ความงดงามของธรรมชาติและการเดินทางที่ไม่มีวันหยุดน่ิง
Group Blog
 
 
ตุลาคม 2548
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
11 ตุลาคม 2548
 
All Blogs
 

มหัศจรรย์แห่งผืนป่า

พืชกินซาก…ชีวิตลึกลับแห่งพงไพร

ในห้วงฤดูกาลที่ผันผ่านนำพาความอุดมสมบูรณ์สู่ผืนโลก หยาดน้ำจากฟ้าเพิ่มความชุ่มชื่นให้ดิน โดยมีมวลหมู่ไม้ช่วยกันกักเก็บทำหน้าที่เป็นเขื่อนอันยิ่งใหญ่ ก่อนส่งลงไปเป็นสายธารอันฉ่ำใสเพื่อสรรพชีวิตได้อาศัยดื่มกิน ล่วงเข้าสู่เวลาแห่งสายลมหนาว บนผืนดินแห้งแล้งแทบไม่เหลือความชื้น ต้นไม้ต้องปรับตัวเพื่อลดการคายน้ำ ผลิใบจากขั้ว กิ่ง ก้าน ทับถมลงบนหน้าดินเพื่อชะลอการสูญเสียน้ำในดิน เลยผ่านไปถึงช่วงแล้งในป่าผลัดใบอุณหภูมิขึ้นสูงจนน่ากลัว แต่กับป่าดิบชื้นหรือดิบเขากำลังเย็นสบายอย่างไม่น่าเชื่อ

ตลอดเวลาที่ธรรมชาติเปลี่ยนฤดูกาล สรรพชีวิตก็ได้เริ่มต้นสายธารแห่งเผ่าพันธุ์เช่นกัน ซึ่งแต่ละชนิดต่างเลือกห้วงเวลาเฉพาะเท่านั้น สำหรับการดำรงอยู่อย่างเสรี ลองไปติดตามความเคลื่อนไหวของพรรณไม้สักกลุ่มดีกว่านะครับ ว่าพวกมันมีความเป็นอยู่อย่างไร เราจึงเรียกว่า พืชกินซาก



เมื่อพืชไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้
ในบรรดาพืชดอกไม่น้อยกว่า 2 แสนชนิด มีพรรณไม้อยู่กลุ่มหนึ่งซึ่งน่าสนใจยิ่งนัก เนื่องจากพวกมันไม่มีใบและไม่สามารถผลิตอาหารสำหรับเลี้ยงตัวเองได้ แต่ใช้วิธีการดูดอาหารจากพืชชนิดอื่นๆ ซึ่งถือเป็นการดำรงชีวิตขั้นสูงสุดก็ว่าได้
โดยปกติเราแบ่งพืชออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มพืชที่สร้างอาหารได้เอง (Autotrophic plant) กลุ่มพืชเบียนหรือพืชกาฝาก (Parasitic plant) และกลุ่มพืชกินซาก (Mycotrophic plant) ซึ่งผมจะพาไปทำความรู้จักกับกลุ่มหลังกันก่อน จะได้ทราบว่าเมื่อพืชไม่มีใบ ไม่มีสารสีเขียวสำหรับสังเคราะห์แสง ไม่เบียดเบียนพืชชนิดอื่นแล้วพวกมันเจริญเติบโตได้อย่างไร

พรรณไม้ในกลุ่มมายโคโทรฟิค (Mycotrophic) หรือกลุ่มพรรณไม้กินซาก มีลักษณะเฉพาะของกลุ่มคือ ไม่มีสารสีเขียวหรือคลอโรฟีลล์สำหรับช่วยในการสังเคราะห์แสงอยู่เลย และใบก็ลดรูปลงมาเหลือเป็นเพียงเกล็ดเล็กๆ บนก้านและตามลำต้น หรือบางชนิดอาจไม่ปรากฏให้เห็นเลย ทำให้พวกมันไม่สามารถผลิตอาหารได้เอง แต่อาศัยดูดซึมสารอาหารจากการที่ราปล่อยน้ำย่อย (Enzyme) ซึ่งเป็นสารโปรตีนออกมาจากเซลล์ เพื่อกระตุ้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีกับอาหารที่มันจะทำการดูดซึม และในเวลาเดียวกันนี้เองที่พืชจะร่วมหัวจมท้ายกับราในทันที คือมันจะดูดอาหารดังกล่าวเข้ามาในตัวมันด้วย เรียกว่าขอกินด้วย แต่ไม่ถึงกับเบียดเบียน อาจกล่าวได้ว่าพรรณไม้ไร้คลอโรฟีลล์เหล่านี้จะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้หากปราศจากราคู่ชีวิต

