ตุลาคม 2556

 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
14
15
16
17
18
19
20
21
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog
นวราตรี (Navratri) และ ดุชเชห์ร่า (Dussehra) เทศกาลที่ตรงกับเทศกาลกินเจของเมืองไทย
 วันนี้จะขอพูดถึงสองเทศกาลนี้ที่ติดกันสิบวัน ตรงกับเทศกาลกินเจของบ้านเราทุกปี ไม่ทราบเหมือนกันว่ามีอะไรเกี่ยวข้องกันหรือไม่
เทศกาลนวราตรี (Navratri)
นวราตรี (Navratri, Navaratri, หรือ Navarathri) เป็นเทศกาลแห่งการบูชาและการเต้นรำ ในภาษาสันสกฤตคำว่า นว (nava) หมายถึง เก้า และ ราตรี (ratri) หมายถึง กลางคืน จึงมีความหมายตามตัวอักษรว่า “เก้าคืน” ซึ่งในช่วง “เก้าคืน” นี้จะมีการบูชา พระแม่ทุรคา (Durga) หรือศักติ (Shakti) ซึ่งหมายถึง พลังหรืออำนาจ ในเก้ารูปแบบ


โดยเทศกาลนี้จะจัดขึ้นสองครั้งต่อปี ในช่วงต้นฤดูร้อน และต้นฤดูหนาว ในช่วงฤดูหนาวนี้ตรงกับเดือนอัศวิน (Ashwin) ตามปฏิทินฮินดู ซึ่งครั้งนี้เริ่มขึ้นในวันที่ 8 – 16 ตุลาคม 2010 และในบางที่ก็มีการเฉลิมฉลองในวันที่ 17 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันที่ 10 ด้วย

เทวีทุรคา หรือที่นิยมเรียกว่า พระแม่ทุรคา เป็นเทวีแห่งความมั่งคั่ง ความเจริญรุ่งเรือง และสุขภาพดี พระนางเป็นอวตารภาคหนึ่งของพระแม่ปารวตี มเหสีของพระศิวะ ตามตำนานเทพเจ้าฮินดู กล่าวถึงการปราบ มหิงสาสูร ซึ่งเป็นอสูรที่ทรงอำนาจมากจนไม่มีเทพเจ้าองค์ใดทำลายลงได้ ดังนั้นบรรดาทวยเทพต่างๆ จึงได้ไปเข้าเฝ้า พระนางทุรคา ขอให้ทรงช่วย และเทพต่างๆ เหล่านั้น ก็มอบอาวุธที่ทรงอำนาจให้กับพระนาง เมื่อมีอาวุธครบครัน พระนางก็สามารถปราบอสูรร้ายลงได้ และสถานที่ที่มหิงสาสูรสิ้นชีพนั้น เดิมคือเมือง มหิศปุระ (Mahishpur) ปัจจุบันคือ เมืองไมซอร์ (Mysore) ชาวไมซอร์จึงมีการเฉลิมฉลองเทศกาลนี้อย่างยิ่งใหญ่สนุกสนาน



เจ้าแม่ Durga

โดยในการบูชาศักตินี้ จะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ในช่วงสามวันแรกจะเป็นพิธีปลุก พระแม่ทุรคา เทวีแห่งพลังอำนาจขึ้นมา เพื่อมากำจัดสิ่งเลวร้ายไม่บริสุทธิ์ต่างๆ จากนั้นเทวีที่ได้รับการบูชาต่อมาคือ พระแม่ลักษมี (Lakshmi) ผู้ที่จะมอบความมั่งคั่งให้กับผู้ที่บูชา และในช่วงสามวันสุดท้ายเป็นการชูชา พระแม่สรัสวตี (Saraswati) เทวีแห่งสติปัญญา ชาวฮินดูเชื่อว่า เพื่อที่จะได้รับพรครบในทุกด้าน จำเป็นที่จะต้องบูชาพระแม่ทั้งสามพระองค์ต่อเนื่องกัน 9 วัน

