http://twitter.com/merveillesxx และ http://www.facebook.com/merpage
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2551
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
5 มิถุนายน 2551
 
All Blogs
 
French New Wave: Weekend + Jules et Jim

โดย merveillesxx







Note: เป็นการบ้านส่งอาจารย์วิชา Film Theories อ่ะจ้ะ ไปค้นเจอเลยเอามาลงบล็อก

ช่วงยุคทศวรรษ 1960 ได้เกิดปรากฏการณ์สำคัญในโลกภาพยนตร์ นั่นคือการก่อกำเนิดของกลุ่มคลื่นลูกใหม่ฝรั่งเศส (French New Wave) ผู้กำกับกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นนักวิจารณ์จากนิตยสาร Cahiers du Cinema ที่หันมากำกับหนังเอง (เป็นนัยพิสูจน์ตัวเองว่าไม่ได้เก่งแต่วิจารณ์หนังคนอื่น) พวกเขาได้สร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่มากมายแก่วงการภาพยนตร์ หนังเรื่อง Weekend (1967) ของฌ็อง-ลุค โกดาด์ และ Jules et Jim (1962) ของ ฟรองซัวส์ ทรูฟโฟต์ ก็เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด

ในด้านเทคนิคภาพยนตร์นั้น หนังกลุ่ม French New Wave มักใช้เทคนิคค่อนไปทาง Realism ด้วยอิทธิพลของ Andre Bazin (ซึ่งเป็นเจ้าของนิตยสาร Cahiers ด้วย) แต่ก็ไม่ได้ยึดถืออย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งยังสร้างรูปแบบเฉพาะของตัวเองขึ้นมา

โดยใน Weekend นั้นจะเห็นว่าหนังมีความเป็น Realism ในแง่การถ่ายทำในสถานที่จริง, การตั้งกล้องนิ่งๆ และการใช้ long take เกือบตลอดเรื่อง ฉากที่เห็นชัดมากคือ ฉากสนทนาช่วงต้นเรื่องที่ยาวเกือบ 10 นาที แต่ Weekend ก็มีเทคนิคหลายอย่างที่เป็นลักษณะโดดเด่นของตัวเอง เช่น

- ในฉากสนทนาตอนต้นมีการใช้ภาพแบบ silhouette (การแสดงภาพเป็นเงาดำ) เพื่อให้คนดูสนใจไปที่บทสนทนามากกว่าตัวภาพ

- หนังมีเคลื่อนกล้องอันแปลกประหลาด อย่างฉากเล่นเปียโนที่กล้องเคลื่อนยาวซ้าย-ขวาจนกลับมาจุดเดิม

- การตัดต่อระหว่างฉากที่ไม่คำนึงถึงเวลาและสถานที่ เช่น ตัวละครอาจโผล่จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งโดยไม่มีที่มาที่ไปนัก

- เพลงประกอบที่โผล่ขึ้นมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย และไม่ได้เข้ากับอารมณ์ของหนังเท่าไรนัก ยิ่งทำให้คนดูรู้สึกกระอักกระอ่วนเข้าไปอีก

- เทคนิคการใช้ตัวอักษรขึ้นบนหน้าจอ


ส่วนใน Jules et Jim นั้น มีความเป็น Realism ในการถ่ายทำในสถานที่จริง แต่งานด้านภาพนั้นค่อนข้างจะหวือหวา แตกต่างจาก Weekend อยู่มาก เช่น

- การตัดต่ออย่างฉับไว และไม่คำนึงถึงทั้งความต่อเนื่องของเนื้อเรื่องและด้านอารมณ์ หรือที่เรียกว่า Jump Cut (ซึ่งปรากฏอย่างชัดเจนครั้งแรกในหนังเรื่อง Breathless (1960) ของโกดาด์)

- การถ่ายภาพแบบ handheld (ฉากที่ตัวเอกทั้งสามไปเดินป่าด้วยกัน)

- การซูมภาพเข้าและออก

- การลดกรอบเฟรมภาพให้เหลือแค่เพียงบริเวณมุมจอ


สาเหตุที่หนังทั้งสองมีความแตกต่างกันในด้านเทคนิค ก็เพราะแก่นเรื่องหรือสารที่ต้องการสื่อถึงคนดูที่แตกต่างกัน ใน Weekend โกดาด์ต้องการถ่ายทอดความยุ่งเหยิงวุ่นวายของตัวเอกทั้งสอง หนังจึงเลือกการถ่ายแบบ long take (เห็นได้ชัดจากฉากรถติด) ส่วน Jules et Jim นั้นเล่าถึงความสัมพันธ์ในช่วงระยะเวลาถึง 20 ปี ดังนั้นจึงต้องใช้การตัดต่อที่ฉับไว เพื่อไม่ให้หนังยืดเยื้อจนเกินไป




