ตุลาคม 2557

 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
โรคไส้ติ่งอักเสบ
เมื่อครั้งก่อน เราพูดคุยกันเรื่องเกี่ยวกับโรคเบาหวาน ถึง 3 ตอนด้วยกัน นะครับ  คราวนี้เปลี่ยนบรรยากาศมาพูดถึงโรคที่เกี่ยวกับทางศัลยกรรมบ้างครับ  โรคนี้เป็นโรคเร่งด่วนทางศัลยกรรมที่พบได้บ่อย ไม่ว่าจะในผู้ใหญ่ หรือในเด็กก็ตาม  โรคนี้สำหรับแพทย์จะว่าเป็นโรคที่ง่ายก็ได้ เพราะส่วนใหญ่มีรูปแบบอาการและอาการแสดงค่อนข้างจำเพาะ หากมีลักษณะอาการและอาการแสดงที่ชัดเจนแล้ว จะวินิจฉัยได้ง่ายมาก  การผ่าตัดโดยส่วนใหญ่ก็ทำได้ง่าย ใช้เวลาไม่นาน ความเสี่ยงไม่มากนัก   แต่ถ้าจะบอกว่ายาก ก็ได้ครับ ถ้าเป็นกรณีที่อาการและอาการแสดงไม่ชัดเจน ไม่เป็นไปตามทฤษฎี  หรือไม่สามารถสื่อสารได้ เช่นในเด็กเล็ก หรือคนสูงอายุที่คุยไม่ค่อยรู้เรื่อง  ซึ่งหากรักษาไม่ได้ทันท่วงที ก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ตั้งแต่การติดเชื้อที่บาดแผล และในกระแสเลือด ไปจนถึง เสียชีวิตได้เลยครับ    อ่านมาถึงตรงนี้ อย่าเพิ่งต๊กกะใจกลัวกันครับ  หากเราในฐานะผู้ป่วย หรือ ญาติพี่น้อง รู้เท่าทัน ก็จะทำให้สามารถมาได้ทันเวลา ก็จะลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ครับ

แล้วไส้ติ่งอักเสบมันคืออะไร
ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนครับว่า ไส้ติ่งมันคืออะไร  ไส้ติ่งเป็นอวัยวะที่มีลักษณะคล้ายหนอน ความยาวก็แตกต่างกันแล้วแต่บุคคลครับ มีตั้งแต่สั้นๆราว 4-5 ซม.  ไปจนถึง  14-15 ซม.เลยทีเดียว  ไส้ติ่งจะอยู่ตรงตำแหน่งรอยต่อของลำไส้เล็กส่วนปลาย (Terminal ileum) เชื่อมกับ ลำไส้ใหญ่ส่วนต้น (Caecum)  ภายในไส้ติ่งก็เป็นโพรงครับ แต่ปลายตันเหมือนถุงกาแฟ  หน้าที่ของมันคืออะไร ยังไม่มีใครบอกได้  แต่ก็สันนิษฐานกันว่า อาจจะเกี่ยวข้องกับภูมิต้านทานในทางเดินอาหารก็เป็นได้  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า หากขาดไส้ติ่งแล้ว จะทำให้ภูมิต้านทานเสียไป  เพราะตลอดแนวของทางเดินอาหาร ก็จะมีกลุ่มของเม็ดเลือดขาวรวมตัวกันอยู่ในผนังทางเดินอาหารอยู่แล้ว เพื่อช่วยจัดการเชื้อโรคที่อาจแทรกซึมผ่านทางผนัง



แล้วทำไมไส้ติ่งถึงอักเสบได้ล่ะ
อธิบายง่ายๆคือ  มีการอุดตันของโพรงของไส้ติ่ง ซึ่งสิ่งที่จะอุดตันก็ได้หลายอย่างครับ ที่พบบ่อยๆ คือ
1. กลุ่มของเม็ดเลือดขาวในผนังลำไส้ (Lymphoid follicle) มีขนาดโตใหญ่ขึ้น ทำให้ผนังบวมแล้วอุดตันโพรงไส้ติ่ง  มักพบในเด็ก  แต่ก็อาจเจอในผู้ใหญ่ได้ครับ 
2. อุจจาระอุดตัน เรียกกันแบบหรูๆว่า fecalith (fecal คืออุจจาระ + lith คือ หิน = อุจจาระที่แข็งเป็นก้อนแข็งเหมือนหิน)  โดยปกติแล้ว อุจจาระก็สามารถเข้าโพรงไส้ติ่งได้ แต่มักจะยังไม่แข็ง และสามารถไหลออกได้ จึงไม่อุดตัน  แต่วันร้ายคืนร้าย ก็อาจแข็งแล้วทำให้อุดภายในก็ได้   คนที่ท้องผูกก็อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยครับ

ส่วนสาเหตุอุดตันอื่นๆที่พบได้ แต่น้อย ก็คือ  พยาธิ ......ผมพิมพ์ไม่ผิดครับ  พยาธิ สามารถเข้าไปขดแล้วอุดตันได้ครับ  เช่น พยาธิไส้เดือน  พยาธิเส้นด้าย (หลายๆตัว)   พยาธิตัวตืด   เป็นต้นครับ   สิ่งแปลกปลอมที่กินเข้าไปก็อาจจะซวยเข้าไปอุดตันได้ครับ  แต่ก็เรียกว่าแจ๊คพ็อตเลยทีเดียว

ทีนี้เมื่ออุดตันแล้ว  ก็จะเกิดความดันภายในโพรงไส้ติ่งเพิ่มขึ้น  ผลที่ตามมาก็คือ ผนังไส้ติ่งบวมเป่งพองออก เลือดดำที่ไหลเวียนออกจากผนังไส้ติ่งก็จะออกได้ยากขึ้น ก็ยิ่งทำให้ผนังบวมเพิ่มขึ้น  ยิ่งบวม เลือดดำก็ยิ่งออกยาก ก็ยิ่งบวม เป็นวงจรไปเรื่อยๆ  จนความดันสูงถึงระดับที่เลือดแดงที่จะเข้าไปเลี้ยงผนังไส้ติ่งมันเข้าไม่ได้  ก็จะเกิดปัญหาผนังขาดเลือด จากนั้นก็จะเน่า  จนถึงระดับหนึ่ง ก็อาจแตกทะลุได้ครับ   ในระหว่างที่ผนังบวม ก็จะกระตุ้นการอักเสบไปด้วย ผนังก็จะเริ่มอ่อนแอลง เชื้อโรคที่อยู่ภายในโพรงไส้ติ่ง (ซึ่งอุดมไปด้วยอุจจาระ) ก็จะสามารถแทรกผ่านผนังได้ง่ายขึ้น และอาจผ่านเข้าสู่กระแสเลือดได้   ก็จะเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด   และนี่ล่ะครับ เป็นเหตุให้หากกำจัดต้นเหตุไม่ทันเวลา และรักษาภาวะติดเชื้อไม่ได้ดีพอ  ก็ส่งผลให้อวัยวะภายในต่างๆล้มเหลว จนอาจเสียชีวิตได้นั่นเองครับ



นั่นก็คือ ยิ่งปล่อยนาน......ความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน ก็ยิ่งสูงขึ้น


แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ

อาการที่จะพบได้บ่อย คือ  ปวดท้องครับ  เพียงแต่ตามทฤษฎีแล้วการปวดท้องจะเริ่มต้นด้วยการปวดท้องแบบไม่จำเพาะ กล่าวคือ ปวดตื้อๆบริเวณรอบสะดือ หรือ ใต้ลิ้นปี่  หรือ ท้องน้อยข้างซ้าย หรือปวดทั่วๆไป  สักระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งก็แล้วแต่บุคคล  จากนั้นก็จะย้ายไปปวดที่ท้องน้อยข้างขวา  โดยมากแล้วเมื่อย้ายที่ปวดแล้ว ตำแหน่งที่ปวดตอนแรกมักจะหายปวดไปครับ    ทั้งนี้ มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีการปวดย้ายที่ กล่าวคือ เริ่มแรกก็ปวดท้องน้อยข้างขวากันเลยก็มีครับ   นี่จึงเป็นเหตุผลว่ามีคนไข้จำนวนไม่น้อยที่ไปตรวจในระยะที่ปวดท้องไม่จำเพาะ จึงได้รับการรักษาแบบโรคกระเพาะมาก่อน ก็ไม่ใช่ว่าแพทย์วินิจฉัยผิดนะครับ  เพียงแต่ว่าตัวช่วยหลักในการวินิจฉัยโรคนี้คือ การมีลักษณะการปวดท้องน้อยข้างขวา และ เมื่อแพทย์ตรวจก็จะกดเจ็บที่ตรงนี้  ดังนั้นช่วงแรกของการปวดจึงอาจจะไม่มีเจ็บที่ท้องน้อยขวาได้