รูปบูชาของพระแม่จะถูกนำมาวางไว้ที่บ้านและที่วัดตลอดทั้งเก้าวันที่เฉลิมฉลอง มีการถวายผลไม้ ดอกไม้ ขนมหวาน แด่รูปเทวี และร้องเพลงสวดบาจัน (bhajans) เพื่อสรรเสริญพระนาง ในวันสุดท้ายของเทศกาลนี้จะมีขบวนแห่นำรูปเคารพไปจมลงในแม่น้ำใกล้เคียง

ในอินเดียมีการเฉลิมฉลองเทศกาลนวราตรีทั่วทั้งอินเดีย แต่อาจมีรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค นอกจากการบูชาเทวีแ้ล้วชาวฮินดูยังฉลองด้วยการเต้น ดันดิยาราส (Dandiya-raas) หรือรำกระทบไม้ โดยถือไม้สั้นๆ คนละคู่ ตีกระทบกันเป็นวง วนไปวนมา แม้ดูแล้วไม่มีท่าเต้นอะไร แต่คนเล่นเขาก็สนุกสนานกันมาก ซึ่งการเต้นนี้ก็อาจแตกต่างกันไปตามความนิยมในแต่ละที่


กลุ่มคนอินเดียในแต่ละที่ทั่วโลกก็จะมีการจัดเทศกาลนี้และเต้นดานดิยากันอย่างสนุกสนาน


เทศกาลนี้ยังถือเป็นโอกาสที่ดีและเป็นมงคลสำหรับครอบครัวและเพื่อนๆ ที่จะมาพบปะอวยพร และสังสรรค์กัน ทั้งยังเป็นช่วงเวลาที่เป็นมงคลและดีที่สุดที่จะเริ่มการลงทุนด้านธุรกิจใหม่ๆ อีกด้วย

และต่อด้วยอีกเทศกาลที่ต่อเนื่องกันคือ ดัสเซฮ์รา (Dussehra) เทสกาลฉลองชัยชนะของความดีต่อความชั่วร้าย

ดัสเซฮ์รา, ดุชเชห์ร่า แล้วแต่คนจะออกเสียง เป็นเทศกาลหนึ่งที่เฉลิมฉลองกันทั่วอินเดีย หลังจากนวราตรีผ่านไปแล้ว 9 วัน ในวันที่ 10 แห่งเดือนอัศวิน (Ashwin) ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 17 ตุลาคม ชาวฮินดูจะเฉลิมฉลองกันอีกครั้งเรียกว่า ดุชเชห์ร่า หรือ วิชยทัสมิ (Vijayadashmi) ถือเป็นวันที่พระรามสังหารอสูรราวณะได้ และยังเป็นวันที่พระแม่ทุรคาเอาชนะมหิงสาสูร ซึ่งเป็นชัยชนะของความดีต่อความชั่วร้าย ในวันนี้ชาวฮินดูจึงนิยมเฉลิมฉลองกันทั่วไป



      ตามตำนานฮินดู “รามายณะ” กล่าวว่า พระรามได้กระทำพิธีจันดิบูชา (Chandi-Puja) ขอพรจากพระแม่ทุรคาเพื่อสังหารอสูรราวณะ (Ravana) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ทศกัณฐ์ กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ผู้มีสิบเศียร และได้ลักพาตัวนางสีดา มเหสีของพระรามไป พระแม่ทุรคาได้เผยความลับถึงวิธีสังหารอสูรราวณะให้พระรามทราบ ทำให้พระรามสามารถสังหารอสูรร้ายได้ จากนั้น พระรามพร้อมทั้งนางสีดา และพระลักษณ์ พระอนุชาก็ได้เสด็จกลับ นครอโยธยา (Ayodhya) ในวันที่เรียกว่า “ดิวาลี” (Diwali) ซึ่งชาวฮินดูจะมีการเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่

      ในวันดุชเชห์ร่านี้จะมีการแสดงละครพื้นบ้าน รามลีลา (Ramlila) เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการต่อสู้ระหว่างพระรามและอสูรราวณะ ซึ่งคำว่า ดุชเชห์ร่า (Dussehra) หมายถึง การตัดเศียรทั้งสิบเศียรของอสูรราวณะ นักแสดงจะแต่งกายเป็นพระรามแล้วยิงศรไฟไปยังหุ่นจำลองรูปอสูรทั้งสาม ได้แก่ ราวณะ (Ravana) กษัตริย์แห่งกรุงลังกา กุมภการัณ (Kumbhkaran) หรือ กุมภกัณฑ์ พระอนุชา และ เมฆนาธ (Meghnath) โอรสของราวณะ ซึ่งมีประทัดซ่อนไว้ ทำให้รูปหุ่นระเบิดและมีไฟลุกท่วม เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงชัยชนะของความดีที่มีต่อความชั่วร้าย




