http://twitter.com/merveillesxx และ http://www.facebook.com/merpage
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2551
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
6 มิถุนายน 2551
 
All Blogs
 
คู่สัมพันธ์วินาศ: ภาพยนตร์ความขัดแย้งระหว่างประเทศเชิงทวิสัมพันธ์

โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง


หมายเหตุ: รายงานส่งวิชา Film Criticism สมัยเรียนมหาลัย


1. บทนำ

ในโลกยุคหลังทันสมัย (Post Modern Era) นั้นเราอาจถือว่าโลกได้เข้าสู่ “ยุคโลกาภิวัตน์” (Globalization) อย่างเต็มตัวทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง กล่าวคือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นมีความเชื่อมโยงกันอย่างกว้างขว้างและซับซ้อนมากขึ้น โดยตัวแทนที่สะท้อนภาพตรงนี้ เราอาจมองได้จากองค์กรโลกบาลอย่าง องค์กรการค้าโลก (WTO) หรือการรวมกลุ่มอาเซียน (ASEAN) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาแล้วเราจะพบว่าความสัมพันธ์แบบ “ทวิสัมพันธ์” ก็ยังคงมีอยู่ ทางด้านเศรษฐกิจนั้น ตั้งแต่ยุคหลังสหัสวรรษใหม่เป็นต้นมา แนวโน้มการทำสัญญาการค้าระหว่างประเทศได้โน้มเอียงจากสัญญาการค้าแบบภูมิภาค (RTA - Regional Trade Agreement) มาสู่ยุคเฟื่องฟูของการทำสัญญาเขตการค้าเสรี (FTA - Free Trade Area) ซึ่งถือเป็นการค้าแบบ “ทวิภาคี” (Bilateral Trade)

ส่วนทางด้านการเมือง นับตั้งแต่เหตุการณ์ 11 กันยายนเป็นต้นมา โลกก็ได้ตระหนักถึง “ความรุนแรงเชิงโลกาภิวัตน์” ที่แพร่ระบาดไปถึงอัฟกานิสถานและอิรัก อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศ ไม่ว่าจะเป็นคู่ใดก็ตามยังคงมีอยู่ และมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้นด้วย ตัวอย่างเช่น กรณีของอิสราเอล-เลบานอน หรือกรณีที่ประเทศจีนและเกาหลีใต้ประท้วงญี่ปุ่นเรื่องตำราประวัติศาสตร์อันบิดเบือน

รายงานฉบับนี้จึงมุ่งสำรวจภาพยนตร์กลุ่มที่มีประเด็นเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างประเทศเชิงทวิสัมพันธ์ (เน้นไปที่ภูมิภาคเอเชีย) โดยหยิบบกประเด็นใดประเด็นหนึ่งในแต่ละคู่ความขัดแย้งมาวิเคราะห์ ทั้งในตัวบทของภาพยนตร์ และบริบทรอบนอกทางสังคมวัฒนธรรมการเมือง





2. ญี่ปุ่น VS เกาหลีใต้

ในช่วงปี 2002 จนถึงปัจจุบัน เราสามารถเห็น “กระบวนเชื่อมความสัมพันธ์” ระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้อย่างชัดเจน โดยเริ่มจากการจัดฟุตบอลโลกปี 2002 ร่วมกัน ส่วนในด้านวงการบันเทิงก็เป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและทรัพยากรซึ่งกันและกัน เช่น ละครซีรี่ส์เรื่อง Friends (2002) ที่นำแสดงโดย วอนบิน (จากเกาหลีใต้) และเคียวโกะ ฟูคาดะ (จากญี่ปุ่น)

ช่วงขณะเดียวกันนี้กระแสนิยมวัฒนธรรมเกาหลี (Koreanism) ไม่ว่าจะเป็นละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ หรือดารานักร้อง ได้แพร่กระจายไปทั่วภูมิภาคเอเชีย รวมถึงตัวประเทศญี่ปุ่นเอง จึงอาจกล่าวได้กระแสนิยมวัฒนธรรมป็อป (pop culture) ได้มีพลวัตรสับเปลี่ยนจาก Japanism สู่ Koreanism โดยสมบูรณ์แบบ

ตัวอย่างคลื่นวัฒนธรรมเกาหลีที่บุกไปสู่เกาะญี่ปุ่น ได้แก่ ความโด่งดังของดาราชายอย่างแบยองจุนในประเทศญี่ปุ่น หรือที่เรียกว่า “ปรากฏการณ์แบยองจุน” ถึงขนาดที่ว่าเหล่าสาวญี่ปุ่นยอมทุ่มทุนตีตั๋วเครื่องบินไปดูเขาถ่ายหนังในเกาหลี หรือกระทั่งร้านอาหารเกาหลีในญี่ปุ่นที่ขายดิบขายดี เพียงเพราะอ้างว่าเมนูของร้านเป็นของโปรดของแบยองจุน

ทางด้านวงการดนตรี เราก็จะเห็น BoA สาวเกาหลีที่ข้ามแดนมาร้องเพลงภาษาญี่ปุ่น จนตอนนี้เธอก็ย้ายถิ่นฐานมาอาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นอย่างถาวร จนหลายคนยังเข้าใจผิดว่าเธอเป็นคนญี่ปุ่น ส่วนนักร้องหนุ่มเกาหลีที่ดังโด่งที่สุดในช่วงเวลานี้อย่าง Rain ก็เจาะตลาดแดนปลาดิบ ด้วยการออกอัลบั้มภาษาญี่ปุ่นด้วย

อย่างไรก็ดี แม้ทุกวันนี้เกาหลีใต้จะดูมีชัยชนะทางวัฒนธรรมเหนือกว่าญี่ปุ่น แต่ชาวเกาหลีใต้ก็ยังมิลืมเลือนบาดแผลในอดีตที่ตนต้องเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น รวมถึงการถูกกระทำทรมานสารพัด หลักฐานแห่งความแค้นฝังลึกนอกจากกรณีที่เกาหลีประท้วงญี่ปุ่นเรื่องตำราประวัติศาสตร์ที่บิดเบือน (โดยญี่ปุ่นใส่ตัวเลขจำนวนประชากรเกาหลีที่ตนฆ่าตายน้อยกว่าความเป็นจริง) ก็ยังมีกรณีของดาราสาว คิม ยุนจิม ที่ปฏิเสธการรับบทเป็นเกอิชาในหนังเรื่อง Memoirs of a Geisha (2005, ร็อบ มาร์แชล) โดยเธอให้สัมภาษณ์ว่า “จะเรียกว่าความหยิ่งในศักดิ์ศรีก็ได้นะ เพราะฉันจะไม่ยอมเล่นบทผู้หญิงญี่ปุ่นเด็ดขาด”

ดังนั้นจากเรื่องของความรู้สึกฝังรากของชาวเกาหลีใต้ที่ว่ามา ทางด้านของวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่นก็มีการตอบโต้กับเรื่องนี้เหมือนกัน โดยมักจะเป็นหนังที่มีตัวเอกเป็นชาวเกาหลีที่มาอาศัยอยู่ในญี่ปุ่น และต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย แต่ข้อสังเกตคือตอนจบของหนังกลุ่มนี้มักลงเอยด้วยการที่ตัวละครเกาหลีสามารถฝ่าฟันเรื่องราวต่างๆ ไปได้ และได้รับการยอมรับจากคนญี่ปุ่น หรือกระทั่งมีความสัมพันธ์อันลงรอยกันในที่สุด (แม้ว่าก่อนหน้านั้นจะมีการกระทบกระทั่งกันมาก่อน) ด้วยลักษณะเหล่านี้เราจึงอาจเรียกหนังกลุ่มนี้ได้ว่าเป็น “จดหมายงอนง้อจากแดนปลาดิบถึงแดนโสม”