สำหรับ Saprophytic plant เป็นคำที่เราใช้หมายความถึงพืชกินซากนั้น เป็นการดำรงชีวิตที่พืชหรือราสามารถปล่อยสารออกมาย่อยอาหารได้เองและนำกลับไปใช้เอง โดยไม่พึ่งพาหรืออาศัยผู้อื่นผลิตให้ และขอร่วมรับประโยชน์อย่างพวก Mycotrophic plant สำหรับการมีชีวิตแบบ Saprophytic plant ส่วนใหญ่เป็นพวกรา ขนาดใหญ่หรือเห็ด มากกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
ที่สำคัญการได้มีโอกาสเจอกับพืชในกลุ่มนี้นับเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง เนื่องจากแต่ละชนิดมีช่วงเวลาที่โผล่ขึ้นเหนือผิวดินเพียงไม่กี่วันในรอบปี โดยส่วนใหญ่มักอยู่ในป่าลึกหรือไม่ก็เป็นป่าที่ถูกรบกวนน้อย และช่วงเวลาที่จะพบมันได้ส่วนใหญ่มักเป็นช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นเวลาที่ไม่ค่อยมีใครอยากเข้าป่านัก เนื่องจากความลำบากของสภาพต่างๆ ทั้งเรื่องของฝนที่ทำให้ต้องเปียกอยู่ตลอดวัน สัตว์ดูดเลือดที่ขึ้นมาหากินบนพื้นดินอย่างทาก หรือแมลงมีพิษก็ไม่น้อย ดังนั้นเรื่องราวของพืชในกลุ่มนี้จึงเป็นสิ่งลึกลับมาเนิ่นนาน

การค่อยๆ เก็บภาพรวบรวมให้ได้เป็นกลุ่มก็ถือเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายเช่นกัน หลายปีมานี้ผมพยามยามเหลือเกินที่จะได้เจอกับพวกเขาในธรรมชาติ และบางครั้งเพื่อนพ้องที่สนิทสนมก็นำภาพมาให้ชมก็รู้สึกดียิ่งนัก เพราะแต่ละชนิดที่ได้เห็นจากภาพถ่าย โอกาสเจอด้วยตัวเองเป็นไปได้ยากมาก
หลายครั้งที่เราพบสิ่งที่ควรค่าแก่การเรียนรู้แต่มองข้ามไป เพียงเพราะไม่รู้จักว่ามันคืออะไรเท่านั้นเอง แต่พอมารู้จักก็มักสายไปเสียแล้ว ดังนั้นลองมาทำความรู้จักกับพืชในกลุ่มนี้กันสักหน่อยดีกว่าครับ เผื่อโอกาสหน้าเจอตัวจริงในธรรมชาติจะได้เก็บภาพมาฝากกันบ้าง



พิศวง...ชีวิตลึกลับในราวไพร
หลายฤดูฝนที่ผ่านมาผมมีโอกาสเดินทางไปสัมผัสกับสังคมป่าประเภทต่างๆ ของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ได้พบกับความอุดมสมบูรณ์ของน้ำ ได้เห็นความเขียวขจีของป่า ได้พบกับสิ่งงดงามที่มีให้เห็นเฉพาะช่วงเวลาแห่งความชุ่มฉ่ำมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า พืชกินซาก โดยมิได้หมายรวมเฉพาะวงศ์หรือสกุลใด แต่ครอบคลุมพรรณไม้ไว้อย่างกว้างขวาง อาทิ บางชนิดในวงศ์กล้วยไม้ (Orchidaeceae) วงศ์หญ้าข้าวก่ำ (Family Burmaniaceae) วงศ์พิศวง (Family Thismiaceae) และวงศ์ Triuridaceae เป็นต้น

สำหรับพรรณพฤกษชาติที่น่าสนใจและหายาก ซึ่งกำลังจะกล่าวถึงนั้นก็เป็นพวกเดียวกับที่ได้กล่าวมา และมีโอกาสพบได้เฉพาะช่วงฝนเท่านั้น มีชื่อที่เรารู้จักในภาษาไทยก็คือ พิศวง ทางวิชาการจัดให้อยู่ในสกุล Thismia เป็นพืชมีดอกในกลุ่ม พืชใบเลี้ยงเดี่ยว อดีตเคยถูกจัดไว้ในวงศ์หญ้าข้าวก่ำ (Family Burmaniaceae) ทว่าปัจจุบันแยกออกมาเป็นวงศ์พิศวง (Family Thismiaceae) ซึ่งทุกชนิดในวงศ์นี้เป็นพืชกินซากขนาดเล็ก พืชในวงศ์นี้ทั่วโลกมีอยู่ 10 สกุล ราว 25 ชนิด โดยส่วนใหญ่พบเฉพาะป่าฝนเขตร้อน ยกเว้นทวีปแอฟริกาและยุโรปที่ยังไม่มีรายงานการค้นพบ
สำหรับประเทศไทยพบ 1 สกุล จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ Thismia javanica (J.J. Smith) กับ Thismia mirabilis (K. Larsen) ชนิดนี้ค่อนข้างพบได้ยากกว่า เพราะมันเป็นพืชเฉพาะถิ่นของบ้านเรา และล่าสุดคุณสมศักดิ์ ล่ำพงษ์พันธ์ หัวหน้ากองบรรณาธิการนิตยสารแค้มปิ้ง ท่องเที่ยว ได้นำภาพถ่ายอันเลอค่าของพิศวง ลักษณะแปลกตามาให้ดู และถัดจากนั้นอีกปีผมจึงได้ไปเห็นของจริงที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถจำแนกชนิดได้อย่างชัดเจน ซึ่งในอนาคตเมื่อมีข่าวคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบกันอีกครั้ง

