@@@///--มุ่งมั่นต่อไปก็เพื่อชีวิต--///@@@
Group Blog
 
<<
มกราคม 2550
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
2 มกราคม 2550
 
All Blogs
 

มหาวิทยาลัยตายแล้ว ? ( ยิ่งเรียนยิ่งโง่ )

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อปีที่แล้วว่า ประชากรโลกในวัยหนุ่มสาวอายุระหว่าง 15-24 ปี ว่างงานถึง 88 ล้านคน อยู่ในเอเชีย 38 ล้านคน และ ที่น่าตกใจคืออยู่ในภูมิภาคของเราถึง 10 ล้านคน

เมื่อไปพลิกดูข้อมูลของสำนักงานแห่งชาติเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาระบุว่า มีคนว่างงาน 490,000 คน และมีผู้รอฤดูกาลอีก 40,000 คน

หากแยกตามระดับการศึกษาของผู้ว่างงาน เป็นผู้ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 60,000 คน ประถมศึกษา 70,000 คน มัธยมศึกษาตอนต้น 70,000 คน มัธยมศึกษาตอนปลาย 130,000 คน และที่ว่างงานมากที่สุดคือระดับอุดมศึกษาจำนวน 160,000 คน

ยิ่งเรียนยิ่งโง่ ? ยิ่งตกงาน !!!

หรือมหาวิทยาลัยตายแล้ว ?

"ผมได้เคยพูดมาร่วม 20 ปีแล้วว่า มหา วิทยาลัยได้ตายไปแล้ว แม้ตัวตึกและอาคารนับวันจะขยายใหญ่โตขึ้น แต่มันตายแล้วในเชิงปัญญาความคิด ในเชิงจิตวิญญาณ"

นั่นเป็นสิ่งที่ "ศ. เสน่ห์ จามริก" มองเห็น ซึ่งจะว่าไปแล้วมันเนิ่นนานมาแล้วจริงๆ

แต่พวกเรา-รัฐ บาล-พ่อแม่กำลังฝันถึงเรื่องราวใดอยู่ ?

"ศ.เสน่ห์" ได้ขยายมุมมองว่า

ส่วนหนึ่งก็คือ ญาณวิทยา ก็คือความรู้ เป็นความรู้ที่ข้ามวัฒนธรรมได้และมีความเป็นสากล

"ระบบการศึกษาและอุดม ศึกษาในขณะนี้ล้มเหลวก็เพราะเอาโลกชีวิตต่างแดนมาเป็นตัวตั้ง เราต้องเอาโลกชีวิตของเราเป็นตัวตั้ง จะต้องแสวงหาอัตลักษณ์ของโลกชีวิตที่เราสืบทอดมาทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่มีลักษณะเฉพาะ แต่ขณะเดียวกันก็เปิดการเรียนรู้จากโลกภายนอกได้"

สิ่งที่เราพูดถึงบ่อยคือ "ภูมิปัญญาชาวบ้าน" ต้องมีการปรับและพัฒนาให้ขึ้นสู่ความเป็นอุดม ศึกษา เพราะยังขาดพลวัตในการพัฒนาขึ้นมาสู่การเป็นสถาบันทางสังคม ซึ่งสามารถทำให้เกิดการคิดค้นอย่างกว้างขวาง เพื่อตอบสนองปัญหาความต้องการของสังคมได้

ส่วนที่ 2 ต้องมองอุดมศึกษาในแง่ของความเป็น "สถาบันทางสังคม"

ประการที่ 1 คือการคิดค้น พยายามให้ภูมิปัญญานั้นสามารถกระจายไปเพื่อตอบสนองประโยชน์ของสังคมในวงกว้างขึ้น

คือพยายามที่จะฟื้นทบทวนรากทางประวัติศาสตร์และทางปัญญาของเรา

ประการที่ 3 ซึ่งสำคัญมากคือต้องสร้างอัตลักษณ์ในการเรียนรู้

"การเรียนรู้สมัยนี้เป็นการเรียนรู้ที่ว่า outside in เอาความต้องการของตลาดเป็นตัวครอบการเรียนรู้ของเรา เพราะฉะนั้นเราต้องกระเสือกกระสนเพื่อทำทุกอย่าง ตอบสนองความต้องการของตลาด แต่การเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเองนั้นต้องเป็นการศึกษาแบบ inside out คือศึกษาให้รู้จักอัตลักษณ์ของตนเองทั้งสภาพแวดล้อมของสังคม วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่สืบทอดกันมา เมื่อเรารู้จักตนเองแล้ว เราก็จะเข้าใจถึงศักยภาพของเราในการออกไปเผชิญกับโลกภายนอก

