มิถุนายน 2555

 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
24
25
26
27
28
29
30
 
เบาหวาน : ภาครู้ตัว และ รักษาตัว
จากบทความที่แล้ว  ผมเกริ่นนำถึงความน่ากลัวของโรคเบาหวานไปแล้ว  น่าจะมีหลายๆคนสงสัยว่า แล้วฉันจะเป็นมั้ยเนี่ย  จะตรวจยังไงดี  บทความนี้จะอธิบายให้ทราบว่า เราจะรู้ได้ไงว่าเป็นเบาหวาน (รู้ตัว)  แล้วจะดูแลรักษากันอย่างไร (รักษาตัว)

เบาหวานมีอาการอะไรให้สงสัยบ้างมั้ย ?

มีครับ  เพียงแต่จะสังเกตกันรึเปล่าเท่านั้นแหละครับ เพราะอาการเหล่านี้ มันไม่จำเพาะเอาซะเลย  ทำให้เราอาจจะมองข้ามไปก็เป็นได้ 

1. ปัสสาวะบ่อย
  ซึ่งเป็นผลจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งหากเกิน 180mg/dl ไตจะไม่สามารถกักน้ำตาลไว้ได้ จึงรั่วออกทางปัสสาวะ แต่มันไม่ออกมาเปล่าๆ จะดึงน้ำตามออกมาด้วย  ดังนั้น จึงมีปริมาณปัสสาวะออกมาก และปัสสาวะบ่อย  ทั้งนี้ คงต้องแยกจากภาวะทางเดินปัสสาวะอักเสบ (ซึ่งจะมีปัสสาวะบ่อย แต่ออกน้อย กะปริบกะปรอย และอาจมีแสบขัดด้วย)  และ การมีทางเดินปัสสาวะตีบ เช่น ต่อมลูกหมากโต (จะมีอาการปัสสาวะออกยาก ไม่พุ่ง ต้องเบ่ง ปัสสาวะไม่หมด และไม่สุด จึงทำให้ต้องปัสสาวะบ่อยครั้ง)

2. กระหายน้ำบ่อย
  เป็นผลจากการเสียน้ำออกทางปัสสาวะบ่อย ทำให้สมองกระตุ้นให้กระหายน้ำ เพื่อให้กินน้ำมากๆ

3. หิวบ่อย กินจุ   เนื่องจากแม้จะมีน้ำตาลในเลือดมาก แต่เอาไปใช้ได้น้อย  ร่างกายจึงกระตุ้นให้กินเพิ่มเพื่อให้ได้เพียงพอ  แต่บางคนอาจจะมีเบื่ออาหาร ซึ่งก็ไม่ได้เป็นตัวบอกว่าไม่เป็นเบาหวานนะครับ

4. น้ำหนักตัวลด อ่อนเพลีย
  เป็นเพราะร่างกายไม่สามารถนำเอาน้ำตาลไปใช้ จึงมีการดึงเอาโปรตีนจากกล้ามเนื้อ และไขมันตามร่างกาย มาสลายเพื่อให้ได้น้ำตาล จึงทำให้ผอมลง และร่างกายอ่อนเพลีย (ซึ่งอาจเป็นจากการขาดน้ำ ถ้ากินน้ำไม่พอ)  ในรายที่กินได้น้อย จะเห็นว่าน้ำหนักลด  แต่ในรายที่กินได้มาก ก็อาจจะเห็นว่าน้ำหนักไม่เพิ่มอย่างที่ควร

บางคนอาจจะไม่ได้มีอาการเหล่านี้ชัดๆ แต่อาจมีอาการของภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานแล้ว เช่น  มือเท้าชา (อาการชากินพื้นที่เหมือนสวมถุงมือถุงเท้า)  เป็นแผลแล้วหายยาก  มีนิ้วดำเน่า  เป็นโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตัน  เป็นอัมพาต อัมพฤกษ์  เป็นต้น

ถ้าไปพบแพทย์  แพทย์จะตรวจอะไรบ้าง ?

