4 | | | ตำนานอาถรรพ์ อาชญากรโลกไม่ลืม ฆาตกรรมบันลือโลก ประวัติศาสตร์ทั่วมุมโลก | | |

Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2559
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
2829 
 
6 กุมภาพันธ์ 2559
 
All Blogs
 
สัตว์ร้ายในสายหมอก

มานูเอล วิโตรีโน ปีเญโร โดสซานโตส เพิ่งจะล่าหมูป่าเพคคารีได้ 4 ตัวเมื่อตอนที่เขาได้ยินเสียงร้อง เสียงนั้นโหยหวนน่ากลัวดังมาจากดงเถาวัลย์รกชัฏที่อยู่ห่างออกไปราว 50 เมตร "ได้ยินแล้วขนหัวลุก" โดสซานโตสบอก เขาทิ้งหมูป่าที่ยิงได้ วิ่งสุดกำลังไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับเสียงนั้น มุ่งหน้าสู่แม่น้ำที่อยู่ใกล้ ๆ เสียงร้องดังขึ้นอีกเป็นหนที่สอง แต่คราวนี้อยู่ห่างออกไป ถึงกระนั้นก็ดูว่าต้นไม้จะสั่นไหวด้วยความดังของมัน เสียงร้องครั้งที่ 3 และ 4 ดังขึ้นอีก แต่ก็เบาเต็มที แสดงว่าสัตว์เจ้าของเสียงนั้นคงจะเดินลึกเข้ไปในป่าดงดิบแล้ว แต่โดสซานโตสก็ยังคงยืนแช่อยู่ในน้ำนานเป็นชั่วโมงกว่าที่จะกล้ากลับขึ้นไปเอาหมูป่าของเขา

เมื่อถูกถามว่าทำไมถึงได้กลัวนัก โดสซานโตสก็บอกว่าเขาไม่มีปืน มีแค่มีดเล่มเดียว แล้วเขาไม่อยากเผชิญหน้ากับสัตว์นั้นด้วย ไม่เพียงโดสซานโตสเท่านั้นที่กลัว คนอื่น ๆ ในหมู่บ้านบาร์ราโด เซามานูเอล หมู่บ้านเล็ก ๆ รมิฝั่งแม่น้ำตาปาโฮสซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำอเมซอนตลอดจนหมู่บ้านใกล้เคียงอื่น ๆ ล้วนกลัวสัตว์ตัวนีี้กันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีปืน พวกเขาก็ไม่กล้าเผชิญหน้ากับมัน สัตว์ตัวนี้เมื่อยืนด้วยขาหลังจะสูงกว่า 6 ฟุต ตามตัวมีขนยาวสีแดง ๆ และมีกลิ่นเหม็นมาก ถึงอยู่ไกลก็ได้กลิ่น พวกเขาเรียกมันว่า มาปิงกวารี (mapinguari) มันเป็นสัตว์หายากที่สุดและลึกลับที่สุดของป่าดงดิบอเมซอน และน่ากลัวที่สุดด้วย ว่ากันว่ามันไม่ชอบน้ำ และจะท่องป่าไปกับฝูงหมูป่าเพคคารีปากขาวา (white lipped peccary) เพื่อคอยปกป้องพวกมัน สัตว์ตัวนี้ออกหากินกลางคืนใช้กรงเล็บใหญ่ของมันหักยอดปาล์มลงมาเพื่อกินยอดอ่อน เท้าของมันพลิกกลับไปด้านหลัง และโดยปกติแล้วลูกปืนทำอะไรมันไม่ได้เลย

พวกอินเดียนในรัฐอเมซอนนาสมัตโตกรอสโซ และโกยาซของบราซิลตลอดจนถึงรัฐอาเซร และกวาปาเรที่อยู่ติดชายแดนประเทศโบลิเวียต่างรู้จักสัตว์ตัวนี้ พวกเขาเรียกชื่อมันกันไปต่าง ๆ อย่างเช่น กาเป-โลโป ที่แปลว่าเสื้อคลุมหมาป่า เมา เด ปีเลา ที่แปลว่า มือสาก เป เด การ์ราฟา แปลว่าเท้าขวด หรือฮูมา เป็นต้น


