Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2561
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
21 กรกฏาคม 2561
 
All Blogs
 
นิทรรศการ เฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก (๑)



นิทรรศการ เฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก

เป็นนิทรรศการหมุนเวียน ซึ่งจัดอยู่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า ถึงวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ค่ะ



ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ

เลขที่ ๔ ถนนเจ้าฟ้า แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ : ๐๒-๒๘๑-๒๒๒๔
โทรสาร  : ๐๒-๒๘๒-๘๕๒๕

วันและเวลาทำการ

วันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น.

หยุดวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดราชการ

ค่าเข้าชม

คนไทย ๓๐ บาท ชาวต่างประเทศ ๒๐๐ บาท

นักเรียน นักศึกษา พระภิกษุ สามเณร นักบวชในศาสนาอื่น และผู้สูงอายุ (๖๐ ปีขึ้นไป) เข้าชมโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม

การเดินทาง Smiley

รถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารส่วนบุคคล (แท็กซี่)
เดินรถทางเดียวมีที่จอดสะดวก 

ทางที่ ๑ จากบางลำภู เข้าสู่ถนนจักรพงษ์ ผ่านหน้าวัดชนะสงครามชิดขวาเข้าถนนเจ้าฟ้าแล้วเลี้ยวขาวเข้ายังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป

ทางที่ ๒ จากฝั่งปิ่นเกล้า ข้ามสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ชิดซ้ายลงสะพานเข้าถนนเจ้าฟ้า ชิดขวาแล้วเลี้ยวขวาเข้ายังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป

ทางที่ ๓ จากสนามหลวง ผ่านหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และโรงละครแห่งชาติเข้าถนนพระอาทิตย์ ถนนพระสุเมรุ ถึงสี่แยกเลี้ยวขวา บรรจบกับทางที่ ๑ เข้าสู่ถนนจักรพงษ์ ผ่านหน้าวัดชนะสงคราม ชิดขวาเข้าถนนเจ้าฟ้าแล้วเลี้ยวขวาเข้ายังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป

รถโดยสารประจำทาง Smiley

รถประจำทางจากฝั่งธนบุรีข้ามสะพานพระปิ่นเกล้า สาย ๓๐, ๘๐, ๑๒๓, ๙๑, ๕๐๗
รถประจำทางจากถนนพระอาทิตย์ สาย ๖, ๙, ๑๕, ๑๙, ๓๒, ๓๓, ๕๓, ๖๔, ๖๕, ๕๒๔
รถประจำทางจากถนนจักรพงษ์ สาย ๓, ๓๐, ๓๒, ๓๓, ๔๓, ๖๔, ๕๒๔

เรือโดยสารประจำทาง Smiley

เรือด่วนเจ้าพระยา : ท่าพระอาทิตย์ (N13) เดินย้อนกลับมาทางสะพานปิ่นเกล้า เลี้ยวซ้ายเข้าถนนเจ้าฟ้า เดินตรงผ่านสำนักงานสรรพากรเขตพื้นที่ภาค ๓ ถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป

รถไฟฟ้า BTS

ลงสถานีสะพานตากสิน S6 (สายสีลม) ใช้ทางออกที่ ๒ และใช้บริการเรือด่วนเจ้าพระยาที่ท่าสาทร (Central Pier) ไปยังสถานีรถไฟ แล้วใช้บริการเรือข้ามฟากไปยังท่าพระอาทิตย์ (N13) เดินย้อนกลับมาทางสะพานปิ่นเกล้า จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าถนนเจ้าฟ้า เดินต่อไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป
เรามาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๑ นั่งรถเมล์ สาย ๖ มาลงตรงป้ายโรงละครแห่งชาติ แล้วข้ามถนนตรงใต้สะพานพระปิ่นเกล้า



เดินบนทางเท้าย้อนลงไปทางสะพานพระปิ่นเกล้า



ผ่านตรอกโรงไหม (่น่าสนใจ... แต่ไม่ได้แวะเข้าไปนะคะ)



