http://twitter.com/merveillesxx และ http://www.facebook.com/merpage
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2551
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
6 มิถุนายน 2551
 
All Blogs
 
Neo-Realism in Modern Cinema

โดย นภศิริ สินธุรักษ์, คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง และ วิริยา ด่านกำแพงแก้ว


หมายเหตุ: เป็นรายงานส่งวิชา Film Theories ทำกัน 3 คนจ้ะ


1. บทนำ

ภาพยนตร์ตระกูลนีโอเรียลลิสม์ (Neo-Realism) หรือนวสัจนิยม เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 40 ที่ประเทศอิตาลี (จนทำให้มีอีกชื่อหนึ่งว่า Italian Neo-Realism) โดยช่วงนั้นประเทศอิตาลีตกอยู่ในฐานะผู้แพ้จากสงครามโลกครั้งที่ 2 (1939-1945) ทำให้สภาวะบ้านเมืองตกอยู่ในความแร้นแค้น ความเป็นอยู่ของประชาชนก็ย่ำแย่ บ้านเมืองทรุดโทรม และช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนก็ยิ่งถ่างออกมากยิ่งขึ้น

หนังนีโอเรียลลิสม์ที่ทำการสร้างในช่วงนั้นจะมีลักษณะคล้ายหนังสัจนิยม (Realism) กล่าวคือ การทำหนังแบบปรุงแต่งโดยน้อย อันเป็นเหตุมาจากเครื่องมือด้านงานสร้างภาพยนตร์ได้ถูกทำลายไปจนหมดสิ้นจากภาวะสงคราม ทั้งนี้หนังนีโอเรียลลิสม์มีลักษณะเพิ่มเติมไปจากหนังสัจนิยมก็คือ การมีประเด็นทางสังคม โดยเน้นไปที่เหล่าชนชั้นล่าง เพราะหนังนีโอเรียลลิสม์นั้นสร้างขึ้นมาเพื่อสะท้อนสภาพสังคมของอิตาลีในช่วงเวลานั้น

ในทางประวัติศาสตร์ภาพยนตร์นั้นได้ถือว่าภาพยนตร์นีโอเรียลลิสม์เรื่องแรกของโลกคือ Ossessione (1943) ของลูคิโน วิสคอนติ (Luchino Visconti) อย่างไรก็ดีผู้กำกับสองคนที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นผู้นำของหนังนีโอเรียลลิสม์คือ วิตตอริโอ เดอ สิกา (Vittorio De Sica) จากเรื่อง The Bicycle Thief (1948) และ โรแบร์โต รอสเซลลินี (Roberto Rossellini) จากเรื่อง Open City (1945)

โดยสรุปแล้วลักษณะสำคัญ 5 ประการของหนังนีโอเรียลลิสม์มีดังนี้

1. Realistic before Artistic : การทำหนังโดยปรุงแต่งให้น้อยที่สุด เช่น การใช้แสงธรรมชาติ, การตัดต่อน้อยครั้ง, หลีกเลี่ยงการจัดองค์ประกอบภาพและการใช้ดนตรีประกอบ

2. On Real Location : ถ่ายทำในสถานที่จริง ไม่ถ่ายในสตูดิโอ

3. Low Class’s Daylife : ฉายภาพชีวิตประจำวันของชนชั้นล่าง รวมถึงผลกระทบของชนชั้นสูงต่อชนชั้นล่าง เพราะผู้ทำหนังกลุ่มนี้เชื่อว่าชนชั้นล่างนั้นมีความเกี่ยวโยงกับปัญหาทางสังคมมากที่สุด

4. Amateur Actors : ใช้นักแสดงมือสมัครเล่น เพื่อให้คนดูเชื่อในตัวละคร เพราะการใช้ดาราดังจะทำให้ผู้ชมติดภาพของนักแสดงคนนั้น

5. Open Ending : ฉากจบแบบปลายเปิด เป็นการตั้งคำถามแก่คนดูให้คิดต่อเอาเอง

อย่างไรก็ดีหนังนีโอเรียลลิสม์นั้นอาจไม่ได้ดำเนินตามลักษณะทั้ง 5 ข้ออย่างเคร่งครัด ตัวอย่างเช่น La Strada (1954, Federico Fellini) ที่ใช้ดาราดังอย่าง แอนโธนี่ ควินน์ มาแสดงนำ แต่ก็ไม่ได้ทำให้คุณค่าของหนังลดลงแต่อย่างใด

ในช่วงหลังของการทำงาน ทั้งเดอ สิกา และรอสเซลลินี ก็ไม่ได้ทำหนังในแนวนีโอเรียลลิสม์อีกต่อไป แต่แนวความคิดของหนังตระกูลนี้ก็ได้แพร่ขยายไปสู่นักทำหนังชาติอื่นๆ เช่น หนังเรื่อง Pather Pachali (1955) ของสัตยาจิต เรย์, The 400 Blows (1959) ของฟรองซัวส์ ทรุฟโฟต์ หรือกระทั่งหนังยุคแรกของ มจ.ชาตรีเฉลิม ยุคล อย่าง “ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น” (1977) ที่ได้ชื่อว่าเป็น “The Bicycle Thief ฉบับเมืองไทย” เป็นต้น

รายงานฉบับนี้จะมุ่งสำรวจถึงลักษณะของนีโอเรียลลิสม์ในภาพยนตร์ร่วมสมัย โดยการเลือกหนังของผู้กำกับ 3 คนมาศึกษา ได้แก่ อับบาส เคียรอสตามี่ (อิหร่าน), จางอี้โหมว (จีน) และพี่น้องดาร์เดนน์ (เบลเยี่ยม) โดยศึกษาทั้งประเด็นความเป็นนีโอเรียลลิสม์ในหนัง และปัจจัยทางสังคมที่ผลักดันให้ผู้สร้างทำหนังลักษณะดังกล่าวออกมา





2. อับบาส เคียรอสตามี่

ทศวรรษที่ 1960 เป็นช่วงที่เกิดความเคลื่อนไหวของ “คลื่นลูกใหม่” หรือ “New Wave” ในวงการภาพยนตร์ของหลายประเทศ อิหร่านก็เป็นอีกประเทศหนึ่งซึ่งเกิดคลื่นลูกใหม่ขึ้นในวงการภาพยนตร์ซึ่งเรียกกันว่า “Iranian New Wave” ผลงานของผู้กับกำเหล่านี้มีมุมมองสะท้อนทางการเมืองและปรัชญา อันเป็นผลจากแรงกดดันและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เริ่มขึ้นในปี 1953 ผู้กำกับในกลุ่ม Iranian New Wave มีหลายคนด้วยกัน เช่น Forough Farrokhzad, Sohrab Shahid Saless, Jafar Panahi, Amir Nederi, Abbas Kiarostami เป็นต้น

