Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2551
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
28 กรกฏาคม 2551
 
All Blogs
 

เที่ยววัดที่มีชื่อเป็นมงคลนาม "มั่นคง-ยั่งยืน" วัดเชียงมั่น.. วัดเชียงยืน..

วันนี้ท้องฟ้าแจ่มใส อากาศดี จะพาไปชมวัดอันมีชื่อเป็นมงคลนาม 2 วัดนะครับ วัดแรกคือ วัดเชียงมั่นครับ

วัดนี้เป็นวัดแห่งแรกในเชียงใหม่ เนื่องจากพญามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งล้านนาไทย ได้นำไพร่พลเข้ามาตั้งที่บริเวณแห่งนี้ ก่อนที่พระองค์จะทรงสร้างนครพิงค์เชียงใหม่ บริเวณนี้เรียกว่า "เวียงเหล็ก" หมายถึงความแข็งแรงมั่นคง กระทั่งราวปี พ.ศ.1839 เดือนวิสาขะ ขึ้น 8 ค่ำ ตรงกับวันพฤหัสบดี ปีวอก ตรีศก พญามังรายพร้อมด้วยพญางำเมืองแห่งเมืองพะเยาและพ่อขุนรามคำแหงแห่งกรุงสุโขทัย ได้ทรงสร้างพระเจดีย์ขึ้นตรงที่ราชมณเฑียรหอประทับของพระองค์ แล้วทรงขนานนามว่า "วัดเชียงมั่น" ให้เป็นพระอารามแห่งแรกของเมืองเชียงใหม่

ภาพวิหารวัดเชียงมั่นครับ...


ภาพวิหารวัดเชียงมั่น อีกมุมหนึ่งครับ..



ภายในวิหารวัดเชียงมั่น จะมีธรรมมาสน์อยู่ภายใน และมีภาพเขียนประดับฝาวิหาร ด้วยสีแดงและสีทองอย่างสวยงาม บรรยายเรื่องราวกำเนิดราชวงค์มังราย การสร้างเวียงกุมกาม การสร้างเมืองเชียงใหม่ และเรื่องราวอื่น ๆ อีกครับ



ภาพธรรมมาสน์ในวิหารวัดเชียงมั่น อีกมุมหนึ่ง..



พระประธานในวิหารวัดเชียงมั่นครับ...



ทางด้านขวาของวิหารวัดเชียงมั่น จะเป็นวิหารจุตรมุขที่เก็บรักษาพระพุทธรูปล้ำค่าของล้านนาครับ...



ภายในวิหารจตุรมุข จะมีมณฑปที่ประดิษฐานพระพุทธรูปล้ำค่าของล้านนา 2 องค์ คือพระเสตังคมณี (พระแก้วขาว) และพระพุทธรูปศิลาปางปราบช้างนาฬาคีรี...



พระเสตังคมณี หรือพระแก้วขาว เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย แกะสลักจากผลึกหินสี ขาวขุ่น ขนาดหน้าตักกว้าง 4 นิ้ว สูง 6 นิ้ว ศิลปทวาราวดี สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 1100 - 1600 เดิมอยู่ที่เมืองละโว้ (ลพบุรี)...

แล้วพระนางจามเทวีนำมาประดิษฐานที่เมืองหริภุญชัย (ลำพูน) เมื่อ พ.ศ.1204

ต่อมา พญามังรายตีเมืองหริภุญชัยได้ในปี พ.ศ.1824 จึงนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดเชียงมั่น ในปี พ.ศ.1839... สำหรับฐานพระพุทธรูปนั้นสร้างเมื่อ พ.ศ.2471...

แล้วในสมัยพระไชยเชษฐาได้มาครองเมืองเชียงใหม่อยู่ระยะสั้น ๆ ภายหลังได้ทรงกลับไปครองล้านช้าง ได้นำพระแก้วมรกตจากเมืองเชียงใหม่ ไปล้านช้าง (ประเทศลาว) ในครั้งนั้นและได้นำพระเสตังคมณีองค์นี้ไปด้วย

เมื่อเวลาล่วงมาถึงยุคกรุงธนบุรี พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ครั้งยังดำรงตำแหน่งเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้ยกกองทัพไปตีเวียงจันทร์ และนำพระแก้วมรกตมาและพระเสตังคมณีองค์นี้กลับมาจากล้านช้างด้วย ได้นำพระแก้วมรกตไปประดิษฐานไว้ที่กรุงเทพ ส่วนพระเสตังคมณีให้นำกลับมาที่วัดเชียงมั่นตามเดิม...



พระพุทธรูปศิลาปางปราบช้างนาฬาคีรี เป็นพระพุทธรูปแกะสลักด้วยหิน ฝีมือช่างปาละของอินเดีย เชื่อว่าพระเถระชาวสิงหล 4 รูป ได้นำพระศิลาพร้อมด้วยพระบรมสารีธาตุริกธาตุของพระพุทธเจ้า มามอบให้พญามังรายที่เวียงกุมกามเมื่อ พ.ศ.1833 ภายหลังจึงนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดเชียงมั่น คู่กับพระพุทธเสตังคมณี

พุทธลักษณะของพระศิลา คือ ประทับยืนเยื้องพระองค์บนฐานบัวภายใต้ซุ้ม พระหัตถ์ขวาทอดลงเหนือหัวช้างซึ่งหมอบอยู่ พระหัตถ์ซ้ายยกในท่าประทานอภัยหรือแสดงธรรม พระอานนท์ยืนถือบาตรอยู่ด้านซ้าย..

