DR.MOO CAN DO
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2553
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28 
 
8 กุมภาพันธ์ 2553
 
All Blogs
 
การตรวจสถานที่เกิดเหตุ (CSI : Crime Scene Investigation)

                เรื่องการสืบสวนทางนิติวิทยาศาสตร์นี้ ผู้เขียนได้รวบรวมขึ้นเพื่อใช้เป็นคู่มือในการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น การสืบสวนทางนิติวิทยาศาสตร์เริ่มต้นจากการตรวจสถานที่เกิดเหตุ (Crime scene investigation) หลังจากคนร้ายก่อเหตุและหลบหนีไปแล้ว และคนร้ายมักจะฉวยโอกาสลงมือก่อเหตุในช่วงที่ปลอดคน ไม่มีใครเห็นเหตุการณ์ จึงไม่มีพยานบุคคลระบุยืนยันตัวคนร้ายได้ จำต้องอาศัยวิธีการสืบสวนทางนิติวิทยาศาสตร์ มาช่วยในการสืบสวนหาตัวคนร้าย ในต่างประเทศ การตรวจสถานที่เกิดเหตุ และการจัดทำแผนประทุษกรรมในที่เกิดเหตุ ตลอดจนพฤติกรรมคนร้าย ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุตลอดจนพฤติกรรมของคนร้าย ในแต่ละคดีที่เกิดขึ้น จะถูกเก็บรวบรวมไว้ในคอมพิวเตอร์ระบบออนไลน์  VCAP หรือViocent Criminal Apprehenfion เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างตำรวจหน่วยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น CIA FBI หรือ สถานีตำรวจท้องที่ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลของคดี และช่วยกันตรวจสอบเปรียบเทียบลักษณะคดี และพยานหลักฐานที่ได้ ว่าตรงกับคดีใด ของท้องที่ใดบ้าง เมื่อจับผู้ต้องสงสัยได้ก็จะส่งประวัติ กรุ๊ปเลือด เส้นผม น้ำอสุจิ ไปตรวจพิสูจน์ เพื่อให้คอมพิวเตอร์และเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้าน นิติวิทยาศาสตร์ และ พฤติกรรมศาสตร์มาวิเคราะห์ ว่าผู้ต้องหาสงสัยน่าจะเป็นคนร้ายในคดีใดบ้าง เพื่อบ่งชี้ตัวคนร้าย 


                สำหรับในประเทศไทย แม้จะมีการนำนิติวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาใช้ในคดีเช่นเดียวกันกับต่างประเทศ แต่การเชื่อมโยงข้อมูลคอมพิวเตอร์ออนไลน์ยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร ยังคงอาศัยการโต้ตอบทางเอกสารเป็นหลัก แต่ก็สามารถตรวจวิเคราะห์พยานหลักฐาน จำพวก ทะเบียนราษฎร์ ทะเบียนประวัติ แผนประทุษกรรม กรุ๊ปเลือด เส้นผม น้ำอสุจิ น้ำคัดหลั่งจากร่างกาย เพื่อยืนยันตัวผู้ต้องหาได้เช่นเดียวกันกับต่างประเทศ มีการกล่าวอ้างจากนักวิชาการด้านยุติธรรมว่า การสืบสวนในประเทศไทยยังล้าหลังกว่าต่างประเทศประมาณ 20 ปี


นิติวิทยาศาสตร์ (Forensic Science) 


                นิติวิทยาศาสตร์ คือ การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทุกสาขามาประยุกต์ใช้เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งสามารถสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมได้เป็นอย่างดี เพราะหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ประเทศในแถบยุโรป และ ญี่ปุ่น นำความรู้ทางนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ในการสืบสวนหาตัวคนร้ายอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในญี่ปุ่น สามารถนำนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ในการสืบสวนจนสามารถจับกุมคนร้ายได้ถึง 90% ของคดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้น


การปฏิบัติการทางนิติวิทยาศาสตร์ แยกลักษณะงานได้ ดังนี้


                1. การตรวจสถานที่เกิดเหตุ และการถ่ายรูป (Crime Scene Investigation and Forensic) 


                2. การตรวจลายนิ้วมือ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า (Fingerprint, Palmprint, Footprint) 