      ดุชเชห์ร่า จึงถือเป็นวันสิ้นสุดเทศกาลนวราตรี ในวันที่พระรามสังหารอสูรราวณะได้ หลังการแสดงรามลีลา และเผาหุ่นจำลองอสูรทั้งสามแล้ว ผู้แสดงเป็นพระราม นางสีดา และพระลักษณ์ ก็จะขึ้นรถม้าแล้วแห่แหนไปรอบๆ ฝูงชนก็จะตะโกนว่า Jai Shri Ram (หมายถึง ชัยชนะของพระราม)

      สำหรับในปัจจุบันยังมีความหมายถึงการทำลายอสูรที่อยู่ภายในอัตตาของตัวเราเอง แล้วแผ่รังสีแห่งสันติภาพและความรักออกมา


ดุชเชห์ร่ายังถือว่าเป็นวันที่เป็นมงคลมากที่สุดวันหนึ่งของชาวฮินดู ซึ่งเชื่อว่าถ้าได้เริ่มต้นกิจการงานใดๆ ก็จะประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ดังนั้นจึงมักจะมีการวางรากฐานอาคารใหม่ๆ ในวันนี้ หรือเปิดตัวธุรกิจใหม่ๆ อีกทั้งยังมีการนำเครื่องมือการเกษตร เครื่องจักรกลต่างๆ เครื่องใช้ในครัวเรือน หนังสือเรียนของเด็กๆ มาทำการบูชาต่อหน้ารูปเคารพของพระแม่ทุรคาอีกด้วย



ขอขอบคุณข้อมูลจาก //learningpune.com และ //www.indiaindream.com




Create Date : 13 ตุลาคม 2556
Last Update : 13 ตุลาคม 2556 12:47:27 น.
Counter : 13671 Pageviews.

5 comments
  
ชอบจังค่ะพี่ปุ๊ก ขอบคุณมากค่ะ ที่เขียนเรื่องดีๆ เป็นประโยชน์ให้เราได้อ่านกัน
โดย: ying IP: 171.97.24.227 วันที่: 13 ตุลาคม 2556 เวลา:21:48:29 น.
  
วันนี้มีงานที่วัดแขกสีลม
โดย: รส IP: 171.6.244.249 วันที่: 14 ตุลาคม 2556 เวลา:13:33:28 น.
  
ชอบมากเลยค่ะได้ความรู้ทำให้เข้าใจในความเป็นอินเดียขึ้นอีกมากมายเลยค่ะ
โดย: เอ IP: 49.49.121.119 วันที่: 19 ตุลาคม 2556 เวลา:10:39:59 น.
  
เพิ่งเข้ามาเจอบล๊อกนี้ค่ะ ชอบมากเลยค่ะ ได้รู้อะไรเกี่ยวกับอินเดียเยอะเลยค่ะ.....ตอนนี้กำลังคุยกับหนุ่มอินเดียคนนึงอยู่ค่ะ.....รู้สึกว่าคนอินเดียเค้านิสัยดีเหมือนกันนะคะ .... ไม่ทราบว่าพี่ปุ๊กพอมีความรู้เกี่ยวกับรัฐ gujarat , vadodara มั้ยคะ อยากรู้เกี่ยวกับประเพณี วัฒนธรรม สถานที่ต่างๆ สภาพความเป็นอยู่ และ ลักษณะนิสัยของคนที่นั่น ไม่ทราบว่ายังมีระบบวรรณะอยู่รึป่าวคะ ตอนนี้ขอสมัครเป็นแฟนคลับพี่ปุ๊กด้วยคนนะคะ ^^ ชอบมากเลยค่ะ จะติดตามตอนต่อๆไปนะคะ
โดย: เจ IP: 171.5.238.149 วันที่: 7 พฤศจิกายน 2556 เวลา:10:53:45 น.
  
