" เรื่องราวต่างๆเป็นดั่งทองคำในเทพนิยาย เมื่อคุณแจกจ่ายไปมากขึ้น คุณก็ได้รับกลับมามากขึ้น " พอลลี แมคไกวร์
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2552
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
 
26 กุมภาพันธ์ 2552
 
All Blogs
 

161. เปิดแฟ้มย้อนรอย : เส้นทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตร (1)

เปิดแฟ้มย้อนรอย : เส้นทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตร (1)


บทวิเคราะห์ชิ้นนี้เขียนขึ้นโดยกองบรรณาธิการนิตยสาร ‘อาทิตย์’ นิตยสารวิเคราะห์ข่าวการเมืองอันโด่งดัง ที่มีชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ เป็นบรรณาธิการ เมื่อ 11 ปีก่อน เป็นเรื่องจากปกที่วิเคราะห์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในจังหวะแรกที่เขาก้าวเท้าเข้ามาสู่วงการเมือง ในวันนั้นไม่มีใครคิดว่า เขาจะใช้เวลาไต่บันไดไปเป็นนายกฯ ได้ในช่วงเวลาเพียง 6 ปีต่อมา

ความน่าสนใจของบทวิเคราะห์ชิ้นนี้อยู่ที่ มันได้ตอบและยืนยันความจริงวันนี้ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็น ไม่ว่าจะเป็นการซุกหุ้น สไตล์การบริหาร การเล่นกับรัฐธรรมนูญ

เรื่องราวเหล่านี้หลายคนอาจจะลืมเลือนไปแล้ว ‘ประชาไท’ จึงอยากพาผู้อ่านย้อนอดีตไปรู้จักกับ ทักษิณ ชินวัตร ผ่านบทความชิ้นนี้ แต่ด้วยความยาว จึงได้แบ่งการนำเสนอออกเป็นตอนๆ ทั้งหมด 4 ตอน 1.สายสัมพันธ์กับนายกรัฐมนตรีก่อนที่จะถึงพรรคพลังธรรม 2.การตีราคาทักษิณตามสายตาของพลตรีจำลอง 3. พิสูจน์แล้ว...ว่า ‘แรด’ ยังวิ่งหนี และ ตอนที่ 4.เส้นทางการเมืองทักษิณ ‘เทวดาห้าห่วง’ เป็นตอนจบ โปรดติดตาม

คิดเสียว่า นี่คือการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ราวกับฟังม็อบพันธมิตรฯ ไฮด์ปาร์ค หน้าเวที


เส้นทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตร

จากนิตยสาร ‘อาทิตย์’ ฉบับที่ 919 วันที่ 20 -26 มกราคม 2538

ตอนที่ 1

สายสัมพันธ์กับนายกรัฐมนตรีก่อนที่จะถึงพรรคพลังธรรม


ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก นางสาวไทยและนางงามจักรวาล เคยเปรียบเทียบวันแห่งความรุ่งโรจน์ของเธอทันทีที่ได้สวมมงกุฎนางงามจักรวาลว่า ปานประดุจเธอกลายสภาพเป็น ‘ซินเดอเรลลลา’ โดยทันที ตื่นขึ้นมาก็พบว่าตัวเองกลายเป็นนางฟ้าจนแทบแยกแยะไม่ออกว่ามันเป็นความฝันหรือความจริง...

สำหรับพันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร นั้น วิถีชีวิตของเขาคงวิลิศมาหลาถึงขั้นนั้น แต่ใครจะไปคิดบ้างว่า นายตำรวจติดตามที่คอยพูดจาสนิทสนมกับนักการเมืองในบริเวณหน้าห้องทำงานของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดร.ปรีดา พัฒนถาบุตร จะใช้เวลาเพียง 4 ปีเท่านั้นพลิกวิถีชีวิตของเขา จากคนที่นักการเมืองหรือใครต่อใครไม่ให้ค่ามากนัก กลายมาเป็นนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จ ผู้ซึ่งพรรคการเมืองอย่างความหวังใหม่เคยมีการเรียกร้องเสนอชื่อบุคคลผู้นี้เป็นรองนายกรัฐมนตรีในโควตาพรรคความหวังใหม่ทั้งที่เขาไม่ได้เป็น ส.ส. เช่นเดียวกับพรรคพลังธรรม ได้แสดงความดีใจอย่างสุดขีดปานประดุจดอกฟ้าโน้มกิ่งมาสู่บรรดากระต่ายที่กระโดดโลดเต้นอยู่บนพื้นดิน เมื่อ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ตัดสินใจรับข้อเสนอของพรรค ที่จะเข้าเป็นรัฐมนตรีการต่างประเทศในโควตาของพรรคพลังธรรม


ระยะเวลา 4 ปีนั้นเร็วเหลือเกิน หากมาเปรียบเทียบกับรายได้ที่เขาประกาศอย่างเป็นทางการเอาไว้ถึงทรัพย์สินของเขาก่อนเข้าเป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศว่า มีจำนาน 60,000 ล้านบาท ยังไม่นับรวมของภรรยาและยังไม่สืบสาวไปถึงจำนวนหุ้นที่แตกกระจายอยู่ในรูปการลงทุนอีกหลายบริษัท ระยะเวลา 4 ปีที่พลิกผันให้เขามีเงินเกือบแสนล้านบาทนั้น มันทำให้วิถีชีวิตของเขายิ่งกว่าซินเดอเรลลลา ปานประดุจเป็น ‘เทวดา’ หรือ ‘โอปปาติกะ’ ที่สามารถเติบโตได้แบบเกิดปุ๊บโตปั๊บ...เขาไม่ต้องใช้เวลาดิ้นรนต่อสู้ในสนามเลือกตั้ง ไม่ต้องใช้พรรษาทางการเมืองสนับสนุนความเป็นนายกรัฐมนตรี ก้าวแรกที่เขาเหยียบย่างเข้าสู่การเมืองอย่างเปิดเผย ก้าวที่มาในฐานะของรัฐมนตรีการต่างประเทศ หรือ ’ในฐานะตัวแทนของประเทศไทย’ เวทีสากล วิถีชีวิตของเขาจึงไม่ผิดอะไรกับเทวดา และก่อนหน้าหรือหลังจากการเข้ามาเป็นรัฐมนตรีการต่างประเทศ แม้นว่าจะต้องเผชิญมรสุมและการกล่าวหาหนักหน่วงเพียงไรก็ตามที และแม้นกระทั่งปัญหาคุณสมบัติของเขาจนบัดนี้...แต่ทักษิณ ชินวัตร แกร่งจริงๆ อดทน และยืนทะนงเผชิญหน้ากับมรสุมที่พัดสาดซัดเข้าใส่

ถ้าหากเปรียบเทียบกับวัสดุใดๆ แล้ว เขาไม่ใช่ใบไม้ที่จะหลุดปลิวตามลมทันทีที่เกิดมรสุมฟ้าคะนองสาดซัด เขาไม่ใช่สังกะสีที่ผุกร่อนไปตามกาลเวลาโดยรวดเร็ว แต่ความแข็งแกร่ง ความแน่นหนาของเขาไม่ต่างอะไรกับกระเบื้องชั้นดี ตกลงมาจากฟ้าก็ยังไม่แตก ด้วยเหตุนี้วิถีการเมืองที่อุบัติขึ้นปั๊บเติบโตทันทีปานประดุจเทวดา บวกกับความแข็งแกร่งและความแน่นหนา...ไม่ถือเป็นการยกย่องเกินไปนัก ถ้าหากใครตั้งสมญาให้กับเขาว่า ‘เทวดาห้าห่วง’


สายสัมพันธ์กับนายกรัฐมนตรีก่อนที่จะถึงพรรคพลังธรรม

ในฐานะนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในเวลาอันรวดเร็ว ชื่อของ ทักษิณ ชินวัตร ถูกดึงเข้ามามีส่วนพูดจากันในวงการเมืองของหลายต่อหลายพรรค บุคลิกลักษณะในความเป็นคนหนุ่มในภาคธุรกิจของเขานั้น ดูไม่แตกต่างมากนักจาก ไพโรจน์ เปี่ยมพงศ์สานต์ ที่ประสบความสำเร็จในทางธุรกิจ ไม่นานก็สนิทสนมกับนักการเมืองหลายต่อหลายราย ไม่ว่าเคยนั่งอยู่หน้าห้องรองนายกรัฐมนตรีณรงค์ วงศ์วรรณ มีฐานะเป็น ‘บอร์ดใหญ่’ อย่างไม่เป็นทางการในการจัดตั้งรัฐบาลสุจินดา คราประยูร หรือมีชื่ออยู่ในฐานะผู้สนับสนุนกลุ่ม 16 ผู้ก่อตั้งพรรคประชารัฐ...ฯลฯ


บุคคลทั้งสองเข้ามาใกล้กับวงการการเมืองในท่าทีที่ไม่ต่างกัน คือมีเพื่อนนักการเมืองมากมาย ตามลีลาที่นักธุรกิจเรียกไว้ว่า ‘การกระจายความเสี่ยง’ แต่สำหรับทักษิณ ชินวัตร นั้น ยังมีบุคลิกพิเศษที่ต่างไปจากไพโรจน์ เปี่ยมพงศ์สานต์ เนื่องจากธุรกิจของเขาไม่ใช่ธุรกิจที่ดินอย่างไพโรจน์ ทักษิณ เติบโตมาจาก ‘สัมปทานของรัฐ’ ไม่ว่าจากบริษัทชินวัตรไดเร็คทอรี ที่เข้าไปประมูลการจัดทำสมุดโทรศัพท์หน้าเหลืองติดต่อมาหลายต่อหลายปี และแม้กระทั่งในระยะอันใกล้นี้ บริษัทภายใต้การนำของเขาก็ใช้ความชาญฉลาดอย่างสูงทีเดียวในโอกาสที่จะได้มาซึ่งสัมปทานดังกล่าวต่อไป ทันทีที่บริษัทเทเลเพจเจส ซึ่งเต็มไปด้วยพนักงานของชินวัตรไม่สามารถผ่านเงื่อนไขทำการผลิตสมุดโทรศัพท์ได้ตามสัญญากับรัฐหรือองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย



ทักษิณ ชินวัตร ยังถูกยกย่องว่าเป็นนักธุรกิจไทยรายแรกที่นำเสนอโครงการใหญ่เข้าสู่การพิจารณาของรัฐ นั่นก็คือ ‘โครงการดาวเทียม’ ในยุคเมื่อ 6-7 ปีที่แล้วยังเป็นคำที่ดูตลก และกลายเป็นคำพูดของนักฝัน เมื่อร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่คุมงานการสื่อสาร ได้แสดงความเห็นด้วยกับแนวคิดของทักษิณ สมญานามของร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง ก็ถูกตั้งขึ้นมาใหม่แทนที่จะใช้คำว่า ‘สารวัตรนินจา’ ก็กลายเป็น ‘เหลิมดาวเทียม’

แต่สมญาที่เคยตั้งกันขึ้นด้วยความขบขันครั้งนั้น...ใครจะคิดบ้างว่า มันจะกลายเป็นรากฐานอันสำคัญของบริษัทชินวัตร ภายใต้การนำของ ดร.ทักษิณ ผู้ได้รับสัมปทานจากรัฐในการยิงดาวเทียมดวงแรกเพื่อธุรกิจ ขอพระราชทานนามจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เรียกชื่อว่า ‘ดาวเทียมไทยคม’


เป็นที่รู้ๆ กันอยู่ว่า ทักษิณเกิดทางธุรกิจครั้งใหม่มาพร้อมๆ กับความสนิทสนมกับร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง และหลังจากนั้นชื่อเสียงของเขาก็กลายเป็นดาวบนท้องฟ้า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองยุค รสช. ที่พยายามห้ำหั่น ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง ไม่สามารถรุกเข้าหาธุรกิจของเขาได้มากนัก เขามีความคล่องแคล่วไม่เทอะทะอย่างเช่นบริษัทซีพี (เจริญโภคภัณฑ์) ที่กำลังตีปีกจากสัญญาโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมายที่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน อนุมัติให้ก่อนหน้าถูกรัฐประหาร

ความพยายามทวงหากำไรสูงสุดให้กับรัฐบาล โดยรัฐบาลของอานันท์ ปันยารชุน นั้น ทำให้บริษัทซีพีกับรัฐบาลอานันท์มีปัญหายุ่งยากต่อกันทีเดียว ในการแก้ไขสัญญาที่เห็นว่ารัฐเสียเปรียบ มาเหลือสัญญาใหม่คือซีพีถูกลดสัมปทานไปจาก 3 ล้านเลขหมายโทรศัพท์เหลือ 2 ล้านเลขหมายโทรศัพท์ ในขณะที่ชินวัตรที่ได้รับสัญญาณดาวเทียมว่องไวกว่าในการเข้าประกบกับ ‘อำนาจใหม่’ เขาเสนอลดสัมปทานของตัวเองจาก 30 ปี เหลือ 20 ปี เขาหลบรอดปากเหยี่ยวปากกามาได้ และดูเหมือนว่า จากจุดนี้นี่เอง เขาก็ได้ ‘เพื่อนใหม่’ ทางการเมืองตามนโยบายกระจายความเสี่ยง นั่นก็คือสายโยงใยที่ทอดไปหา ‘กลุ่มเพื่อนอานันท์’ ทั้งหลาย ไม่ว่า วิชิต สุรพงษ์ชัย, ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ,โอฬาร ชัยประวัติ,และอนันต์ อัศวโภคิน...


