Having you in my life.. is a beautiful feeling.. You make me feel so SPECIAL.. with all that you say and all that you do. And today all I want to say is...You are the one I LOVE..

Daisypath Anniversary tickers

ตามรอยธุดงค์วัตร หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ๙ - ๑๖


๙. ไม่ยี่หระกับความตาย
         ท่านพระอาจารย์มั่นพิจารณาในตัวท่าน เห็นว่าการบำเพ็ญเพียรที่ผ่านมามีทั้งถูกทางและไม่ถูกทาง กระนั้นก็พอจะรู้วิธีแก้ไขได้บ้างแล้ว การอยู่ที่วัดเลียบนี้แม้จะเงียบสงบ แต่ก็ยังมีบางสิ่งบางอย่างเป็นเครื่องกังวลอยู่ ไม่สามารถปฏิบัติถึงขั้นอุกฤษฏ์ได้ ดังนั้นท่านจึงตัดสินใจออกธุดงค์เดี่ยวอีกครั้ง --- ท่านพระอาจารย์มั่นออกจากอุบลราชธานี เดินด้วยเท้าเปล่าไปเรื่อยๆ รอนแรมผ่านดงพญาเย็นซึ่งยังอุดมด้วยสัตว์ป่า ฝ่าดงดิบป่าทึบไปตลอดทาง ระหว่างนั้นท่านยังไม่พบสถานที่วิเวกอันควรกระทำความเพียรอย่างยาวนานแม้แต่แห่งเดียว  ตราบกระทั่งทะลุเข้าเขตจังหวัดนครนายก
         อาณาเขตป่าเขานครนายกขณะนั้นยังเป็นป่าดิบคงทึบ มีความสงัดเงียบวังเวงอันเย็นเยียบ เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรของท่านพระอาจารย์มั่นอย่างยิ่ง –  ขณะที่ท่านมุ่งตรงไปยังบริเวณถ้ำไผ่ขวาง ใกล้น้ำตกสาลิกาบนภูเขา ต้องผ่านหมู่บ้านไม่กี่หลังคาเรือน ซึ่งเป็นบ้านอยู่อาศัยของชาวไร่ ชาวบ้านและชาวไร่เห็นพระธุดงค์กัมมัฏฐานกำลังบ่ายหน้าจะขึ้นเขา ก็เข้ามานมัสการกราบไหว้ ไต่ถามท่านว่า “หลวงพ่อจะขึ้นไปบำเพ็ญสมณธรรมบนเขาลูกนี้หรือขอรับ” ..ท่านตอบว่า.. “ถูกแล้ว”  ชาวบ้านพอได้ยินคำยืนยันว่าท่านจะขึ้นเขาจริงๆ ต่างมีสีหน้าวิตกกังวล ห่วงใยอย่างเห็นได้ชัด คนหนึ่งในกลุ่มกล่าวห้ามปรามด้วยเจตนาดีว่า ”อย่าขึ้นไปเลยขอรับหลวงพ่อ มีพระขึ้นไปอยู่ในถ้ำบนเขาน้ำตกสาริกา ๖ รูปมาแล้วที่มรณภาพที่นั่น อยู่กับพวกกระผมข้างล่างนี้เถิด” ท่านพระอาจารย์มั่นก็ตอบเขาไปว่า “ขอบใจนะโยมที่ห่วงใย ขอให้อาตมาเป็นรูปที่ ๗ ก็แล้วกัน”
         แม้ชาวบ้านและชาวไร่ผู้มีความปรารถนาอันดียิ่ง จะกล่าวทัดทานเช่นไรก็ไม่อาจหยุดยั้งท่านไว้ได้ แล้วท่านก็ขึ้นเขาไปยังถ้ำไผ่ขวางดังกล่าว – ไปถึงบริเวณถ้ำปรากฏว่าเป็นถ้ำไม่ใหญ่โตนัก อาณาบริเวณโดยรอบมีต้นไม้ใหญ่เล็กขึ้นแน่นขนัด ทำให้ร่มครึ้มเยือกเย็น ท่านพระอาจารย์มั่นพิจารณาดูสถานที่บำเพ็ญเพียรแล้วออกจะแปลกใจสงสัยว่า มีเหตุอันใดหรือจึงทำให้พระธุดงค์กัมมัฏฐานต้องเอาชีวิตมาทิ้งที่นี่ถึง ๖ รูป กระทั่งชาวบ้านต้องเป็นภาระนำศพไปฝังไปเผาตามมีตามเกิด
         ท่านครุ่นคิดเพียงเท่านี้ ก็สลัดเรื่องดังกล่าวทิ้งไปไม่ใส่ใจอีก วางบริขารลงปากถ้ำ แล้วจัดที่นั่งสมาธิภาวนาและที่เดินจงกรม ทำความสะอาดถ้ำที่พักให้เรียบร้อยเท่าที่จะทำได้ – เวลานั้นเย็นย่ำสนธยาแล้ว ความมืดสลัวหม่นมัวครอบคลุมเข้ามาอย่างรวดเร็วกว่าปกติ เพราะเป็นป่าเขาดงทึบ อาณาบริเวณโดยรอบถ้ำสงัดวังเวงตามสภาพธรรมชาติที่ห่างไกลผู้คนอยู่อาศัย มีแต่เสียงนกเล็กๆ ส่งเสียงเพรียกขานจากยอดไม้ จักจั่นลองไนก็เริ่มส่งเสียงให้ได้ยินบ้างแล้ว  หากเป็นคนธรรมดาซึ่งไม่เคยผ่านการฝึกอบรมจิตจนกล้าแข็งเด็ดเดี่ยวและไม่เคยผ่านประสบการณ์ธุดงค์มาอย่างโชกโชนเคี่ยวกรำ คงอยู่เพียงโดดเดี่ยวท่ามกลางสิ่งแวดล้อมซึ่งน่าหวาดกลัวเช่นนี้ไม่ได้ หรือหากปล่อยให้ความกลัวครอบงำจนขาดสติ เห็นทีจะเตลิดกระเจิดกระเจิงลงเขาไปก่อนดวงตะวันจะลับฟ้าเป็นแม่นมั่น สำหรับท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว ท่านเคยชินกับความเปลี่ยวสงัดวังเวงมาแล้วอย่างโชกโชน ไม่มีอะไรจะทำให้จิตใจของท่านหวั่นไหวได้เลยแม้แต่น้อย
         ถึงเวลาวิกาลมืดสนิท ท่านพระอาจารย์มั่นก็เริ่มบำเพ็ญความเพียรด้วยการนั่งสมาธิตลอดทั้งคืน ปรากฏจิตสว่างไสวไปทั่ว  นับเป็นนิมิตอันดีของการปฏิบัติในค่ำคืนนั้น เช้าวันรุ่งขึ้น ท่านโคจรบิณฑบาตไปที่บ้านไร่ แล้วขึ้นเขากลับมายังถ้ำ  ฉันเสร็จแล้วก็พักผ่อนประมาณ ๑ ชั่วโมง เนื่องจากปฏิบัติมาตลอดทั้งคืน ครั้นครบกำหนดพักผ่อนแล้วก็ลุกขึ้น รู้สึกร่างกายผิดปกติขึ้นมาอย่างน่าแปลกใจ นั่นคือเนื้อตัวดูหนักๆ ไม่เหมือนเดิม เมื่อท่านไปอุจจาระจึงรู้ว่าท้องร่วง สังเกตดูจากอุจจาระก็พบว่า อาหารที่ฉันเข้าไปไม่ย่อยเอาเสียเลย ฉันเข้าไปอย่างไรก็ถ่ายออกมาอย่างนั้น ข้าวสุกยังเป็นเมล็ด แตงโมก็ยังเป็นชิ้นๆ สภาพเหมือนเดิมทุกอย่าง เมื่อเป็นเช่นนี้ท่านก็หวนคิดไปถึงพระธุดงค์ทั้ง ๖ รูป ซึ่งมรณภาพไปแล้วคงมรณภาพด้วยเหตุนี้แน่ และตัวของท่านเองก็คงจะถึงแก่ชีวิตด้วยเหตุเดียวกันเสียละกระมัง
         ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต มีความองอาจแกร่งกล้ายากจะหาผู้ใดเทียบได้ ความสะดุ้งกลัวมิอาจกล้ำกรายสร้างความหวั่นไหวให้แก่ท่านได้เลย เมื่อรู้เหตุแห่งมรณภาพเป็นเช่นนี้ ท่านจึงเตรียมปฏิบัติให้ถึงที่สุด จะเป็นจะตายเช่นไรไม่ใส่ใจมากังวล จากนั้นท่านก็เดินหาสถานที่อันเหมาะสมเพื่อจะปฏิบัติความเพียร
         มาพบที่แห่งหนึ่งตรงปากเหวลึก เป็นหินก้อนใหญ่ยื่นออกไปจากขอบเหว และหุบเหวแห่งนี้ลึกล้ำสุดประมาณ ท่านทดลองโยนก้อนหินลงไปนานถึงชั่วอึดใจ จึงได้ยินเสียงก้อนหินกระทบก้นเหว ท่านพระอาจารย์มั่นตัดสินใจจะนั่งปฏิบัติบนหินก้อนนี้ เมื่อถึงคราวจะตายก็ขอตายเสียที่นี่ให้ศพท่านหล่นลงไปในเหวลึกเสียเลย ไม่ต้องเป็นภาระเดือดร้อนของชาวบ้านที่จะมาจัดการกับศพของท่าน
         ค่ำคืนนั้น ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ได้ตั้งปณิธานไว้ว่า “ถ้าเราไม่รู้แจ้งเห็นจริงก็จะไม่ลุกจากที่นั่งนี้เด็ดขาด


