มิถุนายน 2555

 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
24
25
26
27
28
29
30
 
เบาหวาน : มหันตภัยเงียบ

โรคเบาหวานเป็นโรคที่เรียกได้ว่าเป็นมหันตภัยเงียบ เหตุผลก็เพราะ ตอนเริ่มเป็นใหม่ๆ เราแทบจะไม่รู้สึกเลยว่ามีอาการ ยกเว้นในบางคนอาจจะมีปัสสาวะบ่อย กินได้แต่น้ำหนักลด แต่ก็ไม่ได้เจ็บปวดอะไร จึงทำให้หลายๆคนละเลย จนกว่าจะมีอาการ นั่นก็หมายถึงว่า มีภาวะแทรกซ้อนแล้ว  ซึ่งการจะมาแก้ไขในตอนนั้น มันยากซะแล้ว 


ภาวะแทรกซ้อนที่ว่านั้นมีอะไรบ้าง ?

โรคเบาหวาน คือการที่มีภาวะผิดปกติในการนำน้ำตาลในกระแสเลือดเข้าสู่เซลล์ต่างๆของร่างกาย ทำให้มีระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงผิดปกติ อันเป็นผลจากขาดฮอร์โมนอินซูลินในภาวะเบาหวานชนิดที่ 1  หรือ มีฮอร์โมนอินซูลินเพียงพอ แต่เซลล์ดื้อต่ออินซูลิน จึงไม่ตอบสนอง (ในภาวะเบาหวานชนิดที่ 2)  ระดับน้ำตาลที่สูงเป็นเวลานาน จะส่งผลต่อเส้นเลือดทั่วร่างกาย  แต่โดยมากจะเกิดปัญหากับเส้นเลือดขนาดกลางถึงขนาดเล็ก  แน่นอนว่า เส้นเลือดทั้งหลายล้วนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย ดังนั้นหากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงผิดปกติ ก็ย่อมส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะนั้นๆเช่นกัน  ที่ว่าเส้นเลือดผิดปกตินั้น คือ จะมีการพอกหนาขึ้นของผนังเส้นเลือด จนทำให้เส้นเลือดตีบลง หากตีบจนตันสนิท หรือ มีก้อนเลือดมาพอกสะสมจนปิดรูของเส้นเลือดนั้น ก็จะส่งผลทำให้อวัยวะนั้นขาดเลือด และเน่าตายได้


อวัยวะที่มักจะเกิดปัญหาคือ

1.ไต  เป็นอวัยวะที่พบปัญหาได้บ่อย  เมื่อเกิดเหตุจะทำให้เกิดปัญหาคือ ไตกรองสารไม่เป็นปกติ มีโปรตีน (ไข่ขาว ; อัลบูมิน) รั่วออกทางปัสสาวะ ซึ่งจะเป็นอาการเริ่มแรก  ต่อมาก็จะเริ่มขับของเสียออกได้น้อยลง ทำให้มีของเสียคั่งในร่างกายมากขึ้น นั่นก็คือเริ่มเข้าภาวะไตวายแล้วครับ  แต่ไตวายในระยะนี้อาจจะยังขับน้ำและเกลือแร่ได้อยู่  แต่หากไตเสียหายไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้การขับน้ำและเกลือแร่ รวมถึง ของเสีย น้อยลง  ก็จะเกิดอาการบวม น้ำท่วมปอด (pulmonary edema) และเกลือแร่ในเลือดผิดปกติ (electrolyte imbalance)  และการมีของเสียคั่งมากๆ ก็จะส่งผลให้เกิดสมองพิการ (uremic encephalopathy) ได้ครับ  ซึ่งก็จะมีอาการสับสนวุ่นวาย หรืออาจซึมลงก็ได้เช่นกัน