แต่สำหรับสายตานักธุรกิจมีระดับอย่างอานันท์ ปันยารชุน ทักษิณไม่ใช่พวก ‘บลัด-อีลีท’ หรือเลือดผู้ดี เขาเป็นเพียงเศรษฐีใหม่ที่ทะยานขึ้นมาในบรรยากาศที่ผู้มีสกุลเหล่านี้มองการเติบโตของธุรกิจในประเทศไทยว่าอยู่ในยุค ‘ผู้ดีเดินตรอก – ขี้ครอกเดินถนน’ ซีพีและกลุ่มธุรกิจที่ใกล้ชิดกับประเทศจีน ดูจะน่าอันตรายยิ่งกว่าถ้าเทียบกับทักษิณ ชินวัตร ผู้ยังมีดีกรีความเป็นด็อกเตอร์ เป็นนายตำรวจยศพันตำรวจโท มีภรรยาในตระกูลที่ดีพอ อย่างเช่นตระกูลดามาพงศ์ เชื้อสายก็ไม่เลวนักหากพิจารณาถึงความมีหน้าตาของตระกูลในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่


แต่ถึงกระนั้นความแนบแน่นทางการเมืองของทักษิณก็ไม่ได้มุ่งเป้าหมายที่กลมกลืนกับกลุ่ม ‘เพื่อนอานันท์’ หรือ ‘บลัด – อีลีท’ มากนัก ทักษิณคลุกคลีกับผู้แทนราษฎรมานาน นานพอที่เขาจะรู้สึกกลมกลืน และเข้าใจกับความดิ้นไปดิ้นมาอันเป็นสัญชาตญาณของนักการเมือง วิถีทางการเมืองของทักษิณค่อนข้างเอียงเข้าหา การเข้าสังกัดพรรคการเมือง...มากกว่าการมองไปว่า ‘การเมืองเป็นเรื่องสกปรก’ แบบอีลีท บลัด ทั้งหลาย


ในเขตภาคเหนือ ธรรณพ ธนะเรือง อดีตนักหนังสือพิมพ์รุ่นใหญ่ ผู้ใช้ความพยายามเอาชนะการเลือกตั้งที่จังหวัดเชียงรายบ้านเกิดมาหลายต่อหลายครั้งในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เข้ามามีส่วนเป็นกลไกอันหนึ่งในบริษัทชินวัตรในฐานะประชาสัมพันธ์ของบริษัท แต่คงไม่ใช่เพราะธรรณพเพียงคนเดียว ที่ทำให้สายสัมพันธ์ในวิถีทางการเมืองของทักษิณมุ่งเข้าหาคนชื่อชวน หลีกภัย... ดูเหมือนว่า ลีลานักการเมืองภาคใต้อย่างชวน จะสร้างความประทับใจให้กับทักษิณมาเป็นเวลานานพอสมควร แนวนโยบายที่ตึงตัวแบบพรรคพลังธรรม มีภาพพจน์ที่เลวน้อยกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ


การให้ความสนใจต่อพรรคประชาธิปัตย์และต่อชวน หลีกภัย นั้น มากถึงขั้นคนใกล้ชิดทักษิณระบุว่า เขาแสดงความกระตือรือร้นอย่างเต็มที่ในระหว่างที่พบปะกับชวน หลีกภัย ในฐานะผู้สนับสนุนการเลือกตั้งที่ผ่านมา ถึงกับมีคำถามอย่างซีเรียสต่อลูกแม่ถ้วน หลีกภัย ผู้นี้ว่า... “จะต้องใช้เงินเท่าไหร่ ถึงสามารถทำให้พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรแบบพรรคเดียว หรือ 181 เสียง” ตามประสบการณ์การเมืองของชวน หลีกภัยแล้วนั้น...ทำให้เขาได้แต่ยิ้มๆ ตามรายงานของคนใกล้ชิด แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ก็พอจะเป็นเครื่องยืนยันได้ถึงความเอาจริงเอาจัง และความปรารถนาดีที่ทักษิณมีต่อชวน หลีกภัย และพรรคประชาธิปัตย์...


นอกไปจากนี้...การที่ ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เปลี่ยนเก้าอี้จากกรรมการผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในโควตาพรรคประชาธิปัตย์นั้นยิ่งทำให้วิถีทางของทักษิณกับพรรคประชาธิปัตย์ยิ่งดูแนบแน่นมากขึ้นเรื่อยๆ หากทักษิณคิดจะก้าวสู่วงการเมืองโดยการเลือกตั้ง สนามที่เขาจะลงนั้นเชื่อว่าไม่พ้นจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งไม่ต่างอะไรจากธารินทร์ นิมมานเหมินท์ หรือ ‘อ้ายน้อย’ ของตระกูลนิมมานเหมินท์ ตระกูลคนชั้นสูงหลายสมัยหลายยุคในอาณาจักรล้านนา หากบุคคลทั้งสองจับมือเข้าหากันในนามพรรคประชาธิปัตย์...เขาทั้งคู่จะมีฐานะเป็นขุนพลภาคเหนือได้โดยไม่ยาก การเงินของทักษิณที่เหนือกว่าธารินทร์นั้น...ก็อาจทำให้ทักษิณอยู่ในฐานะ ‘ผู้นำ’ แบบเดียวกับชวน หลีกภัย บัญญัติ บรรทัดฐาน ที่เติบโตเคียงคู่กันมาได้ แต่แม้นว่า...โดยท่าทีที่แสดงออกถึงส่วนลึกในจิตใจของทักษิณนั้น จะมุ่งตรงสู่ค่ายประชาธิปัตย์...ในทางธุรกิจ การ ‘กระจายความเสี่ยง’ เป็นเรื่องสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่มี ‘สัมปทานกับรัฐ’ ทักษิณจึงมีชื่อกว้างไกลไปถึงพรรคการเมืองทุกพรรค ไม่ว่าความหวังใหม่ ชาติไทย ชาติพัฒนา กิจสังคม ฯลฯ นักการเมืองหลายรายที่มี ‘หุ้นราคาพาร์’ ของบริษัทชินวัตรอยู่ในมือ ไม่ต่างอะไรกับสื่อมวลชนดังๆ หลายรายที่ใช้โทรศัพท์มือถือยี่ห้อ ‘โนเกีย’ ที่บริษัทชินวัตรจำหน่าย ...แต่ไม่เคยมีใครคาดหวังเอาไว้เลยว่า...เมื่อทักษิณก้าวขาเข้ามาสู่วงการเมืองอย่างเป็นทางการ เขาจะก้าวเข้ามาในนามพรรคพลังธรรม ผู้ประกาศนโยบายทั้งต่อหน้าและลับหลังว่าจะยืนหยัดแนวคิด ‘บุญนิยม’ ต่อต้าน ‘ทุนนิยม’ มาโดยตลอด


………………………………………………..

(โปรดติดตามตอนที่ 2 : การตีราคาทักษิณตามสายตาของพลตรีจำลอง พรุ่งนี้)


Resource: //www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=2932&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai




 

Create Date : 26 กุมภาพันธ์ 2552
6 comments
Last Update : 26 กุมภาพันธ์ 2552 0:34:35 น.
Counter : 1475 Pageviews.

 

เปิดแฟ้มย้อนรอย : เส้นทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตร (2)

บทวิเคราะห์ชิ้นนี้เขียนขึ้นโดยกองบรรณาธิการนิตยสาร ‘อาทิตย์’ นิตยสารวิเคราะห์ข่าวการเมืองอันโด่งดัง ที่มีชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ เป็นบรรณาธิการ เมื่อ 11 ปีก่อน เป็นเรื่องจากปกที่วิเคราะห์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในจังหวะแรกที่เขาก้าวเท้าเข้ามาสู่วงการเมือง ในวันนั้นไม่มีใครคิดว่า เขาจะใช้เวลาไต่บันไดไปเป็นนายกฯ ได้ในช่วงเวลาเพียง 6 ปีต่อมา

ความน่าใจของบทวิเคราะห์ชิ้นนี้อยู่ที่ มันได้ตอบและยืนยันความจริงวันนี้ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็น ไม่ว่าจะเป็นการซุกหุ้น สไตล์การบริหาร การเล่นกับรัฐธรรมนูญ

เรื่องราวเหล่านี้หลายคนอาจจะลืมเลือนไปแล้ว ‘ประชาไท’ จึงอยากพาผู้อ่านย้อนอดีตไปรู้จักกับ ทักษิณ ชินวัตร ผ่านบทความชิ้นนี้ แต่ด้วยความยาว จึงได้แบ่งการนำเสนอออกเป็นตอนๆ ทั้งหมด 4 ตอน 1.สายสัมพันธ์กับนายกรัฐมนตรีก่อนที่จะถึงพรรคพลังธรรม 2.การตีราคาทักษิณตามสายตาของพลตรีจำลอง 3. พิสูจน์แล้ว...ว่า ‘แรด’ ยังวิ่งหนี และ ตอนที่ 4.เส้นทางการเมืองทักษิณ ‘เทวดาห้าห่วง’ เป็นตอนจบ โปรดติดตาม

คิดเสียว่า นี่คือการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ราวกับฟังม็อบพันธมิตรฯ ไฮด์ปาร์ค หน้าเวที

0000000000

เส้นทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตร

จากนิตยสาร ‘อาทิตย์’ ฉบับที่ 919 วันที่ 20 -26 มกราคม 2538

000

ตอนที่ 2

การตีราคาทักษิณตามสายตาของพลตรีจำลอง

ความเกี่ยวข้องระหว่างพลตรีจำลอง กับทักษิณ ชินวัตร ก่อนหน้านั้นไม่ค่อยชัดเจน ถึงแม้นว่าพวกเขาจะรู้จักมักจี่กันได้ไม่ยาก...แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือว่า...ในการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งแรกของชวน หลีกภัย ธุรกิจของบริษัทชินวัตรได้ประสบความยากลำบากพอสมควรในการค้าขายหรือร่วมลงทุนกับรัฐ นั่นก็คือเมื่อพันเอกวินัย สมพงศ์ อดีตเลขาธิการพรรคพลังธรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ใช้นโยบาย ‘แยกส่วนรับผิดชอบแล้วสั่งการ’ ในกระทรวงคมนาคม โอนงานด้านธุรกิจสื่อสารส่วนใหญ่ให้ตกอยู่ในมือของพินิจ จารุสมบัติ รองหัวหน้าพรรคเสรีธรรมในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

ตลอดเวลาที่พินิจนั่งในรัฐมนตรีช่วยคมนาคม ดูเหมือนว่าย่างก้าวหลายประการของบริษัทชินวัตรนั้นไม่ลื่นไหลเท่าที่ควรถ้าหากเทียบกับในระยะอื่นๆ โครงการใหญ่ๆ ทางด้านการสื่อสาร ไปรษณีย์ และ อสมท.ได้ก่อให้เกิดคู่แข่งหลายรายต่อบริษัทชินวัตร เช่น เมื่อคีรีกาญจนพาสน์ ขายไทยสกายทีวีให้กับบริษัทวัฏจักร ของ นิกร พรสาธิต ที่ปรึกษาของวัฏจักร รายหนึ่งได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาของพินิจ จารุสมบัติ อย่างเป็นทางการ เป็นต้น อสมท.ในระยะหลังได้ทำท่าจะอนุมัติเครือข่ายเคเบิลทีวีอีกหลายต่อหลายช่อง คาดกันไว้ว่าจะทำให้วงการทีวีในอนาคตมีไม่ต่ำกว่า 100 ช่องสถานี

ความขัดแย้งกันภายในพรรคพลังธรรม ที่พลตรีจำลอง ศรีเมือง กับซีกพันเอกวินัย ได้เริ่มขึ้น... และมันนำไปสู่การปรับคณะรัฐมนตรี 11 คนของพรรคพลังธรรม ในวันที่ 11 ตุลาคม 2537

โควตาที่ตกอยู่ในมือพลตรีจำลอง ศรีเมือง และจะต้องใช้มันให้คุ้มค่าเพื่ออนาคตของพรรค เพราะไม่อาจจะเอา ‘กุศล’ จากโควตาเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ต่อพันเอกวินัย สมพงษ์ นั้นคงจะนำเอา ‘กุศล’ ทั้งหลายติดตัวไปด้วยแน่...

