการลุ้นให้เกิดวินาศกรรมจนออกนอกหน้า เพื่อที่จะหาโอกาสใช้งาน Source Code



ส่วนบท Colleen ของ Vera Farmiga นั้น แม้จะมีพัฒนาการเล็กๆน้อยๆ แต่ก็เป็นไปตามสูตรสำเร็จแบบเดิมๆ ที่คาดเดาได้ไม่ยาก





สำหรับตอนจบ หนังอาจจะจบได้อย่างน่าจดจำและประทับใจได้มากกว่านี้ ถ้าเลือกที่จะปิดฉากตัวเองแค่ฉาก “รอยยิ้มหยุดเวลา” มากกว่าจะยืดเรื่องราวเพื่อให้ผู้ชมรู้สึกมั่นใจว่า พระเอกของพวกเขามีความสุขจริงๆ







Source Code ถือว่ามีไอเดียเริ่มต้นที่ดี แม้ว่าจะไม่ใช่ไอเดียที่สดใหม่อะไรนัก แต่ก็ถูกนำมาดัดแปลงได้อย่างน่าสนใจ


อย่างไรก็ตามบทหนังของ Ben Ripley ไม่สามารถใช้ไอเดียที่สร้างสรรค์ขึ้นมาได้อย่างคุ้มค่าเท่าที่ควร และการที่หนังเลือกที่จะเล่าเรื่องราวในหลายๆแนวทางพร้อมกัน ทั้ง Drama, Thriller และ Action ทำให้หนังไปไม่สุดสักทาง


ในความเป็น Science-Fiction หนังสอบผ่านในระดับเกือบน่าพอใจ แต่ในส่วนของ Thriller/Drama หนังสอบผ่านแบบคาบเส้น



ผู้กำกับ Duncan Jones อาจมีปัญหาในการทำงานในสเกลที่ใหญ่ขึ้นและต้องกำกับนักแสดงจำนวนมากขึ้น ดังนั้นการกลับไปร่วมเขียนบทเองอีกครั้ง แลฝึกฝีมือกับหนังเล็กๆอีกสักเรื่อง น่าจะเป็นทางออกที่ดีในสำหรับผลงานชิ้นถัดไป





7 / 10 ครับ









อ้างอิง 1 : //th.wikipedia.org/wiki/ปัญหาฝาแฝดพิศวง 16/04/2011




 

Create Date : 16 เมษายน 2554
9 comments
Last Update : 17 เมษายน 2554 0:52:16 น.
Counter : 6952 Pageviews.

 

ปล. เชิญชมหนังสั้นเรื่องเก่าของผมเอง (6 ปีที่แล้ว) เรื่อง 8-9

ซึ่งหยิบเอาเรื่องของ "มิติ-เวลา" มาเล่นเหมือนกันครับ


Click ที่นี่ครับ 8 - 9





และเชิญอ่าน บทวิเคราะห์-วิจารณ์เรื่อง Inception ครับ (มีSpoil นิดๆ)


Click ที่นี่ครับ Inception

 

โดย: navagan 17 เมษายน 2554 1:06:15 น.  

 

คือ ที่ถามว่าเข้าไป 8 ครั้งรึเปล่า คือใช่เลยครับ 8 ครั้งแล้วก็สามารถคลี่คลายทุกอย่างได้ แต่ครั้งสุดท้ายที่ขอร้องจะเข้าไปช่วยคนบนรถไฟให้รอดอันนั้นเป็นครั้งที่9ครับ

 

โดย: ผมนั่งนับอยู่ครับ^^ IP: 124.122.16.247 17 เมษายน 2554 23:00:46 น.  

 

เพิ่งไปดูมาเมื่อวานค่ะ มีสงสัยอยู่บางจุด แต่ได้อ่านที่คุณnavagan อธิบายไว้ในพันทิพย์ แล้วทำให้เข้าใจมากขึ้นค่ะ
ขอบคุณค่ะ ชอบดูหนังแต่ไม่เคยวิเคราะห์หนังได้อย่างนี้เลยค่ะ

ส่วนตัวชอบตอนจบแแบบนี้ค่ะ รู้สึกว่ามีความหวังอยู่ ว่าพระเอกจะมีชีวิตที่ดี

 

โดย: คนชอบดูหนัง IP: 61.90.112.120 24 เมษายน 2554 11:37:06 น.  

