http://twitter.com/merveillesxx และ http://www.facebook.com/merpage
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2548
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
26 มิถุนายน 2548
 
All Blogs
 

A Snake of June – วงกลมพิศวงในหน้าฝนสีน้ำเงิน

โดย merveillesxx



ตีพิมพ์ ในนิตยสาร BIOSCOPE ฉบับที่ 44 (กรกฎาคม 2548 - หน้าปก Lindsay Lohan)

(หมายเหตุ - บทความนี้เปิดเผยส่วนสำคัญของภาพยนตร์)

เป็นเรื่องน่าบังเอิญกึ่งจงใจที่หนังเรื่อง A Snake of June ของชินยะ ทสึกาโมโต้เข้าฉายในบ้านเราในเดือน ‘มิถุนายน’ ตามชื่อของหนัง แถมมันยังตรงกับฤดูฝนที่แสนจะเข้ากับหนังเรื่องนี้ที่ตลอดเรื่องสายฝนสาดเทลงไม่หยุดหย่อน …ต่างกันที่ว่าในขณะที่หนังฮิตถล่มทลายอย่าง Be With You (ซึ่งเป็นหนังสัญชาติปลาดิบเหมือนกัน) เป็นฤดูฝนใสบริสุทธิ์ที่นำมาซึ่งปาฏิหาริย์ แต่ฝนสีน้ำเงินในหนังอย่าง A Snake of June นั้น มันคือความลึกลับ ความท้าทาย และความน่าลิ้มลอง

มีหลายคนที่เข้าไปดูหนังเรื่องนี้แล้วอาจจะรู้สึกมึนงงกับตัวหนังอยู่เอาการ (แน่นอนผมเองก็ไม่ชัดแจ้งในบางจุด) เท่าที่ผมพิจารณาดูแล้ว หนังเรื่องนี้มีรูปแบบของเล่าเรื่อง (Narrative) ที่ชวนสับสนอยู่เหมือนกัน (โดยเฉพาะตอนท้ายเรื่อง) อันเป็นเหตุให้ผู้ชมเข้าไม่ถึงสารที่หนังต้องการจะสื่ออย่างเพียงพอ แต่ผมพบว่า ‘ตัวช่วย’ ที่จะเป็นหนทางเข้าสู่หนังเรื่องนี้ได้อย่างดีก็คือ ‘สัญลักษณ์’ (Symbol) …และนี่คือสิ่งที่เราจะพูดถึงกันในวันนี้

งูเอ๋ย เจ้าอยู่ไหน?
น่าแปลกดีที่ชื่อหนังเรื่องนี้มีคำว่า ‘งู’ อยู่แท้ๆ แต่เรากลับไม่เห็นสัตว์เลื้อยคลานชนิดนี้สักตัวในหนัง

ทสึกาโมโต้เคยให้สัมภาษณ์ว่า งูในที่นี้เป็นตัวแทนของอารมณ์ทางเพศของหญิงสาวที่ถูกปลุกปั่นขึ้นมาในช่วงฤดูฝน สภาพแวดล้อมชุ่มช่ำในช่วงนั้นจะทำให้ความรู้สึกภายในกายของเธอเหมือนกับเวลาที่งูเลื้อย (?) โอ คุณผู้หญิงครับ เวลาถึงหน้าฝนแล้วพวกคุณรู้สึกกันแบบนี้จริงๆหรือเปล่า ช่วยบอกผมทีครับ

อย่างไรก็ตาม ในหนังเรื่องนี้ก็มี ‘งู’ อยู่สองตัว
1. งูเทียม = ไวเบรเตอร์
เจ้างูตัวนี้เราแทบจะไม่เห็นมันเลย แต่มันก็มีบทบาทน่าดูชมเชียวล่ะ ไวเบรเตอร์คือสิ่งที่ชายถ้ำมอง (ชินยะ ทสึกาโมโต้ รับบทนี้เอง) ใช้สื่อสารกับรินโกะ (อาซูกะ คุโรซาว่า – นางเอกของเรื่อง) มันทำให้เธออับอาย ทำให้เธอร้องไห้ แต่ในที่สุดมันก็ทำให้เธอค้นพบความต้องการที่แท้จริง …นี่หรือเปล่ารูปธรรมของความรู้สึกที่มี ‘งูเลื้อย’ อยู่ในตัวอย่างที่ทสึกาโมโต้ว่าไว้

2. งูยักษ์ = งวงเหล็ก (?) ของชายถ้ำมอง
ใครๆ ก็ต้องงงเป็นไก่ตาแตกที่อยู่ดีๆ ฉากที่ชายถ้ำมองชูชันงวงเหล็ก (ที่ตำแหน่งของมันก็เหมือนจะบอกเราว่ามันคือ กระจู๋ยักษ์!) ของเขาขึ้นมาต่อหน้าชิเกะฮิโกะ (ยูจิ โคตาริ – สามีของนางเอก) เหตุผลของฉากนี้นอกจากเรื่องความเพี้ยนตามสไตล์ของทสึกาโมโต้แล้ว ดูเหมือนว่ามันจะเป็นการเปรียบเปรยกับข้อหนึ่งที่ว่าไปในข้างต้น เพราะในขณะที่เขาสื่อสารกับรินโกะ (= ผู้หญิง) ด้วยไวเบรเตอร์ แต่กับชิเกะฮิโกะ (= ผู้ชาย) เขาใช้งวงเหล็กมหึมา! ที่ทั้งรัดคอ ฟาดหน้าจนปางตาย …แม้ทั้งสองอย่างจะเป็นจะเป็น ‘งูประดิษฐ์’ เหมือนกัน แต่ดูเหมือนวัตถุประสงค์การใช้จะต่างกันฟ้ากับเหวเลยล่ะ เพราะอันแรกมันใช้ความสุข แต่อันหลังมันให้ความเจ็บปวด (ไอ้งูอย่างแรกนี่พอรู้ที่ขายนะ แต่ไอ้อย่างหลังนี่ไม่รู้หาซื้อที่ไหน) นอกจากนั้นสองฉากที่ว่ายังแสดงถึงการเลือกปฏิบัติต่อเพศชายและเพศหญิงของตัวละครชายถ้ำมองอีกด้วย

เห็นได้ชัดว่า งูในทั้งสองข้อล้วนมีนัยยะทางเพศทั้งสิ้น และแท้จริงแล้วงูก็เป็นสัญลักษณ์สากล (Universal Symbol) ของ ‘อวัยวะเพศชาย’ (ทุกคนคงรู้จักคำว่า ‘งูตาเดียว’ นะครับ – ใครไม่รู้ลองถามเพื่อนๆ ดูนะจ๊ะ) ดังนั้นแล้วงูในข้อหนึ่งและสองจึงเป็นการใช้ในลักษณะอุปมาอุปไม (metaphor)

แล้วทีนี้ งูในความหมายสากลอย่างอวัยวะเพศชายอยู่ที่ไหน เพราะตลอดทั้งเรื่องเราเห็นแต่เรือนร่างของฝ่ายหญิงเท่านั้น …งูตัวนี้ไม่ได้โผล่ออกมาให้เราเห็นหรอกครับ แต่มันซ่อนตัวอยู่เงียบๆ ในตัวของชิเกะฮิโกะ นั่นก็คือ ฉากที่เขาแอบมองรินโกะเปลือยกายท่ามกลางสายฝน แล้วเขาก็ช่วยตัวเองไปพร้อมกัน! ใช่แล้วครับ งูตัวนี้กำลังจะ ‘ตื่น’ แล้ว

วงกลมพิศวง
ไม่ต้องใช้ความพยายามสังเกตให้มากมาย เราทุกคนต่างรู้สึกว่า หนังเรื่องนี้มีภาพหรือวัตถุที่เป็น ‘วงกลม’ อยู่บ่อยครั้งเหลือเกิน มีตัวอย่างหนังคลาสสิกที่ใช้วงกลมเป็นสัญลักษณ์ก็คือ Psycho ของอัลเฟรด ฮิตช์ค็อก (ในฉากหญิงสาวถูกฆาตกรแทงตายในอ่างน้ำ มีวงกลมให้คุณนับเป็นสิบอันได้) อันแสดงถึง ‘ภาวะที่ติดกับ ตกอยู่ในวังวน’ ของผู้หญิงที่ถูกฆ่า*(1) ดังนั้นคำถามของเราก็คือ วงกลมใน A Snake of June ต้องการสื่อถึงอะไร หรือพาเราไปสู่อะไร

การปรากฏตัวของวงกลมในหนังเรื่องนี้ มีลักษณะที่เรียกว่า Motif ชนิดที่เป็นปรากฏตัวถี่ๆ เป็นระยะ (Multiple) โดยหลักแล้วจุดมุ่งหมายของการใช้ Motif ก็คือ การนำเราไปสู่แก่น (Theme) ของหนัง …ทีนี้เรามาดูกันดีกว่าว่ามีวงกลมอะไรบ้างในหนัง โดยผมขอแบ่งวงกลมในหนังออกเป็น 2 กลุ่มดังนี้

1. กลุ่มแรก – ท่ออ่างล้านจาน, ท่ออ่างอาบน้ำ, เพดานห้องอาบน้ำ, วงล้อในกรงหนู
วงกลมนี้ในกลุ่มนี้ปรากฏขึ้นในช่วงแรกของหนัง (ผมคิดว่ามันมีมากกว่านี้ แต่นี่คือเท่าที่ผมจำได้ครับ) ลองสังเกตสิครับว่าทั้ง 4 ตัวอย่างนี้มีลักษณะร่วมกันอย่างหนึ่ง …หมดเวลาครับ คำตอบก็คือ ทั้งหมดล้วนมีลักษณะที่มี ‘รูกลวงตรงกลาง’ นั่นเอง (เพดานห้องน้ำก็มีรู เพียงแต่เราเอากระจกไปกั้นไว้) เอ๊ะ วงกลมมีรูพวกนี้หมายถึงอะไรกันนะ

2. กลุ่มหลัง – จานข้าว และ เอ่อ…ปทุมถันของนางเอก (!)
ส่วนวงกลมกลุ่มนี้อยู่ในช่วงหลังของหนัง โดยมีลักษณะทึบตัน (ผมเลือกใช้คำได้ดีที่สุดแค่นี้แหละครับ แต่ผมตระหนักดีกว่าปทุมถันของคุณผู้หญิงไม่คู่ควรกับคำว่าทึบตันเอาเสียเลย) ไม่มีรูกลวงตรงกลาง

วงกลมอีกชิดหนึ่งที่มีในหนัง และช่วยแบ่งเรื่องเป็น 3 องค์ก็คือ
1. สัญลักษณ์เพศหญิง
2. สัญลักษณ์เพศชาย
3. สัญลักษณ์เพศชาย+หญิง

เอาล่ะครับ จนถึงตรงนี้ผมจะให้โอกาสคนที่อ่านอยู่ไปนั่งนอนคิดต่อ หรือหาโอกาสไปดูหนังอีกสักรอบหนึ่งเพื่อหาคำตอบด้วยตัวเอง หลังจากบรรทัดนี้ไปผมจะลุยเฉลยแล้วนะครับ

โอเค…ถ้าคุณก้าวสายตามาถึงบรรทัดนี้แปลว่าคุณพร้อมจะลุยไปกับผมแล้ว

เรามาหาความหมายของสัญลักษณ์โดยอิงจากบริบทเรื่องราวในหนังกันดีกว่า จะเห็นว่าช่วงแรกของหนังความสัมพันธ์ของนางเอกกับสามีช่างห่างเหินกันเสียเหลือเกิน ตัวผัวนั้นแสนจะเย็นชา, เคร่งครัดเจ้าระเบียบ และรักความสะอาดจนถึงขนาดไม่ยอมแตะต้องเมียตัวเอง ส่วนฝ่ายเมียนั้นก็ได้แต่เก็บงำความรู้สึก ความต้องการของตัวเองไว้ในใจ