จากที่เห็นทำให้เราทราบว่าพืชในสกุลพิศวง มีขนาดเล็ก ฉ่ำน้ำ มีลำต้นทอดเลื้อยอยู่ใต้ผิวดิน ลำต้นที่แทงขึ้นมาเหนือพื้นดินส่วนใหญ่มักไม่แตกกิ่ง ใบลดรูปลงเหลือเป็นเพียงเกล็ดเล็กๆ กลีบดอกเชื่อมติดกัน หลอดกลีบดอกมี 6 พู แบ่งออกเป็น 2 ชั้น มีรูเปิด 3 รู เกสรตัวผู้มี 3 อัน ไม่ติดกันหรืออาจรวมกันเป็นหลอดเกสรตัวผู้ติดกับโคนหลอดกลีบดอก ผลเป็นแบบมีเนื้อ มีโคนของหลอด กลีบดอกเป็นวงมีก้าน และ ยอดเกสรตัวเมียติดอยู่ ชนิดแรกผมได้มีโอกาสพบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดมเมื่อหลายปีที่แล้ว และอีกหลายครั้งในพื้นที่ต่างกันของประเทศ มีชื่อเรียกตามหนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทยว่า พิศวงรยางค์ Thismia javanica (J.J. Smith) ดอกสีส้มอ่อน มีเส้นลายสีแดงพาดตามยาวโดยรอบ มีลักษณะงดงามแปลกตายิ่ง ซึ่งชนิดนี้เป็นพันธุ์ไม้ต้นแบบ พบครั้งแรกบนเกาะชวา อินโดนีเซีย

สำหรับในประเทศไทยมีรายงานการพบอยู่หลายพื้นที่ตั้งแต่ใต้สุดจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา–บาลา อุทยานฯ เขาสก เขตรักษาพันธุ์ฯ คลองนาคา อุทยานฯ ไทรโยค อุทยานฯ เขาใหญ่ และผมได้พบอีกหลายแหล่ง คือ อุทยานฯ ปางสีดา อุทยานฯ ศรีพังงา อุทยานฯ ภูจอง–นายอย เขตรักษาพันธุ์ฯ ยอดโดม
ส่วนพิศวงชนิด Thismia mirabilis (K. Larsen) เป็นพันธุ์ไม้เฉพาะถิ่นของประเทศไทย พบได้ค่อนข้างยากกว่าชนิดแรก และมีลักษณะแปลกกว่าดอกไม้ทั่วไป ดอกมีสีดำแกมฟ้า รูปร่างคล้ายคนโท พบขึ้นอยู่ริมลำธารที่มีธาตุอาหารค่อนข้างสมบูรณ์ สำหรับชื่อของชนิดนี้ในภาษลาติน mirabilis แปลออกมาได้ว่า มหัศจรรย์ ซึ่งก็น่าจะเป็นความจริงดั่งชื่อ ซึ่งมีรายงานการพบครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2506 ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ใช้เป็นพันธุ์ไม้ต้นแบบในการอธิบายลักษณะและตั้งชื่อพฤกษศาสตร์ของพืชชนิดนี้ โดยพิศวงสีดำชนิดนี้มีรายงานการพบ 2 ที่เท่านั้น คืออุทยานฯ เขาใหญ่ และบนเกาะช้าง จ. ตราด

ในการเจอพวกเขาครั้งล่าสุดมันทำให้ผมต้องพิศวงก็คือจำนวนอันมากมายของช่อดอก ที่พร้อมใจกันแทงขึ้นมาเหนือพื้นดินจนละลานตา และจากการสังเกตพบว่าพิศวงจากทางภาคใต้ จะแทงช่อขึ้นมาให้เห็นก่อนทางเหนือของประเทศ หากอยากเห็นของจริงในป่า พวกมันจะมีให้เห็นตั้งแต่ประมาณเดือนพฤษภาคมจนถึงปลายเดือนมิถุนายน



กล้วยไม้กินซาก…เอื้องแฝง
กลางฤดูฝนปี 2543 บนป่าดิบเขาของดอยอินทนนท์ ผมกำลังเดินเท้าขึ้นสู่ยอดดอยหัวเสือ แลนด์มาร์คของจุดชมวิวดอยอินทนนท์ ริมทางเดินเห็นก้านช่อดอกขนาดใหญ่ซึ่งกำลังติดฝักของกล้วยไม้ชนิดหนึ่ง มองหาใบที่โคนต้นก็ไม่มี ตอนนั้นผมยังไม่แน่ใจนักว่ามันเป็นกล้วยไม้ในกลุ่มใดกันแน่ ถัดมาอีกปีผมจึงเดินทางไปอีกครั้งในช่วงเวลาที่เร็วกว่าเดิม และคราวนี้ก็สมใจเพราะพบดอกกำลังบานสะพรั่งอยู่พอดี ช่อดอกแทงขึ้นเหนือดินราว 1.20 เมตร ดอกมีไม่แน่นนัก ขนาดใหญ่พอสมควร กลีบปากอยู่ด้านล่าง มีแถบสีม่วงอยู่บนกลีบดอก กลีบเลี้ยงอิสระ กลีบปากไม่มีเดือย เป็นลักษณะทางกายภาพที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน

ผมถ่ายภาพดอกเดี่ยวด้วยเลนส์ 100 มม. มาโคร และถ่ายแหล่งอาศัยด้วยเลนส์ 20 – 35 มม. พร้อมใช้แฟลชยิงจากบนฮอทชู ท่ามกลางสายฝนที่ตกลงมาไม่ขาดเม็ด ยังดีที่มีถุงดำพอกันน้ำฝนได้บ้าง ผมเก็บภาพมาหลายแบบหลายมุม จนแน่ใจว่าสามารถนำมาจำแนกชนิดได้เพราะยังมีชนิดใกล้เคียงกันด้วย เก็บของใส่กระเป๋าเสร็จจึงออกเดินทางกันต่อเพื่อไปยอดดอยหัวเสือ