อับบาส เคียรอสตามี่ (Abbas Kiarostami) เป็นผู้กำกับที่โดดเด่นและมีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของผู้กำกับในกลุ่ม Iranian New Wave ภาพยนตร์ของเขาในยุคหนึ่งสามารถจัดได้ว่าเป็นภาพยนตร์ประเภท Neo-realism ด้วยการนำเสนอเรื่องราวของคนชั้นล่าง ปราศจากการปรุงแต่งทางด้านภาพ แสง หรือเสียงเพื่อบีบคั้นอารมณ์คนดู ตลอดจนการถ่ายทำในสถานที่จริงและใช้นักแสดงที่ไม่มีชื่อเสียง

ภาพยนตร์ของเคียรอสตามี่ มักมีตัวละครเอกเป็น “เด็ก” ไม่ว่าจะเป็น The Bread and Alley, The Traveler, Homework, Where Is My Friend’s Home? และ And Life Goes on ทั้งนี้เนื่องมาจากการที่อิหร่านมีระบบตรวจสอบและเซนเซอร์ภาพยนตร์ที่เข้มงวด และใช้ระยะเวลาการตรวจสอบยาวนาน ดังนั้นการที่ใช้ตัวละครเอกเป็นเด็กจะทำให้ภาพยนตร์ถูกมองว่าเป็นหนังเด็ก การตรวจสอบจึงเป็นไปอย่างรวดเร็วและไม่ยุ่งยาก

ภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่กล่าวถึงมากที่สุดของเคียรอสตามี่คือ ภาพยนตร์ไตรภาคที่นิยมเรียกว่า Earthquake Trilogy หรือ Koker Trilogy เนื่องจากภาพยนตร์ทั้ง 3 เรื่องเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านเล็กๆ ที่ชื่อ Koker ของประเทศอิหร่าน ซึ่งประกอบด้วย Where Is My Friend’s Home? (1987) And Life Goes on (1991) และ Through the Olive Trees (1994)

Where Is My Friend’s Home? ซึ่งเป็นตอนแรกของไตรภาคชุดนี้ เป็นเรื่องราวของเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่ต้องการนำสมุดการบ้านของเพื่อนร่วมชั้นที่ตนหยิบติดมือมาโดยบังเอิญไปคืน เขาจึงเดินทางออกจากหมู่บ้าน Koker ไปยังหมู่บ้านข้างๆ เพื่อตามหาบ้านของเพื่อนคนนั้น ภาคที่สอง And Life Goes on (1991) กล่าวถึงการเดินทางของผู้กำกับภาพยนตร์และลูกชายจากเมือง Tehran (เมืองหลวงของอิหร่าน) ไปยังหมู่บ้าน Koker เพื่อออกตามหาเด็กชายสองคนซึ่งเป็นนักแสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง Where Is My Friend’s Home? หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อปี 1990 ที่คร่าชีวิตชาวอิหร่านไปหลายหมื่นคน ภาคสุดท้าย Through the Olive Trees (1994) กล่าวถึงเบื้องหลังการถ่ายทำฉากเล็กๆ ในภาพยนตร์เรื่อง And Life Goes on ซึ่งมีฉากหลังเป็นหมู่บ้าน Koker เช่นเดียวกับสองภาคแรก

ภาพยนตร์ทั้งสามเรื่องถ่ายทำ ณ สถานที่จริง คือหมู่บ้าน Koker ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ แถบชนบทของอิหร่าน ในหนังเรื่อง Where Is My Friend’s Home? การเดินทางตามหาบ้านเพื่อนของตัวเอกทำให้เห็นถึงสภาพบ้านเรือนและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในแถบชนบทของอิหร่าน ส่วน And Life Goes on การเดินทางของสองพ่อลูกไปยังหมู่บ้าน Koker ฉายให้เห็นความเสียหายที่เกิดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ของอิหร่าน ซากปรักหักพัง ผู้คนจำนวนมากไร้ที่อยู่อาศัย สำหรับเรื่อง Through the Olive Trees ทำให้เราเห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่และการปรับตัวของชาวบ้านหลังจากความสูญเสียจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ชาวบ้านที่บ้านเรือนถูกทำลายอาศัยอยู่ในเต็นท์ที่ทางการจัดไว้ ส่วนเด็กๆ ต้องเรียนหนังสือกลางแจ้ง

วิธีการสร้างภาพยนตร์ทั้งสามเรื่องนี้ของเคียรอสตามี่มักใช้การถ่ายภาพระยะ long shot และ medium shot เพื่อให้เห็นสภาพแวดล้อมโดยทั่วไป ให้ความรู้สึกเสมือนผู้ชมเป็นผู้สังเกตการณ์และติดตามตัวละครเอกอยู่ห่างๆ ไม่มีการใช้มุมกล้องหรือเทคนิคการตัดต่อที่หวือหวา เคียรอสตามี่นิยมถ่ายทำแบบ long take โดยเขาเชื่อว่าการถ่ายทำแบบนี้จะทำให้ภาพยนตร์ดูสมจริงและน่าเชื่อถือในสายตาของผู้ชม และบ่อยครั้งที่ไม่มีตัวละครปรากฏบนจอมีเพียงเสียงสนทนาและภาพที่ตัวละครมองเห็น เช่น ในเรื่อง And Life Goes on ฉากที่สองพ่อลูกขับรถจาก Tehran ไปยังหมู่บ้าน Koker ซึ่งระหว่างทางก็ต้องผ่านหมู่บ้านต่างๆ ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งเป็นวิธีการถ่ายทำที่คล้ายกับหนังสารคดี

ทางด้านดนตรีประกอบ ภาพยนตร์ทั้งสามเรื่องจัดว่ามีน้อยมาก โดยเฉพาะWhere Is My Friend’s Home? และ And Life Goes on แทบไม่มีดนตรีประกอบเลย แต่ใน Through the Olive Trees จะพบว่ามีการใส่ดนตรีประกอบเพิ่มขึ้น ในฉากที่เน้นอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร

นอกจากนี้ยังพบว่า Through the Olive Trees มีการจัดองค์ประกอบภาพและแสงค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับหนังสองภาคแรก อย่างไรก็ตามสถานที่ถ่ายทำจริงซึ่งคือหมู่บ้าน Koker นั้นมีภูมิทัศน์ที่สวยงามอยู่เดิม การถ่ายทำทั้งสามเรื่องจึงได้ฉากที่มีทิวทัศน์งดงาม แต่จะสามารถสังเกตได้ว่าตัวละครในภาพยนตร์ไม่ได้สนใจไยดีกับธรรมชาติรอบๆ ตัว เช่น ฉากที่เด็กชายต้องข้ามเดินเขาเพื่อไปยังหมู่บ้านข้างๆ ใน Where Is My Friend’s Home? ฉากที่ถนนแยกออกจากกันจนรถไม่สามารถผ่านไปได้ใน And Life Goes on และฉากที่ผู้ชายวิ่งตามผู้หญิงผ่านทุ่งหญ้า ใน Through the Olive Trees เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพราะตัวละครทุกตัวต่างมีชีวิตอย่างยากลำบากและผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายมานั่นเอง

เนื้อหาของภาพยนตร์ชุด Koker Trilogy เป็นเรื่องราวที่กล่าวถึงผู้คนในแถบชนบทซึ่งนับเป็นชนชั้นล่างของสังคม ในแต่ละภาคมีประเด็นที่ต้องการจะเน้นแตกต่างกันไป โดย Where Is My Friend’s Home? กล่าวถึงความเพิกเฉยของสังคมที่มีต่อปัญหาของเด็กซึ่งมีสถานะทางสังคมที่ต่ำกว่าผู้ใหญ่ทุกประการ การศึกษาเป็นสิ่งบีบรัดและเป็นต้นตอของปัญหาทั้งหมดในเรื่อง อย่างไรก็ดีไม่มีใครกล่าวโทษหรือมองเห็นต้นตอของปัญหานี้

And Life Goes on เป็นเรื่องที่สะท้อนความหวังหรือปรัชญาแนวมนุษยนิยม ซึ่งพูดถึงความเป็นอยู่ของผู้คนหลังประสบภัยพิบัติ แต่จะพบว่าในภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่มีฉากโศกสลด คนร้องไห้ฟูมฟาย ทุกคนล้วนก้าวเดินต่อไปข้างหน้า แม้แต่เด็กก็สามารถพูดถึงเรื่องความตายได้ And Life Goes on ไม่ใช่เรื่องที่มีผู้ใจบุญมาช่วยเหลือชาวบ้าน ไม่ใช่เรื่องการพลัดพรากน้ำตาท่วมจอ เป็นแต่เพียงภาพยนตร์ที่สะท้อนสัจจะธรรมที่ว่าทุกชีวิตต้องดำเนินต่อไปให้ได้ และใน Through the Olive Trees นำเสนอความไม่เสมอภาคทางสังคม ลัทธิทุนนิยมและวัตถุนิยมเริ่มเข้ามามีบทบาทในหมู่บ้านเล็กๆ รวมถึงการตะเกียกตะกายไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าในรูปแบบต่างๆ

วิธีการดำเนินเรื่องในภาพยนตร์ไตรภาค 3 เรื่องนี้ มีข้อสังเกตคือ ปมในเรื่องจะไม่ถูกคลี่คลายอย่างชัดเจน เช่น ใน Where Is My Friend’s Home? การตามหาบ้านเพื่อนของเด็กชายคนหนึ่งซึ่งเป็นปมที่ก่อให้เกิดเรื่องราวต่างๆ ขึ้น สุดท้ายเด็กชายคนนี้ก็หาบ้านเพื่อนไม่เจอ ส่วนเรื่อง And Life Goes on หนังก็มิได้บอกว่าตัวละครเอกตามหาเด็กสองคนซึ่งเป็นนักแสดงนำในเรื่อง Where Is My Friend’s Home? เจอหรือไม่ และ Through the Olive Trees ไม่ได้บอกว่าสุดท้ายแล้วชายไม่รู้หนังสือจะได้แต่งงานกับผู้หญิงที่เขาหมายปองหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดเป็นการนำเสนอตอนจบแบบปลายเปิด (Open Ending) ทำให้ผู้ชมต้องคิดส่วนที่เหลือต่อด้วยตัวเอง นอกจากนี้วิธีการดำเนินเรื่องทั้งหมดตัวละครจะมีบทพูดไม่มาก และไม่เน้นการเค้นอารมณ์ตัวละคร ดังนั้นจึงเหลือพื้นที่ให้เราจินตนาการด้วยว่าขณะนั้นตัวละครกำลัง “คิด” อะไร

เมื่อพิจารณาทางด้านนักแสดงพบว่าทั้ง Where Is My Friend’s Home? และ And Life Goes on ไม่มีการใช้นักแสดงมืออาชีพ นักแสดงทั้งหมดแม้กระทั่งตัวเอกเป็นนักแสดงหน้าใหม่ ใน Where Is My Friend’s Home? เด็กชายสองคนในเรื่องเป็นคนในพื้นที่หมู่บ้าน Koker ส่วน And Life Goes on นักแสดงส่วนใหญ่ยังคงเป็นคนในพื้นที่ ยกเว้นสองพ่อลูกที่เดินทางมากจาก Tehran ซึ่งทั้งคู่เป็นคนรู้จักของเคียรอสตามี่เอง แต่สำหรับ Through the Olive Trees ผู้ที่แสดงเป็นผู้กำกับเป็นดาราที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว โดยเคียรอสตามี่ให้เหตุผลว่าต้องการป้องกันความสับสนของผู้ชมที่มักคิดว่าภาพยนตร์ที่เขาสร้างเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง

ภาพยนตร์ชุด Koker Trilogy นี้สามารถแสดงถึงความเป็น Neo-realism ในยุคปัจจุบันได้อย่างดี นอกจากนี้ยังแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของแนวทางการสร้างภาพยนตร์ของเคียรอสตามี่อีกด้วย นั่นก็คือความเป็น Neo-realism ของภาพยนตร์แต่ละเรื่องจะลดลง และการปรุงแต่งในภาพยนตร์ค่อยๆ มากขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว ภาพยนตร์ทั้งสามเรื่องนี้ยังคงสามารถนับเป็นภาพยนตร์แนว Neo-realism ได้










