Group Blog
 
 
มีนาคม 2560
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
13 มีนาคม 2560
 
All Blogs
 
Tech Support











Ransomware Alert !

ระวังถูกเรียกค่าไถ่ โดยใช้ข้อมูลเป็นตัวประกัน ! พร้อมวิธีแก้ไข ป้องกัน

     ในยุคที่ข้อมูลเกือบทุกอย่างถูก digitalize (ถูกเก็บในรูปแบบดิจิทัล) ไม่ว่าจะเพื่อความสะดวกในการประมวลผล, การค้นหา และ การเข้าถึงนั้น ส่งผลให้ชีวิตของผู้ใช้งานระบบใด ๆ ก็ตามง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเก็บรูปภาพ ซึ่งสามารถเก็บไว้ดูได้นานขึ้นพร้อมกับความละเอียดที่ดีขึ้น หรือการทำงานผ่าน spreadsheet ที่สามารถช่วยให้การคำนวณต่างๆ ทำได้เร็วขึ้น และการเก็บข้อมูลอื่น ๆ ที่นอกจากจะง่ายแล้ว ยังสามารถเก็บได้ในปริมาณมาก ๆ ไว้ในอุปกรณ์ที่ขนาดเล็กกว่าฝ่ามือ ที่ส่งผลให้การพกพาสะดวก และกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คนไป และจุดนี้เองเป็นจุดที่ทำให้ผู้ไม่ประสงค์ดีสามารถคิดวิธีหาเงินแบบแปลก ๆ ซึ่งก็คือการจับข้อมูลเราเป็นตัวประกันเพื่อเรียกค่าไถ่ ผ่านโปรแกรมประสงค์ร้ายที่เราเรียกกันว่า “MalWare” ที่เป็นประเภท “Ransomware” หรือ “โปรแกรมเรียกค่าไถ่” นั่นเอง


รูปแบบของโปรแกรมเรียกค่าไถ่ Ransomware

การทำงานของ Ransomware จะมีใน 2 รูปแบบหลัก ๆ ด้วยกัน

  1. Lockscreen Ransomware การเรียกค่าไถ่แบบนี้ โปรแกรม Ransomware จะทำการใช้งานฟังก์ชัน Lock Screen (ล็อคหน้าจอ) ของระบบปฏิบัติการของอุปกรณ์ที่ติด Ransomware (ทั้งที่เป็น Computer และ Mobile) ทำให้เราไม่สามารถเข้าสู่หน้าจอปกติของอุปกรณ์ เพื่อเรียกใช้ โปรแกรม (Application) หรือเข้าถึงข้อมูลใด ๆ ได้ แต่ข้อมูลและ Application ไม่ได้ถูกแตะต้องแต่อย่างใด
  2. Files-Encrypting Ransomware การเรียกค่าไถ่แบบนี้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานอุปกรณ์ได้ และใช้งานโปรแกรม (Application) ได้ตามปกติ แต่ Ramsomware จะใช้วิธีการเข้ารหัสไฟล์ไว้ (ภาษาชาวบ้านคือ ล็อกไฟล์ไว้) ไม่ให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงไฟล์ของตัวเองได้

การเรียกค่าไถ่แบบที่ 1. นั้นสามารถถูกแก้ไข เพื่อ bypass การ lock screen ได้โดยผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ โดยที่ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าไถ่แต่อย่างใด

แต่สำหรับแบบที่ 2. นั้น ใน Ramsomware เวอร์ชั่นใหม่ ๆ (ที่โด่งดังก็มี CryptoWall, CryptoLocker, CryptoDefense และ TeslaCrypt)  ถูกพัฒนาให้ยากแก่การแก้ไข ทางที่ง่ายที่สุดที่จะได้วิธีถอดรหัสไฟล์ของเราคือการจ่ายเงินให้อาชญากร (การเรียกค่าไถ่เป็นอาชญากรรม) ที่ทำการเรียกค่าไถ่เรานั่นเอง

ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึง Ransomware ในแบบที่ 2 – File Encrypting Ransomware


ทราบได้อย่างไรว่าเครื่องเราโดนไวรัสเรียกค่าไถ่ RansomWare?

