Mr.Pos : The Thinking & Learning in My Life
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2558
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
23 ตุลาคม 2558
 
All Blogs
 

เยือน ‘ขุนสมุทรจีน’ ชุมชน ที่ถูกน้ำไล่ล่า

เยือน  ‘ขุนสมุทรจีน’ ชุมชน ที่ถูกน้ำไล่ล่า

ไม่นานมานี้ ผมมีโอกาส ไปเยือน ถิ่นแดนปากน้ำ จังหวัดที่อยู่แนบใกล้ชายขอบเมืองหลวงแค่เอื้อม ลองเปลี่ยนบรรยากาศ มาสัมผัสภาพ ชีวิต ชุมชนที่อยู่ใกล้ขอบฝั่งทะเลอ่าวไทย ที่คนภายนอกต่างรู้จักในนามของ ‘บ้านขุนสมุทรจีน’ แห่ง อำเภอพระสมุทรเจดีย์ นั่นเอง

ขุนสมุทรจีน มีอะไรดีให้เราค้นหา ไปรับรู้พร้อมๆ กันเลยครับ..


บนเส้นทางสัญจรสองเลน ที่ตัดลึก นำพาผมแยกห่าง ออกจากความวุ่นวายของชีพจรเมืองใหญ่  เรื่อยผ่าน กระทั่งได้พบกับ ที่ว่าการอำเภอพระสมุทรเจดีย์ อบต.แหลมฟ้าผ่า และสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นหลายแห่ง บรรยากาศสองฝั่งถนนนี้ เริ่มโล่งกว้างสบายตา ด้วยทิวทัศน์ของผืนน้ำที่แผ่กว้างอันเป็น ‘วังกุ้ง’ สลับไปกับผืนป่าจากที่ขึ้นแน่นหนา ถนนสายแคบ ที่สัญจร ต้องทอดข้ามคลองสายเล็กสายน้อยบ่อยครั้งจนพลอยเผลอนึกว่ากำลังมาเยือนถิ่นอัมพวา บางคนที ยังไงอย่างนั้น

              ลึกเข้าไป ถนนเริ่มโค้งคดไปมา กลางความเวิ้งว้างของผืนน้ำยังมี ร้านอาหาร ตั้งเรียงรายทักทาย เรียกน้ำย่อย ที่ล้วนแต่เป็นร้านอาหารทะเลระดับ ‘เชลล์ชวนชิม’ ที่พร้อมเสิร์ฟทั้ง กุ้งหอย ปู ปลาแบบสดๆ ให้นักเที่ยว นักชิมได้อิ่มท้องกันอย่างเต็มคราบ 



หลังจากผ่าน ‘คลองตาโฉ’ มาไม่กี่อึดใจก็ถึงที่หมาย คือ ‘ท่าเรือป้ารี่’ จุดลงเรือหางยาวโดยสาร ซึ่งคนจากภายนอก และคนในพื้นที่ ใช้เป็นเส้นทางสัญจรเลาะลัดตามคลองเข้าไปสู่ ‘ชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน’ หมู่บ้านที่ได้ชื่อว่า ต้องใช้เรือในการสัญจรติดต่อกับโลกภายนอกร้อยเปอร์เซ็นต์

สี่ซ้าห้าปีมานี้ ชื่อของ ‘บ้านขุนสมุทรจีน’ นับว่าขึ้นชาร์ตติดกระแส ถูกขานกล่าวทุกครั้ง เมื่อมีการหยิบยกกรณีศึกษา ‘ภาวะโลกร้อน’ ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยมาพูดถึงครับ เพราะ บ้านขุนสมุทรจีนตั้งอยู่บนพื้นที่ซึ่งประสบกับปัญหาชายฝั่งถูกกัดเซาะมากที่สุดก็ว่าได้ อันมาจากหลายสาเหตุที่กระตุ้นต่างกัน




หนึ่งนั้นคือ ในยุคสมัยที่  ‘เขื่อนเจ้าพระยา’ ยังไม่เกิดขึ้น มวลน้ำในเจ้าพระยาจะไหลลงมา และนำพาตะกอนมาสะสมไว้ที่ปากแม่น้ำ เมื่อโครงการสร้างเขื่อนได้เกิดขึ้นก็เท่ากับว่าได้ดักกั้นตะกอน ไม่ให้สามารถไหลมาสะสมได้อีก อีกด้านหนึ่งก็คือ ปราการด่านหน้าอย่าง ‘ผืนป่าชายเลน’ ที่เคยปกป้องแรงปะทะ ป้องกันคลื่นลมทะเลมาเป็นเวลานานได้ถูกถางตัดหักร้าง แปรสภาพกลายมาเป็นที่ทำกิน นากุ้ง แหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเมื่อน้ำทะเลเข้าซัด จึงเข้าท่วมสูญเสียพื้นที่ทีเดียวนับเป็นร้อย ๆ ไร่ผนวกเข้ากับ การทำประมงที่ผิดธรรมชาติ ด้วยการใช้เรือคราดหอย ซึ่งใช้ตะแกรงเหล็กขนาดใหญ่โยนลงไปในทะเลแล้วเอาเรือที่มีกำลังมากๆ มาคราด ทำให้พื้นที่ที่เคยเป็นเลนทับถมกัน โดนตะกุยขึ้นมาจนกระทั่งเลื่อนไหลไปตามน้ำจมหายลงไปในทะเล


