ขอบคุณที่มีตัวตน ขอบคุณที่เกิดมาบนโลกนี้

Free TextEditor
Group Blog
 
 
กุมภาพันธ์ 2552
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
 
16 กุมภาพันธ์ 2552
 
All Blogs
 
มารู้จัก 'คาร์บอน เครดิต' ธุรกิจทำเงินจากพลังงานทดแทน~โอกาสที่ดีของผู้เลี้ยงสุกร

          เมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาผู้เลี้ยงสุกร ตื่นตัวและตื่นเต้นมากกับคำว่า ไบโอก๊าซ ซึ่งหลังจากนั้นคำนี้ก็ได้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นมา โดยมีสร้างระบบหมักมูลสุกร เพื่อให้ได้มาซึ่ง ก๊าซชีวภาพ และโรงไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ ที่ได้จากการหมักมูลสุกร โดยปัจจุบันมีการสร้างโรงไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพอย่างแพร่หลาย
          และเช่นกันประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา ศัพท์คำว่า "คาร์บอนเครดิต" เริ่มคุ้นหูเมื่อมีกระแสข่าวเกี่ยวกับมลพิษในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด แต่น้อยคนที่เข้าใจความหมาย และการได้มาซึ่งคาร์บอนเครดิต แต่ คาร์บอน เครดิต นี่แหละ กำลังจะกลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ทำเงินให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทน เพราะก๊าซที่เป็นตัวทำให้ปฏิกิริยาเรือนกระจกต่างๆ ซึ่งตัวหลักจะเป็นคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ ที่แต่ละโรงงานสามารถลดได้ จะถูกตีราคาเป็นเงิน ก่อนจะถูกขายเป็นเครดิตไปยังประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยกลไกดังกล่าวจะต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกใบรับรองให้ก่อน

จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันบริษัทต่างชาติที่เกี่ยวข้องกับคาร์บอนเครดิต ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจให้คำปรึกษาในการออกแบบโครงการ (Project Design Consultant) ธุรกิจตรวจประเมินและรับรองโครงการ (Designated Operational Entity-DOE) ไปจนถึงธุรกิจคนกลางในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Emission Trader) เริ่มเข้ามาตั้งสาขา หรือเพิ่มแผนกบริการสิ่งแวดล้อม (Environmental Services) ในไทย เพื่อรองรับธุรกิจนี้กันแล้ว
โดยมีแรงผลักดัน ตามข้อตกลงใน พิธีสารเกียวโต1 (Kyoto Protocal) ที่กำหนดให้ประเทศพัฒนาแล้ว ต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจก (Green House Effect) ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ "โลกร้อน" ในหลายแนวทาง
1(พิธีสารเกียวโต คือ ข้อตกลงระดับนานาชาติ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์ผลิตขึ้น อันเป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ (Climate Change) ของโลกที่ทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นและประสบปัญหาโลกร้อน (Global Warming) ซึ่งพิธีสารนี้ถือเป็นกลไกสำคัญที่เป็นรูปธรรมในการลดก๊าซเรือนกระจกของโลก โดยอาศัยกลไกทางเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมหลายรูปแบบเป็นเครื่องมือในการสร้างแรงจูงใจ)
หนึ่งในนั้นคือ "การซื้อขายมลพิษ" หรือ คาร์บอนเครดิต กับประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งเป้าหมายหลักในปัจจุบันจะเป็นบรรดาโรงงานไฟฟ้าที่ใช้ชีวมวล เช่น แกลบ กากอ้อยและใบอ้อย เศษไม้ยางพารา น้ำเสียจากโรงงานผลิตแป้งมัน รวมถึง โรงงานไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพที่ได้จากน้ำเสียฟาร์มสุกร
เพราะประเทศที่พัฒนาแล้ว กำลังอยู่ในภาวะ "จนแต้ม" จากการที่ไม่สามารถลดก๊าซที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจกลงได้
เนื่องจากพิธีสารดังกล่าว ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2549 โดยกำหนดให้ประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่ลงนามไว้ อาทิเช่น สหภาพยุโรป แคนาดา และญี่ปุ่น ต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ต่ำกว่าระดับก๊าซที่เป็นมลพิษในปี 2533 โดยเฉลี่ย 5.2% ระหว่างปี 2551-2555
หากผู้ที่ร่วมโครงการไม่สามารถดำเนินการได้ตามข้อกำหนดจะต้องมี "บทปรับ"
โดยในสหภาพยุโรป มีค่าปรับถึงตันละ 40 ยูโร ตามแผนการลดมลพิษในระยะที่ 1 (2548-2550) และเพิ่มค่าปรับเป็นตันละ 100 ยูโร ตามแผนในระยะที่ 2 (2551-2555) ซึ่งสูงกว่าราคารับซื้อหลายเท่าตัว
ปฏิบัติการ "ควานหา" (Matching) ผู้ซื้อพบผู้ขายจึงเกิดขึ้น จากดีมานด์ในประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหภาพยุโรป เป็นเหตุ