แต่เนื่องจากการปวดท้องแบบไม่จำเพาะนั้นมันคงอยู่ไม่นาน  ช่วงนั้นก็จะไม่ได้ส่งผลให้ไส้ติ่งเน่าแตกหรอกครับ  หากเราไปตรวจช่วงที่ย้ายมาปวดท้องน้อยขวาในระยะเวลาไม่นาน ก็จะไม่ถึงขั้นไส้ติ่งเน่าแตกครับ

อาการอื่นๆที่พบร่วมกันได้ คือ  เบื่ออาหาร (เฉพาะช่วงที่ปวดท้อง) กับ คลื่นไส้ จะพบได้บ่อยครับ อาจจะอาเจียนด้วยหรือไม่ก็ได้  ท้องเสียอาจมีหรือไม่ก็ได้   ไข้ สำหรับบางคนก็อาจจะไม่มีเลย  ผิดกับบางคนอาจจะไข้กระฉูดตั้งแต่เริ่มปวดท้องน้อยขวาก็ได้ครับ

ถ้าไปพบแพทย์ จะตรวจอะไรมั่งอ่ะ ?
ตอนแรก แพทย์ก็จะซักประวัติ ร่วมกับ  การตรวจร่างกาย  ซึ่งการตรวจร่างกาย หลักๆคือการตรวจสัญญาณชีพ (วัดอุณหภูมิ  ชีพจร ความดันเลือด อัตราหายใจ)  และตรวจหน้าท้อง ด้วยการคลำ กด ฟัง   ซึ่งถ้าเป็นไปตามทฤษฎีก็จะตรวจพบว่ามีการกดเจ็บที่ท้องน้อยขวา  แต่บางคนไม่เป็นตามนั้น อาจปวดค่อนไปขวาบนๆ หรือ ค่อนไปขวาล่างๆ หรือ ค่อนไปตรงกลางท้องน้อย ก็ได้ทั้งนั้น   หรือหากมาช้า ไส้ติ่งมีรั่ว หรือมีน้ำในช่องท้องมาก ก็อาจกดเจ็บทั่วๆท้องก็ยังได้ครับ

การปวดท้องน้อยขวา  ไม่ใช่ว่ามีแต่ไส้ติ่งอักเสบเท่านั้นนะครับ  มีโรคอีกหลายสิบโรคที่ปวดท้องตำแหน่งนี้ได้   ยกตัวอย่างนะครับ เช่น  ลำไส้อักเสบ ต่อมน้ำเหลืองของลำไส้อักเสบ   กรวยไตขวาอักเสบ  นิ่วในไต หรือท่อไตขวา  ตั้งครรภ์นอกมดลูก  ปีกมดลูก/รังไข่อักเสบ หรือเป็นฝีหนอง   ถุงน้ำหรือก้อนที่รังไข่ แตก หรือบิดขั้ว ถุงน้ำดีอักเสบ  กระเพาะอาหารแตกทะลุ   ฝีที่กล้ามเนื้อ psoas ข้างขวา  หรือแม้แต่เลือดประจำเดือนไหลย้อนมาออกทางด้านของปีกมดลูกขวา ก็ปวดได้    ซึ่งมีทั้งโรคที่จำเป็นต้องผ่าตัด และไม่จำเป็น

หากสงสัย แพทย์จะตรวจเลือด และตรวจปัสสาวะ    การตรวจเลือด หลักๆคือ ดูเม็ดเลือดขาวว่าสูงผิดปกติหรือไม่  รวมถึงมีภาวะซีด หรือเกล็ดเลือดผิดปกติด้วยหรือไม่  (ซึ่งหากผิดปกติ อาจต้องแก้ไขก่อนผ่าตัด)   การตรวจปัสสาวะ จะตรวจดูว่ามีสิ่งที่บ่งว่ามีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ หรือ บ่งว่าอาจจะมีนิ่วในไต หรือท่อไต   หากเป็นหญิงวัยเจริญพันธ์ ก็จะตรวจดูว่าตั้งครรภ์หรือไม่  เพราะหากตั้งครรภ์ ก็อาจเป็นครรภ์นอกมดลูก  หรือ หากครรภ์ในมดลูก ก็จะต้องเช็คว่าเด็กยังอยู่ดีหรือไม่ด้วยเช่นกัน