สำหรับชนิดที่ผมเก็บภาพได้จากดอยหัวเสือนี้ เรียกกันว่า เอื้องแฝง (Aphyllorchis cauadata) Rolfe ex Downie เป็นหนึ่งในกล้วยไม้กินซากขนาดใหญ่ มีรายงานการพบตามพื้นป่าดิบชื้นทางภาคเหนือ ได้รับการค้นพบครั้งแรกที่ดอยสุเทพ โดย Dr.Kerr นักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษซึ่งเข้ามาสำรวจพรรณไม้ในช่วงปี พ.ศ.2445 – 2475

ในช่วงปลายร้อน 2546 ในผืนป่าทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ขณะกำลังเดินไปถ่ายภาพน้ำตกผาเขียว ซึ่งซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ ก่อนถึงตัวน้ำตกราว 500 เมตร ผมก็ต้องหยุดกะทันหันเพราะริมทางเดินมีช่อดอกของกล้วยไม้ กำลังแทงช่อบานอยู่อย่างงดงาม เพียงได้สบตาผมก็บอกได้ถึงความพิเศษของมัน เพราะตรงโคนต้นไม่มีใบให้เห็นเลย ซึ่งแน่นอนว่ามันก็เป็นหนึ่งในกลุ่มของกล้วยไม้กินซาก เอื้องแฝงภู (Aphyllorchis montana) Rchb.f. เป็นชื่อชนิดซึ่งผมกำลังเก็บภาพอยู่ตรงหน้า

ถัดมาในเดือนพฤษภาคม 2547 ขณะที่ผมกำลังเดินเท้าเพื่อเริ่มการสำรวจเส้นทางเดินป่าไปยังยอด 1,550 เมตร ซึ่งเป็นหนึ่งในเทือกเขาหลวงอันยิ่งใหญ่แห่งนครศรีธรรมราช ขณะที่พวกเรากำลังไต่เนินชันอยู่นั้นผมก็ต้องหยุดอย่างกะทันหัน เพราะสิ่งที่อยู่ตรงหน้าคือกลุ่มกล้วยไม้ที่ผมแทบไม่ต้องเดาว่าต้องเป็นหนึ่งในกลุ่มกินซากแน่นอน ที่สำคัญชนิดนี้ผมไม่เคยเจอมาก่อน แต่พอเข้าไปใกล้ๆ ก็แทบหมดหวังเพราะดอกโรยหมดแล้ว นั่นหมายความว่าเราต้องมาเร็วกว่านี้ไม่ต่ำกว่า 3 วัน ผมเก็บภาพเอาไว้เป็นหลักฐานพร้อมทั้งภาวนาในใจให้เจอกับต้นที่ดอกกำลังบาน

ผ่านไปราว 4 คืน กลางผืนป่าใหญ่ผมก็ไม่พบพวกเค้าอีกเลย ระหว่างทางเดินกลับซึ่งไต่ลงมาจากยอดสูงสุด คำภาวนาก็สัมฤทธิ์ผลเมื่อผมเห็นกล้วยไม้ขนาดเล็กชนิดกำลังผลิบานอยู่ 2 ดอก จัดแจงวางอุปกรณ์และเป้หลังที่หนักอึ้ง เพื่อบันทึกเก็บภาพดอกกล้วยไม้ชนิดนี้เอาไว้ให้ละเอียดที่สุดเพื่อจำแนกชนิด และเมื่อฟิล์มผ่านกระบวนการล้างเรียบร้อย จึงได้รู้ว่ามันคือ Aphyllorchis pallida Bl. ซึ่งขอเรียกชื่อภาษาไทยว่า เอื้องแฝงเล็ก

สำหรับกล้วยไม้ในสกุล Aphyllorchis มีเขตกระจายพันธุ์ตั้งแต่ ศรีลังกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ปาปัวนิวกินี ออสเตรเลีย พบประมาณ 15 ชนิด ซึ่งกล้วยไม้สกุลนี้พบในประเทศไทย 4 ชนิด แต่ละชนิดล้วนเป็นกล้วยไม้หายากทั้งสิ้น



เอื้องคีรีวง
สงกรานต์ปี 2546 ผมมีโอกาสไปเดินสำรวจพรรณไม้ยังผืนป่าฮาลา จ.ยะลา ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา–บาลา ผ่านการเดินเท้ามาอย่างหนักหน่วง 1 วันเต็ม เราก็มาพักนอนอยู่กลางผืนป่าดิบชื้นอันอุดมสมบูรณ์ของภาคใต้ ลมเย็นพัดโชยแผ่วผ่านยอดไม้เป็นระลอก เสียงนกร้องปลุกให้ผมต้องลุกออกจากถุงนอนอันแสนอบอุ่น หลังจากหลับอย่างสบายมาตลอดทั้งคืน ในดงไม้ทึบซึ่งเราใช้เป็นรังนอนแสงของวันยังส่องผ่านเข้ามาได้ไม่มากนัก แต่ก็เพียงพอให้พวกเราลุกขึ้นมาช่วยกันหุงหาอาหาร สำหรับมื้อเช้าและข้าวห่อของมื้อเที่ยง