ตัวอย่างเช่น ประเทศ A อยู่ในยุโรป ถูกกำหนดให้ลดก๊าซเรือนกระจก 50 ล้านตัน แต่โรงงานอุตสาหกรรมหรือโครงการที่มีในประเทศ A พยายามลดสุดๆแล้ว ลดได้เพียง 30 ล้านตัน จึงต้องไปซื้อคาร์บอนเครดิตจากประเทศกำลังพัฒนามาอีก 20 ล้านตัน ไม่เช่นนั้นจะโดนปรับ ตันละ 3,000 บาทก็ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท
ประเทศ A จึงติดต่อไปที่ ฟาร์มเลี้ยงหมูขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในประเทศ B เพื่อช่วยสร้างโรงไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ เมื่อสร้างเสร็จทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าฟาร์มหมูลดลงเดือนละ 2 ล้านบาท ถือเป็นการลดจำนวนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม สมมติว่าลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ปีละ 1 ล้านตัน จำนวนที่ลดได้ จะถูกเรียกว่า "คาร์บอนเครดิต" ซึ่งประเทศ A จะได้คาร์บอนเครดิต 1 ล้านตันไปรวมกับ 30 ล้านตันที่มีอยู่ หรือในอนาคตฟาร์มหมูที่อยู่ใกล้เคียงอาจใช้เทคโนโลยีเดียวกัน มาลงทุนสร้างโรงงานไฟฟ้าก๊าซชีวภาพเอง แล้วขายคาร์บอนเครดิตให้ประเทศ A ก็ได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทย จัดว่าเป็นเพียงการเริ่มต้น เพราะยังไม่มีโรงงานใด ที่ได้รับ ใบรับรอง (Certified Emission Reduction-CERs) เมื่อเทียบกับ อินเดีย จีน เวียดนาม เกาหลีใต้ บราซิล และอาร์เจนตินา
ตัวอย่างที่สามารถมองเห็นถึงผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมที่จะได้จากโรงงานไฟฟ้าในรูปของ คาร์บอนไดอ๊อกไซด์ที่ลดได้ เช่น โรงไฟฟ้าขอนแก่น ที่ผลิตไฟฟ้าจากกากอ้อย ในปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดได้ 5.7 หมื่นตันต่อปี หรือคิดเป็นเงินในการซื้อขายราว 20 ล้านบาท (34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ)
ราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิต คร่าวๆ จะอยู่ที่ 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 ตัน โรงงานหนึ่งก็พูดกันที่ประมาณก๊าซที่ลดได้ปีละ 5 หมื่นตัน แต่ละโรงงานจะมีก๊าซที่เป็นมลพิษหลายตัว เช่น มีเทน ซีเอฟซี ฯลฯ แต่เราจะแปลง (Transfer) ให้อยู่บนพื้นฐานของคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดเพื่อให้ง่ายต่อการคำนวณ
ปัจจุบันโรงงานในไทย จำนวน 19 แห่ง ที่ประสงค์จะขอซื้อขายคาร์บอนเครดิต และผ่านการรับรองจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะรัฐมนตรีแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจรับรองเอกสารประกอบโครงการ (Validation) จากบริษัทตรวจประเมินและรับรองโครงการรายอื่นๆ