"ไม่ใช่เรียนเพื่อไปตอบสนองความต้องการของตลาด แล้วตกอยู่ภายใต้การกำกับของหัวหน้าผู้บริหารหรือซีอีโอ ผมคิดว่าเป็นการฆ่าการศึกษาในตัวมันเอง"

"ผมมีข้อเสนอว่า ใช้ภูมิปัญญาและการเรียนรู้ของชุมชนท้องถิ่นเป็นตัวแทน แต่ต้องมีการปฏิรูปใน 5 ประเด็นด้วยกัน"

ประเด็นแรก ต้องหนุนความเป็นอิสระในความคิดและการคิดค้น ต้องเป็นภูมิปัญญาที่เปิด เช่น ภูมิปัญญาด้านสุขภาพ อาหาร ยาต่างๆ นั้นต้องประมวลให้เป็นองค์ความรู้ที่สามารถสร้างให้เป็นสถาบันของสังคมได้ ไม่ใช่ผูกขาดในตระกูลหรือกลุ่มต่างๆ

ประเด็นที่ 2 ต้องปฏิรูปวัฒนธรรมการเรียนรู้ ชนบทขณะนี้ตกอยู่ภายใต้อุ้งอิทธิพลของกระบวนทัศน์ที่มักมองคนในเมืองเป็นสรณะ ชนบทต้องกลับมาทบทวนอัตลักษณ์ ภูมิปัญญา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมของตัวเอง และเป็นการเรียนรู้จากภายในรากของตัวเอง

ประเด็นที่ 3 ต้องสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ทำให้เรารู้จักการ "ตั้งคำถาม" มากกว่าการ "ตอบคำถาม"

ตรงนี้ผมซีเรียสมาก เพราะการ ตั้งคำถามนั้นเป็นแหล่งกำเนิดของการเติบโตทางวิชาการ"

ประเด็นที่ 4 ต้องแยกแยะให้ได้ ว่าเรากำลังเลือกกระบวนทัศน์เกี่ยวกับความรู้และการรู้แบบไหน มีศาสตราจารย์คนหนึ่งเขียนหนังสือชื่อ Participatory Mind พูดถึงทฤษฎีใหม่เกี่ยวกับญาณวิทยา

เขาชี้ให้เห็นว่า ความรู้ในโลกนี้แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ "ความรู้เพื่ออำนาจและการครอบครอง" เป็นความรู้แบบตะวันตก เป็นความรู้ที่คลั่งอำนาจหรือ power crazy

แต่ความรู้อีกอย่างหนึ่งซึ่งเราต้องแสวงหาเรียนรู้ก็คือ "ความรู้เพื่อการปลดปล่อย" เราต้องเข้าใจว่าการที่เราแสวงหาอุดมศึกษาทาง เลือกก็เพื่อปลดปล่อยตัวเราเองออกจากแอกของอาณา นิคมทางปัญญาตรงนี้

ประเด็นที่ 5 อุดมศึกษาจะจำกัดเฉพาะภายในชุมชนไม่ได้ เพราะมิใช่เรื่องภูมิปัญญาที่เราจะว่ากันในชุมชน

นอกจากนี้ ในหนังสือ "ปาฐกถามหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ทางเลือกอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไท" ยังมีปาฐกถาของ "หมอประเวศ วะสี" หัวข้อ "ทางเลือกอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไท" "สุลักษณ์ ศิวรักษ์" หัวข้อ "ทางเลือกเพื่อความเป็นไทในพระพุทธศาสนา" และ "พระไพศาล วิสาโล" หัวข้อ "มหาวิทยาลัยภายใต้กระแสทุนนิยม"

ต่างเป็นเสียงสะท้อนที่อาจจะช่วยให้พวกเราเข้าใจว่า...

ทำไมยิ่งเรียนยิ่งโง่ ยิ่งตกงาน !!!

หรือว่ามหาวิทยาลัยตายแล้ว ?