2. หัวใจ  โดยมากจะเกิดปัญหากับเส้นเลือดที่เลี้ยงหัวใจ (coronary artery) ซึ่งเป็นเส้นเลือดขนาดเล็ก หากอุดตันไม่มาก ก็จะทำให้เกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอก (angina pectoris)อาจมีร้าวไปไหล่และแขนซ้าย  โดยมากมักจะสัมพันธ์กับการออกกำลัง หรือ เคร่งเครียด  แต่หากอุดตันมากขึ้น ก็อาจมีอาการแน่นได้ แม้จะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ออกแรง   และยิ่งอุดตันจนเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่พอ ก็จะส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และ ทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่พอ ก็จะเกิดปัญหาความดันโลหิตต่ำ และสามารถเสียชีวิตได้ครับ  

   ในบางรายอาจจะขาดเลือดบริเวณกล้ามเนื้อที่มีจุดกำเนิดของกระแสไฟฟ้าในหัวใจ ก็ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ครับ   บางคนอาจจะอุดตันไ่ม่มาก แต่เป็นเรื้อรัง ก็ทำให้หัวใจบีบตัวไม่แรงพอ ก็ทำให้เกิดปัญหาหัวใจวาย และเกิดน้ำท่วมปอด มีอาการหอบเหนื่อย นอนราบไม่ได้

3. ปลายมือ-เท้า   นิ้วมือ-เท้า ก็เป็นอีกอวัยวะที่มีเส้นเลือดขนาดเล็กไปเลี้ยง  เนื่องจากระยะทางของเท้า อยู่ไกลกว่า มือ  ดังนั้น เลือดจึงไปเลี้ยงเท้าได้ยากกว่าถ้าเทียบปริมาณเลือดเท่าๆกัน  ดังนั้นจึงพบว่ามักมีปัญหากับเท้ามากกว่ามือ  แต่ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเท้ามักจะเกิดอาการบาดเจ็บได้ง่ายกว่ามือ ก็ทำให้พบปัญหากับเท้ามากกว่าก็เป็นได้

    หากมีปัญหากับเส้นเลือด ก็จะทำให้เลือดไปเลี้ยงปลายนิ้วไม่เพียงพอ  ถ้ามีแผลเกิดขึ้น ก็จะทำให้แผลหายยากขึ้น  โดยเฉพาะถ้ามีการติดเชื้อที่แผลร่วมด้วย ก็จะยิ่งทำให้เส้นเลือดฝอยที่ไปเลี้ยงเส้นเลือดตีบตันไป แผลนอกจากจะหายยากแล้ว ยังอาจจะลุกลามมากขึ้นได้  และแม้ว่าจะไม่มีแผล บางรายที่เส้นเลือดตีบจนอุดตัน ก็จะทำให้นิ้วเท้าดำเน่า ซึ่งอาจลามขึ้นมาถึงเท้า หรือ ข้อเท้าได้  หากอุดตันระดับที่สูงขึ้น  นำไปสู่การถูกตัดนิ้ว ตัดขา

    บริเวณปลายนิ้วมือนิ้วเท้าจะมีเส้นประสาทมาเลี้ยง ซึ่งหากเลือดเลี้ยงไม่พอ ก็จะทำให้เกิดเส้นประสาทส่วนปลายทำงานผิดปกติ (peripheral neuropathy)  

    - หากเป็นเส้นประสาทที่เลี้ยงกล้ามเนื้อ (motor nerve) ผิดปกติ ก็จะทำให้เกิดการฝ่อของกล้ามเนื้อ ส่งผลให้เท้าผิดรูป  เมื่อเดินลงน้ำหนักบ่อยๆก็จะทำให้เกิดแผลกดทับ ณ ตำแหน่งที่ผิดรูปได้