                3. การตรวจเอกสาร (Document) เช่น ตรวจลายเซ็น ลายมือเขียน 


                4. การตรวจอาวุธปืน และกระสุนปืนของกลาง (Forensic Ballistics) 


                5. การตรวจทางเคมี (Forensic Chemistry) เช่น ตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของสารต่าง ๆ 


                6. การตรวจทางฟิสิกส์ (Forensic Physics) เช่น ตรวจร่องรอยการเฉี่ยวชนรถ 


                7. การตรวจทางชีววิทยา (Biological Trace Evidence) เช่น ตรวจเส้นผม เลือด อสุจิ 


                8. การตรวจทางนิติเวช (Forensic Medicine) ได้แก่ นิติพยาธิวิทยา (Forensic Pathology), นิติเวชคลินิก (Clinical Forensic), นิติจิตเวช (Forensic Psychiatry), นิติพิษวิทยา (Forensic Toxicology) การพิสูจน์หลักฐาน (Criminalistic) นิติเซโรวิทยา (Forensic Serology) เวชศาสตร์จราจร (Traffic Medicine) กฎหมายการแพทย์ (Medicial Law)


การตรวจสถานที่เกิดเหตุ (Crime scene investigation) 


                หลังจากได้รับแจ้งเหตุ ก่อนออกเดินทางไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ ควรจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับตรวจสถานที่เกิดเหตุให้พร้อมใช้งาน ในต่างประเทศที่วิทยาการตำรวจทันสมัย จะมีกล่องใส่อุปกรณ์สำหรับตรวจสถานที่เกิดเหตุแบบกระเป๋าหิ้ว แต่สำหรับตำรวจไทยควรจัดหา จัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับตรวจสถานที่เกิดเหตุ ด้วยตนเอง ดังนี้.- 


                1. กล้องถ่ายรูป ควรใช้เลนส์แบบถ่ายภาพแบบมาโครสำหรับถ่ายภาพ สภาพทั่วไปของสถานที่เกิดเหตุ ภาพวัตถุพยาน ช่องทางประตู หน้าต่าง สิ่งผิดปกติอื่นๆ 


                2. กล้องถ่ายภาพเคลื่อนไหว สำหรับถ่ายภาพขั้นตอนการตรวจสถานที่เกิดเหตุของนักสืบ 


                3. เครื่องบันทึกเสียงดิจิตอล 


                4. แถบวัดบอกขนาดวัตถุ สำหรับวางทาบกับวัตถุพยาน ทำให้ทราบขนาดของวัตถุพยานได้จากภาพถ่าย 


                5. แถบวัดระยะ สำหรับวัดหาระยะ จุดพบศพ จุดพบวัตถุ ขนาดห้องที่เกิดเหตุ ความกว้างสูงของหน้าต่างประตู ช่องทางที่คนร้ายลอดเข้ามา ฯลฯ 


                6. เครื่องวัดระยะแบบละเอียด (ฟิงเกอร์เกจ) 


                7. ชุดเก็บลายนิ้วมือแฝง 


                8. ซอง และ ถุง พลาสติกสำหรับใส่วัตถุพยาน พร้อมสติกเกอร์สำหรับเขียนบ่งบอกลำดับ รายละเอียด 


                9. ขวดสำหรับเก็บวัตถุพยานที่เป็นของเหลว พร้อมเทปสำหรับคาดผนึกฝาขวด 


                10. ก้านสำลี สำหรับเก็บวัตถุพยานที่เป็นของเหลว หรือ ผง ที่มีขนาดเล็ก 


                11. ก้อนสำลีสำหรับซับเก็บ เลือด น้ำอสุจิ น้ำคัดหลั่งจากร่างกาย ฯลฯ 


                12. แว่นขยาย สำหรับตรวจดูวัตถุพยาน หรือ บาดแผลที่มีขนาดเล็ก 


                13. ถุงมือยาง 


                14. ผ้าปิดจมูก 


                15. มีดคัทเตอร์ 


                16. อุปกรณ์ช่างเท่าที่จะสามารถนำติดตัวไปได้ 


                17. แบบฟอร์มบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุ กระดาษเปล่า ปากกา