ชาวพื้นเมืองลูกครึ่งชื่อ อีโนเชนซีโอ ได้เล่าให้เปาโล ซานดันนา โซบรีโน นักเขียนชาวบราซิลฟังว่า เมื่อปี 1930 เขาได้ร่วมคณะไปกับนักสำรวจ 10 คนขึ้นไปตามลำแม่น้ำเอาดูมาจะไปยังต้นแม่น้ำอูรูบู มีน้ำตกขวางหน้าอยู่แห่งหนึ่งเอาเรือผ่านไปไม่ได้ พวกเขาจึงตัดสินใจเดินบกตัดข้ามป่าไป เดินมาได้สองวันก็ไปถึงลำธารสายหนึ่ง พวกเขาจึงแบ่งกันเป็นสองกลุ่ม หัวหน้าคณะนำกลุ่มหนึ่งเดินล่องตามลำธารไป ส่วนอีโนเซนเดินมาได้สองชั่วโมงก็ไปเจอกับฝูงลิง อีโนเซนซีโอจึงตามฝูงลิงไปด้วยหมายจะยิงเป็นอาหาร เลยพลัดหลงกับพรรคพวกพอรู้ตัวว่ามาไกลจากลำธารมากก็สายไปเสียแล้ว เขากู่เรียกและยิงปืนขึ้นฟ้า แต่ก็ไม่มีเสียงตอบ มีแต่เสียงลิงและเสียงนกที่แตกตื่นตกใจ เขาจึงออกเดินเดาสุ่มไปเรื่อย ๆ พอค่ำลงก็ปีนขึ้นไปนอนพักบนคาคบไม้ใหญ่ เขานอนหลับไปพักหนึ่งก็ตื่นขึ้นเพราะได้ยินเสียงร้อง ทีแรกเขาคิดว่าเป็นเสียงคนร้องเรียก แต่แล้วก็นึกขึ้นได้ว่าดึกดื่นเช่นนี้จะมีใครออกมาตามหาเขา แล้วเขาก็ได้ยินเสียงนั้นใกล้เข้ามาและดังชัดขึ้น เสียงมันวังเวงชวนให้ไม่สบายใจ อีโนเซนซีโอนึกกลัวจึงบรรจุกระสุนปืนและเกาะต้นไม้ไว้แน่น แล้วเสียงนั้นก็ดังขึ้นเป็นหนที่สามคราวนี้ใกล้มาก เสียงมันน่ากลัว ดังจนแสบแก้วหู แล้วก็ไม่ใช่เสียงมนุษย์

"ห่างออกไปราวสี่สิบหลาเป็นที่โล่งเล็ก ๆ มีต้นซามัวไมร่าโค่นล้มอยู่ กิ่งก้านของมันฟาดถูกต้นไม้เล็กพลอยให้หักล้มตามไปด้วย ตรงนี้เองที่เสียงร้องครั้งหลังสุดดังมา ทันใด หลังจากนั้นก็มีเสียงฝีเท้าหนัก ๆ เหมือนกับว่ามีสัตว์ตัวใหญ่กำลังเดินอย่างรวดเร็วตรงเข้ามาทางผม พอมันมาถึงที่ต้นไม้ล้มอยู่ มันก็หยุดและทำเสียงครางในลำคอ..สุดท้ายก็เห็นร่างเงา ๆ ดว่าเป็นคนขนาดสูงปานกลางปรากฏขึ้นตรงที่โล่งนั่น มันหยุดยืนอยู่ที่ตรงนั้น จ้องมองมายังที่ที่ผมอยู่ด้วยความสงสัย แล้วมันก็ส่งเสียงคำรามอีกครั้งหนึ่ง ผมไม่อาจทนต่อไปด้ จึงยิงออกไปโดยไม่ทันต้องเล็ง มีเสียงคำรามอย่างดร้ายดังขึ้น แล้วตามด้วยเสียงกิ่งไม้หักโผงผาง ผมตกใจที่เห็นสัตว์ตัวนั้นวิ่งเข้ามาหาผม ผมจึงยิงนัดที่สองออกไป สัตว์ร้ายตัวนั้นถูกเข้าเลยกระโดด เร็วอย่างไม่น่าเชื่อ เข้าไปหลบอยู่ที่ต้นซามัวไมร่าใหญ่ตัวนั้น จากหลังที่กำบังนั่นมันส่งเสียงขู่อย่างดุเดือดจนต้นไม้ที่ผมเกาะอยู่ดูจะสั่น ผมเคยไปร่วมล่าเสือจากัวร์มาก่อนและผมรู้ดีถึงความดุร้ายของเสือตัวนี้ยามที่มันถูกต้อนไปจนมุม แต่เสียงคำรามของสัตว์ที่ทำร้ายผมในคืนนั้น น่ากลัวกว่ามากและดังกว่าเสียงของเสือจากัวร์

