DR.MOO CAN DO
Group Blog
 
 
มกราคม 2553
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
31 มกราคม 2553
 
All Blogs
 
หลักฐานประวัติศาสตร์ ที่เหลืออยู่ กรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘ ตอนที่ 1

          กรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘ แม้ว่าจะจบสิ้นไปแล้วตามกระบวนการยุติธรรม แต่คดีลี้ลับนี้ไม่เคยปิดสำนวนลงตามคำพิพากษาแต่อย่างใด โดยเฉพาะบทสรุปของเรื่องที่ไม่สมบูรณ์ ตามความในคำพิพากษาศาลฎีกา "พยานสองชุดนี้ยังไม่เป็นหลักฐานพอจะชี้ได้ว่า ใครเป็นผู้ลงมือกระทำการลอบปลงพระชนม์"


          นี่คือที่มาสำคัญที่ทำให้คดีนี้เป็นที่สนใจมาตลอดทุกครั้งที่พูดถึง  


            จากวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ จนถึงวันนี้เป็นเวลา ๕๗ ปี นอกจากเอกสารสิ่งพิมพ์แล้ว ยังมีสิ่งที่ช่วยเชื่อมโยงอดีต ย้ำเตือนความมืดดำมาสู่ปัจจุบัน คือวัตถุหลักฐานที่ใช้ประกอบในการพิจารณาคดีนี้ ซึ่งถูกเก็บรักษาไว้ ราวกับรอคอยให้ปริศนาแห่งคดีเปิดเผยสัจจะมาในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า ตามคำของนายปรีดี พนมยงค์ ที่เคยกล่าวไว้ 


            "...เพราะเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ที่ไม่มีอายุความ ความจริงอาจปรากฏขึ้น แม้จะล่วงเลยมาหลายร้อยปีก็ตาม" 


            วัตถุหลักฐานส่วนหนึ่งในคดีนี้ที่ยังปรากฏมาถึงปัจจุบัน และเปิดเผยต่อสาธารณชน ถูกจัดแสดงอยู่ภายในโรงพยาบาลศิริราช ที่พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ อาคารอดุลยเดชวิกรม หรือที่รู้จักกันอย่างลำลองว่า "พิพิธภัณฑ์ซีอุย" เหตุที่ได้ชื่อนี้ก็เพราะพระเอกของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ "ซีอุย แซ่อึ้ง" ฆาตกรต่อเนื่องชื่อดังที่สุดของเมืองไทย สร้างคดีสยองขวัญในช่วงปี ๒๕๐๑ ในการฆ่าเด็กแล้วกินตับ และหัวใจ ถูกเก็บรักษาศพไว้ที่นี่ให้คนรุ่นหลังได้รู้จัก


          พิพิธภัณฑ์ซีอุยเคยจัดแสดงอยู่ชั้นล่างของตึกนิติเวชเก่าภายในโรงพยาบาล บรรยากาศทึมๆ ชวนขนลุก แต่เดี๋ยวนี้มีการปรับปรุงใหม่บนชั้นสองของอาคารอดุลยเดชวิกรม สว่างไสวลดบรรยากาศสยองขวัญไปได้หมดสิ้น นอกจาก "ซีอุย" แล้วยังมีการจัดแสดงทางด้านนิติเวชอื่นๆ คือการรวบรวมตัวอย่างชิ้นส่วนมนุษย์ วัตถุพยาน อันเนื่องมาจากการฆาตกรรม และอุบัติเหตุ เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษาต่างๆ ประเภท "สืบจากศพ" นั่นเอง รวมทั้งวัตถุหลักฐานในชั้นสอบสวนของคดีสวรรคตด้วย 


            วัตถุหลักฐานในคดีสวรรคตส่วนแรกแสดงอยู่ในตู้ขนาดไม่ใหญ่นัก มีคำบรรยายเล็กน้อยพอให้รู้ว่าคืออะไร "บางส่วนของเครื่องมือที่ใช้ในการชันสูตรพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล" 