 

มาอธิบายเพิ่มเติมนะครับ เพราะหลายคนอาจสงสัยว่า


"ทำไมผมจึงใช้ทฤษฎีที่แตกต่าง จากที่หนังพยายามอธิบายไว้"


(ผมใช้สัมพัทธภาพ หนังน่าจะใช้ Quantum Mechanics เพราะเหมือนเคยได้ยินว่า ผู้เขียนบทได้ไอเดียมาจากทฤษฎีนี้ ใครมั่นใจยืนยันด้วยครับ )



สาเหตุเพราะการที่หนังไม่ได้สร้างเหตุผลและตรรกะที่รัดกุม จึงเปิดโอกาสให้ผมได้หยิบจับอีกทฤษฎีที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นไปได้มาอธิบาย



จริงๆแล้วเราอาจตีความหนังโดยใช้ ทฤษฎี Quantum Mechanic ที่ว่าด้วย Many-worlds interpretation ก็ได้ครับ

ซึ่งเราจะแยกได้เป็น 2 สมมติฐานที่เป็นไปได้ คือ



1. Source Code เป็นเครื่องสร้างมิติคู่ขนานขึ้นมาใหม่


โลกในมิติคู่ขนานนั้นถูกสร้างโดย Source Code ดังนั้นทุกอย่างที่เกิดหลังจากจุดเริ่มต้น (8 นาทีก่อนวินาศกรรม จุดที่ Colter โผล่เข้าไปในรถไฟ) ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆย่อมสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะนี่คือมิติใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นมา



2. Source Code ไม่ได้สร้างมิติคู่ขนาน แต่เป็นการ "เปิดประตูเชื่อม" ระหว่างมิติคู่ขนาน


ซึ่งการเข้าไปใน Source Code ของ Colter คือการเข้าสู่โลกคู่ขนานที่มีความคล้ายคลึงกันมากกับโลกที่วินาศกรรมเกิดขึ้นแล้ว (โลกหลักในหนัง)

สาเหตุที่ต้องเป็นโลกที่คล้ายกันมากเพราะ โลกคู่ขนานบางโลกอาจไม่มีตัวเราด้วยซ้ำ เพราะต้นตระกูลของเราอาจตายไปตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว


ลองคิดถึงแผนภาพต้นไม้ความน่าจะเป็นสิครับ แล้วคิดว่าทุกโอกาสที่เป็นไปได้ จะสามารถสร้างให้เกิดโลกคู่ขนานขึ้นมาอีกโลก เราจะพบว่าโลกคู่ขนานมีเยอะจนนับไม่ถ้วน

ดังนั้นเราต้องเลือกเชื่อมกับแขนงใกล้ๆ เพราะเหตุการณ์มีความใกล้เคียงกับโลกหลักในหนังมากที่สุด


(ถ้าทุกอย่างในโลกคู่ขนาน ไม่ต่างกันเลย ก็ไม่มีความหมายครับ เพราะมันก็เหมือนโลกในกระจกนั่นเอง เหมือนเราทุกอย่าง ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง)





ส่วนตัวคิดว่าทฤษฎีนี้มึความเป็นไปได้ยาก และหนังไม่สามารถทำให้ผมเชื่อได้ว่า Source Code สามารถทำให้เกิด 2 สมมติฐานนี้ได้ ผมจึงเลือกอธิบายว่า "นี่เป็นโลกที่เกิดขึ้นในวาบสุดท้ายของสมองของ Colter ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต" ครับ

 

โดย: navagan 25 เมษายน 2554 0:42:17 น.  

 

แวะมาเยี่ยมชมครับ

 

โดย: LoveOnly 27 เมษายน 2554 14:29:03 น.  

