All the girls standing in the line for the bathroom !!!

*** หมายเหตุ : สงวนลิขสิทธิ์ บทความและผลงาน ใน Blog นี้ครับ ***
Group Blog
 
<<
กันยายน 2557
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
20 กันยายน 2557
 
All Blogs
 

*** Boyhood *** มหัศจรรย์ธรรมดา

*** Boyhood ***






Boyhood เล่าเรื่องราวชีวิตตั้งแต่ 6 ขวบจนถึง 18 ปี ของ Mason (Ellar Coltrane) เด็กชายชนชั้นกลางชาว Texas

ซึ่งเรื่องราวในแต่ละปีไม่ได้เกี่ยวเนื่องเชื่อมต่อกันมากนัก มันเป็นเพียงแค่ชุดเหตุการณ์ที่ถูกหยิบยกมาเล่าในแต่ละปี คล้ายเป็น Moment ประจำปีนั้นๆของ Mason เมื่อเขาระลึกถึงมัน



โดยไม่ได้ตั้งใจ มันเป็นเหมือน “บันทึกเหตุการณ์แบบสุ่ม” ในช่วงปี 2002 ถึง 2014 เพราะในแต่ละปีของ Mason ย่อมต้องได้รับผลกระทบจากเรื่องราวต่างๆที่ส่งอิทธิพลต่อผู้คนในช่วงปีนั้นๆ แม้ว่าคุณจะไม่ได้ชอบหรือไม่ได้สนใจมันก็ตาม (ทั้ง Harry Potter, Lady Gaga, Coldplay, Obama, สงครามอิรัก, IPhone ฯลฯ)



ที่จริงแล้ว Boyhood ต้องถูกจัดว่าเป็น "ภาพยนตร์ทดลอง" อย่างแท้จริง โดยเฉพาะในส่วนของวิธีการทำงานของผู้กำกับ Richard Linklater ที่เลือกถ่ายทำปีละครั้งโดยใช้นักแสดงชุดเดิม คิดบทใหม่ในทุกๆปี ถ่ายทำจนกระทั่ง Mason พ้นสภาพ Boyhood (อายุ 18 ปี) หนังก็จบลง







มีอยู่ 3 ตอนในหนัง ที่อธิบายถึงหนังเรื่องนี้ได้ดีก็คือ



1. ฉากในวัยเด็กเมื่อ Mason ถามพ่อ (Ethan Hawke) ว่า “ความมหัศจรรย์ (Magic) มีจริงไหม เวทย์มนต์ มีจริงในโลกไหม ?”


ซึ่งคำตอบของพ่อก็คือ

“ในทางเทคนิคแล้ว สิ่งเหล่านี้ ไม่มีจริง แต่ถ้าลองนึกถึงสัตว์ใต้ทะเลที่หัวใจใหญ่เท่ารถ เส้นเลือดใหญ่ขนาดคลานเข้าไปได้ (ปลาวาฬ) แบบนี้เรียกว่ามหัศจรรย์ได้ไหม”



ผู้ชมมักคาดหวังถึงสิ่งมหัศจรรย์ สิ่งพิเศษที่เหนือธรรมดา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถูกเล่าผ่านเรื่องเล่าที่เติมแต่งไปด้วยจินตนาการทั้งหลาย ซึ่งภาพยนตร์ก็ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการเล่าเรื่อง



แต่ Linklater กำลังบอกกับผู้ชมผ่านตัวละครว่า มันไม่จำเป็นต้องเล่าเรื่องราวมหัศจรรย์ พิศดาร จินตนาการล้ำลึก

แค่การเล่าเรื่องธรรมดาอย่าง “การเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่” อย่างสมจริงแบบที่ Boyhood กำลังจะเล่าให้ฟัง นี่ก็ถือเป็นเรื่องราวที่มหัศจรรย์ไม่แพ้กัน







2. ฉากที่ Mason เก็บของเพื่อเตรียมตัวย้ายไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย จากนั้นแม่ (Patricia Arquette) ก็ร้องไห้ออกมา



สาเหตุหนึ่งอาจเข้าใจได้ว่าน้อยใจที่ Mason ดีใจที่จะได้ย้ายไปใช้ชีวิตอิสระในมหาวิทยาลัย

แต่เหตุผลลึกๆคือ เธอรู้สึกเคว้งคว้าง สิ่งที่เธอไขว่คว้ามากมายเพื่ออะไร สุดท้ายก็วนเวียนไปตามวงจรชีวิต เลี้ยงลูก-ย้ายบ้าน-เรียนจบ-ทำงาน-หย่า จากนั้นก็รอวันตาย