การแบ่งหน้าที่ของชุดสืบสวนที่ตรวจสถานที่เกิดเหตุ


คนที่หนึ่ง หัวหน้าชุด มีหน้าที่ สั่งการ บังคับบัญชา และสังเกตการณ์ทั่วไป


คนที่สอง ช่างภาพ - มีหน้าที่ บันทึกภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว


คนที่สาม ผู้เก็บวัตถุพยาน – มีหน้าที่ เก็บวัตถุพยาน เก็บอาวุธที่พบในที่เกิดเหตุ และถ่ายภาพนิ่ง


โดยบุคคลดังกล่าวข้างต้นสามคนนี้ และพนักงานสอบสวนเท่านั้นที่อนุญาตให้เข้าไปในแนวกั้นสถานที่เกิดเหตุ ส่วนที่เหลือให้อยู่นอกแนวกั้นสถานที่เกิดเหตุ คือ.-


คนที่สี่ ผู้รักษาสถานที่เกิดเหตุ - ตั้งแถบแนวกั้นสถานที่เกิดเหตุ และป้องกันมิให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในสถานที่เกิดเหตุ ตลอดจนคุ้มกันความปลอดภัยให้ชุดทำงาน


คนที่ห้า นักสืบ – เสาะหาสอบถามปากคำพยาน


คนที่หก นักสืบ – เสาะหาสอบถามปากคำพยาน


คนที่เจ็ด ผู้คุ้มกัน - คุ้มกันความปลอดภัยให้ชุดทำงาน และ สังเกตการณ์ทั่วไป (ทำหน้าที่พลขับด้วยโดยยานพาหนะที่ใช้ควรเป็นรถตู้) 


                ส่วนหน้าที่ในการนำส่งผู้บาดเจ็บ ปิดล้อมที่เกิดเหตุ ดับเพลิง ฯลฯ ควรให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สายตรวจที่มาปฏิบัติงานร่วมในสถานที่เกิดเหตุ และหากมีการติดตามไล่ล่าคนร้ายในขณะนั้นก็ควรให้เป็นหน้าที่ของหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ชุดอาวุธพิเศษ หรือ เจ้าหน้าสืบสวนชุดอื่น ที่ไม่ได้มีหน้าที่ในการตรวจสถานที่เกิดเหตุ 


                สิ่งสำคัญที่สุดเป็นอันดับแรกเมื่อนักสืบเดินทางไปถึงสถานที่เกิดเหตุ คือ การรักษาสถานที่เกิดเหตุ ทำการกั้นแนวสถานที่เกิดเหตุ แล้วห้ามมิให้ผู้อื่นใด รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตลอดจนเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจ ไม่ให้เข้าไปในแนวกั้นสถานที่เกิดเหตุ(หน้าที่ของเจ้าหน้าที่สายตรวจคือช่วยเหลือในการกั้นไม่ให้บุคคลเข้าไปในแนวกั้นและลำเลียงนำส่งผู้บาดเจ็บ หรือระงับเหตุที่ยังไม่สงบ) แต่ถ้ามีผู้เข้าไปในที่เกิดเหตุก่อนที่นักสืบจะไปถึงหรือไม่สามารถห้ามได้ ควรเก็บลายพิมพ์นิ้วมือ และตัวอย่างเส้นผม ของทุกๆ คนที่เข้าไปในสถานที่เกิดเหตุไว้ด้วย 


                จากนั้นจึงแบ่งพื้นที่ในสถานที่เกิดเหตุเป็นบล็อคๆ ละประมาณ 1 ตารางเมตร แล้วเข้าไปในสถานที่เกิดเหตุอย่างช้าๆ ทีละบล็อค บันทึกภาพทุกขั้นตอน และจดบันทึกทุกอย่างที่กระทำลงไปในที่เกิดเหตุ แล้วลงเวลากำกับด้วย ตลอดจนบันทึกสภาพที่เกิดเหตุ ประตู หน้าต่าง แสงสว่าง กลิ่น และสิ่งที่ผิดปกติอื่นๆ บันทึกปากคำของพยานโดยเทปบันทึกเสียงและเอกสาร 