            ภายในตู้จัดแสดงเครื่องมือแพทย์ชนิดต่างๆ ๑๑ ชิ้น รวมทั้งอุปกรณ์ประกอบคือ ผ้า ไม้บรรทัด ดินสอ ไม่มีคำบรรยายอื่นเพิ่มเติมนอกเหนือจากนี้ แต่รายละเอียดของเครื่องมือทั้งหลาย นายแพทย์สุด แสงวิเชียร ได้บันทึกไว้ในหนังสือ "เมื่อข้าพเจ้าเข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคต" ไว้พอสมควร 


            "วันที่ ๒๑ มิถุนายน มาถึงที่ทำงานก่อน ๘.๐๐ น. เล็กน้อย สำรวจเครื่องมือที่จะนำไป และได้เครื่องมือเพิ่มเติมจากหมอสงกรานต์ด้วย เนื่องจากเครื่องมือที่แผนกมีไม่ครบเพราะทำกับศพธรรมดา ไม่เหมาะกับการชันสูตรเกี่ยวกับหาหลักฐานทางคดี เครื่องมือจากแผนกกายวิภาคศาสตร์ มีมีดชำแหละ ๒ เล่ม เทปวัดทำด้วยเหล็ก ๑ อัน ถุงมือยางอย่างหนา ๒ คู่ เลื่อย ๑ ปื้น ทางพยาธิวิทยาให้ยืมเครื่องมือจับกะโหลกมา ๑ อัน และถุงมือยางอย่างบาง ๒ คู่ และก่อนจะลงมือชันสูตรพระบรมศพทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์นำมีดยาวมา ๑ เล่ม เข็มเย็บผิวหนัง ๑ เล่ม เครื่องมือจับเข็ม ๑ อัน ผ้าคลุมปากจมูก ๒ ผืนมาเพิ่มเติมให้ (เครื่องมือบางชิ้นขณะนี้อยู่ที่พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล) นอกจากนั้นก็มีโหลใส่ฟอร์มาลิน ๒๐ เปอร์เซ็นต์-๕๐๐ ซีซี แอลกอฮอล์ และน้ำยาแอมโมเนีย (กลัวจะเป็นลม) ทางแผนกกายวิภาคศาสตร์เอาไฟถ่ายรูปไป ๒ ดวง คุณหมออวยเตรียมกล้องและฟิล์ม" (สุด แสงวิเชียร, เมื่อข้าพเจ้าเข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคต, ๒๕๒๙) 


         คงต้องยกความดีนี้ให้กับนายแพทย์สุด แสงวิเชียร ที่คิดเก็บรักษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญนี้ไว้ ไม่ปล่อยให้สูญหาย หรือถูกทำลายเหมือนกับหลักฐานชิ้นอื่นๆ ในคดีนี้ เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในประวัติศาสตร์ประเทศไทย ที่ต้องผ่านขั้นตอนการชันสูตรพระบรมศพ เครื่องมือแพทย์เหล่านี้จึงไม่ใช่แค่ประโยชน์ทางนิติเวชศาสตร์เท่านั้น แต่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง 


           น่าเสียดายตรงที่ว่าการจัดแสดงลำดับความสำคัญกับส่วนนี้น้อยเกินไป ทั้งทางเนื้อหา และทางจิตใจ 


           การชันสูตรพระบรมศพด้วยเครื่องมือบางส่วนที่พิพิธภัณฑ์จัดแสดงไว้ เกิดขึ้นที่พระที่นั่งพิมานรัถยา ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๔๘๙ ตั้งแต่เวลา ๑๐.๔๕ ถึง ๑๕.๓๐ น. มีนายแพทย์สุด แสงวิเชียร และนายแพทย์สงกรานต์ นิยมเสน เป็นผู้ทำการชันสูตร 


           รายงานการชันสูตรอย่างเป็นทางการมีอยู่ใน บันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการฝ่ายแพทย์ ครั้งที่ ๒ วันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๔๘๙ เวลา ๙.๓๐ น. ที่ศาลานอกพระที่นั่งพิมานรัถยา แต่ขั้นตอนโดยละเอียดนั้นนายแพทย์สุด แสงวิเชียร ได้เขียนบันทึกไว้ภายหลังในหนังสือ "เมื่อข้าพเจ้าเข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคต" ดังนี้ 