คัดลอกจาก : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 07 ตุลาคม 2547
ปีที่ 28 ฉบับที่ 3625 (2825)
มหาวิทยาลัยตายแล้ว ?
คอลัมน์ คมคนคมคิด
โดย จรัญ ยั่งยืน

ลำดับที่ 10
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

ดอกไม้แด่บัณฑิตใหม่

ช่วงนี้เป็น "ฤดูบัณฑิต" คือมีผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษารับปริญญา รับช่อดอกไม้กันบานสะพรั่ง

มีคนถามว่า อะไรคือ ภูมิบัณฑิต

หมายถึง ความรอบรู้ครับ คือ บัณฑิตควรมีความรอบรู้อะไรจึงสมควรเรียกว่าเป็นบัณฑิต

ความรอบรู้ต่างไปจากความรู้ ที่ทำให้คนเป็นบัณฑิตนั้นๆ เช่น คนเรียนจบวิศวะ จบหมอ จบครู จบช่าง ต่างก็มีความรู้ในแขนงที่ตนเรียนตามมาตรฐานสถาบันนั้นๆ แล้ว ถือว่าจบปริญญาตรี-โท-เอก เป็นบัณฑิตในแขนงนั้นๆ ก็จริง

หากมีความรู้ แต่ขาดความ "รอบรู้"

ความเป็นบัณฑิตนั้นๆ ก็ไม่สมบูรณ์

ความรอบรู้นี่เองที่ทำให้บัณฑิตมี "ภูมิบัณฑิต"

ตรงนี้แหละสำคัญ สถาบันการศึกษาต้องมีหน้าที่สร้าง "ภูมิบัณฑิต" ให้กับบัณฑิตในทุกระดับด้วย

อะไรคือ "ภูมิบัณฑิต"

ก่อนตอบปัญหานี้ ขอย้อนไปดูวิธีให้การศึกษาในรั้วในวัง ซึ่ง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยให้ความเห็นในเรื่องนี้ ใจความว่า ขั้นต้นให้เด็กเรียนอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น อายุครบโกนจุก เด็กชายให้บวชเณร สึกแล้วจึงเรียนวิชาชีพตามถนัด เด็กหญิงเรียนวิชาการบ้านการเรือนไป ฝ่ายชายนั้น เรียนจบอายุครบบวช ก็บวชเรียนทางธรรม สึกออกมาจึงเรียกว่า "บัณฑิต" ดังเราเรียก "ทิด" หรือทิดสึกใหม่นั้น

นี่คือเงื่อนเค้าให้เห็นแนวทางการศึกษาไทยแต่โบราณว่าเขาสะสม "ภูมิบัณฑิต" กันอย่างไร

การบวชเณรของเด็กชายหลังตัดจุก เป็นการฝึกอบรมเรื่องการอดทนอดกลั้น ในช่วงวัยรุ่น เป็นการคุมประพฤติทางกายวาจาใจนั่นเอง

การบวชพระเมื่อถึงช่วงวัยหนุ่ม พร้อมไปประกอบอาชีพ จึงเป็นการเรียนรู้เรื่องชีวิตที่แท้หลังจากผ่านการเรียนรู้เฉพาะแขนงอาชีพมาแล้ว

ใจความสำคัญ คือการเรียนรู้โลกและชีวิตอย่างครบถ้วนกระบวนความนั่นเอง จึงจะได้ชื่อว่า เป็น "บัณฑิต" สมบูรณ์

ตกถึงสมัยโลกาภิวัตน์ โลกศตวรรษที่ 21 วันนี้ "ภูมิบัณฑิต" พึงมีอย่างไร

ความรอบรู้เรื่องโลกและชีวิต ยังมีอยู่หรือปล่อยให้กระแสโลกาภิวัตน์พัดพาไปสถานเดียว

เรื่องหลักๆ ที่ควรเป็นความรอบรู้อันบัณฑิตพึงมีเพื่อเป็นภูมิบัณฑิตนั้น ในที่นี้จะลองเสนอสามเรื่องเป็นตัวอย่าง

ท่านผู้รู้จะช่วยกันเสนอบ้างก็จะดียิ่ง

สามเรื่องที่ควรเป็น "ภูมิบัณฑิต" ของโลกวันนี้มี โลกทัศน์ ชีวทัศน์ สุนทรียทัศน์



โลกทัศน์ คือการรับรู้โลกอย่างถูกต้องตามเป็นจริง เช่น ความรู้ทางกายภาพของโลก ทั้งสสารและพลังงาน ตลอดจนรู้ระบบของสังคมโลกในทางโครงสร้าง เช่น เศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม ว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเหมือนต้นไม้ ที่มีเศรษฐกิจเป็นราก สังคมเป็นลำต้น กิ่งก้านสาขาเป็นการเมือง ใบและดอกผลเป็นวัฒนธรรม