ยินดีค่ะทู๊กโคนนนน

น้องเจจ๋า ถ้าอยากรู้อะไรอากู๋ช่วยได้เสมอ เสริชหาใน google ได้เรย อันนี้ข้อมูลคร่าว ๆ ที่พี่เจอ

เป็นแหล่งพัฒนาอุตสาหกรรมยุคต้นๆ ของอินเดีย จนได้รับฉายาว่าเป็น ‘Manchester of the East’
เป็นแหล่งอารยธรรมโบราณ มีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์มากมาย
เป็นบ้านเกิดของ มหาตมะ คานธี ซึ่งเกิดที่เมืองพอร์บันดาร์ (Porbundar) และเมื่อปี ค.ศ.1930 ได้เริ่มการเดินประท้วงระยะไกลแบบอหิงสาที่โด่งดังไปทั่วโลก จากเมืองอาห์มดาบาดไปยังชายทะเลที่เมืองแดนดี (Dandi) เป็นระยะทางเกือบ 400 กิโลเมตร เพื่อต่อต้านกฎหมายภาษีเกลือ (Salt Law)
องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 2 ตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันเกิดของมหาตมะ คานธี เป็นวันแห่งการไม่ใช้ความรุนแรง (The International Day of Non-Violence)
เมืองอาห์มดาบาดเป็นที่ตั้งแห่งที่สองของสถาบัน Indian Institute of Management (IIM) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยด้านการบริหารที่มีทั้งหมด 7 แห่งในอินเดีย โดย IIM ที่อาห์มดาบาดเป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียงทั่วโลก
เมืองสุราตเป็นศูนย์เจียระไนเพชรของโลก มีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 92
เป็นรัฐที่ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ประชาชนเกินร้อยละ 80 ไม่รับประทานอาหารเนื้อสัตว์
ร้านอาหารส่วนใหญ่ให้บริการอาหารเจ
บุคคลชั้นนำในวงการธุรกิจส่วนใหญ่นับถือศาสนาเชน ซึ่งรับประทานอาหารเจ แต่มีข้อจำกัดเพิ่มเติม เช่น ไม่รับประทานพืชผักที่เติบโตใต้ดิน เช่น หัวหอม

ส่วนนิสัยอันนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลพี่ก็ยังไม่อยากฟันธงนะ บางคนมาจากที่นี่ไปอยู่เมืองนอก วัฒนธรรมก็ไม่เคร่งเท่าไร บางคนมีครอบครัวใหญ่เติบโตจากเมืองนี้ ก็จะเคร่งหน่อยอะไรประมาณนี้อะจ้ะ
โดย: ปุ๊ก (Moti ) วันที่: 7 พฤศจิกายน 2556 เวลา:11:40:23 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Moti
Location :
Chandigarh  India

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 136 คน [?]



Moti เป็นภาษาฮินดี้ แปลว่าอ้วน ซึ่งตรงกับชื่อเล่นของเรา ปุ๊ก จากกรุงเทพ ไปตั้งรกรากอยู่บังกะลอร์เกือบเจ็ดปี ที่บังกาลอร์อยู่ลำพังกับลูก ๆ สองปีเพราะสามีย้ายไปทำงานดูไบ หลังจากนั้นก็ย้ายตามสามีไปดูไบได้สามปี ตอนนี้กลับมาตั้งหลักที่ไทยละจ้า

ขอเกร่นก่อนสำหรับคนที่เพิ่งเข้ามาอ่าน เรื่องราวและข้อความทั้งหมดใน Blog นี้มาจากความคิดเห็นและประสบการณ์ของเจ้าของ Blog ซึ่งอาจจะถูกใจหรือไม่ถูกใจบางคนที่เข้ามาอ่าน ถ้าหากอ่านแล้วรู้สึกไม่ชอบใจก็สามารถกดเครื่องหมาย x ที่มุมบนขวาได้ จะดีกว่าเข้ามาเม้นท์เพื่อก่อกวนนะจ๊ะที่รัก

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๙ งานเขียนและภาพประกอบในบล็อคนี้เป็นลิขสิทธิ์ตามกฏหมายนะคะ กรุณาอย่าลอกหรือก๊อปปี้ไปใช้ที่อื่นเลยนะค๊า
มาดามภารตะ - Motigang page

Instagram
New Comments