ถ้าผู้สูงอายุ (มักนับที่ >45ปี)  ก็จะตรวจเลือดดูหน้าที่ของไต และเกลือแร่ เพื่อเตรียมความพร้อมในกรณีต้องผ่าตัด

ถ้าหากว่าลักษณะอาการไม่ค่อยชัดเจน ยังก้ำๆกึ่ง  แพทย์อาจจะพิจารณาให้นอนสังเกตอาการในโรงพยาบาล ซึ่งโดยมากราวๆ 2-3 ชม.หลังจากนี้ ก็มักจะเปลี่ยนแปลงให้เห็นว่าดีขึ้น หรือเลงลง โดยไม่ได้ส่งผลให้ไส้ติ่งแตก    หรือหากบางที่สามารถส่งตรวจเพิ่มเติมได้โดยง่าย ก็อาจส่งทำ อุลตราซาวด์ช่องท้อง  หรือ  เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้อง    ก็อาจช่วยเพิ่มความสามารถในการวินิจฉัยโรคได้ดียิ่งขึ้น   แต่ต้องบอกก่อนนะครับว่า การตรวจดังกล่าวอาจช่วยวินิจฉัย ถ้าเห็นไส้ติ่ง หรือเห็นลักษณะการอักเสบบริเวณใกล้ๆไส้ติ่ง   และก็อาจจะไม่ช่วยวินิจฉัย ถ้าไม่เห็นลักษณะดังกล่าวที่ชัดเจน





ถ้าเป็นไส้ติ่ง.....จะรักษายังไงล่ะ ?
ณ ปัจจุบันนี้ การรักษาที่ดีที่สุด คือ การผ่าตัดไส้ติ่งออกครับ  เพราะไส้ติ่งไม่ได้เป็นอวัยวะสำคัญ ตัดออกก็ไม่ทำให้เสียหน้าที่แต่อย่างใด  อีกทั้งการผ่าตัดไส้ติ่ง จัดว่าเป็นการผ่าตัดไม่ใหญ่ ความเสี่ยงน้อย (ในคนธรรมดาปกติ)  ใช้เวลาสั้น และเป็นหัตถการที่ไม่ยุ่งยาก (อาจจะยาก ถ้าอ้วนมากๆ หรือ มีพังผืด หรือ ไส้ติ่งอยู่ในตำแหน่งที่ทำยาก)  

โดยการผ่าตัด จะต้องตรวจว่ามีความเสี่ยงในการผ่าตัดมากน้อยเพียงใด จากการเจาะเลือด เอกซเรย์ปอด  และ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ในรายที่สูงอายุ)   รวมถึงให้ งดน้ำงดอาหาร (อย่างน้อย 6 ชม.ก่อนผ่าตัด)  ให้น้ำเกลือเพื่อทดแทนน้ำที่ขาด  ให้ยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือด  

การผ่าตัด ก็จะลงแผลที่ท้องน้อยขวา ตรงตำแหน่งที่มักจะปวดกันนี่แหละครับ  เพราะตำแหน่งนี้ ไส้ติ่งจะอยู่ละแวกนั้น  สามารถคุ้ยหาได้ง่ายครับ  แต่มันอาจจะมุด อยู่ลึก หรือมีพังผืดติดพัน ก็ได้ครับ   หากไส้ติ่งไม่แตก ก็จะเย็บปิดผิวหนังให้เหมือนเดิมครับ   แต่หากไส้ติ่งแตก อยู่ในวิสัยทีประเมินแล้วไม่เหมาะที่จะเย็บปิด  แพทย์ก็จะเย็บขึ้นมาถึงชั้นกล้ามเนื้อ แต่จะยังไม่เย็บผิวหนัง เพื่อล้างแผลป้องกันการติดเชื้อ  หากทำแผลแล้วไม่มีปัญหาติดเชื้อ ก็ค่อยมาเย็บปิดภายหลังครับ   แต่หากมีติดเชื้อที่บาดแผล ก็ต้องล้างแผลกันต่อ และอาจต้องเอาไปตัดเนื้อตาย ระบายหนองเพิ่ม ถ้ามีครับ   ต้องเข้าใจก่อนนะครับว่า ไส้ติ่งอยู่ติดลำไส้ใหญ่ ซึ่งอุดมไปด้วยอุจจาระ  หากมีการแตกรั่ว โอกาสปนเปื้อนก็สูงขึ้น โอกาสติดเชื้อก็สูงตามครับ



