“ในฐานะนักทำหนังคนหนึ่ง ผมปฏิบัติกับหนังของผมประดุจลูกชายและลูกสาว เมื่อผมให้กำเนิดเขา พวกเขาก็มีชีวิตเป็นของตนเอง ผมไม่ใส่ใจว่าผู้คนจะรักหรือเกลียดลูกของผม ตราบใดที่ผมสร้างเขาขึ้นมาด้วยความตั้งใจและความพยายามอย่างสูงสุด ถ้าลูกๆ ของผมไม่สามารถอาศัยอยู่ในประเทศของเขาเองไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอันใดก็ตาม ก็ปล่อยเขาเป็นอิสระเถิด เพราะมันยังมีพื้นที่อื่นๆ ที่ต้อนรับเขาอย่างอบอุ่นในแบบอย่างที่เขาเป็น มันไม่มีเหตุผลเลยที่ต้องทำให้พวกเขาพิกลพิการจากระบบแห่งความกลัวหรือความละโมบ มิฉะนั้นแล้วมันก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่คนสักคนหนึ่งจะสร้างงานศิลปะต่อไป”
-- อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
(คำปรารภหลังจาก "แสงศตวรรษ" ผลงานภาพยนตร์จากผู้กำกับคนไทย พูดภาษาไทย ใช้ดาราคนไทย ถูกกองเซนเซ่อประเทศไทยบังคับให้ตัดฉากสำคัญ 4 ฉากออกหากต้องการฉายในโรงภาพยนตร์ของประเทศไทย)




“ผมคิดว่าพระกลุ่มนี้โดนจี้จุดจึงร้อนตัวเกินไป หรือเป็นพวกอยากดัง จึงต้องทำตัวเป็นข่าว อยากถามว่าทำไมไม่ไปเรียกร้องหรือแก้ปัญหาพระที่ออกมาแก้ผ้า มั่วสีกา หรือใช้มีดกรีดร่างกาย หลอกลวงประชาชน ทั้งนี้หากจะฟ้องก็ยินดีให้ฟ้องได้ทุกศาล หรือว่าจะไปฟ้องจตุคาม ศาลเจ้าแม่กวนอิม พระอินทร์ พระอิศวร ก็เชิญ ผมไม่สนใจ แต่เห็นว่าพระกลุ่มนี้ไม่เหมาะสมในสมณะ และเป็นพระหน้าเดิมที่ออกมาเดินขบวนเรียกร้องการบรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ”
-- ถวัลย์ ดัชนี
(คำตอบโต้ภายหลังกลุ่มพระสงฆ์ที่ชุมนุมประท้วง ขู่ฟ้องคดีอาญาต่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร นายอนุพงษ์ผู้วาดภาพภิกษุสันดานกาและหมานุษย์ และคณะกรรมการที่ตัดสินรางวัลศิลปกรรมแห่งชาติ ในข้อหาหมิ่นศาสนา)
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2550
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
15 ตุลาคม 2550
 
All Blogs
 
รวม Review ภาพยนตร์ประจำเดือน กันยายน 2550(2)


Ensemble C'est tout aka Hunting and Gathering
(ฝรั่งเศส, Claude Berri, 2007, A-)


หนังเล่าเรื่องของสาวบ้านนอกฝรั่งเศสคนหนึ่ง ผู้เข้ามาอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ในห้องใต้หลังคาราคาถูก แล้วถึงได้พบกับเพื่อนร่วมหอ เป็นชายร่างเล็กพูดติดอ่างและขาดความมั่นใจในตัวเอง ซึ่งอาศัยอยู่กับรูมเมทที่เป็นพ่อครัวงานยุ่ง แถมยังต้องดูแลยายที่ป่วยกระเสาะกระแสะและติดจะเอาแต่ใจตัวเองอยู่พอควร แม้ตอนเริ่มความสัมพันธ์จะกระท่อนกระแท่น แต่ก็กลับมาดีขึ้นในตอนหลังและพัฒนาไปเป็นความรักในที่สุด

หนังมันเล่าเรื่อยๆมาก ไม่บิวต์ไม่ลุ้นอะไรคนดูเท่าไหร่ด้วย แต่ชอบประเด็นเรื่องการ connect กันของคนในเรื่อง เพราะตัวละครแต่ละตัวทั้งพระเอก เพื่อนพระเอก และยายพระเอก ต่างเป็นตัวละครที่บริหารความสัมพันธ์กับคนอื่นได้ไม่ดีทั้งนั้น จนกระทั่งเมื่อนางเอกเข้ามาในชีวิตของคนเหล่านี้ พวกเขาก็ค่อยๆพัฒนาชีวิตของตัวเองให้ดีขึ้น เพื่อนพระเอกที่ติดอ่างและขาดความมั่นใจก็ค่อยๆมั่นใจมากขึ้นจนเล่นละครเวทีได้ และมีความรักที่มีความสุข พระเอกกับยายก็ปรับตัวเข้าหากันมากขึ้น แต่ที่ irony มากคือนางเอกกลับไม่รู้จักวิธีจัดการกับความรักของตัวเอง จนเกือบต้องเสียมันไป





เพื่อน...กูรักมึงว่ะ aka Bangkok Love Story
(ไทย, พจน์ อานนท์, 2550, คุณภาพ C-, ตลก A+++++)


//www.bloggang.com/mainblog.php?id=nanoguy&month=01-10-2007&group=2&gblog=104





Vacancy
(สหรัฐอเมริกา, Antal Nimród, 2007, B เกือบบวก)


หนังทริลเลอร์สูตรสำเร็จ ว่าด้วยผัวเมียที่เถียงกันมาตลอดทาง ขับรถหลงทาง แล้วไปเข้าโรงแรม แต่แจ็คพ็อตไปเจอแก๊งที่บ้า snuff movie เข้าให้ก็เลยต้องหนีเอาตัวรอด บลาๆๆๆๆ

หนังครึ่งแรกทำออกมาได้น่าติดตามมาก ชวนให้เราลุ้นไปกับสองตัวละครหลัก (ทั้ง Luke Wilson กับ Kate Beckinsale ก็เล่นได้ดีตามหน้าที่ทั้งคู่) ในการเอาตัวรอดจากแก๊งฆาตกรโรคจิตที่เน้นทรมานจิตใจเหยื่อก่อนฆ่า ความพยายามในการค้นหาหนทางหนีออกจากห้องแคบๆ หลบคมมีดคมกระสุนของพวกฆาตกร พยายามเรียกตำรวจ ฯลฯ

เสียดายที่ครึ่งหลังของหนังดันทำตัวเหมือนไม่รู้จะจบยังไง ทุกอย่างเลยชิบหายด้วยความมักง่าย และน้ำเน่าสิ้นดี





The Brave One
(สหรัฐอเมริกา+ออสเตรเลีย, Neil Jordan, 2007, A++++++++++++)


(สปอยล์นะจ๊ะ ใครยังไม่ได้ดู แต่อยากดู ก็อย่าเพิ่งอ่านเน่อ)

ตอนแรกที่เห็นตัวอย่าง ผมก็นึกถึง Death Note ทันที และคิดว่าหนังคงไม่ได้ออกมาเลิศหรูอะไรมากนักกับพล็อตเดิมๆ อย่างการไล่ล่าล้างแค้นแบบศาลเตี้ยหลังจากเป็นผู้ถูกกระทำ จุดประสงค์หลักจึงกลายเป็น Jodie Foster มากกว่าตัวหนังโดยรวม แต่เมื่อได้ดูจริงๆ ปรากฏว่าหนังล้ำหน้าและลึกซึ้งกว่า Death Note มากมายนัก

Erica Bain ดีเจสาวใหญ่ชาวนิวยอร์กที่ความรักของเธอกับแฟนหนุ่มเชื้อสายมุสลิมกำลังสุกงอม และใกล้เข้าพิธีวิวาห์ แต่โชคชะตาก็เล่นตลกเมื่อเธอกับแฟนโดนแก๊งกวนเมืองเม็กซิกันรุมทำร้ายร่างกาย เธอปางตาย แต่แฟนเธอตายจริง โดยที่เธออยู่ในอาการโคม่าร่วมสองสัปดาห์ และต้องพักฟื้นอีกร่วมเดือน รวมถึงการฟื้นฟูสภาพจิตใจที่ตอนนี้เธอระแวงระวังไปทุกอย่าง... ไม่ไว้ใจระบบยุติธรรม และไม่ไว้ใจเมืองที่เธอเคยรักและหลงใหลมันเหมือนแต่ก่อน...

