Group Blog
 
<<
กันยายน 2565
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
25 กันยายน 2565
 
All Blogs
 

แสงสว่างแห่งธรรม - 1


                    คนที่ศึกษามาก มีความรู้จากการอ่านมาก มักจะไม่ค่อยภาวนาเท่าไร จะใช้ปัญญาอย่างเดียว ไม่ทำจิตให้สงบ เมื่อจิตไม่สงบปัญญาก็เป็นปัญญาแบบฟุ้งซ่าน แบบตัดกิเลสไม่ขาด รู้แล้วก็หลงอยู่กับความรู้นั้น เพราะไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร ให้ไปถึงจุดไหน แต่ถ้าทำสมาธิได้แล้ว จะรู้ว่าทำเพื่อจุดนั้นแหละ เพียงแต่การทำสมาธิไม่สามารถตั้งอยู่ในจุดนั้นได้ตลอด คือความสงบ เวลาเรานั่งบริกรรมพุทโธๆๆไป จิตก็จะสงบ มีความสุข มีความสบาย แต่พอออกมาปั๊บมันก็คิดนู่นคิดนี่ ปรุงเรื่องนั้นเรื่องนี้ เอาเรื่องนู้นเรื่องนี้มาเผาหัวใจ ก็เกิดความรุ่มร้อนขึ้นมา ถ้ามีปัญญา เราก็จะตัดได้  มีเรื่องอะไรเข้ามาเราก็ตัดมันได้ ให้ดูใจเราเป็นหลัก ถ้าใจร้อนกับเรื่องอะไร ก็แสดงว่าไม่สุขแล้ว เวลาเรารำคาญวุ่นวายกับเรื่องอะไร ก็แสดงว่าหลงแล้ว รู้ไม่ทัน  ถ้ารู้ทันใจจะเป็นอุเบกขา วางเฉยได้ จะดีจะชั่วอย่างไรก็วางเฉยได้ อันนี้ต้องอาศัยปัญญา
 
ถาม    ถ้าเราทำไม่เป็น เราโกรธแล้วบริกรรมพุทโธ
 
ตอบ   ก็เป็นอุบายของสมาธิ แต่ไม่ได้แก้แบบถึงรากถึงโคน เพราะความโกรธเกิดจากความหลง ต้องแก้ด้วยปัญญา เอาความรู้เข้าไปแก้ถึงจะหายโกรธได้อย่างถาวร ถ้าบริกรรมพุทโธๆก็เหมือนเอาหินไปทับความโกรธไว้ ความโกรธก็แสดงตัวออกมาไม่ได้ แต่ไม่ได้ถูกทำลายด้วยการบริกรรม พอหยุดบริกรรมปั๊บก็กลับไปคิดถึงเรื่องนั้นได้อีก เกิดความโกรธขึ้นมาได้อีก แต่ถ้าเห็นว่าเป็นเรื่องของไตรลักษณ์ ไม่มีสาระอะไร เราไปหลงมันเอง ให้ความสำคัญกับมันเอง  ทั้งๆที่ความจริงแล้วไม่มีสาระอะไร  ถ้าเราเห็นอย่างนี้  เห็นว่าไม่มีสาระ  เป็นเรื่องที่เราไปควบคุมบังคับไม่ได้  เหมือนกับแดด กับลม กับฝน ฝนตกเราไม่โกรธฝนไม่ใช่หรือ  เพราะไปควบคุมบังคับมันไม่ได้ ยกตัวอย่างเวลาเราพายเรือ  แล้วมีคนพายเรืออีกลำมาชนเรือเรา  เราจะโกรธคนที่พายเรือใช่ไหม แต่ถ้าเรือลอยมาเฉยๆไม่มีคนพาย  แล้วก็ชนเหมือนกัน เราก็ไม่โกรธเรือลำนั้นใช่ไหม เพราะเรือไม่มีตัวตน แต่ถ้ามีคนพาย ซึ่งเราเห็นว่ามีตัวมีตน เราก็จะโกรธคนนั้น แต่เราเห็นว่าเรือไม่มีตัวตน เราก็เลยไม่โกรธ ถือว่าเป็นเรื่องสุดวิสัย ไปบังคับควบคุมไม่ได้
 