เมื่อโรงงานต้องการจะทำเรื่องคาร์บอนเครดิต ขั้นตอนแรกจะต้องจ้างบริษัทที่ปรึกษา เพื่อไปจดทะเบียนกับหน่วยงานราชการ รับรองว่าโรงงานของคุณเข้าหลักการที่สามารถทำได้ แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่มีหน่วยงานที่เป็นเรื่องเป็นราวที่ดูแลเรื่องนี้ โดยให้ สผ.ตั้งคณะกรรมการขึ้นมารองรับไปก่อน เพื่อผ่านการรับรองจากสผ.แล้ว ก็ต้องมาผ่านการรับรองจากคณะรัฐมนตรี
จากนั้นจะต้องส่งเรื่องไปให้สหประชาชาติรับรองอีกชั้นหนึ่ง ก่อนที่จะให้บุคคลที่สามที่เป็นธุรกิจตรวจประเมินและรับรองโครงการ (Designated Operational Entity-DOE)เข้าไปตรวจ เมื่อตรวจแล้ว ก็ต้องส่งเอกสารการตรวจสอบกลับไปให้สหประชาชาติพิจารณาอีกครั้ง ก่อนที่จะออกใบรับรองที่มีอายุ 1 ปี ขั้นตอนการดำเนินงานค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งสามารถให้ผู้ให้บริการด้านการตรวจประเมินและรับรองโครงการ ดำเนินการให้ทั้งหมด
ต่อไปเรื่องนี้จะเป็นประเด็นร้อน ที่สร้างรายได้ให้กับหลายบริษัทในไทย แม้แต่ยักษ์คอร์ปอเรทในไทย อย่าง เครือซิเมนต์ไทย ยังขยับที่จะขายคาร์บอนเครดิต โดยเริ่มดำเนินการในส่วนของ โรงปูนซีเมนต์ ขณะนี้กำลังจะเริ่มขั้นตอนการออกแบบโครงการ (Project Design) ซึ่งอยู่ในขั้นเริ่มต้นมากๆ
เขาบอกว่า ธุรกิจที่มีศักยภาพในการดำเนินการ จะเป็นธุรกิจที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Energy) เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวล เขื่อน ธุรกิจบำบัดน้ำเสียด้วยชีวมวล โรงปูนซีเมนต์ เป็นต้น
โดย โรงงานใหม่ จะมีภาษีในการดำเนินการมากกว่าโรงงานเก่า แต่ไม่ได้หมายความว่าโรงงานเก่าจะทำไม่ได้ โรงงานเก่าสามารถทำได้ แต่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามีเทคโนโลยีใหม่ๆ มาลดมลพิษ ซึ่งอาจจะต้องลงทุนมากกว่า แต่ถ้าเป็นโรงงานใหม่ ก็สามารถคุยกับที่ปรึกษาได้เลยว่า เข้าข่ายที่จะทำได้หรือไม่ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการไฟแนนซ์โครงการ จากผลตอบแทนที่จะกลับมาจากการขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งอาจจะคุ้มค่ากับเงินที่ลงทุนเรื่องเทคโนโลยีที่จะมาลดปฏิกิริยาเรือนกระจก
ขณะนี้ทางคณะกรรมการบริหารกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Executive Board of Clean Development Mechanism หรือ CDM EB) ที่ประจำอยู่เยอรมนี ได้พิจารณาและอนุมัติให้มีการจดทะเบียนเป็นโครงการที่สามารถซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยได้แล้ว 3 โครงการ ได้แก่

