http://twitter.com/merveillesxx และ http://www.facebook.com/merpage
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2550
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
19 พฤษภาคม 2550
 
All Blogs
 
The Host : “ยื้อก็เหมือนเราจะยิ่งเหนื่อย…รัฐไม่ช่วยอะไรเลย”

โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง




(ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร BIOSCOPE ฉบับที่ 59 ตุลาคม 2549)


ทันทีที่หนังเรื่อง Still Life ของเจี่ยจางเคอคว้ารางวัลสิงโตทองคำจากเทศกาลหนังเวนิซ หนังเรื่องนี้ก็ถูกจับตาทันที เพราะหนังถูกแทรกเข้าสายประกวดทีหลัง แถมยังมาคว้ารางวัลใหญ่ของงานไปได้

Still Life นั้นพูดถึงหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งที่รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ซึ่งการที่เวนิซมอบรางวัลให้กับหนังเรื่องนี้ ทำให้เราเห็นภาพชัดเจนว่าปี 2006 นั้นเป็นปีของ ‘หนังวิพากษ์สังคม’ โดยแท้จริง เพราะก่อนหน้านี้เทศกาลหนังต่างๆ ก็มอบรางวัลใหญ่ให้กับหนังสังคมทั้งสิ้น ไล่ตั้งแต่ เบอร์ลิน ออสการ์ และคานส์ ที่ให้รางวัลกับ Grbavica, Crash และ The Wind That Shakes the Barley ตามลำดับ

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเหตุการณ์ถล่มตึกเวิลด์เทรดเมื่อ 11 กันยายน 2001 มีส่วนทำให้ผู้คนมีความตื่นตัวทางสังคมมากที่สุดในรอบหลายทศวรรษ เพราะเหตุการณ์ 9/11 ไม่ได้กระทบเพียงอเมริกาเท่านั้น แต่มันคือผลกระทบในระดับสังคมโลก ไม่ว่าจะเหตุระเบิดที่บาหลี สงครามอิรัก การวางระเบิดรถไฟที่ลอนดอน การปะทะกันของอิสราเอล-เลบานอน หรือกระทั่งการทวีความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ล้วนเป็นผลพวงมาจากเหตุการณ์ 9/11 ทั้งสิ้น

ในยุคหลัง 11 กันยา (Post 9/11 Era) ผลสะท้อนไม่ได้ปรากฏในรูปเหตุการณ์รุนแรงในข้างต้นเท่านั้น แต่ยังมีผลในเรื่องของแนวความคิดด้วย โดยเฉพาะความขัดแย้งทางเชื้อชาติระหว่างตะวันตกกับตะวันออกกลาง (คนอเมริกันและหลายชาติในตะวันตก เกลียด กลัวและไม่ไว้ใจคนมุสลิม) และความหวาดกลัวต่อการก่อการร้าย แต่ในอีกด้านหนึ่ง เหตุการณ์ 9/11 ยังทำให้ผู้คน (รวมถึงตัวคนอเมริกันเอง) ต้องทบทวนทัศนคติที่ตนมีต่อประเทศอเมริกาใหม่ ซึ่งวงการภาพยนตร์เองก็มีหนังที่วิพากษ์ถึงอเมริกา ทั้งโดยตรงอย่าง Bowling for Columbine และ Fahrenheit 9/11 ของไมเคิล มัวร์ และโดยอ้อมอย่าง Dogville และ Manderlay ของลาร์ส วอน ทรีเยร์

ในคานส์ปี 2006 ที่ผ่านมา (อันเป็นขาขึ้นของหนังสังคม และเป็นขาลงของหนังปัจเจก) หนังเกาหลีเรื่อง The Host ได้กระแสตอบรับอย่างท่วมท้น จริงอยู่ที่หน้าหนังของมันคือ ‘หนังสัตว์ประหลาด’ แต่แท้จริงแล้วมันเป็นทั้งหนังสังคม หนังยุคหลัง 11 กันยา (post 9/11 film) และหนังที่แสดงทัศนคติต่ออเมริกา เพื่อนผมคนหนึ่งถึงกับพูดว่า “ทุกย่างก้าวของหนังเรื่องนี้คือเรื่องการเมือง” ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับประโยคหนึ่งในสาขาวิชารัฐศาสตร์ที่ว่า “การเมืองอยู่ทุกหนแห่ง” (Politics is everywhere.)