สิ่งที่เราควบคุมได้ก็คือใจของเรา ถ้ามีปัญญาเราก็ควบคุมไม่ให้ไปโกรธได้ เพราะความโกรธมันร้อน มันเป็นทุกข์  ความไม่โกรธนี้สบาย  อย่างตอนนี้เราไม่โกรธใจเราสบาย  ถ้าใครมาพูดหรือมาทำอะไรให้เราโกรธ  ใจเราจะเกิดความรุ่มร้อนขึ้นมา  ถ้าเราไม่มีสมาธิ  เราจะไม่เห็นภัยของความโกรธที่ปรากฏขึ้นมา แต่ถ้ามีสมาธิจะมีความแตกต่างกันเยอะ ใจที่มีสมาธิเหมือนใจอยู่ในห้องแอร์  พอเจอความโกรธก็เหมือนออกมาจากห้องแอร์ จะสัมผัส  จะรู้ชัดทันที แต่ถ้าอยู่นอกห้องแอร์ตลอดเวลา ก็จะไม่รู้ว่าความร้อนเป็นอย่างไร  เพราะร้อนอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว  คนที่ไม่มีสมาธิจะไม่เห็นกิเลส จะไม่รู้ว่ากิเลสเป็นอย่างไร  เวลาเกิดขึ้นก็หลงไปกับเรื่องราวที่ทำให้โกรธ แทนที่จะเห็นตัวโกรธ กลับไปเห็นเรื่องราวหรือบุคคลที่สร้างความโกรธ เห็นคนนั้นคนนี้  เห็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่ไม่เห็นความโกรธที่ผลักดันให้เราไปวุ่นวาย กับเรื่องนั้นกับเรื่องนี้ กับคนนั้นกับคนนี้
 
แต่ถ้าเรามีสมาธิ มีความสงบเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว พอเกิดความโกรธขึ้นมา มันจะเป็นเหมือนไฟลุกขึ้นมาในใจทันที เราก็รีบแก้รีบดับ แทนที่จะไปหลงกับเหตุการณ์หรือคนที่ทำให้เราโกรธ เราก็ย้อนกลับมาระงับดับตรงนี้ ด้วยการปล่อยวางเหตุการณ์นั้น ยอมจำนนกับเหตุการณ์นั้น ใครจะว่าอะไรก็ว่าไป มันผ่านไปแล้ว เราจะเสียอะไรก็เสียไปแล้ว ไม่ต้องไปเสียใจ เสียของก็พอแล้ว ไม่ต้องเสียใจ คนมีปัญญาจะเสียอย่างเดียว เสียของ ถ้าไม่มีปัญญาก็จะเสียใจด้วย เพราะคนที่มีปัญญาจะเตรียมตัวรับกับการสูญเสียอยู่เสมอ ไม่มีอะไรที่จะอยู่กับเราไปตลอด  เดี๋ยวเครื่องอัดเสียงนี่ก็เสียได้ พังได้ ถูกขโมยไปได้  ลืมทิ้งไว้ที่ไหน คนอื่นก็หยิบไปได้ พอหายไปปั๊บถ้ามีปัญญาก็จะรู้ว่า อ๊ะ!มันไปแล้ว ใจก็ไม่วูบ ไม่เสียใจ แต่ถ้าไม่มีปัญญา พออะไรหายไป ใจจะวูบขึ้นมาทันทีเลย เสียดาย วุ่นวายใจ พยายามตามหา แทนที่จะคิดว่า เอาไปแล้วก็หมดภาระกันไป ต่อไปจะได้ไม่ต้องไปมีมัน ไม่มีเราก็อยู่ได้ ใช่ไหม สมัยก่อนพระพุทธเจ้าไม่มีของพวกนี้ ยังตรัสรู้ได้เลย ของพวกนี้จำเป็นต่อการตรัสรู้มากน้อยเพียงไร ไม่จำเป็นหรอก เพียงแต่ว่าเมื่อมีเราก็ใช้ให้เป็นประโยชน์ แต่ถ้าไม่มีเราก็สามารถบำเพ็ญ เจริญธรรมได้
 