เช่นนั้นแล้ว วงกลมรูกลวงในช่วงแรกของหนัง ก็เหมือนความสัมพันธ์ของสองผัวเมียที่มี ‘ช่องว่างขนาดมหึมา’ อยู่ตรงกลาง (ที่เห็นได้ชัดก็คือ ทั้งคู่แยกห้องกันนอน) ซ้ำร้ายในแต่ละฝ่ายก็ล้วนมี ‘รูโหว่ในใจ’ ด้วยกันทั้งคู่ นั่นก็คือความบกพร่องเว้าแหว่งของทั้งฝ่ายชายและหญิง

ท่อน้ำในอ่างที่ปล่อยให้น้ำไหลผ่านไป ก็เหมือนกันความรู้สึกที่รินโกะถ่ายทอดให้ชิเกะฮิโกะที่มันไม่เคยไปถึงเขาได้เลย ต่อมาเมื่อเธอได้เจ้าหนูแฮมสเตอร์เป็นตัวทำให้จิตใจได้เบิกบาน เธอก็ต้องจำใจเอามันไปทิ้งเพราะสามีของเธอไม่ชอบ ฉากหนึ่งที่ทำให้ผมเศร้ามากๆ คือตอนที่เธอนั่งมองกรงหนู แล้วกล้องก็จับภาพไปยังหนูที่กำลังวิ่งในกงล้อ ช่องว่างกลางวงล้อนั้นคือการบอกว่าสุดท้ายแล้วหนูแฮมสเตอร์ก็ไม่ใช่สิ่งที่เธอยึดเหนี่ยวไว้ได้ และวงล้อที่หมุนวิ่งก็หมายถึง ชีวิตของรินโกะที่กลับไปเป็น ‘แบบเดิม’ อีกครั้ง

จุดตัดของหนังเรื่องนี้น่าจะอยู่ตรงฉากที่รินโกะเปลือยกายท่ามกลางสายฝน –อันเป็นฉากที่ผมชอบมาก เพราะมันให้อารมณ์ที่หลากหลายเหลือเกิน ทั้งเศร้า ทั้งเหงา ทั้งอีโรติก และโรแมนติกไปพร้อมกัน– หลังจากฉากนี้แล้ว หนังก็ตัดไปสู่ฉากที่รินโกะกับชิเกะฮิโกะนั่งกินข้าวด้วยกันอย่างหน้าชื่นตาบาน (เป็นครั้งแรกที่เราเห็นว่าทั้งสองมีสีหน้าที่มีความสุข) นี่คือการเข้าสู่วงกลมในกลุ่มหลัง โดยในฉากนี้มันก็คือ ‘จานข้าว’ เพราะว่าจานข้าวคือสิ่งที่ไม่มีรู ไม่มีอะไรจะรั่วไหลออกไปได้ และที่สำคัญมันคือสิ่งที่เรา ‘เติม’ อะไรสักอย่างลงไป …ดูเหมือนว่าฉากนี้ทั้งสองกำลังเติมเต็มความสัมพันธ์ของกันและกัน ช่องว่างของเธอและเขาค่อยๆ เล็กลงแล้ว

ฉากที่หนังใช้สัญลักษณ์วงกลมได้สุดโต่งและเฉียบขาดที่สุดคือ ฉากจบ สำหรับผมแล้วนี่เป็นฉากที่ช่วยยืนยันว่า A Snake of June เป็นหนังที่มีการใช้ระบบสัญลักษณ์ที่เยี่ยมยอด โดยก่อนจะถึงฉากนี้ชิเกะฮิโกะจะได้ผ่านเหตุการณ์บ้าบอคอแตกมามากมาย (ซึ่งผมจะกล่าวถึงในภายหลัง) เขาซมซานกลับมาที่บ้าน แล้วก็พบกับรินโกะ หลังจากนั้นทั้งคู่ก็กระโจนมีเซ็กซ์กันทันที! ตอนท้ายของฉากนี้ชิเกะฮิโกะก้มลงไปจูบหน้าอกของรินโกะ ตอนแรกนั้นปทุมถันของเธอหายไป (?) แต่พอเขาก้มลงมาอีกทีมันก็กลับมา (กรี๊ดดด!) …นี่คือสิ่งที่ยืนยันว่าช่องว่างของทั้งคู่ถูกกลบมิดสนิทไปแล้ว

เรื่องของวงกลมนั้นมีตัวช่วยอีกอย่างก็คือ สัญลักษณ์เพศชาย-หญิงที่ว่าไว้ในข้างต้น หน้าที่อย่างแรกก็ของมันก็คือ การแบ่งเนื้อเรื่องของหนังเป็น 3 ตอน ตอนแรก (สัญลักษณ์เพศหญิง) หนังก็มุ่งเน้นน้ำหนักไปที่ตัวรินโกะ ตอนสอง (สัญลักษณ์เพศชาย) ก็คือการปะทะกันผู้ชายสองคนในเรื่อง (ชิเกะฮิโกะและชายถ้ำมอง) และตอนที่สาม (สัญลักษณ์เพศชาย+หญิง) ก็คือบทสรุปของความสัมพันธ์ระหว่างรินโกะกับสามี

หน้าที่อย่างที่สองของสัญลักษณ์ของเพศเหล่านี้ ก็คือ การนำเราไปสู่แก่นของหนัง



ถ้าจำกันได้ในช่วงที่หนังใช้สัญลักษณ์เพศชายกับหญิง หนังมีภาพของสัญลักษณ์ทั้งสองเคลื่อนเข้าหากัน แต่แทนที่หนังจะใช้วิธีรวมกันแบบข้อ (1) ในรูป –ซึ่งเป็นนัยที่แสดงว่าผู้ชายเป็นผู้กระทำและเป็นฝ่ายที่เหนือกว่า– ทสึกาโมโต้กลับเลือกใช้ในแบบสมการข้อ (2) นั่นคือการรวมกันเป็นหนึ่งอย่างเท่าเทียมกัน เมื่อพิจารณาสัญลักษณ์ในรูป เห็นได้ว่าก่อนหน้าจะรวมกันนั้นทั้งเพศชาย-หญิงต่างมีรูโหว่ในใจของตัวเอง (ตรงกับเรื่อง ‘วงกลมในกลุ่มแรก’) แต่เมื่อชายและหญิงรวมกันแล้ว ช่องว่างระหว่างเพศก็หายไป (ตรงกับเรื่อง ‘วงกลมในกลุ่มหลัง’) ช่องว่างกลวงเปล่ากลายเป็นจุดดำทึบในที่สุด และจุดที่สีดำนี่ก็คือ ปทุมถันของนางเอกนั่นเอง …ทีนี้ก็ไม่น่าแปลกใจแล้วว่าทำไมป้าแคทเธอรีน เบรลญาต์ถึงชอบเรื่องนี้เป็นนักหนา*(2)

อีกหนึ่งวงกลมที่เราจะลืมไปไม่ได้ก็คือ พระเอก(ตัวจริง)ของหนังเรื่องนี้ มันก็คือ ‘กล้อง’ ของชายถ้ำมองนั่นเอง ดวงไฟทรงกลมของกล้องดูจะไม่เข้าพวกกับวงกลมที่เราว่ามานัก แต่วงกลมนี้มีหน้าที่ ‘ส่องแสง’ ออกมา ดังนั้นมันจึงเป็นเหมือนสิ่งที่นำทางคู่ผัวเมียไปหาความต้องการที่แท้จริง ทั้งนี้ชายถ้ำมองก็มีตำแหน่งเป็น ‘ตัวกลาง’ ที่เชื่อมคนทั้งสองเข้าหากันอยู่แล้ว เพราะรินโกะเป็นคนสั่งให้เขาส่งรูปลับของเธอไปให้ชิเกะฮิโกะ เธอต้องการให้สามีเห็น ‘ตัวตน’ ที่แท้จริงของเธอ

นรกหรือสวรรค์ ฉันกำลังอยู่ที่ไหน?
นี่อาจจะเป็นคำถามที่คนดูบางคนถามกับตัวเองตอนที่ดูช่วงท้ายของหนังก็ได้ ไม่ว่าจะเพราะรู้สึกร่วมไปกับตัวละคร (โดยเฉพาะชิเกะฮิโกะ) หรือเพราะดูไม่รู้เรื่องก็ตาม (ฮา)

ช่วงท้ายของหนังนอกจากฉาก ‘งวงเหล็ก’ ที่ว่าไปแล้ว ความเพี้ยนสุดยอดของหนังก็คือฉาก ‘คลับลับ’ ที่ชิเกะฮิโกะถูกจับตัวไป ผมไม่อาจตอบได้แน่ชัดหรอกครับว่าเหตุการณ์ในนี้ความเป็นจริง เป็นความฝัน หรือเป็นอะไรกันแน่ แต่ถ้าเป็นชายถ้ำมองที่จับเขาไปไว้ในคลับนั้นแล้วล่ะก็ นั่นก็หมายความว่าเขาต้องการให้ชิเกะฮิโกะลองเป็นพวก ‘ถ้ำมอง’ ดูเสียบ้าง (กล้องที่ชิเกะฮิโกะมองลอดไปก็เป็นวงกลม ส่วนเครื่องทรมานให้จมน้ำตายก็เช่นกัน) แต่ชิเกะฮิโกะก็พบว่าเขาไม่ชอบมัน เขาไม่ได้อยากถ้ำมองคนมีเซ็กซ์กัน แต่จริงๆ แล้วเขาอยากทำมันเสียเองต่างหาก!

ในอีกด้านหนึ่ง ประโยคที่น่าสนใจในฉากนี้ก็คือ ตอนที่ชิเกะฮิโกะพูดว่า “หรือว่าที่นี่คือนรก?” ดังนั้นเราอาจจะคิดไปได้ว่า ฉากวุ่นวายทั้งหลายนั้นเป็นจินตนาการ อาจจะเป็นความว้าวุ่นในใจของเขา และที่ๆเขาไปมันก็คือ ‘นรกในใจ’ ของตัวเอง …ก่อนที่สุดท้ายเขากลับขึ้นมาได้จากการไปลงนรก และไปพบกับ ‘สววรค์’ ที่บ้าน นั่นก็คือ รินโกะ

ความจริง และจินตนาการในเรื่องนี้ยังมีอีกหลายอย่าง เช่น มะเร็งของตัวรินโกะ โดยเธออาจจะไม่ได้เป็นอะไรเลยก็ได้ (เราไม่ได้ยินจากปากคุณหมอของเธอสักคำ) แต่มะเร็งนั้นมันหมายถึงความเจ็บป่วยทางใจ ที่ไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการที่มันอยู่ในใจของเธอ (= มะเร็งเต้านม) แต่การที่ชิเกะฮิโกะไม่เห็นด้วยที่จะให้เธอตัดเต้านมทิ้ง ก็แสดงให้เห็นว่าเขาก็ยังเห็นความสำคัญของเธอ …น่าสังเกตอีกอย่างว่าชายถ้ำมองก็อ้างว่าตัวเองเป็นมะเร็งเหมือนกัน เขาก็คงมีอะไรที่ไม่ได้รับการสนองได้เหมือนกัน