สาระสำคัญของ Weekend

Weekend ถือเป็นหนังเสียดสีมนุษย์ (Satire) ระดับคลาสสิก โกดาด์สะท้อนภาพมนุษย์ในยุคสมัยใหม่ผ่านตัวละครสองผัวเมียที่ขับรถเดินทางไปเจอเหตุวุ่นวายมากมาย โดยที่เขาเรียบเรียงเหตุการณ์ให้เลวร้ายขึ้นไปตามลำดับ ไปจนถึงฉากสุดท้ายที่รุนแรงที่สุด นั่นคือ ฉากที่นางเอกกินเนื้อของสามีตัวเอง

ในบรรดาเหตุการณ์ประหลาดพิสดารทั้งหลาย อาจสรุปสิ่งที่หนังเรื่องนี้วิพากษ์ถึงได้ดังนี้

1. ชนชั้นกลาง : ผัวเมียในเรื่องเป็นชั้นกลาง ฐานะดี แต่งตัวหรูหรา แต่พฤติกรรมไม่ต่างจากสัตว์ป่า เช่น ฉากที่ตบตีกับเพื่อนบ้าน (ด้วยวิธีโง่ๆ อย่างตีลูกเทนนิสใส่) และคนอื่นๆ ไปตลอดการเดินทาง โกดาด์ยังจิกกัดต่อด้วยฉากที่สองผัวเมียยืนฟังเพลงบรรเลงเปียโนของโมสาร์ตและบีโทเฟ่นอย่างเซ็งโลก และพระเอกที่ตายอย่างอนาถด้วยการถูกหินยิงใส่หัว

2. ลัทธิทุนนิยม-บริโภคนิยม : ผัวเมียคู่นี้ฆ่าแม่ยายเพื่อหวังฮุบสมบัติ, ฉากที่รถระเบิด สิ่งที่นางเอกเป็นห่วงมีเพียงกระเป๋าถือสุดหรู, ฉากรถติดวินาศสันตะโร และฉากสุดท้ายที่แสดงให้เห็นว่า “แม้แต่คนก็กินกันเอง”

3. ความรุนแรง : ตัวละครในหนังยิงปืนโป้งป้างกันแทบตลอดเรื่องราวกับว่านี่เป็นพฤติกรรมปกติสามัญ การฆ่าใครสักคนตายไม่ได้มีความหมายอะไรเลย (แถมเรายังเห็นศพคนตายเกลื่อนถนน)

4. เซ็กส์ : สองผัวเมียไม่ปิดบังว่าต่างคนต่างมีชู้ แถมตัวผัวก็ยังบ้าจี้ให้เมียเล่าว่า ทำอะไร ท่าไหนกับชู้บ้าง, ฉากนางเอกถูกข่มขืน โดยที่พระเอกไม่สนใจไยดีเลย, ฉากนางเอกไปแหกขากลางถนนเพื่อเรียกรถ และฉาก “ตอกไข่ใส่หว่างขา” ตอนท้ายเรื่อง

5. บทบาทชายหญิง : ฉากที่ผัวเมียคู่นี้สลับกันแบกอีกฝ่าย เป็นการแสดงว่าไม่มีคำว่าสุภาพบุรุษสำหรับพระเอกเรื่องนี้

6. สงคราม, ลัทธิอาณานิคม : ฉาก monologue ของคนเก็บขยะที่ร่ายยาวตั้งแต่สงครามโลก, ประเทศโลกที่ 3, ทวีปแอฟริกา, อัลจีเรีย (ซึ่งเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส) รวมถึงคำว่า Jew, Communist, Fascist ที่ถูกใช้เป็นคำด่าในหนังเกือบทั้งเรื่อง

โกดาด์นั้นมีจุดเด่นตรงที่หนังของเขาวิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างเข้มข้นอยู่ตลอดเวลา แม้แต่หนังในยุคหลังสหัสวรรษใหม่อย่าง In Praise of Love (2001) ก็พูดถึงเรื่องของเทคโนโยลีการถ่ายหนังล้ำยุคของฮอลลีวู้ด (โกดาด์เลยประชดด้วยการถ่ายหนังครึ่งแรกด้วยฟิล์มขาวดำ ส่วนครึ่งหลังถ่ายด้วยกล้องดิจิตอล) หรือล่าสุดกับ Our Music (2004) โกดาด์พูดถึงเหตุการณ์ 9/11 ได้อย่างล้ำลึก

ด้วยเหตุเหล่านี้เอง โกดาด์จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้กำกับประเภท “ถึงจะแก่ แต่ก็ยังเก๋า”