           "เวลาสำคัญได้มาถึง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสนมซึ่งแต่งตัวนุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงิน สวมเสื้อคอปิดสีขาวได้เชิญพระโกศลองในปิดทองเกลี้ยงมา ทุกคนถวายคำนับแล้วยืนสงบนิ่ง พนักงานสนมเปิดฝาพระโกศออก (เข้าใจว่าได้กะเทาะที่บัดกรีออกไว้ก่อนแล้ว) พนักงานเขย่งตัวขึ้นไปหยิบพระมหามงกุฎ (ยอดหัก) ออกมาก่อน เห็นประดับเพชรแวววาวไปหมด เอาห่อผ้าขาวแล้วตีตรา ต่อไปจึงช่วยกันช้อนเอาพระบรมศพออกจากพระโกศ เอาขึ้นมาวางบนเตียงใหญ่..." 


           "...ขณะนั้นพนักงานสนมแก้เอาด้ายดิบออกซึ่งพันไว้เป็นเปลาะๆ แล้วจึงแกะเอาผ้าขาวออก พอเปิดถึงพระพักตร์ก็มีคนดีใจว่า ยาฉีดเขาดีพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังสดอยู่ แต่ที่จริงเป็นขี้ผึ้งปิดพระพักตร์ มีทองปิดด้วยหรือเปล่าไม่ได้สังเกต แล้วก็เปิดถึงผ้าเยียระบับ แต่ลืมไม่ได้สังเกตว่าได้ทำเป็นฉลองพระองค์เสื้อหรือเปล่า ตามผ้าขาวและผ้าเยียระบับมีพระบุพโพเปื้อนอยู่ทั่วไป แต่มีกลิ่นน้อยอย่างประหลาดถึงกับคิดว่าไม่ต้องใส่ผ้ากันปากจมูกก็ได้ ในพระที่นั่งมีถาดจุดกำยานอยู่ตลอดเวลาแต่ไม่มีพัดลม..." 


           เรื่องเกี่ยวกับ ยาฉีดเขาดี ทำให้ไม่มีกลิ่นก็เพราะมีการฉีดยาพระบรมศพน้อยกว่ากำหนด ทำให้คณะกรรมการฝ่ายแพทย์เกรงว่าพระบรมศพอาจจะไม่อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์นัก 


           "พระยาดำรงแพทยาคุณสงสัยว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาจถูกยาพิษจึงสั่งไม่ให้ใช้น้ำยาที่ผสมสารหนู แพทย์ทั้งสองจึงใช้น้ำเปล่าผสมฟอเมอรีน และคลีโอสถฉีดเข้าทางเส้นโลหิตที่โคนขาขวา โดยตั้งใจว่าจะฉีด ๓,๐๐๐ ซีซี แต่เมื่อฉีดไป ๑,๐๐๐ ซีซี ก็มีน้ำยาไหลออกทางรอยแผลที่พระนลาตประมาณ ๑๐ ซีซี จึงเลิกฉีด..." (สรรใจ แสงวิเชียร, วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย, กรณีสวรรคตฯ, ๒๕๑๗) 


           ขั้นตอนการชันสูตรนั้นเป็นไปอย่างละเอียดหลายหน้าตามกระบวนการ คำให้การในชั้นศาลของนายแพทย์สุด แสงวิเชียร ก็เช่นกัน เริ่มตั้งแต่การถ่ายภาพ การเอกซเรย์ ไปจนถึงขั้นตอนสุดท้าย คือการนำอวัยวะต่างๆ กลับคืนที่ และเย็บแผลจนเรียบร้อย ขั้นตอนโดยย่อพอให้เห็นการใช้เครื่องมือชันสูตรเป็นดังนี้ 