ขบวนเริ่มเคลื่อนอีกคราในขณะที่แดดเริ่มทะลุหลังคาป่าลงมา เราเริ่มต้นไต่เนินกันตั้งแต่เช้าตรู่ วันนี้ผมไม่เร่งรีบกับการเดินเท้าเนื่องจากปลายทางของวันไม่ไกลนัก พยายามสอดส่ายสายตามองหาดอกไม้ กล้วยไม้ข้างทางอยู่ตลอดเวลา ผ่านระยะทางมาพอสมควรเหงื่อไหลเปียกชุ่มโชก เราจึงมาหยุดนั่งพักกันในหุบเขาเพื่อฟื้นแรงกันอีกครั้ง

“ดอกอะไรอยู่ริมโคนไม้” บังเดะ พูดขึ้นมาเวลาเดียวกับที่ผมวางเป้เรียบร้อย พลันที่สายตามองตามมือซึ่งชี้ไปข้างหน้าของบังเดะ ดอกไม้สีขาวขนาดเล็กชูก้านโผล่ขึ้นเหนือพื้นดินไม่เกินคืบ มันทำให้ผมรีบกระโดดเข้าไปดูใกล้ๆ ทันที ซึ่งก็ไม่ผิดไปจากที่ผมคาดไว้ ว่ามันต้องเป็นกล้วยไม้หายากของเมืองไทย ที่เพิ่งมีการค้นพบเมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง ได้รับการตั้งชื่อชนิดว่า เอื้องคีรีวง เพราะค้นพบครั้งแรกในป่าดิบชื้นบนเขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่ง Dr.Gunnar Seidenfaden นักพฤกษศาสตร์ชาวเดนมาร์ก ผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์กล้วยไม้ ได้ตรวจสอบอย่างละเอียดและมีความเห็นว่า มันมีลักษณะทางสรีระแปลกไปจากกล้วยไม้ในสกุลใกล้เคียงอย่างชัดเจน คือ Didymoplexis และ Didymoplexiella เนื่องจากชนิดที่พบใหม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกแยกเป็นอิสระ จึงสมควรตั้งเป็นสกุลใหม่ และเนื่องจากยังไม่มีรายงานการพบมาก่อน จึงเป็นพืชชนิดใหม่ของโลกอีกด้วย โดยใช้ชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Didymoplexiopsis khiriwongensis Seidenf. ตามแหล่งที่พบคือ หมู่บ้านคีรีวง

สาเหตุที่มันเพิ่งถูกค้นพบเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ทั้งที่มีการสำรวจพรรณไม้มาหลายสิบปีแล้วก็ตาม เนื่องจากมันเป็นกล้วยไม้ขนาดเล็กที่เมื่อถึงเวลาจะโผล่ดอกสีขาวขนาดเล็กเหนือพื้นดินเพียงไม่กี่วันเท่านั้น (ต้นที่เจอดอกบานเพียง 1 วันก็ร่วง และจะบานอีกครั้งละ 1 ดอก) ต้องโชคดีเท่านั้นถึงจะมีโอกาสเจอ ทำให้มันกลายเป็นสิ่งลึกลับมาตลอดเวลา

ปัจจุบันมีรายงานการพบเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกหลายแห่งคือ อุทยานฯ เขาหลวง จ.นครศรีฯ , อุทยานฯ น้ำตกห้วยยาง จ.ประจวบฯ ในเขตรักษาพันธุ์ฯ ฮาลา–บาลา ที่ระดับความสูงประมาณ 1,080 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เขตรักษาพันธุ์ฯ ภูหลวงและล่าสุดเพิ่งมีรายงานมาจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่อีกด้วย



กล้วยปลวกปากม่วง
ปลายเดือนเมษายน 2546 กลับมาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลาได้เพียงอาทิตย์เดียว ผมก็ออกเดินทางอีกครั้ง เพื่อเข้าสู่ภารกิจการเดินเท้าระยะไกลเริ่มต้นจาก อ.พิปูน จนจบการเดินเท้าบริเวณ อ.พรหมคีรี แน่นอนว่าตลอดทางเราได้เจอกับพรรณไม้แปลกตามากมาย ทั้งที่เคยเจอมาจากท้องถิ่นอื่นและมีเฉพาะบนเทือกเขาหลวงเท่านั้น

ทว่าชนิดที่ทำให้ผมตื่นเต้นได้มากเป็นพิเศษ คงไม่มีอะไรเกินหน้ากล้วยไม้ที่กำลังผลิดอกอยู่ขณะนี้ เพราะชนิดนี้เป็นหนึ่งในกลุ่มกล้วยไม้กินซากที่หายาก มีหัวสะสมอาหารอยู่ใต้ผิวดิน ในหนึ่งปีมันจะโผล่ขึ้นมาเหนือผืนดินเพื่อผลิดอกออกผลเพียงไม่กี่วันเท่านั้น เราจึงไม่ค่อยมีโอกาสได้เจอพวกมัน ถึงแม้ตามหลักฐานทางวิชาการจะกล่าวว่าพบได้ในหลายประเทศ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการพบโดยบังเอิญทั้งสิ้น