สาระสำคัญของ Jules et Jim

ในหนังเรื่อง Jules et Jim (1962) ตัวละครแคทเธอรีน (ณานน์ มอโร) โดดเด่นมาก ทั้งในแง่ของการแสดง และลักษณะของ ‘ผู้หญิง’ ดังนั้นการนำทฤษฎี Feminism มาจับหนังเรื่องนี้ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่พึงกระทำได้ โดยจะเห็นได้ว่า Jules et Jim แสดงถึงลักษณะ ‘ผู้หญิงเป็นใหญ่’ อย่างชัดเจน (ซึ่งน่าจะถือเป็นเรื่องแปลกใหม่มากในสมัยนั้น) แคทเธอรีนเป็นตัวละครที่มีอำนาจมากที่สุดในหนัง โดยเฉพาะอำนาจต่อผู้ชาย เธอสามารถเลือกคบใครก็ได้ โดยไม่ลงเอยกับใครสักที แม้ว่าจะแต่งงานหรือมีลูกแล้วก็ตาม (ซึ่งขัดกับธรรมเนียมของสังคมอย่างแน่นอน) นอกจากนั้นยังมีอีกสองฉากที่แสดงพฤติกรรมของเธอที่ดูก๋ากั่นหรือห้าวหาญเกินผู้หญิง (และอาจดูเหมือนผู้ชายไปในตัว) ฉากแรกคือ ตอนที่เธอวาดหนวดปลอมตัวเป็นผู้ชาย และอีกฉากก็คือตอนที่เธอกระโดดลงน้ำประท้วงจูลส์ที่พูดดูถูกผู้หญิง

ผู้ชายในเรื่องต่างต้องตามใจของแคทเธอรีน (ไม่เพียงแต่จูลส์หรือจิม แต่รวมถึงอัลแบร์ด้วย) และเมื่อจิมเริ่มขัดขืนต่ออำนาจของแคทเธอรีน มันก็นำไปสู่ฉากจบที่แคทเธอรีนขับรถลงน้ำโดยพาจิมไปตายด้วย ซึ่งจุดนี้ต่างกับฉากขับรถลงเหวในตอนจบของ Thelma & Louise ที่เป็นการ ‘หนีจากโลกของผู้ชาย’ แต่ใน Jules et Jim นั้นแคทเธอรีนพาผู้ชายที่ขัดขืนเธอไปตายด้วย ส่วนจูลส์ไม่ขัดขืนเธอ เขาเลยไม่เป็นอันตราย แถมเขาก็เป็นพ่อของลูกเธอด้วย ซึ่งสังเกตว่าตัวละครลูกของแคทเธอรีน เป็นตัวละครที่ไม่ถูกทำร้าย หรือถูกผลกระทบใดๆ เลย อาจจะด้วยเหตุผลสองข้อ คือ หนึ่ง-เธอเป็น ‘เด็ก’ และสอง-เธอเป็น เด็ก ‘ผู้หญิง’

ประเด็นสงครามก็เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงใน Jules et Jim ด้วย เนื่องจากจูลส์เป็นคนออสเตรียน ส่วนจิมเป็นคนฝรั่งเศส เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทั้งสองคนเลยต้องอยู่ฝ่ายตรงข้ามกัน หนังแสดงแง่ดีที่ว่าสงครามไม่มีผลต่อมิตรภาพของทั้งคู่ แต่ในอีกแง่หนึ่งทั้งสองก็ต้องเผชิญกับ ‘สงครามภายใน’ ในเรื่องของแคทเธอรีนอยู่ดี (ถึงแม้จะเป็นสงครามปลอดความรุนแรงก็ตาม)

เรื่องรักสามเส้าเป็นสิ่งโดดเด่นที่สุดในหนัง ทรูฟโฟต์จัดองค์ประกอบขับเน้นประเด็นนี้อยู่เสมอ เช่น ฉากคลาสสิกที่ตัวละครโผล่ออกมาจากหน้าต่างแล้วทำรูปกันเป็นสามเหลี่ยม หรือในฉากนั่งเรียงแถวที่ตัวของแคทเธอรีนจะต้องอยู่ตรงกลางตลอดเวลา

Jules et Jim ถือเป็นหนังรักสามเส้าที่ original มากที่สุดเรื่องหนึ่ง หนังแนวนี้ในยุคต่อมาก็ได้รับอิทธิพลจากเรื่องนี้ไม่มากก็น้อย ที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ Vanilla Sky (2001, คาเมรอน โครว์) เพราะโครว์ถึงขนาดใส่โปสเตอร์เรื่อง Jules et Jim ไว้ในห้องของพระเอก (ทอม ครูซ) แถมยังมีฉากผู้หญิงขับรถพาผู้ชายไปตายเหมือนกันเสียด้วย

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะหนังรักสามเส้ายุคไหน สัญชาติใด ก็มักให้จุดจบที่น่าเศร้า มันเป็นดั่งเกมที่ไม่มีใครจะเป็นผู้ชนะ เหมือนกับประโยคที่จิมพูดไว้ว่า “We played with life and lost.”



Create Date : 05 มิถุนายน 2551
Last Update : 5 มิถุนายน 2551 17:36:18 น. 1 comments
Counter : 5575 Pageviews.

 
ขอบคุณนะคะ กำลังจะต้องสอบวิชาภาพยนตร์พอดี


โดย: ปุ๊กปิ๊ก IP: 124.157.219.228 วันที่: 25 พฤษภาคม 2552 เวลา:16:37:28 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

merveillesxx
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 58 คน [?]




สำส่อนทางการดูหนัง ฟังเพลงและเสพวรรณกรรม
New Comments
Friends' blogs
[Add merveillesxx's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.