           "พระบรมศพซีดเซียวลงไปเล็กน้อยแต่ไม่ถึงกับมีกลิ่นรบกวนการชันสูตรแม้ว่ายาฉีดรักษาพระบรมศพจะน้อยกว่าที่ควร หลังจากตรวจภายนอกแล้ว ได้ทำการถ่ายรูปเอ็กซเรย์โดยใช้เครื่องชนิดเคลื่อนที่ได้ ทำการถ่ายเอ็กซเรย์ ๙ รูป เอ็กซเรย์เฉพาะพระเศียรไว้ ๔ ท่า ท่าคว่ำพระพักตร์ หงายพระพักตร์ทั้งสองด้าน ต่อจากนั้นนายแพทย์สุด แสงวิเชียร และนายแพทย์สงกรานต์ นิยมเสน ทำการตรวจต่อโดยใช้มีดกรีดผิวหนังจากพระกรรณข้างหนึ่งขึ้นบนพระเศียรจนถึงพระกรรณอีกข้างหนึ่ง แล้วตลบผิวหนังไปจนพ้นรอยบาดแผลด้านหลัง พบรอยแตกที่กลางพระกะโหลกทางด้านซ้ายตั้งแต่กลางพระเศียรจนถึงพระกรรณซ้าย ผิวหนังเหนือรอยแตกนี้มีรอยแดงช้ำ ตลบหนังพระเศียรไปจนถึงพระนลาต รูแผลที่พระนลาตขนาด ๑๑ x ๑๐ มม. มีรอยร้าวออกไปจากรูแผล               จากนั้นแพทย์ทั้งสองเลื่อยพระกะโหลกส่วนบนแล้วดึงส่วนนั้นออก ตัดเยื่อหุ้มสมองภายใน พบพระโลหิตตกเป็นแผ่นแข็งอยู่ทางด้านซ้าย พระสมองด้านซ้ายคงดีอยู่ ทางด้านขวาเน่า พบรูที่พระสมองซีกซ้ายตรงกับรูที่พระนลาต ทะลุออกไปตรงกับรูที่ท้ายทอย ได้ตัดเอาพระสมองออก ที่ฐานพระกะโหลกมีรอยแตกร้าวอีก..." (กรณีสวรรคตฯ, น. ๔๐, ๒๕๑๗) 


           เมื่อการชันสูตรเสร็จสิ้นลง นายแพทย์สุด แสงวิเชียร จึงได้เก็บเครื่องมือชันสูตรนั้นไว้ ทำให้เราได้เห็นหลักฐานชิ้นสำคัญกันในวันนี้ 


           "ก่อนไปล้างมือได้คุกเข่าลงถวายบังคมกับพื้นขอพระราชทานอภัยโทษ แล้วไปล้างมือ พอล้างมือเสร็จ ห่อเครื่องมือตั้งใจจะเอาไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์ (เดิมอยู่ที่พิพิธภัณฑ์กายวิภาค คองดอน ขณะนี้มอบให้เป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ พร้อมกับกะโหลก และผิวหนังของศพที่ได้ทดลองยิงในวันต่อมา)..." 


           ที่มาที่ไปของเครื่องมือชันสูตรพระบรมศพมีโดยสังเขปเท่านี้ 


           ถัดจากตู้เครื่องมือไป จะเป็นตู้แสดงกะโหลกศพที่ใช้ในการทดลองยิงตามกระบวนการสืบสวนในคดี เหนือขึ้นไปจะแสดงภาพถ่ายให้เห็นถึงวิถีกระสุน เกี่ยวเนื่องกันทางตู้ติดผนังจะเป็นชิ้นส่วนหนังศีรษะของกะโหลกที่แสดงอยู่ เป็นการแสดงรอยแผลจากกระสุนปืน ที่มีลักษณะคล้าย หรือแตกต่างจากรอยแผลของพระบรมศพ 


           เหตุผลที่ต้องทดลองยิงศพคนเพิ่มขึ้น หลังจากที่ยิงหัวหมูแล้วได้ข้อสรุปที่ไม่ชัดเจน ปรากฏอยู่ในคำพิพากษาศาลฎีกา วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๔๙๗ บันทึกไว้ว่า "...ทำการทดลองยิงศพคนที่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อทราบระยะยิง ที่จะทำให้เกิดบาดแผล เช่นบาดแผลที่พระบรมศพ" 