นี่แสดงให้เห็นว่าเธอยังไม่เห็นถึงความมหัศจรรย์ และความพิเศษของการใช้ชีวิต เธอยังไขว่คว้าหา "สิ่งมหัศจรรย์" อยู่เสมอ



จากนั้น Mason ก็ปลอบแม่ว่า "แม่ข้ามขั้นไปหรือเปล่า มันมีอะไรอย่างอื่นอยู่อีกมากมายที่ไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายคือรอวันตาย"



เป้าหมายในชีวิตอาจไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด แต่การใช้ชีวิตคือสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ควรถูกมองข้าม



หรือ Linklater จะบอกผู้ชมเป็นนัยว่า ชีวิตจริงๆมันก็เป็นไปตามรูปแบบนี้ ซึ่งถือเป็นธรรมดา ดังนั้นหนังที่ตั้งใจเล่าเรื่องราวชีวิตจริงแบบนี้ ผู้ชมก็อย่าคาดหวังเป้าหมายหรือประเด็นอันยิ่งใหญ่อะไรมากกว่าที่เป็นเลย







3. ฉากสุดท้ายของหนังที่ Mason เดินไปเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ เขาคุยกับเพื่อนใหม่ว่า



"เราไม่ได้ไขว่คว้าช่วงเวลาเอาไว้

ช่วงเวลาต่างหากที่ไขว่คว้าเราเอาไว้

เพราะตลอดเวลาเราต่างก็อยู่ในช่วงเวลาปัจจุบัน"



นี่เป็นมุมมองที่เรียบง่าย และเป็นจริงหากพิจารณาว่าเราต่างก็ตกอยู่ใต้อิทธิพลของเวลา



เราไม่เคยไขว่คว้าช่วงเวลาใดๆได้เลย เพราะเราเคลื่อนที่ผ่านเวลามาตลอด

และทุกครั้งที่เรารู้สึกตัวก็คือช่วงเวลาปัจจุบัน
เราไม่สามารถย้อนเวลากลับไปหรือเดินทางไปในอนาคตได้

ช่วงเวลาที่ผ่านไปแล้วต่างหากที่คว้าตัวเราเอาไว้
เพราะเมื่อเราย้อนนึกไปถึงช่งเวลาเหล่านั้น เรากลับไปหามันไม่ได้
เนื่องจากเวลาได้ยึดมันไว้ในอดีตเสียแล้ว



ประเด็นนี้ยังอธิบายถึงการทำหนังเรื่องนี้ด้วย นั่นก็คือ Linklater ไม่ได้หยิบเอาช่วงเวลาที่น่าประทับใจมาเล่าใหม่ แต่ทุกฉากที่เขาถ่ายทำต่างก็เป็นเวลาจริง มันเป็นปัจจุบันของตัวมันเอง

หนังถ่ายทุกปีตามเวลาจริง ไม่ได้ถ่ายปีเดียวเพื่อเล่าย้อนกลับไปในอดีตเหมือนหนังส่วนใหญ่ ดังนั้นทุกเวลาของการถ่ายทำ คือเวลาปัจจุบันของตัวมันเองอย่างแท้จริง







นอกจากนี้ ลักษณะของ 3 ตัวละครหลัก อย่าง Mason, แม่ และพ่อ ต่างก็สะท้อนมุมมองที่แตกต่างกัน



1. พ่อผู้มองเห็นความพิเศษ ความมหัศจรรย์ในเรื่องราวธรรมดาๆ ความใฝ่ฝันคือการเป็นนักดนตรีอาชีพ แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นนักดนตรีอาชีพ เขาก็มีความสุขกับการเล่นดนตรี ฟังดนตรีได้



2. แม่ผู้ใขว่คว้าความมหัศจรรย์ของชีวิต เธอได้บางสิ่งตามที่คาดหวัง และสูญเสียบางสิ่งไปเช่นกัน ไม่มีอะไรยั่งยืน

เธอมีเป้าหมายคือความเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ (มีพ่อ แม่ ลูก)


แต่อย่างที่ Mason บอกแม่ในฉากหนึ่งหลังแม่เลิกกับสามีคนที่สองว่า “ตอนนี้เราก็เป็นครอบครัวอยู่แล้ว”

ไม่จำเป็นต้องมีพ่อ แต่ก็เป็นครอบครัวได้ การมี พ่อ-แม่-ลูก ไม่ได้หมายความว่าเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์



3. ลูก (Mason) ที่เข้าใจว่าท้ายที่สุดแล้วชีวิตคนเราก็ไม่ได้มีอะไรมากมาย เราไม่ได้ไขว่คว้าช่วงเวลาเหล่านั้นไว้ เวลาต่างหากที่ไขว่คว้าตัวเราไว้