๑๐. เห็นทางพ้นทุกข์
         บนก้อนหินใหญ่ที่ชะโงกเงื้อมออกไปจากปากเหวลึก ท่านพระอาจารย์มั่นนั่งปฏิบัติสมาธิอยู่บนนั้น เมื่อท่านกำหนดจิตกระทั่งจิตรวมสงบลงถึงที่ บังเกิดโอภาสสว่างออกไปภายนอกดุจกลางวัน  ความผ่องใสแห่งจิตครั้งนี้  ทำให้พิจารณาทุกอย่างที่ผ่านมาแจ้งประจักษ์ชัดเจนหมดสิ้นในปัจจุบัน  การพิจารณากายคตาตลอดมาถึงอรรถธรรมข้อต่างๆ ซึ่งยังเป็นที่เคลือบแคลงก็คลี่คลายใสกระจ่างทีละข้อ ขณะที่การพิจารณาธรรมทั้งหลายอย่างได้ผลอยู่นั้นเกิดมีนิมิตบางอย่างปรากฏขึ้น เห็นเป็นลูกสุนัขกินนมแม่อยู่ นิมิตที่เกิดขึ้นนี้จะต้องมีแหตุที่มาเพราะขณะจิตขั้นนี้จะไม่มีนิมิตเจือปนเข้ามาได้(คือเลยชั้นจะมีนิมิต)
         ท่านพระอาจารย์มั่นกำหนดพิจารณาที่มาของนิมิตโดยกำลังของกระแสจิต ก็เกิดญาณคือความรู้จริงขึ้นว่า “ลูกสุนัขนั้นก็คือตัวของท่านเองในอดีตชาติ และเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในชาติของสุนัขมานับครั้งไม่ถ้วน”  ท่านพิจารณาใคร่ครวญลึกลงไปอีกว่าเหตุใดจึงต้องเป็นสุนัขเช่นนั้น ก็ได้คำตอบกลับมาว่า “ภพ” คือความยินดีในอัตภาพของตน สุนัขยินดีในภพของมัน สุนัขก็ต้องอยู่ในภพของมันตลอดไป --- เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นรู้ว่าอดีตชาติของท่านเคยเกิดเป็นสุนัข อีกทั้งยังยึดติดวนเวียนอยู่ในภพในชาติของสุนัขเช่นนั้นนานแสนนาน ความสลดสังเวชก็บังเกิดแก่ท่าน ขณะเดียวกันจิตของท่านก็ยังสว่างโอภาสอยู่เช่นเดิม  ท่านพิจารณาค้นหาความจริงในจิตของท่านต่อไปอีกด้วยความพิศวงสงสัยว่า ในภพชาติปัจจุบันเหตุใดท่านจึงคล้ายกับพะว้าพะวังไม่อาจรู้แจ้งแทงตลอดอย่างรวดเร็วฉับพลัน และแม้จะได้รับความสลดสังเวชถึงปานนี้ กลับพิจารณาให้ยิ่งขึ้นไปอีกไม่ได้ ทั้งๆ ที่จิตละเอียดสว่างไสว
         ความจริงอีกประการหนึ่งที่ท่านไม่เคยรู้มาก่อนก็ทำให้รู้ขึ้นมาว่าท่าน “ปรารถนาพระสัมมาสัมโพธิญาณ” ฉะนั้นต้องเวียนว่ายตายเกิดหลายภพหลายชาติ บางชาติตกเป็นทาสของกิเลส ถึงกับเกิดเป็นสุนัขอย่างน่าสังเวช เหตุนี้ท่านจึงไม่ต้องการ “พุทธภูมิ” อีกต่อไปแล้ว  เพราะท่านต้องการหลุดพ้นจากแดนทุกข์ บรรลุสู่พระนิพพานในชาตินี้ – ท่านพระอาจารย์มั่นน้อมรำลึกถึงธรรมะ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และนำธรรมะนั้นมาชี้ทางพ้นทุกข์ในปฐมเทศนา คือ อริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
             ทุกข์  ควรกำหนดรู้
             สมุทัย  ควรละ
             นิโรธ  ควรทำให้แจ้ง
             มรรค  ควรเจริญให้มาก
         ทุกข์  ในปฐมเทศนา แสดงว่า  ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นทุกข์  แล้วใครล่ะเกิด แก่ เจ็บ ตาย จริงแท้ก็คืออัตภาพของเรานี่เอง  ฉะนั้น ร่างกายนี้จึงถือเป็นอริยสัจธรรม การพิจารณาตัวทุกข์ ก็คือพิจารณารูปกาย และการพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริงในกายนี้ ก็เท่ากับรู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจนั่นเอง 
         ท่านพระอาจารย์มั่นพิจารณาละเอียดลงไปอีกว่า ปฏิปทาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตอนจะตรัสรู้ ทรงนั่งสมาธิในวันวิสาขะ วันเพ็ญเดือน ๖ ...ตอนปฐมยาม พระองค์ทรงบรรลุปุพเพนิวาสานุสติญาณ คือญาณที่ระลึกชาติในหนหลังได้ --- แต่ละภพชาตินับไม่ถ้วนของพระองค์นั้นก็คือ “อัตภาพ” แต่ละอัตภาพ ซึ่งต้องมีทุกข์ครบถ้วน คือ เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย  ท่านพระอาจารย์มั่นได้ความชัดในใจท่านตรงนี้  ท่านนำเอาการระลึกชาติในการเกิดเป็นสุนัข มาเป็นเหตุพิจารณาให้เกิดความแจ่มแจ้งในจิต,เพื่อให้เพียงพอแก่ความต้องการในสัจธรรม  การดำเนินให้เป็นไป “ตามความเป็นจริง” นี้ เรียกว่า “ญาณ” คือการ “หยั่งรู้”  และท่านก็ได้ความรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจากความเพียงพอ(อิ่มตัว)ของญาณแต่ละครั้ง มิใช่เป็นสิ่งที่จะนึกคิด คาดเดาเอา หรือน้อมเพื่อให้เป็นไป  แต่..ต้องเกิดจากความจริงที่ว่า ต้องพอเพียงแห่งความต้องการจริงๆ(อิ่มตัว)
         การพอเพียงแห่งความต้องการ(อิ่มตัว)นี้ เปรียบได้ดั่งเช่น...ผลไม้ มันต้องพอควรแก่ความต้องการของมันถึงจะสุก, ข้าว ที่หุงด้วยไฟ มันต้องการไฟให้เพียงพอกับความต้องการของมันถึงจะสุก  แม้การพิจารณา “กาย” ที่เรียกว่า “ตัวทุกข์” นี้ ก็เช่นกัน ต้องอาศัยการพิจารณาจนเพียงพอแก่ความต้องการ(จุดอิ่มตัว)จึงจะเป็น “ญาณ” ขึ้นมาได้
         และกำลังของการพิจารณาดังกล่าว อาจจะมีกำลังทรงอยู่ชั่วขณะหนึ่ง หรือเวลาหนึ่งแล้วแต่กำลังของญาณ เช่น นิพพิทาญาณหรือความเบื่อหน่าย จะตั้งอยู่ในจิตนานเท่าไร สุดแล้วแต่การพิจารณากายเห็นชัดแจ้งโดยความสามารถของพลังจิต --- การพิจารณาทุกข์เป็นเหตุให้เกิดญาณนี้ ถ้าเกิดกำลังเพียงพอ(จุดอิ่มตัว)เข้าเมื่อใด ญาณนั้นจึงจะเป็นกำลังตัดกิเลสได้โดยเด็ดขาด ไม่อาจย้อนกลับไปกลับมาได้อีก เฉกเช่นผลไม้สุกแล้ว ไม่สามารถย้อนกลับมาดิบใหม่, ข้าวถูกไฟเผาสุกแล้ว ย่อมย้อนกลับมาดิบไม่ได้อีก


