มิถุนายน 2555

 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
24
25
26
27
28
29
30
 
เบาหวาน : ภาคดูแลเท้า
จากบทความที่แล้ว  เราได้เรียนรู้ถึงความน่ากลัวของโรคเบาหวานกันแล้วนะครับ  ซึ่งปัญหาที่พบได้บ่อยสำหรับคนที่เป็นเบาหวาน คือ มีแผลง่าย แต่หายยาก  แต่เชื่อมั้ยล่ะครับว่า มีคนไข้เบาหวานจำนวนมากที่ไม่ดูแลรักษาเท้าตนเอง   บางคนมีแผลมาหลายเดือนแต่ไม่เจ็บ  มีหนองกลิ่นเหม็นเน่า (ขอย้ำว่า เหม็นเน่า มากๆ)  แต่ไม่มาตรวจ เพิ่งมาตรวจก็เพราะเริ่มเจ็บแผล ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นก็ย่ำแย่จนต้องตัดนิ้ว หรือ ตัดขา

ปัญหาหลักๆก็คือ คนไข้ไม่รู้ว่าการดูแลเท้าที่เหมาะสมควรทำอย่างไร  มีบางส่วนที่รู้แล้ว แต่ไม่ตระหนักไม่ใส่ใจ  มีเพียงส่วนน้อยที่มีปัญหาเดินทางมา รพ.ไม่สะดวก ซึ่งอาจเพราะไม่มีรถ ไม่มีเงินเหมารถ โดยมากมักพบในต่างจังหวัด  จึงเป็นเหตุให้ไม่ได้มาตรวจ  กว่าจะมาอีกทีก็เยินซะแล้ว......(-_- ")

จึงมีสุขบัญญัติ 10 ประการที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศออกมาเพื่อให้ความรู้แก่คนไข้เบาหวานในการดูแลเท้าของตนเองดังนี้ครับ

บัญญัติ 10 ประการในการดูแลเท้า

1. ล้างเท้าด้วยน้ำสบู่และน้ำสะอาด แล้วใช้ผ้าสะอาดซับให้แห้งทุกซอกทุกมุม



    เชื่อมั้ยล่ะครับว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่อาบน้ำทุกวี่วัน แต่ไม่ได้ล้างเท้าเลย ซึ่งการที่ไม่ได้ล้างเท้า จะทำให้เกิดความหมักหมมขึ้นโดยเฉพาะง่ามนิ้วเท้า และซอกเล็บ จึงมีโอกาสเกิดเชื้อรา หรือ ติดเชื้อแบคทีเรียอื่นๆได้ง่ายครับ

2. สำรวจเท้าทุกวันว่ามีบาดแผลหรือไม่ โดยการส่องกระจก



    คนไข้เบาหวานที่มีปัญหาเท้าชาจากเส้นประสาทรับความรู้สึกของเท้าเสื่อม ทำให้เหยียบของแหลมคม หรือ เตะอะไรก็ตาม ก็ไม่รู้สึกเจ็บ  เมื่อมีแผลขึ้นมาจึงไม่รู้  หากไม่ได้ตรวจเช็คเท้าดู ก็ทำให้แผลไมได้รับการดูแลรักษาจนเกิดการติดเชื้อลุกลาม   ดังนั้นการสำรวจเท้าทั้งหลังเท้า และ ฝ่าเท้าทั้งสองข้าง ด้วยการส่องกระจก จะช่วยให้เราสามารถตรวจพบแผลได้เร็วขึ้น  ควรทำทุกวัน (อาจทำตอนก่อนนอน) เพื่อให้รักษาแผลได้เร็ว

3. ทาครีมหรือโลชั่นให้ทั่วทั้งหลังเท้าและฝ่าเท้า เพื่อความชุ่มชื้นโดยหลีกเลี่ยงบริเวณซอกนิ้วเท้า



    โดยมากเท้าที่เส้นประสาทอัตโนมัติเสื่อม จะทำให้การสร้างเหงื่อและไขมันลดลง ทำให้ผิวหนังบริเวณเท้าแห้ง และแตกง่าย  การทาโลชั่น หรือ ครีมจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง  แต่ให้หลีกเลียงซอกนิ้วเท้า โดยเฉพาะคนไข้ที่นิ้วเท้าบิดเกผิดรูป ก็เพราะซอกนิ้วมีโอกาสแฉะชื้นได้ง่าย (จากเหงื่อที่ยังพอมีได้บ้าง และมักจะอบอยู่ในรองเท้านานๆ) ถ้าทาโลชั่นมากเกิน ก็อาจทำให้ผิวซอกนิ้วเปื่อย เกิดการติดเชื้อได้ง่ายครับ