แต่ใจของเรามักจะหลอกเราอยู่เรื่อยๆ มีไอ้นั่นดีนะ มีไอ้นี่ดีนะ โดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่มีตามมา คือความกังวลใจ ความวุ่นวายใจ เวลามีอะไรก็ต้องคอยดูแลรักษา เวลาหายไปเสียไปก็เสียใจ ถ้าไม่มีเลยก็สบายใจ ไม่ต้องเป็นภาระกับจิตใจ เพราะใจยิ่งปลดเปลื้องได้มากเท่าไร ยิ่งมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งเบาขึ้น ยิ่งสบายขึ้น ยิ่งมีมากก็ยิ่งแบกมาก แต่เราไม่เห็นกัน เพราะใจเราไม่เคยปลดเปลื้องด้วยสมาธิมาก่อน ถ้าจิตเรารวมลงเป็นอัปปนาสมาธิ รวมลงแบบสุดๆจนถึงฐานของมัน จะไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่เลย จะมีความรู้สึกเบาหวิว โล่งไปหมด มีความอิ่ม มีความสุข มีความพออยู่ในใจ  แล้วจะรู้ว่านี่คือจุดที่เราต้องการที่จะไป อยากจะรักษาให้เป็นอย่างนี้ไปตลอด เพียงแต่ว่ามันอยู่ได้ไม่นานจากการทำสมาธิ แต่จะอยู่ได้นานด้วยปัญญา ที่คอยหักห้ามใจไม่ให้ไปแสวงหาสิ่งต่างๆมาแบก มาเป็นสมบัติ ยิ่งมีสมบัติน้อยเท่าไร ยิ่งมีความสุขมากเท่านั้น ถ้ามีมากๆ มี ๗๓,๐๐๐ ล้าน มีความสุขที่ไหน แต่เรื่องของกิเลสหนักเท่าไรก็ยอมแบก เพราะมันหลง เขาเรียกพวกบ้าหอบฟาง มันมีสาระมีคุณค่าที่ไหน แต่ขอให้ได้แบก   เงินทองถ้ามีเกินความจำเป็นแล้ว ก็จะไม่เป็นประโยชน์กับเรา
 
ถาม    ท่านคะศาสนาพุทธสอนให้ใช้อุเบกขามากนี่ มันเลยทำให้เหมือนกับคนไทยไม่มีน้ำใจ ไม่มีความเมตตา เทียบกับพวกศาสนาคริสต์พวกฝรั่งที่ทำเกี่ยวกับเด็กกำพร้า เขาจะคลุกคลีกับเด็กสกปรก หรือเด็กพิการได้แบบสนิทใจ เอาขึ้นมากอดได้ อย่างศาสนาพุทธนี้เราต้องรอให้ฝรั่งมาเรียกเราถึงจะยอมไปทำ ต้องฝรั่งนำหน้าตลอดเวลา นี่มันเป็นเพราะศาสนาหรือเปล่า ที่ทำให้เป็นอย่างนี้ หรือเพราะเราเห็นว่าเป็นบุญกรรม เรามีอุเบกขา ก็เลยปล่อยเขาวางไว้ตรงนั้นเลย แต่ขณะที่ฝรั่งเหมือนมีเมตตามากกว่า เพราะบางครั้งถูกถามเรื่องพวกนี้ ก็ไม่รู้จะตอบอย่างไร
 
ตอบ    จะว่าเราไม่มีเมตตาก็ไม่ใช่ เพียงแต่เรายอมรับเรื่องของกรรมด้วย แต่ก็ไม่ได้ถึงกับปล่อยปละละเลย เราก็ดูแล ศาสนาก็สอนให้คนมีเมตตา กรุณา มุทิตาด้วย นอกจากมีอุเบกขา
 
ถาม    อย่างที่สมาคมที่ไปๆกันนี่นะคะ ส่วนมากจะเป็นฝรั่ง เป็นเอเชียมีอยู่ ๒ – ๓ คน คนเอเชียทำได้ไม่สนิทเท่าฝรั่ง ก็เลยรู้สึกว่าศาสนาคริสต์ต้องมีอะไรดีอย่างหนึ่ง ที่สามารถสอนให้เขาทำอย่างนี้ได้
 