การติดต่อระหว่างพลตรีจำลอง ศรีเมือง ทักษิณ ชินวัตร และวิชิต สุรพงษ์ชัย นั้นทำกันเงียบมาก...ในขณะที่สื่อมวลชนหลายรายกลับหันไปคาดการณ์ว่า ตำแหน่งรัฐมนตรีคมนาคมคนใหม่อาจจะเป็นพลตรีจำลองมานั่งเอง หรือไม่ก็เอา มานะ มหาสุวีระชัย หรือกระทั่งให้พันเอกวินัย สมพงษ์ ยึดเก้าอี้นี้ต่อไปหาก ‘ยอมเปลี่ยนข้าง’ หันมายืนกับสายวัด เก้าอี้รัฐมนตรีการต่างประเทศนั้น มองกันไปถึงศักยภาพของนายแพทย์กระแสร์ ชนะวงศ์ ประธานกรรมาธิการการต่างประเทศของพลังธรรม หรือไม่อาจถึงขั้นคิดว่า อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา อาจจะกลับมานั่งเก้าอี้นี้หากแปรธาตุหลุดออกมาจากความภักดีต่อนาวาอากาศตรี ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตรัฐมนตีคนเก่า...

บรรดาผู้สื่อข่าวที่ให้ความสนใจพรรคพลังธรรม ได้เริ่มมองเห็นสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาบ้างเล็กน้อย เมื่อพลตรีจำลอง ศรีเมือง ได้เอ่ยถึงคุณสมบัติรัฐมนตรี 2 กระทรวงหลักนี้ว่า จะหาคนประเภท ‘ดี-เด่น-ดัง’ เข้ามาเก้าอี้นี้แทน

แต่สำหรับในกลุ่ม ‘อีลีท’ ข่าวนี้เป็นที่รับรู้กันกระจ่างแจ้งในเบื้องลึก ตลอดเวลาที่พันเอกวินัย สมพงษ์ นั่งเก้าอี้โดยยกความรับผิดชอบด้านการสื่อสารให้กับพินิจมาก ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ค่อยชื่นชมเท่าใดนัก

พลตรีจำลอง ศรีเมือง เคยใกล้ชิดกับกลุ่มอีลีทมาก่อน ก็โดยสายของพันเอก วินัย สมพงษ์ ทางหนึ่ง และต่อมาก็ใช้สายของนาวาอากาศตรีประสงค์ สุ่นศิริ ควบคู่ไปกับอากร ฮุนตระกูล ผู้แยกจากพรรคไปอย่างน่าปวดร้าว พลตรีจำลองไม่มีเส้นสายใดๆ ที่ต่อสายกับกลุ่มคนเหล่านี้ กลุ่มคนที่พลตรีจำลองได้แสดงทัศนคติชื่นชมหลายต่อหลายครั้งไม่ว่าบทบาทของอานันท์ ปันยารชุน อากร ฮุนตระกูล อนันต์ อัศวโภคิน หรือโอฬาร ชัยประวัติ

ดูเหมือนว่าในสายตาของพลตรีจำลอง ศรีเมืองนั้น...คำว่า ‘คนดี’ ก็คือคนที่มี ‘ใบรับประกัน’ คือคนที่ประสบความสำเร็จไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และตลอดเวลาในยุคที่ ‘ภาพพจน์ของนักการเมือง’ ตกต่ำลงมาเรื่อยๆ คุณค่าของ ‘นักธุรกิจมืออาชีพ’ อย่างอานันท์ ปันยารชุน ที่ได้โชว์ฝีมือเอาไว้ในยุคเผด็จการและยุคไร้รัฐสภาคอยตรวจสอบนั้น ...ทำให้เขามีส่วนสร้างน้ำหนักให้ความดี ‘ความดี’ ประเภทดังกล่าว นั่นก็คือความดีที่ดูทันสมัย ดูมีเงินมีทอง ดูมีความคิดกว้างไกล...พูดง่ายๆ ก็คือ ‘พลังของนักธุรกิจรุ่นใหม่’นั่นเอง...

พลตรีจำลองนั้นให้คุณค่าสูงมากกับคนอย่างอากร ฮุนตระกูล หรืออานันท์ ปันยารชุน แม้นว่ารากฐานความคิดส่วนใหญ่ระหว่างเขากับนักธุรกิจเหล่านี้แทบจะ ‘เป็นไปแบบตรงกันข้าม’ พลตรีจำลองยึดแนว ‘บุญนิยม’ ในขณะที่คนเหล่านี้เชื่อมั่นใน ‘ทุนนิยม’ พลตรีจำลองประกาศแนวทางพัฒนาประเทศโดยพื้นฐานการเกษตรและสวิงไปถึงขั้น ‘เกษตรกรรมธรรมชาติ’ หรือ ‘เกษตรกรรมพึ่งตนเอง’ ที่มีเป้าหมายเพียงเพื่อรักษาสถานภาพของชาวนาชาวไร่ ไม่ใช่ ‘สินค้าเพื่อการส่งออกที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ’ ในขณะที่อานันท์ ปันยารชุนคิดเห็นคล้ายๆกับ ชวน หลีกภัย ในระยะหลังนั่นก็คือประเทศต้องเติบโตไปบนรากฐานอุตสาหกรรม ต้องพึ่งพารายได้จากสินค้าส่งออกและการลดจำนวนเกษตรกรลงไปเป็นความจำเป็น...

แต่ดูเหมือนว่า ... ‘ความเป็นทหาร’ นั่นเอง... ที่จะทำให้พลตรีจำลองไม่ถึงกับ ‘ยึดมั่น’ กับ ‘ความแตกต่างทางแนวนโยบาย’ ระหว่างกันและกันมากนัก พลตรีจำลองเองก็ไม่ได้แสดงแนวคิดหรือคำพูดใดๆ ที่ชี้ให้เห็นว่าเขา ‘เข้าใจ’ หรือ’ลึกซึ้ง’ กับปรัชญาการพัฒนาแบบ ‘พึ่งตนเอง’ แนวคิดและพฤติกรรมส่วนใหญ่ที่ดูสมถะ หรือความเป็นยูโธเปียทั้งหลายของเขาค่อนข้างจะหนักไปทางด้าน ‘พิธีกรรม’ มากกว่าเป็น’กระบวนการ’ บริษัท ‘เท่าทุน’ ของเขาไม่ได้แสดงรูปการอะไรที่ชัดเจนถึงขั้นที่จะเป็นเค้าโครงธุรกิจที่สามารถทำได้จริงในการปฏิบัติ แต่มันมีค่าในแง่ ‘การประชาสัมพันธ์’ ในทางการเมืองมากกว่า ยูโธเปียของสันติอโศกก็เช่นกัน...น้ำหนักในการปฏิบัติของบรรดาผู้ศรัทธาจะเติบโตแบบ ‘กระจุก’ ตัว กลายเป็นพวก ‘คอมมูน’ มากกว่าจะกลมกลืนไปกับสังคม รวมทั้งแนวทางปรัชญาของสันติอโศกเองก็ยังถูกจำกัดอยู่กับ ‘ศีลธรรมขั้นพื้นฐาน’ มากกว่าการตอบแนวคิดทางโลกุตระ หรือก้าวไปสู่แก่นของพุทธศาสนาอันว่าด้วย ‘การดับทุกข์อย่างสิ้นเชิง’

ด้วยเหตุนี้...ภาพที่แตกต่างระหว่างคนใส่เสื้อม่อฮ่อม กับคนที่ใส่สูทอิตาลี จึงไม่ได้เป็นอุปสรรคกีดกั้นการสร้างความสัมพันธ์ของบรรดากลุ่มคนเหล่านี้ ผู้ปฏิบัติธรรมแห่งสันติอโศกสามารถพูดคุยเจรจากับอากร ฮุนตระกูล ที่นั่งเมาไวน์ อัดบุหรี่ควันขโมงในโรงแรมอิมพีเรียลควีนพาร์คได้สบายๆ แน่นอน...ความกลมกลืนเช่นนี้ก็คล้ายๆ กับความสัมพันธ์ระหว่าพลตรีจำลอง ศรีเมือง กับโอฬาร ไชยประวัติ และอนันต์ อัศวโภคิน ที่ยังวางน้ำหนักใกล้ชิดกับพลตรีจำลอง ศรีเมือง อย่างแนบแน่น แม้นว่าอากร ฮุนตระกุล เพื่อนซี้ของพวกเขาจะถอยห่างไปแล้วก็ตาม

อนันต์ อัศวดภคิน นักธุรกิจผู้มีหุ้นในตลาดหลักทรัพย์มากที่สุดและโอฬาร ไชยประวัติ กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์น่าจะมีส่วนมากทีเดียวในการชักนำให้เกิดสูตรลงตัวขึ้นมาในการปรับคณะรัฐมนตรีของพลังธรรมนั่นก็คือให้ วิชิต สุรพงษ์ชัย ที่ทักษิณอยากได้มาเป็นประธานชินวัตรเมื่อเขาออกไปเล่นการเมือง มานั่งเก้าอี้คมนาคม ส่วนทักษิณเองไปอยู่กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้ดูไม่น่าเกลียด...

แม้นว่าพลตรีจำลอง จะพยายามแสดงให้ประชาชนผู้สนับสนุนเขาเห็นว่า การเลือกทักษิณซึ่งเป็นคนนอกมานั่งเก้าอี้ตามโควต้าพลังธรรม จะเกิดขึ้นจาก ‘ความประทับใจ’ ในเรื่อง ‘ความกตัญญูรู้คุณ’ ของทักษิณ ดังที่เขาเขียนระบายไว้ในนิตยสาร ‘เราคิดอะไรอยู่’ ก็ตาม...แต่นั่นก็ไม่น่าจะใช่ ‘เหตุผล’ ที่มีน้ำหนักเพียงพอสำหรับการตัดสินใจในครั้งนี้

บ่อยครั้ง...ที่พลตรีจำลอง ศรีเมือง มักจะทำให้คนที่ชื่นชมเขา รับรู้ถึง ‘ความบริสุทธิ์ใจ’ ความ ‘ซื่อ’ จนกระทั่งความอึดอัดใจในแต่ละครั้งที่ความเห็นไม่ลงรอยกัน พัฒนากลายไปเป็น ‘ความสงสาร – ความเห็นใจ’ อยู่บ่อยๆ แต่ในวงการธุรกิจและวงการเมือง ไม่มีใครทำใจกับเหตุผลเรื่อง ‘ความกตัญญู’ ของ ดร.ทักษิณ ที่ทำให้พลตรีจำลองตั้งเขาขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีการต่างประเทศ

ทักษิณ ชินวัตร และวิชิต สุรพงษ์ชัย ได้เข้าพบกับอานันท์ ปันยารชุน ก่อนหน้าที่จะเข้ารับตำแหน่ง...และนอกเหนือจากการยกย่องกันในความกตัญญู การชื่นชมในความสามารถระหว่างกันและกันแล้ว...ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งของทักษิณ และวิชิต สุรพงษ์ชัย จดหมายด่วนจากพลตรีจำลอง ศรีเมือง ไปยังนายกรัฐมนตรีขอให้ระงับการพิจารณาโครงการโทรศัพท์อีก 1 ล้านเลขหมายนั้น...กลายเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักและเป็นคำที่อธิบายได้ดีกว่า ความชื่นชมที่พลตรีจำลองมีต่อความกตัญญูของ ดร.ทักษิณ