4. เลือกใส่รองเท้าหุ้มส้นให้พอดีกับเท้า ไม่คับไม่หลวมเกินไป




   เหตุที่ให้ใส่รองเท้าหุ้มส้น ก็เพราะคนไข้ที่มีปัญหาเท้าชา มีโอกาสไปเดินเตะอะไรต่อมิอะไรโดยไม่รู้ตัวได้  รองเท้าแบบนี้จะช่วยลดการบาดเจ็บลงได้บ้าง  ที่สำคัญคือ ไม่คับหรือหลวมเกินไป  เพราะหากรองเท้ากัด ก็ทำให้เกิดบาดแผลได้เช่นกัน  การมีสายรัดส้นช่วยให้รองเท้าไม่หลุดจากเท้า เพราะบางคนกล้ามเนื้อเท้าอ่อนแรงจนไม่สามารถประคองให้รองเท้าอยู่ติดเท้าได้

5. สวมถุงเท้าที่เป็นผ้าฝ้ายระบายความร้อนได้ดี

    เวลาใส่รองเท้า ควรใส่ถุงเท้าร่วมด้วยเพื่อลดการกระแทก เสียดสีกับรองเท้า แต่เพราะอากาศเมืองไทยมันร้อน ผ้าฝ้ายจะช่วยระบายความร้อนได้ดี  แม้กระนั้นก็ควรจะถอดรองเท้า และถุงเท้าบ้างเวลานั่งพัก เพื่อให้ระบายความร้อนความชื้นออกครับ

6. หลีกเลี่ยงการแช่เท้าในน้ำอุ่น หรือน้ำร้อนโดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เท้าพุพองได้

    คนไข้ที่เท้าชา เวลาแช่เท้าในน้ำอุ่น-ร้อน อาจจะไม่รู้ว่าร้อนมากน้อยเพียงใด จึงอาจทำให้เกิดแผลน้ำร้อนลวกได้โดยไม่รู้ตัว  อีกทั้งการแช่เท้านานๆก็ทำให้ผิวหนังเปื่อย และเกิดแผลและติดเชื้อได้ง่ายครับ

7. การตัดเล็บ ควรตัดในแนวตรงและตะไบบริเวณมุมเล็บ เพื่อป้องกันการเกิดเล็บขบหรือให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ตัดเล็บให้



    เล็บขบถือเป็นปัญหาหญ้าปากคอกสำหรับคนไข้เบาหวานเลยทีเดียวครับ  มีไม่น้อยที่ตัดเล็บลึกเกินไป เมื่อเล็บงอกขึ้นจึงเกิดเป็นเงี่ยงทิ่มเนื้อรอบเล็บ เกิดเป็นเล็บขบ ติดเชื้อขึ้นมา บางรายบานปลายกลายเป็นนิ้วเน่า จนต้องตัดนิ้ว  การตัดเล็บจึงควรตัดแนวตรง ไม่ตัดลึก และควรตะไบเพื่อลบคมด้วย



8. หมั่นนวดบริเวณเท้าอยู่เสมอเพื่อให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น



    การนวดช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว และกระตุ้นเลือดไหลเวียนดีขึ้น  อาจนวดแห้งๆ หรือ นวดขณะทาโลชั่นก็ได้ครับ

9. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่เพื่อป้องกันเส้นเลือดตีบ



    บุหรี่จัดว่าเป็นยาเสพติดที่ถูกกฎหมาย (ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมถึงปล่อยให้ถูกกฎหมาย ทั้งที่มีคนที่เจ็บป่วยจากบุหรี่จำนวนมากกว่าเจ็บป่วยจากยาบ้างซะอีก และต้องสิ้นเปลืองเงินภาษีเพื่อการรักษาคนเจ็บป่วยจากบุหรี่ และเหล้า เป็นจำนวนมหาศาล)  แต่ก่อปัญหาให้กับคนไข้ได้มาก เพราะนอกจากจะทำให้ถุงลม และหลอดลมเสียหายแล้ว  ยังมีผลต่อเส้นเลือดทั่วร่างกาย รวมถึงเส้นเลือดที่เลี้ยงเท้า  ทำให้เส้นเลือดตีบตัน เร่งให้ปัญหาเส้นเลือดอุดตันจากเบาหวานเกิดเร็วและรุนแรงขึ้นครับ

10. หากพบว่ามีแผลที่เท้าควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาทันที ไม่ควรนิ่งนอนใจ