ผมบรรจุลูกปืนอีกและยิงออกไปในทิศทางที่ได้ยินเสียงคำรามนั้นด้วย กลัวว่ามันจะกลับมาทำร้ายเอาอีก ร่างดำ ๆ นั่นส่งเสียงอีกครั้งดังกว่าเก่า แต่ก็ถอยหนีและหายไปในความลึกของป่า ผมยังคงได้ยินเสียงมันร้องด้วยความเจ็บปวดเป็นครั้งเป็นคราวจนสุดท้ายก็เงียบหายไป" 

รุ่งเช้าพอดี รอจนพระอาทิตย์ขึ้นเต็มที่อีโนเซนซีโอถึงได้กล้าลงมาจากคาคบ ตรงที่โล่งนั่นเขาได้เห็นรอยเลือด กิ่งไม้หักต้นไม้เล็กถูกเหยียบย่ำราบเป็นทางไปทุกหนทุกแห่ง ดูจะมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว เขาไม่กล้าจะตามสัตว์ตัวนั้นไป ด้วยรู้ดีว่าสัตว์ที่บาดเจ็บนั้นยิ่งมีอันตรายมาก อาศัยดวงอาทิตย์เป็นเครื่องนำทาง เขาหาทางกลับมาจนพบเพื่อน ๆ ที่คอยยิงปืนเป็นระยะเพื่อจะบอกเขาให้รู้ตำแหน่งที่พวกนั้นคอยอยู่

"ผมยืนกรานว่าผมได้เป็นมาปิงกวารี มันมิได้มีเกราะอย่างที่พวกเขาอยากให้คุณเชื่อ พวกนั้นบอกว่าถ้าจะทำให้มันตายคุณต้องยิงที่จุดอ่อนจุดเดียวของมัน อยู่ที่ตรงกลางท้อง ผมไม่สามารถบอกได้ว่าตรงไหนที่มันบาดเจ็บด้วยลูกปืนผม แต่ผมรู้ว่ามันถูกยิง เพราะมีเลือดเต็มไปหมด"



กราวด์สล๊อธ หรือสล๊อธยักษ์ สัตว์โบราณที่เชื่อว่าได้สูญพันธุ์ไป
เมื่อหลายหมื่นปีมาแล้