3. จางอี้โหมว

ในแวดวงของภาพยนตร์จีน มีภาพยนตร์หลายเรื่องที่จะสามารถจัดหรือแบ่งกลุ่มให้อยู่ในกลุ่มของหนังประเภท Neo-realism ได้ โดยภาพยนตร์เรื่องที่มีคุณสมบัติของความเป็น Neo-realism อยู่ก็คือ ภาพยนตร์เรื่อง The Story of Qiu Ju และ Not One Less กำกับโดยจางอี้โหมว ซึ่งเป็นผู้กำกับที่มีชื่อเสียงโด่งดังคนหนึ่งในเอเชีย ถึงแม้ว่าภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้ อาจจะไม่มีองค์ประกอบของความเป็นภาพยนตร์แบบ Neo-realism อย่างครบถ้วนเหมือนภาพยนตร์เรื่อง Bicycle Thieves ของ Vittorio De Sica หรือ เรื่อง Roma, città aperta (Rome, Open City) ของ Roberto Rossellini ซึ่งถือได้ว่าเป็นต้นแบบของภาพยนตร์แนวนี้ ที่สามารถถ่ายทอดชีวิตที่ยากจนข้นแค้น เต็มไปด้วยความขัดสนและความลำบากของคนในชนชั้นล่าง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากสงคราม

อย่างไรก็ตาม สืบเนื่องมาจาก background ชีวิตของตัวผู้กำกับเอง ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นผู้กำกับจีนรุ่นที่ 5 ผู้ซึ่งอยู่ในสมัยที่ประเทศจีนกำลังอยู่ในยุคของการปฎิวัติวัฒนธรรม (The Cultural Revolution 1960-1980) สมัยการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ของประธานาธิบดีเหมาเจ๋อตุง ที่ประเทศจีนกำลังเผชิญกับจุดพลิกผันครั้งใหญ่ และต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความอดอยาก สืบเนื่องมาจากแนวความคิดก้าวกระโดดของเหมาเจ๋อตุง (Great Leap Forward, 1957) ประชาชนขาดการศึกษา พลเมืองถูกบังคับให้อยู่ในกรอบหรือกฎที่รัฐบาลตั้งไว้ ดังนั้นจึงไม่เป็นที่แปลกใจเลยว่า ภาพยนตร์ในยุคแรกๆของจางอี้โหมวมักจะมีเนื้อหาที่โจมตีประเทศตัวเอง อย่างไรก็ตามภาพยนตร์ช่วงถัดมาของจางอี้โหมวได้เปลี่ยนประเด็นจากเดิม โดยมุ่งเน้นไปที่การถ่ายทอดให้เห็นถึงชีวิตของคนชั้นล่างตามชนบท ที่ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องความยากจน หรือความอยุติธรรมของสังคม

ภาพยนตร์เรื่อง The Story of Qiu Ju สร้างขึ้นในปี 1992 โดยมีเนื้อเรื่องและฉากหลังที่แสดงให้เห็นภาพของชีวิตของผู้หญิงชาวจีนคนหนึ่งซึ่งเรียกร้องหาความยุติธรรมให้กับสามีของเธอ ในช่วงยุคหลังการปฎิวัติวัฒนธรรม ซึ่งประเทศจีนกำลังพยายามฟื้นฟูประเทศแทบจะทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ด้านการศึกษา และด้านระบบการปกครอง ประเด็นสำคัญที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการจะสื่อให้เห็นถึงระบบความยุติธรรมของสังคมในประเทศจีน ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงจากระบบคอมมิวนิสต์ที่ประธานาธิบดีเหมาเจ๋อตุงปูพื้นไว้ มาเข้าสู่ยุคเปิดประเทศของประธานาธิบดีเติ้งเสี่ยวผิง

ถึงแม้ว่านางเอกที่แสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้ (กงลี่) จะเป็นนักแสดงหญิงที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ซึ่งขัดต่อแนวคิดของ Neo-realism ที่มักจะใช้นักแสดงที่ไม่เคยเล่นหนังมาก่อน โดยจุดประสงค์ของการใช้นักแสดงที่ไม่มีชื่อเสียงก็คือ ต้องการจะแสดงให้เห็นชีวิตคนระดับล่างอย่างแท้จริง โดยที่ไม่ได้มีการปรุงแต่งใดๆ เพื่อตัวละครจะได้สามารถถ่ายทอดภาพ ความรู้สึกนึกคิด ออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ และสมจริง อย่างไรก็ตาม ความเป็น Neo-realism ในภาพยนตร์เรื่องนี้ที่เห็นได้เด่นชัดคือ สามารถถ่ายทอดความเป็นจริงของชีวิตคนในระดับล่างหรือชนชั้นกรรมกร ที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนกับปัญหาต่างๆ ดังเช่นนางเอกในภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่ต้องต้องสู้กับความอยุติธรรมในสังคม การถูกหลอกลวง การกดขี่ ซึ่งทำให้เธอต้องการที่จะเรียกร้องหาความยุติธรรมให้กับสามีของเธอที่ถูกผู้ใหญ่บ้านทำร้ายร่างกาย

นอกจากนี้ ทุกฉากที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่องนี้ล้วนถ่ายทำจากสถานที่จริง ไม่ว่าจะเป็นฉากหมู่บ้านของนางเอก หรือว่าฉากในเมือง ซึ่งภาพที่ปรากฏนี้ สามารถถ่ายทอดให้เห็นถึงลักษณะวิถีชีวิตของสังคมของประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นสังคมชนบทที่ค่อนข้างจะยากจน ขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อีกทั้งความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยียังล้าหลังอยู่มาก เช่นเดียวกับหมู่บ้านของนางเอก ที่แม้แต่โรงพยาบาลก็ยังไม่มี (นางเอกถูกแบกส่งโรงพยาบาลในตัวเมือง) หรือสังคมเมืองที่ผู้คนต่างฝ่ายต่างพยายามดิ้นรนทุกวิถีทาง เพื่อหาเงินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของตัวเอง ไม่ว่าจะด้วยวิธีสุจริตหรือทุจริตก็ตาม ตัวนางเอกเองก็ได้ประสบกับความเป็นจริงนี้เมื่อเธอและน้องสะใภ้เดินทางเข้ามาในเมืองเพื่อยื่นเรื่องคำร้องขอความเป็นธรรมให้กับสามีของเธอ นางเอกก็ได้เผชิญกับพวกมิจฉาชีพในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคนเขียนใบคำร้อง หรือคนถีบจักรยานรับจ้าง ซึ่งล้วนแต่หาประโยชน์จากความซื่อของเธอเพื่อหลอกโกงเงิน

ในฉากจบของภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็มีลักษณะ Open-end ตามหลักของภาพยนตร์แนว Neo-realism โดยภาพยนตร์จบลงแบบดื้อๆ ในฉากที่ผู้ใหญ่บ้านถูกตำรวจจับไป ทั้งๆที่ในตอนนั้น นางเอกกับผู้ใหญ่บ้านได้ปรับความเข้าใจกันเรียบร้อยแล้ว (ผู้ใหญ่บ้านช่วยพานางเอกไปส่งโรงพยาบาลตอนนางเอกเจ็บท้องคลอดลูก) ฉากจบนั้นเป็นภาพของนางเอกที่วิ่งตามออกมาจากบ้าน close-up ภาพนางเอกมองรถตำรวจที่พาผู้ใหญ่บ้านไป และ freeze ภาพทิ้งไว้ให้คนดูได้ขบคิดว่า สุดท้ายแล้วนางเอกได้รับความยุติธรรมหรือยัง และเป็นความยุติธรรมที่เธอต้องการหรือไม่ หรือโชคชะตายังคงกลั่นแกล้งนางเอกต่อไป

นอกจากตัวเนื้อเรื่องของภาพยนตร์ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความท้อแท้สิ้นหวังของมนุษย์ต่อโชคชะตาที่ดูเหมือนจะกลั่นแกล้งมนุษย์อยู่ตลอดเวลา อันแสดงให้เห็นถึงความเป็น Neo-realism อย่างชัดเจน เทคนิคการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ก็มีส่วนประกอบของความเป็น Neo-realism อยู่ไม่น้อยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการถ่ายภาพในภาพยนตร์เรื่องนี้สังเกตได้ว่าภาพที่นำเสนอออกมา จะไม่เน้นการตัดต่อ หรือใช้เทคนิคมุมกล้องแปลกๆใดๆทั้งสิ้น โดยมักจะถ่ายภาพในลักษณะ Long Take และ Long Shot ทำให้ภาพที่ออกมามีลักษณะคล้ายกับหนังสารคดี ซึ่งก็จะทำให้คนดูรู้สึกว่าได้ดูชีวิตคนจริงๆมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฉากในหมู่บ้านที่นางเอกอาศัยอยู่ ฉากการซื้อขายของในตลาดตัวเมือง โดยเราจะเห็นภาพกิจวัตรประจำวันของผู้คน ซึ่งดำเนินไปอย่างซ้ำๆซากๆ ตามแนวคิดของ Neo-realism

ภาพยนตร์ในแนว Neo-realism ของผู้กำกับจางอี้โหมว ยังคงมีออกมาให้ได้ชมในอีกหลายปีถัดมา นั่นคือภาพยนตร์เรื่อง Not One Less ในปี 1999 ในขณะที่ภาพยนตร์เรื่อง The Story of Qiu Ju มีความเป็น Neo-realism อยู่สูง ทั้งในด้านของเนื้อเรื่องและเทคนิค แต่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ความเป็น Neo-realism ได้เจือจางลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นดนตรีที่เข้ามาสร้างและบีบคั้นอารมณ์คนดู ให้มีความรู้สึกหรืออารมณ์ร่วมไปกับฉาก หรือฉากตอนจบที่ค่อนข้างจะ Happy-ending เกินกว่าที่จะเรียกได้ว่าเป็นภาพยนตร์แนวนี้ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ยังคงไว้ซึ่งแนวความคิดหลักๆ ของ Neo-realism ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทำโดยใช้สถานที่จริงตลอด เช่น ฉากในหมู่บ้าน ทุ่งหญ้า ในเมือง ซึ่งจะตรงกับแนวคิดแบบ Neo-realism ที่นิยมใช้สถานที่จริงในการถ่ายทำ ไม่นิยมถ่ายในสตูดิโอ เพราะเห็นว่าภาพที่ได้มาจะไม่ใช่ภาพที่แสดงให้เห็นถึงชีวิตจริงๆของคน เนื้อเรื่องที่นำเสนอในหนังเรื่องนี้ ก็แสดงให้เห็นถึงรูปแบบชีวิตที่เกิดขึ้นแบบซ้ำๆซากๆ ไม่ว่าจะเป็นฉากการดำเนินชีวิตของพวกเด็กๆ ที่ตื่นนอนตอนเช้า เพื่อจะมาเรียนหนังสือ หรือฉากร้านค้าในตัวเมือง ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าขายมาขายของทุกวันเพื่อหาเงินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเอง อีกทั้งตัวเนื้อเรื่องที่เกี่ยวกับความยากจนทั้งในด้านเงินทองและการศึกษา ความต้องการจะแสดงให้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนในระดับล่าง หรือชีวิตของคนยากจนในชนบท ตาม Theme หลักของภาพยนตร์แนว Neo-realism

ภาพยนตร์เรื่องนี้ เปิดฉากด้วยภาพบ้านหมู่บ้านยากจนแห่งหนึ่ง ซึ่งมีโรงเรียนอยู่เพียงแห่งเดียว และอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรม เงินหาซื้อชอล์กก็แทบจะไม่มี ตัวนางเอกซึ่งอายุเพียงแค่ 13 ปี ตกลงมาเป็นครูสอนในโรงเรียนแห่งนี้ (เนื่องจากผู้ใหญ่บ้านบอกว่าจะให้เงินค่าจ้างในการสอนแก่เธอ) แทนอาจารย์ประจำที่มีเหตุจำเป็นให้ต้องจากโรงเรียนไปเป็นเวลา 1 เดือน พอหนังดำเนินไปได้เรื่อยๆ เราก็จะยิ่งเห็นถึงสภาพความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้านนี้อย่างชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเหตุการณ์ต่างๆที่ทั้งนางเอก และเด็กๆเหล่านี้ต้องเผชิญ ก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความยากจนแร้นแค้นของพวกเขา เช่น ฉากที่นางเอกรวบรวมเงินจากพวกเด็กๆ เพื่อนำเงินมาซื้อตั๋วเดินทางเข้าเมือง หรือฉากที่นักเรียนของเธอต้องเข้าไปทำงานในเมืองเพื่อหาเงินมาใช้หนี้ให้กับครอบครัว