๑๑. อมนุษย์ทดสอบญาณ
         ขณะที่ท่านพระอาจารย์มั่นนั่งสมาธิดำเนินจิตพิจารณา มีกำลังสว่างอยู่นั้น พลัน...ก็บังเกิดเหตุไม่คาดฝัน มีอาการสะเทือนเลื่อนลั่นไปทั่วภูเขา ประหนึ่งจะถล่มทลายในพริบตา ความมืดทะมึนถาโถมเข้ามารอบทิศ มีเสียงต้นไม้ใหญ่น้อยหักโค่นดังสนั่นหวั่นไหว  ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสมาธิจิตเกือบทำให้ท่านลืมตาขึ้นดู หากมี “สติ” มั่นคงยั้งเอาไว้
         เหตุน่าหวาดหวั่นพรั่นพรึงที่อุบัติขึ้นมิได้เกิดขึ้นชั่ววูบแล้วสลายไป หากยังดำเนินต่อเนื่องมิหยุดยั้ง ท่านพระอาจารย์ยังคงรักษาระดับการพิจารณาเป็นอนุโลมิกญาณในอริยสัจธรรมโดยปกติ  มีสติควบคุมไม่สั่นคลอน การที่สติจะมีกำลังแค่ไหนเพียงไรนั้น ต้องทดสอบด้วยการเผชิญหน้าต่อสู้กับภัยอันตรายทั้งภายนอกและภายใน จะเกิดหวั่นไหวหรือไม่ จะยังคงพิจารณาอยู่กับร่องอยู่กับรอย ไม่เตลิดเปิดเปิงตามอารมณ์หวาดกลัวหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับบุคคลผู้นั้นว่าอบรมฝึกฝนจิตมาอย่างกร้าวแกร่งอาจหาญขนาดไหน
         ท่านพระอาจารย์มั่นได้พิสูจน์แล้วว่า ภาวะน่าสะพรึงกลัวที่จู่โจมเข้ามาสู่ท่านขณะนี้มิได้มีอำนาจกระทบกระเทือน “สติ” ให้หวั่นไหวได้เลย การพิจารณาอันเป็นอนุโลมิกญาณยังดำเนินไปเป็นปกติ
         ในขณะนั้นรูปของอสูรร้ายร่างมหึมาก็ได้ผุดขึ้นมาเบื้องหน้าท่านพระอาจารย์มั่น ความสูงของอมนุษย์ตนนี้ตระหง่านเกินยอดต้นยางใหญ่ ในมือกระชับกระบองเหล็ก มีเปลวไฟลุกท่วมกระบองตลอดเวลา ดูน่าพรั่นพรึงอย่างที่สุด อมนุษย์ย่างก้าวเข้ามาหาท่าน เงือดเงื้อกระบองเหล็กเต็มเหยียดอย่างหมายชีวิต ร้องคำรามขู่ตะคอกว่า “จงลุกจากที่นี่เดี๋ยวนี้ มิฉะนั้นต้องตายอยู่ที่นี่”
         ท่านพระอาจารย์มั่นไม่เคยประสบพบกับภาวการณ์ที่เกิดขึ้นในจิตถึงขนาดนี้ และนี่คืออันตรายเป็นที่สุดต่อการบำเพ็ญจิตขั้นละเอียด เพราะถ้าตื่นตกใจหรือสติไหวหวั่นจะผ่านขั้นนี้ไปไม่ได้เลย หรืออาจเกิดผลร้ายอื่นๆ ตามมาจนยากจะคาดเดา แต่ท่านอบรมสติของท่านจนเป็นมหาสติ ความสะทกสะท้านใดๆ ไม่อาจมากระทบได้ ท่านพระอาจารย์มั่นตอบกลับไปสั้นๆ ว่า “เราไม่ลุก”
         ฉับพลันทันทีนั้น อมนุษย์ได้หวดกระบองใหญ่กระหน่ำเข้าใส่ร่างท่านพระอาจารย์มั่น เสียงดังสนั่นหวั่นไหว ท่านรู้สึกว่าร่างของท่านจมดิ่งลงไปในดินไม่ต่ำกว่า ๑๐ วา แต่แล้วก็ลอยกลับขึ้นมานั่งขัดสมาธิ ณ.ที่เดิม  และไม่ว่าสิ่งใดจะเกิดขึ้น  ท่านพระอาจารย์มั่นก็ยังกำหนดจิตแน่วแน่เป็นอนุโลมิกญาณตลอดไป ซึ่งเป็นการพิจารณาจุดสุดยอดของญาณ ในขณะนั้นการมีชีวิตหรือความตายไม่มีความหมายอะไรเลย --- ภาวการณ์เลวร้ายยังมิได้ยุติลง อมนุษย์ตนนั้นหันไปถอนต้นเคียนใหญ่อยู่ทางด้านหลังของพระอาจารย์มั่น ง่ายดายประหนึ่งถอนต้นหญ้า แล้วฟาดต้นตะเคียนใหญ่เข้าใส่ท่านพระอาจารย์มั่นดังสนั่นหวั่นไหว  ร่างของท่านพระอาจารย์มั่นบี้แบนแหลกละเอียดไปพร้อมกับก้อนหินใหญ่ที่ท่านนั่งอยู่ แม้เหตุการณ์จะพรั่นพรึงถึงขั้นนี้ ดวงจิตของท่านก็ยังมั่นคงส่องสว่างดุจเดิม ไม่มีสิ่งใดทำให้ระคายเคืองได้เลย – ร่างกายของท่านพระอาจารย์มั่นที่แหลกละเอียดพลันประมวลรวมเป็นรูปสมบูรณ์ขึ้นมาอีก นั่งอยู่ตรงไหน เช่นไร ก็ปรากฏเป็นไปเช่นเดิม
         อมนุษย์สูงใหญ่มหึมาหมดฤทธิ์ร้ายจะแสดงอีกต่อไป  ร่างกายตระหง่านเงื้อมค่อยๆ แปรเปลี่ยนเป็นมนุษย์ธรรมดา ยอมตัวยกมือไหว้นมัสการขอขมาลาโทษที่ล่วงเกินท่านก่อนจะหายวับไป
         เวลานั้น... ใกล้รุ่งแจ้ง  แสงทองส่องฟ้าแล้ว ไก่ป่าส่งเสียงขันมาจากพุ่มไม้ใบบังที่มันอยู่อาศัย ประมาณเวลาตี ๓ – ตี ๔ เห็นจะได้ ท่านพระอาจารย์มั่นยังดำเนินสมาธิจิตไม่ลดละ ท่านคำนึงถึงญาณ ๓ ในอริยมรรค คือ สัจญาณ กิจญาณ และกตญาณ โดยเกิดความรู้อย่างแท้จริงว่าจิตที่บำเพ็ญกระทั่งถึงจุดอิ่มตัวแล้วนั้นเป็น “ญาณ” – อุปมาได้ดั่งการกินอาหาร ไม่จำเป็นต้องสนใจว่าต้องใช้อาหารจำนวนเท่านั้นเท่านี้กินเข้าไปถึงจะอิ่ม ขอให้มีอาหารกินเข้าไปเถอะ เมื่อร่างกายพอเพียงแก่ความต้องการแล้วก็จะถึงจุดอิ่มเอง ซึ่งคนกินอาหารย่อมรู้เองว่าอิ่มเมื่อไหร่
         “ญาณ” ก็เช่นเดียวกัน ขอเพียงบำเพ็ญให้ถูกต้อง เช่น พิจารณา “กาย” คือ “ตัวทุกข์” พอรู้แจ้งเห็นจริงในกาย เกิดความสลดสังเวชแล้ว เกิดความเบื่อหน่าย(จุดอิ่มตัว) ความเบื่อหน่ายคือ “ญาณ” ซึ่งญาณนี้เกิดขึ้นเอง จะสมมุติให้เกิดขึ้นไม่ได้ เช่นเดียวกับการกินอาหาร จะสมมุติว่า “อิ่ม” ไม่ได้