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า The Host เลือกที่จะบรรจุตัวเองอยู่แนวหนังสัตว์ประหลาด 10 นาทีแรกของหนังเรื่องนี้จึงเต็มไปด้วยฉากที่ทรงพลัง นั่นคือภาพของผู้คนกำลังนั่งนอนเล่นอย่างสบายใจอยู่ริมน้ำแท้ๆ แต่อยู่ดีๆ ก็มีตัวประหลาดน่าขยะแขยงโผล่จากแม่น้ำฮันมาไล่จับคนกิน แถมยังอาละวาดจนพื้นที่แถวนั้นพังราบเป็นหน้ากลอง




หลังจากเปิดฉากด้วยการเขย่าขวัญคนดู หนังก็เริ่มเล่นกับความรู้สึกด้วยทั้งอารมณ์แบบดราม่าและตลกร้าย เมื่อลูกสาวของพระเอกถูกสัตว์ประหลาดจับตัวไป ซ้ำร้ายพวกเขายังถูกทางการกักตัวไว้ยกครอบครัวเพราะถูกสงสัยว่าติดเชื้อจากสัตว์ประหลาด พออธิบายให้พวกหมอฟังว่าลูกสาวโทรติดต่อมาก็ถูกหาว่าบ้า สุดท้ายเมื่อไม่มีใครยอมช่วย พวกเขาจึงตัดสินใจหนีออกจากโรงพยาบาลไปตามหาลูกสาวกันเอง โดยมีอุปกรณ์คือ ปืนกระจอกๆ แบบที่ใช้ฝึกลูกเสือ และลูกธนูกิ๊กก๊อกที่ไม่สะเทือนหนังของเจ้าสัตว์ประหลาดเลยสักนิด

ตลอดเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ ตัวละคร (ซึ่งก็คือประชาชนตาดำๆ) ต้องต่อสู้ดิ้นรนกันเองตามยถากรรม จนเราอดสงสัยไม่ได้ว่า “เอ๊ะ แล้วรัฐบาลมันหายหัวไปไหนหว่า?” มิหนำซ้ำพอประชาชนพากันถามว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ พวกเจ้าหน้าที่ก็รีบไปเปิดโทรทัศน์เพื่อดูการแถลงข่าวจากรัฐ แต่สิ่งที่พบกลับมีเพียงการแข่งขันหมากล้อม และรายการร้องรำทำเพลง

ในขณะที่รัฐบาลเกาหลีใต้หายตัวไปเสียเฉยๆ แต่สิ่งที่เราเห็นในหนังแทบตลอดเวลาก็คือ อเมริกา อเมริกา และอเมริกา ไม่ว่าจะในรูปแบบของคน องค์กร กำลังทหาร หรือนโยบาย

ที่จริงแล้วก็ไม่น่าแปลกใจนักที่หนังเรื่องนี้จะพูดถึงอเมริกาแทบทุกวินาที เพราะพล็อตเรื่องของ The Host ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์จริงที่พลทหารอเมริกันทิ้งสารเคมีลงไปในแม่น้ำฮัน แถมรัฐบาลเกาหลีก็ยังเอาตัวคนผิดมาลงโทษไม่ได้ เพราะกองทัพสหรัฐไม่ให้ความร่วมมือ เรื่องนี้จึงสร้างความโกรธแค้นให้กับชาวเกาหลีเป็นยิ่งนัก และอาจจะรวมถึงตัวผู้กำกับด้วย

ดังนั้นหนังจึงมีอย่างน้อย 2 ฉากใหญ่ที่วิพากษ์ (แต่จริงๆ น่าจะเป็นแดกดัน) อเมริกาโดยตรง ฉากแรกก็คือ ช่วงต้นเรื่องที่สัตว์ประหลาดอาละวาดที่ริมแม่น้ำ ในขณะที่ผู้คนวิ่งหนีกันแตกตื่น กลับมีนายทหารโดนัลด์ (แน่นอนเป็นคนอเมริกัน) ที่ต่อสู้กับตัวประหลาดอย่างห้าวหาญ ฉากนี้นอกจากจะจิกกัดพฤติกรรมแบบตำรวจโลก (police action) ของอเมริกาแล้ว ยังพ่วงเรื่องการสร้างภาพพจน์ด้วย อย่างตอนที่เข้าไปถล่มอิรัก กองทัพสหรัฐก็ชอบโปรโมตรูปทหารอเมริกันอุ้มเด็กๆ อย่างรักใคร่เอ็นดู (แต่คำถามก็คือ แล้วใครล่ะที่ยิงพ่อแม่ของเด็กพวกนี้ตาย)