ภาพยนตร์ที่น่าสนใจในกลุ่มนี้ก็เช่น เรื่อง Go (2001, อิซาโอะ ยูกิซาดะ) ที่เล่าถึงชายหนุ่มลูกครึ่งญี่ปุ่น-เกาหลี ที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ในช่วงมัธยมปลายเขาตัดสินใจย้ายไปโรงเรียนที่อยู่ในระบอบการศึกษาแบบญี่ปุ่น (ก่อนหน้านั้นเขาเรียนในโรงเรียนสำหรับคนเกาหลี) ซึ่งทำให้เขาเผชิญกับกระบวนการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ ทั้งในทางวาจา และการทำร้ายร่างกาย แต่เขาก็ไม่ได้อยู่เฉยๆ เป็นเป้านิ่ง แต่ตอบโต้กลับไปด้วย จึงเป็นเหตุให้เขาทะเลาะวิวาทกับเพื่อนร่วมชั้นอยู่บ่อยครั้ง

ถัดมาพระเอกของเรื่องได้พบกับหญิงสาวญี่ปุ่น โดยทั้งคู่ต่างรู้สึกชอบพอกัน แต่ด้วยความรู้สึกแปลกแยกและถูกกีดกันจากสังคม ทำให้พระเอกมีบุคลิกที่ปิดกั้นจิตใจตัวเอง จนเป็นเหตุทำให้เขาผิดใจกับนางเอก แต่ในที่สุดช่วงท้ายเรื่องทั้งสองก็ปรับความเข้าใจกันได้ ทั้งนี้ก็เพราะที่จริงแล้วตัวนางเอกก็มีปมทางด้านเชื้อชาติเหมือนกัน (เธอต้องคอยปิดบังว่าตัวเองสืบทอดเชื้อสายมาจากตระกูลเก่าแก่โบราณ) นั่นก็หมายความว่าหนังเรื่อง Go พยายามทำให้ตัวละครญี่ปุ่นและเกาหลีตกอยู่ในสภาวะเดียวกัน, ฐานะเดียวกัน และเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน

ประเด็นน่าสังเกตอีกอย่างอยู่ตรงที่พระเอกได้ลอบมีสัมพันธ์ล้ำลึกกับนางเอก ในตอนที่ไปเที่ยวบ้านของเธอ ทั้งที่ในขณะนั้นพ่อแม่ของฝ่ายหญิงก็อยู่ในบ้านด้วย ซึ่งถือเป็นภาพแทนของการรุกล้ำของเกาหลีสู่แดนดินของญี่ปุ่น (กลับกันกับสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2) แม้ว่าจะเป็นดินแดนแห่งร่างกายสตรีเพศ และการครอบครองทางกายภาพก็ตาม



ในขณะที่เรื่อง Go ยังใช้ดาราญี่ปุ่นแสดงเป็นชาวเกาหลี หนังเรื่อง Linda Linda Linda (2005, โนบุฮิโร่ ยามาชิตะ) ก้าวไปไกลอีกขึ้นหนึ่งด้วยการใช้นักแสดงเกาหลีจริงๆ นั่นคือ แบดูนา (ซึ่งเป็นนักแสดงเกาหลีที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง) โดยหนังนั้นว่าด้วยนักเรียนสาวญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งที่รวมกันตั้งวงร็อคด้วยกัน แต่เกิดเหตุทะเลาะกัน จนทำให้สมาชิกคนหนึ่งลาออกไป พวกเธอเลยต้องหานักร้องคนใหม่ โดยไปชักชวนสาวเกาหลีซึ่งเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนของโรงเรียนมาร่วมวง (โดยที่แท้จริงแล้วพวกสาวญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้ตั้งใจ แต่ทำไปเพราะต้องการประชดเพื่อนที่ลาออกไป)

ใน Linda Linda Linda จะไม่มีประเด็นการแบ่งแยกทางเชื้อชาติเหมือนหนังเรื่อง Go ตัวละครชาวเกาหลีได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆ เป็นอย่างดี อุปสรรคที่เธอต้องเผชิญจึงมีเพียงเรื่องความสับสนในภาษาญี่ปุ่นก็เท่านั้น แต่หลังจากฝึกซ้อมอย่างหนักในที่สุดเธอก็สามารถพูดภาษาญี่ปุ่นได้ และในฉากสุดท้ายซึ่งเป็นฉากงานคอนเสิร์ต สาวเกาหลีก็สามารถร้องเพลงภาษาญี่ปุ่นได้อย่างคล่องแคล่วและทรงพลัง ซึ่งฉากนี้ไม่ได้แสดงถึงการทลายกำแพงภาษาระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีเท่านั้น แต่ยังเป็นการเชื่อมสัมพันธ์อย่างสมบูรณ์แบบด้วย จึงกล่าวได้ว่านักแสดงเกาหลีอย่างแบดูนาก็เปรียบเสมือนเป็นทูตวัฒนธรรมที่ถูกเชิญมายังญี่ปุ่น เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ





3. เกาหลีเหนือ VS เกาหลีใต้

คู่ขัดแย้งเหนือใต้แห่งเส้นขนานที่ 38 นี้มีความพยายามจะเชื่อมสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนานแล้ว แต่ก็ดูจะไม่สำเร็จอย่างแท้จริงเสียที ส่วนหนึ่งก็อาจมาจากระบอบการปกครองที่ต่างกัน และกรณีที่เกาหลีใต้เลือกยืนอยู่ฝ่ายเดียวกับสหรัฐอเมริกาอย่างชัดเจน โดยเห็นได้จากกรณี FTA สหรัฐ-เกาหลีใต้ ที่แม้จะก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในประเทศมากมายเพียงไร แต่ประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ก็ยังคงยืนยันจะทำ FTA ต่อไป ในขณะที่ฝ่ายเกาหลีเหนือมีท่าทีเป็นปรปักษ์กับสหรัฐอย่างชัดเจน โดยเฉพาะกรณีของการเดินหน้าทดลองพลังงานนิวเคลียร์

นอกจากนั้นทางฝั่งเกาหลีเหนือเองก็มีความน้อยเนื้อต่ำใจอยู่ลึกๆ ในแง่ที่ว่าเกาหลีใต้ดูจะเหนือกว่าตนทุกประการ ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ โดยในขณะที่ภาพยนตร์จากเกาหลีใต้ไปปักธงชัยทั่วผืนแผ่นดินโลก แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าเกาหลีเหนือนั้นมีการผลิตภาพยนตร์ออกมาหรือเปล่า ฉะนั้นในแง่นี้จึงถือได้ว่าพื้นที่ของ “ภาพยนตร์เกาหลี” นั้นถูกเกาหลีใต้ยึดครองอย่างเบ็ดเสร็จ เพราะเมื่อใดที่พูดว่า หนังเกาหลี (Korean Film) ทุกคนพร้อมจะเข้าใจตรงกันว่าหมายถึงหนังจากเกาหลีใต้

ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของเกาหลีใต้ นอกจากหนังดราม่าเรียกน้ำตา และหนังตลกโปกฮาแล้ว หนังประเภท “เหนือ-ใต้” ที่แสดงถึงความขัดแย้งระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ก็มีการผลิตออกมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยในช่วงยุคทศวรรษ 90 ก็มักจะเป็นการผลิตซ้ำภาพชนิดที่ว่า “ฝ่ายเหนือคือผู้ร้าย ฝ่ายใต้คือพระเอก” จนมาถึงปลายยุค 90 ที่หนังแนวเหนือ-ใต้เริ่มหลุดจากกรอบความคิดนี้ ทั้งนี้ยังมีข้อสังเกตว่าหนังประเภทนี้มักครองแชมป์เป็นหนังทำเงินอันดับหนึ่งของปีอยู่เสมอ (เช่น Shiri, JSA, Silmido, Taegukgi, Welcome to Dongmakgol และ Hanbando) จึงแสดงให้เห็นว่าประเด็นเหนือ-ใต้ยังคงเป็นเรื่องที่ชาวเกาหลีใต้ให้ความสนใจ แม้ว่าเขาจะอยู่ในฐานะผู้ที่เหนือกว่าก็ตาม