สิ่งที่ไม่มีตัวตนจริงอีกอย่างในหนังอาจรวมไปถึงตัวของชายถ้ำมองเอง ซึ่งเขาอาจจะไม่ได้มีตัวตนจริงๆ ก็ได้ อาจจะเป็นคนที่รินโกะสร้างขึ้นมาเพื่อขุดค้นหาความต้องการของตัวเอง โดยฉากที่เด่นชัดมากก็คือ ตอนที่เธอยืนอยู่ในครัวแล้วพูดโต้ตอบกับชายถ้ำมอง แต่มันเหมือนกับเธอกำลัง ‘พูดคนเดียว’ มากกว่า แม้เราจะคิดได้ว่า หูอีกข้างของเธอที่เราไม่เห็นกำลังใส่หูฟังอยู่ ถ้าใครจะไปรู้ว่าตอนที่เธอคุยโทรศัพท์น่ะ มันมีคนที่อยู่อีกฝั่งของสายจริงหรือเปล่า …และตอนที่ชิเกะฮิโกะวิ่งเข้าบ้านมายิงปืนไปโดนโทรศัพท์ (ซึ่งรอยกระสุนปืนก็เป็นรูกลม-อีกแล้ว) ก็เหมือนกับการ ‘ฆ่า’ จินตนาการของชายถ้ำมองของรินโกะไปจากโลกนี้

ฉากที่ย้ำประเด็นนี้ก็คือ ตอนที่ชายถ้ำมองถ่ายรูปของตัวเอง และล้างรูปออกมาสองรูป รูปแรกเป็นตัวของเขานั่งตรงหันหน้าเข้ากล้อง ส่วนอีกรูปเป็นเพียงห้องเปล่าๆ ในนัยหนึ่งมันอาจจะหมายถึงการตายของชายถ้ำมอง เขาไม่ได้อยู่บนโลกนี้อีกต่อไปแล้ว แต่อีกนัยหนึ่งมันคือ ‘ความไร้ตัวตน’ ของคนผู้นี้ …ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามชายคนนี้ก็ได้ทำให้สามี-ภรรยาคู่หนึ่งหันหน้าเข้าหากันอีกครั้งแล้ว

จะว่าไปแล้วชายถ้ำมองคนนี้ก็เหมือนคนที่พระเจ้าสร้างขึ้นมาเพื่อดลให้ชายและหญิงคู่หนึ่งรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน และดูเหมือนว่าพระเจ้าช่างสร้างคนนั้นจะมีชื่อว่า ‘ชินยะ ทสึกาโมโต้’


เชิงอรรถ
*(1) อ่านเพิ่มเติมได้ใน ‘ตำนานระทึกขวัญ อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก’ โดย อ.ประวิทย์ แต่งอักษร

*(2) แคทเธอรีน เบรลญาต์ – ผู้กำกับเฟมินิสต์สุดขอบจากฝรั่งเศส ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์(โดยเฉพาะ ‘ทางเพศ’)ของชาย-หญิง แถมยังเปิดวิชาสอนเรื่องเพศในภาพยนตร์ในมหาวิทยาลัยเสียด้วย (เปรี้ยวมั้ย) เมื่อต้นปีหนังเรื่อง Anatomy of Hell ของเธอเพิ่งมาช็อคสายตาคนดูชาวไทยในงานเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพฯ …ว่ากันว่าเมื่อตอนที่ A Sanke of June เข้าฉายที่เวนิซ ป้าแกก็เชียร์เรื่องนี้สุดใจขาดดิ้น




 

Create Date : 26 มิถุนายน 2548
36 comments
Last Update : 15 กรกฎาคม 2548 3:45:43 น.
Counter : 25356 Pageviews.

 

เล่าสู่กันฟัง -- หนังที่ได้ดูในช่วงนี้

24 มิ.ย. ไปดูมาสามเรื่องครับ เป็นวัน "เจแปน แฮ็ททริก" เพราะดูหนังญี่ปุ่น 3 เรื่องรวด

1. A Snake of June (A+)
-- หนังเรื่องนี้ให้อารมณ์หลายอย่างมากๆ ทั้งเศร้า ทั้งเหงา ทั้งอีโรติก และโรแมนติกไปในตัว
-- ชอบระบบสัญลักษณ์ในหนังเรื่องนี้มากๆ โดยเฉพาะในฉากจบ (คิดได้ไง?)
-- นางเอกเล่นดีมาก
-- น่าเสียดายที่ตอนผมดู มียัยป้างี่เง่านั่งแทะเงาะอยู่ข้างๆตลอด 20 นาทีแรก ไม่งั้นคงจะชอบหนังมากกว่านี้อีก

2. Swing Girls (A-)
-- หนังสนุก และน่ารักมากๆ
-- ชอบที่หนังให้ความรู้สึกที่ดีมากๆหลังดูจบ แม้ว่าบทหนังจะมีช่องโหว่อยู่หลายจุดเหมือนกัน
-- ชอบคาแร็กเตอร์ของเหล่าสาวๆ สวิงกลิ้งมากๆ
-- หนังมีการใช้เพลง what a wonderful world ได้ฮาสุดๆ

3. One Missed Call (B+)
-- มาคอนเฟิร์มว่าที่ GRAND EGV เป็นเสียงญี่ปุ่น-บรรยายไทย เพราะไปดูที่ดรงนี้แหละครับ
-- หนังให้บรรยากาศได้น่ากลัวดีในช่วงแรกๆ น่าเสียดายที่หลังๆหนังพยายามหักมุมไปมา จนคนดูเหนื่อย
-- แถมการหักดูนั้นยังไม่เคลียร์ และไม่ได้ช่วยอะไรกับตัวหนังมากนัก
-- ผิดหวังกับฉากจบของหนังมากๆๆๆๆๆๆๆ
-- อย่างไรก็ตาม หนังไม่ได้แย่เหลือทน มิอิเกะใส่ลูกผีหลอกได้ดีกับเสียงมือถือ และเทคนิคด้านภาพ
-- หนังพูดเฉียดๆ ถึงประเด็นทางสังคมดอย่างสื่อโทรทัศน์ และการเสพติดเทตโนโลยีการสื่อสาร แต่ยังเทียบกับ Kairo แล้ว ยังถือว่าห่างชั้นมากๆ แต่เข้าใจว่า มิอิเกะ ไม่ได้อยากเป็น คุโรซาว่า เบอร์สอง อยู่แล้ว
-- หนังเรื่องนี้มีประเด็น Children Exploitation อีกแล้ว หนังของมิอิเกะมีประเด็นนี้บ่อยๆ
-- ส่วนตัวแล้วงานที่ยอดเยี่ยมที่สุดของมิอิเกะยังคงเป็น Ichi The Killer
-- ใครอยากดูฝีมือการแสดงของ โค ชิบาซากิ เรื่องนี้มีให้ดู เพราะเธอจะกรี๊ดจนตาเหลือกกกกก
-- เพลงตอน end credit เป็นเพลงของเธอ เพราะดี
-- ตอนดูหนังจบแล้วขึ้น BTS แล้วจู่ๆมือถือของคนบนรถดังพร้อมกับประมาณ 5 เครื่อง ...รู้สึกกลัวอย่างบอกไม่ถูก

------------------------------

กระทู้แนะนำหนัง 7 เรื่อง ที่เข้าในสัปดาห์นี้
//www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A3560344/A3560344.html

 

โดย: merveillesxx 26 มิถุนายน 2548 2:50:48 น.  

 

สวัสดีครับผม เข้ามาทักยามดึกนะครับ

ว้า ชักอยากดูแล้วล่ะสิ โดยเฉพาะ Swing Girls ท่าจะเข้าทางซะแล้วสิแฮะ

 

โดย: หมื่นทิพ TRAVOLTA (เทพบุตรตบะแตก!! ) 26 มิถุนายน 2548 2:59:58 น.  

 

อ่านจบอย่างรวดเร็ว ภายในระยะเวลาไม่ถึง 5 นาที
ต้องบอกว่าคุณแมกเวยxx วิเคราะห์ได้ละเอียดมากกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกก

แต่จริงอย่างที่คุณว่าครับ
หนังเรื่องนี้ ช่วงครึ่งหลังมีความจริง - ความลวง, ภาพฝัน - ภาพจินตนาการ หรือภาพจริง? โผล่ออกมาให้เห็นบ่อยครั้งมาก จนบางครั้ง มันทำให้หลายคนหลุดวงโคจรของหนังไปได้ง่ายๆ

แต่กระนั้นแล้ว ทั้งหมดนี้ก็ไม่สำคัญเท่าสิ่งที่หนังต้องการจะสื่อ เพราะท้ายที่สุดแล้ว ....มะเร็งในใจของคู่รัก? ทั้งสองก็ได้ทลายหายไปหมดสิ้น

สิ่งที่เหลือไว้ก็คือ ...คนสองคนที่กลับมา "เข้าใจ" กัน

จบ-----

ป.ล. ชอบหนังเรื่องนี้ในระดับ A+ (แต่ของป้าแคทเธอรีน A+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ ครับ อิอิ)

 

โดย: it ซียู IP: 161.200.255.163 26 มิถุนายน 2548 8:20:36 น.  

 

ตอนดูหนังเรื่องนี้จบใหม่ ๆ ไม่ชอบหนังเรื่องนี้เลย รู้สึกเหมือนผู้กำกับมา masterbation ให้ดู และคิดว่านี่เรามาดูหนังที่แสดงความสะใจส่วนตัวของผู้กำกับหรือเปล่า

แต่ข้ามคืนผ่านไป ระดับความไม่ชอบลดน้อยลง และถึงกับอุทานว่า ตายห่า หนังเรื่องนี้มันเฟมินิสท์อยู่มากกกก
นี่นา เอ๊ะ หรือไม่ใช่

จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าชอบหรือไม่ชอบหนังเรื่องนี้


รินโกะ เป็นมะเร็งจริงๆ มีฉากนึงที่แสดงให้เห็นว่าโรงพยาบาลโทรฯ มาฝากข้อความไว้ถึงวันที่จะเข้ารับการผ่าตัด แต่รินโกะวางหูโทรศัพท์ก่อนที่จะฟังจบ เธอวางหูก่อนที่จะฟังข้อความจบ เธอเลือกที่จะไม่ผ่าตัดเพราะสามีไม่อยากให้เธอผ่าตัดเต้านมออกไป

ดูคุณแมกเวยxx ขัดเขินที่จะพูดถึงคำว่าเต้านม ( คำว่า ปทุมถัน เชยออกค่ะ ) เต้านมเป็นเรื่องธรรมชาติ มันถูกทำให้เป็น Sex object เมื่อไม่นานมานี้เอง สมัยวิคทอเรียน Sex object ของผู้หญิงคือข้อเท้า ผู้หญิงสมัยนั้นจึงต้องใส่ประโปรงยาวปิดข้อเท้า (นึกภาพผู้หญิงฝรั่งสมัยนึงที่ใส่กระโปรงสุ่มยาวปิดข้อเท้า แต่โชว์หน้าอกบะหึ่มได้ เพราะสิ่งที่ต้องปกปิดสมัยนั้นคือข้อเท้า )
การโป๊ะหรือไม่โป๊ะ จึงเป็นเรื่องที่ถูกสร้างขึ้น พูดเรื่องธรรมชาติก็ใช้คำว่า "เต้านม" ได้เลยค่ะ ไม่ใช่คำที่น่าอาย

ตีความสัญลักษณ์ของเพศและเรื่องวงกลมได้ดีมากค่ะ

ป.ล. รู้สึกว่าปราโมทย์ แสงศรจะสนใจเรื่องหนังมาก ไม่แน่ใจว่ามีเพื่อนเคยบอกว่าเขาเคยทำหนังสั้นด้วยหรือเปล่า

กำลังจะเขียนถึงหนังสือของ บอกอตี้ เร็วๆ นี้


 

โดย: grappa 26 มิถุนายน 2548 14:44:04 น.  