นอกจากนี้ การเลือกใช้นักแสดง ถือได้ว่ามีความเป็น Neo-realism อยู่สูง เพราะตามแนวคิดของภาพยนตร์แนว Neo-realism จะไม่เน้นใช้นักแสดงมืออาชีพ เนื่องจากเล็งเห็นว่านักแสดงสมัครเล่นหรือนักแสดงที่ไม่เคยแสดงหนังมาก่อน จะสามารถถ่ายถอดภาพออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ และเหมือนชีวิตจริงมากกว่า ตัวนางเอกในเรื่องนี้ และตัวละครตัวอื่นๆ เช่น เหล่าเด็กๆในโรงเรียน ก็ล้วนแต่เป็นนักแสดงมือสมัครเล่นทุกคน ซึ่งพวกเขาก็สามารถสะท้อนภาพของทั้งหญิงสาวที่มีจิตใจมุ่งมั่น (เธอเชื่อฟังคำพูดของอาจารย์ที่สั่งเธอว่าเมื่อเขากลับมา นักเรียนต้องอยู่ครบทุกคน อันเป็นเหตุที่ทำให้เธอต้องออกไปเผชิญโลกข้างนอกหมู่บ้าน เพื่อตามหานักเรียนที่หายไปของเธอกลับมา) และเหล่าเด็กนักเรียนที่มีจิตใจที่ซื่อบริสุทธิ์ ได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญก็คือ ชื่อของนางเอกในเรื่องก็คือชื่อจริงๆของตัวนักแสดงเอง เหตุที่จางอี้โหมวให้นางเอกใช้ชื่อจริงของเธอในการแสดง อาจจะเพราะเขาต้องการให้ภาพที่ออกมาดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด ดังนั้นถ้าใช้ชื่อจริงในการแสดง ตัวคนแสดงจะ สามารถแสดงตัวตนที่แท้จริงออกมา โดยถ้าเปรียบกับการใช้ชื่ออื่นในการแสดง ก็เหมือนกับว่าตัวนักแสดงต้องพยายามสวมบทบาทเป็นคนอีกคนหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ตัวเธอเอง เป็นต้น








4. พี่น้องดาร์เดนน์

ฌ็อง-ปิแอร์ (เกิดปี 1951) และ ลุค ดาร์เดนน์ (เกิดปี 1954) หรือที่นิยมเรียกกันว่า “พี่น้องดาร์เดนน์” (The Dardenne Brothers) เป็นสองพี่น้องผู้กำกับจากประเทศเบลเยี่ยม ทั้งคู่เกิดที่เมือง Liege ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของเบลเยี่ยม และเป็นเมืองที่พูดภาษาฝรั่งเศส เป็นที่มาให้หนังของทั้งคู่พูดฝรั่งเศส บางทีก็มีการใช้นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส รวมถึงวัฒนธรรมภาพยนตร์อันแข็งแกร่งของฝรั่งเศสก็อาจมีอิทธิพลต่อการทำหนังของพวกเขาด้วย

หลังจากจบการศึกษา (โดยฌ็อง-ปิแอร์ จบด้านการละคร ส่วนลุคจบทางด้านปรัชญา) พี่น้องดาร์เดนน์ก็ตั้งบริษัทโปรดักชันที่ชื่อ Drives ในปี 1975 ช่วงยุค 70 ทั้งคู่ผลิตหนังสารคดีและหนังสั้นเป็นจำนวนถึง 60 เรื่อง พวกเขาเริ่มทำหนังยาวในปี 1987 กับหนังเรื่อง Falsch แต่ทั้งสองเริ่มเป็นที่รู้จักในระดับโลกจากหนังเรื่อง The Promise (1996)

ชื่อเสียงของพี่น้องดาร์เดนน์มาถึงจุดสูงสุดเมื่อพวกเขาคว้ารางวัลปาล์มทองคำ (Golden Palm) จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ได้ในปี 1999 จากหนังเรื่อง Rosetta และเอมิลี่ เดอร์แกนน์ (Emilie Dequenne) นางเอกของเรื่องก็ยังได้รับรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ทั้งที่เธอเพิ่งจะเล่นหนังเป็นเรื่องแรก

Rosetta เล่าถึงหญิงสาวที่ถูกไล่ออกจากงาน ด้วยความยากจนและต้องเลี้ยงดูแม่ที่ติดเหล้า ทำให้เธอต้องหางานใหม่อย่างเอาเป็นเอาตาย จนถึงขั้นให้ทำเธอต้องทำสิ่งที่เห็นแก่ตัว และหักหลังชายหนุ่มที่รู้สึกชอบพอกับเธอ ด้วยลักษณะของหนังสะท้อนภาพชีวิตปากกัดตีนถีบของชนชั้นล่าง ประกอบกับเทคนิคทางภาพยนตร์ที่สมจริง ไร้การปรุงแต่ง ทำให้ทั้งคู่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นผู้สืบทอดจิตวิญญาณนีโอเรียลลิสม์ต่อจาก วิตเตอริโอ เดอ สิกา และโรแบร์โต รอสเซลลินี

ภาพยนตร์เรื่องถัดมา The Son (2002) เล่าถึงช่างไม้ที่รับเด็กฝึกงานเข้ามา โดยเขารู้ว่าเด็กคนนั้นเพิ่งออกจากคุก และยังเป็นคนที่ฆ่าลูกชายของเขาด้วย เขาจึงตัดสินใจติดตามพฤติกรรมของเด็กคนนั้นอย่างเงียบๆ พร้อมกับความขัดแย้งในใจที่ก่อตัวมากขึ้นทุกที ซึ่งบทบาทอันซับซ้อนของช่างไม้นี้ก็ทำให้ โอลิวิเยร์ กูเมต์ (Olivier Gourmet) ได้รับรางวัลนักแสดงนำชายจากเทศกาลหนังเมืองคานส์

The Child (2005) คือหนังเรื่องล่าสุดของพี่น้องดาร์เดนน์ หนังเล่าถึงหนุ่มสาวคู่หนึ่งที่มีลูกด้วยกัน แต่ทั้งสองดูจะไม่พร้อมกับการเป็นพ่อคนแม่คนเท่าไรนัก โดยเฉพาะฝ่ายชายที่เป็นโจรกระจอก ชอบลักเล็กขโมยน้อย และไปจนถึงขั้นเอาลูกของตัวเองไปขาย ซึ่งทำให้ฝ่ายหญิงไม่พอใจเป็นอย่างมาก และตัดสัมพันธ์กับเขาโดนสิ้นเชิง