ภาพยนตร์เรื่อง Taegukgi (2004, คังเจกิว) ที่มีฉากหลังเป็นช่วงการเริ่มปะทุของสงครามเกาหลี (1951-1953) เล่าถึงสองพี่น้องชาวเกาหลีใต้ที่ถูกเกณฑ์ไปรบโดยไม่เต็มใจนัก ฝ่ายพี่ชายนั้นอยากให้น้องกลับบ้านเกิดไปโดยไวที่สุด เขาจึงทำสัญญาลับๆ กับผู้บังคับบัญชาว่า หากเขารบกับข้าศึกจนได้เหรียญเกียรติยศ น้องชายของเขาจะต้องได้กลับบ้านทันที

ด้วยเหตุนี้เองผู้เป็นพี่จึงทำสงครามอย่างบ้าคลั่ง ในขณะที่ฝ่ายน้องก็รู้สึกเคลือบแคลงในตัวพี่ชาย (ตัวน้องชายนั้นมีแนวคิดต่อต้านความรุนแรงและสงครามทุกประเภท เนื่องจากเขาได้รับการศึกษาที่ดี ในขณะที่พี่ชายเป็นเพียงช่างทำรองเท้า) จนในที่สุดความสงสัยก็ถูกแปรเปลี่ยนเป็นความเกลียดชัง เมื่อน้องชายคิดว่าผู้เป็นพี่ได้กลายเป็นพวกบ้าสงครามและหลงใหลในลาภยศ สองพี่น้องจึงต้องกลายเป็นศัตรูกันไปโดยปริยาย

ความเป็นศัตรูกันของพี่น้องถูกขยายความให้สุดโต่งขึ้นไปอีก เมื่อฝ่ายพี่เข้าใจผิดว่าน้องชายของตนถูกพวกทหารเกาหลีใต้ด้วยกันจับเผาทั้งเป็น เขาจึงเสียสติ ฆ่าพวกเดียวกัน และแปรพักตร์ไปอยู่ฝ่ายเหนือในที่สุด เรื่องราวหลังจากนั้นจึงเป็นโศกนาฏกรรมโดยแท้ เพราะพี่น้องกลับต้องมาห้ำหั่นกันเองในนามของสงคราม

ที่จริงแล้ว Taegukgi ดูเหมือนจะสามารถหลุดจากแนวคิดเข้าข้างฝ่ายใต้ไปได้ เพราะหนังเน้นประเด็นเรื่องความเสียสติ ความไร้สาระของสงคราม ที่ทำให้พี่น้องต้องมารบราฆ่าฟันกันเอง แต่ประเด็นที่น่าสงสัยอยู่ในฉากท้ายเรื่อง เมื่อพี่ชายรับรู้ได้ว่าน้องของตนยังไม่ตาย เขาได้สติและจิตวิญญาณของชาวเกาหลีใต้ กลับมาอีกครั้ง เขาจึงหันปืนกลับไปสู้รบกับพวกฝ่ายเหนือดังเดิม แต่ในที่สุดเขาก็ถูกฝ่ายเหนือยิงตาย ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ยังคงมองฝ่ายเหนือเป็นผู้ร้าย



Welcome to Dongmakgol (2005, ปาร์คกวังฮุน) ดูจะแตกต่างจากหนังแนวเหนือใต้เรื่องอื่นตรงที่เป็นหนังแนวตลก-แฟนตาซี หนังว่าด้วยกลุ่มทหารฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ที่ต่างพลัดหลงมาที่หมู่บ้านที่ชื่อว่าดองมัคโกล ด้วยความที่หมู่บ้านนี้อยู่กลางป่าเขา พวกชาวบ้านจึงไม่ได้รับรู้เลยว่าได้เกิดสงครามเกาหลีขึ้นแล้ว

ในช่วงแรกที่ทหารเหนือใต้เผชิญหน้ากัน พวกเขาต่างไม่ไว้วางใจกัน และพร้อมจะฆ่าฟันกันทุกเมื่อ แต่เพราะด้วยความบริสุทธิ์ของคนในหมู่บ้านแห่งนี้ พวกเขาจึงผ่อนคลายลง ได้พูดคุยปรับความเข้าใจกันมากขึ้น และสามารถอยู่ร่วมกันในหมู่บ้านได้อย่างสงบสุข ดองมัคโกลจึงเปรียบเสมือนดินแดนยูโทเปีย ที่ฝ่ายเหนือ-ใต้จะอยู่ร่วมกันภายใต้ร่มเงาของความสมานฉันท์ ซึ่งเป็นความคาดหวังของหลายฝ่ายที่ยังไม่เป็นจริงเสียที

ความน่าสนใจของ Welcome to Dongmakgol อยู่ที่ว่านอกจากหนังจะหลุดจากกรอบของ “เหนือร้าย ใต้ดี” ไปแล้ว หนังยังลงลึกไปถึงประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ซึ่งอยู่เบื้องหลังสงครามเกาหลีอย่างแท้จริง เพราะสงครามเกาหลีนั้นก็เป็น “สงครามตัวแทน” (proxy war) ที่สหรัฐใช้ขยายความยิ่งใหญ่ของตัวเอง เช่นเดียวกับสงครามเวียดนาม

ในช่วงท้ายของหนัง เหล่าทหารเหนือใต้ต่างต้องร่วมมือกันปกป้องหมู่บ้านจากการทิ้งระเบิดของกองทัพสหรัฐ เนื่องจากฝ่ายสหรัฐเข้าใจผิดว่าดองมัคโกลเป็นฐานลับของฝ่ายเกาหลีเหนือ ดังนั้นฉากนี้นอกจากจะมีนัยยะว่าผู้ร้ายตัวจริงคือสหรัฐแล้ว ยังบอกถึงเจตนารมณ์ของผู้สร้างที่อยากจะเห็นภาพเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ร่วมใจกันสู้กับสหรัฐ ซึ่งต่างกับความเป็นจริงที่เกาหลีใต้จงรักภักดีต่อสหรัฐเสียเหลือเกิน





4. จีน VS ฮ่องกง, มาเก๊า, ไต้หวัน

ในการที่ประเทศลูกทั้งสามอย่าง ฮ่องกง, มาเก๊า และไต้หวัน ต้องกลับสู้อ้อมอกแผ่นดินแม่อย่างประเทศจีน เหล่าประเทศลูกนั้นก็ต่างมีความรู้สึกวิตกกังวลถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น อย่างเช่นในกรณีของฮ่องกงที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศอังกฤษ ก็ดูจะมีลักษณะวัฒนธรรมแบบตะวันตกและความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าประเทศจีน จึงทำให้ประชากรฮ่องกงบางส่วนไม่อยากกลับไปแผ่นดินใหญ่ ทำให้รัฐบาลจีนต้องประกาศใช้การปกครองแบบ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” (one country, two system) และให้คำสัญญาว่าช่วง 50 ปีนับตั้งแต่ปี 1997 จนถึงปี 2047 รัฐบาลจีนจะไม่เข้าไปเปลี่ยนแปลงอะไรในฮ่องกง

ความรู้สึกหรือปฏิกิริยาตอบรับต่อความเปลี่ยนแปลงของทั้งสามประเทศนั้นถูกบันทึกลงสื่อภาพยนตร์ด้วยเช่นกัน โดยมีข้อสังเกตว่าในกรณีของฮ่องกงและมาเก๊า มักเป็นหนังที่เปรียบเปรยภาพระหว่างสองประเทศ ด้วย “ความสัมพันธ์” ของคนสองคน ไม่ว่าจะเป็น คู่รัก, พ่อลูก ไปจนถึงคู่เกย์ ในขณะที่ทางไต้หวันกลับต่างออกไป เพราะมักเป็นหนังปัจเจกสุดขั้วที่ว่าด้วย “ภาวะความแปลกแยก”



Comrades, Almost a Love Story (1996, ปีเตอร์ ชาน) หรือ “เถียนมีมี่” ดูจะเป็นหนังฮ่องกงที่พูดถึงประเด็นการกลับสู่จีนที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุด หนังเล่าถึงความสัมพันธ์อันยาวนานถึง 10 ปีของชายหญิงคู่หนึ่ง ตั้งแต่ทั้งคู่ยังเป็นหนุ่มสาว โดยปัญหาอยู่ที่ว่าฝ่ายชายนั้นมีภรรยาอยู่ที่เมืองจีน ด้วยเหตุนี้เองในที่สุดฝ่ายหญิงจึงตัดสินใจเลิกกับเขา และไปอยู่กับชายอื่น

