" เรื่องราวต่างๆเป็นดั่งทองคำในเทพนิยาย เมื่อคุณแจกจ่ายไปมากขึ้น คุณก็ได้รับกลับมามากขึ้น " พอลลี แมคไกวร์
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2554
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
16 มีนาคม 2554
 
All Blogs
 
038. ความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ Corporate Social Responsibility : CSR

ความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ Corporate Social Responsibility : CSR


ปัจจุบันกระแสการเรียกร้องของประชาชนให้องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมได้มีมากขึ้นตามลำดับ เนื่องจากที่ผ่านมาทุกองค์กรมุ่งเน้นแต่เพียงผลผลิต (Output) และการสร้างผลกำไร (Profit) จนทำให้ละเลยและมองข้ามเรื่องสิ่งแวดล้อมชุมชน ผู้บริโภค และสวัสดิการของพนักงาน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญต่อการนำพาธุรกิจสู่ความยั่งยืนในอนาคต โดยเฉพาะในภาคการผลิตที่มีส่วนทำให้สังคมได้รับผลกระทบจากการดำเนินกิจกรรมการผลิตมากที่สุด

ดังนั้นความตื่นตัวในกระแสการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR)

ของภาคอุตสาหกรรมจึงมีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กหรือใหญ่ เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการทำ CSR กันมากขึ้น แต่ด้วยความที่เป็นเรื่องใหม่ ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางและกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดเล็กมีการรับรู้ในเรื่องนี้ค่อนข้างน้อย เห็นได้จากการขานรับกระแสความรับผิดชอบต่อสังคมโดย “การให้” ผ่านรูปแบบของกิจกรรมหรือโครงการต่างๆในกลุ่มดังกล่าวมีน้อยมากเมื่อเทียบกับกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ตัวอย่างเช่น บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเครือซิเมนต์ไทย ซึ่งเป็นบริษัทแรกๆ ในประเทศไทยที่มีการทำกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างจริงจัง อาทิ ด้านการศึกษา ได้มีการจัดค่ายวิทยาศาสตร์เยาวชนช้างเผือกซิเมนต์ไทย Young Thai Artist Award รวมถึงการมอบทุนสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ด้านกีฬา จัดการแข่งขันแบดมินตันเครือซิเมนต์ไทยชิงชนะเลิศเยาวชนแห่งประเทศไทย และจัดแข่งขันวอลเลย์บอลเครือซิเมนต์ไทย

ชิงชนะเลิศยุวชนแห่งประเทศไทย เป็นต้น สำหรับด้านสิ่งแวดล้อม ได้มีโครงการ Do It Clean เพื่อสร้างจิตสำนึกในการคัดแยกขยะ นอกจากนี้ในส่วนของบุคลากร เครือซิเมนต์ไทยได้มีการจัดอบรมพนักงานให้มีความรู้ความสามารถอยู่สม่ำเสมอ



สำหรับบริษัท บางจาก ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ชัดเจนมากในด้านการช่วยเหลือชุมชน โดยใช้ร้านมินิมาร์ทในปั๊มบางจากเป็นสถานที่แสดงสินค้าชุมชน และยังจัดกิจกรรมประกวด “ผลิตภัณฑ์ชุมชนจากภูมิปัญญาไทย” นอกจากนี้ยังมีโครงการ “ปันเงินเดือน” จากพนักงานมาเป็นกองทุนในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม ซึ่งจะนำมาสบทบกับเงินหนึ่งสตางค์ ที่ได้จากการเติมน้ำมันทุกๆ หนึ่งลิตร(ซึ่งเป็นส่วนของผลกำไรของบริษัท ไม่ได้ไปเพิ่มในราคาน้ำมัน) จะปันเข้าสู่กองทุน เพื่อนำไปทำกิจกรรมเพื่อสังคมต่อไป ซึ่งการปัน “เศษ” เงินจากพนักงานและผลกำไรของบริษัท เป็นแนวคิดที่น่าสนใจมากในการทำ CSR ในระดับการบริจาค (Philanthrophy) เพราะได้ให้ความรู้สึกที่ดีต่อลูกค้า พนักงาน และชุมชนที่ได้รับการช่วยเหลือในรูปของกิจกรรม หรือทุนสนับสนุนต่างๆ