     เมื่อเครื่องเราติดไวรัส สามารถสังเกตได้โดยชื่อไฟล์ เอกสาร.xls กลายเป็น เอกสาร.XLS.dsdaojg หรือ Kitty หรือชื่ออื่นๆ เมื่อเราลอง Rename นามสกุลไฟล์ .dsdaojg กลับมาเป็น xls เหมือนเดิม ก็ไม่สามารถเปิดไฟล์เอกสารได้ (หรือเปิดแล้วเป็นตัวอักษรต่างดาว) อีกอาการคือ จะมีไฟล์ชื่อ HELP_DECRYPT ขึ้นมาในทุกๆโฟลเดอร์ที่ไฟล์โดนเข้ารหัส (ดังตัวอย่างในภาพ) จากนั้นจะขึ้นข้อความข่มขู่ให้ผู้ใช้ทำการชำระเงินภายในเวลาที่กำหนด ก่อนที่ข้อมูลทั้งหมดจะไม่สามารถถูกถอดรหัสลับได้อีกตลอดไป ทั้งนี้ไม่ใช่เฉพาะข้อมูลในคอมพิวเตอร์ของเหยื่อเท่านั้นที่ถูกเข้ารหัสลับ แต่ข้อมูลที่แชร์ร่วมกันในระบบเครือข่าย รวมถึงข้อมูลใน Dropbox / Google Drive ก็ถูกเข้ารหัสลับด้วยเช่นกัน

11124719_860020864044850_6572409754658007916_n



ระบบปฏิบัติการที่เป็นเป้าหมาย


ส่วนใหญ่เป็นระบบปฏิบัติการ Windows เป็นหลัก และ เริ่มพบในระบบปฏิบัติการณ์ Android บ้างแล้ว สำหรับระบบปฏิบัติการ อื่น ๆ ก็ใช่ว่าจะปลอดภัย 100% ในอนาคต




ช่องทางการส่ง Ransomware ไปยังเหยื่อ


ช่องทางหลักก็จะเป็นทาง Email โดยจะเป็นข้อความในเชิงบอกว่าผู้ใช้งานกำลังประสบปัญหาบางอย่าง หากอยากแก้ไขให้โหลดโปรแกรมไปใช้, ข้อความผ่านโปรแกรม chat เนื้อหาคลายคลึงกับ Email และตามเว็บไซต์ต่าง ๆ เช่น หลอกผู้ใช้งานว่าเป็นโปรแกรม Antivirus ให้โหลดไปใช้งานได้ฟรี รวมถึงการแอบฝังมาพร้อมกับซอฟท์แวร์อื่น ๆ เช่น เกมส์ที่ผิดลิขสิทธิ์และให้ดาวน์โหลดฟรี

และเมื่อโปรแกรมที่ว่า (ซึ่งก็คือ Ransomware) ถูกสั่งให้ทำงานโดยผู้ใช้งานแล้วก็จะดำเนินการตามที่ได้กล่าวมาในข้างต้น

ในการส่งไฟล์ Ransomware ให้เหยื่อโดยตรงนั้น โจรมักจะใช้เทคนิค Double Extension ในการแปลงกายไฟล์ให้ดูน่าเชื่อถือ ผ่านการทำงานของ Windows ที่เรียกว่า “Hide extensions for known file types” ดังรูปที่ 5

รูปที่ 5 : เปรียบเทียบก่อนและหลังการปิด

รูปที่ 5 : เปรียบเทียบก่อนและหลังการปิด “Hide extension for known file types”

นอกจากกลยุทธ์ข้างต้นที่เป็นการหลอกให้ผู้ใช้งานเปิดไฟล์  Ransomware  ด้วยตัวเองแล้ว ยังมีแบบที่ผู้โจมตีใช้ Backdoor ที่เกิดจาก Malware ตัวอื่น ๆ หรือเข้าสู่ระบบ ด้วย Username/Password ที่คาดเดาได้ง่าย เพื่อมาทำการติดตั้งและสั่งให้ Ransomware ทำงานด้วยตัวเองอีกด้วย


ความเสียหายเกิดกับเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ติด Ransomware หรือไม่?


ทั้งใช่ และ ไม่ใช่ เนื่องจาก Ransomware (ในปัจจุบัน) ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทำงานเหมือน Virus หรือ Worm ที่สามารถแพร่กระจายไปตามที่ต่าง ๆ ได้ แต่หากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ติด Ransomware มีการเชื่อมต่อ Mapped Network Drive, USB Storage และมีสิทธิ์ในการเขียนไฟล์ลงในพื้นที่ดังกล่าวด้วยแล้ว ก็จะทำให้ไฟล์ในพื้นที่เหล่านั้นถูกจับเป็นตัวประกันได้ด้วย เพราะ Ransomware จะควานหาทุกไฟล์ที่เครื่องที่ติด Ransomware สามารถเข้าถึงได้

แต่ก็เป็นไปได้ที่จะเกิด Ransomware ที่มีความสามารถของ Virus และ Worm ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีคนไปสั่งการ สามารถที่จะทำงานได้เอง


ช่องทางการจ่ายเงินให้อาชญากร?