การวินิจฉัยหลักๆ คุณหมอจะใช้วิธีเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาลครับ  โดยทั่วไป จะให้งดอาหาร อย่างน้อย 6-8 ชม. ก่อนเจาะเลือด ซึ่งถ้าระดับ 126 mg/dl ขึ้นไป ก็ถือว่าเป็นเบาหวาน (แต่ต้องตรวจซ้ำเพื่อยืนยันในครั้งถัดไปอีก 1 ครั้ง)

ระดับน้ำตาลเมื่ออดอาหาร (Fasting blood glucose) ปกติอยู่ที่ 90-110mg/dl  หากค่านี้ >110 แต่ก็ไม่ถึง 126 mg/dl ก็อาจต้องตรวจเพิ่มเติม โดยแพทย์จะให้เจาะเลือดเมื่ออดอาหารก่อน 1 ครั้ง จากนั้นจะให้กินน้ำตาลกลูโคส 100 กรัม แล้วจะตรวจเลือดหลังกินน้ำตาล 1ชม. , 1ชม.ครึ่ง , 2 ชม. (จะต้องเจาะเลือดรวม 4 ครั้ง) หากระดับน้ำตาลที่ 2ชม. สูงกว่า 200 mg/dl จะถือว่าเป็นเบาหวาน  (ค่าที่ 1 ชม. และ 1ชม.ครึ่ง จะใช้ในการวินิจฉัยภาวะระดับน้ำตาลที่ผิดปกติแต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นเบาหวาน)  การตรวจนี้เรียกว่า Oral glucose tolerance test

ทีนี้ เมื่อรู้แล้วว่าเป็นเบาหวานแล้ว  จะรักษายังไงดี ?

การดูแลรักษาเบาหวาน มีวิธีหลักๆอยู่ดังนี้ครับ

1. การคุมอาหาร  วิธีนี้สำคัญที่สุดครับ  เพราะจะทำให้การคุมระดับน้ำตาลด้วยยาทำได้ดี ไม่แกว่ง  และบางรายไม่รุนแรงขนาดต้องกินยา ก็สามารถรักษาด้วยการคุมอาหารอย่างเดียวก็ได้ครับ 
1.1  อาหารที่ต้องคุม
    - อาหารที่มีน้ำตาลเป็นหลัก เช่น ขนมหวาน ลูกอม น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำผลไม้  รวมถึง น้ำผึ้ง  ควรหลีกเลี่ยง เพราะเมื่อกินแล้วจะดูดซึมได้ง่าย ทำให้ระดับเลือดสูงเร็ว และมาก  ส่งผลต่อการคุมน้ำตาลโดยรวม
      น้ำผลไม้ แม้จะมีประโยชน์ แต่น้ำผลไม้ 1 แก้ว ต้องใช้ผลไม้หลายลูก จึงมีปริมาณน้ำตาลไม่น้อยเลย ถ้าจะกินแนะนำให้กินผลไม้เลยจะดีกว่า
    - อาหารประเภทแป้ง กินได้ แต่อย่ามาก (ไม่เกิน 1-2 ทัพพีต่อมื้อ) แป้งจะต้องใช้เวลาย่อยสลายกว่าจะกลายเป็นน้ำตาล การดูดซึมจึงเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป  แต่ถ้ากินมากเกิน ส่วนเกินจะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันและสะสมตามร่างกาย ที่เห็นบ่อยคือ พุงกะทิ ต้นแขน ต้นขา
     - เนื้อสัตว์  เนื้อที่ควรกินคือ เนื้อปลา  แต่หากจะกินเนื้อแดง เช่น หมู วัว ไก่ ก็ควรเลือกส่วนที่ไม่ค่อยมีมัน  หากมีติดมาก็ควรแล่ออก เพราะโรคเบาหวาน มักพบร่วมกับภาวะไขมันในเลือดสูงได้บ่อยอยู่  ทั้งนี้ หากมีภาวะไตผิดปกติแล้ว ก็ควรจำกัดปริมาณเนื้อสัตว์ เพราะผลพลอยได้จากการสลายโปรตีนคือ ยูเรีย ซึ่งในภาวะโรคไตจะขับของเสียเหล่านี้ได้จำกัด จึงอาจทำให้เกิดภาวะสมองพิการได้
     - ไข่  หากจะกินก็ควรกินส่วนของไข่ขาว เพราะมีแต่โปรตีน  ไข่แดงจะมีคอเลสเตอรอลค่อนข้างมาก หากจะกินไข่แดงก็ควรจะกินไม่เกินสัปดาห์ละ 3-4 ฟอง
     - ผัก กินได้มากตามต้องการ  แต่ก็ต้องระวังผักบางชนิดที่มีแป้งมาก เช่น ฟักทอง หัวผักกาด ถั่วต่างๆ แครอท  พืชที่กินหัว (เช่น มัน เผือก) อาจต้องจำกัดปริมาณบ้าง
     - ผลไม้ กินได้มากตามต้องการ แต่ก็ต้องระวังผลไม้บางชนิดที่มีแป้งมาก (เช่น กล้วย ฝรั่ง) และบางชนิดที่มีน้ำตาลมาก (เช่น มะละกอ สับปะรด เงาะ องุ่น ทุเรียน ขนุน มะม่วงสุก -- พูดง่ายๆก็คือ ผลไม้ที่รสออกหวาน หรือ หวานอมเปรี้ยว)  
      อาหารจำพวกเส้นใยมากๆ เช่น ผัก ผลไม้ จะมีประโยชน์ในแง่ของการดูดซับสารพิษ และช่วยระบายอีกด้วยปิรามิดอาหาร