เธอได้ปืนเถื่อนมาจากที่แห่งหนึ่งหลังตลาดของชาวเอเชีย แม้ว่าตอนแรกเธอจะใช้ปืนนี้เพื่อความสบายใจและป้องกันตัวจากภยันตรายต่างๆ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เธอใช้ปืนครั้งแรกในมินิมาร์ต เธอก็เริ่มกลายพันธุ์เป็น "ศาลเตี้ย"

จุดนี้เองที่ทำให้ The Brave One ล้ำหน้าหนังอย่าง Death Note ไปอย่างมาก คือการสำรวจสภาพจิตใจของตัวละคร คิระในเดธโน้ตนั้นเราไม่ต้องเดาอะไรมาก ว่ามันคือศาลเตี้ยที่กลายพันธุ์มาจากเจตนาบริสุทธิ์ในการสถาปนาระบอบยุติธรรมใหม่ขึ้นบนโลก แต่เมื่อบ้าอำนาจมันก็ใช้อำนาจที่มีเพื่อฆ่าคนตามใจชอบ แต่ว่าเอริก้าใน The Brave One นั้น เธอสับสนในจิตใจอย่างรุนแรงถึงสิ่งที่เธอทำไปในมินิมาร์ตครั้งนั้น แม้ว่าคนที่เธอฆ่าจะเป็นฆาตกรก็ตาม เธอมือสั่นจนยิงปืนสะเปะสะปะ และเมื่อกลับมาที่บ้าน เธอเฝ้าแต่พูดถึง "คนแปลกหน้า" ที่เข้ามาสิงสู่อยู่ในตัวเธอ

หลังจากการปฏิบัติการครั้งที่สองของเธอบนรถไฟใต้ดิน ด้วยการยิงโจรผิวดำสองคนที่หาเรื่องคนอื่นบนรถไฟ และทำท่าทางข่มขู่เอาทรัพย์เธอ เธอจับสังเกตได้ว่าเธอมือไม่สั่นอีกแล้ว ราวกับเธอรู้สึกดีที่ยิงคนพวกนั้น เธอเริ่มถามตัวเองว่า ฉันเป็นใคร ฉันเป็นอะไร เป็นผู้พิทักษ์ หรือว่าเป็นฆาตกรกันแน่?

การเข้ามาของนักสืบ Mercer นั้นเป็นอีกส่วนที่เสริมเรื่องนี้ให้เต็ม โดยตัวของเมอร์เซอร์ก็กำลังตามจับฆาตกรที่ฆ่าเมียตัวเองแต่ว่าหลักฐานไม่เพียงพอ และพยายามคุ้มครองพยานสำคัญคือลูกสาวของฆาตกรคนนั้นที่ได้รับสิทธิ์เลี้ยงดู เพียงแต่ว่ากฎหมายมันค้ำคอเลยทำอะไรไม่ได้มาก...

เอริก้าเดินเข้าไปหาเขา ขณะที่เขากำลังสืบสวนคดีที่เกิดในรถไฟใต้ดิน เธอขอสัมภาษณ์เขา หัวข้อการสัมภาษณ์นั้นเกี่ยวกับการสืบสวนคดี การวิสามัญฆาตกรรมคนร้าย รวมไปถึงจุดยืนเกี่ยวกับระบบยุติธรรม ซึ่งฉากนี้เป็นฉากที่สำคัญมากๆ เพราะมันแสดงให้เราเห็นความสับสน ว้าวุ่น และความสงสัยในตัวเองของทั้งเอริก้าและเมอร์เซอร์

เธอถามเขาว่า "ตอนที่ยิงคนร้าย คุณมือสั่นไหม?" คำถามข้อนี้คือกลไกการปกป้องตัวเองของเอริก้า เพราะถึงแม้เธอจะฆ่าคนตาย แต่เธอก็ไม่อยากรู้สึกว่าเธอเป็นฆาตกรหรือมีใครมาครอบงำจิตใจเธอ และเมื่อเมอร์เซอร์ตอบว่า "ไม่" หน้าตาของเธอก็ดูมีแววของความดีใจแวบหนึ่ง ราวกับว่ามีคนเห็นว่าสิ่งที่เธอทำนั้นคือเรื่องถูกต้อง เธอเป็นผู้พิทักษ์ ไม่ได้เป็นฆาตกร (แม้เธอจะรู้ว่าเป็นการหลอกตัวเองแค่ชั่วครู่ชั่วยามก็ตาม)

เมื่อคุยกันไปสักพัก เมอร์เซอร์ก็เปิดเผยเรื่องของฆาตกรที่เขากำลังทำคดีอยู่ โดยพร่ำบ่นถึงระบบยุติธรรมที่กลายเป็นอุปสรรคในการลากฆาตกรคนนี้เข้าคุก และหลุดปากออกมาว่า "จริงๆแล้วผมไม่เชื่อในกระบวนการยุติธรรมหรอกนะ"

จุดนี้เองที่แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าใครก็ตามก็ย่อมคิดถึงระบบ "ศาลเตี้ย" อยู่ในจิตใต้สำนึกบ้าง ไม่มากก็น้อย...

สิ่งหนึ่งที่หนังเรื่องนี้ทำได้ดีและลึกซึ้งมาก คือการให้น้ำหนักศาลเตี้ยและระบบยุติธรรมไม่ต่างกันจนเกินไป หนังไม่พยายามตัดสินว่าใครผิดใครถูก หนังเล่าเรื่อง เล่าความคิด แสดงสภาพจิตใจของตัวละคร แล้วทิ้งที่เหลือไว้ให้คนดูตัดสินเองเราควรจะเข้าข้างใคร หรือฝ่ายไหน โดยเฉพาะเหตุการณ์ในฉากจบที่คลาสสิกมาก

ฉากนั้นสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ก่อนหน้า หลังจากที่เอริก้าได้ฆ่าฆาตกรคนที่เมอร์เซอร์ตามจับมานานได้สำเร็จ ด้วยความคิดของเธอที่คิดว่าตอนนั้นเธอเป็นผู้พิทักษ์ความถูกต้องของสังคม (หลังจากกระบวนการ "หลอกตัวเอง" หลังการสัมภาษณ์ครั้งนั้น) แต่คนคนนี้เป็นคนเดียวที่เอริก้าฆ่าไปโดยที่ยังไม่เห็นความชั่วของเขาด้วยตาตัวเอง สิ่งที่หลอกหลอนเธอมาตั้งแต่ต้นเรื่องก็กลับมาอีกครั้ง เธอเริ่มสงสัยถึงสถานะของเธอ สงสัยว่าเธอทำไปเพราะอะไร ถูกต้องแล้วหรือไม่ ก่อนที่เธอจะตัดสินใจได้ว่า เธอไม่ใช่ผู้พิทักษ์หรอก แต่เธอเป็นแค่ผู้หญิงที่มีแรงแค้นอัดแน่นอยู่ในจิตใจ และยังไม่ได้ปลดปล่อยมันออกไปอย่างที่ใจต้องการ

สิ่งที่เธอต้องการขณะนั้นคือ ล้างแค้นเม็กซิกันวิปริตพวกนั้นด้วยมือของตัวเอง

เมื่อเมอร์เซอร์เรียกเธอไปชี้ตัวคนร้าย เธอไม่บอกตัวฆาตกรทั้งที่จำหน้าได้ เพราะเธอตัดสินใจแล้วว่าเธอต้องลงมือด้วยตัวเอง ไม่ใช่ให้กระบวนการยุติธรรมมาจัดการ และเมอร์เซอร์เองก็เริ่มรู้ความจริงข้อนี้ จนกระทั่งเขาสองคนไปเผชิญหน้ากันต่อหน้าเม็กซิกันตัวหัวหน้าที่ถูกปืนของเอริก้าจ่อหัวอยู่ และนำมาซึ่งฉากจบสุดคลาสสิกที่เมอร์เซอร์วางแผนเสร็จสรรพให้เอริก้าได้ล้างแค้นด้วยมือของตัวเอง...

ภาพที่เธอวิ่งออกมาจากตรอกแห่งนั้นหลังจากลงมือครั้งสุดท้าย และถ่ายด้วยมุมสูง (Bird/God Eye View) และเพลง Answer ของ Sarah McLachlan นั้นช่างได้อารมณ์และกรีดใจคนดูเหลือเกิน ว่านี่แหละคือ "คำตอบ" ของสิ่งที่เอริก้าเฝ้าถามตัวเองอยู่ทั้งเรื่อง ตั้งแต่เธอต้องเจอกับเหตุการณ์ร้าย และลงมือหลอกตัวเองว่าเป็นผู้พิทักษ์





ฝัน บ้า คาราโอเกะ aka Fun Bar Karaoke
(ไทย, เป็นเอก รัตนเรือง, 2540, A++++++++)


หนังเล่าเรื่องประหลาดๆ ว่าด้วยเด็กสาววัยรุ่นชื่อปูที่อยู่กับพ่อจอมเสเพลสองคน พ่อของปูอยู่ไม่ค่อยติดบ้าน ทำงานเสร็จก็ออกไปเที่ยวบาร์เที่ยวเกะกลับบ้านตอนเช้าทุกวัน ระหว่างนั้นปูก็เริ่มฝันถึงแม่ที่ตายไปแล้วทุกคืนๆ โดยในฝันนั้นแม่กำลังต่อโมเดลบ้านอยู่หลังหนึ่ง เมื่อเริ่มฝันติดกันเรื่อยๆ ปูเลยไปให้พ่อของเพื่อนที่เป็นหมอดูช่วยทำนายให้ และได้ผลว่าถ้าหากบ้านหลังนี้สร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อไหร่ พ่อของปูก็จะถึงฆาต

เนื้อเรื่องหนังมันมีแค่นั้น ต่อจากนั้นคือความพยายามของปูที่จะรักษาชีวิตพ่อ แต่หนังกลับให้เราเห็นว่าในความฝันนั้น บางครั้งปูก็ช่วยแม่สร้างบ้านนั้นเสียเอง ตรงนี้น่าจะ reflect สภาพจิตใจและความคิดของปูที่มีต่อพ่อได้ดีที่สุด คือรักพ่อก็จริง แต่ด้วยพฤติกรรมของพ่อเธอก็อยากให้พ่อตายๆไปเหมือนกัน