บวกรวมเข้ากับสภาวะโลกร้อน ที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันจึงเป็นผลส่งให้แผ่นดินที่ตั้งหมู่บ้านขอบฝั่งอ่าวไทย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยอยู่ไกลจากทะเลไม่ต่ำกว่า๒ กิโลเมตร ได้ถูกน้ำทะเลบี้ไล่ รุกกัดเซาะ จนชายฝั่งถึงกับเว้าแหว่ง และค่อยๆถูกกลืนหายไปใต้ทะเลกว่า ๑.๖ กิโลเมตร 




ขณะที่หลายครอบครัวในชุมชน ได้อพยพ ย้ายบ้านหนีภัยจากน้ำไปหาแหล่งทำกินใหม่ลึกเข้าไปในฝั่งกันวุ่นวาย ประมาณ ๔ ถึง ๕ ครั้งแล้วในช่วงสองชั่วอายุคนที่ผ่านมา  แต่ก็ยังมีชาวบ้านที่ยังปักหลักยืนหยัดใช้ชีวิตอยู่กับน้ำอย่างมั่นคงไม่แปรเปลี่ยน โดยที่ชาวบ้านยังมี ‘วัดขุนสมุทราวาส’ ที่ประสบปัญหาแผ่นดินถูกกัดเซาะไม่ต่างกันเป็นศูนย์กลาง ที่พึ่งทางใจตลอดมา หลายปีมาแล้ว ที่ชื่อเสียงและภาพธรรมชาติที่แปลกตาของชุมชนกลางเวิ้งน้ำใกล้เมืองหลวงอย่าง บ้านขุนสมุทรจีนเป็นที่รู้จักเป็นวงกว้าง จนมีนักท่องเที่ยว กลุ่มคณะต่างๆเดินทางมาเยือนโดยเฉพาะในวันหยุดสุดสัปดาห์ กันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ซึ่งจะกล่าวว่า ‘หมู่บ้านนี้ดังได้เพราะโลกร้อน’ ก็คงไม่ผิดนักหรอกครับ

อัตราค่าโดยสาร เรือหางยาว จากท่าเรือป้ารี่ ไปขึ้นที่ ‘ท่าวัดขุนสมุทราวาส’ นั้น คนเรือเขาคิดเหมาลำในราคา ๑๑๐ บาท ต่อผู้โดยสาร ๔ คนแต่หากโดยสารเพียงคนเดียว ก็ต้องเต็มใจจ่ายไป ๘๐ บาท อย่างไม่มีเงื่อนไข



เรือหางยาวลำเล็ก แล่นลัดไปตามลำคลอง ผ่านสองฝั่งที่ยังมีสภาพเป็นป่าชายเลนขณะที่อีกหลายพื้นที่ได้กลายเป็นฟาร์ม หรือวังกุ้ง ไม่ต่างจากสภาพภายนอกที่ผ่านตามา ไม่เกิน ๑๕ นาที เรือหางยาวก็พาผมมาถึง ท่าเรือวัดขุนสมุทราวาส ถัดจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของผู้มาเยือนที่จะต้องออกแรงใช้สองขาเดินย่ำลัดเลาะไปตามเส้นทางเดินเท้าคอนกรีตแคบๆที่สร้างตัดเชื่อมโยง ยกระดับไปตามคันดินขนานคู่ไปกับแนวเสาไฟฟ้า โดยแต่ละจุดจะมีป้ายชี้ทาง นำพาไปยังจุดสำคัญๆ ของชุมชนครับ




ทิวทัศน์ของชุมชนเมื่อเข้ามาเห็น ก็ยังถูกล้อมรอบไปด้วยวังกุ้งเวิ้งว้าง มองเห็นบ้านเรือนแบบเรียบง่ายปลูกกระจัดกระจาย ไกลตาออกไป จากทางเดินคอนกรีตเส้นหลักหลายจุดมีสะพานไม้แคบ ทอดตัวแยกนำไปสู่แต่ละกลุ่มบ้านส่วนใครที่ชอบพอกับการถีบปั่น ‘สองล้อรักษ์โลก’บริเวณท่าเรือยังมี จักรยานของชุมชน จอดเรียงราย ให้บริการแบบฟรีๆแก่นักท่องเที่ยวอีกด้วย

