มิถุนายน 2555

 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
24
27
28
29
30
 
ขยายความ.....อริยสัจ 4



อริยสัจ 4 แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ  อันได้แก่

1. ทุกข์

2. สมุทัย

3. นิโรธ

4. มรรค

หลายๆคนอาจจะรู้จักแค่นี้ จากที่เคยเรียนในสมัยเด็กๆ แต่อาจไม่เข้าความหมายและเหตุผลอันลึกซึ้งที่แท้จริง  ดังนั้นเรามาลองศึกษาและทำความเข้าใจให้ถึงรากแก่น (ไม่ใช่ โทนี่ รากแก่น นะ)  ของอริยสัจ กันนะครับ

ทุกข์

ทุกข์ จริงๆแล้ว ในคำบาลี จะมีอยู่ 2 ความหมายด้วยกัน คือ  ทุกข์ ที่ปรากฏใน อริยสัจสี่  และ ทุกข์ ที่ปรากฏใน กฎไตรลักษณ์

1. ทุกข์ ที่ปรากฏในอริยสัจ หมายถึง  ความไม่สบายกายไม่สบายใจ  (ในบางครั้งอาจจะแยกกันว่า ทุกข์ หมายถึงไม่สบายกาย , โทมนัส หมายถึง ไม่สบายใจ) นั่นคือ การมีภาวะที่มาทำให้เกิดความสบายกาย และ/หรือ ใจ  ซึ่งก็มีทั้งทุกข์จากภายในกาย และ ทุกข์ภายนอกกาย  

     - ทุกข์จากภายใน  คือ ปัจจัยจากภายในร่างกาย ทำให้เกิดความทุกข์  เช่น  การหิว กระหาย (จะเห็นได้ชัดเลยว่า เมื่อถึงเวลากินแล้วไม่ได้กิน มันทุกข์ขนาดไหน)  การเจ็บป่วยจากโรคภัยต่างๆ (อันนี้ชัดเจน แค่เป็นหวัดเฉยๆ ยังทุกข์เลย  ไม่ต้องพูดถึงเป็นมะโรง มะเส็ง เอ๊ย มะเร็ง) การเสื่อมของสังขาร (เมื่อแก่ตัวลง ร่างกายก็เสื่อมลง เจ็บนู่นนี่นั่น  เกิดโรคภัยได้ง่ายอีก ก็ทุกข์)  

     - ทุกข์จากภายนอก คือ มีปัจจัยภายนอกมากระทำให้เราเกิดความทุกข์ขึ้น  ซึ่งก็คือ สิ่งใดๆที่มากระทบผัสสะทั้ง 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย   แล้วทำให้เกิดความไม่พอใจ  เช่น  ดูรูปไม่สวย  ได้ยินเสียงไม่ไพเราะ  ได้กลิ่นเหม็น  ได้ลิ้มรสของไม่อร่อย  ได้สัมผัสของที่ไม่พึงปรารถนา (แข็งไป นิ่มไป แฉะไป แห้งไป  แหยะๆ หยึย...ย!!)  เป็นต้น 

        รวมไปถึง การได้ในสิ่งที่ไม่อยากได้  การไม่ได้ในสิ่งที่อยากได้ และ การพลัดพรากในสิ่งที่รักชอบใจ  ก็ทำให้ทุกข์ทั้งสิ้น 

2. ทุกข์ที่ปรากฏในกฎไตรลักษณ์ หมายถึง  ความไม่สามารถคงอยู่ในสภาพเดิม  ซึ่งปรากฏอยู่ในกฎของไตรลักษณ์  (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)

    เช่น  ถ้าให้นั่ง หรือ นอน อยู่ในท่าเดิม โดยไม่ขยับเลยล่ะก็ ทำกันไม่ได้หรอกครับ  เพราะโดยธรรมชาติ ร่างกายจะต้องเคลื่อนไหวเพื่อไม่ให้มีการกดทับจุดใดจุดหนึ่ง ซึ่งจะทำให้จุดที่ถูกกดทับขาดเลือด เกิดแผลกดทับ  ให้สังเกตว่า เวลาเรานอน จะไม่ได้นอนนิ่งท่าเดียว แต่จะมีการพลิกซ้ายพลิกขวา โดยที่เราไม่รู้ตัว    