ฉากหลังของหนังคือ ฮ่องกงในยุคที่ถูกวัฒนธรรมทุนนิยมสไตล์ตะวันตกรุกล้ำจนถึงขีดสุด สัญลักษณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแม็คโดนัลด์, มิกกี้เฮ้าส์ หรือเทปของนักร้องจีนที่ขายไม่ออก (เพราะคนหันไปฟังเพลงฝรั่ง) ถูกใส่เข้ามาในหนังอย่างต่อเนื่อง

ความโดดเด่นของหนังอยู่ที่ฉากจบที่หนังสามารถบรรจบ 3 เหตุการณ์เข้าด้วยกันอย่างแนบเนียน นั่นคือ การตายของนักร้องดังเติ้งลี่จวิน ที่ทำให้เพลงของเธอกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง (นั่นคือการกลับสู่รากเหง้าความเป็นจีนของคนฮ่องกง), พระเอกนางเอกที่กลับมาเจอกันอีกครั้ง อันสอดคล้องกับช่วงเวลาในหนัง ที่เกาะฮ่องกงกลับคืนสู่แผ่นดินจีนพอดี



ช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน หนังเรื่อง Happy Together (1997, หว่องกาไว) ก็โด่งดังไปทั่วโลก หนังเล่าถึงความสัมพันธ์อันร้าวฉานของคู่เกย์ ที่รักๆ เลิกๆ อยู่ตลอดเวลา ทั้งสองคนอพยพจากฮ่องกงไปอาร์เจนติน่า (หว่องกาไวให้เหตุผลว่าถ้าดูจากลูกโลก อาร์เจนติน่าอยู่ตรงข้ามฮ่องกงพอดี) พวกเขาเผชิญกับสภาพอากาศอันเลวร้าย และบรรยากาศอันน่าหดหู่

หนังเล่าถึงความสัมพันธ์ชนิด “กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง” ตัวพระเอกไม่ได้กลับไปคืนดีกับคู่ขาเก่า ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ลงเอยกับเพื่อนชายคนใหม่ (ซึ่งหนังไม่ได้บอกอย่างชัดเจนว่าเขาเป็นเกย์หรือเปล่า) อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ชนิดที่หวนคืนก็คือ พระเอกเดินทาง “กลับบ้าน” ไปยังฮ่องกงในฉากสุดท้าย ซึ่งเป็นนัยยะที่บอกว่า “สุดท้ายเราก็ต้องกลับไปสู่ที่ที่เราจากมา” อันสอดคล้องกับปีที่หนังออกฉาย นั่นคือปี 1997 ที่ฮ่องกงกลับสู่จีนพอดี



แม้ภาพยนตร์เรื่อง Isabella (2005, แปงโฮชาง) จะถือสัญชาติเป็นหนังฮ่องกง แต่หนังเรื่องนี้ก็มีฉากหลังอยู่ที่มาเก๊า โดยหนังเล่าถึงการเผชิญหน้ากันของพ่อและลูกสาวที่ไม่เจอหน้ากันมาก่อน หนังมีลักษณะการเล่าเรื่องและโครงสร้างคล้ายกับ Comrades, Almost a Love Story โดยการเล่าเรื่องคู่ขนานระหว่างความสัมพันธ์ที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นของพ่อลูกคู่นี้ กับเหตุการณ์ที่มาเก๊าต้องกลับสู่จีน และในตอนท้ายเรื่องที่พ่อลูกเข้าใจซึ่งกันและกันแล้ว มาเก๊าก็กลับสู่แผ่นดินใหญ่โดยสมบูรณ์แบบ

ทางด้านภาพยนตร์ไต้หวัน จะมีลักษณะแตกต่างจากกรณีของฮ่องกงและมาเก๊าโดยสิ้นเชิง หนังไต้หวันที่มีประเด็นถึงประเทศจีน มักมีโทนเรื่องที่หดหู่ เศร้าซึม และดูไร้ทางออก โดยเฉพาะในหนังหลายๆ เรื่องของโหวเสี่ยวเชี่ยน เช่น A City of Sadness (1989) เป็นต้น

ลักษณะเด่นอีกอย่างในหนังไต้หวัน โดยเฉพาะหนังร่วมสมัย ที่บอกเล่าถึงสังคมยุคใหม่ มักเป็นหนังที่เน้นตัวละครหนุ่มสาวที่มีลักษณะปัจเจกอยู่สูง พวกเขามักอยู่ในโลกส่วนตัว และตัดขาดจากสังคมภายนอก มีชีวิตที่ไร้แก่นสาร และดูไร้จุดหมาย



ตัวอย่างหนังเด่นในกลุ่มนี้ก็เช่น Millennium Mambo (2001, โหวเสี่ยวเชี่ยน) ที่ว่าด้วยหญิงสาวใช้ชีวิตท่ามกลางควันบุหรี่และแสงไฟยามค่ำคืน หรือ What Time is it there? (2001, ไฉ้หมิงเลี่ยง) ที่เล่าถึงชายหนุ่มที่เอาแต่เก็บตัวอยู่บ้าน และนั่งดูหนังเรื่อง The 400 Blows ของฟรองซัวส์ ทรุฟโฟต์ ซ้ำไปซ้ำมา

เหตุปัจจัยของความแปลกแยกของไต้หวัน มาจากการที่ไต้หวันเคยถูกปกครองจากทั้งญี่ปุ่นและจีน แถมยังได้รับอิทธิพลตะวันตกจากสหรัฐอเมริกาในช่วงที่สหรัฐเข้ามาปราบปรามคอมมิวนิสต์ในไต้หวันด้วย เป็นเหตุให้ประชากรไต้หวันมีความรู้สึกสับสนใน “ตัวตน” ของความเป็นไต้หวัน นั่นคือ พวกเขาไม่รู้สึกเต็มใจที่จะถูกเรียกรวมเป็นคนจีน แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ไม่แน่ใจว่าความเป็นไต้หวันนั้นแท้จริงคืออะไรกันแน่





5. อิสราเอล VS ปาเลสไตน์

ความขัดแย้งนิรันดร์กาลระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์แปรเปลี่ยนความหมายไปมากจากดั้งเดิมที่เป็นเรื่องการแย่งชิงดินแดนและความเชื่อทางศาสนา มาสู่เรื่องของการเมืองในปัจจุบัน ความได้เปรียบของอิสราเอลมาจากการได้ชื่อว่าเป็นถิ่นกำเนิดของศาสนาคริสต์ อันเป็นศาสนาสากลทางโลกตะวันตก อิสราเอลจึงมีพันธมิตรทางศาสนามากมายที่คอยหนุนหลัง อีกประเด็นใหญ่ก็คือประเทศสหรัฐอเมริกาก็เลือกอยู่ข้างอิสราเอลอย่างชัดเจน โดยในขณะเดียวกันชาวยิวมากมายก็มีพื้นที่ทางอำนาจในสหรัฐ

โลกภาพยนตร์ โดยเฉพาะฮอลลีวู้ดก็เอียงข้างถือหางฝั่งอิสราเอลเช่นกัน เราจะเห็นได้ว่ามีการผลิตซ้ำความน่าสงสารของชาวยิวผ่านสื่อภาพยนตร์อยู่เสมอ โดยเฉพาะหนังที่เล่าถึงเหตุการณ์กวาดล้างชาวยิว (Jewish Holocaust) จากกลุ่มนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เช่น หนังดังอย่าง Schindler's List (1993) ของสตีเว่น สปีลเบิร์ก (ซึ่งเขาก็เป็นชาวยิว) ที่แม้หนังจะถูกโจมตีว่าบิดเบือนประวัติศาสตร์ แต่ก็ได้กระแสตอบรับที่ดีจากทั่วโลก รวมถึงบนเวทีออสการ์ที่หนังกวาดไปถึง 9 รางวัล ในขณะที่ The Pianist (2002, โรมัน โปลันสกี้) ก็ได้รางวัลดารานำชาย และผู้กำกับยอดเยี่ยมจากออสการ์เช่นกัน สิ่งเหล่านี้พิสูจน์ได้ว่าเวทีออสการ์ได้ถูกแปรเป็นเวทีการเมือง ที่ใช้สนองความต้องการของชาติสหรัฐ