 

ได้ดูหนังจบเมื่อวาน วันนี้มาลองค้นจากในเน๊ตดูเพื่อหาคนที่เคยวิจารณ์หนังเรื่องนี้ถึงเข้ามาเจอ ขอบคุณครับที่ให้ความรู้
ผมอยากถาม จขบ หน่อยครับว่าไอ้ทฤษฎีที่ว่าด้วยสมองจะจดจำรายระเอียดของ8นาทีสุดท้ายก่อนคนจะตายมันมีอยู่จริงไหมครับ และสนามแม่เหล็กไฟฟ้าของสมองที่หลงเหลืออยู่ในช่วงสั้นๆหลังคนตายไปแล้วมีจริงไหมครับ ถ้าผมต้องการข้อมูลหรือทฤษฎีที่จะนำมาใช้อธิบายประกฏการณ์นี้ต้องหาจากไหน ช่วยบอกทีครับ ขอบคุณล่วงหน้าครับ

 

โดย: วาโย IP: 125.24.121.154 24 มิถุนายน 2554 11:20:45 น.  

 

ผมสงสัยว่า เครื่องที่ว่านั้นมันแค่โปรแกรมๆหนึ่งที่รันจาก8นาทีของความทรงจำของครูคนนั้น แล้วมันจะเป็นอีกมิติได้อย่างไร
อีกคำถามที่ค้างหัวก็คือ จะนำเอากระบวนการคิดหรือพฤติกรรมของตัวลรครอื่นที่ไม่ใช่ครูคนนั้น มาแสดงออกในซอร์สโค๊ดได้อย่างไรว่าเขาจะตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างๆแบบไหน คุณสามารถโปรแกรมความนิกคิดของตัวละครอื่นๆได้แม่นยำขนาดนั้นเลยหรือ ถึงแม้จะยกทฤษฎีอะไรมาก็เข้าไปไม่ถึงสิ่งเหล่านี้หรอกครับ เพราะความเป็นปัจเจกบุคคลนั้นเข้าถึงไม่ได้หรอก ไหนบอกว่าตายหมดที่เหลือความทรงจำ(ชิ้นส่วนสมองที่พอใช้ได้)ก็แค่ของครูคนนั้นเท่านั้น แล้วครูคนนั้นจะรุ้จักคนทั้งหมดบนรถไฟนั้นเลยหรือไง ยังไงก้อมั่วครับ อันนี้แหละที่ในหนังไม่ได้บอกและมองข้ามไป ว่าเจ้าเครื่องนี้ทำงานยังไง ยกแค่ทฤษฎีมาเท่านั้นเอง

 

โดย: boy IP: 180.183.170.182 17 สิงหาคม 2554 15:23:31 น.  

 

ผมพึ่งมีโอกาสดูหนังเรื่องนี้ ตอนจบ แต่ผมยังไม่จบ มีข้อสงสัยหลายอย่าง แต่เมื่อเจอกระทู้ในพันทิฟ และตามมาจนเจอกระทู้นี้ ผมเข้าใจแล้วครับ คุณ navagan คุณวิเคราะห์หนังได้ดีมากครับ ส่วนใครที่ยังมีข้อสงสัยต่างๆนานา รบกวนดูอีกรอบน่ะครับ แล้วเก็บลายละเอียดให้ดีก่อนว่าหนังต้องการจะสื่ออะไรกับคนดู...ส่วนตัวแล้วผมคิดเหมือนคุณ navagan ครับ!!!

 

โดย: Cevansnal IP: 58.11.51.245 6 ตุลาคม 2555 0:40:21 น.  

 

วิจารสะหมดอารม

 

โดย: แมค IP: 114.109.173.240 23 กุมภาพันธ์ 2559 22:45:36 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


navagan
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 73 คน [?]




นวกานต์ ราชานาค
Navagan Rachanark


สนใจใน ภาพยนตร์, การวิเคราะห์-วิจารณ์ ภาพยนตร์,ดนตรี, งานเขียน และ ศิลปะอื่นๆ

สร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ทดลอง และ งานดนตรีทดลอง และ งานเขียน


ปัจจุบันทำงานด้านการตลาด การวิจัยและพัฒนายางสังเคราะห์และยางธรรมชาติ

เริ่มจัดเก็บข้อมูลสถิติการเข้าชม

Time 09:00 Date 31/01/2010

by Histats.com

blogger web statistics

ถูกใจบทความ หรืออยากสนับสนุนเจ้าของ Blog

ก็ช่วย click ที่ Link โฆษณาครับ

ขอบคุณครับ

Friends' blogs
[Add navagan's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.