อีกฉากหนึ่งที่กินใจความไปตลอดทั้งเรื่อง คือการที่ทางการสหรัฐอ้างว่าเจ้าสัตว์ประหลาดนั่นอาจจะมีไวรัสร้ายแรง เป็นเหตุให้ครอบครัวของพระเอกถูกตามล่าราวกับอาชญากรสงคราม ซึ่งการอุปโลกน์ ‘ผู้ร้าย’ ขึ้นมานี้ ก็คล้ายการที่รัฐบาลสหรัฐอ้างว่า อุซามะห์ บิน ลาดิน คือผู้เบื้องหลังเหตุการณ์ 9/11 หรือบุกเข้าไปอิรักด้วยข้ออ้างที่ว่าอิรักอาจมีอาวุธชีวภาพร้ายแรง (แต่สุดท้ายก็ไม่พบ) นอกจากนี้การทำให้ผู้คนหวาดกลัวเรื่องไวรัสก็ไม่ต่างอะไรกับการเผยแพร่ ‘ลัทธิหวาดกลัวการก่อการร้าย’ ในช่วง 5 ปีหลังมานี้ ไม่เพียงเฉพาะกับคนอเมริกัน แม้แต่ โทนี่ แบลร์ ก็ยังบ้าจี้ส่งทหารของอังกฤษเข้าไปในอิรักด้วย และในที่สุดความกลัวนี้ก็กระจายไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย




หากย้อนดูประวัติศาสตร์กันจริงๆ แล้วเกาหลีใต้กับอเมริกาไม่ได้เกี่ยวโยงกันเพราะกรณีแม่น้ำฮันเท่านั้น ทั้งสองมีความสัมพันธ์กันมายาวนาน โดยเฉพาะในช่วงสงครามเกาหลี (1950-1953) ที่อเมริกาสนับสนุนเกาหลีใต้ ส่วนเกาหลีเหนือนั้นมีสหภาพโซเวียตหนุนหลัง และสงครามนี้ก็จบลงด้วยชัยชนะของเกาหลีใต้ (แต่ที่จริงคือของอเมริกา เพราะสงครามเกาหลีนั้นเป็นเพียงสงครามตัวแทน (Proxy war) ของสงครามเย็น)

การอยู่ฝ่ายเดียวกับอเมริกานั้นส่งผลดีกับเกาหลีใต้มาก โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ (ต่างจากจีนในตอนนี้ที่รุ่งเรืองขึ้นมาได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะความอ่อนแอทางเศรษฐกิจของอเมริกาเองหลังช่วง 9/11) ในที่สุดเกาหลีใต้ก็กลายเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของทวีปเอเชีย และไล่บี้ญี่ปุ่นมาติดๆ (ตอนนี้อาจแซงไปแล้ว)

แต่ที่สุดแล้วผลของการร่วมหัวจมท้ายในระบบทุนนิยมกับอเมริกาก็ย้อนมาทำร้ายเกาหลีใต้เองจนได้ นั่นก็คือ เรื่องของการทำสัญญาเขตการค้าเสรี (Free Trade Area - FTA) ทั้งที่เพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการทำสัญญาเท่านั้น แต่ผลของ FTA ก็ปรากฏอย่างเด่นชัดแล้ว เช่น กรณีการยกเลิกระบบโควตาหนังเกาหลี จนทำให้นักแสดงและผู้กำกับออกมาประท้วงรัฐบาล หรือล่าสุดเมื่อเดือนกันยา 2549 เกาหลีใต้ก็ยกเลิกการห้ามนำเข้าเนื้อวัวจากอเมริกาแล้ว ทั้งที่ประชาชนก็ยังแคลงใจเรื่องโรควัวบ้าอยู่

อาจกล่าวได้ผลกระทบของ FTA นั้นเกิดขึ้นจากน้ำมือของ 2 ฝ่ายก็คือ อเมริกาและรัฐบาลเกาหลีใต้ (ประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ประกาศว่าต่อให้เป็นตายอย่างไรก็จะเซ็น FTA กับอเมริกาให้ได้) หนังเรื่อง The Host เองก็ทำให้ผลของ FTA เป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้นมา นั่นก็คือ ‘สัตว์ประหลาด’ ในหนัง เพราะเจ้าสัตว์ประหลาดนี้ก็เกิดขึ้นเพราะความชุ่ยของอเมริกา และความอ่อนแอของรัฐบาลเกาหลีเอง ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ที่จริงแล้วรัฐบาลเกาหลีไม่ได้หายหัวไปไหนเลย แต่ปรากฏตัวเกือบทุกวินาทีของหนัง ในรูปสัตว์ประหลาดที่ไล่กัดกินประชาชน!