     หรือ ถ้าจะลองสังเกตตึกรามบ้านช่อง  ใหม่ๆ ก็ดูสวยงามดี  แต่ต่อมาไม่นานก็เริ่มมีรอยดำด่าง รอยแตก เพิ่มเรื่อยๆ นี่คือ ตัวอย่างของความไม่สามารถคงอยู่ในสภาพเดิมได้  หรือ น้ำในแก้ว เราจะบังคับให้น้ำในแก้วนั้นคงปริมาณไว้เท่าเดิมคงไม่ได้ เพราะน้ำมีการระเหยออกไป  การระเหยก็คือการที่น้ำไม่สามารถทนสภาพเดิมได้ตลอดไปนั่นเอง  เป็นต้น

สมุทัย 

หมายถึง  ต้นเหตุแห่งทุกข์  พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นเพราะ "ตัณหา" ซึ่งหมายถึง ความทะยานอยาก  มีอยู่ 3 จำพวก

    -  กามตัณหา  คือ ความอยากสัมผัสในกามคุณทั้ง 5 คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสทางกาย ที่น่ารักน่าใคร่  ซึ่งเราคงน่าจะนึกภาพกันออก  ดังตัวอย่างในหัวข้อ ทุกข์จากภายนอก  มักจะประกอบด้วยราคะ (คือ ความรัก) และ โมหะ (คือ ความหลง) 

    - ภวตัณหา  คือ  ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น   เช่น  อยากได้บ้าน รถ  อยากเป็น นายกฯ  อยากมีเมีย ฯลฯ ซึ่งจะเน้นออกไปในทางโลภ หากไม่สามารถควบคุมได้ ก็อาจนำไปสู่การก่ออาชญากรรม

    - วิภวตัณหา คือ ความไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น  เช่น  ไม่อยากทำงานที่นี่เลย  ไม่อยากอยู่บ้านหลังเก่า  ไม่อยากได้เมียคนเก่า  ฯลฯ  ออกไปในแนวเกลียดนั่นเอง  ซึ่งมักจะเจือปนด้วยความโกรธ หรือ โทสะ หรือ อาจเกิดจากกลัว ก็ได้

    จะสังเกตได้ว่า  ตัณหาทั้ง 3 จำพวก จะมีความเกี่ยวข้องกับ อคติ 4 คือ อคติจากความโลภ  จากความโกรธ (โทสะ) จากความหลง(โมหะ) ซึ่งอาจรวมความรักเข้าไปด้วย  และ จากความกลัว (ภยะ)

    ยังมีอีกตัวหนึ่งที่ทำให้สัตว์โลกยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่  นั่นก็คือ อุปาทาน (ความยึดมั่นถือมั่น)  เพราะเรายึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งที่เป็นของเรา สิ่งนั้นเป็นของเขา  เมื่อเราไม่ได้ของ เราจึงเกิดความทุกข์   เมื่อเราสูญเสียสิ่งอันเป็นที่รัก เราจึงทุกข์  เพราะเรายึดมั่นว่าความคิดของเราถูกต้อง เหมาะสม  เมื่อความคิดของเราไม่ตรงกับเขา จึงเกิดความโกรธเคือง และเป็นทุกข์   เพราะเรายึดมั่นว่า ความสวยสาวจะต้องคงอยู่ตลอดไป เมื่อเริ่มร่วงโรย เหี่ยวย่น จึงเกิดความทุกข์   เพราะเรายึดมั่นว่าคนที่เรารักจะอยู่กับเราไปเรื่อยๆ คนแก่เท่านั้นที่ใกล้ความตาย เด็กน้อยยังห่างไกลความตาย เมื่อคนที่รักจากไป โดยเฉพาะเด็กน้อย (ไม่ว่าจากเป็นหรือจากตาย) จึงเกิดความทุกข์   ฯลฯ   นี้เป็นเพียงตัวอย่างของความยึดมั่นถือมั่นที่สัตว์โลกมีอยู่  ยึดมั่นว่า ทุกสิ่งในโลกนั้น จีรังยั่งยืน  คงสภาพเดิมตลอดไป  และ เป็นของๆเรา  ทั้งๆที่ทุกสิ่งในโลกใบนี้  ไม่จีรังยั่งยืน (อนิจจัง)  ไม่สามารถคงอยู่ในสภาพเดิม (ทุกขัง) และ ไม่เป็นตัวเป็นตน ไม่ใช่ของๆเรา (อนัตตา)  จึงทำให้สัตว์โลกจำนวนมากไม่สามารถหลุดพ้นจากความทุกข์นี้ได้