สำหรับทักษิณ ชินวัตร นั้น...ก่อนหน้านั้นเขาไม่ได้แสดงพฤติกรรมหรือคำพูดใดๆ เลยที่จะชี้ให้เห็นว่าเขามีความชื่นชมต่อพลตรีจำลอง ศรีเมือง หรือพรรคพลังธรรม เขตเลือกตั้งที่เขาแสดงความมุ่งหมายนั้นอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ทีมของเขาน่าจะเป็นธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ซึ่งน่าจะสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในพื้นที่ภาคเหนือเขาปฏิเสธไม่ได้กับบทบาทของ ณรงค์ วงศ์วรรณ พ่อเลี้ยงแห่งจังหวัดแพร่ ที่ควบคุมฐานในภาคเหนือ ไม่ว่าพินิจ จันทรสุรินทร์ ส่งสุข ภัคเกษม ฯลฯ กินอิทธิพลในเขตแพร่ ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย ฯลฯ ตรงกันข้ามกับพรรคพลังธรรมที่ทำได้เพียงแค่ ‘เกือบได้’ ในหลายเขตของภาคเหนือ และเกือบได้เพราะนโยบาย ‘บุญนิยม’ ไม่ใช่ ‘ทุนนิยม’

ทักษิณปฏิเสธข้อเสนอของพรรคความหวังใหม่ในฐานะรองนายกฯ แต่เขาแสดงถึงความกระตือรือร้นอย่างเหลือหลายต่อรัฐมนตรีการต่างประเทศ ร่วมกับวิชิต สุรพงษ์ชัย ในตำแหน่งรัฐมนตรีคมนาคมของพรรคพลังธรรม...กระตือรือร้นถึงขั้นประกาศยอมรับการเป็นรัฐมนตรีการต่างประเทศคนใหม่เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมต่อหน้าสื่อมวลชน ทั้งๆที่ยังไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้เป็นรัฐมนตรีด้วยการแถลงข่าวยืนยันว่า “ถึงเวลาแล้วที่ผมจะรับใช้สังคม ทำตัวเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ” และถึงขั้นแถลงนโยบายส่วนตัวออกมาทันทีว่า ‘จะใช้เศรษฐกิจนำการเมือง’

คำนูญ สิทธิสมาน คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ ‘ผู้จัดการ’ อันเป็นหนังสือที่เคยใกล้ชิดกับทักษิณ ชินวัตร เป็นอย่างดีถึงขั้นเคยร่วมธุรกิจด้วยกัน ได้แสดงความเห็นออกมาในทันทีว่า... “ทักษิณจะต้องใช้จ่ายสูงสุดเท่าที่เขาเคยจ่ายมา ในการเข้ามาในทางการเมืองด้วยลักษณะเช่นนี้...”

แต่ดูเหมือนว่าทักษิณจะไม่ยี่หระเสียแล้ว...ก่อนหน้าที่จะมีการตัดสินใจเสนอชื่อเขาเป็นรัฐมนตรี กระแสการโจมตีมุ่งตรงมาที่เขายังหนักหน่วง ไม่ว่ากรณีข่าวลือเรื่องบริษัทไอบีซี แคมโบเดีย พัวพันการรัฐประหารในกัมพูชา การกล่าวหาเรื่องคดีเทคโอเวอร์ธุรกิจเคเบิลทีวีในสหรัฐอเมริกา ภาพพจน์ทางธุรกิจของเขานั้นแม้นจะเป็นไปด้วยดีเพราะประสบความสำเร็จในด้านกำไรมหาศาล แต่ ‘ลีลา’ ทางธุรกิจของเขานั้น ไม่ใช่ลีลาเดินแบบมีพรมปูรองรับ มันเป็นลีลาที่มีศพกองอยู่ข้างทางหลายต่อหลายราย...

ทันทีที่ประกาศจะดิ้นรนเป็นรัฐมนตรีการต่างประเทศให้ได้ ทักษิณก็พบว่าเสียงโจมตีนั้นมันมันรุนแรงหนักพอที่จะทำให้เขาเกือบ ‘นอตหลุด’ ออกมาทันที ถึงกับตอบโต้สื่อมวลชนกราดกระสุนด้วยคำว่า “การโจมตีผมอย่างหนักนั้น เป็นเพราะนักข่าวบางคนตกอยู่ภายใต้อำนาจนายทุนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามทางธุรกิจกับผม...” ทันทีที่ทักษิณแสดงอาการออกมาเช่นนี้ สื่อมวลชนสายทำเนียบฯ และสมาคมนักข่าวฯได้ออกแถลงการณ์โต้ตอบแรงไม่แพ้กัน ด้วยการอ้างถึงกรณีที่บริษัทชินวัตรเลี้ยงสังสรรค์สื่อมวลชนและแจกมือถือกว่า 30 เครื่อง วิทยุติดตามตัวอีกต่างหาก... เรื่องจบลงตรงที่ทักษิณออกแถลงการณ์เคลียร์อย่างสุภาพในภายหลัง...

ตลอดเวลาที่ทักษิณกำลังพะรุงพะรุงกับการต้านรับเสียงโจมตีอย่างหนัก ไม่ว่าจากสื่อมวลชน นักการเมืองฝ่ายค้าน และกลุ่มกบฏ 23 พรรคพลังธรรม พลตรีจำลอง ศรีเมือง ได้ทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อค้ำประกันความเป็นรัฐมนตรีของทักษิณ มีการระบุว่าพลตรีจำลองโทรศัพท์ไปหาทักษิณในระยะนั้น วันละไม่ต่ำกว่า 4 หรือ 5 ครั้ง ลุกลามไปถึงการปลอบใจภรรยาของทักษิณให้ยืนหยัดสู้ อย่าเสียกำลังใจ ราคาของทักษิณที่พลตรีจำลองตั้งเอาไว้ ก็จึง ‘แพง’ มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ แพงจนกระทั่งความพยายามอธิบายในเรื่องความกตัญญูของทักษิณ ชินวัตรนั้นไม่มีน้ำหนักพอที่จะเชื่อถือได้แม้แต่กิโลเดียว

พลตรีจำลอง ศรีเมือง และสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เดินทางเข้าพบนายกรัฐมนตรีที่บ้านพิษณุโลก เพื่อยืนยันชื่อทักษิณ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในวันที่ 18 ตุลาคม 2537 รายงานข่าวระบุว่า มีการเจรจากันนาน 3 ชั่วโมง และสิ่งที่สมาชิกพรรคพลังธรรมพูดกันภายหลังก็คือ ทักษิณ ชินวัตร ได้ดอดเข้ามาเจรจาในครั้งนี้ด้วย รวมทั้งการตัดสินใจเสนอชื่อทักษิณให้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของ ชวน หลีกภัย นั้นไม่ใช่เป็นเพราะ ‘เกรงใจพลตรีจำลอง’ แต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะนายกรัฐมนตรี ‘เกรงใจทักษิณ’ ด้วยเช่นกัน...

ผลแห่งวิธี ‘กระจายความเสี่ยง’ ของทักษิณ...เห็นผลในวินาทีนี้เมื่อ ชวน หลีกภัย ประกาศในวันรุ่งขึ้นว่าเขายินดีเป็น ‘จำเลยที่ 1’ หากเกิดอะไรขึ้นก็ตามทีกับการผิดพลาดในการเสนอชื่อทักษิณขึ้นกราบทูล ในขณะที่ ดร.ปรีชา สุวรรณทัต สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การบังคับบัญชาของ ชวน หลีกภัย นี่แหล่ะ ได้เปิดประเด็นเรื่องคุณสมบัติของทักษิณอาจจะขัดกับบทบัญญัติการเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญที่กำลังแก้ไขกันใหม่ และทำท่าว่าจะผ่านสภาฯ ได้ในอีกไม่ช้า เขาได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ถ้าหากมีอะไรที่อาจส่งผลภายหลังการเลือกตั้ง ดร.ทักษิณ เป็นรัฐมนตรี อันเป็นการไม่สมควร แล้วยังมีการนำความขึ้นกราบบังคมทูลให้โปรดเกล้าฯอีก ก็เป็นเรื่องน่าเสียใจ”

แน่นอน...กว่าจะเรียนลัดเติบโตในทันทีทันใดแบบเทวดาได้ในครั้งนี้ ทักษิณต้องใช้จ่ายสูงมากทีเดียว เขาจะต้อง ‘มีอะไร’ มากพอที่จะทำให้พลตรีจำลอง ศรีเมือง ‘ยอมตาย’ เพื่อทักษิณในกรณีนี้ และจะต้อง ‘มีอะไร’ ที่มากพอที่จะทำให้ ชวน หลีกภัย ยอมพลีตัวเป็น ‘จำเลยที่ 1 ’ ทั้งที่ขัดกับบุคลิกภาพรากฐานคือบุคลิกแห่งการ ‘ลอยตัว’ ที่ฝังลึกอยู่ในกระดูกของเขา...นอกจากจะมีค่าใช้จ่ายเหล่านี้แล้ว...ทักษิณเองยังต้องจ่ายให้กับตัวเองอีกด้วย เขาจะต้องผสมธาตุหรือวัสดุหลายต่อหลายชนิดเข้าไปในตัวเขา...เพื่อให้แข็งแกร่งเพียงพอที่จะต้านรับกับเสียงโจมตีวันแล้ววันเล่า จากทั่วทุกสารทิศ ต้อง ‘แกร่งทั้งแผ่น’ ทุกอณู ไม่งั้นไม่มีทางได้รับการการันตีปั๊มตรา ‘ห้าห่วง’ โดยเด็ดขาด...

………………………………………………..
(โปรดติดตามตอนที่ 3 : พิสูจน์แล้ว...ว่า ‘แรด’ ยังวิ่งหนี พรุ่งนี้)


Resource: //www.ftawatch.org/news/view.php?id=8539

 

โดย: เปิดแฟ้มย้อนรอย : เส้นทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตร (2) (moonfleet ) 26 กุมภาพันธ์ 2552 0:37:24 น.  

 

เปิดแฟ้มย้อนรอย : เส้นทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตร (3)

เส้นทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตร

จากนิตยสาร ‘อาทิตย์’ ฉบับที่ 919 วันที่ 20 -26 มกราคม 2538

ตอนที่ 3

พิสูจน์แล้ว...ว่า ‘แรด’ ยังวิ่งหนี

ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน คือวันที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่เริ่มทำงาน จนกระทั่งถึงต้นเดือนมกราคม 2538 ประเด็นเรื่องการตีความรัฐธรรมนูญมาตรา 114 และ 166 ว่าด้วยคุณสมบัติรัฐมนตรีในการมีสัมปทานกับรัฐนั้น...มีระยะเวลาเพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น...มันน้อยเกินกว่าที่ทักษิณจะแสดงความดี เด่น ดัง หรือมีเวลาพอที่จะสร้างความสง่างามให้กับตำแหน่งที่ได้รับ