 

-- เรื่องต้องปกปิดข้อเท้าของผู้หญิง แต่โชว์อกอึ๋มได้ ของคุณ grappa ทำให้ผมนึกถึงหนังเรื่อง Romeo & Juliet (1968, Franco Zeffirelli, B+) ครับ โดยฉากที่ฮามากๆ คือตอนที่โรมิโอเกาะขอบระเบียงคุยกับจูเลียต แล้วเจ้าหล่อนก็ก้มตัวลงมาพูดกับชายหนุ่ม โอ้...หนองโพเธอบะล่ะฮึ่มมากๆ (สาบานนะว่าเด็กอายุ 14 - ตามเนื้อเรื่อง) เข้าใจว่าโรมิโอพาจูเลียตหนีกันไป เพราะอาการ 'เมานม' ในฉากนี้นั่นแหละ

-- ปราโมทย์ แสงศร ชอบดูหนังอินดี้ครับ เจอเค้าบ่อยมากๆ ที่ร้านพี่แว่น (สมัยยังมีตัวตน) เขาเคยทำหนังสั้นเรื่อง fish อะไรสักอย่าง และเคยลงคอลัมน์ "ทำหนังเองก็ได้ ง่ายจัง" ใน BIOSCOPE ด้วย

-- วันนี้ที่ดูเขาในรายการ [V].I.D. รู้สึกตกใจกับลุคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากของเขา

-- จะรออ่านที่เขียนถึงหนังสือ บก.ตี้ นะครับ ชอบบทบรรณาธิการใน POP เล่มใหม่ของเธอมากๆ ที่เธอเขียนถึงพัทยาในทุกวันนี้ อ่านแล้วเศร้ามาก

 

โดย: merveillesxx IP: 210.246.165.36 26 มิถุนายน 2548 15:25:45 น.  

 

วิเคราะห์ได้สุดๆไปเลยครับ
ถ้าผมได้ดูคงไม่มีทางคิดถึงสัญลักษณ์แล้วไปจับปะติดปะต่อได้ขนาดนี้แน่

 

โดย: zmen 26 มิถุนายน 2548 17:30:52 น.  

 

ภาพข้างบนสวยมากๆ ค่ะ
ยังไม่ได้ดู เลยยังไม่อ่าน เข้ามาที่นี่ได้ recommend หนัง ได้เรื่อยๆ เป็นประโยชน์มากๆๆ ค่า

 

โดย: Le Petit Panx 26 มิถุนายน 2548 23:01:11 น.  

 

ได้ดูมาแล้วครับ เพิ่งไปดูมาวันนี้เองครับ อืม ส่วนตัวเฉยๆกับหนังเรื่องนี้ครับ อาจจะไม่ตรงแนวของหนังที่ผมชอบซักเท่าไหร่ ผมเองก็คงพยายามทำความเข้าใจในแนวของหนังที่สื่อมาตรงๆทางด้านจิตใจครับ ตามที่ผมเองเข้าใจและที่เรียนและทำงาน ก็เข้าใจประมาณนี้นะครับ

ผมมองว่า เนื้อหาของหนังเกี่ยวข้องกับแรงผลักดันทางเพศ (sexual drive or sexual impulse) ซึ่งจริงๆแล้วก็เป็นเรื่องปกติในชีวิตมนุษย์ทั่วๆไป ซึ่งปกติแล้วคนเราก็ต้องมีการระบายแรงผลักดันนี้ไปตามปกติและอย่างเหมาะสมตามวิถีของคนทั่วๆไป แต่ในหนังเรื่องนี้เหมือนกับการแสดงให้เห็นถึงการพยายามกดเก็บแรงผลักดันทางเพศที่มีของตนเอง สิ่งที่แสดงเห็นคือการแต่งตัวของสามี ภรรยาที่ภายนอกดูเหมือนเป็นคนที่สุภาพเรียบร้อย(มากจนเกินไป) จนดูเป็นคนมีระเบียบ ด้วยการแต่งกายที่เรียบร้อยมากๆ ใส่สูทเสื้อผ้ามิดชิด ใส่แว่นตา เหมือนการพยายามกดเก็บแรงผลักดันต่างๆทั้งแรงผลักดันทางก้าวร้าว (aggressive drive) และแรงผลักดันทางเพศต่างๆ (sexual drive) เอาไว้ ทั้งๆที่ตนเองก็มีความต้องการ แต่ขาดการสื่อสารทางอารมณ์ความรู้สึกระหว่างคนทั้งคู่ และดูเหมือนว่าชีวิตคู่ก็ขาดเรื่องของความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งใกล้ชิดหรือความสัมพันธ์ทางเพศ ซึ่งอาจจะเป็นจากฝ่ายสามีอายุมากกว่าภรรยาจนเหมือนหรือคล้ายพ่อกับลูก และสามีอาจจะมีปัญหาเรื่องปัญหาสมรรถภาพทางเพศ (sexual dysfunction หรือ impotence) ด้วยก็เป็นได้ การที่สามีพยายามขัดถูทำความสะอาดทำสิ่งอื่น ก็เหมือนเป็นการเลี่ยงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดหรือความสัมพันธ์ทางเพศกับภรรยา เพราะอาจเกรงเรื่องปัญหาสมรรถภาพทางเพศของตนเองก็เป็นได้ ทั้งที่ฝ่ายภรรยาเองก็ยังคงมีความต้องการทางเพศอยู่ การกดเก็บแรงขับดันทางเพศก็ได้รับการระบายโดยพฤติกรรมทางเพศแบบแปลกวิปริต (paraphilia or sexual perversion) เช่น sex phone, การถูกถ้ำมอง (voyeurism) (รวมทั้งการถ้ามองของสามี), การถูกลักลอบถ่ายภาพ (pornograph) ซึ่งการมีพฤติกรรมทางเพศเหล่านี้กลับสามารถกระตุ้นความรู้สึกทางเพศในทั้งภรรยาและสามีได้ ซึ่งเดิมก็ถูกกดเก็บอยู่ แต่แสดงออกมาในลักษณะที่ไม่ได้เป็นธรรมขาติและเป็นปกติของการระบายแรงขับดันเหล่านี้ และเหมือนได้รับการกระตุ้นให้ความตื่นเต้นทางเพศนั้นมากขึ้นด้วย จากการมีพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยงต่อการถูกจับได้ของคนรอบข้างในรูปแบบลักษณะต่างๆ ก็ช่วยกระตุ้นให้ความรู้สึกตื่นเต้นทางเพศนั้นมีมากขึ้นไปด้วย ในการมีพฤติกรรมทางเพศแบบเสี่ยงๆ แต่ทั้งคู่ก็ยังไม่สามารถสื่อถึงอารมณ์ความรู้สึกระหว่างทั้งคู่ได้อยู่ดี

ส่วนเรื่องที่นางเอกกลายเป็นผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับผู้ที่มารับคำปรึกษา อันนี้คงเป็นปัญหาของการที่ผู้รักษาไม่ได้วางความสัมพันธ์ที่เหมาะสมในฐานะของผู้ให้คำปรึกษากับผู้รับคำปรึกษา หรือผู้รักษากับผู้รับการรักษา คือเหมือนขาด limit หรือ boundary คือขอบเขตที่ชัดเจน ปล่อยให้ผู้รับการรักษารุกล้ำเข้ามาในชีวิตส่วนตัว เกินขอบเขตของการให้คำปรึกษาหรือการบำบัดรักษา เช่นการโทรเข้ามามือถือ โทรเข้าบ้านของผู้ให้คำปรึกษาครับ

ส่วนเรื่องของมะเร็งเต้านมนั้น ผมเองเข้าใจว่าในส่วนลึกๆอาจจะเป็นเสมือนข้ออ้างของการที่จะไม่มีเพศสัมพันธ์กับสามีก็เป็นได้ครับ เพราะเหมือนกับว่าตนเองกำลังป่วย ไม่สามารถตอบสนองทางเพศให้กับสามี และอวัยวะที่เกิดการป่วยก็น่าสนใจว่าเป็นอวัยวะที่เหมือนเป็นสัญลักษณ์ คืออวัยวะที่เกี่ยวข้องกับเพศคือเต้านมด้วยครับ การที่ไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์กับสามีส่วนหนึ่งเพราะมะเร็งเต้านม ก็คงเหมือนการแสดงความโกรธไม่พอใจในตัวสามีด้วย

ส่วนเรื่องข้าวของ อุปกรณ์หรือสิ่งต่างๆที่มีรูปร่างลักษณะเป็นแท่งก็เป็นของที่ใช้ในการบำบัดความต้องการทางเพศและเป็นสัญลักษณ์แทนอวัยวะเพศชายอยู่แล้วครับ

 

โดย: Tempting Heart 26 มิถุนายน 2548 23:17:26 น.  

 

ไม่น่าเชื่อว่าบทความนี้จะมาจากบุคคลอายุไม่ถึง 20 นะคะ

ชอบมากค่ะตรงที่พูดเกี่ยวกับวงกลมต่างๆในเรื่อง ตอนที่อ่านแรกๆก็พอนึกออกแล้วว่ามีอะไรบ้าง แต่กลับลืมส่วนสำคัญคือ "จาน" กับ "วงล้อหนู" ไปน่ะค่ะ ถ้าไม่ได้อ่านนี่คงแย่

ตอนดูหนังจบใหม่ๆลุกไม่ขึ้นเลยล่ะค่ะ ความรู้สึกมันทั้งอึ้ง ทึ่ง และสลดใจ มันทำให้หวนคิดไปว่า เรื่องแบบนี้มีจริงๆบนโลกใบนี้รึเปล่าน๊า อะไรทำนองเนี้ยอ่ะค่ะ ^ ^"


สวิงเกิร์ลก็ดีค่ะ คิดว่าพวกไวรุ่นคนจะชอบกันเยอะ เหมือนจะติดๆสคริปเรื่องมากจาก waterboys มาหน่อยๆแต่โดยรวมแล้วก็ชอบมากกกค่ะ น่ารัก เรากับเพื่อนชอบสาวคนที่ตัดผมทรงเห็ดน่ะค่ะ เฮฮา ขำๆดี (เอ๊ ชื่ออะไรน๊า)

หมายเหตุ : ขอบคุน คุณ มาเวยxx ที่เขียนบทความดีๆให้อ่านอยู่เสมอค่ะ

 

โดย: C r i s i s * IP: 210.213.43.139 27 มิถุนายน 2548 2:13:38 น.  

 


น่าสนใจ

 

โดย: ศล IP: 203.159.36.10 27 มิถุนายน 2548 14:03:49 น.  

 

จะว่าอะไรใหม ถ้าหากอยากจะนอกเรื่องเล็ก (ไม่น้อยเท่าไหร่)

คือเห็นคุณ mer ไปตอบกระทู้ของนิตรยสารไบโอสโคปเรื่องหนังของชุนจิ อิวาอิ ดิฉันเป็นคนที่ชอบหนังของอิวาอิอยู่คนนึง แต่ดันเกิดไม่ทัน (อายุ 14 เองค่ะ) ได้ดูแค่ไม่กี่เรื่อง Love Letter, Picnic, April Story, All about Lily Chou-Chou, Hana&Alice อยากจะทราบว่าหนังอื่นๆ (อย่างหนังเก่าๆเช่น Swallowtail Butterfly - อันนี้อยากดูมาก) จะหาซื้อได้จากที่ใหนมั่ง ร้านพี่แว่นยังจะมีหลงเหลืออยู่บ้างหรือเปล่า (เป็นลูกค้าบางครั้งบางคราวค่ะ) หรือมีเบาะแสยังไงช่วยชี้แนะจะเป็นความกรุณามากค่ะ

ขอบคุณอีกรอยบค่ะ

 

โดย: C r i s i s * IP: 210.213.40.121 27 มิถุนายน 2548 22:36:30 น.  

 

ผมดูแล้วรู้สึกกดดัน่ะครับ ดูแล้วรู้สึกอินไปกับตัวละครแต่ดูแล้วงงในช่วงหลังของหนังน่ะครับ ขอบคุณที่มาทำให้กระจ่างในบางจุด

 

โดย: BedRoom 27 มิถุนายน 2548 23:20:43 น.  