    - หากเป็นเส้นประสาทรับความรู้สึก (sensory nerve) ที่มือ-เท้าผิดปกติ ก็จะทำให้มีการรับรู้ผิดปกติ เช่น แบบ hypoesthesia จะมีลักษณะชาแบบรู้สึกน้อยลง หรือ ไม่รู้สึกเลย ถ้าเป็นแบบนี้จะทำให้เสี่ยงต่อการบาดเจ็บโดยไม่รู้ตัว (เช่น เหยียบตะปูแล้วไม่รู้สึกเจ็บ) ทำให้ละเลยที่จะดูแลบาดแผล   แต่ถ้าเป็นแบบ paresthesia จะมีลักษณะเจ็บเหมือนเข็มตำบริเวณที่เป็น (คล้ายอาการเหน็บชา) อาจมีปวดร่วมด้วย อาการแบบนี้จะทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวดทุกข์ทรมาน   สามารถพบทั้งสองอาการพร้อมกันได้ด้วย


     - หากเป็นเส้นประสาทอัตโนมัติ  (autonomic nerve)  ซึ่งปกติจะเลี้ยงต่อมเหงื่อ กระตุ้นให้เหงื่อออกเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง  แต่หากผิดปกติแล้ว จะทำให้ผิวหนังแห้งแตกง่าย จึงมีโอกาสเกิดเป็นแผลได้ง่ายด้วย

4. สมอง  เส้นเลือดที่เลี้ยงสมอง เป็นเส้นเลือดขนาดกลาง ถึง เล็ก หากมีปัญหาอุดตัน ซึ่งจะด้วยการหนาตัวของเส้นเลือดเอง หรือ มีก้อนเลือดวิ่งมาอุดก็ตาม จะทำให้เกิดสมองขาดเลือดอย่างเฉียบพลัน ทำให้สมองเสียการทำงาน ซึ่งก็ขึ้นกับว่าสมองส่วนนั้นทำหน้าที่อะไร  เช่น ถ้าสั่งการทำงานแขนขา ก็จะทำให้แขนขาซีกตรงข้ามกับที่ขาดเลือด อ่อนแรง  เป็นต้น  ยิ่งถ้าอุดเส้นใหญ่ขึ้น ก็ยิ่งมีผลทำให้ขาดเลือดเป็นบริเวณกว้าง ก็จะทำให้เสียหน้าที่ได้มาก  นอกจากเป็นอัมพาตแล้ว ยังอาจจะไม่รู้สติ เป็นเจ้าชาย / เจ้าหญิงนิทรา ก็ได้

5. ตา  เบาหวานเองสามารถทำให้เลนส์ตาขุ่น กลายเป็นต้อกระจกได้  นอกจากนั้น ปัญหาของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงจอตา ก็ทำให้เกิดจอตาเสื่อม และเกิดตาบอดได้เช่นกัน

6. อวัยวะอื่นๆ เช่น กระเพาะปัสสาวะ อันเป็นผลจากระบบประสาทที่เลี้ยงกระเพาะปัสสาวะผิดปกติ ทำให้บีบตัวไม่ดี  เกิดปัญหาปัสสาวะไม่ออก เหลือค้าง เกิดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้   หรือ ลำไส้ทำงานผิดปกติ ก็ทำให้บีบไล่อาหาร/อุจจาระไม่ดี  ทำให้เกิดท้องอืดแน่น อาเจียน หรือ ท้องผูกได้  เป็นต้น

7. ระบบภูมิต้านทานโรค  เม็ดเลือดขาวจะทำงานได้ไม่ดี จึงทำให้การจับกินเชื้อโรคทำได้น้อยลง เพิ่มโอกาสการติดเชื้อมากขึ้น เมื่อติดเชื้อแล้วลุกลามได้ง่ายขึ้น


ปัญหาของเบาหวาน มีแค่นี้เองเหรอ ??