           ที่ต้องหาระยะยิง และลักษณะของบาดแผล ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากความสับสนในเรื่องของบาดแผลที่พระบรมศพ เนื่องจากแผลที่พระนลาฏ (หน้าผาก) ใหญ่กว่าแผลตรงท้ายทอย หลายคนสงสัยว่าอาจถูกยิงจากข้างหลัง และเป็นการหาว่าจากบาดแผลที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นจากเหตุใดได้บ้าง ระหว่างปลงพระชนม์เอง ถูกลอบปลงพระชนม์ และอุบัติเหตุ 


           ต่อมาจึงได้ข้อสรุปที่แน่ชัดว่า วิถีกระสุนเข้าทางพระนลาฏ ทะลุออกทางด้านหลัง แต่ระยะยิงนั้นเป็นกุญแจสำคัญเช่นกัน ในการสันนิษฐานหาสาเหตุที่แท้จริงในกระบวนการสอบสวน เช่น หากเป็นการยิงไกลเกินระยะแขน ก็เป็นไปได้ว่าไม่ได้เกิดจากพระองค์เอง หรือหากเป็นการยิงในระยะประชิด เหตุใดจึงไม่รู้สึกพระองค์ก่อน และคนร้ายเข้าไปในพระวิสูตรโดยไม่มีใครรู้ได้อย่างไร เป็นต้น 


           การทดลองยิงศพนั้นเกิดขึ้นหลังจากการชันสูตรพระบรมศพ ๑ วัน มีการบันทึกข้อมูลอย่างเป็นทางการใน บันทึกรายงานการประชุมคณะแพทย์ ครั้งที่ ๓ วันเสาร์ที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๔๘๙ เวลา ๑๐.๑๐ น. ที่ห้องตรวจชันสูตรศพ ของแผนกพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้ 


            "การทดลองได้กระทำในห้องตรวจศพของแผนกพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ของกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พื้นห้องเป็นพื้นกระเบื้องซีเมนต์ ศพที่ใช้ทดลองวางอยู่บนที่นอน ๒ ชั้น และได้เปลี่ยนเพิ่มเป็น ๓ ชั้น และเพิ่มหมอนรองใต้ที่นอนอันล่างสุดอีก ๑ ใบ เมื่อถึงการทดลองศพที่ ๓ ศพนอนหงาย ศีรษะศพวางอยู่บนหมอนใบเดียว ที่นอนวางบนเตียงไม้เตี้ยๆ มีแผ่นเหล็ก ๓ แผ่นวางกันกระสุนอยู่ใต้ที่นอนอันล่าง มีหีบใส่ทรายอยู่ใต้เตียง ความสูงของเตียงและที่นอนใกล้เคียงกับพระที่บรรทม ที่นอนที่ใช้ทดลองเป็นที่นอนทั่วๆ ไปที่ใช้ตามโรงพยาบาล ยัดนุ่นหลวมกว่าพระที่มาก ปืนที่ใช้เป็นปืนสั้นออตอเมติกขนาด ๑๑ มม. ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนนำมา เจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการสอบสวนฯ เป็นผู้ยิง" 


ข้อมูลจากหนังสือศิลปวัฒนธรรม


Create Date : 31 มกราคม 2553
Last Update : 7 กุมภาพันธ์ 2553 10:12:29 น. 3 comments
Counter : 9284 Pageviews.

 
น่าสงสัยขอบคุณค่ะ


โดย: Lasanne IP: 58.10.84.28 วันที่: 7 เมษายน 2553 เวลา:15:49:06 น.  