๑๒. รู้แจ้งในวิปัสสนาญาณ
         การดำเนิน “ญาณ” ของท่านพระอาจารย์มั่นเป็นไปตามลำดับขั้นตอนของ “สัจจะ” คือความจริง กล่าวคือ พิจารณา “ตัวทุกข์” เห็น “ตัวทุกข์” แล้วจริงๆ มิใช่เดาเอา สมมุติเอา เช่น เห็นเส้นผมเป็นธาตุดินจริง ดังนี้เรียกว่าเป็นสัจญาณ – การดำเนินญาณต่อไปคือกระทำ “ความจริง” นั้นให้ปรากฏอยู่เสมอ เรียกว่าเป็นกิจญาณ – การถึงจุดละวาง ประหนึ่งคนอิ่มอาหารซึ่งละไปแล้วต่อความหิวโดยอัตโนมัติ เรียกว่าเป็นกตญาณ เมื่อถึงวาระหนึ่งท่านพระอาจารย์มั่นได้เข้าถึงวิปัสสนาญาณแล้ว วิปัสสนา คือความรู้แจ้งเห็นแจ้ง ธรรมดาความรู้แจ้งเห็นแจ้งเฉยๆ เช่นเห็นว่าธาตุเป็นขันธ์ เกิดจากพิจารณาด้วยตาใน ยังไม่ใช่”ญาณ”
         เมื่อรู้แจ้งเห็นจริงในขันธ์ทั้งหลายแล้ว เร่งบำเพ็ญพิจารณาไม่หยุดยั้ง กระทั่งถึงจุดอิ่มตัวเกิดความเบื่อหน่ายเป็นญาณ นั่นเองจึงจะได้ชื่อว่าวิอัสสนาญาณ
         ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต บำเพ็ญเพียรพิจารณาอย่างลืมวันลืมคืนจนหมดสิ้นความสงสัย และรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ควรเห็น ได้รับผลตามความเป็นจริง ในพระพุทธศาสนาแล้ว โดยกาลเวลาผ่านไปถึง ๓ วัน ๓ คืน เต็มๆ
         ก่อนรุ่งแจ้งท่านลุกขึ้นเดินจงกลม รู้สึกตัวเบาสบายอย่างไม่เคยเป็นเช่นนี้มาก่อน ครั้นได้เวลาบิณฑบาต ท่านก็นุ่งห่มสบงจีวร ช้อนสังฆาฏิเป็นปริมณฑล สะพายบาตรไว้ข้างประดุจอุ้ม ลงจากหน้าถ้ำบนเขาน้ำตกสาลิกา บ่ายหน้าสู่หมู่บ้านชาวไร่เชิงเขา ณ.บัดนั้น
         ชาวบ้านเชิงเขาน้ำตกสาลิกา เห็นท่านพระอาจารย์มั่นลงมาบิณฑบาตเพียงวันเดียว เช้าวันต่อมาก็ไม่เห็นท่านมาปรากฏกายอีก บางคนสนใจท่านเป็นพิเศษ ชักชวนหมู่พวกตามขึ้นไปบนเขาจนถึงถ้ำ แต่ไม่พบเห็นท่านอยู่บริเวณนั้น ทั้งนี้เนื่องจากท่านพระอาจารย์มั่นเลือกสถานที่กระทำความเพียรยากแก่การค้นหา ชาวบ้านที่ขึ้นไปก็ไม่กล้าบุ่มบ่ามซอกแซกตามหาให้วุ่นวายเป็นการรบกวน เพราะไม่รู้ว่าท่านกำลังเข้าสมาธิอยู่หรือไม่ จึงพากันกลับกันลงมา
         ๓ วัน ผ่านไป.. ชาวบ้านไม่เห็นท่านพระอาจารย์มั่นลงจากเขามาบิณฑบาต ก็คิดว่าท่านคงมรณภาพไปแล้วเช่นเดียวกับพระธุดงค์รูปอื่นๆ  บ้างก็ว่าท่านอาจนั่งสมาธิข้ามวันข้ามคืน แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่คาดเดาเอาว่าท่านต้องมรณภาพไปแล้วอย่างแน่นอน  และหากท่านมรณภาพไปแล้วหลายวัน ศพก็คงเน่าเฟะดูไม่ได้ คราวนี้จะทำอย่างไรกันดีในการหาวิธีนำศพของท่านลงมาบำเพ็ญกุศลตามประเพณี  ชาวบ้านต่างก็โจษขานกันไปตามประสา
         เช้าวันนั้น ชาวบ้านเห็นท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ลงจากเขามาบิณฑบาตด้วยอาการสงบสำรวมเช่นที่เห็นคราวแรก ก็ปีติดีใจกันทั่วหน้า ใส่บาตรแล้วคนใจกล้าก็ถามท่านตรงๆว่า “ ท่านอาจารย์ครับ ๓ วันที่แล้วมาทำไมจึงไม่มาบิณฑบาต”  ท่านตอบว่า “อาตมาต่อสู้กับความโง่ของตัวเองนั่นแหละโยม เห็นจิตสงบดีจึงไม่ลงมา” – แม้ชาวบ้านจะเห็นท่านลงมาบิณฑบาตแล้วก็ตาม แต่ไม่มีใครมั่นใจว่าท่านจะมีชีวิตอยู่รอดไปยาวนานสักเท่าไร เพราะการตายของพระธุดงค์กัมมัฏฐานถึง ๖ รูปก่อนหน้านี้นั้น เป็นความประหวั่นที่น่าพรั่นพรึงจริงๆ
         ในความเชื่อของชาวบ้านเชิงเขาน้ำตกสาลิกา  พวกเขาเชื่อว่าถ้ำไผ่ขวางคือแดนมรณะของพระธุดงค์กัมมัฏฐานซึ่งบังอาจเข้าไปบำเพ็ญเพียรทุกรูป มัจจุราชที่แอบแฝงอยู่บนเทือกภู หรือซ่อนเร้นอยู่ในถ้ำนั้น ต้องเป็นภูตผีปีศาจทรงฤทธิ์อำนาจเหนือกว่าอำนาจธรรมที่พระธุดงค์กัมมัฏฐานคุ้มครองตัวเองอย่างแน่นอน
        พระอาจารย์มั่นบิณฑบาตแล้วก็กลับขึ้นเขาสู่ถ้ำไผ่ขวาง เสร็จภัตกิจท่านก็ปฏิบัติบำเพ็ญเพียรมิได้ขาดตอน คือนั่งสมาธิและเดินจงกรมเป็นปกติ ระหว่างนี้ท่านได้พิจารณามูลเหตุที่พระธุดงค์กัมมัฏฐาน ๖ รูปมาปฏิบัติความเพียร ณ.ถ้ำแห่งนี้แล้วมรณภาพทุกรูป ก็ทราบว่าประพฤติศีลวิบัติโดยลักษณะต่างๆกัน
        รูปที่ ๑  มาอยู่ ๒ เดือน ๒๙ วัน ก็มรณภาพ รูปนี้ผิดพระธรรมวินัยข้อที่เก็บอาหารเป็นสันนิธิ เป็นอาบัติปาจิตตีย์ในโภชนวรรค สิกขาบทที่ ๗ เวลาไปบิณฑบาตแล้วมีอาหารบางสิ่งที่ไม่บูดเสีย แล้วเก็บไว้ฉันในวันต่อไป
        รูปที่ ๒   อยู่ได้ ๓ เดือนกับ ๒๙ วัน ก็มรณภาพ รูปนี้ได้ไปตัดไม้ในป่าด้วยตนเอง แล้วนำมาทำร้านเพื่อเป็นที่สำหรับนั่งและนอนนอกถ้ำเพระ  พื้นดินพื้นหินชุ่มชื้น ผิดพระธรรมวินัยเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ในสิกขาบทที่ ๑ แห่งภูตคามวรรค
        รูปที่ ๓  มาอยู่ ๔ เดือน ๒๒ วัน ก็มรณภาพ รูปนี้ทำผิดพระธรรมวินัย ไปขุดดินขุดมันป่าเอามาเก็บไว้และต้มฉันเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่สมณะไม่ควรกระทำ ผิดพระวินัยตามพุทธบัญญัติข้อที่ ๑ ของภูตคามวรรค และข้อที่ ๑๐ ของมุสาวาทวรรค
        รูปที่ ๔  อยู่ได้ ๕ เดือน ๒๐ วัน ก็มรณภาพในถ้ำนี้ ชาวบ้านนำศพไปบำเพ็ญกุศลตามประเพณี รูปนี้กระทำผิดพระวินัยโดยเก็บอาหารซึ่งบิณฑบาตมาได้เอาไว้ฉันต่อ และยังเก็บผลไม้ต่างๆในป่าด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นการผิดพระธรรมวินัยข้อ ๘ ของโภชนวรรคปาจิตตีย์และข้อ ๑ ภูตคามวรรคปาจิตตีย์
        รูปที่ ๕  อยู่ได้ ๖ เดือน ๑๘ วัน ก็มรณภาพ รูปนี้ได้ไปเก็บผลไม้จากต้นไม้เพราะในป่ามีผลไม้ต่างๆ เช่น ผลไม้เค็ง ผลไม้พอง ผลนมวัว เป็นอาทิ ท่านได้ไปเก็บจากต้นมาฉันเอง นี่เป็นอาบัติปาจิตตีย์ข้อที่ ๑ ของภูตคามวรรค และข้อที่ ๑๐ ของโภชนวรรค
        รูปที่ ๖  อยู่ได้ ๗ เดือน ๑๒ วันก็อาพาธ ขอให้ญาติโยมพาไปส่งที่วัดเดิมของท่านที่ขอนแก่น เมื่อกลับไปอยู่วัดเดิมได้ ๑ เดือนก็มรณภาพ องค์นี้กระทำความผิดวินัยอีกเช่นกัน คือเก็บอาหารต่างๆ ที่เป็นสันนิธิ เป็นอาบัติที่ได้กระทำอยู่เป็นอาจิณ
        ซึ่งตัวท่านเอง ก็มิได้รู้ถึงสมุฏฐานแห่งการเป็นอาบัติ   จึงต้องศีลวิบัติอันเป็นเหตุให้ต้องถึงแก่ชีวิต


