Take a sad song and make it better!
 
สิงหาคม 2548
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
4 สิงหาคม 2548

Please Please Me


ซิงเกิ้ล Love Me Do สร้างความสำเร็จให้ The Beatles และทีมงานพอให้มีแรงกระชุ่มกระชวย แต่ซิงเกิ้ลต่อมาของพวกเขาสิ ที่สามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนให้พิภพเพลงป๊อบได้อย่างชัดเจนทั้งทางศิลปะและการตอบรับของแฟนเพลง

เมื่อ The Beatles เล่น Please Please Me ให้จอร์จ มาร์ตินฟังเป็นครั้งแรก มันยังคงเป็นเพลงบัลลาดช้าๆที่ตั้งใจจะให้สุ้มเสียงออกมาในรูปแบบเพลงของรอย ออร์บิสัน มาร์ตินชอบตัวเพลงแต่ไม่ค่อยพิสมัยกับวิธีการที่พวกเขาเล่นมัน เขาบอกให้เด็กๆปรุงรสมันให้จัดจ้านขึ้นเสียหน่อย และเมื่อพวกเขากลับมาที่ Abbey Road ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 1962 Please Please Me ฉบับปรับปรุงก็มีจังหวะที่รวดเร็วขึ้นและมีการเรียบเรียงที่เจิดจ้ากว่าเดิม มาร์ตินยังช่วยเสริมท่อนอินโทรให้ (ซึ่งก็ใช้เมโลดี้ของท่อนต้นเพลงนั่นเอง) ในการแสดงบนเวทีจอร์จ แฮริสันจะเป็นคนเล่นท่อนอินโทรนี้ด้วยกีต้าร์ แต่ในการบันทึกเสียงมาร์ตินยังยืนยันให้ใช้ฮาร์โมนิกาที่เป็นเหมือนลายเซ็นอันโดดเด่นมาจาก ‘Love Me Do’ อีกครั้ง และสุดท้ายจอห์นก็เป่าฮาร์โมนิกาซ้อนทับไปกับเสียงกีต้าร์ของจอร์จในท่อนอินโทร มาร์ตินยังเป็นผู้คิดคอร์ดซีเควนซ์สุดท้ายที่ปิดท้ายเพลงอย่างเฉียบขาด

Please Please Me นั้นยาวไม่ถึงสองนาทีแต่มันเต็มไปด้วยรายละเอียดทางดนตรีที่เหนือชั้นบรรจุอยู่อัดแน่น เริ่มมาจากเสียงร้องประสาน มันไม่เหมือนเพลงใดที่ Beatles เคยทำมาก่อน จริงๆแล้วมันเป็นการประสานที่ไม่ค่อยได้พบเห็นในเพลงป๊อบเลยด้วยซ้ำ ในแต่ละท่อนเวิร์สจะมีแค่สองบรรทัด และในแต่ละบรรทัดจอห์นกับพอลจะเรี่มร้องพร้อมด้วยระดับเสียงเท่ากัน (unison) ก่อนที่ทั้งสองเสียงจะค่อยๆแยกออกจากกันโดยที่พอลคงโน้ตเดิมไว้แต่จอห์นร้องต่ำหลบลงล่าง

กลุ่มเสียงจากคอร์ดกีต้าร์และการส่งกลองระรัวริกจากริงโก้เชื่อมสองบรรทัดของท่อนเวิร์สเข้าด้วยกันและท่อนกีต้าร์สั้นๆอีกท่อนก็ส่งบทเพลงเข้าสู่ท่อน refrain ที่เว้าวอน(แกมสั่งนิดๆ) ‘Come on, please please me, oh yeah, like I please you.’ จอห์นร้องย้ำ ‘come on’ สี่ครั้งโดยแต่ละครั้งพอลกับจอร์จก็จะร้องประสานเสียงคำเดียวกันตอบโต้ เสียงของจอห์นในแต่ละ come on จะสูงขึ้นทีละขั้น ส่วนเสียงประสานที่ตามมาจะขึ้น,ลง และขึ้นอีกครั้ง รูปแบบที่ดูธรรมดาๆนี้สร้างความบีบเค้นทางอารมณ์ได้อย่างน่าอัศจรรย์