ในแต่ละนาที...ดูเหมือนทักษิณพยายามอย่างยิ่งที่จะแสดงถึง ‘ราคา’ ของสมญานาม ‘อัศวินแห่งคลื่นลูกที่ 3’ ที่คนชั้นกลางตาไม่ดีตั้งฉายาให้กับเขา เขาใช้จังหวะที่ โมฮัมหมัด ซาอิด โคจา กำลังสร้างแรงกดดันให้กับคนไทยบางกลุ่มในกรณีเพชรซาอุฯสะบัดฝ่ามือใส่อุปทูตซาอุดิอาระเบียหลายฉาด ไม่ว่าด่าสวนทันที หรือไม่ว่าเรียกมายื่นบันทึกช่วยจำที่กระทรวงการต่างประเทศ เขาพยายามสร้างบารมีของนักธุรกิจแสนล้านเพื่อแสดงความแตกต่างจากรัฐมนตรีธรรมดา ด้วยการออกเงินเช่าเหมาเครื่องบินชาแลนเจอร์แบบเช่าเหมาลำด้วยเงินของเขาเอง เดินทางไปเยือนนานาประเทศ เขาพยายามเน้นราคาในการเป็นภาพพจน์ของประเทศ ในการประเดิมงานใหญ่ประชุมเอเปคที่กรุงโกบอร์ ประเทศอินโดนีเซีย ด้วยการเปิดแถลงข่าวด้วยตัวเองและหอบหิ้วนักข่าวไปดูความคล่องตัวของเขาในงานระดับชาติ เขาเอาคอลัมนิสต์ชื่อดังอย่าง ‘ฉลามเขียว’ ไทยรัฐ ไปบันทึกรายละเอียดการเคลียร์ข้อกล่าวหาระหว่างเขากับนายกรัฐมนตรีฮุนเซ็นของกัมพูชาถึงกรุงพนมเปญ เขาแทบไม่ใช้อธิบดีกรมสารนิเทศออกมาแถลงข่าวอย่างปกติ แต่รับอาสาทำหน้าที่แทนโฆษกกระทรวงต่างประเทศด้วยตัวเอง เขาพยายามระงับความประหม่าในการทรุดลงภาวนาตามพิธีกรรมของพระจีน ในการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เขาพยายามสร้างค่าให้กับนักข่าวกระทรวงการต่างประเทศ ด้วยการติดตั้งโทรทัศน์และดึงเอาสัญญาณไอบีซีมาให้ผู้สื่อข่าวประจำกระทรวงได้ชมกันอย่างเพลิดเพลิน ยิ่งกว่านั้นเขายังใช้ลีลานักธุรกิจที่คุ้นเคยกับวิธีเข้าหาข้าราชการในการรับสัมปทาน ด้วยการคลุกคลีกับข้าราชการกระทรวงต่างประเทศอย่างตีนติดดิน รวมทั้งปรับระบบการติดต่อของสถานทูตไทยทั่วโลกให้ทันสมัยด้วยระบบสื่อสารล้ำยุค ฯลฯ

แต่ดูเหมือนว่า...ระยะเวลามันสั้นเกินไป สั้นเกินกว่าที่เขาจะสร้างความเป็นคลื่นลูกใหม่ในวงการการเมือง หรือก้าวไปสู่จุดสูงสุดทางการเมืองในฐานะแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี...รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านวาระ ในวันที่ 4 มกราคม 2538 โดยเสียงเอกฉันท์จากทั้งวุฒิสมาชิกและผู้แทนราษฎร...บัญญัติของรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่เพียงแต่กระทบกระเทือนต่อคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีการต่างประเทศที่เขาดำรงสถานะอยู่ มันอาจจะสามารถตีความ ‘ปิดกั้น’ โอกาสที่จะผุดเกิดทางการเมืองของเขาในวันข้างหน้าอีกด้วย...ตราบใดที่เขายังไม่ขายหุ้น และยังไม่หย่าเมีย...

บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรานี้ส่งผลกระทบต่อเขาเร็วมาก มากพอที่บรรดาประชาชนที่สังเกตการณ์ยังพอจะจำได้ถึงคำพูดของนายกรัฐมนตรีที่ประกาศก่อนการเสนอชื่อทักษิณเอาไว้ว่า “หากรัฐธรรมนูญใหม่มีผลปังคับใช้...บุคคลจะต้องปรับตัวให้เข้ากับกฎหมาย” ไม่ผิดอะไรกับรองนายกรัฐมนตรีบัญญัติ บรรทัดฐาน ออกโรงมายืนยันในระยะเวลาเดียวกันคือในช่วงปลายเดือนตุลาคมว่า “กฎหมายรัฐธรรมนูญที่จะมีผลบังคับใช้ในวันข้างหน้า...ไม่มีข้อยกเว้นเรื่องสัมปทานก่อนหน้าเป็นนายกรัฐมนตรี...กฎหมายแก้ไม่ได้ ก็ต้องแก้ไขเรื่องตัวบุคคลเท่านั้นเอง...”

จนกระทั่งต้นปี 2538 บัญญัติ บรรทัดฐาน ก็ยังเน้นย้ำในการให้สัมภาษณ์ช่วงปีใหม่ว่า เขาคาดว่าทักษิณ ชินวัตรจะต้องลาออกจากรัฐมนตรี เมื่อใดก็ตามที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้...

อันที่จริงประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้าที่จะมีการเสนอชื่อทักษิณเป็นรัฐมนตรีการต่างประเทศ นอกจากประเด็นเรื่องไอบีซี แคมโบเดีย พัวพันรัฐประหารแล้ว ประเด็นนี้ยังถูกหยิบยกมาพิจารณาและนำมาวิจารณ์จากหลายๆฝ่ายไม่ว่า ปรีชา สุวรรณทัต, มีชัย ฤชุพันธุ์, ชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน และวิษณุ เครืองาม ฯลฯ

ส่วนใหญ่นั้นจะออกความเห็นในลักษณะที่...เชื่อกันว่า...ถ้าหากทักษิณ ชินวัตร ไม่ออกจากรัฐมนตรี เขาก็คงหาทางทำสิ่งที่เรียกว่า ‘การปรับตัว’ ให้เข้ากับกฎหมายรัฐธรรมนูญค่อนข้างแน่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ‘ผู้นำแห่งปี 2000 ’ ถึงกับกล่าวไว้ว่า “ถ้าคุณทักษิณอยากเป็นรัฐมนตรี ท่านก็ควรหย่ากับภรรยาจะได้หมดปัญหา”

การปรับตัวเข้ากับกฎหมายตามคำพูดจาของนายกรัฐมนตรี บัญญัติ บรรทัดฐาน ดูจะถูกอธิบายด้วยการหย่าขาดจากภรรยาหรือขายหุ้นตัวเองออกไปให้หมด และต้องขายอย่างโปร่งใสแสดงให้เห็นความสุจริตว่าไม่ได้เอาหุ้นไปฝากใคร...แต่ปรากฏว่าในการวิจารณ์ทำนองนี้ ทักษิณได้ยืนกรานเหมือนกับตอบโต้ว่า...เขาจะไม่หย่าภรรยา และจะไม่ขายหุ้นเด็ดขาด...พฤติกรรมเช่นนี้ ทำให้หลายฝ่ายคาดกันว่าเขาเลือกหนทาง ‘ลาออก’ บางรายถึงกับมองว่าการยืนกรานครั้งนี้เป็นความสง่างามไปเลยทีเดียว ด้วยการวิจารณ์ว่าการเลือกภรรยาแทนที่จะเลือกตำแหน่งนั้น...คือรักแท้...

แต่ดูเหมือนว่า...พลตรีจำลอง ศรีเมือง นั้น เขากลับคิดไปอีกทาง พลตรีจำลอง ศรีเมือง พยายามยืนยันต่อสาธารณะหรือต่อคนใกล้ชิดว่า ถึงแม้นรัฐธรรมนูญผ่านวาระ 3 และประกาศใช้ ทักษิณ ชินวัตร ก็ยังไม่ ‘หมดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี’ แต่ดูเหมือนว่าความมั่นใจของเขาไม่ได้มีเหตุผลใดๆ มารองรับ นอกจากการกล่าวถึง ‘บทเฉพาะกาล’ อย่างสะเปะสะปะ บทเฉพาะกาลนั้นไม่ได้ครอบคลุมถึงรัฐมนตรี แต่ครอบคลุมและยกเว้นเวลาให้เฉพาะ ส.ส. และวุฒิสมาชิก แม้นว่ามีหลายฝ่ายจะแสดงข้อความคัดค้านความเห็นนี้ด้วยเหตุผล แต่พลตรีจำลอง ก็ได้มีเหตุผลใหม่มาคัดค้าน...นอกจากรีวายน์เทปกลับไปกลับมา

บนความเคลื่อนไหวที่ดูไม่มีเหตุผลรองรับนั้น น่าตั้งข้อสังเกตไปถึงเรื่อง ‘เหตุผลทางการเมือง’ มากกว่า ว่าไปแล้วบรรยากาศก่อนหน้าตั้งทักษิณเป็นรัฐมนตรีการต่างประเทศและหลังจากนั้นเป็นต้นมา ภาวะการเมืองเต็มไปด้วยความผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่พรรคความหวังใหม่ไม่ยอมรับมติคณะรัฐมนตรีในกรณีรัฐธรรมนูญมาตรา 198 -199 ในทางการเมืองนั้นอาจจะก่อให้เกิดภาวะใดๆ ขึ้นมาก็ได้ ที่จะทำให้ระยะเวลาการเป็นรัฐมนตรีของทักษิณ ชินวัตรไม่สั้นแค่ 3 เดือน อาทิ ถ้าหากนายกรัฐมนตรีเกิดตัดสินใจยุบสภาขึ้นมาโดยปัจจุบันทันด่วน รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขใหม่ตกไป สถานะความเป็นรัฐมนตรีของทักษิณก็คงอยู่ยาว อย่างน้อยก็มีเวลาในการเป็นรัฐบาลชั่วคราวและจากไปอย่างสง่างามหรือคาดกันเอาไว้ว่า แม้นว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านสภาฯ ก็ยังสามารถหารายละเอียดของข้อกฎหมายมาแก้ปัญหา สร้างระยะเวลาให้ทักษิณอยู่ได้อีกหลายอึดใจ หรืออาจจะเป็นปีๆ ค่อยแสวงหาจังหวะใหม่ๆ สร้างผลงานชิ้นโบแดงสักครั้งก่อนลาออก

ถ้ามองวิธีการแก้ปัญหาของพลตรีจำลองตามเส้นทางการเมืองที่ผ่านมา...บุคลิกการตัดสินใจแก้ปัญหาแบบ ‘วันต่อวัน’ หรือ ‘วินาทีต่อวินาที’ นั้น เป็นบุคลิกเฉพาะตัวเลยก็ว่าได้ นั่นก็คือการ ‘เสี่ยง’ แล้วไปคิดแก้ไขผลแห่งการเสี่ยงในวันข้างหน้า ตาดีได้ตาร้ายเสีย...

จังหวะเวลานั่นเอง...ที่ดูจะทำให้สมาชิกคนสำคัญในพรรคพลังธรรมมั่นใจว่า การเป็นรัฐมนตรีของทักษิณ ชินวัตร คงจะจากไปพร้อมกับความสง่า ในฐานะนักการเมืองผู้มาจากนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จ หากรัฐธรรมนูญผ่านสภาฯ ก็ยังมีเวลาเล่นอีกหลายเรื่องจนกว่าจะมีพระบรมราชโองการ ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา กินระยะเวลาเป็นเดือนๆไปแล้ว ถ้าหากมีการเสนอ ‘ตีความ’ รัฐธรรมนูญขึ้นมา เป็นไปได้ที่จะต้องใช้ระยะเวลาตีความเป็นปีๆ ตามลักษณะขององค์กรเฉพาะกิจที่กว่าจะประชุมกันแต่ละทีต้องรอคอยผู้ทรงคุณวุฒิให้มากันพร้อมหน้าพร้อมตา ที่สำคัญที่สุดก็คือ...หากจะต้องเข้าสู่การพิจารณาการชี้ผิดชี้ถูกนั้น...จะต้องใช้อัตราเสียง 8 ต่อ10 ในบรรดาตุลาการรัฐธรรมนูญ แค่ 3 เสียงแสดงความไม่เห็นด้วยขึ้นมา...มติของตุลาการรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ก็ไม่มีผล...