นิโรธ

หมายถึง  การดับทุกข์อย่างสิ้นเชิง 

พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนถึงเรื่องของ "ปฏิจจสมุปบาท"  ซึ่งเป็นหลักธรรมข้อหนึ่ง ที่อธิบายถึง การเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลายเพราะอาศัยกัน และการที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกัน จึงเกิดมีสิ่งนั้นขึ้น   เป็นหลักธรรมที่อธิบายถึงการที่เกิดทุกข์ได้เพราะอาศัยปัจจัยต่อเนื่องกันมา ประกอบด้วยองค์ 12 ดังนี้

  • เพราะอวิชชา (ความไม่รู้) เป็นปัจจัย สังขารจึงมี
  • เพราะสังขาร (ความปรุงแต่ง) เป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
  • เพราะวิญญาณ (ความรับรู้) เป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
  • เพราะนามรูป (ขันธ์ 5 ประกอบด้วย รูป 1 นาม 4) เป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
  • เพราะสฬายตนะ (อายตนะทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) เป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
  • เพราะผัสสะ (การที่สิ่งเร้ามาสัมผัสกับอายตนะ) เป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
  • เพราะเวทนา (ความรู้สึกสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์) เป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
  • เพราะตัณหา (ความทะยานอยาก) เป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
  • เพราะอุปาทาน (ความยึดมั่นถือมั่น) เป็นปัจจัย ภพจึงมี
  • เพราะภพ (แดนเกิด)เป็นปัจจัย ชาติจึงมี
  • เพราะชาติ (การเกิด) เป็นปัจจัย ชรามรณะ (ความแก่-ตาย)จึงมี
  • ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ ก็มีพร้อม ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมีดั่งนี้

ดังนั้นหากคิดย้อนกลับคือ ถ้าต้องการกำจัดความโศก คร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส คับแค้นใจ การเกิด (ชาติ) การแก่-ตาย (ชรา-มรณะ) ภพ (แดนเกิด) ก็ต้องกำจัด ตัณหา อุปาทาน  ซึ่งการที่จะกำจัดสิ่งเหล่านี้ออกไปได้หมด ต้นกำเนิดของสิ่งเหล่านี้ คือ อวิชชา (คือ ความไม่รู้) 

ที่เราว่า "ไม่รู้" คือ ไม่รู้ไม่เห็นในความจริงแห่งชีวิต นั่นเอง  ยกตัวอย่างเช่น  เรายังคิดว่าการเกิดนั้นดี  เรายังยินดีกับการเกิด จะเห็นได้จากการยินดีที่มีเด็กเกิดขึ้นมา (ซึ่งคงเป็นเพราะเรามองว่าเด็กทารกน่ารักน่าชัง) ทั้งๆที่การเกิดนั้นเป็นทุกข์ เพราะคือการเริ่มต้นรับความทุกข์  ตั้งแต่ หิว กระหาย ร้อนหนาว เปียกแฉะ เจ็บปวด ไปจนกระทั่ง หาที่เรียน  หาที่ทำงาน  หาแฟน  คลอดลูก ฯลฯ...เจ็บไข้ได้ป่วย  และตาย 

เพราะเรายังเห็นว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่น่ารัก น่าใคร่ น่าเสพ น่าสัมผัส   จึงทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านี้  ความหวงแหน จึงได้เกิดตามมา  เมื่อความหวงแหนเกิด จึงทำให้เกิดการแก่งแย่ง และทะเลาะเบาะแว้งกัน นำมาซึ่งการผิดศีลผิดธรรม และความไม่สงบสุขฉะนี้