โดยมากแล้วอาชญากรมักจะให้จ่ายเงินในตระกูล Bitcoin (ค่าเงินในโลกไซเบอร์ซึ่งมีอัตราแลกเปลี่ยนเหมือนเงินปกติทุกประการ) เพราะไม่สามารตามร่องรอยได้แม้จะรู้เลขบัญชีของอาชญากร (หากอาชญากรไม่เคยเผลอเปิดเผยซะเองไว้ที่ไหนสักแห่ง) และช่องทางอื่น ๆ ที่คล้ายกับ Bitcoin ซึ่งไม่สามารถตามรอยได้


จ่ายแล้วจะได้ข้อมูลคืนจริงหรือ?


เท่าที่ผู้เขียนได้ข้อมูลมานั้น ผู้ที่ยอมจ่ายค่าไถ่มักจะได้ข้อมูลคืนจริง เพื่อที่ว่าโจรนั้นจะได้หากินได้เรื่อย ๆแต่ก็มีบ้างที่ไม่ได้คืน



ควรจ่ายค่าไถ่หรือไม่?


ท้ายที่สุดแล้วการตัดสินใจก็ต้องเป็นไปตามที่ผู้ถูกโจมตีเห็นสมควรว่าจะจ่ายหรือไม่ แต่ผู้เขียนอยากให้ข้อคิดไว้นิดหนึ่งว่า

  1. ในทุก ๆ วัน เราเสี่ยงกับการเสียหายของข้อมูลอยู่แล้วไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และหลาย ๆ แบบก็ทำให้เราไม่สามารถกู้ข้อมูลกลับมาได้ก็มี เช่น ความเสียหายทางกายภาพของอุปกรณ์ที่เก็บข้อมูล, ภัยจากการขโมยและจารกรรม และอื่น ๆ ซึ่งโอกาสในการจะได้ข้อมูลคืนแทบไม่ต่างจากการโดน Ransomware เล่นงาน
  2. การขู่กรรโชกทรัพย์ด้วย Ransomware ถือเป็นอาชญากรรม ซึ่งหมายความว่าเรากำลังเผชิญกับอาชญากรซึ่งหากินอยู่บนความเดือดร้อนของคนอื่น และเป็นสิ่งที่เราสามารถเลือกได้ว่าจะให้อาชญากรเห็นว่าการกระทำนี้สามารถที่จะสร้างรายได้ให้กับเขาจริง ๆ หรือ

การแก้ไข


ในกรณีที่ถูก Ransomware โจมตีได้สำเร็จแล้ว (Reactive Action) การแก้ไขสามารถทำได้ดังนี้

  1. Restore File จาก Backup ที่เก็บไว้ หรือใช้งานฟังก์ชัน Restore ของระบบปฏิบัติการ หรือ ฟังก์ชัน Shadow Copy แต่ทั้งหมดนี้นี้จำเป็นที่จะต้องอาศัยการ Backup ข้อมูลมา สร้าง Restore Point ไว้ และ/หรือ เปิดการทำงานของ Shadow Copy ล่วงหน้า แต่ Ransomware ตัวใหม่ ๆ สามารถที่จะลบ Shadow Copy และ Restore Point ทิ้งได้เหมือนกัน
  2. Ransomware บางตัวสามารถถูกถอดรหัสได้โดยใช้เครื่องมือที่ผู้ผลิต Antivirus หรือผู้เชี่ยวชาญจากที่อื่น ๆ ได้ทำไว้ ซึ่งมักจะมีเฉพาะ Ransomware รุ่นเก่า ๆ และผู้ใช้ต้องระมัดระวัง ดาวน์โหลดโปรแกรมแก้ไขนี้จากแหล่งที่น่าเชื่อถือเท่านั้น
  3. โดยปกติแล้วตัว Ransomware จะบอก Algorithm ที่มันใช้เข้ารหัสไฟล์ต่าง ๆ ไว้ เราสามารถใช้ข้อมูลนี้ในการที่จะทำการเดา key (Bruteforce Attack หรือ Dictionary attack) แต่อย่างที่กล่าวไว้ในข้างต้น ว่า key ที่ใช้นั้นจะมีความยาวมาก ๆ ประกอบกับ Algorithm ที่แข็งแกร่ง ทำให้ระยะเวลาที่จะทำสำเร็จนั้นไม่ได้เป็นช่วงระยะเวลาที่ยอมรับได้ คืออาจจะเป็นเดือน หรือเป็นปี และยังมีปัจจัยทางเทคนิคอีกหลายอย่างที่ทำให้วิธีนี้ไม่ถูกมองว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิผลพอ และต่อให้ถอดรหัสได้ที่เครื่องเหยื่อเครื่องใดเครื่องหนึ่งแล้ว ก็ไม่สามารถนำไปช่วยเครื่อง อื่น ๆ ได้อีก อยู่ดี
  4. ใช้โปรแกรม Ransomware Removal ที่จะช่วยลบ Ransomware ออกจากเครื่องให้สิ้นซาก แต่โปรแกรมประเภทนี้ไม่สามารถถอดรหัสไฟล์ที่ถูกเข้ารหัสแล้วได้ ทำได้เพียงเอา Ransomware ออกไปเท่านั้น และต้องทราบไว้ด้วยว่าการล้าง Ransomware ออกจากเครื่องโดยที่ไฟล์ยังเข้ารหัสอยู่ อาจทำให้ไม่สามารถถอดรหัสไฟล์ได้อีกต่อไป