ดูเหมือนว่า...การตั้งรับของพรรคพลังธรรมในกรณีของทักษิณ ชินวัตร นั้น...จะเริ่มต้นขึ้นมาจากการใช้ ‘กลุ่มกบฏ 23’ เป็นตัวตั้ง เริ่มจากรากฐานที่มองว่า กลุ่ม 23 พยายามแสวงหาจุดโค่นล้มกรรมการบริหารในพรรคพลังธรรมเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้บรรดาสมาชิกคนสำคัญของพรรคพลังธรรมรวมทั้งพลตรีจำลอง ศรีเมือง จึงไม่ค่อยได้ให้ค่ากับ ‘ศัตรูที่มองไม่เห็น’ นั่นก็คือ ‘ความชอบธรรมทางการเมือง’ และ ‘สายตาของสาธารณะชน’ ต่อการดิ้นรนของพรรคพลังธรรมในเรื่องนี้

ยุทธวิธีที่จะรักษาทักษิณ ชินวัตร เอาไว้ให้ได้จึงถูกกำหนดออกมาในแบบ ‘ใช้เล่ห์เหลี่ยมสู้กับเล่ห์เหลี่ยม’ มุ่งที่จะปิดกั้นตอบโต้กับกลุ่ม 23 จนมองไม่เห็นปัญหาอื่นๆ แม้กระทั่งภาพพจน์และความเสื่อมโทรมของพรรค สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ถูกคำนวณอยู่ในราคาค่าใช้จ่ายหรืออาจจะประเมินว่าหักลบกลบหนี้กับความกตัญญูของทักษิณแล้ว...ยังน่าจะเหลือกำไรพอสมควร ก็เลยเริ่มชักธงยุทธวิธียืนกรานว่า...ทักษิณไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญใหม่...ด้วยเหตุนี้...ต้องมีการตีความ

สำหรับทักษิณเอง...ดูเหมือนว่า ‘สนามรบทางธุรกิจ’ ที่เขาผ่านมาจนเป็นเศรษฐีอันดับ 15 ของเอเชียนั้น จะทำให้เขาประเมิน ‘สมรภูมิทางการเมือง’ ไม่ต่างกันมากนัก ไม่ว่าการแสดงปฏิกริยาทันทีต่อสื่อมวลชนที่โจมตีเขาก่อนหน้าจะได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีว่า...“ผู้ที่ต้องการให้ผมลาออกจากรัฐมนตรีก็คือผู้ที่พยายามต่อต้านไม่ให้ผมเป็นรัฐมนตรี”

ในสายตาของทักษิณและพลตรีจำลอง ศรีเมือง หรือสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ น่าจะมีมุมมองคล้ายๆกัน คือ มองเห็นแต่ ‘ศัตรูทางการเมือง’ หรือ ‘ศัตรูทางธุรกิจ’ ของตัวเองเป็นหลัก ไม่ได้มองไปถึงปัญหา ‘ความชอบธรรมทางการเมือง’ ไม่ยอมรับเสียงต่อต้านจำนวนไม่น้อยเกิดขึ้นจากสาธารณะ เกิดขึ้นอย่างบริสุทธ์ใจ...นั่นก็คือเขาเหล่านี้ไม่ได้มองไปว่า “เขานั่นแหล่ะคือศัตรูตัวฉกาจของเขาเอง” ทันทีที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ ทักษิณแสดงให้เห็นว่า...เขาต้องการ ‘มิตร’ โดยเฉพาะมิตรในสภาฯ มากเท่าไหร่ยิ่งดี...ในวันที่ 16 พฤศจิกายน ทักษิณเดินดิ่งเข้าไปพบปะกับ ส.ส.กลุ่ม 16 และปีกเทิดไทของณรงค์ วงศ์วรรณ โดยไม่พะวงถึงภาพพจน์ความเป็นคนละฝ่ายระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้านหรือมารกับเทพที่พรรคพลังธรรมเคยยึดถือในบางคน เขาใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมงในการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดความเห็น ทักษิณ ชินวัตร ประสบความสำเร็จในการแสวงหามิตรที่เป็นนักการเมืองได้ไม่ยาก อย่างที่เคยกล่าวไว้แล้วว่า ก่อนหน้าที่เขาจะกระโดดเข้าสู่วงการการเมืองนั้น นักการเมืองจำนวนไม่น้อยถือหุ้นราคาพาร์ของบริษัทชินวัตรไม่แพ้สื่อมวลชนบางรายถือโทรศัพท์มือถือเซลลูลาร์ 900 ของบริษัทชินวัตร

ส่งสุข ภัคเกษม คีย์แมนส.ส.ฝ่ายค้าน พรรคชาติไทย ได้ลุกขึ้นพูดในสภาฯช่วงพิจารณารัฐธรรมนูญ โดยพยายามเหลือเกินที่จะสรรเสริญ ทักษิณ ชินวัตร ว่าเป็น ‘ผู้เสียสละ’ ในทางการเมือง เรียกร้องให้รัฐสภาอย่าปิดทาง ‘คนดี’ โดยเน้นย้ำทำนองที่ ‘ความดี’ นั้นก็คือ ‘การประสบความสำเร็จทางธุรกิจ’ หรือ ‘ความรวย’ นั่นเอง...

แม้นว่าทักษิณจะไม่ได้ตีราคา การสรรเสริญของส่งสุขออกมาให้เห็น แต่พจมาน ชินวิตร ได้ให้ราคาของส่งสุขไว้ชัดเจน ในการบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยภาคเหนือ เมื่อส่งสุขถูกขอร้องให้ออกมาร้องเพลง 1 เพลงในอัตราการบริจาค 1 ล้านบาทสำหรับเพลงนั้น นี่ขนาดแค่ 1 เพลง...ก็พอจะเห็นได้ว่า ราคาสำหรับมิตรภาพของคนอย่างประธานบริษัทชินวัตรนั้น...สูงเพียงใด แน่นอนว่าคนอย่างพลตรีจำลอง ศรีเมือง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หรือสุธรรม แสงประทุม...ฯลฯ...ย่อมต้องเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะมันเป็นเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นเท่านั้น..

การแสวงหามิตรที่เป็นนักการเมืองในสภาฯของทักษิณนั้น แม้นว่าจะเป็นไปโดยปกติก็ตาม แต่มันน่าจะส่งผลในหลายๆ ทางให้กับเขา อันดับแรก มันก่อให้เกิดข่าวคราวในแวดวงการเมือง โดยเฉพาะ ส.ส.กลุ่มภาคเหนือ มีหลายส่วนที่เชื่อว่า ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ทักษิณ ชินวัตร จะให้ความสนับสนุนกับพรรคการเมืองที่ชื่อว่า ‘ไทยก้าวหน้า’ ขอแต่เพียงให้ณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้าพรรค ทักษิณอาจจะอยู่ในพรรคการเมืองนี้ หรืออาจจะอยู่พรรคพลังธรรมต่อไป หรืออาจจะอยู่พรรคประชาธิปัตย์ก็แล้วแต่ แต่ภายใต้สายสัมพันธ์ระหว่างทักษิณและณรงค์ ก็ไม่ต่างอะไรกับสายสัมพันธ์ระหว่างอำนวย วีรวรรณ กับพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ หรือไม่ต่างอะไรกันกับพรรคชาติไทย กับพรรคสามัคคีธรรมก่อนที่จะรวมตัวสนับสนุนพลเอกสุจินดา คราประยูรเป็นนายกรัฐมนตรี

ในสายตาพลพรรคฝ่ายค้านประเภทเกล็ดแตกลายงาและเสียวฟัน (เขี้ยวลากพื้น) ทั้งหลาย ทักษิณ ชินวัตร ไม่ใช่พรรคพลังธรรมไม่ใช่พวกสายวัด ไม่ใช่พวกนุ่งห่มม่อฮ่อมที่พูดคุยด้วยยาก ไม่ใช่บุคคลประเภทที่ทำให้เชาวรินทร์ ลัทธศักดิ์ศิริ เกลียดเข้ากระดูกดำ...แบบพลตรีจำลอง ศรีเมือง ทักษิณ เป็นมหามิตรผู้มีน้ำใจกว้างขวาง เป็นเพียงผู้อาศัยพรรคพลังธรรมเป็นที่ยืนเท่านั้น...ด้วยเหตุนี้เป็นเรื่องไม่แปลกเลย ในขณะที่ ส.ส.อนาคตก้าวไกล ก้าวหน้าเต็มไปด้วยเกียรติยศและสูงส่งด้วยสิทธิสตรีอย่างสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จะพยายามประกาศสนับสนุนทักษิณ ชินวัตร,ส่งสุข ภัคเกษม ซึ่งอยู่กันคนละราคา คนละบุคลิก คนละเรื่องกับสุดารัตน์จึงกลายเป็น ‘พันธมิตร’ กันอย่างแนบแน่น กลายเป็น ‘คนกลุ่มเดียวกัน’ โดยมี ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เป็นจุดร่วม ไม่แปลกอะไรเลยที่เนวิน ชิดชอบ จะแสดงความเห็นใจทักษิณ และเบี่ยงข้างในการให้ความเห็นกรณีคุณสมบัติของทักษิณว่า...น่าจะให้ตุลาการรัฐธรรมนูญตีความก่อน

ในปัญหาที่จะทำให้ทักษิณชอบใจนั้น...ไม่มีคำว่ามารหรือเทพแบ่งอีกต่อไปแล้ว ไม่มีความแตกต่างเรื่องแนวคิดหรืออุดมการณ์ใดๆมากั้นขวางต่อการศิโรราบต่อบุรุษผู้มีเงินตรานับแสนล้านบาท คนรุ่นใหม่ในพรรคพลังธรรมต่างดาหน้าเข้าเอาบ่ารับฝ่าเท้าของทักษิณ ชินวัตร อย่างกระตือรือร้น โดยมีคนรุ่นเก่าหรือ ส.ส.ที่ถูกประณามว่าไร้คุณภาพและเป็นมาร ช่วยกันยกก้นเพื่อเผชิญหน้ากับกฎหมายรัฐธรรมนูญ เนวิน ชิดชอบ, ส่งสุข ภัคเกษม, ณรงค์ วงศ์วรรณ ได้ประสานมือเข้ากับสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, สุธรรม แสงประทุม, พลตรีจำลอง ศรีเมือง, สฤต สันติเมทนีดล, ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ฯลฯ... นั้นก็คือ ‘ราคา’ ของทักษิณ ชินวัตร โดยแท้...ทักษิณ คงจะไม่เสียเวลามากนักกับ ส.ส.ปีกเทอดไท หรือกลุ่ม 16 หรือ ส.ส.อีกหลายรายถ้าหากกฎหมายไม่ได้ระบุว่า จะต้องให้เสียง ส.ส.ถึง 36 คนในการเข้าชื่อเพื่อเสนอให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตีความมาตราดังกล่าว 40 กว่าเสียงของพรรคพลังธรรมดูน่าจะหวั่นใจพอสมควรกับยุทธวิธียืดเวลาดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเล่นกับประเด็นนี้...ที่มองอย่างไรก็ตาม มันไม่พ้นจากความพยายาม ‘ปรับกฎหมายเข้าตัวบุคคล, ไม่ต่างอะไรจากการแก้กฎหมายต่ออายุพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเคยก่อให้เกิดวิกฤตต่อบ้านเมืองและศีลธรรมครั้งใหญ่มาแล้ว

ถ้าหากกลุ่ม 23 รวมตัวกันได้จริง...พลังธรรมก็จะเหลือพลังเพียง 20 กว่าเสียง...ไม่พอแน่ที่จะเล่นเกมนี้...พลตรีจำลอง ศรีเมือง ได้พยายามป่าวประกาศพร้อมกับลูกพรรคพลังธรรมว่า ‘นายกรัฐมนตรี’ น่าจะเป็นผู้นำมาตราดังกล่าวให้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตีความแทน...แต่ถ้าหากนายกรัฐมนตรีไม่ทำ พรรคพลังธรรมจะหาทางดำเนินการต่อไป...มันคงเป็นเรื่องน่ากระอักกระอ่วนใจ ถ้าหากปล่อยให้ถึงจุดนั้น จุดที่ ‘สายวัด’ แห่งพรรคพลังธรรมเข้าชื่อร่วมกับ ‘กลุ่ม 16’ เสนอให้มีการตีความคุณสมบัติทักษิณ ชินวัตร ตามรัฐธรรมนูญ...แต่ก็ยังเป็นโชคดี...นอกจากนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย จะเคยแสดงให้เห็นสายใยแบบ ‘ตัวต่อตัว’ กับทักษิณ ชินวัตร และสายใยที่มีมานานแล้วในการประกาศตัวเป็น ‘จำเลยที่ 1’ ยุทธศาสตร์การรักษาเสถียรภาพเอาไว้ให้ได้ของพรรคประชาธิปัตย์ก็คือ ‘ทำอย่างไรจะให้พรรคร่วมรัฐบาลกอดเกี่ยวกันได้บนบาดแผลของทุกฝ่าย...เพื่อจะนำไปสู่ความพยายามยืดเวลาเพื่อรักษาบาดแผลของตัวเอง...’