ครั้งนี้ก็เช่นกันหลังจากหยุดพักทำอาหารกลางวันบริเวณริมลำห้วยเล็ก ๆ สายหนึ่ง ผมเดินออกไปนอกเส้นทางเพื่อทำภารกิจส่วนตัว ขณะกำลังเพลิดเพลินอยู่กับการชมนกชมไม้ พลันสายตาก็ไปสัมผัสกับสิ่งหนึ่งโผล่ขึ้นมาจากดินสูงราว 30 ซม. มันสะกดสายตาของเราได้อย่างชะงัก แน่นอนว่ามันเป็นชนิดที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อนแต่จำได้แม่นยำว่ามันชื่อ กล้วยปลวกปากม่วง (Stereosandra javanica Blume) ผมถ่ายภาพมาหลายมุมด้วยกัน เพื่อนำมาใช้ในการยืนยันสำหรับการจำแนกชนิดอีกครั้ง ซึ่งก็เป็นอย่างที่ผมมั่นใจตั้งแต่แรกเห็น กล้วยไม้ในสกุล Stereosandra ในประเทศไทยและแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปาปัวนิวกินี จนถึงหมู่เกาะโซโลมอน พบเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จากลักษณะของดอกขนาดเล็กและตรงส่วนปลายมีพู่เล็ก ๆ สีม่วง ทำให้มันได้ชื่อว่ากล้วยปลวกปากม่วง ส่วนสาเหตุที่มันมีสีสันงดงามอย่างที่เห็น เนื่องมาจากพวกมันอาจต้องการแมลงมาช่วยผสมเกสรให้ก็เป็นได้ แต่ยังไม่มีการศึกษารายละเอียดของกล้วยไม้ลึกลับชนิดนี้



ชีวิตลึกลับ
ในผืนป่านอกจากพรรณไม้ขนาดเล็กที่ค่อนข้างหายากแล้ว ยังมีกล้วยไม้อีกสกุลที่มีขนาดใหญ่และอยู่ในกลุ่มพืชกินซากด้วยเช่นกัน พวกมันถูกจัดให้อยู่ในสกุลGaleola ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่าเป็นกล้วยไม้ที่มีขนาดยาวสุดชนิดหนึ่งของโลก ซึ่งหากอาหารค่อนข้างอุดมสมบูรณ์มันอาจเลื้อยไต่ไปตามราวป่าได้กว่า 50 ฟุต พร้อมกับสร้างช่อดอกขนาดใหญ่บริเวณข้อตลอดเถาลำต้น ซึ่งมันผลิดอกได้ตลอดปี สำหรับในประเทศไทยมีการสำรวจพบแล้วทั้งสิ้น 4 ชนิด
ถึงแม้กล้วยไม้ในสกุลนี้จะมีขนาดใหญ่ก็ตามแต่ใช่ว่าจะเจอกันง่ายๆ เพราะส่วนใหญ่แต่ละชนิดจะอยู่ในป่าดิบอันอุดมสมบูรณ์ทั้งสิ้น และยากนักที่คนเราจะฝ่าเข้าไปได้ แต่หากเจอพวกมันอยู่ตรงไหนอีกหลายปีหากกลับไปอีกครั้งก็ยังเจอตรงแหล่งเดิม ถ้าไม่โดนทำลายไปเสียก่อน



นอกจากกล้วยไม้ขนาดใหญ่สกุลนี้แล้ว ยังมีเพื่อนพ้องที่ต้องอาศัยราคู่ชีวิตมาอยู่ด้วยอีกไม่น้อยชนิด โดยส่วนใหญ่จะหาชมได้ค่อนข้างยากทั้งสิ้น อย่างเช่น กล้วยปลวก (Epipogium roseum), Galeola nana รวมถึงกล้วยไม้อีกหลายชนิดหลายสกุล ที่ปัจจุบันนี้พวกมันถูกคุกคามอย่างหนักจากการบุกรุกที่ดิน และการทำลายล้างผืนป่าแบบไม่ให้เหลือซากของคนบางกลุ่ม ปริศนาแห่งธรรมชาติ เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นโดยที่เราไม่สามารถกำหนดได้ แต่เราสามารถเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติได้ และแน่นอนว่าพืชในกลุ่มนี้สอนให้เราได้รู้ถึงการพึ่งพาอาศัยกันอย่างไม่เอารัดเอาเปรียบ แบ่งกันกินแบ่งกันใช้อย่างลงตัว พวกมันจึงอยู่รอดดำรงเผ่าพันธุ์มาจวบปัจจุบัน

ขอขอบคุณ
หน่วยปฏิบัติการพรรณไม้แห่งประเทศไทย ภาควิชาพฤกษศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.ดร.อบฉันท์ ไทยทอง




 

Create Date : 11 ตุลาคม 2548
26 comments
Last Update : 29 ตุลาคม 2549 0:59:09 น.
Counter : 3562 Pageviews.

 

คุณ jungle man ศึกษาเรื่องพันธุ์ไม้เหรอคะ

แล้วเป็นนักเดินป่าหรือเปล่า

แหะ แหะ เข้ามาก็ถามเลย

ขอบคุณที่แวะไปทักทายนะคะ

 

โดย: Batgirl 2001 12 ตุลาคม 2548 17:21:15 น.  

 

เยี่ยมมากครับ ได้รายละเอียดดีมาก เขียนไว้เยอะๆ แล้วเสนอรวมเล่ม หรือไม่ก็ส่งประกวด "นายอินทร์อะวอร์ด" เลย

การเขียนเรื่องวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ยากๆ ให้คนอ่านได้ง่ายๆ เนี่ย ยังขาดคนเขียนอีกเยอะครับ

หัวชื่อเรื่องก็ดี "มหัศจรรย์จากผืนป่า" เอาพวกไม้ที่หาดูยาก พวกนี้แหละ
เชื่อฝีมือ

 

โดย: เสือจุ่น (เสือจุ่น ) 12 ตุลาคม 2548 18:31:11 น.  

