space
space
space
 
มกราคม 2564
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
space
space
18 มกราคม 2564
space
space
space

Hitachi R-ZXC740KT review, รีวิวตู้เย็นฮิตาชิ 6 ประตู

ตู้เย็นฮิตาชิ 6 ประตู/ลิ้นชัก รุ่น R-ZXC740KT

    อยากจะเขียนก่อนจะลืมความรู้สึกอันนี้ไป

    ตู้เย็นที่บ้านเดิมเป็น Electrolux ESE6077 SA เป็นตู้เย็นแบบ 2 ประตู side-by-side มีที่กดน้ำดื่มและที่กดน้ำแข็งที่หน้าประตูช่องแข็ง ตู้เย็น made in Australia ซื้อมาในราคา 6 หลัก (อย่างไม่น่าเชื่อ) เมื่อประมาณปี 2007 ด้วยความหวังว่ามันจะอยู่ทน และมันก็อยู่ทนจริง ถ้าไม่นับการซ่อมหนึ่งครั้งเมื่ออายุใช้งานประมาณ 2-3 ปี ที่มีปัญหาเรื่องแผงวงจรด้านล่างเสีย  เมื่ออายุใช้งานประมาณ 4-5 ปี มีเหตุการณ์ไฟดับขณะที่เรากำลัง vacation อยู่แถวแคว้นบาวาเรียของประเทศเยอรมันและไฟไม่เข้าตู้เย็น เนื่องจากตู้เย็นต่ออยู่กับระบบไฟสำรองที่ทรยศ คือเป็นระบบไฟสำรองแล้วล้มเหลวซะเอง ปกติถ้าไม่ใช้ระบบไฟสำรอง เวลาไฟกริดดับ สุดท้ายไฟก็จะมาไม่ว่าจะดับไปกี่ชั่วโมงก็ตาม ตู้เย็นก็จะมีไฟเข้า ไม่เคยดับข้ามวันสำหรับการไฟฟ้านครหลวง แต่ระบบไฟฟ้าสำรองที่บ้านยี่ห้อ Leonics ทรยศ ดับตัวเองแล้วก็ไม่ยอมติดขึ้นมาเอง น่าจะผ่านไปสัก 1 สัปดาห์ได้  เหตุการณ์ครั้งนั้นส่งให้อาหารในตู้เย็นเน่าเหม็นส่งกลิ่นคละคลุ้ง ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์นม (ไอศครีมฮาเก้นดาส) เรียกว่ากลับมาจาก vacation นี่ ต้องมาล้างตู้เย็นต่อ กลิ่นนมบูดหลอนจิตใจมาจนถึงทุกวันนี้ หลังจากนั้นเราก็เลยต้องติด sensor ดู อุณหภูมิตู้เย็น ติด sensor ดูว่าฝาตู้เย็นปิดแน่นหรือไม่ ซึ่งเป็น sensor ของคุณหมูที่ www.mmnetcenter.com หลังจากหายนะครั้งนั้น ตู้เย็นก็ทำงานโอเคมาตลอด  จริงๆ แล้วการที่ไฟดับครั้งนั้นก็ไม่ใช่ความผิดของตู้เย็นโดยตรง

      ปัญหาของตู้เย็น electrolux ก็คือ มันแหลกไฟครับ ผ่านไป 13 ปีหาสลากเบอร์ 5 ไม่เจอแล้ว เราก็จำไม่ได้ว่าเค๊าโฆษณาตู้นี้ว่าอย่างไรเพราะตอนนั้นซื้อด้วยความหน้ามืดไม่ได้เลือกเยอะ เราเคยวัดความเปลืองไฟของมันก็พบว่าเค้าแหลกประมาณ 3.3 units/วัน (วัดช่วงเดือนเม.ย.) พอในระยะ 2-3 ปีหลัง ก็มีปรากฎการณ์ว่าจอ LCD ที่หน้าบาน ซึ่งเป็นจอขาวดำเริ่มมีความดำ ๆ อยู่ตรงกลางแต่ก็ยังมองเห็นตัวเลขและตัวหนังสืออยู่ ที่น่ารำคาญกว่าน่าจะเป็นถาดรองน้ำตรงที่กดน้ำกดน้ำแข็ง มันคงมีน้ำหยดซึม เดิมเราก็คิดว่าเป็นเพราะน้ำแข็งค้างอยู่ตรงที่กระบวยส่งออกจากตู้เย็นเค้าละลายแล้วหยดลงมา  ทุกครั้งที่เรากดน้ำแข็งกิน ก็ต้องเปิดฝาช่องฟรีซออกมาดูทุกครั้งว่าไม่มีน้ำแข็งตกค้างอยู่ แต่กระนั้นก็ตามต่อให้ไม่มีน้ำแข็งค้างท่อ ภายในเวลา 1-2 วันก็จะต้องมีน้ำนองอยู่ตรงถาดรอง เป็นเหตุให้ต้องมาเช็ดซับน้ำ หลัง ๆ เบื่อเช็ด ก็ใช้วิธีเปิดฝาช่องฟรีซแบบกระชาก (เปิดฝาตู้อย่างรวดเร็วให้น้ำหกออกจากถาดมากองบนพื้นแล้วใช้ผ้าเช็ดเท้าเช็ดที่พื้นให้) ซึ่งหัตถการอันนี้ ต้องทำทุกวัน ทุกครั้งที่กดน้ำแข็งก็ต้องเปิดตู้เย็นฝั่งช่องฟรีซเพื่อเช็คว่าไม่มีน้ำแข็งค้าง พอน้ำนองถาด ก็ต้องเปิดฝาตู้กระชากเพื่อกำจัดน้ำ  กลายเป็นเรื่องกิจวัตรที่น่าเบื่อหน่าย  นอกจากนี้ตู้เย็นเก่าใช้สารทำความเย็นรุ่นโบราณ R134a ซึ่งไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จริง ๆ เราก็ช็อปตู้เย็นมาหลายปีแล้ว ร่ำ ๆ ว่าจะเปลี่ยน แต่เลือกที่ถูกใจไม่ได้สักที