                สิ่งที่ควรคำนึงถึงอย่างยิ่งในสถานที่เกิดเหตุ คือ พื้น เพราะพื้นจะเป็นแหล่งรวมของวัตถุพยานในที่เกิดเหตุ(Scene Marker) ทุกอย่างที่เหยื่อ หรือ คนร้ายจับต้อง หรือ กระทำโดยประการอื่นใดให้ปรากฏ เช่น เดินชนโต๊ะจนแก้วตกแตกที่พื้น หรือตก หยด หล่น ตามแรงดึงดูดของโลก เช่น หยดเลือด เส้นผมหล่นที่พื้น ฯลฯ และที่สำคัญ คือวัตถุพยานที่ปรากฏที่พื้นจะถูกทำลายจากการเหยียบย่ำของเจ้าหน้าที่มากที่สุด


ลำดับขั้นตอนการควบคุมและสั่งการในสถานที่เกิดเหตุระดับสถานีตำรวจ


ขั้นตอนที่ 1 รับแจ้งเหตุ ศูนย์วิทยุสื่อสารแจ้ง เจ้าหน้าที่สายตรวจเดินทางไปยังที่เกิดเหตุ แล้วรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ อันได้แก่ ผกก. รองผกก. สว. ทุกนาย(ยกเว้นฝ่ายอำนวยการ) ,พนักงานสอบสวนเวร,นายตำรวจระดับรอง สว.ที่เข้าเวรขณะนั้น และแจ้ง ร้อยเวร 20 เดินทางไปยังที่เกิดเหตุเพื่อเป็นผู้บัญชาเหตุการณ์ในเบื้องต้น


ขั้นตอนที่ 2 สายตรวจเมื่อเดินทางไปถึงที่เกิดเหตุ หากเหตุการณ์ยังไม่สงบแจ้งศูนย์วิทยุทราบ ขออนุมัติเข้าระงับเหตุ หากเหตุการณ์สงบแล้ว หากมีคนเจ็บก็ลำเลียงนำส่งโรงพยาบาล และให้ทำการรักษาสถานที่เกิดเหตุ ห้ามทุกคน ไม่ว่าเจ้าของสถานที่เอง หรือญาติ เข้าไปในที่เกิดเหตุ เพราะทุกคนเป็นผู้ต้องสงสัยได้หมดทุกคน อาจเข้าไปทำลายพยานหลักฐาน หรือ เหยียบย่ำทำให้พยานหลักฐานเสียหายโดยไม่ตั้งใจได้


ขั้นตอนที่ 3 ร้อยเวร 20 เดินทางถึงสถานที่เกิดเหตุ เข้าควบคุมสถานการณ์และทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ในสถานที่เกิดเหตุ แล้วรายงานเหตุการณ์เบื้องต้นให้ผู้บังคับบัญชาทราบ เช่น พิกัดสถานที่เกิดเหตุที่แน่นอน เส้นทางการเดินทางไปยังที่เกิดเหตุ พบศพ หรือ ผู้บาดเจ็บกี่ราย เพศ อายุ ชื่อ ชื่อสกุล มีผู้ต้องสงสัยกำลังหลบหนีจำเป็นต้องสกัดจับหรือไม่ แล้วจดบันทึกไว้


ขั้นตอนที่ 4 พนักงานสอบสวน และ นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ เดินทางไปถึงที่เกิดเหตุ ให้ ร้อยเวร 20 นำบันทึกที่จดไว้ส่งมอบให้ ผู้มียศ ตำแหน่งสูงสุด ณ ที่นั้น และส่งมอบหน้าที่ผู้บัญชาการเหตุการณ์ให้กับนายตำรวจผู้นั้น เมื่อเหตุการณ์สงบและควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว ผู้บัญชาการเหตุการณ์ ติดต่อผู้เกี่ยวข้อง เช่น แพทย์ หรือ อัยการ และมอบหมายให้ ชุดตรวจสถานที่เกิดเหตุ (สว.สส. และชุดสืบสวนที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นชุดตรวจสถานที่เกิดเหตุ) เริ่มทำการตรวจสถานที่เกิดเหตุ


ขั้นตอนที่ 5 ชุดตรวจสถานที่เกิดเหตุ ร่วมกับพนักงานสอบสวน เริ่มทำการตรวจสถานที่เกิดเหตุ โดยแบ่งหน้าที่ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เสร็จแล้ว รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบเป็นลายลักษณ์อักษรในเบื้องต้นโดยทันที ส่วนพนักงานสอบสวน ลงบันทึกประจำวัน รับ/ไม่รับคดี 