 

-เยี่ยมเลยครับ ผมเองช่วงหลังก็ไม่ค่อยได้เดินป่า เมื่อก่อนก็เคยเจอพวก กล้วยไม้กินซากอยู่เหมือนกัน

 

โดย: surgery 15 ตุลาคม 2548 21:00:14 น.  

 

ขอบคุณที่แวะไปเยี่ยม ที่ Blog นะคะ

เรื่องดูดาว...อิอิ....สงสัยจะแก่เกินเดินป่า อ่ะ

ฝากดูด่ว แล้วถ่ายรูปมาให้ดู....อ้อ...เก็บกล้วยมาฝากด้วย

 

โดย: Batgirl 2001 15 ตุลาคม 2548 23:54:44 น.  

 

อ้าว พิมพ์ผิด จะบอกว่า...ฝากดูดาว.....น่ะค่ะ

 

โดย: Batgirl 2001 15 ตุลาคม 2548 23:56:08 น.  

 

ยอดเยี่ยมที่สุดเลยครับ blog นี้คุณภาพจริงๆ

 

โดย: น้าโหด IP: 203.113.67.8 16 ตุลาคม 2548 9:19:37 น.  

 

อีกนิดนะครับ เนื้อหาที่โพสต์ระดับนี้นำไปขายสำนักพิมพ์ได้สบายๆ แสดงให้เห็นว่าคุณ JUNGLE MAN ไม่หวงวิชาเลย ขอยกย่องจริงๆ ครับ

 

โดย: น้าโหด IP: 203.113.67.8 16 ตุลาคม 2548 9:22:29 น.  

 

หวัดดีบ่ายวันจันทร์ค่ะ

เรื่องการบริการของพนักงานตามรีสอร์ท และร้านอาหารนี่คือหัวใจเลยนะคะ

บริการไม่ดีก็ได้จากเราเพียงครั้งเดียว

 

โดย: Batgirl 2001 24 ตุลาคม 2548 12:51:40 น.  

 

ได้รับความรู้อย่างมากค่ะ ..

เรื่องที่อ่านมาหลายๆอย่างไม่รู้เลย ทั้งที่เรียนพืชสวนมา แต่อย่าง วงศ์ ต่างๆที่พูดมาเนี่ยนะคะ รู้จักวงศ์เดียวคือกล้วยไม้ ..

ไม่รู้ว่าอาจารย์ไม่สอน หรือเราลืม ..
(พูดไปก็ไม่รู้ว่า อาจารย์จะมายึดใบปริญญาคืนมั้ยเนี่ย)

 

โดย: คำหล้า (ปาปิลัน ) 27 ตุลาคม 2548 23:39:22 น.  

 

ขอบคุณทุกท่านที่มาเยี่ยมครับ
พี่เสือจุ่น กับ น้าโหดก็ว่าเกินไปนิด ผมความรู้แค่หางอึ่งนะครับ ก็อาศัยถามผู้รู้ท่านอื่นเขามาเขียนนั่นแหละครับ
คุณsurgerry ผมน่าจะเกิดทันนะครับจะได้ไปเดินด้วยคน
คุณbatgirl2001 ขอบคุณมากที่แวะมาครับ
คุณคำหล้า อย่าเพิ่งคืนอาจารย์เลยครับ เก็บไว้ก่อนดีกว่า

 

โดย: JUNGLE MAN 28 ตุลาคม 2548 2:44:48 น.  

 

หลงทางเข้ามาครับ...อิอิ เวบเนื้อหาสาระดีมากนะขอรับ
ระดับมืออาชีพเลยนะเนี่ย...ที่สำคัญคุณ JUNGLE MANมีความตั้งใจสูงนะครับ+ใจรัก..เยี่ยมๆเลยขอรับแล้วจะหลงมาบ่อยๆครับ

 

โดย: Bown66 IP: 202.41.167.246 4 พฤศจิกายน 2548 20:06:23 น.  

 

คิคิ .. กลับมาอ่านอีกแล้วค่ะ

(ขอนอกเรื่องนีสสส นึง .. คราวก่อนมาเรียกเราในกระทู้ว่า พี่ .. แต่แอบไปดูโพรไฟล์คุณจังเกิลแมนมา .. เกิดก่อนคำหล้าเกือบปีแหนะ .. เรื่องนี้ผู้หญิงลืมยากส์)

 

โดย: คำหล้า (ปาปิลัน ) 1 ธันวาคม 2548 23:17:45 น.  

 

เป็นต้นไม้ที่มหัศจรรย์มากเลยคัรบ

 

โดย: Paphmania 2 ธันวาคม 2548 14:39:09 น.  

 

คุณคำหล้า อย่าคิดมากเลยครับ คือว่าผมก็ยังเด็กนะครับ ก็เลยต้องคาราวะพวกพี่ๆ ไว้ก่อนครับ
คุณPaphmania ยินดีมากครับที่หลงมา กล้วยไม้ในกลุ่มนี้พิเศษที่สุดแล้วครับในความคิดของผม

 

โดย: JUNGLE MAN 3 ธันวาคม 2548 20:31:25 น.  