     เมื่อตรวจพบแผลแล้ว อย่าดันทุรังทำแผลเอง หรือ แม้จะไปทำแผลที่สถานีอนามัย (รพ.สต.) แต่ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล โดยเฉพาะศัลยแพทย์ (ถ้ามี) เพราะแผลเหล่านี้ หากตรวจโดยผู้ไม่ชำนาญ อาจจะคิดว่าเป็นเพียงแผลเล็กๆไม่มีปัญหาอะไร จึงแค่ทำแผล ให้ยาไปกิน  แผลไม่ยอมหาย กว่าจะรู้อีกที แผลกินลึกเข้าไปถึงกระดูกแล้ว ก็รักษาได้ยากขึ้นครับ  ที่สำคัญแผลพวกนี้มักจะเป็นแผลเล็ก แต่กินลึก และถ้าไม่ติดเชื้อรุนแรงชัดเจน ก็มักจะไม่ค่อยเห็นหนองไหลออกมาจากแผล



เมื่อมาพบแพทย์แล้ว  แพทย์จะทำอย่างไรบ้าง ?

หากมีแผลแล้ว  แพทย์จะประเมินดูว่า

-  แผลเป็นตรงไหน อยู่ในตำแหน่งที่ต้องลงน้ำหนักหรือไม่  หากอยู่ในจุดที่ลงน้ำหนัก ก็จะทำให้แผลหายได้ยากหากไม่ลดการลงน้ำหนักลงบนแผล



-  รอบๆแผลมีบวมแดงอักเสบหรือไม่  ผนังแผล ก้นแผลมีเนื้อตาย เนื้อดีแค่ไหน มีหนอง หรือ น้ำเหลืองอย่างไร สิ่งเหล่านี้บ่งถึงการติดเชื้อของแผล  แผลกินลึกเพียงใด ถึงกระดูกหรือไม่ หรือ กินเข้าข้อต่อหรือไม่  หากถึงกระดูก หรือเข้าข้อจนเสียหายมาก ก็อาจจำเป็นต้องตัดนิ้ว



-  ตรวจว่ามีเลือดมาเลี้ยงเท้าดีเพียงใด โดยเช็คชีพจร และอาจวัดกระแสการไหลผ่านของเส้นเลือดที่ขา และเท้า  หากเลือดมาเลี้ยงไม่ดี ก็จะส่งผลให้แผลไม่หายได้ครับ  ซึ่งอาจต้องทำการผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดให้มาเลี้ยงเท้าด้วย

-  หากมีเนื้อตาย สิ่งสกปรก แพทย์ก็จะทำการขูดล้าง หรือตัดเนื้อตายออก และทำแผลจนสะอาด  บางครั้งอาจไม่หมดในครั้งแรก อาจต้องทำซ้ำในวันถัดๆไป  แต่หากไม่มีแพทย์ก็จะให้ทำแผลต่อ ซึ่งอาจทำแผลแบบแห้ง แบบชุบน้ำเกลือ หรือ ใส่เจล ก็ขึ้นกับลักษณะแผลแต่ละรายครับ

-  ถ้ามีการติดเชื้อ แพทย์จะพิจารณาให้ยาฆ่าเชื้อ (ปฏิชีวนะ)  หากไม่รุนแรงก็ให้เป็นยากิน  แต่หากดูรุนแรง ก็ให้นอนโรงพยาบาลเพื่อให้เป็นยาฉีด

-  รายที่มีแผลที่ฝ่าเท้า หรือ แม้จะไม่มีแผลแต่เท้าผิดรูป จำเป็นต้องส่งทำรองเท้าเฉพาะสำหรับคนไข้เบาหวาน  รองเท้าดังกล่าวจะปรับให้เหมาะสมกับสภาพเท้าของแต่ละรายครับ   โดยมีหลักการคือ จุดใดที่เป็นแผลและเป็นจุดรับน้ำหนัก จะต้องปรับพื้นในรองเท้าเพื่อเปลี่ยนให้ไปลงน้ำหนักจุดอื่น  หรือ เท้ามีลักษณะผิดรูปจนมีความเสี่ยงต่อการเกิดแผล ก็ต้องทำพื้นในรองเท้าให้รองรับเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว

-  บางรายหากแพทย์ประเมินแล้วว่ายังไม่สามารถทำรองเท้าให้ได้ ก็อาจจะต้องใส่เป็นเฝือกรับสัมผัสแบบสมบูรณ์ (Total contact cast)