ตามหลังไหล่ขอพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนี้ เต็มไปด้วยเลือดแห้งๆ และน้ำหนองที่รินไหลมาจากกรณี สปก.4-01 และยังไม่ทันที่แผลจะเริ่มตกสะเก็ดดี ปัญหาสปอร์ตคอมเพล็กซ์ก็กำลังทยอยรุกไล่ตามมาเรื่อยๆ...ถ้าประชาธิปัตย์ปล่อยให้ตัวเองเต็มไปด้วยแผลส่งกลิ่นฟุ้งอยู่เช่นนี้...ความเหม็นของแผลทั้งหลายอาจจะทำให้พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค ตัดใจถีบหัวเรือทิ้ง เพื่อฟื้นฟูภาพพจน์ของพรรคตัวเองใหม่ได้ไม่ยาก สำหรับพรรคชาติพัฒนานั้น...ยังเป็นพรรคใหม่ ถึงแม้นจะไม่มีแผลตามตัวตามไหล่มากนัก แต่หน้าตาไม่ค่อยหมดจด...เขาแห่งความเป็นมารยังไม่หดไปจากหัว ที่สำคัญที่สุดก็คือ ‘ท้องว่าง’ คงจะต้องใช้ระยะเวลาพอประมาณที่จะทำให้โครงการรถไฟฟ้ามหานครคลอดได้สำเร็จ เส้นทางรถไฟด่วนเชียงใหม่ – กรุงเทพฯเสร็จสิ้น สนามบินหนองงูเห่าเดินหน้าไปได้พอเห็นหน้าเห็นหลัง..ฯลฯ มีแต่พรรคพลังธรรมเท่านั้น...ที่แผลนั้นแม้จะมีมากพอสมควร แต่ไม่ใช่แผลลึก อาจจะถอดใจเด้งตัวออกจากรัฐบาลถ้าหากกลิ่นแรงขึ้นมา ด้วยเหตุนี้ สายใยความสัมพันธ์ระหว่าง ชวน – ทักษิณ บวกกับยุทธศาสตร์รักษาป้อมค่ายชวน 4 นายกรัฐมนตรีจงได้กระทำการแบบอัศจรรย์ขึ้นมาในทันที...นั้นก็คืออาศัยมติคณะรัฐมนตรีเห็นควรส่งกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรานี้ให้ตุลาการรัฐธรรมนูญตีความ...นั่นก็คือการช่วยย้ำแผลให้พลังธรรมลึกและเน่าขึ้น

ชวน หลีกภัย นั้นโดยดีกรีแล้วไม่ใช่ ‘นิติศาสตรบัณฑิต’ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพียงอย่างเดียว เขายังสอบได้เนติบัณฑิตและทำการว่าความมาหลายสิบปี...ประวัติเช่นนี้เป็นเรื่องยากที่เขาจะกลายเป็น ‘ผู้ไม่รู้กฎหมาย’ หรือ ‘อ่านกฎหมายไม่เข้าใจ’ นอกจากเป็นนักกฎหมายแล้วเขายังเป็นนายกรัฐมนตรี...มีอำนาจเพียงพอที่จะทำการ ‘วินิจฉัย’ ด้วยตัวเอง ใช้เจตนารมณ์ของตัวเองอธิบายเจตนารมณ์ของกฎหมาย และยุติเรื่องเอาไว้แค่ดุลยพินิจของนายกรัฐมนตรี... ‘บรรทัดฐานทางการเมือง’ ก็จะเกิดขึ้นโดยไม่ยุ่งยากแต่อย่างใด และมันจะกลายเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ต่างอะไรเลยจาก ‘เจตนารมณ์’ ของผู้ร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรานี้ที่ผ่านสภามาโดยเสียงสนับสนุนท่วมท้นกว่า 500 เสียง คัดค้านเพียง 1 เสียงเท่านั้น

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ‘คุรุแห่งกฎหมาย’ ได้อธิบายถึงรัฐธรรมนูญมาตรานี้ว่า ... “มันไม่ได้มีความซับซ้อนอะไรเลย มันเป็นหลักการสำคัญของกฎหมายทั่วไปและหลักกฎหมายสากลที่นานาชาตินำมาใช้ว่าด้วย คอนฟลิก ออฟ อินเตอร์เรสต์ หรือความขัดแย้งทางผลประโยชน์”

รัฐธรรมนูญมาตรานี้ไม่ได้ ‘กีดกันคนดี’ ไม่ว่าวงการใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าวงการธุรกิจ, วงการทหาร, วงการข้าราชการ หรืออาจารย์มหาวิทยาลัย...กฎหมายกีดกันเฉพาะไม่ให้คนเหล่านี้ ‘จับปลาสองมือ’ คืออยากเป็นรัฐมนตรีแต่เสียดายตำแหน่งทางทหาร อยากเป็นรัฐมนตรีแต่ยังเสียดายตำแหน่งทางราชการ อยากเป็นรัฐมนตรีแต่ยังเสียดายหุ้นส่วนในบริษัทและยังเสียดายภรรยา...ทักษิณ ชินวัตร พยายามดิ้นรนครั้งใหญ่และหลายครั้งกระทั่งต่อหน้านักข่าวสิงคโปร์ที่ถามในเรื่องนี้ เขาตอบคำถามนี้ว่า “ขณะนี้ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า การขัดรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร จริงๆ แล้วบริษัทชินวัตรไม่ได้เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับรัฐบาล เป็นเพียงการร่วมทุน” และ “การถือหุ้น 50 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ถือว่าเป็นการผูกขาดเพราะหุ้นนั้นสามารถซื้อขายได้ตลอดเวลา”

ในต้นเดือนธันวาคมเขายืนกรานด้วยว่า “คำว่าสัมทานกับรัฐนั้น ที่จริงเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลทำสัญญากับบริษัท ซึ่งบริษัทเป็นนิติบุคคล ทำงานในรูปคณะกรรมการ ไม่ได้หมายความว่า ผมเพียงคนเดียวไปทำสัญญากับรัฐ ส่วนการถือหุ้น 50 เปอร์เซ็นต์นั้น ตรงนี้ไม่มีใครยืนยันได้ว่าเป็นเท่าไหร่ถึงจะถูกต้อง ถึงจะไม่ขาดคุณสมบัติ 49 เปอร์เซ็นต์ หรือ 24 เปอร์เซ็นต์ หรือไม่มีสักหุ้นเดียว”

ทักษิณ ชินวัตร ก็คล้ายๆกับ ชวน หลีกภัย นั่นแหล่ะ...เขาไม่ใช่เป็นคนที่ ‘ไม่รู้กฎหมาย’ เขามียศนำหน้าเป็นพันตำรวจโท เป็นด็อกเตอร์ทางวิชาการบริหารกระบวนการยุติธรรม เคยผ่านการทำสำนวนคดีและใช้กฎหมายมานาน เขาจะไม่รู้ไม่ชี้เลยหรือว่า กฎหมายตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยกิจการมหาชนที่ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ งัดขึ้นมาอธิบายนั้นบัญญัติชัดเจนในปี 2535 ว่า หุ้นจำนวน 25 เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าถือโดยใคร กี่ราย แต่ถ้าหากรวมกันแล้วอยู่ในอัตรา 25 เปอร์เซ็นต์ ก็มีความหมายถึงการมีฐานะครอบงำในกิจการนั้นๆ... นี่คือมาตรฐานที่ยืนยันความเป็นความตายของหุ้น 51 เปอร์เซ็นต์ของทักษิณและภรรยาชัดเจนอยู่แล้ว

แต่ทักษิณและชวน หลีกภัยก็มีความเหมือนกันมากกว่าความเป็นนักกฎหมายธรรมดาๆ...นั้นก็คือ ‘ดิ้นเก่ง’ ด้วยกันทั้งคู่ ทักษิณกำหนดเอาไว้ว่าวันที่ 10 มกราคมนี้นั้น เขาจะเปิดการแถลงข่าวใหญ่ ให้หมดข้อข้องใจว่าเขาจะเอาอย่างไรกับความสับสนทางการเมืองที่เกิดขึ้นเพราะตัวเขาครั้งนี้ บรรดานักสังเกตการณ์ทางการเมืองฟันธงเปรี้ยงลงไปเลยว่า...การแถลงข่าวในวันที่ 10 มกราคมนั้นจะต้องออกมาในรูป ‘การลาออก’ และอ้างสปิริต อ้างศักดิ์ศรีติดตามมาแน่ๆ ...เพราะก่อนหน้านั้นทักษิณได้ยืนยันเสียงแข็งว่า...เขาจะไม่ปรับตัวใดๆ เพื่อเป็นรัฐมนตรี

นักข่าวหลายรายรอคอยข่าวนี้พร้อมๆ กับข่าวสปอร์ตคอมเพล็กซ์ที่จะมีการตัดสินใจในวันเดียวกัน...บ่ายวันที่ 10 มกราคม ทักษิณแถลงว่า เขาได้ประกาศแนวทางออกมา 3 แนวทางสำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้คือ 1. เสนอให้หัวหน้าพรรคพลังธรรมพิจารณาอนุมัติให้เขาลาออก ถ้าหากเห็นว่าเขาขาดคุณสมบัติ 2. ถ้าหากไม่อนุมัติให้เขาลาออกต้องหามติพรรคให้แน่ชัดว่า จะเคลียร์ความสับสนในเรื่องนี้ให้เขาได้อย่างไร 3. ถ้าหากหามติพรรคมาไม่ได้ก็ขอให้แจ้งให้เขาทราบ เพื่อเขาจะได้พิจารณาอีกที

สรุปให้สั้นๆ ในวินาทีนั้น นักข่าวบุรุษและสตรีแจ้งต่อหนังสือพิมพ์ตัวเองว่า ‘ทักษิณไม่ลาออก’...นั่นคือคำอธิบายที่สั้นที่สุด ได้ใจความที่สุด ไม่ต้องเสียเวลาวกวน

พลตรีจำลอง ศรีเมือง เก็บใบลาออกของทักษิณเอาไว้ในแฟ้มเดียวกับใบลาออกของรัฐมนตรีทุกรายที่จะต้องเซ็นเอาไว้ให้กับหัวหน้าพรรคตามประเพณีและเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันเดียวกัน ชวน หลีกภัย รับลูกนี้มาเล่นแบบสบายๆ ด้วยการเพิ่มความชอบธรรมให้กับการเบี่ยงประเด็นครั้งนี้ โดยแทนที่จะเสนอให้ตีความคุณสมบัติของ ดร.ทักษิณ เพียงคนเดียว แต่กลับให้ตีความรัฐมนตรีทุกคนว่าขาดคุณสมบัติหรือเปล่า...ข้ออ้างก็คือ ‘เพื่อจะสร้างบรรทัดฐานทางการเมือง’ ส่วนรองนายกรัฐมนตรีบัญญัติ หลบหน้าผู้สื่อข่าว เพราะเขาทำท่าว่าจะสร้างบรรทัดฐานเอาไว้แล้วล่วงหน้าด้วยความเชื่อว่า ทักษิณจะลาออกจากรัฐมนตรีทันทีที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้...บรรทัดฐานของเขาโดนทำลายเพราะ ‘คาดผิด’ เขาคงประเมินทักษิณเอาไว้แค่ระดับ ‘ช้างอย่างบาง’ เท่านั้น

ในขณะที่ อำนาจ ชนะวงศ์ โฆษกพรรคพลังธรรมได้แบกนามสกุลแมกไซไซออกมาแสดงศรัทธาต่อความ ‘แกร่ง’ ของทักษิณด้วยคำว่า “การที่ ดร.ทักษิณ ยืนหยัดมาได้ทุกวันนี้ ทั้งๆ ที่ถูกแรงเสียดสีมาโดยตลอดถือว่านี่คือ...สปิริต...ซึ่งชี้ให้เห็นว่าพันตำรวจโททักษิณจะเป็นนักการเมืองที่ดีและยิ่งใหญ่ในอนาคต”

สปิริตในความหมายที่ อำนาจ ชนะวงศ์ ระบุ ก็ไม่น่าจะแปลต่างออกไปจากการ ‘คิด’ ความ ‘แกร่ง’ หรือการยกย่องตรา ‘ห้าห่วง’ ของทักษิณผู้ร่อนมาจากวงการเมืองไม่ผิดอะไรกับเทวดาที่ร่วงจากอากาศสู่ภาคพื้น...