พอลเล่นเบสไลน์ตามคอร์ดในแบบสองโน้ตต่อจังหวะในท่อนเวิร์สก่อนที่จะเริ่มออกลวดลายร่ายรำเหมือนจะมีท่วงทำนองของตนเองตั้งแต่ในท่อน ‘come on’ ริงโก้เองก็อยู่ในฟอร์มสุดยอด ไม่ว่าจะเป็นการย้ำจังหวะอันแน่นปึ้กในท่อนเวิร์ส,ลูกส่งระหว่างบรรทัด และใน ‘come on’ section เขาสนับสนุนเพื่อนๆด้วย fills ที่รวดเร็ว และลูกส่งสุดท้ายชุดใหญ่ก่อนจบเพลงนั้นก็ระเบิดราวกับปืนกล

ในท่อนแยก (ที่พวกเขามักจะเรียกว่า ‘middle eight’ ไม่ว่ามันจะมีกี่บาร์ก็ตาม) สร้างสีสันเพิ่มเข้ามาในเพลงอีก แม้จอห์นจะร้องในท่อนนี้ว่าเขาไม่อยากจะบ่นอะไร (I don’t wanna sound complaining…) แต่เมโลดี้ซ้ำๆที่รัวถี่ด้วยโน้ตติดกันสองตัวมันกลับให้ความรู้สึกที่ตรงข้าม โดยที่มีเสียงประสานของพอลและจอร์จ (ahhh...) ช่วยกลบเกลื่อนอารมณ์นี้ลงไปบ้าง แต่ในตอนจบของท่อนอารมณ์อันสุดกลั้นนี้ก็ระเบิดออกมาด้วยเสียงร้องของจอห์นที่พุ่งขึ้นหนึ่งออกเตพในแบบ falsetto ‘it’s so hard to reason with you’ และท่อนแยกนี้ก็จบลงด้วยอารมณ์เหมือนกับการถอนหายใจ ‘why do you make me blue?’

ผู้ฟังส่วนใหญ่ในเวลานั้น (และแม้แต่ในเวลานี้) คงไม่มีใครสังเกตถึงความพิเศษของการเรียบเรียงเสียงประสาน การใช้เครื่องดนตรี หรือแม้กระทั่งวิธีการที่พวกเขาใช้ดนตรีสะท้อนหรือซ่อนเร้นความหมายของเนื้อหา ที่ชัดเจนสำหรับผู้ฟังก็คือ ‘Please Please Me’ เป็นเพลงที่มีทำนองเยี่ยม และคุณสามารถเต้นรำไปกับมันได้ ความจริงแล้วคุณแทบไม่อาจห้ามใจที่จะโยกย้ายไปกับมันด้วยซ้ำไป มาร์ตินมั่นใจมากๆว่า Please Please Me เวอร์ชั่นปรับปรุงใหม่นี้ต้องเวิร์คขนาดที่ว่าเมื่อ Beatles บันทึกเสียงมันเสร็จ มาร์ตินประกาศผ่านอินเตอร์คอมของสตูดิโอลงมาเลยว่า “ท่านสุภาพบุรุษ ที่จบไปนั้นคือเพลงอันดับหนึ่งเพลงแรกของพวกเธอ”

มันไม่ได้ขึ้นอันดับ1ทันควันเหมือนกับที่เพลงอื่นๆของพวกเขาทำได้ในเวลาต่อมา Please Please Me ใช้เวลาหกสัปดาห์ในการไต่เต้าและขึ้นถึงยอดในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1963




 

Create Date : 04 สิงหาคม 2548
0 comments
Last Update : 4 สิงหาคม 2548 19:10:53 น.
Counter : 1414 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


winston
Location :
กรุงเทพ United Kingdom

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add winston's blog to your web]