DR.MOO CAN DO
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2553
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
28 พฤษภาคม 2553
 
All Blogs
 
ความรับผิดของอาจารย์แพทย์กรณีนักศึกษาแพทย์ทำละเมิดผู้ป่วย

หลายคนคงสงสัยว่าถ้านักศึกษาแพทย์ทำละเมิดผู้ป่วยอาจารย์แพทย์ผู้ควบคุมดูแลจะต้องรับผิดชอบในทางแพ่งด้วย มากน้อยเพียงใด  ในเรื่องนี้เท่าที่ทราบยังไม่เคยมีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาออกมาเป็นบรรทัดฐานบทความนี้ขอเสนอแนวคิดของผู้เขียนเองซึ่งมีพื้นฐานจากหลักกฎหมาย  การตีความกฎหมาย  และแนวคำพิพากษาฎีกาของกรณีที่ใกล้เคียงกัน  และอยากเรียนท่านผู้อ่านให้ทราบว่า คดีที่บางครั้งคนทั่วไปมองว่าเป็นเรื่องเดียวกันแต่ในทางกฎหมายถ้ามีข้อเท็จจริงต่างกันเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้ผลของคดีแตกต่างกันได้  ในเบื้องต้นขอกล่าวถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังนี้


1) กรณีกฎหมายให้ร่วมรับผิดเพราะถือว่าเป็นครูอาจารย์ผู้ดูแล


ป.พ.พ.มาตรา 430 บัญญัติว่า “ ครูบาอาจารย์  นายจ้าง  หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี  ชั่วครั้งชั่วคราวก็ดี  จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิดซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน  ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นๆมิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร”


หลักเกณฑ์ความผิดตามมาตรานี้ คือ


- ผู้ไร้ความสามารถทำละเมิด (  ผู้ไร้ความสามารถคือผู้ที่กฎหมายเห็นว่ามีความบกพร่องในความสามารถเช่นผู้เยาว์  คนวิกลจริต  คนไร้ความสามารถ  คนเสมือนไร้ความสามารถ) ซึ่งหากปรับใช้กับกรณีนี้ก็หมายถึงนักศึกษาแพทย์ (นศพ.)ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะได้ทำละเมิดต่อผู้ป่วย


- มีครูบาอาจารย์ทำหน้าที่ดูแลผู้ไร้ความสามารถ ซึ่งกรณีนี้ก็หมายถึงว่ามีอาจารย์แพทย์ที่มีหน้าที่ดูแล นศพ.ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ


- ขณะผู้ไร้ความสามารถกระทำละเมิดนั้นเขาอยู่ในความดูแลของครูอาจารย์


- ผู้เสียหายต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ว่าอาจารย์แพทย์ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร (ภาษากฎหมายใช้ว่าภาระพิสูจน์ตกอยู่กับฝ่ายผู้เสียหาย (โจทก์)) ซึ่งถ้าโจทก์พิสูจน์ได้ อาจารย์แพทย์ก็ต้องร่วมรับผิด ส่วนจะรับผิดเพียงใดนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับว่า ตนมีอำนาจหน้าที่ดูแลมากน้อยเพียงใดด้วย    


ปัญหามีอยู่ว่าศาลจะรับเอามาตรา 430 นี้มาใช้กับกรณีอาจารย์แพทย์


- นักศึกษาแพทย์ดังกล่าวหรือไม่เพราะเคยมีผู้กล่าวไว้ในตำราทางกฎหมายว่า“อาจารย์ในมหาวิทยาลัยเป็นเพียงผู้ให้การศึกษาไม่ได้เป็นผู้รับดูแลผู้ไร้ความสามารถ จึงไม่อยู่ในบังคับมาตรานี้ด้วยความเคารพในความเห็นดังกล่าวโดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนมีความเห็นว่าคำกล่าวข้างต้นน่าจะใช้ได้เฉพาะกรณีอาจารย์ในมหาวิทยาลัยปกติที่มีหน้าที่สอนทฤษฎีเป็นหลักถ้าจะมีการสอนปฏิบัติก็มักกระทำในห้องปฎิบัติการไม่ได้กระทำกับคนแต่ถ้าเป็นกรณีที่เป็นอาจารย์ที่สอนวิชาชีพที่มีการปฏิบัติกับคน เช่นอาจารย์แพทย์อาจารย์พยาบาลก็น่าจะถือว่าอาจารย์ในวิชาชีพเหล่านี้มีหน้าที่ดูแลลูกศิษย์ตามความหมายของมาตรา430ด้วย


ข้อสังเกต


- ถ้านักศึกษาแพทย์บรรลุนิติภาวะแล้ว ก็ไม่สามารถอ้างมาตรา 430 นี้เพื่อเอาผิดกับอาจารย์แพทย์ได้ แต่อาจใช้หลักเรื่องตัวการ-ตัวแทน หรือใช้มาตรา 420 ที่เป็นบททั่วไป (ซึ่งจะกล่าวโดยละเอียดต่อไป)