๑๓. สำเนียกจากสรรพสัตว์
         นับแต่ท่านพระอาจารย์มั่นพบแสงสว่างแห่งธรรม การปฏิบัติของท่านได้ผลสงบทั้งวันทั้งคืน อีกทั้งยังได้แจ้งชัดถึงการแนะนำสั่งสอนธรรมะในกาลต่อไปภายหน้า  ว่าควรจะอบรมสั่งสอนพระภิกษุ สามเณร เป็นประการสำคัญ
         พระภิกษุ สามเณร ที่รู้ธรรมแน่ชัดแจ่มกระจ่างแล้วเพียงรูปเดียว ย่อมนำไปสั่งสอนอุบาสก อุบาสิกา ประชาชนได้มากมาย เพราะฉะนั้นท่านจึงตั้งใจจะสอนพระภิกษุและสามเณรเป็นอันดับแรก แต่ก่อนจะสอนผู้หนึ่งผู้ใด จะต้องรู้เสียก่อนว่าผู้นั้นมีอุปนิสัยวาสนาและปุพเพนิวาสแต่กาลก่อนเป็นอย่างไร ผู้ใดควรได้รับธรรมกัมมัฏฐานอะไรถึงจะรู้ธรรมลึกซึ้ง --- ด้วยเหตุนี้ ศิษย์ที่ได้รับการอบรมสั่งสอนจากท่านจึงบังเกิดผลในการปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานอย่างรู้แจ้งเห็นจริง จะเห็นได้ว่าพระอาจารย์กัมมัฏฐานรูปสำคัญๆ ที่สร้างประโยชน์แก่พระพุทธศาสนามากมายจะเป็นศิษย์ของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต แทบทั้งสิ้น อาทิ ท่านอาจารย์สุวรรณ สุจิณฺโน, ท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม, ท่านอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล, ท่านอาจารย์เทสก์ เทสรงฺสี, ท่านอาจารย์ชา, ท่านอาจารย์ฝั้น อาจาโร, ท่านอาจารย์ขาว, ท่านอาจารย์วิริยังค์ สิรินฺธโร, ท่านอาจารย์มหายัง ญาณสมฺปณฺโน ฯลฯ
         ณ.ที่ถ้ำไผ่ขวางแห่งนี้ เป็นป่าสมบูรณ์มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ไพศาล และเป็นที่อาศัยของสัตว์ป่าใหญ่น้อยมากมาย คนเข้าไปไล่ล่าเข่นฆ่าสัตว์มีน้อย และมีปืนอานุภาพประหารไม่สูงนัก  ส่วนมากจะเป็นพรานซึ่งเป็นชาวไร่ชาวบ้านป่า พวกเขาล่าสัตว์ก็เพื่อต้องการเนื้อมาเป็นอาหารเสียส่วนใหญ่ จะมีบ้างที่ต้องการเนื้อ หนัง งา เขา นอของสัตว์นำไปขาย แต่ก็มีน้อยเต็มที
         ท่านพระอาจารย์มั่นบำเพ็ญธรรมที่ถ้ำไผ่ขวางด้วยความสงบสบายและท่านสามารถรู้ภาษาสัตว์ได้ ณ.ที่นี้  ท่านอธิบายย่อๆว่า ภาษาสัตว์ก็เหมือนกับภาษามนุษย์นั่นเอง คือเวลามนุษย์เปล่งเสียงพูดออกไปตามที่กระแสจิตบ่งบอกความมุ่งหมายต่างๆ ภาษาสัตว์ก็เช่นกัน กระแสจิตของมันบ่งบอกความมุ่งหมายอะไรออกไป มันก็จะเปล่งเสียงเป็นภาษาที่รู้กันในระหว่างหมู่พวก
         ใกล้ๆ กับถ้ำที่ท่านบำเพ็ญธรรม มีลิงฝูงใหญ่ฝูงหนึ่งอาศัยอยู่ ครั้งแรกที่พวกมันเห็นท่าน ฝูงลิงพากันแตกตื่นชุลมุนวุ่นวายด้วยความหวาดกลัว เพราะลิงเล็กๆ เหล่านี้ เคยถูกมนุษย์ใจบาปหยาบช้าบุกเข้ามาไล่ล่ารังควานพวกมันมาแล้ว ลิงบางตัวถูกมนุษย์ยิงถึงตาย ร่างไร้ชีวิตร่วงหล่นลงมาจากยอดไม้ แล้วมนุษย์ก็จัดการผ่าท้องถลกหนัง ปิ้งย่างกินเป็นอาหารอย่างเอร็ดอร่อย พวกลิงที่เห็นการกระทำของมนุษย์ต่างเกิดความหวาดกลัวฝังใจ เห็นมนุษย์ที่ใดจะพากันหลบหนีให้ห่างไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้
        ดังนั้น  เมื่อฝูงลิงเห็นท่านพระอาจารย์มาปรากฏที่ถ้ำ พวกมันจึงพากันแตกตื่นหนีชุลมุนดังกล่าว มีลิงชั้นหัวหน้า ๔-๕ ตัวใจกล้าองอาจกว่าเพื่อน เข้ามาใกล้ๆ เมียงๆ มองๆ แสดงความสนใจ ขณะเดียวกันก็ยังมีอากัปกิริยาระแวงระวังภัย พร้อมจะเผ่นหนีเอาตัวรอดได้ทุกเมื่อ มันร้องบอกแก่กันว่า “ฤๅษีตนนี้ดูท่านผ่องใส ตั้งหน้ากระทำความเพียรดี ไม่เหมือนฤษีตนก่อนๆ ไม่ค่อยกระทำความเพียร บางทียังขว้างปาเราเสียอีกเหมือนไม่ใช่ฤๅษี”  ท่านพระอาจารย์มั่นได้ยินลิงบอกกล่าวแก่กัน ก็รู้เรื่องเข้าใจทุกถ้อยคำสำเนียงซึ่งเปล่งออกมาเป็นภาษาสัตว์ ฟังแล้วท่านก็มาคำนึงว่า สัตว์เดียรัจฉานแท้ๆ แม้มันจะมีปัญญาและความฉลาดรอบรู้เทียบเคียงกับมนุษย์ไม่ได้ แต่มันก็ยังสามารถแยกแยะอะไรดีอะไรไม่ดีได้ น่าสังเวชที่ถูกมนุษย์ผู้ซึ่งขาดเมตตาธรรมจ้องรังควานมุ่งร้ายหมายชีวิต เพราะคิดเห็นแก่ตัว มุ่งสนองความอิ่มของตัวเองจากเลือดเนื้อของพวกมันประการเดียว --- ไม่เพียงแต่ลิงเท่านั้นที่ถูกมนุษย์รังควานรังแก แม้แต่นกตัวน้อยๆ ก็ยังหนีไม่พ้นมือมนุษย์ซึ่งจ้องจะล่าดักจับเอาไปขายทำให้พ่อแม่พลัดจากลูก ผัวพรากจากเมีย เป็นที่สลดหดหู่เหลือจะกล่าว
         หลังจากพวกลิงเชื่อมั่นวางใจได้ว่า ฤๅษีหรือท่านพระอาจารย์มั่นไม่เป็นอันตรายต่อพวกมัน อีกทั้งยังได้สัมผัสกระแสเมตตาอันร่มเย็นจากท่าน พวกมันก็ดำเนินวิถีชีวิตไปตามปกติ แต่ละวันพอรุ่งแจ้งแสงทองส่องฟ้า ฝูงลิงก็จะตระเวนไปหากินในที่ใกล้บ้างไกลบ้าง มีทะเลาะวิวาทกันบ้าง มีชอบพอกันบ้าง และเล่นหัวเป็นที่สนุกสนาน บางคู่บางตัวเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันดี และก็มีที่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน ถึงขั้นมีการต่อว่าต่อขานได้ยินได้ฟังแล้วน่าขำ บางตัวมันว่า “มึงได้อะไรมาไม่แบ่งกู กูได้มายังแบ่งมึง” --- ท่านพระอาจารย์มั่นอยู่ที่ถ้ำไผ่ขวาง บนเขาน้ำตกสาริกา ด้วยจิตผ่องใสเบิกบานเต็มที่ การเข้าถึงโมกขธรรม คือธรรมอันเป็นเครื่องหลุดพ้นจากการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทำให้เบาสบายตลอดทิวาราตรี