 

ดอกเล็ก กระจิดริด เดียวเองนะ ถ้าไม่สังเกต คงไม่ได้เห็น

โดยส่วนตัวแล้ว การที่เราไปโดยไม่ได้คาดหวัง หรือ
หวังเพียงเล็กน้อย แล้วเราได้พบ

เกดคิดเองว่า มันเป็นกำลังแห่งชีวิต ที่ซูดยอด เลยนะ

การเดินทางในธรรมชาติก็แบบนี้นะ สิ่งที่คาดหวัง มักไม่พบ
แต่สิ่งที่ไม่คาดหวัง เกิดขึ้นได้เสมอ

การมุ่งมั่นเดินทางไปให้ถึงแต่จุดหมายปลายทาง
โดยไม่สนใจ ระหว่างทาง ไม่ใช่สิ่งที่ควรทำเลย

อือ แต่ ก็ นะ นานาจิตตัง
นี่เป็นแค่เสี้ยวของความรู้สึกแค่นั่นเอง

 

โดย: เกดจัง 27 มกราคม 2549 18:57:41 น.  

 

ขอบคุณมากครับ คุณเกดจัง ที่เข้ามาอ่าน

 

โดย: JUNGLE MAN 21 กุมภาพันธ์ 2549 0:24:57 น.  

 

เยี่ยมมากค่ะ ตามมาชมจากลิงค์ที่ทิ้งไว้ให้ค่ะ

 

โดย: Color IP: 203.151.118.70 28 กุมภาพันธ์ 2549 9:34:16 น.  

 

มาเยี่ยมชม

แล้วเมื่อไหร่จะมาเยี่ยมกันบ้างหละ

 

โดย: สลิล IP: 210.246.76.90 28 กุมภาพันธ์ 2549 19:57:40 น.  

 

ฝากทำ Link (แบบถาวร) สำหรับ

THAILAND WILDERNESS STUDY PROJECT ด้วยซิครับ

จักขอบพระคุณยิ่งครับ คุณ jungle_man

 

โดย: สลิล IP: 210.246.76.90 28 กุมภาพันธ์ 2549 20:02:15 น.  

 

เห็นพี่เมย์บอกว่าคุณJungle man นี่สุดยอดเรื่องกล้วยไม้เลย.... เมื่อไหร่จะได้ร่วมทริปกันครับ จะได้ขอความรู้เรื่องกล้วยไม้จากคุณ Jungle man บ้างครับ

 

โดย: แมคไกเวอร์ IP: 61.19.91.26 7 มีนาคม 2549 13:08:25 น.  

 

ขอบคุณที่มาเยี่ยมครับ ผมทำลิงค์ในบล็อกผมแล้วครับ คุณcolour คุณแมคไกเวอร์ และคุณสลิล ผมตามทุกโปรเจ็คที่สำรวจครับ

 

โดย: JUNGLE MAN 15 มีนาคม 2549 1:16:43 น.  

 

มาเยี่ยมถึงบ้านเลยค่ะ

วู้ ปี ดู้

 

โดย: หมวยแก้มป่อง IP: 124.121.79.44 14 มิถุนายน 2549 21:07:28 น.  

 

อยากขอให้ถ่ายรูปเห็ดด้วยเลย อยู่กล่มนี้ด้วยแล้ว

ฝีมือและข้อมูลเป็นเลิศค่ะ

ขอบคุณค่ะ

 

โดย: Jasmin rice IP: 124.121.137.249 11 กรกฎาคม 2549 6:47:45 น.  

 

สวยมาก ๆ ค่ะ หนูเคยไปป่า ฮาลา-บาลา แต่ก็ไม่เคยเจอดอกไม้ประหลาดแบบนี้เลยค่ะ

 

โดย: รวยดา IP: 125.25.81.161 6 กรกฎาคม 2550 10:50:13 น.  

 

ผึ้งหลงทางมาค่ะ
อ่านแล้วนึกถึงว่านจักจั่น ผึ้งไปขุดมาวันนี้ได้ 4 ตัว(คนในหมู่บ้านกำลังฮิตไปขุดมาขาย เลยตาม คิก)อยากจะส่งมาให้คุณ Jungle man ช่วยวิเคราะห์ว่าอย๋ในกลุ่มนี้หรือเปล่าแต่ไม่รู้จะส่งที่ไหน แปลกค่ะ

 

โดย: ขวัญพิรุณ IP: 125.26.253.100 10 มิถุนายน 2552 20:01:16 น.  

 

//www.blhttps://www.bloggang.com/emo/emo2.gifoggang.com/emhttps://www.bloggang.com/emo/emo3.gifo/emo17.gifhttps://www.bloggang.com/emo/emo7.gifhttps://www.bloggang.com/emo/emo9.gifhttps://www.bloggang.com/https://www.bloggang.com/emo/emo42.gifemo/emo11.gifhttps://www.bloggang.com/emo/emo11.gifhttps://www.bloggang.com/emo/emo30.gif//www.blohttps://www.bloggang.com/emo/emo11.gifgghttps://www.bloggang.com/emo/emo40.gifang.com/emhttps://www.bloggang.com/https://www.bloggang.com/emo/emo7.gifehttps://www.bloggang.com/emo/emo7.gifmo/tool1.gifo/emohttps://www.bloggang.com/emo/tool7.gif43.gifhttps://www.bloggang.com/emo/emo24.gif//whttps://www.bloggang.com/emo/emo18.gifww.bloggang.com/emo/emo1.gif

 

โดย: http://www.bloggang.com/emo/emo4.gif IP: 27.55.156.17 29 มกราคม 2556 19:43:15 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


JUNGLE MAN
Location :
ปทุมธานี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add JUNGLE MAN's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.