เมื่อไม่ได้ความช่วยเหลือจากรัฐ (แถมรัฐยังทำร้ายประชนชนเสียเอง) จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมตัวละครในเรื่องถึงต้องลุกขึ้นมาสู้กับสัตว์ประหลาดเอง เหมือนกับที่พ่อของพระเอกพูดถึงคำโบราณที่ว่า “สัตว์ใดที่เข่นฆ่ามนุษย์ เราจะต้องฉีกมันเป็นชิ้นๆ” ซึ่งที่จริงแล้วประชาชนไม่ได้กำลังต่อสู้กับสัตว์ประหลาด แต่มันคือการต่อสู้กับ ‘คน’ ด้วยกันเอง และสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริงก็คือ ประชาชนเกาหลีใต้รวมตัวกันประท้วงเรื่อง FTA ส่วนในไต้หวัน คนนับแสนก็ร่วมกันขับไล่ประธานาธิบดีเนื่องจากทนเรื่องคอร์รัปชั่นไม่ไหว และในประเทศไทยช่วงครึ่งปีแรกของ พ.ศ. 2549 ก็มีการลุกฮือของกระแสต่อต้านรัฐบาลมากที่สุดในรอบหลายปี

สิ่งต่างกันก็คือ ในโลกภาพยนตร์นั้น ตัวละครใน The Host สามารถฉีกเจ้าสัตว์ประหลาดนั่นเป็นชิ้นๆ ได้ ส่วนใน V for Vendetta วีก็สามารถปลดปล่อยผู้คนออกจากระบอบเผด็จการได้สำเร็จ (แม้จะเพียงในระดับหนึ่ง)

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น น้อยครั้งเหลือเกินที่ประชาชนจะเป็นฝ่ายชนะ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะดูเหมือนว่าพวกพระเอกสามารถเอาชนะสัตว์ประหลาดได้ และสุดท้ายแล้วเขาก็เลือกที่จะตัดขาดจากรัฐบาลโดยสิ้นเชิง (พระเอกไปอาศัยอยู่ในที่ห่างไกลชุมชนที่ไหนสักแห่ง และพอมีข่าวเกี่ยวกับการแถลงข่าวเรื่องไวรัส เขาก็ปิดโทรทัศน์อย่างไม่สนใจใยดี) แต่ก็ใช่ว่าพวกเขาจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ เพราะฉากจบนั้นแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ยังคงอยู่ก็คือ ‘ความหวาดระแวง’




อนึ่ง ในทางตะวันออกนั้นยังมีความเชื่ออีกอย่างว่า “สัตว์ใดที่กินพวกเดียวกันเอง ถือเป็นสัตว์ชั้นเลวเดรัจฉานที่สุด” ซึ่ง The Host เองก็แสดงเรื่องนี้ไว้ด้วย ฉากแรกก็คือ จุดจบของนายพลโดนัลด์ที่สุดท้ายก็ถูกคนชาติเดียวกันทรยศ เพราะพวกหมออเมริกันก็จับนายคนเก่งไปเป็นหนูทดลอง ชำแหละจนตายคาเตียง และก็แถลงข่าวว่า “พลทหารโดนัลด์เสียชีวิตเพราะติดไวรัสจากการเผชิญหน้ากับสัตว์ประหลาดอย่างกล้าหาญ”

อีกฉากหนึ่งก็คือ ‘ควันเหลือง’ ที่ทางการสหรัฐเอามาปล่อยในเกาหลีเพื่อฆ่าสัตว์ประหลาด แต่สุดท้ายมันก็ฆ่ามนุษย์ด้วย ไม่ต้องสงสัยเลยว่าควันเหลืองในหนังคือการวิพากษ์ถึงเรื่อง ‘ฝนเหลือง’ (Agent Orange) ในสมัยสงครามเวียดนาม ที่อเมริกาปล่อยสารพิษเหนือพื้นที่ป่าเพื่อทำลายยุทธวิธีกองโจร แต่พิษของฝนเหลืองนั้นไม่ได้ฆ่าล้างเพียงทหารเวียดนามเท่านั้น มีคนที่ต้องทนทุกข์เพราะพิษของสารมาตลอด 30 ปี และมีเด็กที่เกิดมาพร้อมกับความพิกลพิการจำนวนมาก (ในขณะที่ชาวญี่ปุ่นบางส่วนที่ได้รับผลจากกัมมันตภาพรังสีของระเบิดนิวเคลียร์ก็ยังมีอยู่) ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเดือนมีนาคม 2549 มีการสัมมนาเรื่องผลกระทบของฝนเหลืองที่กรุงฮานอย แต่อเมริกากลับไม่เข้าร่วมประชุม (นอกจากนั้นอเมริกาก็ไม่ยอมร่วมลงนามในพิธีสารเกียวโตที่ว่าด้วยการลดปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งที่อเมริกาเป็นประเทศที่ก่อมลพิษสูงสุดในโลก)