‘บ้านขุนสมุทรจีน’ มีประวัติสืบย้อนกลับไปไกลถึงกว่า ๓๐๐ ปีทีเดียว ครับ ตั้งอยู่บนแหลมเล็ก ที่ยื่นออกสู่ทะเล ในยุคอดีตที่นี่เคยเป็นศูนย์กลางแหล่งขนถ่ายสินค้าที่มากับเรือสำเภาจีนใกล้ปากแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเส้นทางผ่านของเรือสินค้า เรือพาณิชย์จากประเทศต่างๆที่แล่นเข้าสู่บางกอก และอยุธยา ที่มีความสำคัญ และคึกคักอย่างมาก

โดยมีหลักฐานที่ชาวบ้านขุดพบ ก็คือ ชามกระเบื้อง ไหเงินพดด้วงจำนวนมาก ซึ่งนักโบราณคดี เชื่อว่าน่าจะมีอายุสมัยเดียวกับวัตถุโบราณที่ขุดเจอในชุมชนยี่สารจังหวัดสมุทรสงคราม นี่จึงเป็นหลักฐานมีค่า ที่ยืนยันได้ว่า บ้านขุนสมุทรจีนนั้นมีรากเหง้าบรรพบุรุษ ที่เดินทางโดย สำเภา จากแผ่นดินใหญ่ของจีน ก่อนจะมาปักหลักตั้งบ้านเรือนทำการค้าอยู่บริเวณริมทะเล นั่นเอง




              สถานที่น่าสนใจแห่งแรกของ บ้านขุนสมุทรจีน ย่อมอยู่ที่บ้านไม้หลังสีเหลืองสดที่คนในชุมชนร่วมกันจัดทำเป็น ‘พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านขุนสมุทรจีน’เก็บรวบรวม แสดงข้าวของต่างๆในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งตรงกับสมัยราชวงศ์ชิง ของจีน มีอายุมากกว่า ๒๐๐ปี มีทั้ง เศษถ้วยชาม กระเบื้องเคลือบโบราณ เครื่องประดับมีค่าอย่าง ต่างหู กำไลมีซากเตาเผาโบราณ เงินตราในยุคก่อน อันเป็นวัตถุพยานที่มีคุณค่ามากที่ชาวบ้านขุนสมุทรจีน ได้ขุดพบบริเวณป่าชายเลน รอบชุมชน หลังจากที่แผ่นดินถูกน้ำกัดเซาะ

ซึ่งถือว่าการจัดสร้าง พิพิธภัณฑ์ประจำชุมชนขึ้นมา ได้แสดงถึงวิสัยทัศน์ อันยอดเยี่ยมของผู้นำชุมชน และชาวบ้านก็ว่าได้ อย่างน้อยพิพิธภัณฑ์ที่คนภายนอกได้มาเห็น ก็ได้จารึกความเป็นตัวตนของชุมชนเล็กๆ แห่งนี้ให้คนในวงกว้างรับรู้ถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอันมีคุณค่าได้บ้างไม่มากก็น้อย ครับ




บริเวณเดียวกับ พิพิธภัณฑ์ ยังเป็นที่ตั้งของ  ที่ทำการของผู้ใหญ่บ้าน ถัดไปอีกก็คือศาลเจ้าจีน ที่มีชื่อแปลกหูว่า ‘ศาลเจ้าพ่อหนุ่มน้อยลอยชาย’ ศาลเจ้าประจำชุมชนนี้ เป็นที่ตั้งของ ‘แผ่นรูปปั้นแกะสลัก’ สมัยโบราณ ที่เมื่อดูจากภายนอก จะเห็นแต่ทองคำเปลวที่ชาวบ้านได้นำมาปิดทับจนพูนเต็มองค์