 

วันนี้ได้ดูหนังอีกสองเรื่องครับ

1. The Wedding Date (B)
-- ทั้งที่ทำใจอยู่แล้วว่าหนังเรื่องนี้จะเป้นแบบไหน แต่ก็รู้สึกไม่ประทับใจกับหนังสักเท่าไรนัก
-- พระเอกและนางเอกดูไม่มีเคมีระหว่างกันเอาซะเลย จนหนังจบไปแล้วก็ยังไม่รู้สึกว่าสองคนนี้ควรจะได้กัน
-- ตัวละครในหนังมีคาแร็กเตอร์ที่เล่นประเด็นต่างๆได้มากมาย แต่หนังก็ไม่ได้ใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพนัก
-- ช่วงแรกๆ ของหนังรู้สึกเบื่อมากๆๆ แต่พอกลางๆเรื่องที่มีจุดพลิกผันก็รู้สึกดีกับหนังขึ้นมากทันที
-- จุดไคลแม็กซ์ของเรื่อง หนังถ่ายทอดบรรยากาศและอารมณ์ของนางเอกได้ดีมากๆ
-- แต่รู้สึกแย่กับหนังอีกครั้ง เรื่องการนำเสนอของตอนจำ ซึ่งเชยมากจนไม่นึกว่าจะมีอยู่ในโลกอีกแล้ว รู้สึกเหมือนกำลังดูละครเอ็กแซ็กค์สมัยก่อน

2. The Assassination of Richard Nixon (A+)
-- รู้สึกดีใจจริงๆ ที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ในโรงสยาม ไม่รู้ว่พรุ่งนี้พอ War of the Worlds เข้าแล้ว หนังจะถูกย้ายไปฉากที่ลิโด้รึป่าว
-- ฌอน เพนน์ เล่นดีมากกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกก (อีกแล้ว)
-- นาโอมิ วัตตส์ ออกมาไม่กี่ฉาก แต่เธอก็มีพลังเหลือล้นมากๆ
-- รหนังเรื่องนี้สามารถเดาได้หมดอยู่แล้วว่า จะเริ่ม จะไป จะจบอย่างไร แต่ก็ยังชอบหนังมากๆ เพราะหนังแนวนี้ -เกี่ยวกับคึนรู้สึกว่าโลกของตัวเองมันไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่แล้ว- โดนผมได้อย่างง่ายดาย
-- ชอบดนตรีประกอบในหนังเรื่องนี้มากๆ เช่นกัน เป้นการใช้ดนตรีแบบน้อยได้มาก แต่ก็ให้ผลต่ออารมณ์ของผมมาก
-- เห็นชื่อของ แวร์เนอร์ แฮโซก ใน end credit ด้วย

 

โดย: merveillesxx IP: 161.200.255.163 28 มิถุนายน 2548 20:29:00 น.  

 

ตอบคุณน้อง C r i s i s *

-- หนังของอิวาอิสามารถหาซื้อที่ร้านพี่แว่นครับ (ตอนนี้เป็น DVD แล้ว) มีทุกเรื่อง ยกเว้น Love Letter และ Hana & Alice ที่มีฉบับลิขสิทธิ์

-- ดีใจจังครับที่น้องอายุ 14 ก็เริ่มเสาะหาหนังแบบนี้มาดูแล้ว สมัยพี่อายุ 14 กลุ่มหนังเป้าหมายหลักของพี่คือ หนังแบบ Mission:Impossible 2, The Raod Trip, X-Men, American Pie ...bla bla bla อยู่เลย

-- อย่างไรก็ตาม หนังที่พี่ว่าไป พี่ไม่ได้เกลียดอะไรมันเลย โดยเฉพาะ American Pie คือหนังดวงใจเรื่องหนึ่งของพี่จ้ะ

 

โดย: merveillesxx IP: 161.200.255.163 28 มิถุนายน 2548 20:33:55 น.  

 

นานๆ จะมีสาวๆ มาตอบบล็อคสักทีนะคะ (แอบแซว)
มีคนเชียร์ให้ไปดู A Snake of June สองคนแล้ว (แอบงง)
คิดถึงจัง (แอบ ไม่สิ.. อันนี้บอกตรงๆ)

 

โดย: Mint@da{-"-} 28 มิถุนายน 2548 21:52:55 น.  

 

- -; หง่า ไม่กล้าไปดู....

 

โดย: P a s t e l T o n e 29 มิถุนายน 2548 0:24:34 น.  

 

อยากดู assassination of richard nixon มั่งจัง
เพราะชอบเพลง the love of richard nixon ของ manic (เกี่ยวกันไหมนี่ ฮา)

 

โดย: it ซียู IP: 161.200.255.163 29 มิถุนายน 2548 12:35:31 น.  

 

หนังที่เข้าในสัปดาห์นี้

1. War of the Worlds

2. The Big White (ฉายที่ ลิโด้, EGV เมโทรโพลิส, ปิ่นเกล้า, ซีคอน)
ลิโด้มีรอบ 12.00, 20.30 เสาร์-อาทิตย์ เพิ่ม 10.00

 

โดย: merveillesxx IP: 161.200.255.163 29 มิถุนายน 2548 13:39:53 น.  

 

ขอแปะโปรแกรมหนังสารพัดใน เดือน กรกฎาคม นะครับ

**ชมหนังเยอรมันฟรีตลอดเดือน กับเทศกาลหนัง Artur Brauner Retrospective**

D.K. Filmhouse (Filmvirus) with Thammasat University, Sirindhorn Anthropology Center and The Goethe Institute present:
ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ร่วมกับ สำนักหอสมุดปรีดี พนมยงค์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์, ศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธร และ และสถาบันเกอเธ่ ภูมิใจเสนอ

Artur Brauner Retrospective
Film Schedule in July 2005:

at Thammasat University, Sirindhorn Anthropology Center and D.K. Today Books, R.C.A. (opposite House Theater and Tops Supermarket)

ตารางฉายหนังเยอรมัน Artur Brauner เดือนกรกฎาคม 2548
ฉาย 3 แห่งที่ สำนักหอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์, ศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธร
ถ. ตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี และ ร้านหนังสือดวงกมลสมัย ที่ R.C.A. (ตรงข้ามโรงหนังเฮ้าส์และท็อปซูเปอร์มาร์เก็ต)

(ชมฟรี แต่กรุณาแต่งตัวสุภาพเข้าห้องสมุด) Admission Free
All Films are specially imported from Germany for the occasion.
ภาพยนตร์ทุกเรื่องเป็นฟิล์มภาพยนตร์นำเข้าพิเศษจากประเทศเยอรมนีเพื่องานนี้โดยเฉพาะ ผู้ชมทุกท่านสามารถขอรับสูจิบัตรข้อมูลภาพยนตร์เกี่ยวกับ Artur Brauner และหนังทุกเรื่องของเขาในงานนี้ได้ฟรี แต่มีจำนวนจำกัดเพียง 200 เล่มเท่านั้น

สถานที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ Main Library, Thammasat University,
Tha Phrachan Campus, U2 Floor Tel. 02-6133529-30

อาทิตย์ / Sunday- 3 ก.ค.(July 3)
Morituri (1 PM) 88 min
Der 20.Juli (Plot to Assassinate Hitler) (3.30 PM) 97 min

อาทิตย์ / Sunday-10 ก.ค.(July10)
Zeugin aus der Holle (Witness Out of Hell) (1 PM) 83 min
Charlotte S. (3.30 PM) 95 min

อาทิตย์ / Sunday-17 ก.ค.(July17)
Zu Freiwild verdammt (After Your Decrees) (1 PM) 101 min
Der Rosengarten (Rose Garden) (3.30 PM) 112 min

สถานที่ ร้านหนังสือดวงกมลสมัย D.K. Today Bookstore at RCA (opposite TOPS Supermarket and House, UMG-RCA) Tel. 02-2030673

อาทิตย์ / Sunday-24 ก.ค.(July24)
Eine Liebe in Deutschland (A Love in Germany)(1 PM) 107 min
Bittere Ernte (Angry Harvest) (3.30 PM) 105 min

อาทิตย์ / Sunday-31 ก.ค.(July31)
Hanussen (1 PM) 116 min
Hitlerjunge Salomon (Europa Europa) (3.30 PM) 113 min

สถานที่ ศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธร Sirindhorn Anthropology Center, Talingchun Road
เสาร์ / Saturday- 2 ก.ค. (July 2) Bittere Ernte (Angry Harvest) (4.30 PM) 105 min
เสาร์ / Saturday- 9 ก.ค. (July 9) Der Rosengarten (Rose Garden) (5.15 PM) 112 min
(แนะนำภาพยนตร์โดยคุณ Wilfried Eckstein ผู้อำนวยการสถาบันเกอเธ่)


ARTUR BRAUNER
Artur Brauner เป็นผู้สร้างภาพยนตร์ที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของเยอรมันในช่วงหลังสงครามโลก ผลงานของเขามีจำนวนถึง 250 เรื่อง โดยส่วนใหญ่จะเป็นภาพยนตร์ที่ให้ความบันเทิง แต่เขาก็ได้สร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับ เหยื่อของลัทธินาซีไว้ด้วย ภาพยนตร์ของเขาถือเป็นส่วนประกอบสำคัญของวัฒนธรรมเยอรมัน เมื่อหวนคิดถึงความโหดร้ายของการปกครองของนาซี


Morituri (1948) / Eugen York
นักโทษกลุ่มหนึ่งได้หลบหนีออกจากค่ายกักกันชาวยิวด้วยความช่วยเหลือของแพทย์ประจำค่าย พวกเขาได้ที่หลบภัยในหลุมแห่งหนึ่งใจกลางป่า ระหว่างที่กำลังหลบซ่อนตัวอยู่นั้น พวกเขาได้ประจันหน้ากับนายทหารเยอรมันนายหนึ่งและได้จับกุมตัวมาเพื่อซักไซ้ไล่ความ ในที่สุดกลุ่มนักโทษก็ปล่อยตัวนายทหารไปเนื่องจากไม่สามารถเอาผิดกับเขาได้ ยิ่งนานวันพวกเขาก็ประสบกับความอดอยากเนื่องจากไม่สามารถออกมาหาอาหารได้ แต่สุดท้ายพวกเขาทั้งหมดก็รอดชีวิตเมื่อทหารเยอรมันได้ถอนทัพออกไปจากพื้นที่

Morituri เปิดฉายรอบปฐมทัศน์ที่เทศกาลภาพยนตร์เมือง Venice ในวันที่ 28 สิงหาคม ปี 1948 ท่ามกลางความไม่พอใจของความเยอรมันที่ได้ชม หนังถูกประท้วงเมื่อเข้าฉายที่เมือง Hanover และต้องถอดออกจากโปรแกรมหลังจากที่ออกฉายได้เพียงสามวันเท่านั้น

Plot to Assassinate Hitler (1955) / Falk Harnack
หนังที่ติดตามขั้นตอนการเตรียมการลอบสังหารหัวหน้าพรรคนาซี Adolf Hitler ของกลุ่มต่อต้านเยอรมันและเหตุการณ์ในวันที่ 20 กรกฎาคม 1944 ซึ่งก็จบลงด้วยการลงโทษประหารชีวิตพันเอกเคาท์สเตาว์เฟนแบร์กและผู้ร่วมก่อกบฏ หนังเปิดฉาก ณ อนุสรณ์สถานหน้ากองบัญชาการทหารสูงสุดของเยอรมนีบนถนน Bendler Strasse เมื่อหนุ่มสาวคู่หนึ่งได้มารำลึกถึงผู้ที่เสียชีวิตไปจากการกระทำของกลุ่มต่อต้าน

หนังเรื่องนี้ได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก German Film Awards และยังได้รับรางวัลสนับสนุนประชาธิปไตยดีเด่นอีกด้วย!