ถึงแล้วค่ะ





เพิ่งเคยมาครั้งแรกเหมือนกันค่ะ



เราเข้าประตูด้านนี้



เราใช้บัตร Muse Pass Season 6 เข้าชมโดยไม่เสียค่าธรรมเนียมค่ะ  

เก็บกระเป๋าที่ล็อคเกอร์... ถ่ายรูปได้ (เฉพาะนิทรรศการหมุนเวียน แต่ห้ามใช้แฟลชค่ะ)



การถ่ายภาพด้วยฟิล์มกระจกในเมืองไทยเริ่มมีการเผยแพร่และถ่ายทอดวิธีการถ่ายภาพในสมัยรัชกาลที่ ๓  โดยพระสังฆราช ฌ็อง  บาติสต์ ปาเลอกัวซ์ และบาทหลวง ลาร์นอดี สอนวิชาถ่ายภาพให้แก่ พระยากระสาปน์กิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) หลวงอัคมีนฤมิตร  และพระปรีชา กลการ  ถือเป็นช่างภาพรุ่นแรกของไทย เส้นทางฟิล์มกระจกแพร่หลายมากในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูง   ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระราชนิยมในการถ่ายภาพยิ่งมากขึ้น ภาพมากมายที่ได้บันทึกบนแผ่นฟิล์ม นับเป็นข้อมูลประวัติศาสตร์และหลักฐานสำคัญชาติไทย

กระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร โดยสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร่วมกับ มูลนิธิสิริวัฒนภักดี และบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จัดนิทรรศการ "เฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก" เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสที่ฟิล์มกระจกและต้นฉบับภาพถ่ายชุดหอพระสมุดวชิรญาณของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งโลก เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ จากองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ "ยูเนสโก"  ในฐานะที่เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรมที่ได้บันทึกลงบนแผ่นฟิล์มที่ใช้กระจกเป็นตัวบันทึกภาพ ก่อนที่จะมีการใช้แผ่นฟิล์มเซลลูลอยด์

นิทรรศการ "เฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก" ประกอบด้วยฟิล์มกระจกที่ได้ถ่ายทำในยุคสมัยรัชกาลที่  ๔ ถึงรัชกาลที่ ๗ คัดเลือกมา ๑๕๐ ภาพจากจำนวนทั้งสิ้น ๓๕,๔๒๗ แผ่น เป็นการบันทึกภาพบุคคล เหตุการณ์สถานที่ในยุคนั้น ผ่านมุมมองของผู้ถ่ายภาพ สะท้อนให้เห็นถึงวิวัฒนาการด้านต่าง ๆ ทั้งการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตความเป็นอยู่ บุคคล สถานที่ และเหตุการณ์สำคัญในอดีต โดยแบ่งออกเป็น ๘ หัวเรื่อง ดังนี้ 

๑. มองเมืองไทยผ่านฟิล์มกระจกมรดกความทรงจำ นำเสนอการถ่ายภาพตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา 
๒. สัญลักษณ์ยืนยงดำรงไทย นำเสนอภาพที่เกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์ของชาติไทย ได้แก่ ช้างไทยและศาลาไทย 
๓. เลิศล้ำอำไพพระราชพิธี นำเสนอภาพที่เกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพิธีโสกัณต์ พระราชพิธีเปิดพระบรมรูปทรงม้า พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 
๔. พัฒนวิถีสู่ความศิวิไลซ์ นำเสนอภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของวิวัฒนาการความเจริญก้าวหน้าและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ถูกนำเข้ามาใช้ในบ้านเมือง 
๕. ศิลปวัฒนธรรมงดงามประเพณี อาทิ ภาพเกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ที่พักอาศัย การเดินทาง การประกอบอาชีพ การค้าขาย การแต่งกายของบุรุษและสตรีไทย การแสดงนาฏศิลป์ 
๖. สถลวิถีอาคารตระการตา นำเสนอภาพเกี่ยวกับโบราณสถาน วัด อาคารสถานที่ สถาปัตยกรรมต่างๆ ที่สร้างขึ้นในช่วงสมัยนั้น   
๗. ลือชาบุคคลในประวัติศาสตร์ นำเสนอภาพบุคคลสำคัญที่มีบทบาทต่อสังคมสมัยรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๕  
๘. พระบรมนาถเจริญทางพระราชไมตรี นำเสนอภาพการเสด็จประพาสต่างประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับนานาประเทศได้เป็นอย่างดี



พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฉายพระรูปร่วมกับคณะผู้ติดตาม เมื่อครั้งเสด็จประพาสสิงคโปร์ พุทธศักราช ๒๔๖๗



พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เมื่อครั้งเสด็จประพาสรัฐสลังงอร์ พุทธศักราช ๒๔๖๗



พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และคณะ เสด็จประพาสแหลมมลายู เมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๗

แถวหน้า (จากซ้ายไปขวา)
๑. คุณทองคำ เนตรสิงห์
๒. คุณจารุมณี พนมวัน ณ อยุธยา
๓. พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
๔. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
๕. เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ)
๖. คุณเกตุมณี วิมุกตะกุล

แถวหลัง (จากซ้ายไปขวา)
๑. พระยาอนิรุทเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ)
๒. คุณหญิงอรุณวดี จารุดุล
๓. คุณหญิงอนินทิตา วายุบุตร์



ประชาชนรอรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกลับจากยุโรป 
เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๐ ณ บริเวณปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ



คณะข้าราชการและทหารอรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 
เสด็จพระราชดำเนินกลับจากยุโรป เมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๐ ณ พลับพลาท่าราชวรดิฐ



การรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกลับจากยุโรป 
ณ ตึกศุลกสถาน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๕๐



พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวทรงฉายพระรูปกับเจ้าชายวัลดิมาร์ แห่งเดนมาร์ก และพระราชชายาที่วังเบอร์นสตอร์ฟ (Burnstorft)
กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์กครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเจ้าชายวัลดิมาร์ เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๕๐



พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินขึ้นจากเรือพระที่นั่งที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน โดยมีพระเจ้าออสคาร์ที่ ๒
แห่งสวีเดนและนอร์เวย์ และพระราชโอรส รับเสด็จ เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๕๐



พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยม เจ้าชายบิสมาร์ค ณ คฤหาสน์ ตำบลเฟรดรีชสรูห์ (Friedrichsruh)
เมืองแฮมเบิร์ก ประเทศเยอรมันนี เมื่อวันที่ ๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๕๐



 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉายพระรูปร่วมกับพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ ที่พระราชวังปีเตอร์ฮอฟ นอกนครเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก
เมื่อเดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๕๐ ในคราวเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ ๑



พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสสวนสาธารณะบัวร์ เดอ บูลอญ (ฺBois de Bouloque) 
กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๕๐



พระยาประดิพัทธภูบาล (คอยู่เหล ณ ระนอง) ขณะเป็นพระยายืนชิงช้าในพระราช พิธีตรียัมปวาย พุทธศักราช ๒๔๗๕ เป็นพระยายืนชิงช้าคนสุดท้าย
ของกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยรัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกพระราชพิธีนี้ เพราะบ้านเมืองประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ







คนัง กิราดกะ ได้รับการชุบเลี้ยงจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้อยู่ในพระบรมมหาราชวังเพื่อถวายตัวเป็นมหาดเล็ก 
และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฎ ปิยมหาราชปดิวรัดาทรงรับเลี้ยง 
เป็นแรงบันดาลใจให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่อง เงาะป่า โดยให้ "คนัง" เป็นตัวเอกของเรื่อง



เด็กหญิงอุ้มลูกขนุน 
ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว



ข้าหลวงในพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฎ ปิยมหาราชปดิวรัดา



พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภา (ซ้าย)
พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ (ขวา)
พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาอ่อน



สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี
พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฎ ปิยมหาราชปดิวรัดา
ประสูติเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๒๙ สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๘ 
ภาพนี้ทรงฉายไว้ก่อนที่จะทรงประกอบพระราชพิธีโสกันต์ ในพุทธศักราช ๒๔๔๑ 



สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาวดี กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร
พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี
ประสูติเมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๒๐ สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๖๕ สิริพระชันษาได้ ๔๖ ปี



พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (จากซ้ายไปขวา)

๑. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าคุณจอมมารดาสำลี
๒. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากาญจนากร พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าจอมมารดาสังวาลย์
๓. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาวดี กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี
๔. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล กรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา
๕. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าจอมมารดาเที่ยง
๖. สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าคุณจอมมารดาสำลี เป็นพระมเหสีชั้นลูกหลวงตำแหน่งพระราชเทวีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว



พระโอรสธิดาในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลเดชวิกรมพระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

(ซ้าย) พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ขณะดำรงพระราชอิสริยยศเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล
(กลาง) สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครรินทร์ ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา
(ขวา) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช 
ทรงฉายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว



สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี ทรงเป็นพระมเหสีของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว



จุฬาลงกรโณ ภิกขุ 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๑๖ ณ พระพุทธรัตนสถาน ในพระบรมมหาราชวัง
จากนั้น เสด็จออกไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร มีพระราชฉายา จุฬาลงกรโณ ภิกขุ ทรงลาพระผนวช เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๑๖ แล้วทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกเป็นครั้งที่ ๒ 



พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์อย่างตะวันตก สันนิษฐานว่าฉายไว้ในช่วงต้นรัชกาล



พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉายเมื่อคราวพระราชทานธรรมเทศนาให้ข้าราชการสำนักฝ่ายในฟังในวันวิสาขบูชา
ทรงเครื่องทรงศีล ภูษาโจงสีแดง มีผ้าขาวทับทรงสะพัก ทรงฉายเมื่อพุทธศักราช ๒๔๑๐



นายเซซาเร แฟร์โร และพระสรลักษ์ลิขิต (มุ่ย จันทรลักษณ์) วาดพระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่หน้าพระที่นั่งอภิเษกดุสิต ในพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๔๙ โดยมีพระสรลักษณ์ลิขิต (มุ่ย จันทรลักษณ์) ตั้งกรอบผ้าใบวาดอยู่ด้านหลัง มีพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้า และข้าราชบริพารเฝ้าสังเกตการณ์ที่บันได



พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
(จากซ้ายไปขวา)

๑. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสรยยศ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ
๒. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
๓. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ขณะดำรงพระอิสรยยศ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ
๔. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ขณะดำรงพระอิสริยยศ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร



พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศวรวรฤทธิ์กับพระธิดา หม่อมเจ้าผจงจิตร์ กฤดากร



พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระชัยนาทนเรนทร

พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าจอมมารดา หม่อมราชวงศ์เนื่อง สกุลเดิม สนิทวงศ์ เป็นต้นราชสกุล รังสิต

ภาพนี้ฉายเมื่อต้นรัชกาลที่ ๖ ทรงฉลองพระองค์เยียรบับเต็มยศราชตระกูล ประดับด้วยเหรียญตราที่ระลึกต่าง ๆ
และทรงสายสังวาลเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าทับด้วยฉลองพระองค์ครุยพระราชวงศ์



สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง



สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า



เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ (เจ้าคุณจอมมารดาแพในรัชกาลที่ ๕)



พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ
(จากซ้ายไปขวา)

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก









พระราชโอรส ธิดา ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าจอมมารดาบัว
(จากซ้ายไปขวา)
พระองค์เจ้าศรีสิทธิธงไชย พระองค์เจ้าอรไทยเทพกัญญา พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์
ถ่ายโดยหลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร จิตราคนี)



พระองค์เจ้าชายยอดยิ่งยศ บวรราโชรสรัตนราชกุมาร กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ

พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าคุณจอมมารดาเอม

ได้รับพระราชทานอุปราชาภิเษกเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และทิวงคตในรัชกาลที่ ๕ พระชันษา ๔๘ ปี



พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดา พระนามเดิม พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดา
พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัวกับเจ้าจอมมารดาแพ



สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) พุทธศักราช ๒๓๕๑ - ๒๔๒๕

เป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ของสยามในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เริ่มรับราชการเป็นมหาดเล็กในสมัยรัชกาลที่ ๒

และได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งนับเป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งสมเด็จเจ้าพระยาคนสุดท้าย

และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองสิริราชสมบัติ

และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตั้งแต่ พุทธศักราช ๒๔๑๑ - ๒๔๑๖

ภาพนี้เป็นภาพถ่ายต้นฉบับ มีฉากหลังเป็นผ้าและโครงไม้ ถ่ายโดยหลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร จิตราคนี)



สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม

นามเดิม โต บรรพชาเป็นสามเณรในรัชกาลที่ ๑ ศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่ ณ สำนักวัดระฆังโฆสิตาราม เป็นสามเณรที่เทศน์ได้ไพเราะ

ครั้นอายุครบบวช รัชกาลที่ ๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อุปสมบทเป็นนาคหลวง ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ท่านมีความรู้แตกฉานในพระธรรมยิ่งนัก

รัชกาลที่ ๔ ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะที่พระธรรมกิติ เมื่อพุทธศักราช ๒๓๙๕ ต่อมาเป็นพระเทพกระวี และได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระพุฒาจารย์

เมื่อพุทธศักราช ๒๔๐๗ มรณภาพเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๑๕ สิริอายุ ๘๕ ปี พรรษา ๖๕



พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปราโมช กรมขุนจักรธรานุภาพ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยกับเจ้าจอมมารดาอัมพา ราชสกุล ปราโมช

ภาพนี้เป็นภาพฟิล์มกระจกที่ถ่ายสำเนาจากภาพต้นฉบับซึ่งเป็นภาพถ่ายบนแผ่นเงินที่เรียกว่า ดาแกโรไทพ์ (Daguerreotype)
โดยภาพต้นฉบับอาจถ่ายขึ้นตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๓

---- > ต่อตอนหน้าค่ะ < ----



Create Date : 21 กรกฎาคม 2561
Last Update : 21 กรกฎาคม 2561 21:31:17 น. 0 comments
Counter : 9591 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณฟ้าใสวันใหม่, คุณTui Laksi, คุณhaiku, คุณบาบิบูเบะ...แปลงกายเป็นบูริน, คุณtoor36, คุณKavanich96, คุณกะว่าก๋า, คุณmambymam, คุณสาวไกด์ใจซื่อ, คุณข้ามขอบฟ้า, คุณtuk-tuk@korat, คุณSweet_pills, คุณRinsa Yoyolive, คุณschnuggy, คุณไวน์กับสายน้ำ, คุณเริงฤดีนะ, คุณหอมกร, คุณmcayenne94, คุณที่เห็นและเป็นมา, คุณkatoy, คุณยังไงก็ได้ว่ามาเลย, คุณkae+aoe, คุณชมพร, คุณALDI, คุณMax Bulliboo, คุณRananrin


สายหมอกและก้อนเมฆ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 165 คน [?]




เป็นคุณแม่ของ 1 ลูกสาว และ 1 ลูกชายค่ะ

เป็นแม่บ้านฟูลทาม อาชีพ ขสมก.
(แปลว่า...ขอสามีกิน อ่านเจอที่ไหนไม่รู้ ชอบค่ะ เลยยืมมาใช้หน่อย)

เมื่อไหร่ที่พอจะจัดสรรเวลาได้...
จะไปเที่ยวด้วยกันทั้งครอบครัวเสมอค่ะ...

โลกนี้แสนกว้างใหญ่ มีอะไรให้เราเรียนรู้อีกมากมาย พบเจออะไรดี ๆ ที่พอจะมีประโยชน์กับคนอื่นบ้าง ไม่มากก็น้อย เลยเอามาแบ่งปันกัน

ลิขสิทธิ์...เป็นของบุคคลที่อยู่ในภาพ
ขอบคุณค่ะ

Friends' blogs
[Add สายหมอกและก้อนเมฆ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.