ตอบ     เขาอาจจะเน้นไปทางนั้นก็ได้ แต่ของเรานี่มีหลายอย่างที่ต้องบำเพ็ญควบคู่กันไป เมตตาก็ต้องมี แต่ก็ต้องมีศีลมีภาวนาด้วย เพราะว่าจุดหมายปลายทางของการปฏิบัตินั้น ต้องไปไกลกว่าการให้ทานอย่างเดียว การให้ทานก็คือความเมตตา ช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้นั้นผู้นี้ ซึ่งเราก็มีอยู่เหมือนกัน เพียงแต่เราอาจจะไม่ทำแบบที่เขาทำ เราทำของเราไป ต่างคนต่างทำกัน เมืองไทยเรามีขอทานเต็มไปหมด ก็มีการให้ทานอยู่เสมอ มีการปล่อยนกปล่อยปลา เพียงแต่เราไม่ได้ทำเป็นแบบองค์กรเหมือนของเขา เขาทำเป็นแบบองค์กร แล้วก็ทุ่มไปกับงานอย่างนี้มาก  จนทำให้เกิดความเด่นขึ้นมา แต่ของเราเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการบำเพ็ญเท่านั้นเอง เช่นทำบุญตักบาตร  พระมีส่วนเหลือก็เอาไปสงเคราะห์แทนเรา มีคนยากจน มีคนเดือดร้อน พระก็สงเคราะห์ไป ถ้าจะเปรียบเทียบก็เหมือนกับว่าเราไม่มี เพราะเราปฏิบัติหลายอย่าง
 
ถ้าเรามีเมตตาแล้วขาดอุเบกขา  เราก็จะมีแต่ความเศร้าโศกเสียใจ กับเรื่องนั้นเรื่องนี้  เห็นใครเดือดร้อนก็เป็นห่วง เป็นกังวลกับเขามากจนเกินไป จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ เพราะขาดอุเบกขา เราทำได้เท่าไรก็ทำไป  ช่วยเหลือกันได้เท่าไรก็ช่วยกันไป เมื่อไม่อยู่ในวิสัยที่จะช่วยได้ ก็ต้องปลง เป็นเรื่องของวิบากกรรม  ใจของเราจะได้ไม่แกว่ง ยังนิ่งเฉยได้ การปฏิบัติทางศาสนาพุทธจึงถือการดูแลใจเป็นหลักก่อน  จะทำอะไรเพื่อผู้อื่นก็ทำได้  แต่ใจของเราจะต้องไม่รุ่มร้อน  หรือวุ่นวายไปกับการช่วยเหลือผู้อื่น ในกรณีที่อยู่เหนือความสามารถของเรา ก็ต้องยอมรับความจริงว่า  ช่วยได้แค่นี้แหละ เช่นเป็นหมอรักษาโรค เมื่อรักษาได้แค่นี้  ทำได้แค่นี้ ก็ต้องแค่นี้  จะวุ่นวายใจก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร  ถ้าเรามองกันจริงๆแล้ว ก็คิดว่าทางศาสนาพุทธก็มีความเมตตามาก  เพราะหัวใจของศาสนา ของคำสอน ก็สอนให้มีความเมตตาอยู่แล้ว เมตตาเป็นธรรมค้ำจุนโลก  เพียงแต่ไม่เอาไปปฏิบัติ  ส่วนใหญ่จะชอบทำบุญกับพระ  แต่ไม่ชอบทำทานกับคนขอทาน  กับคนที่เดือดร้อน  เพราะอยากจะได้บุญเยอะๆ
 
ถาม    ก็เหมือนหลวงตา บางคนท่านช่วยได้ท่านก็ช่วย ช่วยไม่ได้ท่านก็ไม่
 
ตอบ     ก็เลยกลายเป็นภาระของพระที่จะต้องรับช่วงต่อ พวกเราชอบได้บุญเยอะๆ ก็ไปทำบุญกับหลวงตา แล้วหลวงตาก็ต้องเอาเงินของเราไปช่วยผู้อื่นแทนพวกเราอีกทีหนึ่ง ไปสร้างโรงพยาบาล ไปสงเคราะห์เหมือนกับที่เขาทำกันนั่นแหละ เพียงแต่ว่าพวกเราติดพระ ซึ่งก็ดี เพราะเข้าหาพระเราได้หลายอย่าง เขาทำของเขาเองเขาได้แค่ทานบารมีอย่างเดียว เราเข้าหาพระเราได้ทานบารมี แล้วยังได้ปัญญาบารมี ได้ศีลบารมี ได้เนกขัมมบารมี เพราะไปอยู่วัดเราก็ต้องถือศีล ๘ ปฏิบัติธรรมกัน การทำอะไรจึงต้องคำนึงถึงประโยชน์ตนด้วย พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า จงบำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด  ประโยชน์ตนต้องมาก่อนประโยชน์ผู้อื่น ถ้าเรายังกินข้าวไม่อิ่ม ไปป้อนคนอื่นเราจะไม่มีแรง ต้องป้อนตัวเราให้อิ่มก่อน เมื่อมีแรงแล้วจึงไปช่วยเหลือผู้อื่น พระพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้ก็ไม่เคยทรงประกาศศาสนาสอนให้กับใครเลย  ทรงบำเพ็ญถึง ๖ พรรษาด้วยกัน เมื่อทรงบรรลุแล้ว ตรัสรู้แล้ว ก็ทรงเมตตาต่อสัตว์โลกถึง ๔๕ พรรษาด้วยกัน
 