ด้วยความที่เป็นหนังเรื่องแรกของเป็นเอก หนังมันเลยคะนองและบ้าบอมาก โดยเฉพาะฉากในเซเว่นฯ ที่ไมค์บูมโผล่มาเข้าจอแทบทุกครั้ง แต่เอาจริงๆหนังเรื่องนี้ดันถูกจริตเจ้าของบล๊อกว่ะ 555+ ไม่รู้เป็นอะไร แต่ก็ยังน้อยกว่า "เรื่องตลก 69" ที่ลงตัวกว่าเรื่องนี้พอสมควร

ถึงแม้นี่จะเป็นเรื่องแรก เป็นเอก รัตนเรืองคือคนที่กำกับนักแสดงออกมาได้ดีทีเดียว ทั้งนางเอกใหม่(ที่เล่นเรื่องนี้เรื่องเดียวแล้วหายไปเลย)อย่าง เฟย์ อัศเวศน์ คุณปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว , คนที่เล่นเป็นแม่ในฝัน (เป็นเอกกำกับแล้วเธอดูดีมาก ดูแรกๆนึกว่าสินจัย เปล่งพานิช), แชมเปญ เอ๊กซ์ ในบทสาวบาร์เด็กเสี่ยที่พ่อของปูไปติดพัน เธอดูมีเสน่ห์จนชวนให้คิดถึง อยากเห็นเธอมาเล่นหนังอีก(ไม่รู้ป่านนี้ไปทำมาหากินอะไรแล้ว หลังจากที่วงการบ้านเราเห็นเธอเป็นแค่วัตถุทางเพศ) และคนสุดท้ายที่โดดเด้งมากก็คือ เรย์ แม็คโดนัลด์ ที่รับบทคนเพิ่งหัดพูดภาษาอังกฤษได้เนียนมากๆ!! (งงล่ะสิ 55+)





Cries and Whispers aka Viskningar och rop
(สวีเดน, Ingmar Bergman, 1972, A)


หนังเรื่องแรกของอิงมาร์ เบิร์กแมน ปรมาจารย์ชาวสวีดิช ในชีวิตของเจ้าของบล๊อก แน่นอนว่ายังไม่มีภูมิต้านทานเพียงพอ ก็เลยเผลอหลับไปเป็นช่วงๆพอสมควร

เมื่อพี่น้องสามสาวนัดมาตากอากาศที่บ้านของพี่คนโตในวันหยุดยาว หนังนำเสนอความสัมพันธ์แบบคลุมเครือของพี่น้องทั้งสามในบ้านหลังใหญ่ และห้องกำแพงสีแดงเลือด (และตัวละครใส่ชุดสีแดง 555) พร้อมกับภาพ flashback ถึงชีวิตคู่ของพี่น้องแต่ละคนว่าประสบพบเจอกับอะไรมาบ้าง (ซึ่งก็อุดมไปด้วยความ "วายป่วง" ตามสไตล์โหดๆของเบิร์กแมนตามที่ได้ยินได้ฟังมา เหอๆๆ)

โดยส่วนตัวชอบฉากใกล้จบมากๆ (พูดมากไม่ได้ เดี๋ยวสปอยล์) แสดงให้เห็นสิ่งที่คนเราเสแสร้งใส่กันได้อย่างเจ็บปวด แม้แต่คนในครอบครัวเดียวกัน





เพื่อน-แพง aka Puen-Pang
(ไทย, เชิด ทรงศรี, 2526, A+)


(สปอยล์นะจ๊ะ ใครยังไม่ได้ดู แต่อยากดู ก็อย่าเพิ่งอ่านเน่อ)

รักสามเส้าระหว่าง เพื่อน แพง และไอ้ลอ เป็นความรักที่เจ็บปวด เมื่อเพื่อนกับไอ้ลอเป็นเพื่อนเล่นกันมาตั้งแต่เด็ก ส่วนแพงเป็นลูกที่พ่อไม่รัก น้องที่พี่รังเกียจ และเด็กที่น่ารำคาญในสายตาไอ้ลอ เมื่อโตขึ้นเพื่อนก็หมั้นหมายกับไอ้ลอ ในขณะที่แพงก็ได้แต่แอบรักลอข้างเดียว แสดงออกอะไรมากไม่ได้เพราะอีกฝ่ายเป็นคู่หมั้นพี่สาวตัวเอง

เมื่อใกล้งานแต่งงาน ปรากฏว่าไอ้ลอเกิดติดมาลาเรีย จึงต้องลงไปรักษาตัวที่บางกอกเมืองฟ้าอมร โดยทั้งลอ เพื่อน แพง ไปพักอยู่ที่บ้านญาติ ระหว่างนั้นเพื่อนก็เกิดปิ๊งปั๊งกับลูกชายของญาติที่เป็นหนุ่มเพลย์บอยนักเรียนนอก และเริ่มปล่อยปละละเลยหน้าที่ในการดูแลไอ้ลอ เพราะเสพติดชีวิตในกรุงและผู้ชายคนใหม่ที่ดูดีกว่า ดูเพียบพร้อมกว่า

แง่มุม feminist ในเรื่องนี้น่าสนใจมาก เพราะทั้งที่เป็นสังคมสมัยโบราณแต่ผู้หญิงในเรื่องกลับแสดงออกถึงความต้องการผู้ชายที่ตัวเองรักแบบค่อนข้างโจ่งแจ้ง ทั้งเพื่อนที่แสดงออกกับลูกชายของญาติอย่างออกหน้าออกตา และแพงที่พูดอย่างตรงไปตรงมาว่ารักไอ้ลอ ทั้งที่เป็นคู่หมั้นพี่สาว จนโดนทั้งพ่อทั้งพี่ตบตีและด่าทอต่างๆนานา โดยที่เธอก็ไม่กล้าปริปากเรื่องที่พี่สาวแอบนอกใจคราวที่ไอ้ลอสลบไสลไม่ได้สตินับแรมเดือนที่บางกอก เพราะกลัวจะใจสลาย (ถึงตรงนี้แพงด่าพี่ด้วยถ้อยคำรุนแรงเช่น อีสัตว์ และประกาศไม่นับพี่นับน้องกันอีกต่อไป)

ฉากที่เป็นไฮไลต์มากๆ สองฉากตอนท้าย ฉากแรกคือตอนที่ไอ้ลอด่าอีเพื่อนด้วยถ้อยคำรุนแรง ในขณะที่อีเพื่อนก็เชิดหน้าไม่ยอมรับความผิด ด้วยเหตุผลว่า "กูไม่ได้สาบาน มึงสาบานคนเดียวว่ามึงจะรักกูตลอดไป" มันช่างเป็นผู้หญิงที่หน้าด้านอะไรเช่นนี้.... แต่ถึงจะผิด ก็ผิดเพราะหลงเสน่ห์บางกอกและหนุ่มนักเรียนนอกที่เธอเกิดมาทั้งชีวิตไม่เคยพบเคยเจอมาก่อน

ฉากที่สองคือฉากจบ ที่ลอกับแพงตัดสินใจจะหนีออกจากหมู่บ้านไปใช้ชีวิตด้วยกัน เมื่อลอรับรู้ถึงความรักเหลือล้นที่แพงมีให้ แต่ก็เกิดเหตุให้แพงเสียชีวิต และไอ้ลอก็ฆ่าตัวตายเซ่นคำสาบานที่ให้ไว้กับอีเพื่อนว่าถ้าไม่รักมันแล้วขอให้ตายภายในสามวันเจ็ดวัน เอวัง... คลาสสิกมั่กๆ

เซอร์ไพรส์สุดๆของเรื่องนี้ คือคุณพิราวรรณ ประสพศาสตร์ ที่โผล่มาในบท "กิ๊ก" ของลูกสาวเจ้าของบ้านญาติในบางกอก สวยกว่าอีเพื่อนอีแพงประมาณสองล้านเท่าได้ 55555 (และระหว่างที่ดูก็คิดอยู่ในหัวตลอดเวลาว่า "อีเพื่อนมันจะเป็นพี่รึเป็นแม่อีแพงกันแน่วะ") มีแววติด top5 สาวสวยในจอเงินแห่งปีของเจ้าของบล๊อก 55555555





La Notte aka The Night
(อิตาลี+ฝรั่งเศส, Michelangelo Antonioni, 1961, A-)


อื่มมม... ออกตัวไว้ก่อนว่าไม่ได้โปรขนาดดูหนังอันโตนิโอนี่รู้เรื่อง แถมยังหลับไปพอสมควรอีกต่างหากเพราะเนื้อเรื่องเอื่อยเฉื่อย อ้อยสร้อย มากๆ ว่าด้วยผัวเมียคู่นึงที่เริ่มจะระหองระแหงกัน ความสัมพันธ์ชักจะไม่มั่นคง กับชีวิตในคืนหนึ่งของพวกเขา