‘สปิริต’ ที่หนาและแกร่งเต็มที่นี้เอง ที่สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อธิบายในเวลาต่อมาว่า... “ถ้าหากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า คุณทักษิณขาดจากคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรี...ถึงเวลานั้นท่านจะแสดงสปิริตโดยลาออกทันที...” ว่าไปแล้ว ‘สปิริต’ ในความหมายที่สุดารัตน์กล่าวมานี้ ก็คงไม่ต่างอะไรจากจำเลยหรือนักโทษที่แสดงสปิริตติดคุกทันทีที่ศาลฎีกายืนยันโทษ

………………………………………………..

(โปรดติดตามตอนที่ 4 (ตอนจบ) : เส้นทางการเมืองทักษิณ ‘เทวดาห้าห่วง’ พรุ่งนี้)


Resource: //www.ftawatch.org/news/view.php?id=8540

 

โดย: เปิดแฟ้มย้อนรอย : เส้นทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตร (3) (moonfleet ) 26 กุมภาพันธ์ 2552 0:40:28 น.  

 

เส้นทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตร

จากนิตยสาร ‘อาทิตย์’ ฉบับที่ 919 วันที่ 20 -26 มกราคม 2538

ตอนที่ 4 (จบ)

เส้นทางการเมืองทักษิณ ‘เทวดาห้าห่วง’


การที่พลเอกสุจินดา คราประยูร ลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเพื่อเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น...ก็คือการกระทำตามหลักกฎหมายทั่วไปว่าด้วย คอนฟลิก ออฟ อินเตอร์เรสต์ อย่างที่บวรศักดิ์ อุวรรณโณว่าไว้ ถ้าหากทักษิณต้องการเดินสู่เส้นทางนี้ เขาก็คงจะต้องเสียสถานะที่เคยทำให้เขามีอำนาจบัญชาการไม่ผิดอะไรกับผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุดในบริษัทธุรกิจที่ทำกำไรให้เขามาถึง 60,000 ล้านบาท ภายใน 4 ปี...ไม่มีอะไรต่างกันเลย



การยืนยันไม่ ‘ปรับตัว’ ให้เข้ากับกฎหมาย ก็ไม่ต่างอะไรจากความพยายามเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีพร้อมๆกับขอคุมกองทัพบกต่อไป แต่ดูเหมือนว่า...เส้นทางการเมืองที่ทำให้ทักษิณเข้ามาเป็นรัฐมนตรีนั้น...มันยังแยกไม่ได้จาก ‘อำนาจบัญชาการ’ ที่เขามีอยู่ในบริษัทชินวัตรในระยะเวลาสั้นๆ ที่เขาเป็นรัฐมนตรีการต่างประเทศ ทักษิณที่ยังมีอำนาจอยู่ในบริษัทที่มีชื่อเดียวกับนามสกุลของเขา บริษัทที่มีภรรยาผู้นอนเคียงข้างเขาทุกคืนเป็นประธาน ยากเหลือเกินที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะติดเครื่องดักฟังในห้องนอนเพื่อการฟังการพูดจาของเขากับภรรยาได้ทุกประโยค ในระยะสั้นๆ เหล่านี้เขาประสบความสำเร็จในการเร่งให้กระทรวงคมนาคมที่ควบคุมโดย วิชิต สุรพงษ์ชัย อนุมัติแผนการให้ความช่วยเหลือประเทศพม่าในการวางข่ายการสื่อสารโทรคมนาคมพื้นฐานไว้ล่วงหน้า อันจะสามารถรองรับกับบริษัทที่ที่จะเข้าไปขอสัมปทานธุรกิจสื่อสารในพม่าต่อไปไม่ว่า ล็อกซเล่ย์ หรือชินวัตรก็ตาม ทักษิณพยายามวางตัวข้าราชการการต่างประเทศให้เป็นผู้แทนไทยในองค์กรการค้าโลกที่จะกลายเป็น ‘ แหล่งข้อมูลสำคัญ’ ในวงการการค้าโลก และก่อนหน้านั้นเขาประสบความสำเร็จไม่น้อยในการสร้างความสัมพันธ์ทางจิตใจกับบรรดาข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ...มันไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะขนาดเขายังไม่เป็นรัฐมนตรีคมนาคมเลยสักครั้ง เขายังสามารถซื้อใจคนอย่างบุญคลี ปลั่งศิริ ข้าราชการอนาคตไกลขององค์การโทรศัพท์ฯหรือไพบูลย์ ลิมปะพยอม อดีตผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์ฯ ให้มารับใช้เขาอยู่ในเครือข่ายชินวัตรในทุกวันนี้



ถึงแม้ว่าทักษิณจะทำไม่รู้ไม่ชี้ในการเดินทางไปประชุมเอเปคในฐานะรัฐมนตรีการต่างประเทศที่อินโดนีเซีย แต่บริษัทไอบีซีอินโดนีเซียที่กำลังเร่งหาเครดิตและความมั่นใจในการบุกตลาดอินโดนีเซียคงชื่นใจไม่น้อย ที่เห็นอดีตเจ้านายและผู้ที่ยังถือหุ้นใหญ่ของบริษัทตัวเองยืนจับมืออยู่กับซูฮาร์โต ทักษิณเคยได้รับเหรียญสดุดีจากลีกวนยูอดีตประธานาธิบดีสิงคโปร์ในช่วงที่เขาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ และบริษัทชินวัตรของเขาในขณะนี้ก็เติบโตขึ้นด้วยการลงทุนจากบริษัทสิงคโปร์ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับสอง รองจากเขาและภรรยา ระหว่างที่หุ้นสิงคโปร์กำลังขึ้นอยู่ในบริษัทชินวัตร ทักษิณก็เยือนสิงคโปร์ด้วยเครื่องบินชาแลนเจอร์ที่เขาเหมาโดยภรรยาของเขาเอง หรือโดยการบริจาคของประทานบริษัทชินวัตร ชินวัตรประสบความสำเร็จด้วยดีในการได้รับความไว้วางใจให้วางโครงการสื่อสารพื้นฐานในเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจด้านใต้ ที่มีสิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซียเตรียมพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน แต่อะไรต่อมิอะไรไม่ได้ดีไปทั้งหมด...ทักษิณไม่สามารถกู้สถานภาพทางธุรกิจไอบีซีในกัมพูชาให้ดีขึ้นกว่าก่อนเป็นรัฐมนตรี แม้ว่าเขาเคยพยายามใช้ความเป็นรัฐมนตรีการต่างประเทศเข้าพบปะเจ้านโรดมสีหนุที่กรุงปักกิ่ง พยายามขอเข้าพบปะเจ้านโรดมรณฤทธิ์ที่พนมเปญ...แต่ผลออกมาคือ เจ้านโรดมรณฤทธิ์ เปิดทางให้บริษัทมาเลเซียเข้าไปรุกธุรกิจไอบีซีที่กัมพูชาเต็มเครือข่าย ประเทศไทยแสดงท่าทีตอบโต้อย่างแข็งกร้าวต่อกัมพูชามากขึ้นเรื่อยๆ ปิดช่องอานม้าจนเดี๋ยวนี้ ทักษิณนำทูตานุทูตไปเยี่ยมชายแดนเพื่อยืนยันกรณีไทยไม่ได้สนับสนุนเขมรแดง ซึ่งก่อนหน้าก็เคยมีการนำทูตานุทูตไปเยือนมาหลายครั้งแล้วแบบเป็น ‘พิธีการ’ แต่ยังไม่เคยลบข้อกล่าวหาในเรื่องนี้ได้หมดสิ้น...ฯลฯ



วันที่ 10 มกราคม ที่นายกรัฐมนตรีอาศัยมติคณะรัฐมนตรีให้ตีความรัฐธรรมนูญเรื่องคุณสมบัติต่อตุลาการรัฐธรรมนูญนั้น เป็นวันเดียวกับที่คณะรัฐมนตรีตัดสินใจเรื่องสปอร์ตคอมเพล็กซ์...หนังสือพิมพ์ทุกฉบับพาดหัวคล้ายกันว่า...นี่คือ ‘การแบ่งเค้ก’ และนั่นก็คงจะเป็นคำตอบแล้วว่า บรรยากาศการเมืองในวันนี้และในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ? อนาคตทางการเมืองของทักษิณก็จะต้องสัมพันธ์ไปกับบรรยากาศทางการเมืองเช่นนี้แหล่ะ เค้กยังมีอีกหลายก้อน แต่ละก้อนล้วนแล้วแต่เป็นก้อนใหญ่ๆ...ทักษิณเองก็ไม่ต่างอะไรกับธนินทร์ เจียรวนนท์ แห่งซีพีที่มีสัมปทานโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมายกับรัฐ ไม่ต่างอะไรกับอนันต์ กาญจนพาสน์ ที่กำลังมีสัมปทานสปอร์ตคอมเพล็กซ์ และอาจจะมีสัมปทานรถไฟฟ้ากับรัฐอีกต่อไป คนเหล่านี้จะสามารถ ‘เดินตามรอย’ ทักษิณได้ทันที หากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพียง 3 ใน 10ราย ออกเสียงต่างกัน ไม่มีใครที่อยากกินเค้กก้อนใหญ่แล้วไม่พยายามเข้ามามีส่วนตัดด้วยตัวเอง ถึงวันนั้น...รายจ่ายที่คิดกันว่า...มากเหลือหลายสำหรับการเป็นรัฐมนตรีของทักษิณก็อาจเป็นรายจ่ายที่น้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้มา ไม่ว่าศักดิ์ศรีของนักการเมืองที่หลายคนยอมทอดตัวเป็นศพให้ทักษิณเดิน ศักดิ์ศรีเหล่านั้นแทบจะกลายเป็น ‘เศษเงิน’ เลยทีเดียว การสร้างสมบารมีทางการเมืองอย่างยาวนาน 10 ปีของพลตรีจำลอง ศรีเมือง นั้น ‘ถูกมาก’ เมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้มาในขณะนี้ของทักษิณ ชินวัตร เกียรติประวัติของชวน หลีกภัย 25 ปียังมีราคาไม่มากนัก ถึงได้ยอมแลกกับการเสนอชื่อทักษิณเป็นรัฐมนตรีและยอมตีความรัฐธรรมนูญให้กับทักษิณต่อไป...



ดูเหมือนว่า ‘เงิน’ จะมีค่ามากกว่าอะไรทั้งสิ้นแม้กระทั่ง ‘วิญญาณ’ ถึงขณะนี้ทักษิณได้เริ่มแสดงท่าทีออกมาครั้งใหม่ว่า เขากำลังตัดสินใจบางอย่างในเร็ววัน ก็คงจะต้องติดตามต่อไปว่า ถึงเวลานั้นเขาอาจจะลาออก พร้อมกับบรรดานักการเมืองที่ยอมศิโรราบให้กับเขาทั้งหลายออกโรงมาแซ่ซ้องสรรเสริญอีกหรือเปล่า แต่ถึงขั้นนี้ วิลาส จันทรพิทักษ์ ส.ส.กทม.พรรคพลังธรรม แห่งกลุ่ม 23 ไม่คิดเช่นนั้น เขาระเบิดอารมณ์ออกมาว่า “ทำอย่างนี้ถือว่าหน้าด้านเกินไปแล้ว”



0000000000


ข่าวประกอบ
เปิดแฟ้มย้อนรอย : เส้นทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตร (2)
เปิดแฟ้มย้อนรอย : เส้นทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตร (3)
เปิดแฟ้มย้อนรอย : เส้นทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตร (1)

 

โดย: เปิดแฟ้มย้อนรอย : เส้นทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตร (4) ตอนจบ (moonfleet ) 26 กุมภาพันธ์ 2552 0:42:47 น.  

 

กำลังจะออกไปทำงานค่ะไว้หาเวลาเข้ามาอ่านจ้ะ

 

โดย: Opey 26 กุมภาพันธ์ 2552 18:30:05 น.  

 

แวะมาอ่านครับ

 

โดย: byonya 27 กุมภาพันธ์ 2552 9:25:53 น.  

 

รปศ.. บ้านเด็จ IP: 1.47.180.60 วันที่: 20 สิงหาคม 2553 เวลา:20:55:34 น.

 

โดย: moonfleet 20 สิงหาคม 2553 21:51:56 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


moonfleet
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ไม่มีสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาได้ หากไม่เคยเป็นความฝันมาก่อน
New Comments
Friends' blogs
[Add moonfleet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.