                ในการทำงานร่วมกัน พึงระลึกเสมอว่า “อัยการและศาลเปรียบเสมือนผู้ทานอาหาร พนักงานสอบสวน เปรียบเสมือนพ่อครัวที่ปรุงอาหารให้อัยการและศาลทาน การที่ จะปรุงอาหารได้เลิศรส ก็ต้องอาศัยชุดตรวจสถานที่เกิดเหตุและสืบสวนคดี จัดหา เนื้อ ผัก เครื่องปรุง ซึ่งก็คือ พยานหลักฐานต่างๆ มาให้พนักงานสอบสวน เพราะหากไม่มีผู้ช่วยแล้ว พ่อครัวก็มีวัตถุดิบมาปรุงอาการไม่ครบ อาหารก็อร่อยไม่ได้ “


การตรวจสถานที่เกิดเหตุกรณีที่มีการตาย (Death investigation) 


                ในการตรวจสถานที่เกิดเหตุที่มีการตาย นักสืบจะต้องใช้หลักตรรกวิทยา ตั้งคำถามว่า “สิ่งที่ปรากฏคือ การตายเกิดจากอะไร ใครเป็นคนทำ ทำอย่างไร ที่ไหน เมื่อไหร่ “แล้วทำการค้นหาและรวบรวมพยานหลักฐานมาตอบคำถามนี้ การตายหรือเหตุที่มีคนตาย ส่วนใหญ่มักมีบาดแผลเกิดจาก อาวุธ แผลถลอก แผลกระแทกฟกช้ำ ฯลฯ อันเกิดจากหลากหลายสาเหตุ นักสืบที่รู้จักแยกแยะบาดแผลว่าเป็นบาดแผลชนิดใด เกิดจากอะไร เวลาใด จะสามารถเข้าใจเหตุการณ์ได้เร็วและดีกว่า


การตรวจศพในสถานที่เกิดเหตุ


                การตรวจศพ ผู้ตรวจควรให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่อง ดังนี้ 


                1.ท่าทางของศพเปรียบเทียบกับสภาพแวดล้อมรอบข้าง และถ่ายรูปไว้ก่อนที่ขยับศพ 


                2.เสื้อผ้าที่ติดอยู่กับศพ ว่าอยู่ในตำแหน่งใด ถูกดึงรั้งส่วนไหน กางเกงในดึงลงมาเท่าไร มีรูทะลุเข้าของบาดแผลผ่านเสื้อผ้าหรือไม่ (ห้ามใช้วัตถุใดใดแยงเข้าไปในบาดแผล เพราะอาจไปทำลายหรือเพิ่มเศษสิ่งบางอย่างในแผลได้) รวมถึงการตรวจค้นตามกระเป๋าเสื้อ-กางเกง 


                3.จากนั้นจึงค่อยตรวจร่างกายทั่วไป หัวหันอย่างไร ตาลืม? ปากอ้า? มีน้ำ หรือของเหลวใด ที่อวัยวะหรือเสื้อผ้าส่วนใด มีบาดแผลใดบ้าง โดยเริ่มตั้งแต่ หัว ตัว แขน และขา ซึ่งการตรวจนี้ เป็นเพียงเพื่อเป็นแนวทางเท่านั้น ผลการตรวจละเอียดต้องรอจากการผ่าศพของนิติเวชแพทย์ 


                4.เก็บรักษาบางส่วนของศพแล้วแต่กรณี เสื้อผ้าที่ใส่อยู่บนตัวศพ ห้ามถอดออก ต้องนำไปตรวจพร้อมกับศพเสมอ อาจจะต้องใช้ถุงห่อหุ้มบางส่วนของศพเพื่อป้องกันการปนเปื้อนหรือการสูญหายของวัตถุพยาน กรณีมีการใช้อาวุธปืน คดีถูกข่มขืนฆ่า และคดีแขวนคอตายที่อาจจะเป็นการฆาตกรรมอำพราง อาจจะต้องห้ามการพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือไว้ก่อน และจัดให้มีการใช้ถุงพลาสติกหุ้มมือไว้เพื่อป้องกันการปนเปื้อน เพื่อประโยชน์ในการตรวจหาเขม่าดินปืนที่มือ หรือ เศษหนังกำพร้าใต้ซอกเล็บ 