ยังไม่หมดครับ  ปัญหาที่บอกไปนั้น เป็นเพียงโรคแทรกซ้อนที่ใช้เวลานานกว่าจะก่อปัญหาให้เราเห็น ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อยก็ 5 ปีขึ้นไป  แต่ยังมีปัญหาที่เกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง แบบเฉียบพลัน ซึ่งสามารถเกิดได้ ถ้าเราไม่คุมระดับน้ำตาลให้ดีพอ  นั่นก็คือ

1. ภาวะเป็นกรดในเลือดจากคีโตนที่สูง (Diabetic ketoacidosis ; DKA)  เกิดจากการที่ระดับน้ำตาลสูงๆ (โดยทั่วไป >250mg/dl ก็เกิดสามารถเกิดได้ )  แต่เนื่องจากเซลล์ไม่สามารถดึงเอาน้ำตาลเข้าเซลล์ได้ (เพื่อเป็นแหล่งพลังงาน)  จึงต้องอาศัยการดึงเอาไขมันมาเป็นแหล่งพลังงานแทน ซึ่งผลพลอยได้จากการสลายไขมันจะได้ คีโตน (ketone)  แม้ว่าสมองจะสามารถนำเอาคีโตนไปใช้เป็นแหล่งพลังงานได้ แต่ก็ทำได้จำกัด หากมีปริมาณมาก ก็จะส่งผลทำให้เกิดภาวะ DKA ได้   ผมจะยังไม่ลงในรายละเอียดนะครับ  แต่ขอบอกว่า หากเป็นรุนแรง ก็สามารถทำให้หอบเหนื่อย และ เสียชีวิตได้ครับ

2. ภาวะความรู้สติบกพร่องจากการมีน้ำตาลสูง และความเข้มข้นในเลือดสูง (Hyperglycemic hyperosmolar non-ketotic coma/state ) หากระดับน้ำตาลสูงมากๆ ราวๆ 300กว่าๆ-400mg/dl ขึ้นไป ก็จะทำให้เกิดอาการนี้ได้ ซึ่งเป็นรูปแบบของสมองพิการจากความเข้มข้นของเลือดที่ผิดปกติ  จะเกิดอาการซึม อ่อนเพลีย จนอาจทำให้หมดสติ โคม่า และอาจเสียชีวิตได้ครับ


เห็นความน่ากลัวของ โรคเบาหวาน รึยังครับ  ไม่ใช่เรื่องเล็กๆเลยครับ  หากผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ ยังไม่ตระหนักถึงโทษภัยของโรคนี้ และยังปล่อยปละละเลยในการดูแลรักษาแล้ว  จะยิ่งทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้เร็ว ได้มาก ได้บ่อย และรุนแรง ด้วยครับ


ตอนต่อไป จะพูดถึงการตรวจ และดูแลรักษานะครับ




Create Date : 22 มิถุนายน 2555
Last Update : 23 มิถุนายน 2555 19:51:23 น.
Counter : 5207 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ระเบิดเด่น
Location :
นครราชสีมา  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]



ผมเป็นศัลยแพทย์ รพ.นครราชสีมา ครับ เรียกผมว่า "หมอบีม" ก็ได้ครับ
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ความรู้เรื่องของสุขภาพ โรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคทางศัลยกรรม (เนื่องจากผมเป็นศัลยแพทย์) โดยผมจะเน้นให้ความรู้อย่างกว้างๆเพื่อให้ทราบสาเหตุของโรค และวิธีการรักษาโรค อาจจะไม่ลงลึกนักนะครับ อยากเน้นให้ทราบวิธีปฏิบัติตัวมากกว่า หากต้องการถามคำถาม ให้ฝากคำถามไว้ใน "ฝากข้อความหลังไมค์" นะครับ ผมจะตอบให้ครับ รบกวนอย่าถามไว้ในกระทู้ หรือ blog แต่ละเรื่องนะครับ เพราะผมอาจจะไม่ได้เข้าไปอ่านนะครับ ส่วน "blog ธรรมจรรโลงใจ" นั้น เพิ่มเข้ามาเผื่อผู้สนใจเกี่ยวกับธรรมะครับ ถ้าอยากจะแสดงความเห็น ก็ลงในความคิดเห็น หรือ จะส่งข้อความหลังไมค์ก็ได้ครับ ยินดีครับ