การป้องกัน


ในกรณีที่จะป้องกันตัวเองจาก Ransomware และ Malware อื่น ๆ (Proactive Action)

  1. ระแวดระวังในการเปิดไฟล์ที่ไม่ทราบแหล่งที่มา โดยเฉพาะใน Email ถ้าไม่ใช่เมลล์ที่มาจากบุคคลที่เรารู้จัก ไม่ควรเปิดอ่านและควรลบทิ้งทันที 
  2. แน่นอนว่าต้องมีการทำการ Backup ไฟล์ที่สำคัญอย่างสม่ำเสมอ และแยกที่เก็บข้อมูลในการ Backup กับข้อมูลที่ใช้งาน เพื่อป้องกัน Single Point Of Failure
  3. ติดตั้ง Antivirus และต้องอัพเดทอยู่เสมอ
  4. ปิดฟังก์ชัน “Hide extensions for known file types” ใน Folder Options เพื่อป้องกันในกรณีที่ผู้ส่ง Ransomware ใช้ เทคนิค Double Extension ในการซ่อนประเภทที่แท้จริงของไฟล์
  5. อัพเดทระบบปฏิบัติการอยู่เสมอ
  6. ไม่ให้สิทธิ์ระดับ Administrator/root กับ user account ที่เราใช้งานปกติบนเครื่องคอมพิวเตอร์ของเรา
  7. กำหนดรหัสผ่านของทุก User account ให้ยากต่อการคาดเดา
  8. ทำการ Scan เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานอยู่ ด้วย Antivirus เป็นประจำเพื่อค้นหาและกำจัด Malware ที่อาจจะเป็น Backdoor ได้


สรุป


     Ransomware ก็เหมือนกับ Software และ Malware อื่น ๆ ที่มีการถูกพัฒนาและเปลี่ยนแปลงการทำงานไปได้เรื่อย ๆ ซึ่งบางตัวก็มีความแตกต่างจากในบทความนี้ไม่มากก็น้อย การป้องกันที่เป็น แบบ Reactive Action (เกิดเหตุก่อนแล้วจึงแก้ไขทีหลัง) นั้นก็จะไม่ได้ประสิทธิภาพ ทั้งยังเสียเวลาโดยที่อาจจะไม่ได้อะไรคืนมาเลย (เพราะบางทีจ่ายเงินแล้วถอดรหัสไม่ได้ก็มี) ดังนั้นการป้องกันแบบ Proactive Action (ดำเนินการป้องกันก่อนเหตุจะเกิด) นั้นย่อมให้ผลที่ดีกว่า ตัวอย่างง่าย ๆ เกี่ยวกับ Concept การ Backup ข้อมูลที่สำคัญอย่างสม่ำเสมอ ที่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็เป็นการป้องกันที่ให้ผลดีที่สุด ประกอบกับวิธีอื่น ๆ ที่กล่าวมาในเนื้อหาของบทความ ก็จะทำให้เราปลอดภัยในโลกไซเบอร์ได้

References

1. https://nakedsecurity.sophos.com/2013/10/18/cryptolocker-ransomware-see-how-it-works-learn-about-prevention-cleanup-and-recovery/

2. //www.pcworld.com/article/2084002/how-to-rescue-your-pc-from-ransomware.html

3. https://www.virustotal.com

4. ACIS Cyber Lab

ขอบคุณบทความจาก  อ. สันต์ธนฤทธิ์ ประภัสสราภรณ์ ตรวจทานโดย อ. นิพนธ์ นาชิน , อ. ปริญญา หอมเอนก  ACIS Cyber LAB, ACIS Professional Center




Create Date : 13 มีนาคม 2560
Last Update : 20 มีนาคม 2560 13:34:23 น. 0 comments
Counter : 1368 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สมาชิกหมายเลข 2436574
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 2436574's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.