หนังมันก็เหมือนจะเป็นต้นแบบของหนังหว่องกาไว ประมาณว่ายัยนางเอกเนี่ยมันไม่ชอบอยู่ในที่คนเยอะๆ พอผัวมันพาเข้าไปในที่ที่คนเยอะๆ มันก็ออกมาเดินสวย ทำหน้าเหงาจิต เดินดูเมืองไปเรื่อย แล้วก็กลับบ้าน (ช่วงนี้แหละที่กูหลับ 55+) จนคืนนั้นมันก็ไปงานเลี้ยงกันสองคน แล้วมันก็เดินแยกกัน ก่อนที่เราจะพบอะไร "ชิบหายๆ" (ศัพท์นี้ริเริ่มโดย ไกรวุฒิ จุลพงศธร 55+) เช่น เกมประหลาดๆที่คิดโดยสาวนิรนาม (รับบทโดยสาวสวย Monica Vitti นางเอกคู่บุญของอันโตนิโอนี่) แล้วดันทำให้ผัวนางเอกปิ๊ง กับฉากฝนตกนอกงานเลี้ยงที่ผู้คนพากันวิปริตจิตวิปลาสกันอย่างไม่อายสายตาประชาชี (เอาเข้าไป 5555)

คือเคยอ่านเจอว่า ช่วงที่หนังอันโตนิโอนี่ฉายใหม่ๆ คนจะด่าเยอะมาก แล้วมีคนวิเคราะห์ไว้ว่า เพราะคนดูไม่รู้จะทำอารมณ์ยังไงกับหนังของอันโตนิโอนี่ เจ้าของบล๊อกก็เป็นแบบนั้น เพราะพอผัวนางเอกไปกิ๊กกับโมนิก้า วิตตี้ ในงานเลี้ยงแบบออกหน้าออกตา พอเมียเดินมาเจอก็เรียกไปเคลียร์ๆ แล้วบอกว่า "ชั้นไม่รักเธอแล้ว" แล้วพอตอนเช้าพระอาทิตย์ขึ้น เดินออกมาจากงานเลี้ยง มันสองคนเสือกไปนอนกลิ้งเกลือกจูบกันแบบในโปสเตอร์...

อืม... กูควรจะรู้สึกยังไงกับหนังเรื่องนี้ดีล่ะเนี่ย 55555





L'Eclisse aka The Eclipse
(อิตาลี+ฝรั่งเศส, Michelangelo Antonioni, 1962, A เกือบบวก)


หนังอันโตนิโอนี่ที่นั่งดูต่อจากเรื่องข้างบน เรื่องนี้หลับน้อยกว่าเรื่องที่แล้วหน่อย เพราะมันมีช่วงที่กระชับฉับไวแทรกเข้ามา ว่าด้วยพระเอกนางเอกที่ไปไงมาไงไม่ทราบ ไปเจอกันในตลาดหุ้น (พระเอกเป็นโบรกเกอร์ ส่วนนางเอกมีแม่บ้าเล่นหุ้น) แล้วก็กิ๊กกั๊กกันในที่สุด

ฉากในตลาดหุ้นซึ่งอึกทึกโหวกเหวกโวยวายมากๆ โดยเฉพาะช่วงที่ตลาดหุ้นชิบหายวายป่วง เป็นฉากที่โคตรวุ่นวาย เมื่อคนตะโกน วิ่งไปวิ่งมา โทรศัพท์ ขายหุ้นกันแบบจ้าละหวั่น หลุดออกจากโทนเงียบๆ เดินๆ เหงาๆ โดยรวมของหนังทั้งเรื่องมากๆ (แต่ก็เป็นข้อดี เพราะกูไม่หลับ 55+) แล้วช่วงที่อยู่ในตลาดหุ้นนี้นางเอกโมนิก้า วิตตี้ ผู้น่ารักของเราก็จะหายจากเรื่องไปเลย เหลือแต่พระเอก 55555 (เวรกรรม)

ตอนหลังๆ ที่มันกลับมาสวีทกัน คือมัน irony มากเพราะเวลามันจะปฏิสัมพันธ์กันตรงๆ มันจะไม่ถึงไหน (อาจจะเพราะมันรู้อยู่แล้วว่าความสัมพันธ์มันเป็นแบบฉาบฉวย อยู่ไม่ยืด) แต่พอทำแบบไม่ตรง เช่น จูบกันผ่านกระจก นี่จะดูดดื่มโรแมนติกมากๆ แล้วยิ่งตอนท้ายที่มันลากัน แต่มันเสือกบอกกันว่า เจอกันที่เก่าเวลาเดิมนี่ สุดๆ...

แล้วหนังก็ปิดท้ายด้วยการถ่ายที่ที่สองคนนี้เคยอยู่ด้วยกัน แต่ไร้มนุษย์ มีแต่เสียงธรรมชาติ.. หลอนมากๆ T T





แผลเก่า aka The Scar
(ไทย, เชิด ทรงศรี, 2520, A+)


(สปอยล์นะจ๊ะ ใครยังไม่ได้ดู แต่อยากดู ก็อย่าเพิ่งอ่านเน่อ)

หนังโคตรคลาสสิกในตำนาน โรมิโอ-จูเลียตเมืองไทย ไอ้ขวัญและอีเรียม กลับมาอีกครั้ง รู้สึกดีที่ได้ดูหนังเก่าคลาสสิกแบบนี้ในโรง โฮ่ๆๆๆ... ส่วนเนื้อเรื่องคงไม่ต้องเล่าอะไรมากใช่มะ... ก็ไอ้ขวัญอีเรียมรักกัน พ่อแม่เสือกไม่ถูกกัน ก็เลยกีดกัน แล้วส่งอีเรียมไปบางกอกอยู่บ้านคุณน้ำคุณนาย บลาๆๆๆ... แล้วตอนจบก็ตายทั้งคู่ เหมือนโรมิโอกับจูเลียต (ว้ายย สปอยล์ 5555)

หนังนำเสนอแง่มุมเฟมินิสต์แบบไม่อ้อมค้อม ด้วยการตอกย้ำภาพสังคมไทยโบราณที่เพศชายเป็นใหญ่เหนือเพศหญิงในทุกด้าน โดยเริ่มรุนแรงตั้งแต่ตอนที่พ่อเรียมลากเรียมมาจากศาลเจ้าพ่อต้นไทร แล้วเอาเรียมเข้าไปล่ามโซ่ขังในยุ้งข้าว (ทั้งที่ฉากก่อนหน้านั้นพ่อเรียมพูดกับไอ้ขวัญเสียดิบดีว่า "รักกันน่ะ พ่อก็เห็นใจ") โดยมีแม่เรียมที่คอยขัดขวางไม่ให้พ่อและพี่ของเรียม (ชายล้วน) ลงโทษเรียมอย่างหนัก ทั้งการฟาดด้วยหวายหรือเอาไปล่ามโซ่ แต่ก็ไม่เป็นผลแถมยังโดนลูกหลงไปด้วยอีก (และจุดนี้หนังเฉลยว่าแม่เรียมเองก็ไม่ได้แต่งงานกับคนที่ตัวเองรักเช่นกัน)

เมื่อเห็นว่าล่ามโซ่ไว้ยังไม่เพียงพอ พ่อเรียมเลยตัดสินใจลากเรียมลงเรือแล้วเอาไปขายเป็นทาสรับใช้คุณนายที่บางกอก เพื่อให้ไกลหูไกลตาไอ้ขวัญ โดยมีแม่คอยขัดขวาง แต่เมื่อท้ายที่สุดทำอะไรไม่ได้เธอก็ได้แต่พร่ำคร่ำครวญถึงชะตากันต่ำต้อยของเพศแม่ว่า "แม่ขอโทษ แม่ไม่มีอำนาจที่จะช่วยลูกของแม่ได้เลย" (หนังเน้นคำว่า "อำนาจ" มากๆโดยที่ไม่จำเป็นขนาดนั้น น่าจะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ากำลังพยายามตอกย้ำประเด็นเฟมินิสต์ให้คนดูรู้สึก)

ด้วยบุพเพอะไรมิทราบ หน้าอีเรียมดันไปคล้ายลูกสาวคุณนายที่เพิ่งตายไป แทนที่จะเป็นทาสเลยได้เป็นลูกบุญธรรมแทน แต่ถึงจะมีทรัพย์มีฐานะ ผู้หญิงไทยก็ยังต้องอยู่ใต้วังวนของผู้ชาย เมื่อคุณสมชาย (ชลิต เฟื่องอารมย์ - เกย์แตกพอสมควร) อดีตคู่หมั้นลูกสาวคุณนายก็เข้ามาติดพัน เรียมจะปฏิเสธแบบเต็มปากเต็มคำก็ไม่ได้ แม้หนังจะแสดงให้เราเห็นว่าเรียมยังไม่ลืมไอ้ขวัญ

แม้แต่ฉากจบ เมื่อเรียมกลับมาเยี่ยมแม่ที่ใกล้ตายแล้วถูกก๊กของสมชายมาตามกลับกรุงเทพ (พร้อมกับก๊กพ่อและพี่ชายของเรียม) ไอ้ขวัญโกรธจัดเลยมาเผาเรือสมชาย ไปๆมาๆ คนกรุงก็แจกจ่ายปืนให้คนชนบทออกตามล่าไอ้หนุ่มแห่งทุ่งบางกะปิที่มีมีดติดตัวเล่มเดียว

เมื่อไอ้ขวัญเหลือบเห็นเรียมจับมือกับสมชาย (แบบที่เรียมไม่เต็มใจนัก) สิ่งแรกที่ไอ้ขวัญทำเมื่อเห็นหน้าเรียมคือการปรามาส และด่าว่าเรียมเสียๆหายๆ เป็นผู้หญิงตระบัดสัตย์ ได้ใหม่ลืมเก่า หลงน้ำเงินคารมคนบางกอกจนลืมรักเก่า โดยไม่ให้โอกาสเรียมได้แก้ตัวเลย ถ้าไอ้ขวัญลองมองดูดีๆอีกสักนิดน่าจะรู้ว่า ในเมื่อเรียมมีตัวเลือกระหว่างมันที่มีที่นาแค่ 50 ไร่ กับสมชายที่เป็นลูกเจ้าพระยานาหมื่น แล้วฝั่งครอบครัวเรียมก็อยากให้แต่งงานกับสมชาย ถ้าเรียมปันใจให้สมชายจริงทำไมจึงต้องมีคนมาบังคับขู่เข็ญเรียมให้กลับบางกอก?