ในขณะที่เราคุ้นเคยกับภาพชาวยิวที่น่าสงสาร และชาวอาหรับที่ดูเป็นผู้ร้าย (ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากเหตุการณ์ 9/11 ที่สหรัฐมองพวกอาหรับเป็นศัตรูอันดับหนึ่ง) อันถูกผลิตขึ้นอย่างต่อเนื่องจากโลกตะวันตกหรือฝั่งประเทศอิสราเอล ภาพยนตร์ที่มีความสนใจมากกว่าจึงเป็นหนังจากฝั่งของปาเลสไตน์ ในประเด็นความรู้สึกของผู้ถูกกดขี่ และมุมมองต่อความขัดแย้งที่ต่อเนื่องมายาวนาน



Paradise Now (2005, ฮานี อาบู-อัสซาด) ได้รับการตอบรับจากวงการภาพยนตร์โลกอย่างมาก (หนังได้รางวัลลูกโลกทองคำ และได้เข้าชิงออสการ์สาขาหนังต่างประเทศ) หนังเล่าถึงชายหนุ่มอาหรับสองคนที่ถูกเลือกให้ไปปฏิบัติการในภารกิจระเบิดพลีชีพ หนังถ่ายทอดช่วงเวลาหนึ่งวันก่อนที่พวกเขาจะต้องไปตาย

ความคิดของพระเอกถูกสั่นคลอนโดยหญิงสาวที่เขาแอบชอบ เธอกล่าวว่าวิธีการของเขาจะทำให้การแก้แค้นไม่มีวันสิ้นสุด ฝ่ายชายจึงรู้สึกลังเลไปชั่วขณะ อย่างไรก็ดี ท้ายสุดแล้วเขาจะยังคงตัดสินใจปฏิบัติภารกิจต่อไป ด้วยเหตุผลที่ว่าเขายอมตายดีกว่าที่จะถูกฝ่ายอิสราเอลกดขี่ไปตลอดชาติ รวมถึงความเชื่ออันแรงกล้าว่า “นี่คือประสงค์ของพระเจ้า” แต่ในฉากจบของหนังที่ถ่ายภาพโคลสอัพไปยังใบหน้าของพระเอก แสดงให้เห็นภาพของชายที่กำลังตกนรก หาใช่ผู้ที่กำลังจะได้ไปสวรรค์ (ตามชื่อหนัง) พร้อมกันนั้นหนังก็ยังตั้งตำถามกับคนดูว่า ใครกันแน่ที่ทำให้ชายหนุ่มผู้นี้ต้องละทิ้งครอบครัว มิตรสหาย และคนรัก ไปสู่ความตาย



Divine Intervention (2002, เอเลีย สุไลมาน) ก็เป็นภาพยนตร์ปาเลสไตน์ที่โดดเด่นอีกเรื่อง (หนังได้รางวัลจูรี่ไพรซ์จากเทศกาลหนังเมืองคานส์) โดยในขณะที่หนังที่พูดถึงประเด็นอิสราเอล-ปาเลสไตน์มักถูกถ่ายทอดออกมาในรูปของหนังสงคราม หรือหนังที่มีประเด็นเคร่งเครียด แต่หนังเรื่องนี้กลับฉีกแนวเป็นหนังตลกร้าย (black comedy) ที่เน้นการใช้สไตล์แบบเหนือจริง (surreal)

เนื้อเรื่องของ Divine Intervention อาจแบ่งเป็นสองช่วงด้วยกัน ช่วงแรกหนังเล่าถึงผู้คนในประเทศปาเลสไตน์ที่มีพฤติกรรมอันแปลกประหลาด เช่น ชายผู้โยนขยะเข้าไปในสนามหญ้าของบ้านข้างๆ แต่เมื่อถูกต่อว่า เขากลับหาว่าเพื่อนบ้านไม่เคารพเขา, ชายแก่ที่มีลูกบอลกระดอนเข้ามาในบ้าน แทนที่เขาจะโยนลูกบอลกลับออกไปดีๆ เขาก็เอามีดแทงลูกบอล ไปจนถึงซานตาคลอสชาวยิวที่ถูกเด็กๆ ชาวปาเลสไตน์วิ่งไล่ฆ่า พฤติกรรม absurd เหล่านี้แสดงถึงความโหดร้ายเย็นชาของประเทศที่ถูกกดขี่อย่างปาเลสไตน์ จนทำให้พวกเขาไม่คิดจะใส่ใจความรู้สึกของผู้คนรอบข้างอีกต่อไป

ช่วงครึ่งหลังของหนังเล่าถึงชายหนุ่มอาหรับคนหนึ่งที่ต้องการข้ามด่านตรวจ (ที่มีทหารอิสราเอลคอยยืนคุมอยู่) ไปหาคนรักที่ดินแดนอีกฝั่ง เขาขับรถไปสังเกตการณ์บริเวณนั้น และพบเห็นภาพทหารอิสราเอลกระทำการข่มขู่ ดูถูกเหยียดหยามชาวอาหรับอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ดังนั้นเมื่อจะขับรถผ่านด่านไป เขาจึงใช้วิธีปล่อยลูกโป่งที่เป็นรูปใบหน้าของยัสเซอร์ อาราฟัต เพื่อดึงดูดความสนใจของเหล่าทหาร แล้วก็อาศัยช่องจังหวะขับรถฝ่าไป ส่วนทางด้านฝ่ายหญิงก็ใช้วิธีเดินอย่างยั่วยวน จนทำให้เหล่าทหารมัวแต่อึ้งตะลึง และปล่อยเธอผ่านไป

Divine Intervention มองความขัดแย้งด้วยอารมณ์เสียดเย้ยตลอดทั้งเรื่อง ไม่เว้นแต่ประเด็นเรื่องความรู้สึกเกลียดชังชนิดฝังลึกของชาวอาหรับที่มีต่อชาวยิว อย่างเช่น ในฉากที่พระเอกขับรถไปจอดข้างๆ รถของชาวยิว เขาก็เปิดกระจก และเปิดเพลง I Put a Spell on You (ฉันขอสาปแช่งคุณ) ให้ชายผู้นั้นฟัง

ฉากที่รุนแรงมากของหนัง คือฉากสนามยิงปืนของพวกอิสราเอลที่มีเป้าซ้อมยิงเป็นรูปผู้หญิงอาหรับ แต่แล้วอยู่ดีๆ เป้ายิงนั้นก็กลับมีชีวิตขึ้นมา และโต้ตอบพวกคนยิวด้วยลีลาพิสดารแบบหนังเรื่อง The Matrix ในฉากนี้แม้จะดูขำขัน แต่ลึกลงไปแล้วมันก็น่าเศร้าเหลือทน เพราะเป็นการสะท้อนความรู้สึกของชาวปาเลสไตน์ที่ถูกกดขี่มาตลอดช่วงประวัติศาสตร์

ในฉากจบของหนัง บอกเล่าถึงบทสรุปแห่งความขัดแย้งได้อย่างเสียดสีที่สุด เมื่อพ่อของพระเอกเสียชีวิต เขากลับต้องไปยืนหั่นหัวหอม เพื่อให้ตัวเองร้องไห้ ซึ่งสะท้อนถึงความตายซากทางจิตวิญญาณจากเรื่องการเมืองอันไร้สาระ อันเป็นภาวะปัจจุบันของชาวปาเลสไตน์และชาวอาหรับทั่วโลก





6. ไทย VS พม่า, ลาว

มุมมองที่ประเทศไทยมีต่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว และพม่า เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ซับซ้อน และอาจถือเป็นปัญหาเรื้อรังที่ไม่ใคร่จะมีผู้คนสนใจนัก โดยชาติเรามักมองว่าลาวอยู่ต่ำกว่า กดขี่และดูถูกพวกเขาในหลายทาง อย่างเช่น กรณีใช้คำว่า “ลาว” เป็นคำต่อว่าถึงสิ่งที่เชย, เฉิ่ม หรือไม่เข้าท่า ในขณะเดียวกันเราก็มองว่าพม่าเป็นผู้ร้ายและศัตรูตลอดกาลของเรา