Witness Out of Hell (1967) / Zika Mitrovic
Lea Weiss หญิงผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกันชาวยิวของพรรคนาซีถูกกดดันให้เป็นพยานในการลงโทษ Dr Berger หมอประจำค่ายที่เคยกระทำทารุณกรรมต่อเธอ Lea พยายามปฏิเสธเนื่องจากเธอไม่ต้องการเผชิญหน้ากับความเลวร้ายในครั้งก่อนอีก แต่เธอก็ถูกรุมเร้าจากอัยการที่ต้องการเอาผิดกับหมอ Berger ผู้เคยถือโอกาสล่วงเกินนักโทษหญิงในค่ายกักกัน ยิ่งเธอต้องได้รับแรงกดดันจากอดีตแฟนหนุ่มที่เคยคบกันก่อนสงครามด้วยแล้ว Lea จะตัดสินใจทำอย่างไร?

Charlotte S.(1980) / Frans Weisz
เรื่องราวชีวิตของศิลปินหญิง Charlotte Salomon ซึ่งหลบหนีจากกรุง Berlin ไปอาศัยอยู่กับยาย ณ ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส ในปี 1939 แม้จะผ่านพ้นสงครามมาได้แต่เธอก็ยังต้องเผชิญกับอาการหดหู่สิ้นหวังของยายและการฆ่าตัวตายของแม่ เธอหลีกหนีจากปัญหาทั้งมวลด้วยการสร้างสรรค์งานศิลปะด้วยภาพสีน้ำที่ตั้งคำถามต่อชีวิตของเธอเองว่า “ทั้งหมดนี้คือเรื่องจริงหรือเป็นเพียงละครฉากใหญ่?”

Love in Germany (1983) / Ein Liebe in Deutschland (Andrzej Wajda)
เดือนพฤษภาคม ปี 1983 ชายวัยกลางคนและลูกชายวัย 17 ปี เดินทางมายังเมือง Brombach เมืองชายแดนเล็ก ๆ ของเยอรมนีที่ติดกับสวิตเซอร์แลนด์ ชายผู้นั้นต้องการกลับมาเพื่อสืบหาถึงเรื่องราวความจริงเกี่ยวกับแม่ของเขาเองที่ไปมีความสัมพันธ์กับนักโทษชาวโปแลนด์จนถูกจับกุม เขาอยากทราบว่าทางการล่วงรู้ถึงความสัมพันธ์นี้ได้อย่างไร และแม่ของเขาถูกลงโทษอย่างไรบ้าง เขาจึงดั้นด้นหาข้อมูลจากผู้ที่เคยอยู่ในเหตุการณ์และสามารถให้เบาะแสโดยมีลูกชายของเขาเองคอยถ่ายภาพโพลารอยด์เก็บไว้เป็นหลักฐานด้วย
ผู้กำกับ Andrzej Wajda เป็นหนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์ชาวโปแลนด์ที่มีชื่อเสียงในระดับแนวหน้าของโลก เขาเคยได้รับรางวัลออสการ์เกียรติยศจากสถาบันภาพยนตร์อเมริกา รวมทั้งรางวัลภาพยนตร์จากสำนักต่าง ๆ ทั่วโลก ผลงานหลายเรื่องของเขาได้รับการยกย่องเป็นงานคลาสสิค ที่สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เคยจัดฉายหนังของเขาร่วมกับสถานทูตโปแลนด์มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้
ในครั้งนี้จะเป็นโอกาสดีที่ทุกท่านจะได้ชมภาพยนตร์ที่หาดูยากที่สุดเรื่องหนึ่งของเขา ภาพยนตร์เรื่องนี้นำแสดงโดย ฮันน่า ชือกุลล่า นักแสดงหญิงชั้นนำของเยอรมันที่โด่งดังจากภาพยนตร์ของ ไรเนอร์ แวร์เนอร์ ฟาสบินเดอร์ ร่วมแสดงโดย อาร์มิน มึลเล่อร์ ชตาห์ล (Avalon, Music Box, Night on Earth, The Blind Director) และ แบร์นฮาร์ ด วิคกี้ ผู้กำกับหนังเรื่อง The Bridge

After Your Decrees (1984) / Jerzy Hoffman
ตอนที่เยอรมันกำลังบุกโปแลนด์นั้น Ruth มีอายุเพียง 13 ปี ระหว่างการสังหารหมู่ชาวยิงนั้น Ruth ก็สามารถหลบหนีมาได้อย่างหวุดหวิด เธอต้องหาอาหารประทังชีวิตด้วยตัวเอง ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อหาทางหนีออกนอกประเทศ เธอได้ความช่วยเหลือ แต่ก็ถูกทรยศหักหลักจากคนเห็นแก่ตัว ทุกอย่างล้วนอันตรายไปด้วย สถานการณ์แห่งความเป็นและความตาย ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นจากเรื่องราวที่เขียนขึ้นโดยโปรดิวเซอร์ Artur Brauner เอง โดยอ้างอิงจากประสบการณ์ชีวิตของตัวเขาและภรรยาในช่วงสงคราม

Angry Harvest (1986) / Agnieszka Holland
ช่วงฤดูหนาวปี 1942 Leon ชาวนาชาวโปแลนด์ผู้มีอันจะกินได้พบกับ Rosa สตรีชาวยิวที่หลบหนีการจับกุมจนหมดแรงอยู่กลางป่า Leon ช่วยเหลือ Rosa ด้วยการให้เธอพักอาศัยอยู่กับเขาและปรนนิบัติดูแลจน Rosa กลับมาแข็งแรงอีกครั้ง Leon เป็นชายโสดที่อาศัยอยู่ตามลำพัง เมื่อได้ใกล้ชิดกับ Rosa ความรักก็บังเกิดขึ้น Rosa สำนึกในบุญคุณของ Leon เธอยอมมอบกายให้เขาโดยมีข้อแม้ว่า เขาต้องช่วยชาวยิวคนอื่นที่ต้องการความช่วยเหลือด้วย
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมในปี 1986 และส่งผลให้ผู้กำกับได้ทำหนังนอกประเทศตนเอง รวมทั้งทำหนังในอเมริกาเช่น The Secret Garden, To Kill a Priest และ Washington Square
Angry Harvest เป็นหนังอีกเรื่องที่หาชมได้ไม่ง่ายนัก

Hanussen (1988) / Istvan Szabo
เรื่องราวชะตาชีวิตของ Klaus Schneider ชายหนุ่มชาวออสเตรียนซึ่งได้รับบาดเจ็บจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและได้รับพรวิเศษจากสวรรค์ให้เป็นผู้มีญาณหยั่งรู้เรื่องราวในอนาคต เขาเปลี่ยนชื่อตัวเองเป็น Eric Jan Hanussen และเดินทางไปยังกรุงเบอร์ลินเพื่อแสดงอำนาจพิเศษด้วยการแสดงมายากลและสะกดจิต เขาเป็นผู้ที่ทำนายผลเลือกตั้งครั้งที่พรรคนาซีเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะอย่างแม่นยำ แต่เมื่อเขาทำนายถึงความล่มสลายของเยอรมนีหลังสงคราม เขาก็ถูกเพ่งเล็งจากทางการและถูกลอบสังหารกลางป่าในที่สุด
ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นหนึ่งในไตรภาคร่วมชุดกับผลงาน Mephisto และ Colonel Redl ของ Istvan Szabo หนังเรื่องนี้ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมชิงรางวัลปาล์มทองคำจากเทศภาพยนตร์เมืองคานส์ และได้เข้าชิงรางวัลออสการ์หนังต่างประเทศยอดเยี่ยมประจำปี 1989 โดยหนังชุดดังกล่าวทั้งสามเรื่องนำแสดงโดย เคล้าส์ มาเรีย บรานเดาเออร์ ที่ต่อมานำแสดงในหนังอเมริกันเรื่อง Out of Africa ร่วมกับ โรเบิร์ต เร้ดฟอร์ด และ เมอรีล สตรีพ
Istvan Szabo เป็นผู้กำกับชาวฮังกาเรี่ยนที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ผลงานเช่น Being Julia, Sunshine, Father และ Meeting Venus โดยก่อนหน้านี้เขาเคยได้รับรางวัลออสการ์หนังต่างประเทศยอดเยี่ยมจาก Mephisto

The Rose Garden (1989) / Fons Rademakers
Aaron Reichenbach ชายผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ในสงครามโลกครั้งที่สองได้ทำร้ายร่างกายชายที่เขาจำได้ว่าเป็นแพทย์ซึ่งทำงานให้กับค่ายกักกันชาวยิวของพรรคนาซีและเป็นผู้สังหารน้องสาวของเขา Aaron ถูกจับกุมและดำเนินคดีโทษฐานทำร้ายร่างกาย โดยมีการเท้าความไปถึงเหตุการณ์รุนแรงในช่วงสงครามเมื่อมีการแขวนคอเด็กนักเรียนชาวยิวจำนวน 20 คนในเมือง Ham burg ไม่กี่วันก่อนที่สงครามจะยุติ
ผู้กำกับ Fons Rademakers เคยได้รับรางวัลออสการ์หนังต่างประเทศยอดเยี่ยมจาก The Assault นอกจากนั้นเขายังเคยกำกับงานชั้นครูเรื่อง Max Havelaar

Europa, Europa (1990) / Agnieszka Holland
Solomon Perel เด็กหนุ่มชาวยิววัย 14 ปี ต้องพรากจากครอบครัวขณะพยายามหลบหนีจากเยอรมนีไปยังโปแลนด์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เขาต้องปลอมตัวเป็นทหารของพรรคนาซีเยอรมันเพื่อปกปิดความเป็นยิวจนสามารถเข้ากลุ่ม Hitler Youth ได้ในที่สุด หลังสงครามยุติเขาได้พบกับครอบครัวอีกครั้งหนึ่ง
Europa, Europa ถูกทางการเยอรมันปฏิเสธที่จะส่งเข้าร่วมชิงรางวัลออสการ์ภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมแม้ว่าหนังจะได้รับทั้งความนิยมและเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์ฝั่งอเมริกาอย่างท่วมท้น แต่หนังก็ได้เข้าชิงรางวัลในสาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมแทน Europa, Europa นับเป็นภาพยนตร์ที่เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากที่สุดของ Artur Brauner และได้รับรางวัลลูกโลกทองคำที่อเมริกา

 

โดย: merveillesxx IP: 161.200.255.162 29 มิถุนายน 2548 19:58:10 น.  

 

โปรแกรมภาพยนตร์ “คุยกับหนัง” โดย อ.ทรงยศ แววหงษ์
//library.tu.ac.th/staff/user4/movies/index.htm

ทุกวันพฤหัส เวลา 17.00 ณ ห้องกิจกรรมเรวัต พุทธินันทน์ หอสมุดปรีดี พนมยงค์ ชั้น U2 มหาวิทาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
**ชมฟรี แต่กรุณาแจ้งเจ้าหน้าที่ห้องสมุดว่ามาเข้าชมภาพยนตร์และต่างกายสุภาพ**

กรกฎาคม
7 ก.ค. Touch of Evil (อเมริกา-1958-111 นาที-บรรยายไทย)
14 ก.ค. Vera Drake (125 นาที)
28 ก.ค. Cyrano de Bergerac (ฝรั่งเศส-1990-138 นาที-บรรยายอังกฤษ)

 

โดย: merveillesxx IP: 161.200.255.162 29 มิถุนายน 2548 20:00:20 น.  