 
หลักฐานต่างๆก็กระจ่างดีน่ะค่ะถ้าท่านนั้นสู้คดีแทนการหลบหนีเราจะได้รู้เลยว่าใครเป็นคนทำไม่ต้องมานั่งมโนว่า
1. น้องฆ่าพี่เพราะต้องการขึ้นแทน
2. ท่านนั้นโดนจัดฉากโยนความผิดให้จากอีกฝ่าย
ทำไมไม่สู้กันด้วยหลักฐานน่ะว่าใหม
ฝ่ายหนึ่งก็เป็นสมมุติเทพ และ ก็สู้กับผู้สำเร็จสมมุติเทพ มันก็วินๆกันทั้งคู่ ก็งงอยู่ว่าทำไมไม่สู้ท่านก็เป็นนักกฏหมายเก่งทีเดียวหรือใครจะแกล้งท่านแล้วทำไมไม่มีใครเขียนหนังสือโต้แย้งกับเอกสารที่ทางรัฐบาลออกหรือวินิจฉัยบ้างมีคนเขียนก็เชื่อถือไม่ได้น้ำหนักเบาโหวงน้ำท่วมทุ่งคัดๆลอกๆแปะๆขาดๆหล่นๆ
ปล. ท่านผู้นั้นหวังดีกับประเทศมากไปรับวัฒนธรรมตะวันตกมากไปก้าวกระโดดเกินไปมันเกินไปทุกอย่างเลยเป็นเช่นนี้ คุณูปการณ์ที่ท่านทำมีเยอะแต่ใช่ว่าคนเราจะดีทั้งหมดก็คงไม่ได้นานาจิตตัง อย่ารื้อฟื้น อย่าสงสัย เราเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่ออะไรเพื่อไม่ให้มันผิดซ้ำอีกไม่ใช่หรือหรือเราเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อตำหนิคนในเหตุการณ์นั้นๆ กฏหมายดีต้องธรรมศาสตร์ พระมหากษัติย์ดีต้องประเทศไทย คุณล่ะต้องการแบบไหนต้องการคนผิดหรือต้องการคนถูก มีคนไม่เคยผิดหรือคนถูกทั้งชีวิตด้วยเหรอ


โดย: lin IP: 223.204.248.43 วันที่: 14 กรกฎาคม 2557 เวลา:13:48:06 น.  

 
หลักฐานต่างๆก็กระจ่างดีน่ะค่ะถ้าท่านนั้นสู้คดีแทนการหลบหนีเราจะได้รู้เลยว่าใครเป็นคนทำไม่ต้องมานั่งมโนว่า
1. น้องฆ่าพี่เพราะต้องการขึ้นแทน
2. ท่านนั้นโดนจัดฉากโยนความผิดให้จากอีกฝ่าย
ทำไมไม่สู้กันด้วยหลักฐานน่ะว่าใหม
ฝ่ายหนึ่งก็เป็นสมมุติเทพ และ ก็สู้กับผู้สำเร็จสมมุติเทพ มันก็วินๆกันทั้งคู่ ก็งงอยู่ว่าทำไมไม่สู้ท่านก็เป็นนักกฏหมายเก่งทีเดียวหรือใครจะแกล้งท่านแล้วทำไมไม่มีใครเขียนหนังสือโต้แย้งกับเอกสารที่ทางรัฐบาลออกหรือวินิจฉัยบ้างมีคนเขียนก็เชื่อถือไม่ได้น้ำหนักเบาโหวงน้ำท่วมทุ่งคัดๆลอกๆแปะๆขาดๆหล่นๆ
ปล. ท่านผู้นั้นหวังดีกับประเทศมากไปรับวัฒนธรรมตะวันตกมากไปก้าวกระโดดเกินไปมันเกินไปทุกอย่างเลยเป็นเช่นนี้ คุณูปการณ์ที่ท่านทำมีเยอะแต่ใช่ว่าคนเราจะดีทั้งหมดก็คงไม่ได้นานาจิตตัง อย่ารื้อฟื้น อย่าสงสัย เราเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่ออะไรเพื่อไม่ให้มันผิดซ้ำอีกไม่ใช่หรือหรือเราเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อตำหนิคนในเหตุการณ์นั้นๆ กฏหมายดีต้องธรรมศาสตร์ พระมหากษัติย์ดีต้องประเทศไทย คุณล่ะต้องการแบบไหนต้องการคนผิดหรือต้องการคนถูก มีคนไม่เคยผิดหรือคนถูกทั้งชีวิตด้วยเหรอ


โดย: lin IP: 223.204.248.43 วันที่: 14 กรกฎาคม 2557 เวลา:13:48:31 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

DR.MOO CAN DO
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 42 คน [?]