     1.2  หากน้ำหนักเกินเกณฑ์ ก็ควรจะลดน้ำหนัก หรือ อย่างน้อยก็ไม่ควรเพิ่ม  วิธีคิด
เกณฑ์น้ำหนักอย่างง่ายๆ ก็คือ ผู้ชาย ให้เอาความสูง(หน่วยเป็น ซม.)ลบ 100 ,  ผู้หญิง ให้เอาความสูง(หน่วยเป็น ซม.)ลบ 110 ครับ  ซึ่งการลดน้ำหนักที่ดี ไม่ใช่การงดกินอาหาร  แต่เป็นการจำกัดปริมาณอาหาร ร่วมกับการออกกำลังกายครับ
      1.3 พยายามกินอาหารให้อยู่ในมื้ออาหาร (เช้า กลางวัน เย็น) อย่ากินจุบจิบ หรือ กินไม่เลือกเวลา เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลแกว่ง คุมได้ยาก แม้จะใช้ยาลดน้ำตาลด้วยก็ตาม  หากระหว่างมื้อเกิดหิว แนะนำให้กินอาหารว่างมื้อเล็กๆ ที่ไม่หวาน เช่น นมจืด น้ำเต้าหู้ไม่หวาน  ผลไม้รสจืด
      1.4 พยายามกินอาหารในปริมาณคงที่  ไม่ใช่ว่า มื้อนี้อร่อยก็กินเยอะ มื้อนั้นเบื่ออาหารก็กินน้อย  เพราะจะทำให้คุมน้ำตาลได้ยาก โดยเฉพาะหากกินยาลดน้ำตาลด้วย แล้วกินอาหารน้อย จะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้


2. ออกกำลังกาย  การออกกำลังกาย จะเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายดึงเอาน้ำตาลในเลือดมาใช้ได้ดียิ่งขึ้น  และเพิ่มการตอบสนองต่ออินซูลินได้มากขึ้นครับ  แต่การออกกำลังกาย
ควรเน้นการออกกำลังกายแบบ cardio (คือ กระตุ้นการเต้นของหัวใจ) เช่น วิ่ง ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิค ฯลฯ มากกว่าการออกกำลังกายแบบ weight-training (คือ ออกกำลังกายโดยยก-ดัน-ดึงน้ำหนัก) เพราะการยกน้ำหนัก จะต้องเพิ่มการเกร็ง เบ่ง และกลั้นหายใจ จะทำให้เสี่ยงต่อความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคนที่ป่วยเป็นความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว)
    ทั้งนี้ควรดูตามสภาพของแต่ละบุคคลนะครับ  หากเป็นคนอ้วน คนสูงอายุ หรือ คนที่เป็นโรคหัวใจ ก็ไม่ควรวิ่ง กระโดด แต่ควรเน้นเดินเบาๆระยะไกล  หรือ ปั่นจักรยานเบาๆ  เพราะนอกจากจะเหนื่อยเร็วแล้ว เข่าจะเสื่อมได้เร็วขึ้นด้วยครับ