พระพุทธรูปทั้ง 2 องค์ประดิษฐานในมณฑป มีลูกกรงกั้นหลายชั้น เพื่อป้องกันมิจจาชีพ...



ด้านหลังของวิหารวัดเชียงมั่น เป็นที่ตั้งของพระเจดีย์ซึ่งสร้างขึ้นตรงบริเวณที่เคยเป็นที่ประทับของพญามังรายขณะสร้างเมืองเชียงใหม่ ราวปี 1839..

ต่อมาได้มีการซ่อมแซม เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2014 โดยพระเจ้าติโลกราชโปรดให้ซ่อมด้วยศิลาแลง จากลักษณะของส่วนยอดแสดงว่าคงจะซ่อมใหม่ ซึ่งอาจเป็นการซ่อมเมื่อ ประมาณปี พ.ศ. 2114 โดยพญาแสนหลวง สำหรับลวดลายประดับ และจรนำเรือนธาตุนั้น น่าจะมีการปรับเปลี่ยนเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 25 นี้เอง..



ลักษณะของเจดีย์ เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมผสมทรงกลม ทรงสูง (ทรงปราสาท)ประกอบ ด้วยเรือนธาตุและซุ้มจรนำ ตรงฐานเจดีย์ทำเป็นรูปช้างล้อม 16 เชือก สันนิษฐานว่าสร้างเลียนแบบเจดีย์ช้างล้อมของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชที่เมืองศรีสัชนาลัย...



อุโบสถทรงล้านนาของวัดเชียงมั่น เป็นพระอุโบสถที่งดงามด้วยสถาปัตยกรรมล้านนาอีกแห่งหนึ่ง และเป็นที่ตั้งของศิลาจารึกวัดเชียงมั่นซึ่งมีข้อความกล่าวถึงการสร้างเมืองเชียงใหม่โดยพญามังราย อีกด้วยครับ...



ศิลาจารึกวัดเชียงมั่นพุทธศักราช 2124 เป็นแผ่นหินทราย ขนาดกว้างประมาณ 60 เซนติเมตร สูง 1 เมตร จารึกเป็นภาษาล้านนา (ฝักขาม) คืออักษรสุโขทัยแปลง กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของเมืองเชียงใหม่และการสร้างวัดเชียงมั่น...



ภาพหอไตร วัดเชียงมั่นครับ...



ต่อไปเราจะเที่ยววัดเชียงยืนกันนะครับ...

วัดเชียงยืนตั้งอยู่ที่ด้านนอกของแนวคูเมืองและกำแพงเมืองเก่าของเชียงใหม่ ที่เลขที่ 140 ถ.หน้าสนามกีฬา ต.ศรีภูมิ

วัดนี้สร้างเมื่อใดไม่มีหลักฐานปรากฏชัด สันนิษฐานว่าในสมัยพญามังราย พระองค์ได้สร้างวัดคู่เมืองเชียงใหม่เป็นแห่งแรก คือ วัดเชียงมั่น อันมีความหมายว่า “มั่นคง” ต่อมาจึงสร้างวัดเชียงยืน ตามความหมายว่า “ยั่งยืน” ด้วยจะมีพระราชประสงค์ที่ว่าวัดเชียงมั่นตั้งอยู่เขตพระนครด้านใน เมื่อประตูเมืองปิดอาณาประชาราษฎร์ของพระองค์ที่อยู่นอกกำแพงเมืองจะได้อาศัยวัดเชียงยืน เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอาจเป็นได้..

นอกจากนี้แล้ววัดนี้ยังตั้งอยู่ในตำแหน่งเดชเมืองเชียงใหม่ ตามคัมภีร์มหาทักษาล้านนาอีกด้วยครับ...

ภาพหน้าแหนบวิหารวัดเชียงยืน เป็นไม้แกะสลักรูปนกยูงประดับด้วยกระจกสี... นกยูงเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นสูงของล้านนาในสมัยก่อนครับ..



วัดเชียงยืน มีชื่อปรากฏอยู่ในตำนานชินกาลบาลีปกรณ์ ได้กล่าวถึงรัชกาลพระเมืองแก้ว กษัตริย์ล้านนา รัชกาลที่ 11 แห่งราชวงศ์มังรายว่า พระองค์พร้อมด้วยพระเทวีราชมารดา ทรงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุบรรจุ พระสถูปเจดีย์ใหญ่วัดฑีฆชีววัสสาราม (ฑีฆายวิสาราม) เมื่อวันพุธ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 3 ปีมะโรง จุลศักราช 882 (พ.ศ.2061)...