ผมเป็น นิติพยาธิแพทย์ หรือ จะเรียกว่า หมอนิติเวช ก็ได้ครับ นิติพยาธิแพทย์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปีแล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง นิติพยาธิอีก 3 ปี และเมื่อสอบผ่าน ก็จะได้รับวุฒิบัตรเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขานิติเวชศาสตร์ และได้เป็นนิติพยาธิแพทย์ โดยสมบูรณ์
หน้าที่ของหมอนิติเวช แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ
ส่วนแรก จะเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยคดี โดยในผู้ป่วยคดีนั้นแพทย์นิติเวชจะมีหน้าที่ในการตรวจ และให้ความเห็นกับพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับบาดแผลที่ตรวจพบ ซึ่งตำรวจจะนำไปใช้ในการตั้งข้อกล่าวหากับคู่กรณี และหน้าที่ต่อมาของแพทย์นิติเวชคือการเป็นพยานในชั้นศาลในคดีดังกล่าว
ส่วนที่สอง จะเกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิต โดยในกรณีผู้เสียชีวิตนั้นแพทย์นิติเวชมีหน้าที่ในการตรวจสถานที่เกิดเหตุในกรณีตายผิดธรรมชาติตามที่กฎหมายกำหนด และหากมีความจำเป็นต้องผ่าชันสูตร ก็จะต้องมีการทำรายงาน และให้ความเห็นเกี่ยวกับสาเหตุของการเสียชีวิต ส่งให้พนักงานสอบสวน สุดท้ายหน้าที่หลักที่สำคัญโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้คือการเป็นพยานในชั้นศาลในคดีนั้นๆครับ
ประวัติการศึกษา
1.แพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
2.วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3.ประกาศนียบัตร “Crime Scene Investigation” โครงการร่วมระหว่าง International Law Enforcement Academy กับ Federal Bureau of Investigation Academy
4.ประกาศนียบัตร “การบริหารงานโรงพยาบาล” คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ผลงาน
1.อาจารย์ประจำภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มศว.
2.อาจารย์พิเศษ สอนนักศึกษาชั้นปีที่ 3 โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
3.อาจารย์พิเศษ สอนนักศึกษาปริญญาโท สาขานิติวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
4.อาจารย์พิเศษ สอนนักศึกษาปริญญาโท สาขานิติวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
5.วิทยากร หัวข้อ "ICD-10" ของกระทรวงสาธารณสุข
6.วิทยากร หัวข้อ "การตรวจสถานที่เกิดเหตุ" ของมูลนิธิร่วมกตัญญู และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
7.วิทยากรอบรมหลักสูตรนายร้อยตำรวจอบรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
8.วิทยากร หัวข้อ "KPI รายบุคคล" ให้กับโรงพยาบาลและมหาลัยวิทยาลัย ในภาครัฐ
9.วิทยากร หัวข้อ "Living will" ให้กับโรงพยาบาลในภาครัฐและเอกชน10.วิทยากร หัวข้อ "นิติเวชศาสตร์กับงานด้านโบราณคดี" ให้กับคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
11.ร่วมเขียนหนังสือ "KPI รายบุคคล"
12.ร่วมเขียนหนังสือ "มาตรฐาน ICD-10, ICD-9"
13.ที่ปรึกษารายการ "เรื่องจริงผ่านจอ" และ "Redline"
14.บทความทางวิชาการและผลงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ 15 เรื่อง
15.ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ตั้งแต่ ปี พศ.2553
16.ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพ ฯ คณะแพทยศาสตร์ มศว. ตั้งแต่ปี พศ.2551
ผศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี (DR.MOO CAN DO)
New Comments
Friends' blogs
[Add DR.MOO CAN DO's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.