หลายคนคิดว่ามาปิงกวารีเป็นวานรหรือลิงใหญ่ แต่ ดร.เดวิด ซี. โอเรน ที่ติดตามค้นหาสัตว์นี้มานานหลายปีแล้วเชื่อว่ามันเป็นสัตว์โบราณจำพวกกราวด์สล๊อธ ที่เชื่อกันว่าได้สูญพันธ์ุ์ไปนานแล้ว โอเรนเป็นนักปักษีวิทยาทำงานอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เอมีลีโอ โกเอลดี ที่เมืองเบเลม ประเทศบราซิล ครั้งแรกที่เขามาศึกษาชีวิตนกในป่าของบราซิลเพื่อทำวิจัยสำหรับรับปริญญาดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดเมื่อยี่สิบปีมาแล้วนั้น โอเรนก็ได้ยินเรื่องราวของสัตว์ตัวนี้ แต่ตอนนั้นเขาไม่เชื่อ คิดว่ามันก็เหมือนตำนานพื้นบ้านของย่านอเมซอนทั่วไปที่มักจะเล่าถึงอภินิหารต่าง ๆ อย่างเช่นที่ปลาโลมาน้ำจืดโบโด ถูกกล่าวหาว่าทำให้ผู้หญิงที่ยังไม่มีสามีตั้งครรภ์ โดยมันแปลงตัวเป็นชายหนุ่มรูปหล่อเข้าไปในหมู่บ้านที่กำลังมีงานกันแล้วก็หลอกสาววัยรุ่นให้เข้าไปตามสุมทุมพุ่มไม้กับมันในตอนกลางคืน หรืออย่างคูรูปิรา ที่สามารถแปลงตัวได้ต่าง ๆ เช่นเป็นชายชราน่าเกลียดขนเต็มตัว หรือเป็นสัตว์อื่น ๆ เพื่อหลอกทำร้ายพวกพรานป่า เรื่องของมาปิงกวารีบางเรื่องก็ฟุ้งซ่านพอกัน อย่างเช่นเล่าว่า เดิมมันเป็นอินเดียนแก่ ๆ ที่อยากเป็นอมตะ จึงเข้าป่าเที่ยวหายาอายุวัฒนะ สุดท้ายเลยกลายเป็นสัตว์ไปหรือบอกว่ามันมีตาเดียว ชอบสูบบุหรี่ และคอยผ่าหัวกะโหลกคนเพื่อกินมันสมอง เป็นต้น

แต่เมื่อราว 15 ปีมานี้หลังจากที่เขาได้ยินเรื่องราวของมาปิงกวารีซ้ำ ๆ วันหนึ่งโอเรนได้คุยกับเพื่อน เพื่อนเขาพูดว่า "เดวิด คุณเป็นนักชีววิทยา ส่วนผมเป็นนักประวัติสาสร์ สัตว์ตัวนี้มันควรจะเป็นตัวอะไร?" นี่เองที่ทำให้โอเรนต้องคิดทบทวน เขาบอกว่า "และเมื่อผมเริ่มต้นฟังเรื่องพวกนี้อย่างตั้งอกตั้งใจแล้วแสงสว่างก็เริ่มขึ้น" หลังจากที่ประมวลรายละเอียดต่าง ๆ จากที่ได้ยินมา โอเรนก็คิดว่ามาปิงกวารีไม่ใช่อะไรอื่น มันคือกราวด์สล๊อธยักษ์ สัตว์โบราณยุคพลีสโตซีนเมื่อราว 2 ล้านปีมาแล้ว มาปิงกวารีคงเป็นกราวด์สล๊อธชนิดสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่ หรือไม่ก็เพิ่งจะสูญพันธุ์ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ มันเป็นสัตว์กินพืช ตามตัวมีขนสีแดง เล็บมีขนาดใหญ่งองุ้ม เวลาเดินสี่เท้าเล็บจะงอกลับไปด้านหลัง มันสามารถยืนตรงด้วยสองขาหลังอย่างคน สัตว์พวกนี้บางชนิดมีกระดูกชิ้นเล็ก ๆ ฝังอยู่ใต้ผิวหนัง ทำให้มันหนังเหนียวทนต่ออาวุธ จะมีก็แต่ตรงส่วนท้องเท่านั้นที่เป็นจุดอ่อน อาจเป็นเพราะถูกล่าอย่างหนักหรือด้วยภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป หรือไม่ก็ทั้งสองอย่างทำให้สัตว์พวกนี้ต้องสูญพันธุ์ไปเมื่อระหว่าง 5,000 - 10,000 ปีมานี้ ซึ่งถ้าหากจะเทียบกับสัตว์ดึกดำบรรพ์อื่น ๆ แล้วก็ดูเหมือนว่ากราวด์สล๊อธจะเพิ่งสูญพันธุ์ไปเมื่อวานนี้เอง


รูปจำลองมาปิงกวารี

 