3. ยาลดน้ำตาล
คนไข้จำนวนไม่น้อยที่สามารถคุมอาหารได้ โดยไม่ต้องใช้ยาลดน้ำตาล  ซึ่งต้องอาศัยความเคร่งครัดในการคุม  ความมีวินัย  และ ความเพียร ความตั้งใจร่วมด้วย แต่คนไข้ส่วนใหญ่ ยังต้องอาศัยยาลดน้ำตาล ร่วมกับการคุมอาหาร  ซึ่งแบ่งเป็น 2 ชนิดหลักๆ คือ

3.1  ยากิน  แพทย์จะเลือกใช้เป็นอย่างแรก เพราะสะดวกสำหรับคนไข้  และไม่เจ็บตัว  ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 ชนิดหลักๆ คือ
          -  ออกฤทธิ์เพิ่มการตอบสนองต่ออินซูลิน (Insulin sensitizer) ยาชนิดนี้จะกินหลังอาหารประมาณ 15-30 นาที 
          -  ออกฤทธิ์เพิ่มการหลั่งอินซูลิน (Insulin secretogogue) ยาชนิดนี้จะกินก่อนอาหารประมาณ 30 นาที
          -  ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนซัยม์ย่อยคาร์โบไฮเดรทในลำไส้ (Glycoside hydrolase inhibitor)  ทำให้มีน้ำตาลที่จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดลดลง  ยาชนิดนี้ควรกินพร้อมอาหารคำแรก 

3.2  ยาฉีด  ซึ่งก็คือ อินซูลิน (Insulin) นั่นเอง  แพทย์จะเลือกให้อินซูลินก็ต่อเมื่อ ใช้ยากินจนเต็มที่แล้ว ก็ยังคุมน้ำตาลไม่ได้ดี หรือ คนไข้มีภาวะไตวายไม่สามารถให้ยากินได้  โดยอินซูลินที่ให้เรากลับไปฉีดเองนั้น จะให้ฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง (ซึ่งจะมีไขมันมาก จึงทำให้ดูดซึมยาอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป)  ส่วนการฉีดเข้ากล้าม หรือ เข้าเส้นเลือด ซึ่งแพทย์จะสั่งในกรณีที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากๆ จนเกิดภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลัน จะให้เฉพาะเมื่ออยู่ใน รพ.เท่านั้น
         นอกจากอินซูลินแบบใส่หลอดแก้วแบบที่เห็นในรูป ซึ่งต้องใช้หลอดฉีดยาดูดออกจากหลอดก่อน แล้วค่อยฉีด   เดี๋ยวนี้มีทำเป็นแพคเกจแบบปากกาซึ่งมีเข็มอยู่ภายใน ก็ไม่ต้องเสียเวลาดูดยา และลดการปนเปื้อนเชื้อได้อีกด้วย

         การฉีดอินซูลินนั้น ทางคุณพยาบาล หรือ เภสัชกร จะทำการสอนก่อนกลับไปทำเอง  โดยมากจะให้ฉีดที่หน้าท้อง เพราะเนื้อที่กว้าง  การฉีดแต่ละครั้งไม่ควรฉีดตำแหน่งเดิมซ้ำๆ เพราะจะทำให้เนื้อบริเวณนั้นฝ่อและทำให้การดูดซึมยาลดลงครับ  แนะนำให้ฉีดเปลี่ยนที่ไป วนเป็นวงกลมรอบสะดือ  วิธีฉีดอินซูลินที่หน้าท้อง

        จากรูปให้สังเกตนะครับว่า ให้ดึงเนื้อขึ้นให้นูนแล้วปักเข็มเข้าไป เข็มมันสั้นจึงไม่ต้องกังวลว่าจะปักลึกหากเราดึงเนื้อไว้  อินซูลินจะใช้หน่วยเป็น ยูนิตครับ วิธีการดูดยา อ่านตัวเลข และการฉีดจริงๆ ผมไม่ลงรายละเอียดนะครับ เดี๋ยวจะยาวไว้ให้คุณพยาบาล หรือ เภสัชกร สอนจริงเลยจะดีกว่าครับ 

        สิ่งสำคัญสำหรับการบริหารยาเบาหวาน ไม่ว่าจะฉีด หรือ กินก็ตาม นั่นก็คือ ความมีวินัยในการบริหารยา กินหรือฉีดให้เป็นเวลาตามกำหนด  เพราะถ้าลืม จะทำให้คุมน้ำตาลได้ไม่ดี  บางครั้งลืมกินยาก่อนอาหาร ก็อาจจะเอามากินหลังอาหารได้ แต่ไม่ควรทำบ่อยนะครับ  เพราะยาแต่ละตัวที่กำหนดเวลากินมา ก็เพื่อให้ออกฤทธิ์ได้เหมาะสม หากกินไม่ตรงที่กำหนดก็จะทำให้คุมได้ไม่ดีนะครับ