หนังเรื่องนี้ทำให้พี่น้องดาร์เดนน์ได้รางวัลปาล์มทองคำจากคานส์อีกครั้ง จนทำให้พวกเขาเป็นผู้กำกับเพียง 1 ใน 5 คนของโลกเท่านั้นที่ได้รางวัลปาล์มทองคำสองครั้ง (Double Golden Palm)

สำหรับความเป็นนีโอเรียลลิสม์ในหนังของพี่น้องดาร์เดนน์นั้นมีอยู่หลายประการด้วยกัน โดยในด้านความสมจริง (Realism) นั้นมีอยู่สูงมาก หนังถ่ายทำในสถานที่จริง ไม่มีการถ่ายในสตูดิโอ หรือการเซ็ทฉากขึ้นมา โดนส่วนใหญ่แล้วฉากหลังของหนังมักจะเป็นสังคมเมืองในยุคปัจจุบัน นอกจากนั้นยังไม่มีการจัดแสง โดยเน้นการใช้แสงธรรมชาติ

ด้านเทคนิคการถ่ายทำนั้นพี่น้องดาร์เดนน์มักจะเลือกถ่ายหนังด้วยกล้องแฮนเฮลด์ (Handheld) ที่มีลักษณะติดตามตัวละครอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในเรื่อง The Son ที่กล้องแทบจะแนบชิดกับตัวละครช่างไม้ไปเกือบตลอดเรื่อง และนิยมถ่ายแบบ long take มีการตัดต่อที่เรียบง่าย ไม่หวือหวา ซึ่งการใช้ long take นั้นทำให้ผู้ชมได้สังเกตพฤติกรรม อารมณ์ และความรู้สึกของตัวละครอย่างเต็มที่

สิ่งที่โดดเด่นมากที่สุดในด้านความสมจริงของหนังพี่น้องดาร์เดนน์ก็คือ หนังของพวกเขาจะไม่มีดนตรีประกอบเลยตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง (ในขณะที่หนังของเคียรอสตามี่ และจางอี้โหมวมีการใช้ดนตรีประกอบ) แม้แต่เครดิตท้ายเรื่องก็เป็นเพียงจอดำมืดพร้อมตัวอักษรวิ่งเท่านั้น

ลักษณะเหล่านี้ทำให้หนังของพวกเขาถูกเปรียบเทียบกับหนังกลุ่ม Dogma ของประเทศเดนมาร์กอยู่บ่อยครั้ง และยังทำให้พวกเขาได้รับการขนานนามว่าเป็นผู้ทำให้หนังกลับมาเป็น “ศิลปะบริสุทธิ์” (Pure Art) อีกครั้ง เนื่องด้วยการเน้นความสมจริง และการปรุงแต่งโดยน้อยที่สุด

การใช้นักแสดงของพี่น้องดาร์เดนน์ก็มีลักษณะแบบหนังนีโอเรียลลิสม์ กล่าวคือ พวกเขานิยมใช้นักแสดงมือสมัครเล่น (Amateur actors) เสมอ เช่น นางเอกเรื่อง Rosetta, เด็กหนุ่มในเรื่อง The Son และ นางเอกเรื่อง The Child ล้วนเล่นหนังเป็นครั้งแรกทั้งสิ้น แต่ในขณะเดียวกันหนังของพวกเขาก็มีการใช้นักแสดงมืออาชีพด้วย เช่น เจเรมี เชอนีร์ และโอลิวิเยร์ กูเมต์ โดยเฉพาะรายหลังนี้ถือเป็นดาราคู่บุญของพี่น้องดาร์เดนน์เลยทีเดียว เพราะร่วมแสดงในหนังทุกเรื่อง โดยนักแสดงเหล่านี้ไม่ว่าจะหน้าใหม่หรือหน้าเก่า ก็ล้วนแต่ให้การแสดงที่ช่วยให้หนังมีความสมจริงมากขึ้น โดยจะเห็นได้จากรางวัลการันตีจากคานส์ดังที่กล่าวไปแล้วในข้างต้น

สำหรับตอนจบของหนังนั้น พี่น้องดาร์เดนน์มักใช้ตอนจบแบบปลายเปิด (Open Ending) อยู่เสมอ ข้อโดดเด่นคือ มันมักจะเป็นฉากจบชนิดจบโดยไม่รู้ตัวหรือจบเอาดื้อๆ ผู้ชมไม่มีทางคาดเดาได้เลยว่าหนังของพวกเขาจะจบลงที่ตรงไหน ซึ่งการเลือกใช้วิธีนี้ก็ยิ่งทำให้ผู้ชมได้ใช้จินตนาการและการวิเคราะห์ต่อตัวหนังมากขึ้นไปด้วย

หนังของพี่น้องดาร์เดนน์ยังมีลักษณะที่สำคัญของนีโอเรียลลิสม์ คือมีประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับชนชั้นล่าง โดยหนังของพวกเขานั้นมักถ่ายทอดภาพชีวิตประจำวันของเหล่าวัยรุ่นชายขอบที่ต้องหาเลี้ยวตัวเองอย่างยากลำบาก (ซึ่งจะชัดเจนมากใน Rosetta ที่ฉายภาพกิจวัตรประจำวันอันซ้ำซากของนางเอก) ฉากหลังของหนังมักเป็นสังคมเมืองในยุคทุนนิยมที่ยิ่งบีบรัดให้พวกเขาดิ้นรนมากขึ้น จนนำไปสู่การก่ออาชญากรรม (เด็กหนุ่มใน The Son ฆ่าลูกของพระเอกเพื่อขโมยวิทยุในรถ, พระเอกเรื่อง The Child ต้องขายลูกกิน)