การดับทุกข์ในทางพระพุทธศาสนา คือ การปฏิบัติเพื่อทำให้เกิดความรู้แจ้ง (เรียกว่า "ตรัสรู้" ซึ่งต่างจากการรู้ธรรมดา) เมื่อรู้แจ้งแล้ว จึงจะสามารถตัดซึ่งกิเลส ตัณหา อุปาทาน ได้   ซึ่งเมื่อพิจารณาตามปฏิจจสมุปบาทแล้ว จะได้ความดังนี้

ความทุกข์ จะดับไปได้เพราะดับ ชาติ (การเกิดอัตตา"ตัวตน"คิดว่าตนเป็นอะไรอยู่)

ชาติ จะดับไปได้เพราะดับ ภพ (การมีภาระหน้าที่และภาวะทางใจ)

ภพ จะดับไปได้เพราะดับ อุปาทาน (ความยึดติดในสิ่งต่าง ๆ)

อุปาทาน จะดับไปได้เพราะดับ ตัณหา (ความอยาก)

ตัณหา จะดับไปได้เพราะดับ เวทนา (ความรู้สึกในทางทุกข์หรือสุขหรือความรู้สึกเฉยๆไม่สุขไม่ทุกข์)

เวทนา จะดับไปได้เพราะดับ ผัสสะ (การสัมผัสด้วยประสาทต่าง ๆ)

ผัสสะ จะดับไปได้เพราะดับ อายตนะ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)

อายตนะ จะดับไปได้เพราะดับ นามรูป (ร่างกายและจิตใจ)

นามรูป จะดับไปได้เพราะดับ วิญญาณ (การรับรู้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)

วิญญาณ จะดับไปได้เพราะดับ สังขาร (การนึกคิดหรือการปรุงแต่งของใจ)

สังขาร จะดับไปได้เพราะดับ อวิชชา (ความโง่เขลาหรือความไม่รู้:ไม่รู้ทุกข์อย่างแจ่มแจ้ง)

เมื่อดับ "อวิชชา" ได้แล้ว  จึงเกิด "วิชชา" (ความรู้แจ้งเห็นจริง คือ ตรัสรู้) นั่นเอง  ซึ่งเมื่อดับทุกข์ได้แล้ว  จึงไม่ต้องมีการเกิด และไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไป  นั่นก็คือ เข้าถึงพระนิพพาน

มรรค  หรือ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

คือ แนวปฏิบัติที่นำไปสู่หรือนำไปถึงความดับทุกข์  อันได้แก่ อริยมรรค มีองค์ 8 ได้แก่

1. สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ ) คือ การมีความเห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม นั่นคือไม่มีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) ดังต่อไปนี้

 1.1   เห็นว่า ทานไม่มีผล คือ ทำทานแล้วไม่เกิดผลใดๆ เห็นว่า สงเคราะห์ไม่มีผล คือ การช่วยเหลือกัน เป็นสิ่งไร้สาระ เพราะรัฐบาลคอยให้สวัสดิการแก่ทุกคนเท่ากันอยู่แล้ว 

 1.2    เชื่อว่า การปฏิสันถารบุคคลที่ควรแก่การต้อนรับเชื้อเชิญไม่มีผล 

 1.3.   เห็นว่า การบูชาคนที่ควรบูชาไม่มีผล คือ ไม่ต้องบูชาใคร เราเติบโดมาได้ด้วยตัวเราเอง ไม่มีใครช่วย 

 1.4    เห็นว่า โลกนี้ ไม่มี เชื่อว่าตายเกิดชาติเดียว แล้วสูญ 

 1.5    เห็นว่า โลกหน้า ไม่มี เชื่อว่าตายเกิดชาติเดียว แล้วสูญ 

 1.6    เห็นว่า กฏแห่งกรรมไม่มีจริง ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป 

 1.7    เห็นว่า บิดาไม่มีพระคุณ ที่ให้กำเนิดลูกมา เพราะรักสนุก นั่นเอง 

 1.8    เห็นว่า มารดาไม่มีพระคุณ เป็นแค่สหายร่วมโลก 

 1.9.   เห็นว่า เทวดา พรหม เปรต อสุรกาย สัตว์นรก ไม่มี ไม่เชื่อว่า พวกนี้มีจริง 

 1.10. เห็นว่า พระอรหันต์ ผู้หมดกิเลส ไม่มีจริงในโลก

 หากไม่มีความเห็นชอบแล้ว  ย่อมทำให้คนๆนั้น ทำชั่วได้อย่างสนิทใจ และ ไม่ทำความดีเลย เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่ไร้สาระ นั่นย่อมทำให้คนๆนั้น ไปสู่ทุคติได้โดยง่าย และโอกาสพ้นทุกข์หาได้ยาก