ในปัจจุบัน มีการผ่าตัดไส้ติ่งผ่านกล้องทางหน้าท้อง ก็จะได้ประโยชน์ในคนไข้ที่อ้วน หน้าท้องหนามากๆ หากผ่าตัดแบบปกติ อาจต้องใช้แผลขนาดใหญ่ แต่ถ้าใช้กล้องก็จะใช้แผลเล็กกว่า  แต่ถ้าเป็นคนไข้หน้าท้องไม่หนา การผ่าตัดแบบธรรมดา ก็เปิดแผลค่อนข้างเล็กอยู่แล้ว จึงไม่ค่อยได้ประโยชน์สำหรับการส่องกล้อง   อีกทั้งค่าใช้จ่ายของผ่าตัดส่องกล้องจะแพงกว่ามากทีเดียวครับ



หลังผ่าตัด จะยังให้งดอาหารก่อนครับ  ระยะเวลาก็แล้วแต่ครับ  แต่ส่วนใหญ่แล้ว  สามารถจิบน้ำ และของเหลวๆ (เช่น นม น้ำผลไม้)  ได้ราวๆ  8 ชม.หลังผ่าตัดเป็นต้นไปครับ   แต่ก็แล้วแต่รายนะครับ  บางรายมีการอักเสบในช่องท้องด้วย ก็อาจทำให้ลำไส้ทำงานช้า ก็อาจมีท้องอืดนานกว่า    ต้องพยายามลุกเดิน เพื่อกระตุ้นลำไส้ให้ทำงาน ไล่ลม และน้ำย่อยที่คั่งค้างออก  สิ่งที่เป็นตัวสะท้อนว่าลำไส้ใหญ่ทำงานดีคือ  การผายลม (หรือภาษาชาวบ้านคือ "ตด")  การเรอเป็นการปล่อยลมย้อนทิศขึ้นจากกระเพาะออกทางปาก ไม่ได้สะท้อนถึงการทำงานของลำไส้แต่อย่างใด

หากปวด หรือเจ็บแผล  ก็สามารถขอยาแก้ปวดฉีดได้ครับ  แพทย์บางท่านอาจให้ยาแก้ปวดฉีดต่อเนื่องในช่วงวันแรกหลังผ่าตัด แต่บางท่านอาจสั่งให้เฉพาะเมื่อคนไข้ร้องขอ ก็แล้วแต่สไตล์ครับ  ทั้งนี้ก็ขอให้ทราบครับว่า  หากเจ็บแผลมาก ก็ขอยาได้ครับ อย่าไปฝืนทน เพราะจะทำให้เราขยับได้น้อย มีผลต่อท้องอืดได้


แล้วเมื่อไหร่จะกลับบ้านได้ล่ะ ?
ส่วนใหญ่มักจะให้กลับเมื่อเริ่มกินอาหารอ่อนได้ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก  โดยไม่มีอืดแน่น  ไม่มีไข้  ไม่มีบาดแผลติดเชื้อ  ซึ่งโดยมากก็ราวๆ 2-3 วัน ครับ  เมื่อกลับไปบ้าน ก็ลองกินอาหารอ่อนสัก 2-3 วัน  หากไม่มีปัญหาแน่นอืดเพิ่ม  ก็เริ่มกินอาหารปกติได้ครับ  และต้องไม่ลืมที่จะลุกเดินบ่อยๆ   การลุกเดิน ก็ไม่ต้องเดินนานนะครับ  เดินระยะสั้นๆ แต่เดินบ่อยๆ    ไม่ต้องกลัวแผลแยก  เพราะเย็บหลายชั้น


เรื่องแผลจะต้องทำยังไงมั่ง ?
ถ้าเป็นแผลเย็บที่ไม่เสี่ยงติดเชื้อ แพทย์บางท่านอาจให้ปิดแผลไว้ แล้วไม่ต้องเปิดทำแผลจนถึงวันตัดไหมก็ได้  บางท่านอาจให้ล้างแผลทุกวัน ก็แล้วแต่สไตล์นะครับ