- กรณีที่เป็นสถาบันการศึกษาของภาครัฐ ต้องอยู่การใต้บังคับของ “พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่  พ.ศ. 2539 ซึ่งมีผลให้อาจารย์แพทย์ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ  ได้รับความคุ้มครอง โดยผู้เสียหายไม่สามารถฟ้องอาจารย์แพทย์ได้โดยตรง ต้องฟ้องหน่วยงานรัฐเท่านั้น


2) กรณีกฎหมายให้ร่วมรับผิดฐานที่เป็นตัวการให้ผู้อื่นทำการแทน


ป.พ.พ.มาตรา 427 ประกอบ 425 วางหลักไว้ว่า “ ตัวการต้องร่วมรับผิดกับตัวแทนในผลแห่งละเมิดซึ่งตัวแทนได้ทำลงไปในกิจการที่ตัวการมอบหมายให้ทำแทน”


คำว่า “ ตัวการ” หมายถึง บุคคลซึ่งมอบอำนาจหรือมอบหมายให้บุคคลอื่นทำการใดแทนตน


คำว่า “ ตัวแทน” หมายถึง บุคคลซึ่งมีอำนาจทำการแทนตัวการตามที่ได้ถูกมอบหมาย  โดยการแต่งตั้งตัวแทนนั้นอาจแต่งตั้งโดยชัดแจ้ง   โดยปริยาย ก็ได้  อีกทั้งอาจเป็นในรูปแบบของตัวแทนเชิด หรือ ตัวแทนที่ตัวการให้สัตยาบันแล้วก็ได้ ( ป.พ.พ. มาตรา 821 ,822 ,823 )


จากหลักกฎหมายดังกล่าวเมื่อนำมาปรับเข้ากับกรณีอาจารย์แพทย์-นศพ. อาจารย์แพทย์อาจต้องรับผิดในฐานะที่เป็นตัวการต่อเมื่อ


- มีการตั้ง นศพ. เป็นตัวแทนให้ไปทำการปฏิบัติต่อผู้ป่วย โดยการตั้งตัวแทนอาจตั้งโดยแสดงออกชัดเจน หรือ ตั้งโดยปริยายก็ได้  หรือแม้แต่กรณีไม่ได้แต่งตั้ง  แต่นศพ.ได้ปฏิบัติแทนโดยอาจารย์แพทย์ก็ไม่ได้ว่าอะไรอย่างนี้ทางกฎหมายเรียกว่า “ตัวแทนเชิด”


- นศพ. ทำละเมิดภายในขอบอำนาจของการเป็นตัวแทน ซึ่งหมายความว่าถ้า นศพ. ทำนอกเหนือขอบเขตที่อาจารย์แพทย์มอบหมาย ถ้าเกิดความเสียหาย อาจารย์แพทย์ไม่ต้องรับผิดฐานเป็นตัวการ ตัวอย่างเช่น นาย พอ เป็นอาจารย์แพทย์ ได้มอบหมายให้ นศพ ปอ ไปเย็บแผลผู้ป่วยชื่อสวย แต่นศพ. ปอ กลับไปเย็บแผลให้ นางสุด  กรณีนี้หากเกิดความเสียหายต่อนางสุด  นายพอก็ไม่ต้องรับผิดชอบในฐานะตัวการ (แต่นายพอ อาจต้องรับผิดตามป.พ.พ.มาตรา 430 หรือ 420 ซึ่งต้องดูข้อเท็จจริงอื่นประกอบ)


ข้อสังเกต


- กรณีที่เป็นสถาบันการศึกษาของภาครัฐ ต้องอยู่การใต้บังคับของ “พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่  พ.ศ. 2539 ซึ่งมีผลให้อาจารย์แพทย์ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ  ได้รับความคุ้มครอง โดยผู้เสียหายไม่สามารถฟ้องอาจารย์แพทย์ได้โดยตรง ต้องฟ้องหน่วยงานรัฐเท่านั้น


- หลักความรับผิดของอาจารย์แพทย์ในกรณีนี้สามารถใช้ได้โดยไม่สนใจว่า นศพ.จะบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือไม่


สรุป


ดังที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าในเรื่องความรับผิดของอาจารย์แพทย์กรณีที่ นศพ.ทำละเมิด  ยังไม่ปรากฏแน่ชัดว่าศาลจะใช้มาตราใดมาปรับใช้กับกรณีนี้ ซึ่งตามหลักกฎหมายเรื่องละเมิด มีมาตราที่เกี่ยวข้องอยู่ดังเช่นที่ได้นำเสนอข้างต้นแล้ว ซึ่งผลการพิจารณาคดีก็คงขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงเป็นกรณีๆไป และอย่าลืมว่าแม้บางกรณีจะเข้าไม่ได้กับ สองหัวข้อที่กล่าวมาคือแม้ว่าอาจารย์แพทย์ไม่ต้องรับผิดทั้งในฐานะอาจารย์ผู้ดูแลและไม่ต้องรับผิดในฐานะตัวการแต่อาจารย์แพทย์ยังอาจต้องรับผิดเพราะจงใจหรือประมาทเลินเล่อในการทำหน้าที่ของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 420


Create Date : 28 พฤษภาคม 2553
Last Update : 28 พฤษภาคม 2553 10:22:22 น. 1 comments
Counter : 1272 Pageviews.