ประโยชน์ที่ได้จากการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม

การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมผ่านกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่ได้โดยอย่างแรกที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ ภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรในด้านสังคม กระแสการต่อต้านจากคนในพื้นที่ลดน้อยลง พนักงานได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคี รวมถึงผลกำไรที่เพิ่มขึ้นจากผู้บริโภคที่หันมาเลือกซื้อสินค้ากับองค์กรที่ให้ความสำคัญกับ CSR มากกว่าคู่แข่งที่ไม่ได้ทำ CSR ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยที่พบว่า ผู้บริโภคชาวไทยร้อยละ 90 ยินดีซื้อสินค้า หากสินค้าเหล่านั้นมีส่วนในการรับผิดชอบต่อสังคม

นอกจากนี้ประโยชน์ที่ได้จากการทำ CSR จะเห็นเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้กับอุตสาหกรรมที่ทำการติดต่อค้าขายกับประเทศในกลุ่ม อียู และกลุ่มประเทศ OECD ที่ได้ทำข้อตกลงด้าน CSR เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเสนอให้ประเทศในกลุ่มทำการติดต่อค้าขายกับประเทศคู่ค้าที่ทำ CSR เช่นเดียวกัน ดังนั้นถ้าภาคอุตสาหกรรมใดยังไม่มีมาตรฐานหรือการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับ CSR คาดว่าในอนาคตอาจจะประสบปัญหาลำบากได้ เนื่องจากประเด็นดังกล่าวอาจกลายมาเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศเหล่านี้ก็เป็นได้



มาตรฐานการแสดงความรับผิดชอบของโรงงานอุตสาหกรรมต่อสังคม

สำหรับขอบเขตการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น ยังไม่ได้มีการกำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติอย่างเป็นทางการที่ชัดเจน ดังนั้นแต่ละอุตสาหกรรมจึงมีแนวทางในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมที่แตกต่างกันออกไป ด้วยเหตุนี้ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงได้จัดทำมาตรฐานความรับผิดชอบของโรงงานอุตสาหกรรมต่อสังคม (Corporate Social Responsibility, Department of Industrial Works : CSR-DIW) เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกกลุ่มอุตสาหกรรมนำไปปฏิบัติและพัฒนาตนเองให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ISO 26000 ที่คาดว่าจะประกาศใช้ภายในปี พ.ศ. 2553 โดยมาตรฐานความรับผิดชอบของโรงงานอุตสาหกรรมต่อสังคม (CSR-DIW) มีหลักการอยู่ 10 ประการ คือ

1. การปฏิบัติตามกฎหมาย ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควรตั้งใจที่จะปฏิบัติตามกฎหมายทั้งในเชิงรุกและเชิงรับอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ครอบคลุมถึงการรับผิดชอบต่อการกระทำที่เป็นเรื่องส่วนตัวของสมาชิกของโรงงานอุตสาหกรรม

2. การเคารพต่อแนวปฏิบัติสากล ผู้ประกอบอุตสาหกรรมควรที่จะยอมปฏิบัติตามสนธิสัญญาสากลคำสั่ง คำประกาศ อนุสัญญา มติ และข้อแนะนำ ที่ได้รับการรับรองจากองค์กรระดับประเทศที่เกี่ยวข้องกับโรงงานอุตสาหกรรมนั้นๆ

3. การยอมรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควรยอมรับว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอาจมีส่วนได้ส่วนเสียในการดำเนินการผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์พลอยได้ของกิจกรรมของตน โดยควรหารือและเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับกิจกรรมของโรงงานอุตสาหกรรม และให้ได้รับทราบถึงนโยบายข้อเสนอ และการตัดสินใจที่มีผลกระทบต่อข้อมูลต่างๆ เช่น นโยบาย ข้อเสนอ และการตัดสินใจที่มีผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงการชี้บ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียการกำหนดวิธีการที่เหมาะสมในการสื่อสาร และการพิจารณาความเห็นที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้มีส่วนเสีย

4. ความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ควรแสดงและอธิบายให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ทราบอย่างชัดเจนและสมเหตุสมผลถึงหน้าที่ นโยบาย การตัดสินใจและการกระทำที่โรงงานอุตสาหกรรมรับผิดชอบและผลกระทบที่มีหรืออาจมีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โรงงานอุตสาหกรรมควรแสดงถึงวัตถุประสงค์และความก้าวหน้า ความสำเร็จและความล้มเหลว และอุปสรรคและโอกาสของโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งควรมีการรายงานอย่างสม่ำเสมอด้วยความระมัดระวัง โดยคำนึงถึงในแง่การค้าหรือความปลอดภัยอื่นๆ