สำหรับโอเรนแล้ว เขาคิดว่าเป็นไปได้อย่างมากที่จะยังคงมีกราวน์สล๊อธหลงเหลืออยู่ในป่าฝนที่ใหญ่ที่สุดและเป็นที่ที่พบซากฟอสซิลของกราวด์สล๊อธมากที่สุดของโลกผืนนี้ โอเรนมิใช่คนแรกที่คิดว่ากราวด์สล๊อธยังมีชีวิตอยู่ เมื่อปลายศตวรรษที่ 19 ฟลอเรนตีโน อเมจีโน นักวิทยาศาสตร์ชาวอาร์เจนตินาก็เชื่อเช่นนี้ แม้ตัวเขาจะไม่เคยเห็นตัวมันเป็น ๆ ก็ตาม ดรงแบร์นาร์ด อูเวลมส์ ได้นำเรื่องราวของอเมจีโนและกราวด์สล๊อธมาเขียนเล่าไว้ในบทหนึ่งของหนังสือ On the Track of Unknown Animals ของเขา และอูเวลมงส์ก็เชื่อเช่นกันว่าอาจจะยังมีกราวด์สล๊อธอยู่ในป่าอเมซอน จึงได้บทบทนั้นลงด้วยประโยคว่า "มันอาจจะยังอาศัยอยู่ใน "นรกเขียว" แห่งนี้ และพบว่านั่นเป็นสวรรค์ของมันบ้างไม่ได้หรือ?"


แต่การตามหามาปิงกวารีในนรกเขียวแห่งนี้มิใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะพื้นป่ารกทึบเปียกชื้นและเต็มไปด้วยแมลงร้ายนานาชนิด แต่ไม่ว่าจะยากลำบากอย่างไร โอเรนและคณะของเขาก็พยายามติดตามค้นหาให้ครอบคลุมพื้นที่ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ บางวันพวกเขาเดินทางติดต่อกันถึง 9 ชั่วโมง เพื่อหารอยเท้าหรือรอยทางด่านใหม่ ๆ ของหมูป่าเพคคารี "มันเหมือนงมเข็มในมหาสมุทรโดยไม่มีแม่เหล็กช่วย" โอเรนบอก นับแต่ปี 1994 จนถึงเดี๋ยวนี้เขาได้ออกสำรวจค้นหาสัตว์ตัวนี้ถึงหกครั้งแล้ว แต่ถ้าจะนับรวมเวลาเข้าด้วยกันก็แค่ไม่ถึงสี่เดือนดี เขาได้รับความช่วยเหลือด้านทุนจากมูลนิธิต่าง ๆ และจากบริษัทฟิล์มเล็ก ๆ แห่งหนึ่งด้วย แต่ส่วนใหญ่แล้วก็ต้องควักจากกระเป๋าของตัวเอง นอกจากต้องลงทุนลงแรงแล้วโอเรนยังต้องเสี่ยงกับชื่อเสียงของเขาเองอีกด้วย

หลายคนไม่เชื่อเรื่องมาปิงกวารี หาว่าเขาหลอกเอาเงินสถาบันต่าง ๆ มาใช้ และมักจะถามด้วยคำถามซ้ำ ๆ ว่า "ไหนล่ะหลักฐานเดวิด?" เท่าที่ผ่านมาหลักฐานที่หาได้ก็มีเพียงเส้นขน ข้อมูล และรอยเท้า แต่เส้นขนเมื่อนำไปตรวจแล้วปรากฏว่าเป็นของอโกติ (agouti - สัตว์คล้ายหนูตะเภา) มูลสัตว์ที่ได้ก็ตรวจหาดีเอ็นเอไม่พบ สำหรับรูปหล่อรูปของรอยเท้านั้นโอเรนบอกว่าสามารถทำปลอมขึ้นมาได้ จึงใช้เป็นหลักฐานไม่ได้


ระหว่างติดตามหามาปิงกวารี ดร.เดวิด โอเรน ก็ศึกษาชีวิตนกไปด้วย
ส่วนลูกทีมก็มองดูว่าพอจะหาสัตว์อะไรมาเป็นอาหารได้บ้าง

"ถ้าคุณปฏิเสธที่จะเชื่อจนกว่าจะได้เห็นตัวอย่างในพิพิธภัณฑ์แล้วโลกนี้มันจะเป็นอย่างไร ผมหมายความว่ามีหลายอย่างที่เราพร้อมจะเชื่อโดยไม่ต้องเห็นมัน" เค็นธ์ เรดฟอร์ด นักชีววิทยาผู้หนึ่งบอก "แล้วทำไมมาปิงกวารีจะมีไม่ได้? ยิ่งเดวิดแล้วมันเป็นไปได้มาก และผมก็หวังว่าเขาถูก" 