  แต่หากมีความเห็นชอบแล้ว ย่อมทำให้คนๆนั้น กล้าที่จะทำความดี และมั่นใจในการทำความดี จึงทำให้คนๆนั้นไปสู่สุคติได้ง่าย และมีโอกาสพ้นทุกข์ได้ไม่ยาก

2. สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ ) คือ การคิดเพื่อหาทางออกจากความทุกข์ในทางที่ถูกที่ควร ตั้งแต่การมีมโนสุจริต 3 ได้แก่ การไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น  การไม่เพ่งพยาบาทปองร้าย  และ การมีสัมมาทิฏฐิ  ไปจนถึงการบวชเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง

3. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ)  คือ การพูดจาถูกต้อง ไม่เป็นโทษต่อตนเอง และ ผู้อื่น  ซึ่งคือ การมี วจีสุจริต 4 ได้แก่  การไม่พูดปดมดเท็จ  การไม่พูดจาส่อเสียด (ทำให้ผู้อื่นแตกแยก)  การไม่พูดหยาบคาย  การไม่พูดเพ้อเจ้อไร้สาระ 

4. สัมมากัมมันตะ (ทำการงานชอบ)  คือ การกระทำที่ดี ไม่เป็นโทษต่อตนเองและผู้อื่น  ซึ่งก็คือ การทำกายสุจริต 3 ได้แก่  การไม่ฆ่า-เบียดเบียนสัตว์  ไม่ลักทรัพย์ฉ้อโกง ไม่ประพฤติผิดในกาม   รวมไปถึง งดเว้นจากการดื่มสุรายาเมา ยาเสพติด (รวมถึงบุหรี่)  การไม่เล่นการพนัน ไม่เที่ยวเตร่  ไม่คบคนพาล

5. สัมมาอาชีวะ  (เลี้ยงชีพชอบ)  คือ การทำมาหาเลี้ยงชีพตน และ ครอบครัวด้วยความถูกต้องเหมาะสม ซึ่งก็คือ ไม่ทำ "มิจฉาวณิชชา"  ได้แก่

    - สัตถวณิชชา คือ การค้าขายอาวุธ  ไม่ว่าจะเป็นปืนผาหน้าไม้ ไปจนถึง จรวด ระเบิด ฯลฯ  วัตถุใดๆที่ใช้ประหัตประหารกันได้ล้วนรวมอยู่ในข้อนี้

    - สัตตวณิชชา คือ การค้ามนุษย์  ซึ่งรวมความทั้ง ค้าเด็ก ค้าสตรี จะเพื่อการใช้แรงงาน หรือ ทางประเวณีก็ตาม รวมถึง ค้าแรงงานเถื่อน ก็รวมในข้อนี้ด้วย

    - มังสวณิชชา คือ การค้าสัตว์เพื่อทำเป็นอาหาร  ไม่ว่าจะเป็นรายเล็ก รายใหญ่ เพราะเป็นการสนับสนุนให้มีการฆ่าสัตว์  (ฉะนั้น เครือ CP เองก็จัดว่าทำประเภทนี้ด้วยเช่นกัน

    -  มัชชวณิชชา คือ การค้า/ผลิต น้ำเมา และ สิ่งเสพติดต่างๆ  ซึ่งก็รวมไปถึงบุหรี่ด้วย  ดังนั้นร้านรวงต่างๆที่ขายสิ่งเหล่านี้ จะรายเล็กรายใหญ่ ก็รวมในข้อนี้ด้วย

    -  วิสวณิชชา  คือ การค้ายาพิษ ซึ่งเป็นอันตรายต่อ คน หรือ สัตว์ ก็ตาม  ดังนั้นพวกค้า/ผลิต ยาฆ่าแมลง ฆ่าศัตรูพืชทั้งหลาย และ ค้า/ผลิตอาวุธสารเคมี ก็อยู่ในกลุ่มนี้เช่นกัน   