ศาสนาพุทธเห็นความสำคัญอยู่ที่นามธรรม  คือคุณธรรมมากกว่าวัตถุ ทานมีอยู่ ๔ ชนิดด้วยกัน วัตถุทาน วิทยาทาน  อภัยทาน และธรรมทาน ในบรรดาทานทั้ง ๔ ชนิดนี้ พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าการให้ธรรมชนะการให้ทั้งปวง  เพราะธรรมะทำให้คนหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้  ให้ข้าว ให้อาหาร ให้ที่อยู่ ก็พอประทังชีพไปวันๆหนึ่ง  แต่ไม่ได้แก้ปัญหาหลัก คือการเวียนว่ายตายเกิด  ดังนั้นถ้ามองแบบคนที่ไม่มีปัญญาก็จะเห็นว่า  การให้วัตถุทาน  เช่นสร้างโรงพยาบาล สร้างอะไรต่างๆ เพื่อช่วยเหลือคนเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แต่การสอนธรรมะกลับเป็นเหมือนของไม่มี คุณค่าเลย  เพราะเขามองไม่เห็น ไม่มีปัญญาที่จะเห็นคุณค่าของธรรมะได้เท่านั้นเอง ก็ดูพระพุทธเจ้าตลอด ๔๕ พรรษานี้ ไม่ได้สร้างโรงพยาบาล ไม่ได้สร้างมูลนิธิสงเคราะห์เด็กเลย
 
ถ้าพระพุทธเจ้าจะทรงทำสิ่งเหล่านี้ ทำไมจะทำไม่ได้ แต่ได้ทรงวิเคราะห์ดูแล้วทรงเห็นว่า สิ่งที่พระองค์ทรงมีคือธรรมะนั้น มีค่ามากกว่าเงินทอง ให้ธรรมะดีกว่าให้เงินให้ทอง ดีกว่าสร้างมูลนิธิ สร้างโรงพยาบาล  สร้างโรงเรียน สร้างอะไรต่างๆ มันก็เป็นแค่วัตถุทาน เป็นแค่วิทยาทาน สร้างโรงเรียนก็เป็นวิทยาทาน สร้างบ้านที่อยู่อาศัยสงเคราะห์คนไม่มีที่อยู่อาศัย ก็เป็นการสงเคราะห์ด้วยวัตถุทาน แต่ไม่ใช่ธรรมทาน ตายไปก็จบ ตายไปก็ไม่ได้อะไรที่ดีขึ้น ไม่ได้หลุดพ้น ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ถ้าให้ธรรมทาน ทำให้มีพระอรหันต์เป็นหมื่นเป็นแสน อันไหนจะมีคุณค่ากว่ากัน คงจะตอบความสงสัยว่า ทำไมศาสนาพุทธจึงไม่เด่นทางด้านวัตถุ แต่จะเด่นทางด้านคุณธรรม สอนให้คนมีคุณธรรม  ดีกว่าการสงเคราะห์ด้วยปัจจัย ๔ ให้เขามีปัจจัย ๔ ให้เขามีแรง มีกำลังวังชา ถ้าใจยังมีกิเลสอยู่ เดี๋ยวเขาก็ไปฆ่าคนอื่นได้ ไปลักทรัพย์ ไปทำผิดศีลได้ แต่ถ้าให้เขามีคุณธรรม มีศีลมีธรรมแล้ว จะไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับใคร ถึงแม้จะอดอยากขาดแคลนอย่างไร ก็จะไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น

ถาม  ท่านคะ ไม่ทราบว่าผิดหรือถูกนะคะที่ฟังมาว่า  ถ้ากำจัดอวิชชาได้จะกำจัดไตรลักษณ์ได้ อันนี้ถูกหรือผิดคะ
 