๑๔. สงบตรึกตรอง
         ขณะนั้นใกล้จะเข้าพรรษาแล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นเก็บบริขารอันมีอยู่น้อยนิดจาริกธุดงค์ต่อไปอีก ลงจากเขาสาลิกา จังหวัดนครนายกผ่านจังหวัดสระบุรีไปถึงจังหวัดลพบุรีและหยุดพักที่ถ้ำสิงโต เขาช่องลม(ปัจจุบันคือเขาพระงาม) ปฏิบัติบำเพ็ญสมณธรรมเป็นระยะเวลาหนึ่ง – ที่ถ้ำสิงโตนี้ ท่านพระอาจารย์ได้ความรู้สำคัญขึ้นในสมาธิว่า “สาวกของพระพุทธเจ้าต้องถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นมูลเหตุ ถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นแบบฉบับ และถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอาศัย”
         คำว่า “ถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นมูลเหตุ” นั้น ได้แก่การที่จะปฏิบัติให้ถูกต้อง หรือต้องการความจริงแท้ ควรพิจารณาความจริงอันเป็นมูลเหตุสำคัญยิ่ง ที่พระพุทธเจ้าตัดสินพระทัยออกบรรพชาในเบื้องต้น – ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จออกบรรพชา พระองค์ทรงอยู่ท่ามกลางความสุขสำราญ สะดวกสบายอย่างที่เปรียบมิได้แล้ว ไม่ว่าจะกิน จะนอน นั่ง เดิน แหนห้อมอยู่ในกามสุขซึ่งปุถุชนทั่วไปปรารถนาอย่างที่สุด  แต่มูลเหตุใดเล่าที่พระพุทธเจ้าทรงสละกามสุขทั้งหลายทั้งปวงมิได้เสียดาย เพื่อจะออกไปอยู่กับดินกินกับทราย อาศัยเพียงร่มไม้ใบบังเป็นที่พำนักอาศัย ต้องอยู่ท่ามกลางความวิปริตแปรปรวนของภาวะอากาศซึ่งไม่คงที่  ยามร้อนก็ไม่มีผู้ปรนนิบัติพัดวีผ่อนคลาย  ยามหนาวก็ต้องอดทนอดกลั้นอยู่กับความเย็นเยียบโดยปราศจากอาภรณ์นุ่มหนาห่มกาย ไม่มีแม้แต่ไออุ่นจากกองไฟช่วยบรรเทา  ครั้นถึงวาระที่สายฝนสาดกระหน่ำ ก็ต้องยอมให้สายน้ำกรรโชกซัดใส่จนเปียกโชกทรมานอยู่เช่นนั้น  และแม้แต่ครั้งสุดท้าย พระองค์ถึงกับยอมอดอาหาร ยอมอดกลั้นต่อความหิว แทบว่าเลือดเนื้อในกายแห้งหายไปจนเหลือแค่โครงกระดูก – การเสียสละอย่างแรงกล้า อดทนต่อความทุกข์เวทนาถึงขนาดนี้ของพระองค์ ก็เพื่อจะค้นหาโมกขธรรม คือธรรมอันเป็นเครื่องหลุดพ้น เกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้ได้นั่นเอง  นี่คือมูลเหตุเบื้องแรกของพระองค์
         สาวกผู้เจริญรอยตามพระยุคลบาท จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรำลึกถึงมูลเหตุสำคัญนี้ของพระองค์ แล้วนำเอามาพิสูจน์ปฏิปทาของตนที่ดำเนินอยู่ว่าเป็นอย่างไร เสียสละจนถึงที่สุดแล้วหรือไม่? เสียสละโดยความเป็นจริงหรือไม่?  พระภิกษุบางรูปกล่าวได้ว่ามิได้ยึดถือมูลเหตุของพระพุทธเจ้าแม้แต่น้อย  การครองเพศบรรพชิตก็เป็นบรรพชิตเสแสร้งแกล้งทำปฏิบัติตนเป็นพระกัมมัฏฐานจอมปลอม  เพราะตัวเองยังโลภหลงอยู่ในกิเลสตัณหาชนิดไม่มีพร่อง  ไม่สละแม้แต่อารมณ์ ถือยศศักดิ์ว่าข้าเหนือชั้นกว่าเจ้า เจ้าต่ำกว่าข้า ยึดติดอย่างเหนียวแน่นชนิดมีคนมาช่วยแกะยังไม่ยอมปล่อย
         บางคนโกนหัวห่มผ้าเหลืองเป็นเปลือก วางท่าสงบเงียบขรึมน่าเคารพเลื่อมใส ถ้อยวาจาคำพูดเลือกสรรแต่ข้อธรรมสำคัญมาประกอบให้ดูขลัง แต่จิตใจจริงๆแล้ว ยังหนาแน่นด้วยโลภโมโทสัน มีความหื่นกระหายในลาภยศสรรเสริญเปี่ยมแปล้ คนประเภทนี้มองเห็นเกลื่อนกล่นได้ในเพศบรรพชิต  สามารถหลอกล่ออุบาสกอุบาสิกาให้งมงายได้ไม่ยาก
         บางคนแสดงตนเป็นพระธุดงค์กัมมัฏฐาน  ทำทีเป็นว่าตัวเรานี้อยู่ป่าอยู่เขา ปลีกวิเวกเพื่อบำเพ็ญความสงบ หากทว่ามีเครื่องรางของขลังอัดเต็มบาตรเต็มย่าม เตรียมไว้จำหน่าย ให้เช่า เวลากลับวัดตัวเบาสบายเพราะได้ลาภอามิสมาแน่นย่าม แต่ใจหนักหนาด้วยกิเลสพอกพูนแทบแบกไม่ไหว
         บางคนบางรูปอยู่ป่าอยู่วัดก็หาความสงบไม่ได้ เพราะจิตใจพอกพูนด้วยเครื่องกังวลนานัปการ เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความห่วงใยอาลัยอาวรณ์ด้วยการก่อสร้าง จะอยู่ที่ใดจะอยู่ที่ไหนก็ยากจะสงบได้ เพราะคอยแต่ครุ่นคิดวิตกแต่ว่าศาลาการเปรียญ โบสถ์วิหาร ไปจนกระทั่งกุฏิน้อยใหญ่ที่ก่อสร้างครึ่งๆกลางๆ เอาไว้จะแล้วเสร็จสมบูรณ์เมื่อไร จะหาเงินทองมาจ่ายให้แก่ผู้รับเหมา ช่างก่อสร้างได้ที่ไหน หรือเตลิดเปิดเปิงไปถึงขั้นโบสถ์วิหารของวัดตนจะโอ่อ่างามวิจิตรตระการตาสู้วัดอื่นๆเขาได้หรือไม่
        เรื่องที่จะครุ่นคิดภาคเพียรบำเพ็ญสมณธรรมเพื่อความหลุดพ้นของตัวเองไม่มีเอาเสียเลย ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ให้เอาเราเป็นเนติแบบฉบับ”