5. ความโปร่งใส ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควรมีความตั้งใจในการเปิดเผยโครงสร้างภายใน นโยบาย

กฎระเบียบ วิธีป้องกันความรับผิดชอบ กระบวนการตัดสินใจ และข้อมูลอื่นๆ ผ่านช่องทางการสื่อสารที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที

6. การพัฒนาอย่างยั่งยืน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควรมีความพยายามอย่างต่อเนื่องใน “การบรรลุความต้องการในปัจจุบันโดยไม่ทำให้ความต้องการของคนรุ่นอนาคตเสียไป” การพัฒนาอย่างยั่งยืนอาจพิจารณาได้หลายมิติ ทั้งด้านสังคม (รวมถึงด้านวัฒนธรรม) สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ซึ่งควรเป็นไปอย่างต่อเนื่องและค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่เป้าหมาย ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง โดยคำนึงถึงสวัสดิภาพของสังคมโลกทั้งในปัจจุบันและอนาคต และเพื่อการจัดการความอุดมสมบูรณ์และทรัพยากรธรรมชาติ

7. การปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควรมีการบริหารจัดการและดำเนินการกิจกรรมของตนในลักษณะที่มีศีลธรรมจรรยาและน่าชื่นชมยกย่อง ซึ่งประกอบด้วยความจริงใจ ความซื่อสัตย์และความซื่อตรง ตัวอย่างของการปฏิบัติที่ไม่มีจริยธรรม เช่น คอร์รัปชัน ความไม่ซื่อสัตย์ การบิดเบือน การข่มขู่ การเลือกปฏิบัติ และการเล่นพรรคเล่นพวก

8. หลักการป้องกันล่วงหน้า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ควรทำการคาดการณ์ล่วงหน้าอย่างรอบคอบในการกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายและรักษาผลประโยชน์ของตน ในกรณีที่มีความเสี่ยงการป้องกันล่วงหน้าสำคัญอย่างยิ่งในกรณีที่มีความเสี่ยงหรือความเสียหายร้ายแรงที่ไม่สามารถแก้ไขได้ต่อสุขภาพและทรัพย์สินของมนุษย์ หรือต่อสิ่งแวดล้อม การป้องกันล่วงหน้าควรพิจารณาผลลัพธ์ของการดำเนินการในเชิงวิทยาศาสตร์ ซึ่งควรมีข้อมูลและองค์ความรู้ครบถ้วนมารองรับก่อนตัดสินใจดำเนินกิจกรรมใดๆ เครื่องมือสำคัญสำหรับการใช้หลักการนี้ คือ การประเมินความเสี่ยง และการทบทวนอย่างรอบคอบ

9. หลักการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควรดำเนินนโยบายและกิจกรรมที่สอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและประกาศจากองค์กรระดับสากล

10. หลักการเคารพต่อความหลากหลาย ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควรจ้างงานโดยไม่เลือกปฏิบัติในเรื่องเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา อายุ เพศ หรือความคิดเห็นทางการเมือง

จะเห็นได้ว่าบทบาทของความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ (Corporate Social Responsibility : CSR) ได้มีความสำคัญยิ่งในการเป็นกลไก และเครื่องมือในการสร้างคุณค่าให้แก่องค์กร และเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินธุรกิจตลอดจนเป็นการลดช่องว่างระหว่างผู้ผลิตกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน เนื่องจากความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจไม่ใช่เพียงการบริจาคเป็นครั้งคราว หรือเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ แต่เป็นการสร้างคุณค่าต่อสังคมรวมถึงการพัฒนาธุรกิจให้ยั่งยืน

Source://www.greennetworkthailand.com/system/?p=94

-----------------------------------------------------------------------------


Create Date : 16 มีนาคม 2554
Last Update : 16 มีนาคม 2554 21:42:34 น. 0 comments
Counter : 1083 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

moonfleet
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ไม่มีสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาได้ หากไม่เคยเป็นความฝันมาก่อน
New Comments
Friends' blogs
[Add moonfleet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.