นอกจากผู้หญิงจะไม่มีอำนาจเลือกชีวิตของตัวเองแล้ว ยังไม่มีสิทธิ์แก้ต่างให้ตัวเองอีกด้วย ช่างน่าเศร้าเหลือเกิน... และจุดนี้ทำให้เรื่องราวนำไปสู่โศกนาฏกรรม เมื่อสมชาย (ผู้กลัวมีดของไอ้ขวัญอย่างชิบหาย) ยิงไอ้ขวัญตาย เรียมก็ดิ้นหลุดจากดงมือเพศชาย ดำน้ำลงไปคว้ามีดจากมือไอ้ขวัญมาแทงตัวเอง แล้วร่างของทั้งคู่ก็จมหายลงไปในสายน้ำ.. เอวัง





พลอยทะเล aka The Gem from the Deep
(ไทย, เชิด ทรงศรี, 2530, B)


"พลอยทะเล" คือเรื่องราวรักสามเส้าของหนุ่มสาวชาวเกาะ ไอ้รุ่ง(สรพงศ์ ชาตรี - อีกแล้ว!!!) อีกระถิน(สินจัย หงษ์ไทย) และอีสำเภา (ชณุตพร วิศิษฎ์โสภณ - อีแพงจาก "เพื่อน-แพง") ที่มีพลอยล้ำค่ามาเป็นตัวจุดชนวนเรื่องราวให้วุ่นวาย เมื่อไอ้รุ่งไปงมของทะเลแล้วเจอพลอยน้ำงามอยู่ที่ก้นทะเล เลยคิดจะพาแม่ไปรักษาตัวที่ฝั่งเมือง(แผ่นดินใหญ่)

ไอ้รุ่งกับอีกระถินนั้นลอบคบหากันโดยที่พ่อแม่ฝ่ายหญิงไม่รู้ จนเมื่อถึงช่วงเวลาที่ไอ้รุ่งนัดกับลุงของกระถินว่าจะพาแม่ไปเมือง แต่กลับไม่ได้ไปเพราะฝ่ายพ่อแม่ของกระถินไปกดดัน จึงเกิดการต่อสู้กันขึ้น ระหว่างนั้นไอ้รุ่งเอาพลอยฝากไว้ที่กระถิน ก่อนที่ความลับของทั้งคู่จะแตก แล้วไอ้รุ่งก็โดนลากไปทำร้ายที่หน้าผา และอีกระถินมองจากไกลๆก็นึกว่าไอ้รุ่งถูกฆ่าตายแล้ว เลยไปอยู่ฝั่งเมืองแบบหมดอาลัยตายอยาก

แล้วเรื่องราวก็ซ้ำรอย "แผลเก่า" เมื่อความสวยของกระถินไปเตะตาคุณนายเจ้าของแผงปลา เลยพาไปทำงานที่บ้าน แล้วก็ถูกใจน้องชายคุณนาย เลยได้อยู่ในฐานะว่าที่น้องสะใภ้คุณนายแทนที่จะเป็นคนใช้ ระหว่างนั้นไอ้รุ่งก็เอาพลอยเป็นประกันข้ามฟากมาฝั่งเมือง อีสำเภาก็มาทำงานที่ฝั่งเมืองด้วย แล้วก็ออกตามหาอีกระถินจ้าละหวั่น เพื่อหาพลอยไปขายเอาเงินมารักษาแม่ และจ่ายค่าเรือตอนข้ามฟากมา

กระถินเป็นผู้หญิงที่น่าสงสารมากๆ เพราะถ้าเรามองจากเหตุการณ์ ที่กระถินตกลงใจไปกับน้องชายคุณนายก็เพราะคิดว่าไอ้รุ่งตายไปแล้ว ถ้าคนรักตายไปแล้วทำไมจะมีรักใหม่ไม่ได้ แต่เรื่องดันชิบหายเพราะไอ้รุ่งไม่ตาย แล้วอีกระถินก็โดนไอ้รุ่งด่าเสียๆหายๆ โดนอีสำเภาจิกด่าต่างๆนานา หาว่าไม่ซื่อสัตย์บ้าง ตระบัดสัตย์บ้าง เห็นแก่เงินบ้าง อีห่า.. ก็กูนึกว่าผัวกูตายไปแล้วมึงจะเอายังไงกับกู สาดดดด (55+) แถมนอกจากประเด็นเรื่องผัว อีกระถินยังโดนผัวใหม่ด่าอีกว่า หลอกกู มึงไม่บริสุทธิ์จริง เสียตัวแล้วนี่หว่า อี๋ รังเกียจ ฯลฯ ช่างเป็นค่านิยมชายเป็นใหญ่ตั้งแต่ยุค "ขวัญเรียม" ที่อยู่ยงคงกระพันจริงๆ...

จุดที่ทำให้ผมไม่ปลื้มหนังเรื่องนี้เท่าไหร่คือพล็อตเกี่ยวกับชีวิตเมืองใหญ่และชนบท (อย่างที่มีมาในหนังคุณเชิดสองเรื่องข้างบนนั้นเช่นกัน) เพราะเรื่องนี้ ตัวละครที่เป็นชาวเกาะมาเจอความเลวร้ายของคนเมืองแค่คนเดียวเท่านั้น แต่กลับตอกย้ำและด่าความเป็นเมืองว่าเลวอย่างนั้นทรามอย่างนี้ชั่วอย่างโน้นได้เป็นคุ้งเป็นแคว และพยายามเน้นย้ำจนเกิดความจำเป็น และคนดูอย่างผมก็เกิดอาการรำคาญขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้





The Descent
(สหราชอาณาจักร, Neil Marshall, 2005, A)


(สปอยล์นะจ๊ะ ใครยังไม่ได้ดู แต่อยากดู ก็อย่าเพิ่งอ่านเน่อ)

หนังเริ่มเรื่องที่สามสาว ซาร่าห์ จูโน่ และเบธ ไปล่องแก่งผจญภัยกัน เนื้อเรื่องเล่าสั้นๆ ให้เราเห็นภาพสามีและลูกของซาร่าห์มารอรับ จูโน่เป็นชู้กับสามีเพื่อน และในขากลับนั้น รถของซาร่าห์ก็ประสบอุบัติเหตุรุนแรงจนสามีและลูกตายคาที่ ส่วนเธอรอดตายหวุดหวิด

ปีต่อมา สามสาวคนเดิมและเพื่อนใหม่อีกสามคนก็นัดกันมาเพื่อไปผจญภัยในถ้ำ ตอนแรกก็ยังหลั่นล้าร่าเริงกับความสวยงามและความท้าทายของถ้ำนี้ แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินไปได้ซักพัก เมื่อทุกคนเริ่มหลงและอยู่ในวิกฤติ จูโน่ที่เป็นเสมือนหัวหน้าของกลุ่มก็เฉลยว่าที่นี่เป็นถ้ำนอกสารบบ ไม่ใช่ถ้ำที่ตกลงกันไว้แต่แรก ที่พามาเพราะอยากให้กลุ่มของเราค้นพบและสำรวจถ้ำนี้ได้เป็นกลุ่มแรกเพื่อเป็นเกียรติประวัติ (เท่มั้ย - -*)

หลังจากนั้นก็จะเป็นช่วงระทึก เพราะหนังได้เปรียบที่เล่นกับความมืด ความแคบ และความแออัดของถ้ำ (เมื่อเทียบกับคนถึง 6 คนในทางเดินแคบๆ) รวมถึงสิ่งที่เรายังไม่รู้ว่าในถ้ำนี้มีอะไร เราจะเห็นซากกระดูก และสิ่งไม่พึงประสงค์มากขึ้นเรื่อยๆ โดยระหว่างนี้ซาร่าห์ผู้กำลังรักษาบาดแผลในใจก็เหมือนเป็นตัวถ่วงเพื่อน เพราะทุกคนต้องคอยหันมาดูแลเทคแคร์เธอที่สภาพร่างกายและจิตใจไม่สมบูรณ์นัก