ในหนัง Mason เป็นช่างภาพที่มีมุมมองที่โดดเด่น เราจะเห็นว่า เขาถ่ายภาพเหตุการณ์ธรรมดา วัตถุธรรมดาอันเรียบง่าย แต่เลือกมุมมองที่แตกต่างมาเล่าเรื่องราว
(เขาไปถ่ายภาพการแข่งขัน American Football แต่เขาเลือกที่จะเก็บภาพจากข้างสนาม อากัปกริยาของผู้คนมากกว่า Highlight ของงานอย่างการแข่งขัน)


เช่นกัน Linklater ทำตัวเป็นช่างภาพ ที่ใช้วัตถุดิบจริง เวลาจริง เหมือนการถ่ายภาพของจริง เพียงแต่เลือกมุมมองในการนำเสนอที่แตกต่างแต่สมจริงเพื่อใช้ในการเล่าเรื่อง





Boyhood ตั้งคำถามว่าภาพยนตร์คืออะไร ถ้ามันคือการเล่าเรื่องด้วยภาพ แล้วเรื่องอะไรที่สมควรถูกบอกเล่า



คิดว่าโจทย์ที่ Linklater ตั้งไว้คือ “จะไม่ตั้งโจทย์ให้กับหนังว่าต้องการนำเสนออะไร แค่เริ่มต้นมันแล้วปล่อยให้มันเติบโตไปตามยถากรรม พร้อมกับการเติบโตของตัวละคร”


ดังนั้นไม่ใช่แค่ Linklater เท่านั้นที่จะเป็นผู้เขียนบทและกำกับหนังเรื่องนี้ กาลเวลาที่ผ่านไป สภาพสังคมในแต่ละยุคสมัย รวมถึงความเปลี่ยนแปลงของนักแสดงคือสิ่งที่มีอิทธิพลกับหนังราวกับเป็นผู้กำกับร่วม



Boyhood เหมือนเป็นหนังที่มีชีวิตเป็นของตัวเอง มันโตขึ้นผ่านกาลเวลา






เรื่องราวธรรมดาที่คุ้นเคย ต่างก็มีความมหัศจรรย์ในตัวมันเอง ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเห็นถึงความมหัศจรรย์เหล่านี้หรือไม่


Boyhood คือภาพยนตร์ทดลองที่ใช้กรอบแนวคิดนี้ และมันพิสูจน์ให้ผู้ชมเห็นแล้วว่า ในความธรรมดาก็มีความมหัศจรรย์ซ่อนอยู่




10 / 10 ครับ




 

Create Date : 20 กันยายน 2557
4 comments
Last Update : 21 กันยายน 2557 0:28:01 น.
Counter : 7973 Pageviews.

 

อยากไปดูอ่าาาา

 

โดย: squidyying IP: 171.96.167.72 21 กันยายน 2557 22:48:53 น.  

 

เดี๋ยวก็ออกแผ่นครับ คิดว่าอีกไม่นาน แต่ถ้าอยากดูโรง คงต้องเข้าใจกลางกรุงอย่างเดียว

 

โดย: navagan 23 กันยายน 2557 22:46:06 น.  

 

กระทู้ที่ตั้งใน pantip

//pantip.com/topic/32606174

 

โดย: navagan 23 กันยายน 2557 22:47:24 น.  

 

ดูแล้วชอบมากค่ะเป็นหนังที่สะท้อนชีวิตของคนอเมริกันในยุคนี้ได้ดี

 

โดย: คนไทยยูเอสเอ IP: 192.99.14.36 12 กุมภาพันธ์ 2559 10:22:26 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


navagan
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 73 คน [?]




นวกานต์ ราชานาค
Navagan Rachanark


สนใจใน ภาพยนตร์, การวิเคราะห์-วิจารณ์ ภาพยนตร์,ดนตรี, งานเขียน และ ศิลปะอื่นๆ

สร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ทดลอง และ งานดนตรีทดลอง และ งานเขียน


ปัจจุบันทำงานด้านการตลาด การวิจัยและพัฒนายางสังเคราะห์และยางธรรมชาติ

เริ่มจัดเก็บข้อมูลสถิติการเข้าชม

Time 09:00 Date 31/01/2010

by Histats.com

blogger web statistics

ถูกใจบทความ หรืออยากสนับสนุนเจ้าของ Blog

ก็ช่วย click ที่ Link โฆษณาครับ

ขอบคุณครับ

Friends' blogs
[Add navagan's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.