ตอบ  มันเป็นของคนละด้านกัน อวิชชากับไตรลักษณ์เป็นเหมือนมืดกับแจ้ง ถ้ามีความสว่างก็ไม่มีความมืด อย่างตอนนี้มีความสว่าง ความมืดก็ไม่มี แต่พอความสว่างหายไปความมืดก็ปรากฏขึ้น
 
ถาม  เวลานั่งสมาธิแล้วฟังหลวงตาพูด จะจับใจความได้นิดเดียว ถามนิดหนึ่งนะคะ เราต้องพยายามดึงตัวเองกลับมาฟังเทศน์ให้เข้าใจ หรือปล่อยให้ไป ยังไม่ค่อยแน่ใจ
 
ตอบ  แล้วแต่จะฟังแบบไหน จะฟังให้เกิดปัญญาก็ต้องพิจารณาตาม
 
ถาม  แต่เวลาเรานั่งสมาธิไม่ควรฟังหรือคะ

ตอบ  ก็แล้วแต่ระดับจิตของเรา จิตบางคนพิจารณาตามไม่ทัน ไม่มีปัญญาที่จะเข้าใจถึงเหตุถึงผลที่แสดงได้ ก็เพียงฟังแต่เสียง อาศัยเสียงเป็นตัวกล่อมให้จิตสงบ เรียกว่าฟังเพื่อให้จิตสงบเป็นสมาธิ แต่ไม่เกิดปัญญา แต่ถ้าฟังอย่างที่พูดคุยกันนี้ มีการอธิบายถึงเหตุถึงผลให้ฟัง ถ้าเข้าใจก็เกิดปัญญาขึ้นมา อยู่ที่ฐานะของคนฟังว่าอยู่ในระดับไหน ถ้าจิตยังอยู่ในระดับที่ยังพิจารณาไม่เป็น ยังไม่สามารถเชื่อมต่อระหว่างเหตุกับผลได้ ฟังไปก็ไม่เข้าใจ ก็ต้องอาศัยการฟังเพื่อทำจิตให้สงบก่อน แล้วค่อยมาพัฒนาปัญญา คิดด้วยเหตุด้วยผล เช่นมีแสงสว่างได้เพราะอะไร เพราะดวงอาทิตย์ทำให้มีแสงสว่าง  เวลามืดเพราะอะไร  เพราะดวงอาทิตย์ตกดินไปแล้ว  คนนี้มีความสุขเพราะอะไร  เพราะทำความดี คนนี้มีความวุ่นวายใจเพราะอะไร เพราะทำความไม่ดี  หัดพิจารณาไปเรื่อยๆ  เมื่อพัฒนาสูงขึ้นไปเรื่อยๆ  ก็จะเข้าไปสู่ระดับไตรลักษณ์  จะพิจารณาเห็นว่า คนเราเกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ไม่ว่าใครก็ต้องเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น
 
เมื่อพิจารณาไปเรื่อยๆ จิตก็เริ่มชินกับเรื่องเหล่านี้ ก็จะไม่วุ่นวายใจเวลาความแก่ ความเจ็บ ความตายปรากฏขึ้นมา ถ้ารู้สึกว่าเป็นเรื่องราวใหญ่โตโกลาหลเวลาที่มีคนตาย ก็เพราะใจของเราไม่ได้พิจารณาถึงความตายจนเกิดความเคยชิน เหมือนกับความตายเป็นเรื่องแปลกประหลาด เหมือนกับมีลูกอุกกาบาตหล่นลงมา จะต้องมีการโจษขานกัน คนนั้นตายแล้วนะ คนนี้ตายแล้วนะ เป็นเรื่องที่ต้องรู้กันอยู่แล้วว่าต้องตาย ทำไมต้องมาป่าวประกาศบอกกัน ให้โกลาหลวุ่นวายกันไปหมด ตายก็เผากันไป เรื่องก็จบ ไม่มีปัญหาอะไร นี่เป็นเพราะว่าไม่ได้เจริญไตรลักษณ์ ใจหมกมุ่นอยู่กับความหลง  อยากจะอยู่ไปนานๆ อยู่ไปเรื่อยๆ อยู่ไปตลอด ไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บไข้ได้ป่วย พอเกิดอาการเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาก็วุ่นวายใจ แทนที่จะเฉยๆเป็นอุเบกขา ไม่ได้หรอก พอแก่หน่อย พอเห็นผมขาวขึ้นมาสักเส้นหนึ่งนี้  โอ้โฮ! เหมือนกับเห็นนรก เพราะไม่พิจารณา มัวอยู่ในความมืดบอดของอวิชชา ที่ให้คิดว่าเราจะสาวไปตลอด จะไม่เจ็บไข้ได้ป่วย จะไม่ตาย เมื่อไม่คิดถึงมัน ก็เหมือนกับว่าจะไม่แก่ พอแก่ขึ้นมาปั๊บ ก็รับไม่ได้
 