 
อ่อ
อย่างนี้นี่เอง
เคยสงสัยมานานแล้วเหมือนกันค่ะอาจารย์
ขอบคุณมากนะคะ


โดย: ^^-^^ IP: 202.28.62.245 วันที่: 29 พฤษภาคม 2553 เวลา:23:47:46 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

DR.MOO CAN DO
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 42 คน [?]




ผมเป็น นิติพยาธิแพทย์ หรือ จะเรียกว่า หมอนิติเวช ก็ได้ครับ นิติพยาธิแพทย์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปีแล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง นิติพยาธิอีก 3 ปี และเมื่อสอบผ่าน ก็จะได้รับวุฒิบัตรเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขานิติเวชศาสตร์ และได้เป็นนิติพยาธิแพทย์ โดยสมบูรณ์
หน้าที่ของหมอนิติเวช แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ
ส่วนแรก จะเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยคดี โดยในผู้ป่วยคดีนั้นแพทย์นิติเวชจะมีหน้าที่ในการตรวจ และให้ความเห็นกับพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับบาดแผลที่ตรวจพบ ซึ่งตำรวจจะนำไปใช้ในการตั้งข้อกล่าวหากับคู่กรณี และหน้าที่ต่อมาของแพทย์นิติเวชคือการเป็นพยานในชั้นศาลในคดีดังกล่าว
ส่วนที่สอง จะเกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิต โดยในกรณีผู้เสียชีวิตนั้นแพทย์นิติเวชมีหน้าที่ในการตรวจสถานที่เกิดเหตุในกรณีตายผิดธรรมชาติตามที่กฎหมายกำหนด และหากมีความจำเป็นต้องผ่าชันสูตร ก็จะต้องมีการทำรายงาน และให้ความเห็นเกี่ยวกับสาเหตุของการเสียชีวิต ส่งให้พนักงานสอบสวน สุดท้ายหน้าที่หลักที่สำคัญโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้คือการเป็นพยานในชั้นศาลในคดีนั้นๆครับ
ประวัติการศึกษา
1.แพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
2.วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3.ประกาศนียบัตร “Crime Scene Investigation” โครงการร่วมระหว่าง International Law Enforcement Academy กับ Federal Bureau of Investigation Academy
4.ประกาศนียบัตร “การบริหารงานโรงพยาบาล” คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ผลงาน
1.อาจารย์ประจำภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มศว.
2.อาจารย์พิเศษ สอนนักศึกษาชั้นปีที่ 3 โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
3.อาจารย์พิเศษ สอนนักศึกษาปริญญาโท สาขานิติวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
4.อาจารย์พิเศษ สอนนักศึกษาปริญญาโท สาขานิติวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
5.วิทยากร หัวข้อ "ICD-10" ของกระทรวงสาธารณสุข
6.วิทยากร หัวข้อ "การตรวจสถานที่เกิดเหตุ" ของมูลนิธิร่วมกตัญญู และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
7.วิทยากรอบรมหลักสูตรนายร้อยตำรวจอบรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
8.วิทยากร หัวข้อ "KPI รายบุคคล" ให้กับโรงพยาบาลและมหาลัยวิทยาลัย ในภาครัฐ
9.วิทยากร หัวข้อ "Living will" ให้กับโรงพยาบาลในภาครัฐและเอกชน10.วิทยากร หัวข้อ "นิติเวชศาสตร์กับงานด้านโบราณคดี" ให้กับคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
11.ร่วมเขียนหนังสือ "KPI รายบุคคล"
12.ร่วมเขียนหนังสือ "มาตรฐาน ICD-10, ICD-9"
13.ที่ปรึกษารายการ "เรื่องจริงผ่านจอ" และ "Redline"
14.บทความทางวิชาการและผลงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ 15 เรื่อง
15.ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ตั้งแต่ ปี พศ.2553
16.ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพ ฯ คณะแพทยศาสตร์ มศว. ตั้งแต่ปี พศ.2551
ผศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี (DR.MOO CAN DO)
New Comments
Friends' blogs
[Add DR.MOO CAN DO's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.