พฤติกรรม ‘คนกินคน’ เหล่านี้ ไม่ได้แสดงไว้แต่ในหนังเท่านั้น แต่มันบอกใบ้กับเราตั้งแต่ชื่อหนังแล้ว ถ้าใครได้เรียนชีววิทยาหรือวิทยาศาสตร์กายภาพ คงพอจำกันได้ในเรื่องความสัมพันธ์แบบ ‘โฮสต์กับปรสิต’ นั่นคือ ปรสิตจะเข้าไปอาศัยในร่างกายพร้อมทั้งดูดกินอาหารของเจ้าบ้านหรือโฮสต์ และปรสิตยังทำให้โฮสต์นั้นเป็นโรค หรือถึงแก่ความตายได้

อันที่จริงแล้วรัฐบาลนั้นควรจะเป็นที่พึ่งพิงของประชาชนได้ระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในยามฉุกเฉิน แต่ทั้งในหนังและในความเป็นจริง ประชาชนกลับเผชิญกับรัฐบาลที่พึ่งพิงไม่ได้ แถมยังมีเรื่องคอร์รัปชั่นกันทุกวี่ทุกวัน นั่นก็คือ นอกจากรัฐบาลจะไม่ใช่โฮสต์แล้ว ยังแปลงร่างกลายเป็นปรสิตเสียอีก

ส่วนในระดับระหว่างประเทศ เราก็จะเห็นว่าทุกวันนี้เกาหลีใต้ (และไทย) กำลังถูกกัดกินและเข่นฆ่าทั้งทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม

ดังนั้นหากหนังเรื่อง The Host กำลังบอกกับเราว่าเกาหลีใต้กำลังตกอยู่ในสภาพของโฮสต์แล้ว ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าประเทศใดที่มีความหมายเป็นปรสิต






หมายเหตุ

1. ชื่อบทความดัดแปลงจากเพลง ‘รักไม่ช่วยอะไรเลย’ ของ นัท มีเรีย

2. อ่านบทความเรื่อง FTA เกาหลีใต้-อเมริกา ได้ ที่นี่

3. อ่านรายงาน “FTA ไทย-สหรัฐ: หายนะหรือวัฒนะต่อการเข้าถึงยา” ของผมได้ ที่นี่



Create Date : 19 พฤษภาคม 2550
Last Update : 19 พฤษภาคม 2550 15:23:23 น. 20 comments
Counter : 3363 Pageviews.

 

The Host เขียนไว้นานแล้ว เพิ่งได้เอาลงบล็อก แผ่นมันออกนานแล้ว ไปหามาดูกันนะจ๊ะ (แต่จริงๆ เราก็ไม่ได้ชอบหนังเรื่องนี้มากมายหรอกนะ)

ที่กำลังกรี๊ดคลั่งมากๆ คือเรื่องนี้



Children of Men

มันสุดยอดจริงๆ แบบว่าเป็น innovative cinema ครือๆ เรื่อง The Fountain นั่นแหละ

แผ่นมันออกแล้ว หามาดูด่วนนนนนนน

ปล. วันนี้ใครไปอิมแพ็คก็เจอกันนะจ๊ะ (เอ่ เดี๊ยนไปดู Dare to Dance นะคะ มิใช่ กอล์ฟไมค์ ขอแก้ข่าวนิดนึง)


โดย: merveillesxx วันที่: 19 พฤษภาคม 2550 เวลา:15:32:37 น.  

 
ผมชอบนะ The Host แต่ชอบ Memories of Murder มากกว่า

ส่วน Children of Men "หนังเทพ" ผมชอบฉากที่พระเอกเข็นรถมากที่สุดอ่ะ ถ้าเปนเรื่องอื่นสตาร์ทติดไปนานแล้ว ลุ้นแทบแย่


โดย: [PEAK]`Larc IP: 124.121.107.220 วันที่: 19 พฤษภาคม 2550 เวลา:16:35:16 น.  