เหตุแห่งมุมมองต่อเพื่อนบ้านอันบิดเบี้ยวมีรากเหง้ามาจากระบบการเรียนการสอนในบ้านเรา เช่น ตำราประวัติศาสตร์ที่ไม่มีความเป็นกลาง มีลักษณะเอาดีเข้าตัว เอาชั่วใส่ผู้อื่น หรืออาจารย์ผู้สอนที่โน้มน้าวนักเรียนด้วยอารมณ์แบบชาตินิยมจนเกินงาม จนเป็นการปลูกฝังทางความคิดความเชื่อ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น “กระบวนการล้างสมอง”

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ความรู้สึกต่อเพื่อนบ้านในลักษณะดังกล่าวถูกปลูกฝังในตัวเราตั้งแต่วัยเยาว์ และมีการสืบทอดกระบวนการสั่งสอนชนิดนั้นเรื่อยมา จนอาจเรียกได้ว่าเป็น “มายาคติ” (Mythology) ที่ฝังรากอยู่ในสังคมไทย และคำถามต่อจากนั้นก็คือเรารู้สึกตัวถึงความเกลียดชังหรือความดูถูกเหยียดหยามที่ว่ามาหรือไม่ (conscious or unconscious) หรือหากว่ามันฝังอยู่ในจิตใต้สำนัก แล้วเมื่อไรที่เราจะตื่นจากภาวะนั้น



หมากเตะ (2006, อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม) หนังที่เล่าถึงทีมนักเตะฟุตบอลลาวที่มุ่งมั่นจะไปสู่บอลโลก ก็เป็นตัวอย่างของหนังที่หากินกับคนลาวและความเป็นลาว ไม่ว่าจะฉากที่จับคนลาวย้อมผมทอง เพื่อจะได้ดูเท่เหมือนฝรั่ง, จับพวกเขามานั่งในห้องแช่เย็นเพื่อจะได้ทนกับอากาศหนาวที่เมืองนอกได้ หรือฉากใช้หมาวิ่งไล่พวกนักบอลให้ไปฝึกซ้อม เป็นนัยว่าพวกเขาเกียจคร้านจนเหลือทน

แม้ทางผู้สร้างจะอ้างว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะดูถูกคนลาว แต่สร้างหนังขึ้นมาเพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่หนังเรื่องนี้ก็เป็นที่ถกเถียง จนบานปลายเป็นประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ เมื่อฝ่ายประเทศลาวประท้วงให้แบนหนังเรื่องนี้ จนทำให้ทางค่าย GTH ต้องระงับการฉายหนัง และทำการตัดต่อใหม่ โดยตัดทุกสิ่งที่เกี่ยวกับประเทศลาวออกให้หมด (โดยเปลี่ยนประเทศลาว เป็นประเทศสมมติที่ชื่อ “อาวี”) นี่จึงเป็นบทเรียนชั้นดีว่าประเด็นทางเชื้อชาติเป็นเรื่องที่แสนเปราะบาง ใช่ว่าจะมาล้อเล่นกันได้ง่ายๆ

ข้อสังเกตเพิ่มเติมจาก “หมากเตะ” คือการที่ตัวละครโค้ชที่ฝึกซ้อมนักเตะชาติลาวจนไปบอลโลกได้นั้นเป็น “คนไทย” ซึ่งตอกย้ำแนวคิดที่ว่าเรายังถือตัวเป็นใหญ่เหนือประเทศลาว ในความสัมพันธ์ที่เรียกว่า “คู่พี่น้อง” ไทยสถาปนาตัวเองเป็น “ประเทศผู้พี่” แต่ก็เป็นพี่ชายนิสัยไม่ดี ที่รังแกน้องอยู่บ่อยๆ



ในคู่ความสัมพันธ์ของไทย-พม่า หนังที่น่าพูดถึงคงหนีไม่พ้นหนังแห่งสยามประเทศเรื่องล่าสุดอย่าง “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” (2007, ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล) ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วก็ยังคงผลิตซ้ำภาพความชั่วร้ายของฝ่ายพม่าต่อเนื่องจาก “สุริโยไท” (2001) ซึ่งก็เป็นไปตามสิ่งที่เรียกว่า “ประวัติศาสตร์นิพนธ์” ตามความคิดและจินตนาการผู้สร้าง (ซึ่งสามารถอ้างได้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เรื่องนั้นอยู่บนพื้นฐานของเรื่องแต่งและการตีความส่วนบุคคล) อย่างไรก็ดี “นเรศวร” ก็มีความพัฒนาขึ้นมาจาก “สุริโยไท” ในแง่ที่ตัวละครฝั่งพม่าดูจะมีมิติและความลึกซึ้งมากขึ้น ขนาดที่ว่าตัวละครพม่าบางตัวกลับเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมด้วยซ้ำไป (อันอาจมีเหตุปัจจัยมาจากดารานักแสดงที่สวมบทบาทนั้นๆ ด้วย)

ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับ “นเรศวร” คือการที่หนังเรื่องนี้ยังถูกใช้เป็นกลไกทางด้านชาตินิยม (Nationalism) และกษัตริย์นิยม (Royalism) ด้วย โดยทางด้านชาตินิยมนั้น เพียงแค่ลักษณะเนื้อหาพื้นฐานของหนังก็สามารถปลุกกระแสชาตินิยมได้อย่างดี เพราะประชากรไทยมีภาพจำของพระนเรศวรในฐานะนักรบผู้เก่งกล้า และผู้กู้เอกราชให้ชาติไทย นอกจากนั้นหนังยังชูประเด็นเรื่อง “การประกาศอิสรภาพ” เป็นสำคัญ ทำให้ผู้ชม (หรือกระทั่งผู้ที่ยังไม่ได้ชม) เกิดความรู้สึกฮึกเหิมและหวงแหนความเป็นชาติไทยของตนขึ้นมาทันที อีกทั้งในช่วงต้นปี พ.ศ. 2550 ก็มีเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างไทยกับสิงคโปร์เกิดขึ้น ซึ่งตรงกับช่วงที่หนังออกฉายพอดี

ข้อสังเกตเพิ่มเติมอยู่ที่นเรศวรภาคแรกเลือกฉายวันที่ 18 มกราคม ซึ่งเป็นวันกองทัพไทย (ฉบับใหม่) ซึ่งสอดคล้องกับยุคที่ทหารเป็นใหญ่ในประเทศไทย นับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549

แท้จริงแล้วก็น่าจะเป็นเรื่องดี หากนเรศวรสามารถปลุกกระแสชาตินิยมของคนไทยขึ้นมาได้ และก่อให้เกิดความสามัคคีในชาติ แต่สิ่งที่ต้องพึงระวังก็คือ “ชาตินิยมแบบไทยๆ” ทั้งเรื่องการกดขี่ลาว การมีอคติกับพม่า ไปจนถึงชาตินิยมที่เกิดจากประชาธิปไตยอันอ่อนแอ โดยจะเห็นได้จากช่วงรัฐประหารที่ผู้คนพากันดีอกดีใจ ออกไปถ่ายรูปกับรถถัง โดยไม่ได้รู้สึกอะไรเลยกับการที่รัฐธรรมนูญถูกฉีกทิ้งไปต่อหน้าต่อตา

นเรศวรยังเป็นกลไกสำคัญด้าน Royalism โดยถือเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญของ “กระบวนการสีเหลือง” (Yellowization) ต่อเนื่องจาก เสื้อเหลือง, สายรัดข้อมือ, การรณรงค์ให้ประชาชนสวมเสื้อเหลืองในวันจันทร์ (Yellow Monday), งานฉลองครองราชย์ครบ 60 ปี, งานพืชสวนโลก, โปรเจคต์ HM Blues ไปจนถึงการรัฐประหารที่เกิดขึ้นโดยกลุ่มทหารที่เรียกตนเองว่า “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