 

ตารางฉายหนังสมาคมฝรั่งเศส (เดือน กรกฎาคม-สิงหาคม-กันยายน)
ฉายทุกวันเสาร์ เวลา 17.15
**หนังบางเรื่องไม่มีซับไตเติล และถ้ามีจะเป็นซับภาษาอังกฤษ**
รายละเอียด //www.alliance-francaise.or.th/FR_index_evenement_1.htm

กรกฎาคม
เสาร์ 2 ก.ค. Firday Night (2002, Claire Denis) 1h30 **Sub ENG**
เสาร์ 9 ก.ค. The Children of the Century (1999, Diane Kurys) 2h15 **ไม่มีซับ**
เสาร์ 16 ก.ค.Sex is Comedy (2001, Catherine Breillat) 1h32 **ไม่มีซับ**
เสาร์ 23 ก.ค. Colette, une femme libre ตอนที่ 1 (2004, Nadine Trintignant) 3h **ไม่มีซับ**
เสาร์ 30 ก.ค. Colette, une femme libre ตอนที่ 2 **ไม่มีซับ**

สิงหาคม
เสาร์ 6 ส.ค. All Girls Are Crazy (2003, Pascale Pouzadoux) 1h25 **ไม่มีซับ**
เสาร์ 13 ส.ค. Autumn Tale (1998, Eric Rohmer) 1h50 **ไม่มีซับ**
เสาร์ 20 ส.ค. SADE (2000, Benoit Jacquot) 1h40 **Sub ENG**
เสาร์ 27 ส.ค. My Idol (2002, Guillaume Canet) 1h50 **Sub ENG**

กันยายน
เสาร์ 3 ก.ย. All About Love (2001, Jean-Francois Richet) 1h30 **Sub ENG**
เสาร์ 10 ก.ย. To Be and to Have (2002, Nicolas Philibert) 1h44 **Sub ENG**
เสาร์ 17 ก.ย. Flower of Evil (2003, Claude Chabrol) 1h44 **Sub ENG**
เสาร์ 24 ก.ย. Rage (Fureur) (2001, Karim Dridi) 1h47 **Sub ENG**

 

โดย: merveillesxx IP: 161.200.255.162 29 มิถุนายน 2548 20:04:24 น.  

 

โปรแกรมหนังมูลนิธิญี่ปุ่น
กรกฎาคม – โยจิ ยามาดะ ภาค 2: โทร่า-ซัง
ชมฟรี ณ ห้องประชุมใหญ่ เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ วันศุกร์ และวันอังคารสัปดาห์ที่หนึ่งและสาม เวลา 18.30 น.
**ภาพยนตร์ทุกเรื่องมีคำบรรยายภาษาไทย**
//www.jfbkk.or.th/event/wkthea_th.html

ศุกร์ 1 ก.ค. Tora-san: It's a Hard Life! (1969) 91 min
อังคาร 5 ก.ค. Tora-san: Hearts and Flowers for Tora (1982) 110 min
ศุกร์ 8 ก.ค. Tora-san: Tora-san Goes Religious (1983) 107 min
ศุกร์ 15 ก.ค. Tora-san: Tora-san Forbidden Love (1984) 107 min
อังคาร 19 ก.ค. Tora-san: Tora-san My Uncle (1990) 108 min
ศุกร์ 29 ก.ค. Tora-san: Tora-san to the Rescue (1995) 110 min

 

โดย: merveillesxx IP: 161.200.255.162 29 มิถุนายน 2548 20:24:16 น.  

 

หนังสั้น หนังสารคดี และหนังดิจิตอล ที่ TK Park

มูลนิธิหนังไทย ร่วมกับอุทยานการเรียนรู้เปิดพื้นที่สำหรับหนังสั้น หนังสารคดี และหนังดิจิตอล
โดยจะจัดฉายให้ชมฟรีทุกวันเสาร์ เวลา 15.00 ณ มินิเธียเตอร์ TK Park ชั้น 6 เซ็นทรัลเวิลด์ พลาซ่า
//www.thaifilm.com/newsDetail.asp?id=139

กรกฎาคม July

วันที่ 2 กรกฎาคม / Short Film

วันเกิด / 21 นาที / 2543 / สุวรรณ ห่วงศิริกุล
เด็กชายที่อยากมีชีวิตอย่างที่เขาต้องการ และอยากให้พ่อเข้าใจ

บ้านสีชมพู / 17 นาที / 2543 / สุวรรณ ห่วงศิริกุล (รางวัลช้างเผือก ประจำปี 2544)
สองพี่น้องที่พยายามเก็บฝาน้ำอัดลมไปขายเพื่อซื้อเวลาให้แม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว 1 วัน

ฟ้าอมร / 46 นาที / 2545 / สุวรรณ ห่วงศิริกุล (รางวัลหนังนักเรียน จากงานเทศกาลหนังนักเรียนนานาชาติ ที่เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น)
ส้ม เด็กสาวที่เฝ้าคิดถึงแม่ที่ตนเองไม่รู้จัก เธอสร้างโลกของเธอขึ้นมาเพื่อหลีกหนีเรื่องเลวร้ายในชีวิต วันหนึ่งเธอเดินออกจากบ้านเพื่อตามหาแม่ที่เธอคิดถึง


วันที่ 9 กรกฎาคม Women Make Film

เดิมพัน / 17 นาที / 2540 / กาญจนา โมสิกา (รองชนะเลิศ รางวัลรัตน์เปสตันยี ประจำปี 2540)
ชีวิตที่ถูกทารุณด้วยการพนัน

อเมซิ่งไทยแลนด์ / 17 นาที / 2541 / โสรยา นาคะสุวรรณ, ปณัฏฐา อยู่สุขสวัสดิ์ (รองชนะเลิศ รางวัลช้างเผือกประจำปี 2541)
สารคดีว่าด้วยปีแห่งการท่องเที่ยวของประเทศไทย

ปอนด์ / 14 นาที / 2544 / เหมือนฝัน อุปภัมถ์
เด็ก 5 ขวบ ที่คิดว่าแม่ไม่รัก

สารคดีกระเหรี่ยงโปว์ (ทุ่งใหญ่นเรศวร) / 23 นาที / 2541 / ลัญชนา ศาสตร์หนู (รองชนะเลิศ รางวัลช้างเผือกประจำปี 2542)
การเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยกับชีวิตของชาวกะเหรี่ยง


วันที่16 กรกฎาคม / Short Film

สมุดวาดเขียน / 13 นาที / 2543 / ภาคภูมิ อินไหม (รองชนะเลิศ รางวัลช้างเผือกประจำปี 2544)
ความรุนแรงที่เห็น คุณเคยบอกลูกหรือเปล่าว่าดี หรือไม่ดีอย่างไร

รฟทบขส / 7 นาที / 2544 / สันติ แต้พานิช
บัง : “มึงไปยิงคน แล้วเอาปืนมาคืนกู แล้วกูจะให้เงินมึงอีกครึ่งที่เหลือ เข้าใจมั้ย ไอ้เสี่ยว”

Dog& God / 9 นาที / 2545 / ษรัณยู จิราลักษม์ (รองชนะเลิศ รางวัลรัตน์ เปสตันยี ประจำปี 2545)
หมาเร่รอนอาศัยอยู่กับครอบครัวชาวเล เรียนรู้ความรักจากมนุษย์ จนวันหนึ่งสมาชิกในครอบครัวจากไป แล้ว “ไอ้ดำ” หมาเร่ร่อนจะรู้สึกอย่างไร

ขอบอก / 4 นาที / 2544 / วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ (รองชนะเลิศรางวัลปยุต เงากระจ่าง ประจำปี 2544) / Animation
มิวสิกวีดีโอเพลง ขอบอก

วิธีคิดที่ 1 : ทหารลาวขอเปลี่ยนแนวคิดคนไทย / 8 นาที / 2545 / มานัสศักดิ์ ดอกไม้
ความในใจของคนลาวที่ขอเปลี่ยนความคิดของคนไทย

เรื่องของหาง / 6 นาที / 2546 / ทวีพงษ์ ปทุมวงศ์ (รองชนะเลิศรางวัลปยุต เงากระจ่าง 2546) / Animation
การเดินทางของหางจิ้งจกที่พยายามเดินทางกลับไปหาตัวของมัน

Hallucination / 16 นาที / 2545 / โสภณ ศักดาพิศิษฎ์
ความสับสนที่เกิดขึ้นในห้องน้ำหญิง

ด.เด็ก ช.ช้าง My Ele/ 10 นาที / 2545 / ทรงยศ สุขมากอนันต์ (รางวัลรัตน์ เปสตันยี ประจำปี 2545)
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เด็กคนหนึ่งกับช้างตัวหนึ่งมีวาสนาต่อกันในชั่วโมงวาดเขียน


วันที่ 23 กรกฎาคม Women Make Film

Yesterday Today Tomorrow / 80 นาที / 2547 / นาโออิ ริโยะ
หนังสารคดีที่ติดตามชีวิตของผู้ติดเชื้อเอดส์สองครอบครัวทางเหนือของประเทศไทย โดยใช้เวลาถ่ายทำนานกว่า 3 ปี โดยนำเสนอชีวิตของผู้ติดเชื้อในแง่มุมที่เหมือนกับคนธรรมดาทั่วไป


วันที่ 30 กรกฎาคม / Digital Film

ลี้ / 100 นาที / 2546 / ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล (ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง คน ผี ปีศาจ)
7 ชีวิตที่มีชะตากรรมเดียวกัน เมื่อเข้าไปพัวพันกับอาชญากรรมเพียงครั้งเดียว

 

โดย: merveillesxx IP: 161.200.255.162 29 มิถุนายน 2548 20:26:20 น.  

 

เทศกาลภาพยนตร์ครั้งที่ 2 “ คน สงคราม สันติภาพ”
//www.thaifilm.com/newsDetail.asp?id=140

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จัดเทศกาลภาพยนตร์ครั้งที่ 2 “คน สงคราม สันติภาพ” นำเสนอภาพยนตร์เกี่ยวกับสงครามและความขัดแย้งในฐานะของเรื่องเล่าที่ถูกปรุงแต่งขึ้น ภาพยนตร์อีกจำนวนไม่น้อยที่ทำหน้าที่เป็นพยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์ (eye-witness) ด้วยเหตุนี้ การย้อนพิจารณาว่า “เรื่องเล่า” ชนิดนี้มีบทบาทในสังคมสมัยใหม่อย่างไร และส่งผลที่กว้างขวางลึกซึ้งแค่ไหน “เรื่องแต่ง” (หรือ ”เรื่องเล่า” ?) กลายเป็นส่วนหนึ่งของ ”ความจริง” ในสงครามหรือไม่ จึงล้วนเป็นประเด็นที่น่าสนใจและควรค่าแก่การค้นหาคำตอบหรือคำอธิบาย

ขณะเดียวกัน การย้อนกลับไปค้นหาต้นตอของการสร้างสารคดีสงครามหรือ ภาพที่ฉายให้เห็นความขัดแย้งเป็นวิถีทางให้เราทราบที่มาที่ไปของภาพเหล่านั้น ผู้สร้างมีมุมมองในการเก็บภาพเหตุการณ์เหล่านั้นด้วยวิธีการใด ภาพได้สร้างการรับรู้หรือความเข้าใจต่อสงคราม-ความขัดแย้งของสังคมให้กับสาธารณชนอย่างไร ความเปลี่ยนแปลงในการผลิตภาพยนตร์หรือสารคดีที่เกี่ยวข้องกับสงครามและความขัดแย้งมีความคลี่คลายมาอย่างไร

เทศกาลภาพยนตร์ในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการตอบคำถามดังกล่าวผ่านกิจกรรมต่างๆ ดังนี้ ภาพยนตร์ที่จัดฉายในเทศกาล อาทิ
ภาพยนตร์จากฝรั่งเศสเรื่อง LA VIE ET RIEN D’AUTRE
ภาพยนตร์จากประเทศเยอรมัน เรื่อง Angry Harvest
ภาพยนตร์จากประเทศญี่ปุ่น เรื่อง สุสานหิ่งห้อย
ภาพยนตร์จากสวิตเซอร์แลนด์เรื่อง War Photographer
ภาพยนตร์สารคดีจากหอภาพยนตร์แห่งชาติ
และ ภาพยนตร์ที่เข้ารอบในการประกวดภาพยนตร์สั้นหัวข้อ “สันติวัฒนธรรม”

นอกจากการจัดฉายภาพยนตร์แล้ว ยังจัดการเสวนาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสงครามและสันติภาพ โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในหัวข้อ ภาพยนตร์สงคราม : เรื่องเล่าของความรุนแรงการถ่ายทอดภาพสงครามและความรุนแรง สนทนาภาษาภาพพร้อมชมภาพยนตร์สารคดีโดยคุณโดม สุขวงศ์ การประกาศผลภาพยนตร์สั้น ที่ชนะเลิศการประกวดทั้งประเภทนักศึกษาและประชาชน

ชมฟรีไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น วันเสาร์ที่ 2 , 9 และ 16 กรกฎาคม ตั้งแต่เวลา 10.00 – 17.00 น. ณ หอประชุม ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตลิ่งชัน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร 0 2880 9429 ต่อ 3315 หรือที่ //www.sac.or.th

 

โดย: merveillesxx IP: 161.200.255.162 29 มิถุนายน 2548 20:28:23 น.  