 
เห็นที่ร้านหนังสั้นใน จตุจักร มีแผ่นแล้ว พรุ่งนี้คงได้แวะไปซื้อค่ะ :)


โดย: tiktokthailand IP: 58.8.166.17 วันที่: 19 พฤษภาคม 2550 เวลา:17:23:49 น.  

 
ลืมบอกไปว่า ชอบบทความเรื่อง The Host ที่น้องเขียนมากค่ะ จริงๆ พี่อ่านไปแล้วครั้งนึงตอนลง Bioscope แต่ได้อ่านอีกทีก็ได้อีกมุม

เดี๋ยววันพรุ่งนี้ไปสอย Children of Men มาแน่ๆ ค่ะ :)


โดย: tiktokthailand IP: 58.8.166.17 วันที่: 19 พฤษภาคม 2550 เวลา:17:25:39 น.  

 
เม้นบทความในกระทู้แล้วเน่อ..
ชอบบทความนี้เจ็บแสบดี

Protege นี่ผมอุตส่าห์ถ่อไปถึงรัชโยธิน
แต่ก็ดีได้ดูอาหนิงสปีคไทยกะอาหลิว
หลิวเต๋อหัว + กู่เทียนเล่อ + นิรุตติ์ ศิริจรรยา น่าจะทำให้แดเนียล วู สำเหนียกตัวเองได้ว่าไม่เหมาะกับบทนำที่ต้องใช้พลังการแสดงเยอะๆ..
เพราะตอนอยู่ในเรื่อง ขนาดอาหนิงโผล่มาไม่ถึงสิบนาทียังกลบแดเนียลซะไม่ได้ผุดได้เกิด

ส่วน The Night Time Picnic นี่ยัยริกะขโมยซีนสุดๆ (55)


โดย: nanoguy วันที่: 20 พฤษภาคม 2550 เวลา:0:11:39 น.  

 
the host ก็ชอบนะ
แต่ชอบ Children of Men มากกว่าเยอะ


โดย: เจ้าชายไร้เงา วันที่: 20 พฤษภาคม 2550 เวลา:13:48:05 น.  

 
ยังไม่ได้ดูทั้งสองเรื่องนั่นแหละจ้า 555+
แต่อยากดู children of men มากๆ เป็นแฟนพี่ clive อ่ะ

ปล. ว่าแล้วเชียวว่าคุณเมอร์ต้องไปดู dare to dance ฮ่าๆ


โดย: ปลาทองแก้มยุ้ย IP: 124.121.163.144 วันที่: 20 พฤษภาคม 2550 เวลา:22:31:36 น.  

 
เคยอ่านทีนึงแล้วในหนังสือ

ได้มาอ่านในเนทอีกทีก็ยังอ่านเพลินเหมือนเดิม


โดย: ฟ้าดิน วันที่: 21 พฤษภาคม 2550 เวลา:4:06:52 น.  

 
อย่าลืมไปดูเรื่อง 28 weeks later ด้วยนะ
พอๆกันเลย
แต่หนังเรื่องนี้จะไม่ค่อยด่ามะกันว่าเลวร้ายเท่าใดนัก

แค่"รู้เท่าไม่ถึงการณ์"


โดย: initial A IP: 210.1.13.194 วันที่: 21 พฤษภาคม 2550 เวลา:12:04:54 น.  

 
ซื้อแผ่น Children of Men มากองอยู่ที่บ้านตั้งนานแล้ว ยังไม่ได้ดูเลย มัวแต่โม่ Lost อยู่ คุณน้องต่อนี่เขียนหนังสือดีจริงๆเลยนะครับ ผมอ่านแล้วเพลิดเพลินไม่แพ้ตอนที่ดูหนังเลย


โดย: แฟนผมตัวดำ วันที่: 21 พฤษภาคม 2550 เวลา:15:30:45 น.  

 
มาอ่านแล้วก็เลยนึกออกว่า

ยังไม่ได้ดูเดอะโฮสต์นี่หว่า




Children of Men จะไปหาดูจ้ะ เชียร์ซะขนาดนี้


โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 21 พฤษภาคม 2550 เวลา:18:51:49 น.  