จนในที่สุด เมื่อหนังเปิดเผย "เจ้าของพื้นที่" ที่นิสัยโหดเหี้ยมผิดมนุษย์ และไล่ฉีกเนื้อหกสาวอย่างไม่ปรานี หกสาวก็ค่อยๆตายไปทีละคนๆ กลุ่มที่เหลือก็แตกกระสานซ่านเซ็นไปคนละทิศละทาง เพื่อหนีเจ้าของพื้นที่ที่มีจำนวนนับร้อยทั้งถ้ำ จุดนี้เราจะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของจูโน่และซาร่าห์ ที่ฝ่ายแรกนั้นเริ่มอ่อนแอและแคร์คนอื่นมากกว่าตอนต้นเรื่อง ในทางกลับกันซาร่าห์นั้นกลับแข็งกร้าวและโหดร้ายดิบเถื่อนมากขึ้น

ในช่วงที่สภาพจิตใจของคนกำลังสับสนวุ่นวาย จูโน่กำลังเพ่งสมาธิไปที่การจัดการตัวประหลาดเจ้าของพื้นที่ จึงเผลอเอาที่ปีนเขาสับคอเบธเข้าให้ ด้วยความกลัว(หรือคิดว่าเบธตายแล้ว) เธอทิ้งเบธเอาไว้ และเมื่อซาร่าห์เดินมาพบเบธในสภาพใกล้ตายเต็มทน เธอก็ได้รู้ความจริงบางอย่าง(ที่คนดูรู้ตั้งแต่ต้นเรื่อง) พร้อมกับคำกำชับจากเบธว่าอย่าไว้ใจจูโน่เด็ดขาด ถ้าจะออกจากถ้ำก็ให้หาทางออกไปเองคนเดียว

สุดท้ายเมื่อทุกคนตายหมดแล้วเหลือแค่จูโน่กับซาร่าห์ เมื่อทั้งคู่เผชิญหน้ากัน ฝ่ายจูโน่เองเป็นห่วงซาร่าห์มาตลอด (ส่วนหนึ่งอาจเพราะรู้สึกผิดที่เป็นชู้กับสามีซาร่าห์) แต่เราจะเห็นความแข็งกร้าวในดวงตาของซาร่าห์ และสิ่งที่เธอตัดสินใจทำอย่างเลือดเย็นหลังจากนั้นไม่นานก็แสดงให้เห็นแล้วว่าเธอเปลี่ยนไปแค่ไหน เมื่อเอาความแค้นและเรื่องราวในอดีตมาครอบงำจิตใจของตัวเอง





อำแดงเหมือนกับนายริด aka Muen and Rid
(ไทย, เชิด ทรงศรี, 2537, A เกือบบวก)


หนังคุณเชิดเรื่องสุดท้ายใน "สัปดาห์ภาพยนตร์เชิด ทรงศรี" (จาก 5 เรื่อง พลาด "ทวิภพ" ไปเรื่องเดียว เสียดายๆ คือติดอ่านหนังสือสอบทั้งสองวันที่ฉาย ไม่งั้นอาจเกิดความชิบหายบนใบเกรดได้) เรื่องนี้ไม่เหลือประเด็นเกี่ยวกับคนเมืองและคนชนบท เหลือเพียงประเด็นเฟมินิสต์เพียวๆ แรงๆ และย้อนยุคไปสมัยรัชกาลที่ 4

เรื่องราวของเด็กสาวจอมแก่นชื่ออีเหมือน(จินตหรา สุขพัฒน์) เป็นผู้หญิงที่ดูจะหลุดกรอบกุลสตรีที่ดีแห่งยุคสมัยโบราณ ที่ผู้หญิงยังเป็นช้างเท้าหลัง ซื้อขายได้ราวกับไม่ใช่มนุษย์ วันหนึ่งเกิดเหตุเรือที่เหมือนพายมาเจอพายุแล้วล่มลง พระริด(สันติสุข พรหมศิริ) จึงว่ายน้ำลงไปช่วยด้วยนึกว่าเป็นผู้ชาย (เพราะผู้หญิงสมัยนั้นหั่นผมสั้นกันเกือบหมด) และทำให้เหมือนหลงรักพระริดที่ช่วยชีวิตตัวเองไว้

ระหว่างนั้น เหมือนก็พยายามเทียวไปที่วัด รอใส่บาตรให้พระริดทุกเช้า (พร้อมกับนิมนต์ "ยิ้มแบบไม่เสียกิริยา" จากพระริดทุกครั้ง โรแมนติกซะมิมี) จนในที่สุดเหมือนก็ไปขอเจ้าอาวาส เข้ามาเรียนหนังสือกับพระริด จนเป็นขี้ปากชาวบ้านเพราะผิดวิสัยหญิงไทยใจงามสมัยก่อน และในระหว่างนี้เหมือนก็ทำความรู้จัก พูดจาปราศรัย และเฝ้าเทียวถามพระริดอยู่ตลอดเวลาว่า "เมื่อไหร่หลวงพี่จะสึก?" (ลัดดา แซ่ตั้ง : "แอร๊ยยยยยยย หนังทำศาสนาเสื่อมแบบนี้ฉายมิได้ เอามันออกป๊ายยยยยย หนังไทยละครไทยตัวละครพระต้องอยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ตราบจนชีวิตหาไม่เท่านั้น หญิงไทยต้องไม่สึกพระและทำตัวแรดร่านแบบนี้ โง่!! ไร้การศึกษา!!!")

หลังจากนั้น พ่อของอำแดงเหมือนก็ไปติดหนี้พนันจนต้องขายเหมือนให้กับเสี่ยเจ้าของเงิน เพื่อแลกกับหนี้สินจำนวนมหาศาลที่กู้ยืมมา เหมือนถูกฉุดกระชากลากถูไปที่บ้านของเสี่ย และพยายามหนีออกมาหลายครั้งแต่ก็โดนจับกลับไปทุกที จนครั้งสุดท้ายที่เหมือนหนีออกมา เธอหายลงไปในน้ำจนทุกคนคิดว่าเธอจมน้ำตายไปแล้ว พระริดก็รู้สึกผิดที่ปล่อยให้อำแดงเหมือนไปแต่งงานกับเสี่ยจึงสึกออกมา แต่กลายเป็นว่าเหมือนดำน้ำหลบบ้านเสี่ยมาได้ แล้วไปขอความช่วยเหลือที่บ้านของพระริด ทั้งคู่จึงอยู่กินกันในฐานะสามีภรรยา แต่เมื่อเหมือนกับริดตัดสินใจไปขอขมาพ่อแม่ที่บ้าน กลับกลายเป็นว่าฝั่งเสี่ยกลับพาตำรวจมาจับตัวอำแดงเหมือนกับนายริดไปขึ้นศาลในข้อหาลักลอบคบชู้กัน

หลังจากนั้นหนังจะพูดถึงความเหลื่อมล้ำของกฎหมายที่ให้สิทธิเพศชายมากกว่าเพศหญิง ทั้งการเคลมว่าใครเป็นผัว ยังให้สิทธิแค่ผู้ชาย ในขณะที่ผู้หญิงมีสิทธิแค่หมอบกราบอยู่หน้าศาลแล้วทำตัวเงียบๆ แถมยังถูกซื้อขายได้ไม่ต่างจากวัวจากควาย ก่อนที่การตัดสินคดีนั้นจะจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของอำแดงเหมือน และเหมือนกับริดก็ต้องหนีหัวซุกหัวซุนเพื่อหนีการตามล่าของทางการและบ้านเสี่ย

แม้ว่าหนังจะพูดเรื่องเฟมินิสต์แบบตรงๆ และเน้นย้ำอย่างรุนแรง ไม่มีชั้นเชิงมากนัก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสารที่ส่งมานั้นตรงประเด็นและชัดเจนมากพอที่จะพยุงหนังทั้งเรื่องไว้ได้ รวมถึงการแสดงของจินตหรา สุขพัฒน์ ที่เข้าขั้นยอดเยี่ยม เสียอย่างเดียวแค่ฉากจบของหนัง เมื่ออำแดงเหมือนตัดสินใจเข้ายื่นฎีกาต่อในหลวงรัชกาลที่ 4 เรื่องกลับคลี่คลายอย่างง่ายดายเกินเหตุ ราวกับฟ้าฝนเป็นใจให้เพศหญิงมีหน้ามีตาในสังคมไทย เพราะแม้หนังจะบอกว่าคนยื่นฎีกาต้องไปนอนคุกจนกว่าจะตัดสินเสร็จ แต่หนังกลับนำเสนอเรื่องราวส่วนนี้ในเวลาไม่ถึงสิบนาทีช่วงท้ายเรื่อง ทั้งที่ตามหลักความจริงแล้วแม้จะเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็ใช่ว่าขุนนางจะไม่มีอำนาจทัดทานกษัตริย์เลย ซึ่งจุดนี้สามารถนำมาขยายเป็นเรื่องได้อีกค่อนข้างเยอะ และสนุกด้วย





Shoot 'Em Up
(สหรัฐอเมริกา, Michael Davis, 2007, A+++++++++)


หนังคัลต์ไร้เรื่อง เปี่ยมสไตล์ แต่งานสร้างเกรดเอ เผากระสุนกันแบบไม่กลัวโลกร้อน ถลุงงบแบบไม่เกรงใจใคร และสร้างมิติใหม่ให้กับผักอย่าง "แครอท" ขึ้นบนโลกใบนี้ (สร้างยังไง ไปหาดูเอง 55)