         ทีนี้ เมื่อมีการใช้ยาลดน้ำตาล ก็สามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้คือ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ  ซึ่งอาจเป็นจาก
         -  กินอาหารน้อย ไม่สัมพันธ์กับยาที่ได้รับ  โดยมากเพราะคนไข้มักจะเบื่ออาหารจึงไม่ค่อยกินอาหาร 
         -  กิน หรือ ฉีดยา เกิดขนาดที่สั่ง  อาจเพราะจำผิด อ่านฉลากผิด หรือ ดูดยามาผิด
         อาการของภาวะน้ำตาลต่ำ คือ วิงเวียนศีรษะ อาจมีปวดศีรษะได้  หน้ามืด ใจสั่น มือสั่น  มือเท้าเย็น เหงื่อออก  ถ้ามีอาการเหล่านี้ ให้แก้ด้วยการดื่มน้ำหวานก่อนที่จะพาไปพบแพทย์  แต่หากอยู่นอกสถานที่ หาน้ำหวานไม่ได้ การอมลูกอม หรือ ลูกกวาด ก็จะพอช่วยบรรเทาอาการได้ระดับหนึ่งครับ  (ขอย้ำว่า กินเฉพาะเวลามีอาการเท่านั้น เพราะน้ำตาลมันจะขึ้นสูง คุมยากครับ)

4. รักษาโรคประจำตัวอื่นๆ
  เช่น ความดันโลหิตสูง หรือ ไขมันในเลือดสูง ควรรักษาโรคเหล่านั้นด้วย

จำเป็นมั้ยที่จะต้องไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง

โรคเบาหวานนั้น เป็นโรคที่ปัจจุบันนี้ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด หน้าที่ของเราคือ คุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือใกล้เคียงปกติ ให้ระดับคงที่  และคอยเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนทั้งแบบเฉียบพลัน และเรื้อรังที่จะเกิดขึ้น  ถ้ามีก็ต้องรีบรักษา และป้องกันไม่ให้ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังรุนแรงขึ้น รวมถึงป้องกันไม่ให้มีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆตามมา 

เวลาแพทย์นัด จะตรวจวัดความดันโลหิต ชีพจร ระดับน้ำตาลในเลือดแบบอดอาหาร ทุกครั้ง  เพื่อดูว่าคุมน้ำตาลได้ดีเพียงใด มีความดันโลหิตสูงด้วยหรือไม่  จำเป็นต้องปรับยาลด หรือ เพิ่มขึ้นหรือไม่  และจะมีการเจาะเลือดครั้งใหญ่เพื่อตรวจระดับไขมัน เกลือแร่  หน้าที่ของไต และ ตรวจปัสสาวะเพื่อดูว่ามีภาวะไข่ขาวรั่วในปัสสาวะหรือไม่ (ซึ่งเป็นสัญญาณเริ่มต้นของภาวะไตทำงานบกพร่อง)  อีกทั้งจะทำการตรวจหาอวัยวะที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ตรวจตา  ตรวจเท้า  