 
เขียนดีจังเลยครับ

แล้วจะแวะเข้ามาอ่านอีกรอบ


โดย: SoundSynDrome IP: 124.120.133.171 วันที่: 21 พฤษภาคม 2550 เวลา:21:38:34 น.  

 
ดูแล้วชอบค่ะ ถึงไม่ค่อยหวือหวา แต่ก็ดีในระดับนึง


โดย: ต.เต่าหลังตุง (pintakai ) วันที่: 21 พฤษภาคม 2550 เวลา:22:50:32 น.  

 
ต่อ แกอ่านนิตยสาร Way เปล่า

เห็นพูดเรื่อง FTA แม่งช่างเป็นทวิภาคีที่เลวร้ายจริง ๆ โดยเฉพาะเรื่องยา

ไม่น่าเชื่อว่าคนในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯจะเจอปัญหาการทำนาบนหลังคนไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าดินแดนสยามเลย


โดย: I will see U in the next life. วันที่: 22 พฤษภาคม 2550 เวลา:10:01:46 น.  

 
อยากดูเรื่องนี้มั่กๆ ตอนมันเข้าพยายามลากแม่ไปดู แม่บอก ไม่ชอบหนังเกาหลี ......... เถียงแม่อยู่ตั้งนานพอเถียดจบ หนังฉายไปซักพักได้แล้ว -*- อดดูเรย


โดย: oHMu IP: 202.28.62.245 วันที่: 22 พฤษภาคม 2550 เวลา:13:58:02 น.  

 
ตอนนี้เบื่ออาจารย์คณะตัวเอง (สองคน) มาก
ชักจะเริ่มทำอะไรไร้การศึกษาขึ้นทุกวัน - -*


โดย: nanoguy วันที่: 22 พฤษภาคม 2550 เวลา:20:19:50 น.  

 
เราเคยดูหนังเรื่องนึงที่ชายที่เล่นบทนำเรื่อง Host เป็นคนเล่น

ติดภาพตลกมา เลยรู้สึกไงไม่รู้


โดย: สุด IP: 58.8.52.229 วันที่: 22 พฤษภาคม 2550 เวลา:21:23:37 น.  

 


//www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A5424850/A5424850.html

ความคิดเห็นที่ 3

หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราชอบมากๆหนึ่งเรื่องเลยเสียดสีได้โดนดี

จากคุณ : ^zippomaru^ - [ 19 พ.ค. 50 16:00:24 ]






ความคิดเห็นที่ 4

ใครไม่ชอบแต่เราชอบหนังเรื่องนี้ ถ้าคิดดีๆ บอกความนัยไว้หลายอย่าง

จากคุณ : MOMIJI_99 - [ 19 พ.ค. 50 16:45:12 ]






ความคิดเห็นที่ 5

หนังเรื่องนี้มันด่าอเมริกาแบบโต้งๆเสียจนน่าแปลกใจว่าไม่ยักโดนใครโวย

หรือทุกคนเขาก็อยากด่าอเมริกาเหมือนกันครับ

จากคุณ : รถเล็ก - [ 19 พ.ค. 50 17:11:19 ]






ความคิดเห็นที่ 6

ดูแล้วเสียดายเงิน

จากคุณ : somoh - [ 19 พ.ค. 50 17:44:50 ]






ความคิดเห็นที่ 7

โคตรชอบ ด่าพวกฝรั่ง กับพวกคนใหญ่คนโต เก่งกาจทั้งหลาย ได้แสบสะใจดีแท้ แต่ตอนจบยังไม่ตรึงเท่าไหร่ อิอิ น่าจะสวดพวกนั้นมันอีกรอบก่อนปิดเรื่อง

จากคุณ : Moore 4 More - [ 19 พ.ค. 50 18:31:40 ]






ความคิดเห็นที่ 8

ชอบหนังเรื่องนี้

เพราะลูกสาวของตัวเอกในหนัง หน้าเหมือนกะลูกสาวของผมอ่ะ

เลยอินไปกะตัวพ่อด้วย

.
..
...
ชอบคุณน้านักยิงธนู....น่าร๊ากกกกกกก

จากคุณ : Crying Prophet - [ 19 พ.ค. 50 20:25:42 ]






ความคิดเห็นที่ 9

ชอบที่สุดคือฉากที่พระเอกขู่ปาดคอนางพยาบาล แล้วหนีออกมาจากห้องกักกันปลอดเชื้อ แลดูไฮโซ