                5.หลังเคลื่อนย้ายศพแล้ว ให้ประมาณปริมาณเลือดในที่เกิดเหตุอีกครั้งหนึ่ง ว่ามีปริมาณพอที่จะทำให้เสียชีวิตหรือไม่ 


                6. กรณีที่พบศพที่เชื่อว่าถูกนำมาทิ้งจากที่อื่น ก็ให้ตรวจสถานที่ให้ละเอียดเช่นกัน ตรวจคราบเลือด หรือร่องรอยการเดินหรือเคลื่อนที่ตามเส้นทางที่จะเข้าออกสถานที่นั้น(ซึ่งอาจจะมีอยู่จำกัด) รอยลู่ของหญ้า รอยเท้าหรือรอยลากบนพื้น กิ่งไม้ที่หักเป็นทาง ฯลฯ 


                7.ถ้าศพพบที่กลางแจ้งการตรวจที่เกิดเหตุต้องรีบทำเพราะพยานหลักฐานต่างๆอาจจะถูก ลบเลือนได้ง่ายจากการเปลี่ยนแปลงของอากาศเช่น ลม ฝน แดด ฯลฯ




Create Date : 08 กุมภาพันธ์ 2553
Last Update : 8 กุมภาพันธ์ 2553 13:30:58 น. 5 comments
Counter : 5791 Pageviews.

 
สวัสดีคะ อาจารย์พอดีตอนนี้เรียนนิติวิทยาศาตร์ ที่ ม. ศิลปากรคะ กำลังจะทำวิทยานิพนธ์ เกี่ยวกับการพัฒนาแบบฟอร์มการตรวจร่างกายทางนิติเวช หนูต้องการข้อมูลในการศึกษาเพิ่มเติมคะ อยากทราบว่าแบฟอร์มของต่างประเทศเป็นอย่างไรคะ ช่วยหน่อยนะคะ ต้องเข้าไปหาข้อมูลที่ไหนบ้างคะ


โดย: ร.อ.ญ.จารุวรรณ คะ IP: 203.149.12.245 วันที่: 5 กันยายน 2553 เวลา:2:34:35 น.  

 
ตอบคุณ ร.อ.ญ.จารุวรรณ ครับ
สำหรับแบบฟอร์มที่ใช้ในประเทศไทยกับต่างประเทศไม่ต่างกันครับ เนื่องจากอาจารย์ผู้ใหญ่เก่าๆ ท่านไปเรียนต่างประเทศมา ก็เลยนำกลับมาใช้ในไทย ดังนั้นแบบที่ใช้ในไทยในปัจจุบันไม่ต่างกับต่างประเทศครับ


โดย: DR.MOO CAN DO วันที่: 5 กันยายน 2553 เวลา:8:38:35 น.  

 
อาจารย์ครับ..พอจะมีงานวิจัยเกี่ยวกับหรือคล้ายๆกับกระบวนการรักษาสถานที่เกิดเหตุและวัตถุพยานทั้งในประเทศและต่างประเทศบ้างมั๊ยครับ....ถ้ามีไปหาได้ที่ไหนครับ...รบกวนอาจารย์หน่อยครับ


โดย: รบกวนอาจารย์ IP: 61.90.107.21 วันที่: 17 ตุลาคม 2553 เวลา:18:27:25 น.  

 
เรื่องแบบฟอร์มสำหรับผู้เสียชีวิตกรณีเป็นศพไม่ทราบชื่อ ปัจจุบัน ตำรวจมีระเบียบกำหนดให้พนักงานสอบสวน กรอกแบบฟอร์มสีชมพู ซึ่งเป็นแบบที่มาจากงานตำรวจสากล ด้านการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล ส่วนแบบฟอร์มที่แพทย์ตำรวจใช้ เท่าที่ทราบยังไม่มีการเปลี่ยนมาใช้ แบบสีชมพูนะคะ


โดย: Dvi IP: 115.67.0.123 วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:7:07:33 น.  