ข้อปฏิบัติที่ควรทำเมื่อจะไปตรวจตามนัด

     1. ไปตามนัด (เก็บใบนัดไว้ทุกครั้ง  ถ้ากลัวลืมก็ไปโน้ตบนปฏิทินไว้เลยครับ)
ถ้าติดธุระก็ไปก่อนนัดได้ครับ แต่อย่าให้เลยนัดก็แล้วกัน  
     2. อย่าลืมเอายาเก่าที่เหลืออยู่ไปด้วยนะครับ  แพทย์ และ เภสัชกรจะได้คำนวณยาให้ได้พอเหมาะกับเวลานัด  รวมทั้ง หากมาตรวจโรคอื่นๆนอกวันนัด ก็ควรเอายามาด้วยครับ  เพราะบางครั้งอาการเจ็บป่วยนั้นอาจเกี่ยวกับโรคเดิม  แพทย์อาจปรับเปลี่ยนยา จะได้ระบุเม็ดยาได้ง่าย
     3. หากไปตรวจที่ รพ. หรือ คลินิกอื่นๆที่ไม่ได้รักษาประจำ ควรหิ้วยาไปด้วย เพื่อให้แพทย์ทราบว่าได้ยาอะไรอยู่บ้าง
     4. ควรแจ้งแพทย์ว่า มีอาการผิดปกติอะไรบ้าง (เพราะอาจเป็นอาการของภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานได้)    มีแผลที่เท้าด้วยหรือไม่ เป็นต้น
     5. ยาที่ได้มาควรเก็บในที่ที่เหมาะสม ไม่ร้อน หรือ ชื้นจนเกินไป  โดยเฉพาะอินซูลิน ควรเก็บในตู้เย็นช่องธรรมดา (ไม่ใช่ที่ฝาตู้เย็น) เพื่อป้องกันยาเสื่อมสภาพ
     6. อย่าให้ขาดยา  แม้ยาอาจจะหมดก่อนนัดก็ตาม (อาจเพราะความผิดพลาดของการนัด หรือ การนับเม็ดยา หรือ กินยาผิดจำนวน) ก็ต้องไปพบแพทย์ก่อนนัด
     7. หากคนไข้ไม่สามารถมาพบแพทย์ได้ อาจจะเป็นเพราะสูงอายุมากๆ หรือ เป็นอัมพาต ก็ตาม  อย่างน้อยควรให้ อสม. หรือ เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย (รพ.สต.) ตรวจเลือด และวัดความดันโลหิต ชีพจร แล้วนำผลตรวจมาให้แพทย์ดู ก็จะดีกว่ามารับยาเฉยๆ  เพราะจะได้ทราบว่า จำเป็นต้องปรับยาลด หรือ เพิ่มหรือไม่
         หรือหากที่บ้าน มีเครื่องวัดความดัน กับเครื่องเจาะเลือดปลายนิ้ว ก็จะสะดวกยิ่งขึ้น


โรคนี้แม้จะรักษาไม่หายขาดในปัจจุบันนี้  แต่ก็สามารถควบคุมให้โรคไม่ก่อปัญหาได้  สำคัญอยู่ที่ความใส่ใจ ความเคร่งครัด และมีวินัยในการดูแลตนเอง และการบริหารยา  และไปตรวจตามนัด  อีกทั้งความช่างสังเกตดูว่ามีภาวะแทรกซ้อนหรือไม่ หากมีก็ต้องไม่นิ่งนอนใจ รีบไปพบแพทย์  ก็จะช่วยให้เราอยู่กับโรคนี้ได้อย่างเป็นสุขครับ



Create Date : 22 มิถุนายน 2555
Last Update : 23 มิถุนายน 2555 17:51:04 น.
Counter : 7795 Pageviews.

1 comments
  
หาซื้อได้ไหน บ้างค่ะ
โดย: ปรารถนา บุญเข็ม IP: 113.53.46.106 วันที่: 27 ตุลาคม 2562 เวลา:9:55:47 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ระเบิดเด่น
Location :
นครราชสีมา  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]



ผมเป็นศัลยแพทย์ รพ.นครราชสีมา ครับ เรียกผมว่า "หมอบีม" ก็ได้ครับ
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ความรู้เรื่องของสุขภาพ โรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคทางศัลยกรรม (เนื่องจากผมเป็นศัลยแพทย์) โดยผมจะเน้นให้ความรู้อย่างกว้างๆเพื่อให้ทราบสาเหตุของโรค และวิธีการรักษาโรค อาจจะไม่ลงลึกนักนะครับ อยากเน้นให้ทราบวิธีปฏิบัติตัวมากกว่า หากต้องการถามคำถาม ให้ฝากคำถามไว้ใน "ฝากข้อความหลังไมค์" นะครับ ผมจะตอบให้ครับ รบกวนอย่าถามไว้ในกระทู้ หรือ blog แต่ละเรื่องนะครับ เพราะผมอาจจะไม่ได้เข้าไปอ่านนะครับ ส่วน "blog ธรรมจรรโลงใจ" นั้น เพิ่มเข้ามาเผื่อผู้สนใจเกี่ยวกับธรรมะครับ ถ้าอยากจะแสดงความเห็น ก็ลงในความคิดเห็น หรือ จะส่งข้อความหลังไมค์ก็ได้ครับ ยินดีครับ