1) โครงการผลิตไฟฟ้าจากแกลบของบริษัท เอที ไบโอพาวเวอร์ จ.พิจิตร
2) โครงการผลิตไฟฟ้าจากกากอ้อยและใบอ้อยของ บริษัท ด่านช้าง ไบโอ-เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด จ.สุพรรณบุรี และ
3) โครงการผลิตไฟฟ้าจากกากอ้อยและใบอ้อยของบริษัทภูเขียว ไบโอ-เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด จ.ชัยภูมิ

"การที่ทั้ง 3 โครงการได้จดทะเบียนกับ CDM EB ไว้แล้วถือว่า โครงการได้เดินมาครึ่งทางแล้ว โดยกระบวนการต่อจากนี้ไปก็คือจะต้องมีหน่วยงานที่ 3 มาตรวจสอบทั้ง 3 โครงการอีกครั้งว่า เป็นโครงการที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จริงหรือไม่ และลดได้เท่าใด หลังจากผลตรวจสอบผ่านแล้วก็จะส่งเรื่องให้ CDM EB พิจารณารับรองอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นเอกชนที่ทำโครงการก็สามารถดำเนินการซื้อขายคาร์บอนกับประเทศพัฒนาแล้วที่ได้มีการเจรจาตกลงกันไว้ตั้งแต่ต้นได้" แหล่งข่าวกล่าว

ส่วน โครงการที่เหลือ ได้แก่

1. โครงการผลิตไฟฟ้าจากกากอ้อยของบริษัทน้ำตาลขอนแก่น จ.ขอนแก่น
2. โครงการผลิตไฟฟ้าจากเศษไม้ยางพาราของบริษัทรับเบอร์ วูด
3. โครงการผลิตไฟฟ้าของบริษัทกัลฟ์ยะลากรีน จำกัด จ.ยะลา
4. โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพที่ได้จากน้ำเสียโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังของบริษัทโคราชเวสท์ทูเอ็นเนอร์ยี่ จ.นครราชสีมา
5. โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพที่ได้จากน้ำเสียฟาร์มสุกรของโครงการฟาร์มหมูราชบุรี