๑๕. พระพุทธเจ้าเป็นแบบฉบับ
         พระพุทธเจ้านับตั้งแต่ตรัสรู้ รู้แจ้งเห็นจริงในโมกขธรรม หลุดพ้นจากความทุกข์มิรู้จบมิรู้สิ้น คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย อย่างสำเร็จเด็ดขาด พระองค์ได้ทรงปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง มิใช่เพียงแต่ทรงสั่งสอนผู้อื่นเท่านั้น พระองค์ยังทรงปฏิบัติตัวของพระองค์เอง มิเคยพร่องแม้แต่น้อยนิด ตราบดับขันธปรินิพพาน --- หลังจากทรงตรัสรู้แล้ว ก่อนจะรับข้าวมธุปายาสจากตะปุสสะและพัลสิลกะ ก็ทรงหาบาตรเพื่อรับและทรงกระทำพุทธกิจเป็นวัตร คือรุ่งเช้าพระองค์เสด็จไปบิณฑบาต ตอนบ่ายพระองค์เสด็จไปบิณฑบาต ตอนบ่ายพระองค์ทรงแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัท คืออุบาสก อุบาสิกา พลบค่ำพระองค์ประทานโอวาทแก่ภิกษุสามเณร กลางคืนทรงแก้ปัญหาแก่เทวดาทั้งหลาย ในเวลาใกล้รุ่งพระพุทธองค์ก็ทรงตรวจดูว่าสัตว์โลกผู้ใดบ้างมีวาสนาบารมีอันจะพึงรับพระธรรมเทศนา พระองค์ก็จะเสด็จไปโปรดให้เขาเหล่านั้นได้รับผลแห่งธรรม – นอกจากนี้ พระองค์ก็ทรงปฏิบัติตามธรรมวินัยที่พระองค์บัญญัติขึ้น เช่น การทรงจีวร การฉันเฉพาะในบาตร แม้กระทั่งจวนจะดับขันธปรินิพพาน พระองค์ก็ทรงอุ้มบาตรไว้ตลอดเวลา
         ความเมตตาของพระพุทธองค์มีประมาณมิได้ พระองค์ทรงเมตตาต่อมวลมนุษย์โลกไม่เลือกชั้นวรรณะ ไม่เลือกฐานะและชาติพันธุ์ มุ่งหวังแต่จะให้ผลประโยชน์แก่พวกเขาทั้งหลาย โดยมิได้ต้องการสิ่งตอบแทนใดๆทั้งสิ้น ทรงเสียสละอย่างจริงใจจริงแท้ แม้บางครั้งพระองค์จะทรงเหน็ดเหนื่อยด้วยการบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น พระองค์ก็ทรงกระทำโดยมิได้เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยของพระองค์เอง
         ท่านพระอาจารย์มั่นคำนึงต่อไปอีกว่า “การให้ถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นแบบฉบับ” นี้เป็นประการสำคัญอย่างยิ่ง เพราะถ้าพุทธสาวกไม่ถือเอาพระพุทธองค์เป็นแบบอย่างเสียแล้ว การบวชเข้ามาเป็นภิกษุก็จะเป็นเพียงการบวชเข้ามาเพื่อประโยชน์สุขของตนเองเป็นสำคัญ หรืออาศัยพระพุทธศาสนาหาความสุขไม่ถูกทาง คือไม่มีความเมตตา ไม่มีความเสียสละ  แม้จะปฏิบัติธรรมเคร่งครัดและเป็นภิกษุสงฆ์ แต่ถ้าไม่มีการเสียสละ ละเลิก โกรธ โลภ หลง เอาแต่เพลินในกามคุณ ผู้นั้นก็จะหลงอยู่ในกิเลสนั่นเอง เฝ้าแต่คิดหาอุบายถ่ายเทเข้ามาเสนอสนองความโกรธ โลภ หลง อันมีอยู่เต็มเปี่ยม
         บรรพชิตบางรูปถึงกับละเมิดแบบฉบับของพระพุทธเจ้า เช่น เห็นว่าการเดินบิณฑบาตเป็นการเสียเกียรติ คอยแต่ให้ญาติโยมนำภัตตาหารหวานคาวมาถวายถึงที่กุฏิ ซ้ำยังสรรหาจะฉันโน่นฉันนี่ที่เอร็ดอร่อยถูกปากและลิ้นของตัวเอง จะบำเพ็ญศาสนกิจก็หวังปัจจัยลาภเป็นสำคัญ ได้น้อยก็ไม่พอใจ อยากได้มากๆ การแสดงธรรมก็ต้องมีกัณฑ์เทศน์เป็นเครื่องตอบแทน ในที่สุดก็ลืมความเป็นสมณะเสียสิ้น
         ท่านพระอาจารย์มั่นพิจารณาใคร่ครวญในข้อนี้มากที่สุด เพราะท่านรู้เห็นมามากต่อมากแล้วว่า การปฏิบัติกัมมัฏฐานสมัยนี้เสื่อมลงเรื่อยๆ และไม่ใคร่ต้องตรงกับความจริงทั้งภายนอกและภายใน การรักษาพระวินัยน้อยใหญ่เป็นข้อสำคัญยิ่ง หากปฏิบัติพระวินัยพร่องทำให้อาบัติเพียงน้อยนิดจะทำจิตละเอียดไม่ได้เลย  ข้อวัตรปฏิบัติ เช่น การบิณฑบาต การฉันในบาตร ฉันหนเดียว ซึ่งเป็นการขัดเกลากิเลสหยาบๆ  ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงกระทำแบบอย่างมาแล้ว ผู้ที่ต้องการความสงบ ความก้าวหน้าแห่งการบำเพ็ญจิตจะละเลยมิได้เด็ดขาด
         อีกประการหนึ่ง การรักษาวัตรต่างๆ จากข้อวัตรหลายประการ เช่น อุปัชฌายวัตร อาจริยวัตร อาคันตุกวัตร เวจจกุฏวัตร เสนาสวัตร ภัตตาวัตร และเสขิยวัตร เหล่านี้ย่อมเป็นปัจจัยแก่การปฏิบัติจิตทั้งสิ้น ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติจิตเพื่อศีลวิสุทธิ์ จิตวิสุทธิ์
        ท่านพระอาจารย์มั่นปรารภในใจต่อไปว่า พระพุทธองค์ได้ทรงเป็นแบบฉบับเอาไว้เช่นนี้ หากบุคคลผู้เป็นสาวกของพระองค์มิได้ยึดถือเป็นแบบอย่างเสียแล้ว จะนำหมู่คณะเจริญรุ่งเรืองในทางธรรมได้อย่างไร แม้จะมียศมีศักดิ์ มีศิษยานุศิษย์มากมาย หากมิได้ประพฤติปฏิบัติตามแบบฉบับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียแล้ว ก็รังแต่จะพาลูกศิษย์ผู้เลื่อมใสศรัทธา เตลิดเปิดเปิงออกนอกลู่นอกทาง เห็นผิดเป็นชอบได้ง่ายๆ
        อีกประการหนึ่งที่ว่า “ถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่อาศัย” นั้นมีภิกษุสงฆ์จำนวนไม่น้อยพากันหลงทิศหลงทางเพราะมึนเมาในลาภสักการะ มิได้ยึดมั่นถือมั่นต่อพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่อาศัยเสียแล้ว บางรูปถึงกับปัญญามืดบอดหลงงมงายไปกับ “ความไม่รู้จริง”
        พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงเอาไว้ว่า  มนุษย์ทั้งหลายนั้นเมื่อถูกภัยอันตรายคุกคามต่างก็หาที่พึ่งที่ยึดถือ ด้วยความหวังว่าจะช่วยขจัดปัดเป่าหรือผ่อนคลายทุกข์ภัยทั้งหลายให้ทุเลาเบาบางลงกระทั่งหมดสิ้นไป แล้วก็ไปนับถือภูเขา ป่า อาราม และต้นไม้เป็นที่พึ่งที่อาศัย ความเชื่อความนับถือดังกล่าวมิใช่ที่พึ่งอันเกษม ที่พึ่งอันอุดม เพราะสิ่งเหล่านั้นมิได้ช่วยให้พ้นทุกข์ทั้งปวงไปได้เลย
        ส่วนผู้ใดมานับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่ง มาเห็นอริยสัจ ๔ ด้วยปัญญาอันชอบ ก้าวล่วงทุกข์ด้วยมรรค ๘ นี่เหละเป็นที่พึ่งอันเกษม นี่แหละเป็นที่พึ่งอันอุดม หากผู้ใดอาศัยที่พึ่งนี้ ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้
        การที่พระพุทธเจ้ามิได้ถือเอาสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง นอกจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์  ก็เพราะสิ่งอื่นนั้นเป็นเรื่องงมงายไร้ประโยชน์ เช่น ไป  นับถือต้นไม้ใหญ่ว่ามีผีมีเทพสถิต แล้วเชื่อว่าจะช่วยให้พ้นทุกข์ได้ หรือนับถือศาลพระภูมิ นับถือผีเข้าเจ้าทรง เหล่านี้เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะไม่อาจสามารถดำเนินไปสู่จุดหมายแห่งความจริงในพระพุทธศาสนาได้
        แม้ในการบำเพ็ญจิตเบื้องต้นก็ทำให้ไขว้เขว เพราะขาดองค์คุณ คือศรัทธา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นพระภิกษุสงฆ์ หากไม่ถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งเสียแล้วก็ไม่ผิดกับทรยศต่อพระพุทธศาสนา การบวชเข้ามาอยู่ในเพศบรรพชิตจึงเท่ากับอาศัยผ้ากาสาวพัสตร์แสวงหาปัจจัยบริโภคไปวันๆเท่านั้น