เป็นแค่คอนเทนเนอร์หนึ่งตู้ ... ด้านนอกมีเจ้าหน้าที่อเมริกันยืนปิ้งบาร์บีคิวราวกับมาพักร้อน


so american

จากคุณ : dekhype - [ 19 พ.ค. 50 20:41:21 ]






ความคิดเห็นที่ 10

ผมว่าปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นนี่เพราะอเมริกาเป็นสาเหตุทั้งนั้น อย่างสนธิสัญญาเกียวโต ที่อเมริกาไม่ยอมเข้าร่วมนี่น่าเกลียดมากเลย ทั้งๆที่ตัวเองเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลกแท้ๆ ปัญหาโลกร้อนที่เกิดขึ้นตอนนี้ไม่เห้นอเมริกาจะจริงจังกับปัญหาเหล่านี้เลย inconvinience truth ที่อังกอร์สร้างมานี่ไม่ได้ปลุกจิตสำนึกของคนอเมริกันบ้างเลยหรอ

ปล.อยากให้คุณ merveillesxx เขียนวิจารณ์ Children of men มากเลยครับ ผมดูแล้วประทับใจไปหมดทั้งฉาก long take ที่ไม่เคยเห็นแล้วก็เนื้อเรื่องที่ดูแล้วกลัวว่าโลกเราจะเป็นอย่างนั้นๆจริงๆ ยกให้เป็นหนังแห่งปีสำหรับผมไปแล้ว

จากคุณ : Ashitaka - [ 19 พ.ค. 50 21:58:32 ]






ความคิดเห็นที่ 11

เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องที่ดีใจที่ได้ดูในโรง
ประทับใจมากครับ รวมถึงงานวิจารณ์ชิ้นนี้ก็เขียนได้ดีมากเช่นกันครับ

จากคุณ : joblovenuk - [ 19 พ.ค. 50 23:38:52 ]






ความคิดเห็นที่ 12

เป็นหนังสัตว์ประหลาดที่ไม่ใช่สัตว์ประหลาด...
ด่าอเมริกาได้ใจมากครับเรื่องนี้

จากคุณ : nanoguy - [ 19 พ.ค. 50 23:58:41 ]






ความคิดเห็นที่ 13

มาเชียร์ให้เขียน Children of men ด้วยคน
เรื่องนี้ไม่ได้ดูอ่ะ
แหะ แหะ

จากคุณ : grappa - [ 20 พ.ค. 50 01:20:42 ]






ความคิดเห็นที่ 14

สงสัยว่า.. มันน่าจะมีมากกว่า 1 ตัวอ่ะ
แต่มีตัวเดียวเอง ..... น่าจะมีซัก 53-54 ตัว

จากคุณ : กึ่งยิงกึ่งผ่าน - [ 20 พ.ค. 50 02:02:40 ]






ความคิดเห็นที่ 15

เป็นตัวอย่างของหนังที่ทำหน้าที่มากกกว่าความบันเทิง
สนุก ให้ข้อคิด
ย้อนมาดูตัวเรา ประเทศเรานี่โดนปาราสิตดูดเจียนตายไม่ตายแหล่

จากคุณ : kinglear - [ 21 พ.ค. 50 17:49:19 ]






ความคิดเห็นที่ 16

ขอบคุณมาก สงสัยมานานแล้ว
ว่าประเด็นที่หนังต้องการสื่อคืออะไร

จากคุณ : speech - [ 22 พ.ค. 50 23:03:38 ]


โดย: merveillesxx วันที่: 24 พฤษภาคม 2550 เวลา:0:48:54 น.  

 
ไม่ใช่ว่าจะโปรหนังเมืองนอกซะจนดูถูกหนังไทยนะครับ หนังไทยดี ๆ ก็มีหลายเรื่อง แต่พอดูเรื่อง Host แล้วผมอดนึกถึง ปักษาวายุ ของเราไม่ได้ นึกแล้วเหนื่อยหัวใจ...


โดย: rolling IP: 124.121.225.164 วันที่: 29 พฤษภาคม 2550 เวลา:1:01:48 น.  

 
ชอบเรื่องนี้นะ สนุกดี ดูเเล้วรู้สึกได้เลยว่ามันล้อการเมืองอยู่ชัดๆ


โดย: This road is mine วันที่: 10 มิถุนายน 2550 เวลา:23:59:27 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

merveillesxx
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 58 คน [?]




สำส่อนทางการดูหนัง ฟังเพลงและเสพวรรณกรรม
New Comments
Friends' blogs
[Add merveillesxx's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.