โอเรนเชื่อว่ามาปิงกวารีมีจริงก็จากที่เขาได้ซักถามพยานที่พบเจอด้วยตัวเองกว่าห้าสิบราย พยานรายหนึ่งชื่อ มารีโอ เปไรร่า เด ซูซา อยู่ที่อีไตตูบา เขาเผชิญหน้ากับมาปิงกวารีเมื่อปี 1975 เขาเล่าว่าตอนนั้นเขาเข้าป่าเพื่อล่าสัตว์ไปขายให้กับแคมป์ทำเหมือง ขณะที่เดินเลียบไปริมฝั่งแม่น้ำฮามาอูซิมที่ไหลไปลงแม่น้ำตาปาโฮสที่อยู่ทางใต้ของอีไตตูบา ก็ได้มีสัตว์ขนยาวรุงรังตัวหนึ่งเดินโยกเยกด้วยขาหลังตรเข้ามาหาเขา สิ่งที่จำจนติดใจของเขาก็คือ "กลิ่นเหม็นรุนแรงจนทำให้ผมวิงเวียน ผมไม่ค่อยสบายไปถึงสองเดือน" เขาบอก และหลังจากนั้นเขาก็ไม่ยอมเข้าป่าลึกอีกเลย

"ดิฉันว่ามันเป็นเรื่องโกหก" ลูซี่ เอมมอนส์ นักวิจัยของสถาบันสมิธโซเนียนว่า "ถ้าคุณรู้จักพวกคนพื้นเมืองก็จะรู้ว่าพวกเขาชอบหลอกนักวิทยาศาสตร์ที่เชื่อง่ายเล่น" เธอว่าป่าอเมซอนนั้นมีนักธรรมชาติวิทยาสำรวจติดต่อกันมาหลายทศวรรษแล้ว ยังจะมีที่ไหนให้สัตว์ขนาดใหญ่หลบซ่อนตัวอยู่ได้

แต่นิเกล สมิธ นักภูมิศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฟลอริดามิได้คิดเช่นนั้น เขาท่องเที่ยวอยู่ในป่าอเมซอนเพื่อรวบรวมตำนาน และคติชาวบ้านย่านนั้นอยู่ช้านานจนพอรู้ว่่าอะไรจริงอะไรไม่จริง เขาบอกว่า "เราไม่จำเป็นต้องเอาความรู้ของชาวบ้านขึ้นหิ้งบูชา แต่พวกนักวิทยาศาสตร์มักจะผ่านเลยไปเสียเฉย ๆ ผมหมายถึงเรื่องที่พวกเขาพบหมูป่าเพคคารีที่ว่าสูญพันธ์ไปแล้ว แถวปารากวัยนั่นเมื่อ 25 ปีก่อน"

หมูป่าเพคคารีชาคาออน เป็นอุทาหรณ์อันดีสำหรับโอเรน เพราะพวกชาวบ้านรู้ดีว่ามันยังมีตัวอยู่ แต่พวกนักวิทยาศาสตร์กลับไม่ยอมเชื่อ คิดว่ามันเป็นสัตว์โบราณที่สูญพันธุ์ไปนานแล้ว หาว่าที่ชาวบ้านพูดถึงนั้นเป็นแค่สัตว์ในตำนานจนเมื่อพบตัวมันเมื่อปี 1975 ถึงได้ยอมรับกัน

มาคราวนี้ โดสซานโตสนำทางคระของโอเรนมาจนถึงแอ่งน้ำที่โตนซานโตสหนีลงไปซ่อนตัวด้วยความกลัวดังที่ได้เล่าข้างต้น พวกเขาค้นหาดูว่ายังจะมีรอยเท้าของเพคคารีและมาปิงกวารีหลงเหลืออยู่บ้างหรือไม่ รอยเท้าขนาดใหญ่ที่คณะพบวันนั้นมีอายุราวหนึ่งสัปดาห์มาแล้ว โอเรนกับไดโอนีซีโอปีเมนเดล ผู้ช่วยของเขาจากพิพิธภัณฑ์โกเอลดีได้ติดตามรอยเท้านั้นไปเรื่อย ๆ แต่แล้วรอยนั้นก็จางหายไป รอยเท้านี้ยาวราว 11 นิ้ว และกว้างราว 5 นิ้ว ระยะก้าวห่างกันประมาณ 3 ฟุต