แต่หากเป็นแผลเย็บที่อาจเสี่ยงติดเชื้อ  แพทย์มักจะให้ล้างแผลทุกวัน ก็ไปล้างที่คลินิก รพ.สต. หรือ รพ.ใกล้บ้าน  อย่าล้างเองนะครับ  เพราะต้องมีการเฝ้าระวังแผลด้วยครับ

หากเป็นแผลเปิดผิวหนัง (ยังไม่เย็บ) ก็ให้ล้างแผลทุกวันเช่นกัน 

และควรไปตรวจตามนัด เพื่อดูบาดแผล  ดูอาการโดยรวม และ ฟังผลชิ้นเนื้อ ด้วยครับ   โดยมากแพทย์มักให้ตัดไหมราวๆ  7วันหลังผ่าตัดครับ  แต่หากคนไข้สูงอายุมากๆ หรือมีภาวะขาดสารอาหารมาก หรือ รับยาต้านภูมิคุ้มกัน แผลอาจหายยากกว่าปกติ  ก็อาจให้ตัดไหมนานกว่านั้น (ราว 10-14 วัน)


ไม่ควรออกกำลังกาย โดยเฉพาะการก้มงอ ยืดตัว บิดเอี้ยวตัว  เกร็งหน้าท้อง  เพราะจะดึงรั้งแผลเป็นที่หน้าท้อง ทำให้เจ็บระบมได้   อย่างน้อย 1-2 เดือนนะครับ 



สำหรับเรื่องไส้ติ่งอักเสบ ก็ขอจบเท่านี้นะครับ  ถ้าสงสัยอะไร ก็โพสคำถามไว้ได้ครับ  หรือจะเข้าไปถามใน หน้าเพจ "คลินิกแพทย์เอกภาพ รักษาเบาหวาน ความดันสูง โรคทางศัลยกรรม"  ก็ได้ครับ  จะตอบคำถามที่สงสัยให้ครับ  และรบกวนกดไลค์ให้ด้วยนะครับ  อิอิ



Create Date : 23 ตุลาคม 2557
Last Update : 23 ตุลาคม 2557 23:26:24 น.
Counter : 7704 Pageviews.

2 comments
  
ดีมากเลยครับสำหรับข้อมูลกับความรู้ตัวผมเองพึ่งจะผ่าไส้ติ่งอักเสบครับพึ่งออกจากโรงพยาบาลเมื่อวานนี้เองตอนนี้พักฟื้นอยู่ครับ
โดย: รัตติพงษ์ IP: 223.24.62.243 วันที่: 29 พฤษภาคม 2561 เวลา:16:40:22 น.
  
ผ่าแล้วต้องฟังผลชิ้นเนื้อทุกคนหรอค่ะ
โดย: วิภาดา IP: 223.24.60.99 วันที่: 26 พฤษภาคม 2565 เวลา:17:54:07 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ระเบิดเด่น
Location :
นครราชสีมา  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]



ผมเป็นศัลยแพทย์ รพ.นครราชสีมา ครับ เรียกผมว่า "หมอบีม" ก็ได้ครับ
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ความรู้เรื่องของสุขภาพ โรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคทางศัลยกรรม (เนื่องจากผมเป็นศัลยแพทย์) โดยผมจะเน้นให้ความรู้อย่างกว้างๆเพื่อให้ทราบสาเหตุของโรค และวิธีการรักษาโรค อาจจะไม่ลงลึกนักนะครับ อยากเน้นให้ทราบวิธีปฏิบัติตัวมากกว่า หากต้องการถามคำถาม ให้ฝากคำถามไว้ใน "ฝากข้อความหลังไมค์" นะครับ ผมจะตอบให้ครับ รบกวนอย่าถามไว้ในกระทู้ หรือ blog แต่ละเรื่องนะครับ เพราะผมอาจจะไม่ได้เข้าไปอ่านนะครับ ส่วน "blog ธรรมจรรโลงใจ" นั้น เพิ่มเข้ามาเผื่อผู้สนใจเกี่ยวกับธรรมะครับ ถ้าอยากจะแสดงความเห็น ก็ลงในความคิดเห็น หรือ จะส่งข้อความหลังไมค์ก็ได้ครับ ยินดีครับ