ลืมบอกไปว่าวัดเชียงยืนมีชื่อเรียก 3 ชื่อคือ..วัดเชียงยืน, วัดฑีฆชีวะวัสสาราม และ วัดฑีฆายวิสาราม หรือฑีฆาชีวิตสาราม...

เจดีย์วัดเชียงยืนครับ...



ลักษณะเจดีย์รูปทรงแปดเหลี่ยมอันสื่อความหมายถึง เดชบารมีแผ่ไปในทิศทั้งแปด ด้านหน้าประดิษฐานพระเจ้าทันใจ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่สร้างเสร็จภายในหนึ่งวัน... ด้านซ้ายขวามีเสาไม้ขนาดใหญ่อยู่ทั้ง 2 ด้าน...



เสาไม้ทางด้านซ้ายมือ แกะสลักเป็นรูปสัตว์ตามปีนักษัตร 12 ปีของชาวล้านนา..

สังเกตว่าในปีที่ 12 ล่างสุด ของภาคกลางจะเป็นปีกุน (หมู)
แต่ของชาวล้านนาจะเป็นปี "ไก๊" (ช้าง)..



ส่วนเสาไม้ทางด้านขวา จะแกะสลักเป็นรูปพระธาตุประจำปีเกิด 12 ปีเช่นกัน..



เจดีย์วัดเชียงยืน เดิมเป็นเจดีย์ทรงระฆัง ต่อมารูปแบบได้เปลี่ยนไปตามการบูรณะ โดยเฉพาะส่วนฐานที่ขยายใหญ่มากซึ่งคล้ายศิลปกรรมแบบพม่ารุ่นหลัง องค์เจดีย์ประดับด้วยดอกไม้สีทองโดยทั่วไป...



มีรูปปั้นสิงห์ตัวใหญ่ 1 ตัว ตัวเล็ก 2 ตัว ประดับอยู่ที่มุมฐานเจดีย์ทั้ง 4 ทิศ...



สถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในวัดเชียงยืน ก็คือพระอุโบสถรูปแปดเหลี่ยม เป็นรูปแบบศิลปะพม่า... พระอุโบสถแห่งนี้จะอยู่แยกออกมาไกลจากตัววิหารและเจดีย์ โดยจะมีอาคารเรียนกั้นอยู่ระหว่างกลาง..



พระอุโบสถแปดเหลี่ยม มองผ่านประตูเข้าไป น่าเสียดายว่า บริเวณรอบ ๆ ขาดการดูแลรักษา เลยไม่สวยงามเท่าที่ควร...



ขอจบการทัวร์วัดเชียงมั่น วัดเชียงยืน แต่เพียงเท่านี้นะครับ ขอความมั่นคง-ยั่งยืน ในชีวิตการทำงานและครอบครัว จงมีแด่เพื่อน ๆ ทุกท่านนะครับ




 

Create Date : 28 กรกฎาคม 2551
9 comments
Last Update : 28 กรกฎาคม 2551 10:27:03 น.
Counter : 6101 Pageviews.

 

สวยมากค่ะ

 

โดย: superss 28 กรกฎาคม 2551 10:58:02 น.  

 

ชอบไปทัวร์วัด ทำบุญไหว้พระค่ะ วันหลังพาไปทัวร์อีกนะคะ....

 

โดย: VICT 28 กรกฎาคม 2551 13:25:47 น.  

 

ตามมาเที่ยววัดด้วยคน
และขอบคุรสำหรับคำอวยพรคับ

ไป ชม.มาหลายรอบไม่เคยไปวัดนี้ซักที
สวยจิงๆ

 

โดย: chalawanman 28 กรกฎาคม 2551 15:51:11 น.  

 

มาเยือนครับ

 

โดย: พริกดิบ 's blog (พริกดิบ ) 3 สิงหาคม 2551 20:30:31 น.  

 

วัดนี้ก็สวยพอไช้นะครับ

 

โดย: เด็กดี ไม่มีวันโข่ง IP: 202.143.143.133 15 สิงหาคม 2551 13:17:27 น.  

 

ถ่ายรูปได้สวยมาก และข้อมุลก็ดีด้วย ได้ความรู้

 

โดย: เก๊ก IP: 124.120.48.93 3 กันยายน 2551 23:36:36 น.  

 

ขออนุญาตนำรูปไปใช้นะคะ

ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

 

โดย: เด็กดอยหลงกรุง IP: 125.24.141.237 9 กันยายน 2551 0:36:17 น.  

 

วัดนี้ผมได้ไปมาแล้ว

ไปอย่างบังเอิญมากๆ

แต่ผมขอบอกได้เลยว่าวัดนี้เงียบสงบและสวยงามมากๆ

(ข้าวเหนียวหมูปิ้งงาขาวหน้าวัดอร่อยมากๆ)

 

โดย: BEER IP: 192.168.10.101, 58.9.77.169 25 พฤศจิกายน 2552 2:27:18 น.  

 

เป็นคนเชี่ยงใหม่แต่ไม่มีเวลาไปเที่ยวสวยมาก

 

โดย: ชลดา IP: 110.77.234.43 30 มีนาคม 2554 14:41:51 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


old technician
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add old technician's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.