แต่ถ้ามีปัญญาพิจารณาไตรลักษณ์ อยู่เรื่อยๆ เดี๋ยวแก่แล้วนะ แก่ลงทุกวันๆ แก่อยู่ทุกขณะ ชีวิตเราเหมือนกับต้นเทียน พอจุดไฟปั๊บ ก็เริ่มกินเนื้อเทียนไปเรื่อยๆ สักชั่วโมงสองชั่วโมงต้นเทียนก็ไม่มีอะไรเหลือ ชีวิตของเราก็โดนเวลากลืนไปเรื่อยๆ ทีละนิดทีละหน่อย ทุกขณะทุกวินาที แก่ไปเรื่อยๆ เดี๋ยวถึงเวลามันก็หยุด ถ้าพิจารณาอยู่เรื่อยๆตลอดเวลา เราจะรู้ทัน หยุดก็หยุด ไม่เห็นจะเป็นอะไร ไม่ทุกข์เสียอย่าง แต่ไปห้ามไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ตายไม่ได้ แต่ห้ามใจไม่ให้คิดได้ ด้วยปัญญา จึงต้องพิจารณาอยู่เรื่อยๆ บทสวดก็มีสอนให้สวดอยู่ เรามีความแก่เป็นธรรมดา ล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้ เคยพิจารณาบ้างไหมเวลาสวดมนต์

 

          จบเทศนาแสงสว่างแห่งธรรมตอนที่ 1            

......................................................


ขอขอบคุณที่มาจาก : 
 เว็บ พระธรรมเทศนา
 




 

Create Date : 25 กันยายน 2565
24 comments
Last Update : 25 กันยายน 2565 7:52:53 น.
Counter : 945 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณฟ้าใสวันใหม่, คุณทนายอ้วน, คุณปรศุราม, คุณNENE77, คุณเริงฤดีนะ, คุณปัญญา Dh, คุณSleepless Sea, คุณThe Kop Civil, คุณหอมกร, คุณtoor36, คุณมาช้ายังดีกว่าไม่มา, คุณนายแว่นขยันเที่ยว, คุณจอมแก่นแสนซน, คุณภาวิดา คนบ้านป่า, คุณhaiku, คุณไวน์กับสายน้ำ, คุณกะว่าก๋า, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณอาจารย์สุวิมล, คุณสองแผ่นดิน, คุณกิ่งฟ้า, คุณkae+aoe, คุณแมวเซาผู้น่าสงสาร, คุณnewyorknurse, คุณตะลีกีปัส, คุณทุเรียนกวน ป่วนรัก, คุณJohnV, คุณeternalyrs, คุณเจ้าหญิงไอดิน, คุณร่มไม้เย็น, คุณtanjira, คุณKimhanvisuwat, คุณข้าน้อยคาราวะ, คุณDeep Black Sea, คุณSweet_pills

 


 

โดย: เริงฤดีนะ 25 กันยายน 2565 9:51:20 น.  

 

 

โดย: The Kop Civil 25 กันยายน 2565 12:55:39 น.  

 

สาธุครับ

 

โดย: Sleepless Sea 25 กันยายน 2565 13:09:23 น.  

 

อนุโมทนาบุญวันพระจ้า
คนที่ถามนี่ไม่เคยปฏิบัติ
ศาสนาพุทธต้องลงมือปฏิบัติเนอะ

 

โดย: หอมกร 25 กันยายน 2565 13:45:41 น.  

 

อนุโมทนาบุญด้วยครับ

ผมสะดุดตรงคำว่า อวิชชา ตอนนี้นอกจากอวิชชา ยังมีอลัชชีในคราบนักบุญแห่งศาสนาพุทธเต็มไปหมดเลย ที่น่าแปลกใจคือ คนในศาสนากลับพยายามปกปิดไม่นำมันออกจากศาสนา จนทำให้ศาสนายิ่งมัวหมอง

 

โดย: คุณต่อ (toor36 ) 25 กันยายน 2565 15:33:04 น.  