ภาพยนตร์เรื่องนเรศวรจะยังคงขยายพลังด้าน Royalism ไปจนถึงปลายปี 2550 (เป็นอย่างน้อย) โดยหนังภาคสามกำหนดวันฉายไว้ที่ 5 ธันวาคม 2550 ประกอบกับวาทกรรมที่ว่า “รายได้จากการฉายทั้งหมดถวายให้ในหลวง” ก็เป็นดั่งคำประกาศิตที่ทำให้ประชาชนไทยแห่แหนกันไปดูหนังเรื่องนี้ (รวมถึงสถานะของผู้กำกับที่ทำให้ไม่มีใครกล้าวิพากษ์วิจารณ์หนังอย่างตรงไปตรงมา) ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่านเรศวรนั้นเป็น “หนังชาตินิยมเสื้อเหลือง”

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาสภาพการณ์ของประเทศไทย นับตั้งแต่เหตุการณ์ 19 กันยา เป็นต้นมา เราจะเห็นได้ว่าความขัดแย้งเชิงทวิสัมพันธ์หลายคู่ก็ยังคงมีอยู่ เช่น ทักษิณออกไป-ทักษิณกลับมา, เห็นด้วยรัฐประหาร-ไม่เห็นด้วยรัฐประหาร, ชอบทหาร-ไม่ชอบทหาร, พวกสองไม่เอา-พวกแล้วจะเอาอะไร รวมถึงกระแส Royalism และ Anti-Royalism ซึ่งในคู่ความขัดแย้งหลังนี่เอง ที่นเรศวรมีความเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้ง เพราะในขณะที่หนังจุดกระแส Royalism ขึ้นมา แต่ในขณะเดียวกัน กระแส Anti-Royalism ก็ก่อตัวขึ้นเช่นกัน แต่ก็เป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่แอบซ่อนอยู่ “ใต้ดิน” ของสังคม (โดยเฉพาะตามเวบบอร์ด และหนังสือเฉพาะกลุ่ม) ดังนั้นนเรศวรก็ยังสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของตนในการเป็นกลไกทางด้าน Nationalism และ Royalism ได้เป็นอย่างดี





7. บทสรุป

ตลอดระยะเวลาของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “มนุษย์” นั้น ไม่เคยหยุดการทำสงครามเลยสักวินาทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นสงครามทางศาสนาในยุคกลาง สงครามทางการทหารในสมัยสงครามโลก หรือสงครามทางเศรษฐกิจและการเมืองที่เกิดขึ้นอยู่ในโลกยุคปัจจุบัน

ความขัดแย้งเชิงทวิสัมพันธ์เป็นลักษณะความขัดแย้งที่ฝังลึกอยู่ในแต่ละประเทศ ไม่เลือนหายไปตามกาลเวลา และพร้อมจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบได้เสมอ อีกทั้งประชากรของแต่ละประเทศยังมีการสืบทอดความเชื่อและอคติแห่งความเกลียดชังไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน จนแปรสภาพเป็น มายาคติที่ชนรุ่นใหม่ไม่สามารถแยกออกจากจิตสำนึกได้

ด้วยเหตุนี้เอง สิ่งที่เรียกว่า “คู่สัมพันธ์วินาศ” จึงคงอยู่คู่ต่อไปกับมวลมนุษย์ และสื่อภาพยนตร์ในฐานะที่เป็นหน่วยทางวัฒนธรรม ก็จะทำหน้าที่บันทึกสภาพเหตุการณ์ในปัจจุบัน เล่าย้อนไปยังเรื่องราวในอดีต และพยากรณ์อนาคตของเหล่าคู่สัมพันธ์วินาศต่อไป

ทั้งนี้จึงเห็นได้ว่าภาพยนตร์เป็นกลไกทางการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม สามารถบอกเล่าถึงความขัดแย้งได้โดยตรง หรือใช้การเปรียบเปรยอย่างคมคาย มีศักยภาพเพียงพอที่จะสร้างภาพของพระเอกหรือผู้ร้ายสู่สายตาของชาวโลก รวมถึงมีพลังทั้งด้านขยายความขัดแย้ง และสร้างความสมานฉันท์

อย่างไรก็ดี หากเหล่าผู้สร้างภาพยนตร์ลดละอคติของตน และมองโลกด้วยสายตาที่กว้างไกลกว่าเดิม พวกเขาก็จะเห็นว่าความขัดแย้งบางประการนั้นมีชนวนเหตุมาจากความแตกต่างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และสื่อภาพยนตร์เองก็มีพลังมากพอที่จะทำให้ผู้คนตระหนักได้ว่า สิ่งที่มองเห็นว่าเป็น “ความขัดแย้ง” แท้จริงนั้นเป็นเพียง “ความแตกต่าง”


“สมควรแล้วหรือที่เราจะประณามกันด้วยความเกลียดชัง
เพียงเพราะความต่างที่เรามี
เพียงเพราะเรามาจากคนละชาติ
และนับถือพระเจ้าคนละองค์”
– เคน โลช






*ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็ม (22 หน้า) ที่นี่

*ดาวน์โหลด powerpoint ของรายงานนี้ ที่นี่


Create Date : 06 มิถุนายน 2551
Last Update : 6 มิถุนายน 2551 5:16:48 น. 20 comments
Counter : 7529 Pageviews.

 

FROM ME TO YOU

- ช่วงนี้หมวด MOVIE อัพอะไรหลายอย่าง ลองอ่านดูนะครับ

- บางส่วนเป็นรายงานเก่าเก็บ สมัยเรียนมหาลัย (เพิ่งไปค้นโฟลเดอร์เจอ)

- ผมจะทิ้งบล็อกนี้ไว้สักพักนะครับ ช่วงนี้งานเยอะมาก

- ไม่ค่อยได้ดู "ดาวเปื้อนดิน" เลย (เพราะ ศ ส อา ชอบออกไปแร่ดนอกบ้าน) เสียดายจัง ได้ข่าวว่ามันส์โคตร เลยได้ดูแต่อีหนูตุ่มแทน (มันต้องข่มขืนน้าโป๊ะเข้าสักวันแน่ๆ 555)

- ยังรักแตงโมครับ



โดย: merveillesxx วันที่: 6 มิถุนายน 2551 เวลา:5:21:32 น.  

 
เดี๋ยวว่างๆทำมั่ง ฮ่าๆๆ
เอารายงานมาแปะ

ปล. หนูตุ่มนี่คงเป็นสาวในฝันของพวกโลลิ
ให้ท่าซะขนาดนั้น


โดย: nanoguy IP: 161.200.255.162 วันที่: 6 มิถุนายน 2551 เวลา:15:19:39 น.  

 
เฮ้ย เล่นงี้เลยเหรอ ฮ่าๆ

วิชาวิจารณ์ภาพยนตร์เราเรียนก่อนแกใช่ป่ะ แต่เราหารายงานเราไม่เจอแล้วอ่ะ
เศร้ามาก เพราะเรารู้สึกว่าเป็นงานเขียนที่เราเขียนได้ดีที่สุดในชีวิต ยังจำประเด็นได้ แต่จะเขียนให้ได้ใจอย่างตอนนั้นเขียนไม่ได้แล้ว

ตอนนั้นทำเป็นกลุ่ม ยกประเด็นเรื่อง บุคคลบกพร่องมาเสนอ ทุกคนจะเขียนเกี่ยวกับหนังที่ว่าด้วยบุคคลพิการ ปัญญาอ่อนทั้งหลายคนละ 1 เรื่อง เราเขียน Forrest Gump อ่ะ (จับฉลากได้ 555)

ปล. รู้สึกดีที่ไม่ได้เรียนวิจารณ์ภาพยนตร์กะแก 555 แค่นานาชาติก็ปวดตับแล้ว


โดย: เสจัง IP: 124.121.164.28 วันที่: 6 มิถุนายน 2551 เวลา:19:16:43 น.  