เนื้อเรื่องเล่าสั้นๆ เมื่อพระเอกของเรา(Clive Owen) ไปเจอกลุ่มมือปืนไล่ล่าฆ่าหญิงสาวท้องแก่ ด้วยเลือดพระเอกพี่แกเลยต้องอาศัยฝีมือยิงปืนขั้นเทพเข้าไปช่วย จนหัวหน้าแก๊ง(Paul Giamatti) ออกตามล่าเด็กที่พระเอกของเราอุ้มติดไม้ติดมือไปด้วย และเรื่องราวก็เผชิญกับความบ้าสุดขั้วได้อีกมากมายก่ายกอง ชนิดที่ต้องไปดูเอง 55+

ในเมื่อหนังคัลต์เกรดบีอย่าง Planet Terror และ Death Proof ครองใจเจ้าของบล๊อกในระดับ "เอโคตรบวก" ไปแล้วทั้งสองเรื่อง หนังคัลต์เกรดเอเรื่องนี้ทำไมจะไม่ได้เอโคตรบวกเล่า?? (อ่อ เพื่อนกูรักมึงว่ะ ไม่เรียกหนังคัลต์นะ เค้าเรียกหนังห่วย) เอาเป็นว่าใครชอบอะไรบันเทิงๆ บ้าคลั่ง เสียงสาดกระสุนอันไพเราะเสนาะหู และแครอท เรื่องนี้ entertain คุณได้ในระดับเดียวกับผู้กระหายเลือดและความรุนแรง สนุกสนานเอ็นเตอร์เทนกับหนังเรื่อง 300 อย่างแน่นอน





Apocalypto
(สหรัฐอเมริกา, Mel Gibson, 2006, A-)


หนังใหม่ของเมล กิบสัน ยังคงความดิบเถื่อนถึงเลือดถึงไส้แบบมีรสนิยมไว้ได้เช่นเดิม (นิยามของ "ถึงเลือดถึงไส้แบบมีรสนิยม" ก็คือไม่ใช่แบบ Hostel น่ะ) หลังจาก Passion of the Christ กับเนื้อเรื่องแบบเล่าจบสองบรรทัดว่าด้วย ชนเผ่าชาวป่ากลุ่มน้อยที่ถูกพวกมายันจับไปบูชายัญพระเจ้า แต่ดันหนีออกมาได้ก็เลยโดนตามไล่ล่า

ในช่วงแรกที่หนังยังไม่เข้าเรื่อง ก็นำเสนอภาพวิถีชีวิตของชาวป่ากลุ่มนี้อยู่นานร่วมๆครึ่งชั่วโมงทีเดียว กว่าที่กองทัพมายันจะบุกหมู่บ้านและจับกลุ่มนี้ไปเพื่อทำพิธีบูชายัญ (ผ่าอก ควักหัวใจ ตัดหัวโยนกลิ้งลงไปตามบันไดปีระมิด มีรสนิยมมากๆ 555) ก่อนที่พระเอกของเราจะหนีรอดมาได้ และก็วิ่งหนีเข้าป่า ตามมาด้วยทหารมายัน 6-7 คนที่ค่อยๆตายไปทีละคนๆ ด้วยวิธีการ "อันมีรสนิยม" ต่างๆนานา (ฉากที่ได้ใจมากๆ คือตอนเสือดาวเขมือบหัวคน)

บังเอิญว่าหนังเรื่องนี้แอ็คชั่นไม่ได้โดนใจอะไรมากมายนัก แต่ที่โดนใจมากกว่าคือประโยคเปิดเรื่องของ W. Durant ที่ว่า "A great civilization is not conquered from without until it has destroyed itself from within."

เจ้าของบล๊อกขอแปลตามวิสาสะตนเองว่า "ไม่มีอารยธรรมใดจักล่มสลาย หากมันไม่เน่าเฟะเละฉิบหายออกมาจากภายในของมันเอง"


Create Date : 15 ตุลาคม 2550
Last Update : 17 ตุลาคม 2550 6:10:29 น. 16 comments
Counter : 2207 Pageviews.

 
เพิ่งรู้ว่า ฝันบ้าคาราโอเกะหนุก
ตอนแรก เห็นชื่อเรื่องแล้วไม่ปลื้มมมม

คุณพี่หากว่างและพอมีเงินเหลือ
โปรดส่งซีดีหนังสนุกมาให้หน่อยนะ


โดย: ป๊ากบิ๊กเปา IP: 69.26.104.98 วันที่: 17 ตุลาคม 2550 เวลา:6:50:01 น.  

 
ชักอยากดู Fun Bar Karaoke


โดย: Unravel วันที่: 17 ตุลาคม 2550 เวลา:13:56:41 น.  

 
เจ้มาขอแปะก่อนนา
เด๋วมา...


โดย: renton_renton วันที่: 17 ตุลาคม 2550 เวลา:17:12:31 น.  

 
+ โห! ติดงานตลอดบ่ายเลยวุ้ยตรู กว่าจะได้มาอ่านตอน 2 ต่อ - -'
+ Ensemble C'est tout - พี่กลับรู้สึกประหล๊าด ประหลาดกับหนังเรื่องนี้ ... คือตัวพี่เองน่ะ เชื่อในความสัมพันธ์แบบนี้นะ (มิตรภาพที่ได้มาด้วยความบังเอิญ และมิตรภาพที่ไร้เงื่อนไข) แต่หนังเรื่องนี้มันกลับไม่สามารถทำให้พี่เชื่อในความสัมพันธ์ของคนเหล่านั้นได้อ่ะครับ ... ตั้งแต่วิธีที่นางเอกได้รู้จักกับเพื่อนพระเอก, ทำไมเพื่อนพระเอกถึงรู้สึกดีกับนางเอกขนาดนั้น, ทำไมพระเอกถึงอยู่กับเพื่อนได้ (ตอนต้นเรื่องยังนึกว่าเพื่อนเป็นเกย์ด้วยซ้ำ), พระเอกโฉดขนาดนั้น มีอะไรทำให้นางเอกปิ๊งได้เหรอ? แล้วก็ตอนไหน?, แฟนเพื่อนพระเอกมายังไง? อยู่ไม่อยู่หนังก็จับยัดเข้ามาเฉยๆ, การที่ยายพระเอกเลือกไปหมดลมที่บ้าน (บังเอิญดีจัง), ช่วง 'แม่งอน' ของนางเอกตอนท้ายๆ เรื่อง, ........ and they live happily ever after อะไรชีวิตจะสวยสดเป็นภาพฝันได้ซะขนาดนี้ หุๆ
+ เพื่อน กรูรุกมึงว่ะ (ชอบชื่อนี้จัง อิๆ) - ไปเขียนไว้แล้วที่หน้านั้นครับ ... ว่าแล้วก็ยังขำเฮีย Cloud กับนัง Stone(y) แล้วก็น้องแสนดี (Sand(y))ไม่หาย เอิ๊กๆๆ
+ Vacancy - บายอ่ะครับ
+ The brave one - อืม ... ตีความได้ลึกซึ้งดีครับ ... ตอนดูพี่ยังคิดแค่ประเด็น "ศาลเตี้ย" กับเรื่อง "คนแปลกหน้าในตัวเธอ" เองอ่า
+ ฝัน บ้า คาราโอเกะ - หุๆ หนังคุณเป็นเอก พี่เพิ่งดู พลอย ไปเรื่องเดียวเอง ไว้จะหามาดูครับ
+ Cries and Whispers / La Notte / L'Eclisse - ว่าจะไปดูหนังที่ออฟฟิศไบโอเหมือนกันนะ แต่วันธรรมดานี่ลำบากหน่อย กว่าจะถึงแถวนั้นก็มืดแล้ว ส่วนวันเสาร์ (หรืออาทิตย์) นั้นก็ดันติดธุระซะอีก สรุปเลยอดดูหมดทั้ง 3 เรื่องเยยอ่า
+ เพื่อน-แพง / แผลเก่า / พลอยทะเล เหมือนเคยดูตอนเดะๆ ในโรงทั้งหมด ... แต่พอถึงตอนนี้ก็เหลือเพียงแค่ "ความทรงจำสีจาง" ในหัวสมองอ่ะครับ เหอๆ ... ส่วนอำแดงเหมือนกับนายริด ยังไม่เคยดูอ่ะครับ
+ The descent - พอดีพี่อ่านสปอยล์ไปจนจบเรื่องแล้วตั้งแต่ที่บล็อกน้องต่ออ่ะครับ เลยมาอ่านที่นี่อีกรอบ ... ดูเหมือนจะเป็นหนัง Psycho/Horror ที่น่าตื่นเต้นดี (แต่คงจะนองเลือดน่าดู) นะครับ
+ Shoot 'Em Up - โคตะระมันส์เช่นกันกับอ้ายเจ้ามือปืนบั๊กบั่นนี่เนี่ย
+ Apocalypto - หุๆ พี่พ่ายแพ้ความรุนแรงของหนังเฮียเมลอ่ะครับ แล้วเรื่องนี้ก็ไม่เข้าโรงด้วย ถ้าวันดีคืนร้ายจับพลัดจับผลู ถึงคงจะมีโอกาสได้ดูอ่ะครับ เหอๆๆ


โดย: บลูยอชท์ วันที่: 17 ตุลาคม 2550 เวลา:18:52:14 น.  