กำลังส่งเรื่องไปยัง CDM EB ให้พิจารณาอนุมัติอยู่
สำหรับเม็ดเงินลงทุนในการปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักร ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีที่ใช้และประเภทของโรงงาน
บริษัท McKinnon & Clarke บริษัทที่ได้รับอนุญาตในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Emission Trader) สัญชาติยุโรป เป็นบริษัทต้นๆ ที่เข้ามาดำเนินการการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในไทย โดยได้ตั้งหน่วยงานใหม่ด้านบริการสิ่งแวดล้อม (Environmental Services) ในไทย เพื่อดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเห็นว่าประเทศกำลังพัฒนาเช่นไทย มีต้นทุนต่ำหากจะลดการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จึงมีโอกาสที่จะขายคาร์บอนเครดิตจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนให้กับประเทศที่พัฒนาแล้ว
บริษัทนี้คิดว่าธุรกิจเทรดคาร์บอน เครดิต จะเป็นธุรกิจที่จะโตต่อไป นอกจากจะเข้ามาช่วยลูกค้าเรื่องการจัดหาเงินลงทุน (Project Financing) แล้ว ก็ยังจะเกิดประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง โดยจะมีซอฟต์แวร์เพื่อเข้าไปช่วยลูกค้า ช่วงนี้ถือเป็นช่วงเริ่มต้นดำเนินการ ซึ่งต้องแน่ใจเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล ว่าวิธีการทำงานเป็นอย่างไรก่อน
อย่างไรก็ตาม เรื่องการลงทุนลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ยังคงเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงสำหรับลูกค้าคนไทย เพราะค่อนข้างใช้เงินลงทุนสูง หากลงทุนแล้วไม่ได้รับใบรับรองเพื่อนำไปสู่การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในอนาคต การดำเนินการต่างๆ จึงต้องทำเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด
การซื้อขายคาร์บอนเครดิต ในสหภาพยุโรป มีวิธีการที่ง่าย แค่ยกบิลค่าไฟฟ้าให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดู เท่านี้ก็ได้เงินกลับคืนมา ถ้าเทียบกับในไทยที่มีความซับซ้อนมากกว่า
การซื้อขายคาร์บอนเครดิต ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้มลพิษลดลง เพราะคนอื่นเป็นคนก่อแต่เราเป็นคนเข้าไปแก้ แต่อย่างน้อยก็ สร้างแรงจูงใจให้กับโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในการลงทุนเพื่อลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ถ้าเขามั่นใจว่าลดแล้วสามารถนำไปซื้อขายกันได้ในอนาคต จะสร้างแรงจูงใจให้ทุกคนก็เกิดความกระตือรืนร้นที่จะทำอะไรเพื่อสิ่งแวดล้อมขึ้นมา
แม้ว่าราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตในปัจจุบันจะไม่จูงใจผู้ขายมากนักก็ตาม เมื่อเทียบกับค่าปรับที่คิดจากกิจการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ปรับตันละ 100 ยูโร ในขณะที่ราคาซื้อขาย คาร์บอนเครดิตยังอยู่ที่ประมาณตันละ 17-18 ยูโรต่อตัน (ราคาซื้อขายเดือนมกราคม 2551)
พิธีสารเกียวโต ยังไม่ทำให้เกิดการลดการใช้คาร์บอนไดออกไซด์ลงอย่างมากมาย เพราะ ราคาซื้อขายยังไม่สูงพอที่จะสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลดการใช้พลังงาน หรือปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เชื่อว่าราคาซื้อขายในปี 2551-2555 จะสูงขึ้น จากเกณฑ์การลดปริมาณการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะเข้มงวดมากขึ้น
สาเหตุที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ปล่อยมลพิษสูงสุดในโลก แต่กลับไม่ยอมลงนามในพิธีสารเกียวโตนั้น เพราะเกรงว่าธุรกิจจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน แต่สำหรับประเทศอังกฤษ ยุโรป แม้จะเป็นประเทศที่ไม่ใหญ่ แต่ก็เริ่มมีการดำเนินการเรื่องนี้ ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย
อย่างไรก็ดี ถ้าสมาชิกมีความสนใจที่จะรับรู้เรื่องนี้มากขึ้น ในวันที่ 25 ถึง 26 กุมภาพันธ์ 2551 ที่โรงแรมมณเฑียร (สุรวงศ์) กรุงเทพฯ จะมีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง Thematic Promotion of Sustainable Energy Technology at Carbon Markets โดยจะเน้นไปที่ Wastes and Biogas โดยประเด็นที่น่าสนใจจะเป็นการนำเสนอเทคโนโลยีล่าสุดจากยุโรปในโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด Clean Development Mechanism (CDM) และโอกาสในการขาย คาร์บอน เครดิต ของเจ้าของโครงการ โดยผู้จัดเป็นองค์กรที่มิได้หวังผลกำไร คือ Centre for Energy Environment Resources Development (CEERD) //www.ceerd.net และได้ขอความร่วมมือกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เพื่อเชิญสมาชิกผู้สนใจ โดยเน้นสมาชิกที่มีโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพอยู่แล้วหรือที่กำลังสร้าง ซึ่งวารสารสุกรจะนำเสนอความคืบหน้าของโครงการนี้เป็นระยะ


รวบรวมโดย สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ข้อมูลจาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ BizWeek






Free TextEditor


Create Date : 16 กุมภาพันธ์ 2552
Last Update : 16 กุมภาพันธ์ 2552 15:50:29 น. 0 comments
Counter : 395 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

จั๊กจั่นเรไร
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add จั๊กจั่นเรไร's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.