    จะเห็นได้ว่า การค้าขายทั้ง 5 กลุ่มดังกล่าวนี้ ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนไม่ต่อสัตว์ ก็ต่อคน  หรือ ต่อทั้งสองกลุ่ม 

6. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ) คือ ความพากเพียรในทางที่ควร เพื่อให้ดำรงอยู่ในเส้นทางของอริยมรรค โดยไม่ย่อหย่อน จนอาจถึงขั้นอธิษฐานตั้งมั่นอย่างแรงกล้า

7. สัมมาสติ (ระลึกชอบ ) คือ การระลึกแต่สิ่งที่ถูกที่ควร ที่เกี่ยวข้องต่อการสร้างบารมี และการบำเพ็ญเพื่อพ้นทุกข์ รวมไปถึง สติปัฏฐาน 4 คือ ใช้สติเพื่อพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ตามความเป็นจริงในมุมมองของไตรลักษณ์ (สามัญญลักษณะ)

8. สัมมาสมาธิ (ตั้งใจชอบ)  คือ การตั้งมั่นแห่งจิต ให้รวมจิตอยู่ในจุดเดียว ซึ่งจะทำให้เกิดกำลังแห่งจิต และนำไปสู่ดวงปัญญา เพื่อจะกำจัดกิเลสอาสวะ


นี้เป็นอริยสัจ 4 ที่ผมขยายความเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจขึ้น แต่อาจต้องศึกษาในรายละเอียดในบางเรื่องเพิ่มเติมนะครับ




Create Date : 25 มิถุนายน 2555
Last Update : 29 มิถุนายน 2555 21:51:43 น.
Counter : 5363 Pageviews.

2 comments
  
ขอบคุณนะคะ เข้าใจได้ชัดเจนมากเลยค่ะ
แต่ทำไมตรงสัมมาทิฏฐิ ถึงมีคำว่า 'ไม่' อยู่ทุกข้อเลยละคะ ไม่พิมพ์ผิด หนูก็คงอ่านผิดเอง
แต่อย่างไรก็ขอบคุณมากนะคะ อนุโมทนาค่ะ

โดย: ปลาย (enterstep ) วันที่: 25 มิถุนายน 2555 เวลา:18:12:59 น.
  
ตอบคุณ ปลายนะครับ

ขอบคุณนะครับที่ทักท้วง ผมพิมพ์บทความนี้ไว้นานแล้ว ได้โอกาสเลยเอามาลงไว้ เลยไม่ได้เช็คความถูกต้อง ต้องขอโทษด้วยครับ ผมแก้เรียบร้อยแล้วครับ
โดย: ระเบิดเด่น วันที่: 29 มิถุนายน 2555 เวลา:21:46:57 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ระเบิดเด่น
Location :
นครราชสีมา  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]



ผมเป็นศัลยแพทย์ รพ.นครราชสีมา ครับ เรียกผมว่า "หมอบีม" ก็ได้ครับ
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ความรู้เรื่องของสุขภาพ โรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคทางศัลยกรรม (เนื่องจากผมเป็นศัลยแพทย์) โดยผมจะเน้นให้ความรู้อย่างกว้างๆเพื่อให้ทราบสาเหตุของโรค และวิธีการรักษาโรค อาจจะไม่ลงลึกนักนะครับ อยากเน้นให้ทราบวิธีปฏิบัติตัวมากกว่า หากต้องการถามคำถาม ให้ฝากคำถามไว้ใน "ฝากข้อความหลังไมค์" นะครับ ผมจะตอบให้ครับ รบกวนอย่าถามไว้ในกระทู้ หรือ blog แต่ละเรื่องนะครับ เพราะผมอาจจะไม่ได้เข้าไปอ่านนะครับ ส่วน "blog ธรรมจรรโลงใจ" นั้น เพิ่มเข้ามาเผื่อผู้สนใจเกี่ยวกับธรรมะครับ ถ้าอยากจะแสดงความเห็น ก็ลงในความคิดเห็น หรือ จะส่งข้อความหลังไมค์ก็ได้ครับ ยินดีครับ