สำหรับปัจจัยทางสังคมที่ผลักดันให้พี่น้องดาร์เดนน์ทำหนังในลักษณะนีโอเรียลลิสม์นั้น ในแง่เทคนิคที่เน้นความสมจริงนั้นก็คงมาจากการที่เขาเคยทำสารคดีมามากมาย ส่วนในทางประเด็นสังคม ก็เนื่องมาจากเมือง Liege ที่เป็นบ้านเกิดของทั้งสองนั้นเป็นเมืองอุตสาหกรรม ซึ่งลักษณะสังคมเมืองทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนยิ่งขยายออกมากขึ้น จนทำให้เกิดสิ่งเรียกว่า “คนชายขอบ” อันหมายถึงเหล่าคนที่ถูกกันออกจากสังคมและมิอาจไม่เข้าถึงทรัพยากร ซึ่งทั้งสองก็หยิบประเด็นนี้มาเป็นเรื่องราวหลักของเรื่อง เพื่อตั้งคำถามแก่คนดู

นอกจากนั้นพี่น้องดาร์เดนน์ยังสร้างหนังของพวกเขาด้วยเหตุการณ์ทั่วไปที่พบเห็นได้ในสังคม เช่น The Son สร้างจากคดีเด็กหนุ่มสองคนฆ่าทารกที่นอนอยู่ในรถเพื่อขโมยของ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในประเทศอังกฤษ ส่วน The Child พวกเขาได้แรงบันดาลใจมาจากการเห็นหญิงสาววัยรุ่นคนหนึ่งเดินลากรถเข็นเด็กเดินไปมา ซึ่งทั้งคู่คิดว่าเธอยังอายุน้อยเกินไปกับการเป็นแม่

ทั้งนี้หนังของพี่ดาร์เดนน์สามารถสร้างผลกระทบกับสังคมได้ในระดับหนึ่ง อย่างเช่นหลังจากที่หนังเรื่อง Rosetta ออกฉายและโด่งดังไปทั่วโลก กฎหมายแรงงานในประเทศเบลเยี่ยมก็ระบุให้มีการปกป้องแรงงานเด็กทันที (จนทำให้กฎหมายนี้มีชื่อเรียกเล่นๆ ว่า “กฎหมาย Rosetta”) ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่าภาพยนตร์กับสังคมนั้นเป็นสิ่งเชื่อมโยงกัน อีกทั้งยังบรรลุวัตถุประสงค์ของหนังนีโอเรียลลิสม์ที่สร้างขึ้นเพื่อชนชั้นล่าง










5. บทสรุป

5.1 แนวโน้มของผู้กำกับ

สำหรับกรณีของอับบาส เคียรอสตามี่ และจางอี้โหมว จะเห็นได้ว่าความเป็นนีโอเรียลลิสม์ในหนังที่หยิบยกมานั้นจะลดลง เช่น ไตรภาคแผ่นดินไหวของเคียรอสตามี่ ในภาคสอง (And Life Goes On) และภาคสาม (Through the Olive Trees) จะมีทั้งการใช้นักแสดงอาชีพ, การใช้องค์ประกอบภาพ, การจัดแสง และการใช้เพลงประกอบเพื่อเร้าอารมณ์

ทางด้านจางอี้โหมว เมื่อเปรียบเทียบระหว่าง The Story of Qui Ju กับ Not One Less จะเห็นได้ว่าหนังเรื่องหลังนั้นมีความเอนเอียงไปทางดราม่ามากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ดนตรีเร้าอารมณ์, ช่วงท้ายของหนังที่เป็นฉากประเภทบีบน้ำตา รวมถึงฉากจบของหนังที่ดูจบแบบมีความสุข (happy ending)

ในช่วงหลังของการทำหนัง ทั้งสองมีการเปลี่ยนแนวทางของตัวเองไปมาก เคียรอสตามี่นั้นหันไปทำหนังสารคดี (ABC Africa, Ten, 10 on Ten) และหนังทดลอง (Five) ในขณะที่จางอี้โหมวเปลี่ยนแนวไปทำหนังที่เน้นการอลังการ เช่น Hero, House of Flying Daggers และ Curse of the Golden Flowers

ส่วนทางด้านพี่น้องดาร์เดนน์นั้นจากหนังยาว 4 เรื่องที่ผ่านมา พวกเขายังคงรักษาแนวทางของตัวเองอย่างเหนียวแน่น พวกเขาจึงน่าจะยังอยู่ในฐานะผู้สืบทอดจิตวิญญาณของนีโอเรียลลิสม์ต่อไป


5.2 แนวโน้มของภาพยนตร์นีโอเรียลลิสม์

ภาพยนตร์นีโอเรียลลิสม์นั้นจะยังคงอยู่ต่อไปคู่กับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ หากแต่อาจมีลักษณะที่ต่างไปจากเดิมกับนีโอเรียลลิสม์ดั้งเดิม (Italian Neo-Realism) เนื่องด้วยภาวะสังคมโลกที่เปลี่ยนไป อย่างเช่น นิยามของคำว่า “ชนบท” ในปัจุบันที่มิอาจแยกได้เด็ดขาดจากสังคมเมือง จึงทำให้เราเห็นหนังนีโอเรียลลิสม์ที่มีฉากหลังเป็นสังคมเมืองร่วมสมัยอย่างในหนังของพี่น้องดาร์เดนน์

เหตุที่ภาพยนตร์นีโอเรียลลิสม์จะสืบเนื่องต่อไป ก็เพราะภาพยนตร์กับสังคมนั้นเป็นสิ่งที่มีความเชื่อมโยงกัน มิสามารถตัดขาดแยกจากกันได้ (ดังจะเห็นได้หลังจากเหตุการณ์ 11 กันยายนเป็นต้นมา กระแสหนังสังคมได้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง) และไม่ว่าในสังคมใดๆ ก็ตามจะมีสิ่งที่เรียกว่า หรือถูกเรียกว่า “ชั้นชนล่าง” อยู่เสมอ ด้วยปัจจัยทางสังคมนี้เองที่ผลักดันให้มีการผลิตภาพยนตร์นีโอเรียลลิสม์ที่สะท้อนภาพความยากลำบากของชนชั้นล่างเหล่านี้มาออกมาอย่างต่อเนื่อง





*สามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่
//www.mediafire.com/?nl0tiec3p9b


Create Date : 06 มิถุนายน 2551
Last Update : 6 มิถุนายน 2551 3:18:18 น. 1 comments
Counter : 10846 Pageviews.

 
ได้ความรู้
ท่วมท้นเลยค่ะ
ขอบคุณมากๆ


โดย: citizen_god IP: 124.120.172.179 วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:19:57:08 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

merveillesxx
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 58 คน [?]




สำส่อนทางการดูหนัง ฟังเพลงและเสพวรรณกรรม
New Comments
Friends' blogs
[Add merveillesxx's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.