หรือรับรู้แนวคิดวิทยาศาสตร์ สังคมและแนวคิดคลื่นลูกที่สาม อันว่าด้วยพัฒนาการของสังคมเกษตร อุตสาหกรรมและสังคมวิทยาการใหม่ คือไฮเทค พร้อมวัฒนธรรมอันเป็นผลผลิตของแต่ละสังคมนั้นๆ ด้วย

ทัศนะการมองโลกอย่างถูกต้อง ก็เพื่อจะได้เข้าใจโลก ไม่ตกเป็นเหยื่อโลก ดังอาการ "สะบัดร้อนสะบัดหนาว" ที่เป็นกันอยู่ทั้งโลกเวลานี้

ชีวทัศน์คือการรู้จัก "ตัวตน" ที่แท้ของตัวเราเองพร้อมกำหนดรู้ต่อการเอาตัวตนเข้าไปเกี่ยวข้องกับสรรพสิ่งทั้งปวงอย่างถูกต้องตามเป็นจริง ชนิดที่ไม่เป็นทุกข์ในทุกขั้นตอนทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นด้วย

เช่น การรู้จักตัวตนสามตัว คือ ตัวที่คนอื่นคิดว่าเราเป็น เราก็จัดแจงตัวเองให้เป็นอย่างนั้น วุ่นวายอยู่กับค่านิยม มายา ศักดิ์ศรีจอมปลอมกลวงเปล่าอยู่นั่นแล้ว จนตาย นี่คือตัวที่หนึ่ง

ตัวที่สอง คือ ตัวที่เราคิดว่าเราเป็น นี่ก็ต้องล้มลุกคลุกคลานอยู่กับมันไม่จบสิ้น จนถึงวันนี้ก็ยังเป็นได้ไม่เท่าไรเลย...อ้าว จะหมดเวลาอีกแล้ว

ตัวที่สามนี่แหละตัวเราเองจริงๆ ใช่แล้ว อยู่กับมันมาตั้งแต่เกิดจนถึงตรงนี้ ก็นั่งอยู่กับมันตลอดเวลา ส่องหน้าไม่เคยเห็นหน้าเลย

นี่แหละ "ตัวจริง" ที่เรามักปล่อยปละละเลย ทำกับมันเหมือนไม่รู้จักมัน จนวันตายก็ยังไม่รู้จัก

หัวใจของทุกศาสนา คือหลักธรรมที่จะบอกเราได้ในเรื่องนี้ ขอเพียงจงจับแก่น อย่าจับกระพี้เท่านั้น

สุนทรียทัศน์ คือการรู้จักความงามของทั้งโลกและชีวิต คนที่เข้าใจศิลปะแท้จริงนั้น นอกจากเห็น "แง่งาม" ในสรรพสิ่งแล้ว ยังอาจเนรมิตความงามให้สัมผัสได้อีกด้วย ศิลปะนั้นเป็นองค์รวมของภูมิปัญญาโดยแท้

โลกทัศน์คือความจริง สุนทรียทัศน์คือความงาม ชีวทัศน์คือความดี



เพราะฉะนั้น ผู้รู้อาจกล่าวว่า การได้รู้จักความจริง ความงาม และความดี เป็นสิ่งวิเศษสุดที่มนุษย์พึงได้พบในชีวิตนี้

บัณฑิตของเราวันนี้ จึงควรเป็นมนุษย์ผู้นอกจากจะรู้เฉพาะแขนงวิชาชีพแล้ว พึงเป็นผู้มีความ "รอบรู้" ในทัศนะทั้งสามด้วย ก็จะสมกับเป็นบัณฑิตผู้มี "ภูมิบัณฑิต" สมบูรณ์

มิอาจนำความรู้สู่ประโยชน์

ปริญญาเป็นโยชน์ก็หยากไย่

ประโยชน์จากเป็นอยู่ไม่รู้ใช้

ก็จะหาค่าอะไรในชีวิต
//////////////////
จาทบทความของ อ.เนาวรัตน์ที่ยกมา มหาวิทยาลัยทุกวันนี้สามารถก่อให้เกิดบัณฑิตท่มีคุณสมบัติดังว่าได้หรือ

จาก Treepipat(ip:203...193) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2548 19:17:16 น.

ที่มา :
//www.nokkrob.org/index.php?file=forum&obj=forum.view(cat_id=nkbd-5,id=8)




 

Create Date : 02 มกราคม 2550
0 comments
Last Update : 2 มกราคม 2550 11:42:14 น.
Counter : 1233 Pageviews.


naigod
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เพราะชีวิตมีความฝัน..
..จึงเป็นความงดงามของการมีชีวิต
Friends' blogs
[Add naigod's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.