 
อ่านสปอยล์ The Descent แล้วอยากรู้อยากเห็นอะ ขอละเอียดๆ หน่อยซี่คับ เพราะยังไงก็ไม่กล้าดูเองอยู่ดี แต่อยากรู้ชอทเด็ดอะ ...โรคจิตจังเรา


โดย: Moonlight Mile วันที่: 17 ตุลาคม 2550 เวลา:19:54:03 น.  

 
มุกก็ชอบฝันบ้า เคยดูตอนยูบีซีเอามาฉายอ่ะ
แต่เรื่องอื่นไม่เคยดูเลย อยากดู Shoot 'Em Up ชื่อเรื่องโดนใจมากๆ555 ยิงแม่งเลย


โดย: มุก IP: 125.25.73.0 วันที่: 18 ตุลาคม 2550 เวลา:13:30:04 น.  

 
อ่านไม่หมด เยอะเกิ้น
แต่มาสะดุดปย นึง

(จาก 5 เรื่อง พลาด "ทวิภพ" ไปเรื่องเดียว เสียดายๆ คือติดอ่านหนังสือสอบทั้งสองวันที่ฉาย ไม่งั้นอาจเกิดความชิบหายบนใบเกรดได้)
c]h;9voouh=b[skp,yhp]t

5555+


โดย: >>..JoY~*<< IP: 58.8.189.243 วันที่: 18 ตุลาคม 2550 เวลา:18:00:20 น.  

 
อ่าว ลืมดูภาษา -*-

c]h;9voouh=b[skp,yhp]t
v
v
v
แล้วตอนนี้ชิบหัยมั้ยล่ะ


โดย: >>..++J:o:Y++..<< IP: 58.8.189.243 วันที่: 18 ตุลาคม 2550 เวลา:18:02:42 น.  

 
เพื่อนมืงให้เยอะขนาดนั้นเลยหรอวะ




ว่าแต่อยากดู Shoot 'Em Up อะ


โดย: S e m a k u t e k ! IP: 124.121.230.161 วันที่: 18 ตุลาคม 2550 เวลา:21:50:42 น.  

 
โน คอมเมนต์


โดย: iaiapprentice IP: 59.141.98.178 วันที่: 18 ตุลาคม 2550 เวลา:23:08:45 น.  

 
อืม

กุอ่านจบละ

ไปทำงานดีก่า

รายงานเชแสดดดดด~


โดย: จั่น* IP: 58.8.71.224 วันที่: 19 ตุลาคม 2550 เวลา:0:45:31 น.  

 
-ฝัน บ้า คาราโอเกะ
มันหนุกมาก ดูในโรงที่บ้านเกิดด้วยนะ ตอนม.5นะ (เจ้าของโรงหนังใจป้ำมาก ทั้งโรงมีพี่ดูคนเดียว) เข้าฉายได้ 3 วันก็ถูกถอด พี่จำได้แม่น555
พี่ว่ามันเป็นหนังที่โรแมนติกและภาพสวยมากในยุคนั้น
เรื่องแชมเปญ X ข่าวทั้งวงในวงนอก(เหล้า) เขาว่ากันว่าตัวจริงเธอเองก็ทำตัวให้เป็นวัตถุทางเพศด้วยเหมือนกัน โทษวงการอย่างเดียวมันไม่ได้!

- The Descent
พลิกผัน เจ้าซอมบี้กอลลัมเรื่องนี้มันสนุกนักแล... พอดีได้ดู Dog Soldier มาก่อน เลยตามงานผกก.ท่านนี้หน่อย ทำได้ดีขึ้นในแง่อารมณ์หนังครับ แต่ประเด็นของหนังที่อยากบอก พี่รู้สึกว่ามันไม่อินเท่าไหร่....

- ที่เหลือมีทั้งดูแล้วพูดถึงไปแล้ว และยังไม่ได้ดูอีกเพียบ...... แต่เพื่อนแพงได้ดูช่องเจ็ด แต่ไม่ครบทั้งเรื่องไม่ขอเม้นท์ครับ


โดย: คำห้วน-lopzang-เฉือนคำรัก วันที่: 26 ตุลาคม 2550 เวลา:1:03:14 น.  

 
เห็นหนังเก่าๆ ของไทยหลายเรื่อง
ทำให้นึกถึงเทอมก่อนตอนลงเรียนวิชาดูหนังที่จุฬาฯ เลยค่ะ 555
อาจารย์เปิดเรื่อง ชู้...เวอร์ชั่นออริจินัลให้ดูค่ะ

ยังจำได้เลยกับที่ตัวละครเอก 2 ตัวคุยกันว่า
ช...ทำไมคุญไม่บอกผม
ญ...มีเวลาบอกที่ไหนหล่ะ ชั้นยังไม่ได้บอกอะไรก็เสร็จเธอแล้ว

555
หนังไทยยุคเก่า
ตรง ดิบ และ"ได้ใจ"ดีค่ะ 555^^

ปล...สปอยล์รึเปล่าเนียะ....ขอโทษน๊า..ถ้ายังไม่ได้ดูอ่ะค๊า...


โดย: msdonat วันที่: 31 ตุลาคม 2550 เวลา:18:30:01 น.  

 
มาอ่านนานแล้วแต่ไม่มีโอกาสเขียนคอมเม้นท์...

~~~~

เข้ามาชอบอำแดงเหมือนกับนายริด
เป็นหนังเรื่องแรกในชีวิตที่ได้ดูในโรง ตอนนั้นยังเด็กอยู่เลย

เด็กน้อยอั๊ตได้ถามพี่สาวที่พาไปดูว่า
"ทำไมอำแดง ต้องเหมือนกับนายริด???"

พี่สาวตอบกลับมาว่า
"เข้าไปดูเองละกัน เดี๋ยวก็รู้ว่าทำไมต้องเหมือน"

ตอนนั้นก็ยังงงนะ แต่พอเข้าไปดูถึงได้รู้ว่าอำแดงคือคำนำหน้า ส่วนเหมือนคือชื่อ เป็นอะไรที่ประทัยใจดีกับการเข้าโรงหนังครั้งแรก

หนังไทยสมัยก่อนมันมีเสน่ห์มากเลย ต่างจากตอนนี้ หยิบมาดูกี่ทีก็ไม่เชยนะ ดูได้เรื่อยๆ

~~~

แล้วคุยกันใหม่ครับ


โดย: yibby วันที่: 1 พฤศจิกายน 2550 เวลา:4:28:19 น.  

 
อยาดูหนังไทยมากกว่า อิอิ...
หนังเก่าๆ น่าดูคะ ...



โดย: ดอกหญ้าเมืองเลย วันที่: 6 พฤศจิกายน 2550 เวลา:7:42:40 น.  

 
Apocalypto
ไม่เชื่อว่าหนังที่ทั้งรุนแรง นักแสดงไม่เจริญใจ และพูดภาษาบ้าอะไรกันไม่รู้กันทั้งเรื่อง แถมยาวเกือบ 2 ชม.ครึ่งจะทำให้ผมนั่งดูได้รวดเดียวจบขนาดนี้
ต้องขอชมฝีมือทีมโปรดัคชั่นที่สร้างโลกอีกใบมาได้แบบน่าเชื่อถือมาก ชมนักแสดงที่วิ่งกันสุดฤทธิ์ ไม่กลัวใบไม่บาดเลย
และผู้กำกับที่โน้มน้าวคนดูเก่งมาก คุณเมล กิ๊บสันนี่กกำกับหนังเก่งกว่าเล่นหนังแฮะ

ฝันบ้าคาราโอเกะ
ผมเป็นโรคภูมิแพ้หนังโชว์พาวแบบนี้เลยไม่ค่อยปลื้ม
แต่ขอชื่นชมอย่างที่คุณเป็นเอกเป็นคนที่กำกับนักแสดงไดเเก่งมาก เล่นดีทุกคน

หนังคุณเบิร์กแมนและอันโตนิโอนิ
ขอสารภาพว่า เคยดูไม่กี่เรื่อง แล้วก็...ตามคาด
หลับสบายหายห่วง


โดย: ฟ้าดิน วันที่: 19 พฤศจิกายน 2550 เวลา:3:29:30 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

nanoguy
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




คนในสังคมจารีตที่มีความคิดทางเวลาแบบไตรภูมิจะไม่ให้ความสำคัญแก่เวลาตามประสบการณ์ กล่าวคือไม่ให้ความสำคัญแก่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นจริงของชีวิตและสังคมว่าดำเนินมาและดำเนินไปอย่างไร เชื่อในการคลี่คลายเปลี่ยนแปลงของชีวิตและสังคมซึ่งจะต้องเป็นเช่นนั้นตามกฎแห่งเวลาของพุทธศาสนา

- อรรถจักร สัตยานุรักษ์
(จากบทความ "ความเปลี่ยนแปลงความคิดทางเวลาในสังคมไทย" วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง 4 ตุลาคม 2531)




Let this song rhyme our souls
when your voice and mine become one and whole.

Let it carry us high above
When we recite our poetry of love
that when there's love then there's hope.

Your love is my light,
and it'll get us through this lonely night.

- รักแห่งสยาม (ซับไตเติ้ลอังกฤษเพลง กันและกัน ท่อนฮุค)









Friends' blogs
[Add nanoguy's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.