 

-- ไอ้ที่แปะๆ ไว้ข้างบนน่ะ ไม่ได้ไปดูหรอก เดือนกรกฎา สอบทั้งเดือนเลย >___<

-- วันนี้ได้ดูหนังเรื่องนึงทาง UBC คือหนังญี่ปุ่นเรื่อง Kakashi (2001, B) เป็นหนังเกี่ยวกับ 'ผีหุ่นไล่กา' ที่นำแสดงโดยนางเอกสุดที่รักของผม น้องโค ชิบาซากิ (แต่เรื่องนี้เธอดันเล่นเป็นผี!) หนังเชยมากจนไม่อยากเชื่อว่านี่คือหนังปี 2001 แต่เกรดของหนังก็เลื่อนจาก B- เป็น B เพราะชอบฉากจบของหนังมาก



********SPOILER ฉากจบ*********
ที่ชอบก็เพราะตัวนางเอกไปช่วยผู้หญิงคนหนึ่งให้ออกไปจากผู้บ้านผี แต่เธอดันเลือกที่จะอยู่ในผู้บ้านผีนั้นต่อไป เพราะว่าคนที่เธอรักอยู่ในนั้น...
************จบ****************


-- ตอนนี้ชอบเพลงใหม่ (เพลงอะไรสีม่วงๆ เนี่ยแหละ) ของ ริค วชิรปิลันธ์ มากๆ ในที่สุดริคคนเดิมก็กลับมาแล้ว (หลังจากไปทำเพลงลึกๆ เอื่อยๆ อยู่ 2-3 เพลง) ถ้าจะมีศิลปินไทยคนไหนที่ต่อกรกับ Bjork ได้ ก็เธอคนนี้แหละ

-- ยังหาซื้ออัลบั้มเดี่ยวของตาเหม่ง Billy Corgan ไม่ได้เลย (มันออกหรือยัง) แต่อ่านข่าวเจอว่าแกมีแผนจะฟื้นวง Smashing Pumpkins อีกครั้ง (เย้) แต่ความจริงแกจะตั้งวงนี้ขึ้นมาใหม่เมื่อไรก็ได้ แค่หาคนมาเล่นกีต้าร์ เบส กลอง ให้ได้ เพราะนอกนั้นแกก็ทำเองหมดอยู่แล้ว (ฮา)

-- ชอบโฟร์-มด จัง เพลง "หายใจเฮ้อเธอ" อะไรเนี่ยแหละ ดู MV แล้วตัณหากลับ

 

โดย: merveillesxx IP: 161.200.255.162 29 มิถุนายน 2548 20:38:46 น.  

 

^^ ว้าววว ดีมากๆ ขอบใจนะ
อยากไปดูหนังเยอรมัน จัง หนังฝรั่งเศสด้วย อิอิ

 

โดย: P a s t e l T o n e 30 มิถุนายน 2548 1:29:39 น.  

 

...ได้มีโอกาสเสพหนังทุกลมหายใจทั่วโลกจริงๆ น่าอิจฉาๆ อ้อ เข้ามาชื่นชมอีกรอบจากเฉลิมไทย เรื่องนี้เขียนดีมากๆครับชอบๆ(แต่ไม่ชอบหนัง เอ๊ะ ยังไง)

 

โดย: "ผมอยู่ข้างหลังคุณ" 1 กรกฎาคม 2548 1:22:42 น.  

 

-- ตอนนี้โรงหนัง House กำลังฉลองครบรอบ 1 ปีนะครับ มีตอบคำถามเอาบัตรฟรีด้วย อ่านที่ //www.houserama.com/shownews.php?no=000148

-- วันเสาร์ที่ 2 นี้มีงาน T-Shirt Festvial (โดย FaT Raio) จัดที่ทศภาค อารีน่า ท่าเรือกรุงเทพ

-------------------------------------

-- วันนี้ได้ดูหนังอีก 2 เรื่อง

1. Hotel (A+)



********ต่อไปนี้มี SPOILER********
-- หนังเรื่องนี้แหกขนบหนังสยองขวัญที่ผ่านๆ มาทั้งสิ้น เช่น
1. สิ่งที่เราคิดว่าน่ากลัวที่สุดในหนังก็คือ 'ถ้ำ' เมื่อถึงตอนนางเอกไปยืนอยู่หน้าถ้ำทีไร ตัวเราก็จะพร้อมรับกับความน่ากลัวทันที แต่ฮอสเนอร์กลับตัดภาพสู่ฉากต่อไปทันที

2. บ้าไปกว่านั้น แทนที่ถ้ำสุดหลอนจะกลายเป็นฉากที่น่ากลัวที่สุด มันดันกลายเป็นฉากโรแมนติกที่ไอรีนจูบกับแฟนของเธอ

3. เพราะฉะนั้นสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในหนังก็น่าจะเป็น 'โรงแรม' กับ 'ป่า'

4. หนังสยองเรื่องนี้ใช้เพลงเต้นรำประกอบหนัง (ฮา)

-- คิดว่าหนังเรื่องนี้คิดได้สองแบบ
1. อิงกับตำนานแม่มด ป่าปีศาจ
2. คิดในแบบจิตวิทยา (หรือจะเรียกว่าอะไรก็ตาม) = สุดท้ายนางเอกก็ถูกกลืนไปกับความมืดมิดนั้นจนได้ (แต่มันคืออะไรล่ะ?)

-- หนังมีการจัดแสงที่สุดยอดมาก

-- สิ่งที่น่าสนใจ ในเรื่องนี้ คือเรื่องของ 'พื้นที่เปิด' 'พื้นที่ปิด' และ 'ภายนอก' 'ภายใน'
1. แทนที่หนังจะเปิดเรื่องด้วยตัวโรงแรม หนังกลับเริ่มเรื่องที่ 'ในตัว' โรงแรมเลย

2. น้อยครั้งมากที่เราจะเห็นตัวโรงแรมจากภายนอก ถ้าเห็นก็จะเป็นภาพตอนกลางคืน

3. รู้สึกเหมือนกับว่านางเอกถูกกักขังอยู่ในโรงแรม ห้องหลายห้องที่ดูเป็นพื้นที่ปิด โดยเฉพาะ ห้องสระว่ายน้ำ

4. ฉากจบ -- ประตูพิศวงอันนั้นทำให้เราคิดว่าแท้จริงแล้ว ป่าหรือโรงแรมกันแน่ ที่เป็น 'โลกภายนอก'
************จบ****************

สรุป -- ชอบหนังเรื่องนี้มากๆ ชอบนางเอก และพระเอกด้วย อิอิ

--------------------------------------

2. Turtles Can Fly (A-)
-- หนังการภาพวิวทิวทัศน์ที่สวยงามมาก
-- รู้สึกว่าตัวเองจะมีปัญหากับหนังอิหร่าน เพราะเป็นคนที่เกลียดเด็กเล็กๆ สุดชีวิต รำคาญเด็กบางคนได้เรื่องนี้มากๆ แต่ถ้าเทียบกับยัยหนูมีนาในเรื่อง The Mirror (B+) ถือว่าเบากว่าเยอะ
-- อย่างไรก็ตาม นักแสดงเด็กในเรื่องนี้เล่นเก่งมากๆๆๆๆ

 

โดย: merveillesxx IP: 161.200.255.161 1 กรกฎาคม 2548 18:16:39 น.  

 

โอวว อิจฉาคนได้ดูหนังเยอะๆ จัง

 

โดย: it ซียู (it ซียู ) 1 กรกฎาคม 2548 18:57:48 น.  

 

ตาลาย ลัลล้า~*

 

โดย: * ค น พ เ น จ ร * IP: 61.91.85.112 2 กรกฎาคม 2548 15:55:31 น.  

 

อยากดู Hotel (A+ อีกต่างหาก) ><

 

โดย: P a s t e l T o n e 2 กรกฎาคม 2548 18:16:56 น.  

 

เชียร์ Hotel ขาดใจ ไปดูกันเต๊อะ ขอแนะนำในการไปดูหนังเรื่องนี้

1. ไม่ควรรู้อะไรเลย เกี่ยวกับหนัง รวมถึงการพูดคุยกับคนที่ดูแล้ว

2. ดูรอบดึกๆ เช่น 22.15 แล้วเดินกลับบ้านคนเดียว ฮ่าๆๆ

 

โดย: merveillesxx feat. Jessica Hausner IP: 161.200.170.39 2 กรกฎาคม 2548 20:51:27 น.  

 

หวัดดีจ้ะ ... จำพี่ได้ป่าวเอ่ย พี่แวะมาเยี่ยมและขอนอกเรื่องหน่อยนะ

พี่ได้ดู 2046 แล้ว ด้วยความที่เป็นแผ่น copy ทำให้อรรถรสในการดูหนังเรื่องนี้ของพี่ต้องเสียไปมากกกกกก ก็ sub thai เจ้ากรรมดันอ่านยากมากๆ พี่ต้องใช้สายตาในการเพ่งเล็งจนปวดหัว พี่เลยยังไม่ซึมซับในทุกความซึ้งของหนังเท่าไหร่เลยจ้ะ

ความรู้สึกที่เต็มเปี่ยมหลังจากพี่ดูจบคือ พี่คิดถึงคุณนายจางมาก ทุกฉาก(อันน้อยนิด)ที่มีจางมั่นอวี้ พี่อดไม่ได้เลยที่จะสงสัยว่า ขณะที่โจวมู่หวันตกอยู่ในห้วงอารมณ์เปลี่ยวเหงาเพราะไม่อาจลืมเธอได้นั้น เธอยังคงคิดถึงเขารึเปล่า และชีวิตที่ดำเนินไปของเธอต่างจากเขามั้ย?

ตอนจบของเรื่องนี้พี่ไม่รู้นะว่าเขายังคงรักเธอหรือไม่ แต่สำหรับพี่ พี่อยากให้เขาเก็บเธอไว้เป็นผู้หญิงคนเดียวในความทรงจำตลอดไป

 

โดย: SeNtiErO no.7 5 กรกฎาคม 2548 14:54:12 น.  

 

อ่านแล้วสนุกดีแหะ

 

โดย: kira IP: 124.157.221.69 3 กรกฎาคม 2550 11:31:51 น.  

 

แล้วทำไมต้องหอยทากละครับ ?

 

โดย: D IP: 61.91.172.249 3 มกราคม 2551 17:29:47 น.  

 

hermes enamel bangle bracelet replica //anilnutrients.com/javascripts/neon-hermes-bag-replica--6173.html hermes replicas scarves discount guawet

 

โดย: hermes enamel bangle bracelet replica IP: 94.23.252.21 15 กันยายน 2557 7:31:51 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


merveillesxx
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 58 คน [?]




สำส่อนทางการดูหนัง ฟังเพลงและเสพวรรณกรรม
New Comments
Friends' blogs
[Add merveillesxx's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.