สิ่งสำคัญที่คนไข้ที่มีแผลต้องตระหนักคือ

- ต้องล้างแผลเป็นประจำอย่างน้อยวันละครั้ง อย่าทำเอง เพราะอาจทำไม่ครอบคลุม และไม่สะอาดพอ

- มาตรวจตามนัด เพราะแพทย์จะต้องประเมินแผล  บางแผลอาจพิจารณาเย็บปิดได้ เพื่อเร่งให้แผลติดเร็วขึ้น หรือ อาจพิจารณาให้การรักษาอื่นเพิ่มเติม

- ยาฆ่าเชื้อควรกินให้หมดตามที่สั่ง เพราะเชื้อโรคอาจยังมีค้าง หากกินไม่สม่ำเสมอ อาจส่งผลให้ติดเชื้อไม่ทุเลา หรือ ติดเชื้อซ้ำ  แต่ก็ไม่ควรหาซื้อยาเอง เพราะอาจได้ยาที่ไม่ครอบคลุมเชื้อ

- หากแพทย์ทำรองเท้าเบาหวาน หรือ ทำฟองน้ำพันเท้าไว้ หรือ ใส่เฝือกรับสัมผัสสมบูรณ์ ก็ตาม  ควรให้ความร่วมมือในการใส่สิ่งเหล่านี้ไว้เสมอ  ขอให้ตระหนักไว้ว่า วัสดุเหล่านี้จะช่วยให้แผลของคุณไม่ถูกกดทับ อันจะนำไปสู่การหายของแผล หรือ แม้ไม่มีแผล ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดแผล   ทั้งนี้หากวัสดุเหล่านี้พังเสียหาย ก็ควรนำไปให้แพทย์ซ่อมแซม ไม่ควรทิ้ง

- รพ.บางแห่งอาจไม่สะดวกที่จะทำรองเท้าเบาหวาน ก็อาจจะให้ใช้ไม้ค้ำยันรักแร้ (crutch) หรือ ไม้เท้าแบบสี่ขา (walker)  โดยให้เลี่ยงการลงน้ำหนัก ก็ควรใช้และปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อให้แผลหาย


            ไม้ค้ำยันรักแร้ (crutch)                  ไม้เท้าสี่เท้า (walker)                      

-  แม้บางคนที่ใช้รองเท้าเบาหวานจนแผลหายแล้ว  แต่ก็ควรใส่ต่อไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแผลกดทับซ้ำที่เดิมอีก

-  และอย่าลืมย้อนกลับไปปฏิบัติ สุขบัญญัติ 10 ประการด้วยล่ะครับ



ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เรายังมีเท้าที่มีสุขภาพดีที่สุดเท่าที่จะมีได้ต่อไป....เราคงไม่อยากจะขาด้วนใช่มั้ยล่ะครับ



Create Date : 23 มิถุนายน 2555
Last Update : 25 มิถุนายน 2555 13:56:03 น.
Counter : 14245 Pageviews.

1 comments
  
ซื้อกระจกส่องเท้าได้ที่ไหนค่ะ
โดย: ลลิตา ทองจาด IP: 125.24.242.192 วันที่: 11 มิถุนายน 2556 เวลา:16:21:39 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ระเบิดเด่น
Location :
นครราชสีมา  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]



ผมเป็นศัลยแพทย์ รพ.นครราชสีมา ครับ เรียกผมว่า "หมอบีม" ก็ได้ครับ
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ความรู้เรื่องของสุขภาพ โรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคทางศัลยกรรม (เนื่องจากผมเป็นศัลยแพทย์) โดยผมจะเน้นให้ความรู้อย่างกว้างๆเพื่อให้ทราบสาเหตุของโรค และวิธีการรักษาโรค อาจจะไม่ลงลึกนักนะครับ อยากเน้นให้ทราบวิธีปฏิบัติตัวมากกว่า หากต้องการถามคำถาม ให้ฝากคำถามไว้ใน "ฝากข้อความหลังไมค์" นะครับ ผมจะตอบให้ครับ รบกวนอย่าถามไว้ในกระทู้ หรือ blog แต่ละเรื่องนะครับ เพราะผมอาจจะไม่ได้เข้าไปอ่านนะครับ ส่วน "blog ธรรมจรรโลงใจ" นั้น เพิ่มเข้ามาเผื่อผู้สนใจเกี่ยวกับธรรมะครับ ถ้าอยากจะแสดงความเห็น ก็ลงในความคิดเห็น หรือ จะส่งข้อความหลังไมค์ก็ได้ครับ ยินดีครับ