๑๖. แก้ข้อขัดข้อง
         ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ ณ.ถ้ำสิงโตด้วยความปลอดโปร่งแจ่มใสเป็นอย่างยิ่ง กระทั่งวันหนึ่งขณะที่ท่านนั่งกำหนดพิจารณาความละเอียดอยู่ในถ้ำ  ได้ระลึกถึงท่านเจ้าคุณอุบาลี คุณูปมาจารย์(สิริจนฺโท จันทร์) ณ.วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ ว่าท่านกำลังทำอะไรอยู่ ก็รู้ว่าท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ กำลังนั่งสมาธิหันหน้าไปทางทิศตะวันออกอยู่ที่ศาลาเหลืองบนธรรมาสน์ เวลานั้นเป็นเวลา ๒๓.๐๐ น.เศษ ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ กำลังพิจารณาถึงปฏิจฺจสมุปบาท และเกิดขัดข้องสงสัยว่า “ถอนจากรูปนามยังมีวิญญาณและสังขาร แล้วจึงขึ้นต้นด้วยอวิชชาและวิญญาณ สังขารนี้ก็มีแล้วในนามรูป เหตุไฉนจึงมามีสังขารและวิญญาณโดยเฉพาะของตัวมันอีก” เมื่อท่านสงสัยแล้วก็ได้เลิกพิจารณาในวันนั้น
         ต่อมา.. ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ได้ไปที่เขาพระงาม จังหวัดลพบุรี โดยปกติแล้วท่านเจ้าคุณจะไปที่เขาพระงามบ่อยๆ เนื่องจากท่านชอบสถานที่นี้มาก(ภายหลังท่านได้สร้างพระพุทธรูปใหญ่ หน้าตักกว้างถึง ๑๒ วาไว้ ณ.ที่นี้)
 ขณะนั้นท่านพระอาจารย์มั่นได้พักบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ที่ถ้ำสิงโตเขาพระงามเช่นกัน เมื่อท่านทราบว่าเจ้าคุณอุบาลีฯ มาที่นี่ ท่านก็ไปนมัสการและได้สนทนากันตามปกติ เมื่อสนทนาเรื่องอื่นผ่านไปพอสมควรแล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นก็ได้ถามขึ้นว่า
         “เมื่อคืนวันที่ ๑๐ ค่ำที่แล้ว คือเดือน ๘ นั้น ท่านเจ้าคุณนั่งสมาธิอยู่ที่ศาลาเหลือง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เวลาประมาณ ๒๓ น.เศษ ได้พิจารณาถึงปฏิจฺจสมุปบาท หวนกลับไปกลับมาแล้วเกิดความสงสัยขึ้นมาตอนหนึ่งใช่ไหมครับ”
         ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เมื่อได้ฟังคำถามเช่นนั้นถึงกับตกตะลึง ไม่นึกเลยว่าท่านพระอาจารย์มั่นจะมาล่วงรู้ถึงการพิจารณาของตน ที่ได้พิจารณาด้วยตัวเอง โดยมิได้บอกให้ใครรู้เลย ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ จึงพูดถามพระอาจารย์มั่นว่า
         “ก็ท่านว่าอย่างไรเล่าที่ผมสงสัย อธิบายให้ผมฟังบ้างได้ไหม” ท่านพระอาจารย์มั่นจึงตอบว่า ”ได้” แล้วท่านก็ได้อธิบายถวายท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ว่า ปฏิจฺจสมุปบาท ข้อที่ว่า วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูปนั้นแล ในนามรูปก็มีทั้งวิญญาณและสังขาร .ซึ่งมันจะมีการแตกต่างกันดังนี้คือ สังขาร วิญญาณที่ต่อจากอวิชานั้น เรียกว่าสังขารกรรม วิญญาณกรรม
         แตกต่างกับสังขาร วิญญาณ นามรูป สังขารวิญญาณของนามรูปนั้น เป็นสังขารวิญญาณวิบาก เนื่องจากเป็นการปรุงแต่งที่สำเร็จรูปแล้ว สังขารกรรม วิญญาณกรรม เป็นการปรุงแต่งที่กำลังทำอยู่ คือว่าสังขารกรรม วิญญาณกรรมเป็นภาวะที่ไม่เป็นอิสระ อยู่ภายใต้อำนาจของกรรม มีอวิชชาเป็นหางเสือใหญ่ อาศัยสังขารการปรุงแต่ง อาศัยวิญญาณความรู้สึกในขณะที่กำลังปรับปรุงภพอันจะเป็นแนวทางแห่งการก่อให้เกิด ซึ่งในขณะนั้นจิตเป็นประธาน อาศัยสังขารปรุงแต่ง อาศัยวิญญาณความรู้สึกในขณะที่กำลังปรุงภพอันจะต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของสังขารกรรม วิญญาณกรรม
         ทั้งสองนั้นสืบเนื่องมาจากจิต ณ.ที่นี้จึงแล้วแต่กรรมจะจำแนกไป คือให้สังขารและวิญญาณนี้เห็นดีไป เมื่อเห็นดีไปอย่างไรจิตก็จะไปตั้ง ก่อให้เกิดไปตามนั้น เพราะที่นี้จึงเป็นสถานที่กำลังปรุงแต่งภพ ถ้าพิจารณาแล้วจะรู้สึกว่ามันละเอียดและพึงจะรู้จริงได้ คือเมื่อจิตได้ดำเนินตามอริยสัจ และเป็นวิปัสสนาอันแก่กล้าแล้วนั้นทีเดียว ที่กระผมได้อธิบายมานี้สักแต่เป็นแนวทางเท่านั้น ตามความเป็นจริงต้องมีตาภายใน คือกระแสจิตกระแสธรรมเท่านั้น ที่จะเข้าไปรู้จริงได้”
         เมื่อท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ได้ฟังดังนั้นถึงกับอุทานขึ้นว่า “อ้อ เราเข้าใจแล้ว ท่านอาจารย์รู้ใจผมได้ดีมากและถูกต้องทุกประการ และแก้สงสัยให้ผมได้ราวกับปลิดทิ้ง ผมพยายามพิจารณาเรื่องนี้มานานแต่ยังไม่แจ่มแจ้ง พึงจะแจ่มแจ้งในเวลานี้เอง”
         หลังจากนั้น ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ก็ได้เดินทางกลับไปกรุงเทพฯ อยู่ที่วัดบรมนิวาสนั้น ท่านเจ้าคุณก็ได้ประกาศความดีของท่านพระอาจารย์มั่นให้แก่พระภิกษุและสามเณรทั้งหลายฟังว่า
         “ท่านพระอาจารย์มั่นเป็นอาจารย์กัมมัฏฐานที่มีความสามารถมากที่สุดในยุคนี้ ถ้าใครต้องการจะศึกษาธรรมปฏิบัติ จงไปศึกษากับท่านเถิด เธอทั้งหลายจะได้ความรู้จากธรรมปฏิบัติอันลึกซึ้งจากท่านพระอาจารย์มั่น”
         ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ได้กล่าวเช่นนี้กับพระภิกษุสงฆ์ สามเณรทั้งหลายอยู่เสมอๆ ทำให้พระภิกษุและสามเณรผู้ใคร่การปฏิบัติธรรมสนใจท่านพระอาจารย์มั่นมากขึ้น ต่างก็ต้องการจะไปศึกษาปฏิบัติธรรมกับท่าน
         ปีนั้นเป็นปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ท่านก็ได้รับการขอร้องจากท่านเจ้าคุณอุบาลีฯให้จำพรรษาที่กรุงเทพฯ ท่านได้เลือกเอาวัดสระปทุมเป็นที่จำพรรษาเพราะเป็นวัดที่สงบสงัดดี ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดสระปทุม ท่านก็พยายามมาที่วัดบรมนิวาสทุกๆ วันธรรมสวนะ ฟังท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เทศน์ พอหลังจากฟังเทศน์แล้วท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ก็จะให้เข้าไปหาท่านอยู่สองต่อสอง และขอศึกษาธรรมปฏิบัติกับท่านพระอาจารย์มั่นตลอดระยะเวลาจำพรรษา

ไปติดตามเรื่องของหลวงปู่ด้วยกันต่อ... บล็อกถัดไป





 

Create Date : 12 มิถุนายน 2553
0 comments
Last Update : 12 มิถุนายน 2553 20:21:33 น.
Counter : 471 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


mizwarang
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]












Group Blog
 
 
มิถุนายน 2553
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
12 มิถุนายน 2553
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add mizwarang's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.