ตำนานเล่าขาน ที่ผูกติดอยู่กับชื่อศาลเจ้านี้ เล่าต่อมาว่ามีรูปปั้นได้ลอยทะเลเข้ามาติดอวนของชาวประมงเข้าพอดีเมื่อคนหาปลาแกะออกแล้วโยนทิ้งกลับลงไปในทะเลรูปปั้นก็ยังแสดงอาการประหลาดลอยกลับมาติดอวนอยู่อีกซ้ำแล้วซ้ำเล่าชาวประมงจึงเชื่อมั่นว่า รูปปั้น คงตั้งใจที่จะมาอยู่ที่นี่จริงๆ ชาวบ้านจึงนำขึ้นอัญเชิญพร้อมทั้งปลูกศาลให้ประดิษฐาน กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่หมู่บ้านเป็นที่ยึดเหนี่ยวที่พึ่งทางใจให้กับผู้คน โดยในเดือนมกราคมของทุกปีนั้นจะมีการจัดงานเทศกาลไหว้ศาลเจ้าขึ้นงานนี้เองที่ได้กลายเป็นงานรวมญาติพี่น้องของคนในหมู่บ้านที่ต้องอพยพหนีน้ำท่วมไปอยู่ตามจังหวัดต่างๆทั้งนครปฐม ฉะเชิงเทรา แม้กระทั่งจังหวัดเชียงใหม่ ให้กลับมารวมตัวกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง 




ไอเดียหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นในชุมชน  ที่ผมได้เห็นก็คือ ทุกวันนี้คนในชุมชน ได้ต่อยอดพัฒนาความคิดในด้านส่งเสริมการท่องเที่ยวให้แก่ชุมชนตัวเอง ด้วยการ สร้างบ้าน‘โฮมสเตย์’ ไว้รองรับนักท่องเที่ยว อยู่หลายเจ้าด้วยกันครับ

โฮมสเตย์ขุนสมุทรจีน โดดเด่นแบบเรียบง่าย ถูกปลูกสร้างเป็น กระท่อมหลังน้อย กลมกลืนใกล้ชิดกับธรรมชาติผืนน้ำ นากุ้ง โดยนักท่องเที่ยวสามารถ เข้ามาสัมผัสชีวิตการจับหอยจับกุ้งเลียนวิถีแบบคนในชุมชนได้อย่างไม่แปลกแยก แถมยังมีอาหารทะเลสดเสิร์ฟให้รับประทานเต็มอิ่มครบ ๓ มื้ออีกด้วย




การได้มาเยือน บ้านขุนสมุทรจีน ของผมในครั้งนี้  นอกจากจะได้สัมผัสทิวทัศน์ ธรรมชาติในกลิ่นอายของป่าชายเลนและวิถีประมงชายฝั่งแล้ว ยังได้กระตุ้น ทำให้เราตระหนักขึ้นด้วยว่า ปัญหาวิกฤตโลกร้อน นั้น หาใช่เป็นเรื่องที่อยู่ไกลห่างจากตัวเราอีกต่อไปแล้วล่ะครับ

อย่างน้อยๆ วิกฤตที่เกิดขึ้นและเป็นไปกับ หมู่บ้านขุนสมุทรจีนก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากๆ ที่เผยผลลัพธ์ให้เรารู้ว่าเรากำลังจะต้องเผชิญหน้ากับธรรมชาติอันคาดเดาไม่ได้เลยในอนาคตอันใกล้นี้

ซึ่งนั่นเป็นเพราะ เราทุกคนต่างมีส่วนที่ทำให้โลกใบนี้เปลี่ยนแปลงอย่างบิดเบี้ยวผิดเพี้ยนไปด้วยกันทั้งสิ้นไม่มากก็น้อย ครับ…







 

Create Date : 23 ตุลาคม 2558
4 comments
Last Update : 23 ตุลาคม 2558 14:52:26 น.
Counter : 3560 Pageviews.

 

thx u crab

 

โดย: Kavanich96 24 ตุลาคม 2558 3:49:32 น.  

 

กำลังมีแพลนจะต้องไปทำงานแถวนั้นพอดีค่ะ กำลังหนักใจเรื่องการนั่งเรือมากเลย แต่ก็ต้องแวะไป ยังไงขอบคุณสำหรับรีวิวนะคะ

 

โดย: กางเกงยักษ์ลอยฟ้า 24 ตุลาคม 2558 21:13:00 น.  

 

ไม่น่าหนักใจนะครับ ถือว่าเป็นประสบการณ์ เดินทาง ที่มีสีสัน ก็แล้วกัน ครับ

 

โดย: โปสการ์ดราดซอส IP: 49.230.237.58 25 ตุลาคม 2558 9:35:24 น.  

 

วันก่อนจัดทริปไปไหว้พระเมืองปากน้ำครับ ผ่านแถวนั้นด้วย แต่ไม่ได้แวะเที่ยว มัวแต่ไปตามหากุ้งเหยียดที่บ้านสาขลา ฮ่าๆๆๆ

 

โดย: ทนายอ้วน 27 ตุลาคม 2558 19:24:25 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


โปสการ์ดราดซอส
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add โปสการ์ดราดซอส's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.