 
สอบถามเรื่องการถ่ายรูปสถานทีเกิดเหตุค่ะ
ไม่ทราบว่าจริงหรือเปล่าคะที่ว่า การถ่ายรูปสถานทีเกิดเหตุจะต้องใช้กล้องฟิล์มเท่านั้น ไม่ใช้กล้องดิจิตอล เพราะรูปจากกล้องดิจิตอลอาจนำมาตัดต่อหรือบิดเบือนความจริงได้
รบกวนไขข้อข้องใจให้ด้วยค่ะ
ขอบคุณมากค่ะ


โดย: totoro IP: 210.213.59.188 วันที่: 20 มีนาคม 2555 เวลา:9:32:40 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

DR.MOO CAN DO
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 42 คน [?]




ผมเป็น นิติพยาธิแพทย์ หรือ จะเรียกว่า หมอนิติเวช ก็ได้ครับ นิติพยาธิแพทย์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปีแล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง นิติพยาธิอีก 3 ปี และเมื่อสอบผ่าน ก็จะได้รับวุฒิบัตรเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขานิติเวชศาสตร์ และได้เป็นนิติพยาธิแพทย์ โดยสมบูรณ์
หน้าที่ของหมอนิติเวช แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ
ส่วนแรก จะเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยคดี โดยในผู้ป่วยคดีนั้นแพทย์นิติเวชจะมีหน้าที่ในการตรวจ และให้ความเห็นกับพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับบาดแผลที่ตรวจพบ ซึ่งตำรวจจะนำไปใช้ในการตั้งข้อกล่าวหากับคู่กรณี และหน้าที่ต่อมาของแพทย์นิติเวชคือการเป็นพยานในชั้นศาลในคดีดังกล่าว
ส่วนที่สอง จะเกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิต โดยในกรณีผู้เสียชีวิตนั้นแพทย์นิติเวชมีหน้าที่ในการตรวจสถานที่เกิดเหตุในกรณีตายผิดธรรมชาติตามที่กฎหมายกำหนด และหากมีความจำเป็นต้องผ่าชันสูตร ก็จะต้องมีการทำรายงาน และให้ความเห็นเกี่ยวกับสาเหตุของการเสียชีวิต ส่งให้พนักงานสอบสวน สุดท้ายหน้าที่หลักที่สำคัญโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้คือการเป็นพยานในชั้นศาลในคดีนั้นๆครับ
ประวัติการศึกษา
1.แพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
2.วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3.ประกาศนียบัตร “Crime Scene Investigation” โครงการร่วมระหว่าง International Law Enforcement Academy กับ Federal Bureau of Investigation Academy
4.ประกาศนียบัตร “การบริหารงานโรงพยาบาล” คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ผลงาน
1.อาจารย์ประจำภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มศว.
2.อาจารย์พิเศษ สอนนักศึกษาชั้นปีที่ 3 โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
3.อาจารย์พิเศษ สอนนักศึกษาปริญญาโท สาขานิติวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
4.อาจารย์พิเศษ สอนนักศึกษาปริญญาโท สาขานิติวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
5.วิทยากร หัวข้อ "ICD-10" ของกระทรวงสาธารณสุข
6.วิทยากร หัวข้อ "การตรวจสถานที่เกิดเหตุ" ของมูลนิธิร่วมกตัญญู และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
7.วิทยากรอบรมหลักสูตรนายร้อยตำรวจอบรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
8.วิทยากร หัวข้อ "KPI รายบุคคล" ให้กับโรงพยาบาลและมหาลัยวิทยาลัย ในภาครัฐ
9.วิทยากร หัวข้อ "Living will" ให้กับโรงพยาบาลในภาครัฐและเอกชน10.วิทยากร หัวข้อ "นิติเวชศาสตร์กับงานด้านโบราณคดี" ให้กับคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
11.ร่วมเขียนหนังสือ "KPI รายบุคคล"
12.ร่วมเขียนหนังสือ "มาตรฐาน ICD-10, ICD-9"
13.ที่ปรึกษารายการ "เรื่องจริงผ่านจอ" และ "Redline"
14.บทความทางวิชาการและผลงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ 15 เรื่อง
15.ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ตั้งแต่ ปี พศ.2553
16.ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพ ฯ คณะแพทยศาสตร์ มศว. ตั้งแต่ปี พศ.2551
ผศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี (DR.MOO CAN DO)
New Comments
Friends' blogs
[Add DR.MOO CAN DO's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.