หลังจากสัปดาห์หนึ่งผ่านไปคณะสำรวจก็เริ่มท้อ แม้ว่าจะเจอโพรงของอาร์มาดีโยยักษ์ รอยเท้าสมเสร็จ ผูงลิงวูลลี่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าป่าแห่งนี้ยังไม่ถูกบุกรุกจากภายนอก แต่ก็ยังไม่ปรากฏร่องรอยของสัตว์ใหญ่ตัวนั้น ไม่มีเสียงร้องที่น่ากลัวให้ได้ยิน ไม่มีมูลของมันให้เก็บตัวอย่าง แต่แล้วก็ได้พบรอยเท้าขนาดใหญ่อีกครั้งหนึ่ง รอยนี้ใหญ่เป็นสามเท่าของรอยเท้าสมเสร็จสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดของที่นั่น แต่รอยนั้นก็มีอายุนานกว่ารอยชุดแรกที่พบ

ตามรอยหมูป่าต่อไปอีกพักโอเรนก็ถามขึ้นอย่างสนุกว่าทำไมมาปิงกวารีถึงได้คอยติดตามหมูป่า "มันชอบกินอาหารชนิดเดียวกันกับที่หมูป่าเพคคารีปากขาวกิน หรือว่าผมผิด จริงแล้วมันเป็นสัตว์ดุร้ายและมันกินหมูป่าเพคคารีปากขาว แต่ผมหวังว่าคงไม่เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นมันก็คงกินพวกเราด้วย" โดสซานโตสแย้ง เขาให้เหตุผลที่มันคอยติดตามหมูป่าง่าย ๆ ว่า "มันคอยปกป้องหมูป่าน่ะสิ"

ก็คงอย่างที่นิเกล สมิธ ผู้ที่รวบรวมตำนานของป่าอเมซอนเอาไว้ในหนังสือ The Enchanted Amazon Rain Forest บอกตำนานหลายเรื่องอาจจะเล่าเพื่อความสนุกสนานและให้สีสันแก่ผู้ฟัง แต่ก็เพื่อรักษาชีวิตพืชและสัตว์ของป่าเอาไว้ด้วย และนี่ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้โอเรนทุ่มเทค้นหาสัตว์ตัวนี้ นับแต่ที่เขาเหยียบย่างเข้าป่าอเมซอนเมื่อยี่สิบก่อนเขาก็รักมันมากและอยากจะปกป้องมันไว้ เขาบอกว่าตอนนี้ที่ป่าใกล้กับหมู่บ้านบาร์รานั้นบริษัทเหมืองแร่แห่งหนึ่งได้รับสัมปทาน ซึ่งพร้อมจะเปิดป่าขุดหาแร่เมื่อใดก็ได้ แต่ถ้าหากพบตัวมาปิงกวารีแถวนี้เหตุการณ์ก็จะเปลี่ยนแปลง ป่าแห่งนี้จะได้รับการคุ้มครอง

และนั่นก็หมายความว่าป่าฝนแห่งนี้จะรักษาสภาพอย่างที่มันเป็นอยู่ไว้ได้ตลอดไป...✎



หมูป่าเพคคารีปากขาว




โดย ปุณยุษย์ คล้ายคุ้ม คอลัมน์ตามรอยสัตว์ ตามรอยดึกดำบรรพ์
ที่มา : ต่วยตูนพิเศษ ปีที่ 26 เล่มที่ 305 ประจำเดือนกรกฎาคม 2543, หน้า 80-83.

 







Create Date : 06 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 6 กุมภาพันธ์ 2559 16:04:01 น. 0 comments
Counter : 2883 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

hathairat2011
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 12 คน [?]










Google

ขอบคุณที่แวะมา
อย่าลืมคอมเม้นท์นะจ้ะ

Flag Counter

ส่งอีเมล์

Facebook ของ Hathairat



New Comments
Friends' blogs
[Add hathairat2011's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.