 


สวัสดีจ้าคุณ Mp5

อนุโมทนาบุญ ด้วยนะจ้า
และขอเห้นด้วยกับข้อความของคุณต่อ เกี่ยวกับ
พระพุทธศาสนาของไทยเราในตอนนี้ด้วยอะจ้า

 

โดย: จอมแก่นแสนซน 25 กันยายน 2565 23:59:18 น.  

 

ฝนตกแล้วแต่เช้า..
คุณพระคุ้มครองค่ะ
สาธุ

 

โดย: เริงฤดีนะ 26 กันยายน 2565 6:12:00 น.  

 

สาธุค่ะ

 

โดย: sawkitty 26 กันยายน 2565 14:05:14 น.  

 

สาธุ ๆ ๆ ครับ

 

โดย: ไวน์กับสายน้ำ 26 กันยายน 2565 15:20:58 น.  

 

สาธุธรรมครับ

 

โดย: กะว่าก๋า 26 กันยายน 2565 19:20:42 น.  

 

สวัสดี จ้ะ น้อง เอ็ม

มารับธรรมะดี ๆ จากบล็อกน้องเอ็ม จ้ะ ความ
โกรธ น่ากลัว ถ้าระงับไม่ได้ ก็อาจจะเกิดเรื่อง
ร้าย ๆ ในชีวิตได้เสมอ จ้ะ
โหวดหมวด ข้อคิดและธรรมะ

 

โดย: อาจารย์สุวิมล 26 กันยายน 2565 19:45:58 น.  

 

สาธุ

 

โดย: สองแผ่นดิน 26 กันยายน 2565 23:01:26 น.  

 

ธรรมะสวัสดีครับคุณ**mp5**

ขอบคุณสำหรับกำลังใจด้วยนะครับ

 

โดย: มาช้ายังดีกว่าไม่มา 26 กันยายน 2565 23:21:14 น.  

 

สวัสดีค่ะคุณพี ขอบคุณมากนะคะที่ไปให้กำลังใจบล็อกตะพาบค่ะ

ตามมาฟังธรรมะบรรยายดีมากๆเลยค่ะ

โหวต Dharma Blog

 

โดย: กิ่งฟ้า 26 กันยายน 2565 23:36:16 น.  

 


อรุณสวัสดิ์ครับ

 

โดย: กะว่าก๋า 27 กันยายน 2565 5:23:08 น.  

 

สาธุ

 

โดย: kae+aoe 27 กันยายน 2565 8:13:53 น.  

 

ขอบคุณสำหรับธรรมะดี ๆ ครับ

 

โดย: ทุเรียนกวน ป่วนรัก 28 กันยายน 2565 21:39:32 น.  

 

มาโหวตค่ะ
ขอบคุณที่แวะไปเยี่ยมและส่งกำลังใจค่ะ

 

โดย: eternalyrs 29 กันยายน 2565 12:00:29 น.  

 

สาธุ

 

โดย: เจ้าหญิงไอดิน 29 กันยายน 2565 17:29:15 น.  

 

สาธุ อนุโมทนาบุญกับธรรมทานด้วยครับพี่

 

โดย: สีเมจิก (สมาชิกหมายเลข 5106714 ) 29 กันยายน 2565 21:34:38 น.  

 

สวัสดีค่ะคุณเอ็ม

สาธุธรรมค่ะ

ขอให้สุขกายสบายใจนะคะ

 

โดย: tanjira 30 กันยายน 2565 7:05:03 น.  

 

ทักค่ะ สวัสดีธรรมะดีดี

ขอบคุณมากสำหรับการแวะไปเยี่ยม

 

โดย: ข้าน้อยคาราวะ (ข้าน้อยคาราวะ ) 2 ตุลาคม 2565 12:07:11 น.  

 

อนุโมทนาบุญด้วยนะคะ

 

โดย: สมาชิกหมายเลข 5206368 2 ตุลาคม 2565 19:01:03 น.  

 



สาธุค่ะ

ขอบคุณกำลังใจค่ะคุณพี

 

โดย: Sweet_pills 3 ตุลาคม 2565 0:39:07 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


**mp5**
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 88 คน [?]




สวัสดีครับ

ขอส่งความสุขให้กับทุกคน




New Comments
Friends' blogs
[Add **mp5**'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.