 
ของเราอะ ความยาวรวมเท่ากับของพี่ต่อ แต่พูดถึงหนังแค่ 2 เรื่อง บทวิเคราะห์เรื่องละสามพันคำ ตายตกตามกันไป..... จำได้ว่าทำเรื่อง The Wind That Shakes the Barely กับ Elephant

ยิ่งเป็นคนเขียนไม่ออก เหมือนฝันร้าย 555


โดย: DPN IP: 118.173.248.170 วันที่: 7 มิถุนายน 2551 เวลา:2:19:15 น.  

 
Woah...


โดย: BloodyMonday วันที่: 7 มิถุนายน 2551 เวลา:19:16:51 น.  

 
ออนเอ็มบ้างสิเธอ อยากปรึกษาหลายๆเรื่อง 555
ต้องทำงานวิจัยแต่นึกหัวข้อไม่ออก
อยากเขียนเกี่ยวกับภาพสะท้อนทางวัฒนธรรมที่ปรากฎในภาพยนตร์ญีปุ่น แต่ยังจับประเด็นไม่ได้เลย

ปล.พอจะรู้จักใครที่ชื่นชอบโยชิโมโต้ บานาน่าบ้างมั้ย?




โดย: ^^ IP: 58.9.137.196 วันที่: 7 มิถุนายน 2551 เวลา:23:25:28 น.  

 
พี่ต่อจะพักหรอครับ ถ้าพักก็เก็บแรงให้สุดๆ กลับมา เขียนอีกครั้งถึงไม่สดแบบสมัยหนุ่มๆ ก็ขอความเก๋ากับลีลา แรดๆให้สุดๆไปเลยเน้อ


โดย: หนวดฟู IP: 124.121.192.35 วันที่: 8 มิถุนายน 2551 เวลา:0:03:17 น.  

 
โหลดแล้วครับ
ไว้ค่อยหาเวลาอ่านทีหลัง


โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ วันที่: 9 มิถุนายน 2551 เวลา:2:47:39 น.  

 
ขอบคุณสำหรับรายงานดีๆที่เอามาปันกันอ่านครับ
(พูดรวมถึง นีโอ เรียลฤทธิ์ซึ่ม ด้วย)


โดย: AguileraAnimato วันที่: 9 มิถุนายน 2551 เวลา:3:02:57 น.  

 
^^


โดย: grappa IP: 58.9.190.6 วันที่: 9 มิถุนายน 2551 เวลา:7:21:11 น.  

 
มาโหลดด้วยยย...


โดย: renton underworld --- - - IP: 58.8.213.204 วันที่: 9 มิถุนายน 2551 เวลา:16:48:07 น.  

 
เอารายงานสมัยเรียนมาอัพบล็อกได้ด้วยเหรอ เดี๋ยวเอามั่ง เรื่อง "ผลของการทำแห้งด้วยวิธีทำแห้งแบบถาด แบบพ่นฝอย และแบบระเหิด ต่อคุณสมบัติเชิงหน้าที่ของโปรตีนถั่วเขียว" เป็นไง เหอๆๆ จะมีคนอ่านเลย

ย่อหน้าสุดท้ายของตอนที่ 4. จีน VS ฮ่องกง, มาเก๊า, ไต้หวัน นี่สามารถใช้อธิบายฮ่องกงได้เหมือนกันเลยครับ


โดย: เอกเช้า IP: 124.122.152.18 วันที่: 9 มิถุนายน 2551 เวลา:19:57:33 น.  

 
^
^
^
^
คุณข้างบนจะโกรธเรามั้ยคะถ้าเราอ่านเป็น "ผลของการทำแท้งด้วยวิธีทำแท้งแบบถาด....."

^^'' ก็ว่าเอ๊ะ ทำไมหัวข้อมันดูรุนแรงจัง


โดย: DPN IP: 118.173.248.170 วันที่: 9 มิถุนายน 2551 เวลา:21:56:01 น.  

 

ยกมืออีกหนึ่งเสียง

ว่าอ่านเป็น

"ผลของการทำแท้งด้วยวิธีทำแท้งแบบถาด"

ตอนแรกว่าจะโทรไปขอไฟล์เลยทีเดียว 555


โดย: merveillesxx วันที่: 9 มิถุนายน 2551 เวลา:22:57:41 น.  

 
^
^
^
555 ไม่โกรธครับคุณ DPN ขำด้วยมากกว่า

ถ้ายังจะเอาไฟล์อยู่ก็โทรมานะต่อ 5555


โดย: เอกเช้า IP: 165.89.84.90 วันที่: 11 มิถุนายน 2551 เวลา:9:03:38 น.  

 
+ แหงะ! เนื้อหายาวเหยียดขนาดนี้ แถมมีหน้าใหม่ตั้ง 8 หน้า! ยังไงเย็นนี้พี่ก็อ่านไม่ทันอ่ะคับน้องต่อ กะว่าจะเข้าไปบุ๊คที่นั่ง French films ด้วย ขอญาตแปะไว้ก่อนแล้วกันเน้อ เด๋วพรุ่งนี้ถ้าว่าง จะแว้บๆ มาอ่านจ้า


โดย: บลูยอชท์ วันที่: 11 มิถุนายน 2551 เวลา:17:55:42 น.  

 
อยากดู Jump
เป็นนิสิต นักศึกษาเหลือ ห้าร้อย แต่ ยังจนกรอบอยู่เลย เหอเหอ

ปล. ถ้าศุกร์นี้ทำงานเสร็จทันก่อนหกโมงเย็น ว่าจะชวนไปดูปูเป้ (จะปั่นยังไงให้มันทันเนี้ย)

ปล.สอง สัญญา อย่าลืมนะ จะเอาให้พี่ต่อเครียดเลยที่หลงผิดมาสัญญากับเรา ฮาฮา


โดย: cheatoneself IP: 125.24.155.164 วันที่: 13 มิถุนายน 2551 เวลา:1:14:15 น.  

 
คุณพี่ต่อ หมดมุขขนาดเอารายงานเก่ามาหากินแล้วเรอะ


ล้อเล่นนะ อ่านเพลินดีออกรายงานนั้น


ปล.หนูเลิกกับแฟน (เพื่อไปคบกับคนใหม่ที่ดีกว่า) แล้วนะ ....


โดย: Tenjo_Utena IP: 125.24.117.226 วันที่: 13 มิถุนายน 2551 เวลา:10:38:14 น.  

 
คิดถึงอาจารย์บุญรักษ์อ่ะ


โดย: พี่ณัฐ IP: 125.24.147.108 วันที่: 16 มิถุนายน 2551 เวลา:13:59:53 น.  

 
อยากพูดถึงข้อสุดท้ายเล็กน้อย

เห็นด้วยที่ว่า การสอนประวัติศาสตร์ให้กับเด็กๆ ในบ้านเราค่อนข้างล้มเหลว

เราถูกเอาข้อมูลฝังหัวว่า
-ชาติไทยอยู่มานานแล้ว (ชาติเพิ่งมามีตอนร.5 สมัยก่อนเป็นอาณาจักรหลอมๆ มารวมกัน)
-ไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใครยกเว้นพม่า (ทั้งที่สมัยก่อนไทยก็เคยส่งเครื่องบรรณาการไปให้จีน/ยอมให้ญี่ปุ่นเข้าประเทศสมัยสงครามโลก)
-ไทยโดนพม่ารังแก (ที่จริงไทยก็ไปรังแกชาวบ้านเขาไปทั่วเหมือนกัน)
และอีกมากมาย


และการที่หนังซึ่งปลูกฝังข้อมูลผิดๆ อย่าง บางระจัน สุริโยไท นเรศวร ได้รับการต้อนรับอย่างท่วมท้น โดยไม่มีใครกล้าแย้งสิ่งที่ผิดพลาดแบบนี้ ก็คงสื่ออะไรในบ้านเมืองเราได้หลายๆ อย่างล่ะนะ

ปล.อยากเห็นหนังเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จัง


โดย: ฟ้าดิน วันที่: 24 มิถุนายน 2551 เวลา:23:45:17 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

merveillesxx
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 58 คน [?]




สำส่อนทางการดูหนัง ฟังเพลงและเสพวรรณกรรม
New Comments
Friends' blogs
[Add merveillesxx's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.