    เรื่องของการช๊อปปิ้งตู้เย็นก็เป็นเรื่องเรื้อรังสำหรับเราพอควร ช็อปตู้เย็นมาเกือบ ๆ 5 ปี สาเหตุเพราะความเรื่องมากในการตั้งสเปคที่ต้องการ จากการที่เป็นคนกินน้ำเย็นจนชิน จะต้องมีการทำน้ำแข็ง ต้องการความสะดวก ก็ต้องมีที่กดน้ำ ที่กดน้ำแข็ง ต้องต่อท่อน้ำเข้าตู้เย็นเลย ซึ่งการต่อท่อน้ำกรองเข้าตู้เย็นนี้มันเป็นสไตล์อเมริกัน สะดวกที่ไม่ต้องมานั่งเติมน้ำ แค่ตั้งเงื่อนไขแค่เนี้ย ก็จะพบว่ามีตู้เย็นที่เข้าข่ายอยู่ไม่เกิน 5 ตู้ในห้าง เพราะคนไทยอาจจะไม่ชอบต่อท่อน้ำ รังเกียจความสกปรก (มันก็สกปรกจริงนะ ลองเอาแปรงล้างหลอดแหย่ท่อน้ำกรองดูเสะ จะเป็นลม) ทำให้ตู้เย็นส่วนใหญ่เป็นแบบรองน้ำใส่กระติก  หลังจากนั้นความเรื่องมากมันมาพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ  เป็นต้นว่า ต้องเป็น compressor แบบ inverter เท่านั้น  ต้องไม่ใช้สารทำความเย็นตัวเก่า R134a  หลัง ๆ เกิดอยากได้ตู้เย็นแบบ french door เพราะรู้สึกว่าจริง ๆ เราใช้ช่องเย็นปกติมากกว่าช่องฟรีซ เพื่อความสะดวกช่องฟรีซควรจะไปอยู่ด้านล่าง แล้วช่องเย็นอยู่ด้านบน เปิดได้สองฝาเลยย่ิงดี ใหญ่ดี แช่เค้กก้อนใหญ่ ๆ ได้  แต่ดันอยากได้ที่กดน้ำแข็งอีก ไอ้การจะหาตู้เย็น french door ที่มีที่กดน้ำและกดน้ำแข็งอยู่บนฝาตู้เย็นนี่มันยากมาก
 

    ก็ดันมีคุณพี่แซมซังนี่แหละ ครบคุณสมบัติที่ต้องการ เป็นตู้ french door มีที่ทำน้ำแข็งและที่กดน้ำแข็งที่ฝาตู้ แถมยังมีจอ (ไม่รู้จะมีไปทำไม เปลืองไฟเปล่าๆ) อยู่บนฝาตู้ อันนี้คือตัว top ของเค้าเลย ราคา 6 หลัก สาแก่ใจ

    ตามหลักการทำงาน ส่วนที่ทำน้ำแข็งก็ควรจะอยู่กับช่องฟรีซเพื่อให้ทำน้ำแข็งได้เร็ว น้ำแข็งที่ทำแล้วไม่ละลาย ดังนั้นตู้เย็นในอดีตที่มีที่ทำน้ำแข็ง ส่วนทำน้ำแข็งเค้าก็อยู่ตรงช่องฟรีซทั้งสิ้น แต่พอแซมซังมาทำที่ทำน้ำแข็งอยู่ด้านช่องเย็นธรรมดาซึ่งอุณหภูมิเฉลี่ยก็แค่ 0-5 องศาเซลเซียส มันก็น่าจะมีปัญหา  และก็มีปัญหาจริง ๆ มีทั้งยูทูปวิดิโอและที่บ่นออนไลน์ ถึงกับเป็น class action lawsuit ขึ้นมา ที่อ่านเจอก็คือเกิดปัญหาน้ำแข็งเกาะ ต้องเอาที่ไดร์เป่าผมมาเป่า น้ำแข็งไม่ยอมทำหรือทำช้า อ่านแล้วฟังดูน่าปวดหัวและทางแซมซังเองก็ไม่เคยออกมาเคลียร์เรื่องนี้ ไม่สามารถคอนเฟิร์มได้ว่าซื้อไปแล้วจะเป็นปัญหาน่าเบื่อหรือไม่ โดยหลักการแล้วมันไม่น่าจะเวิ๊คดีเหมือนกับตู้เย็นที่มีส่วนทำน้ำแข็งอยู่กับช่องฟรีซ (คหสต)

    
หลังจากช็อปไปเรื่อยเปื่อย ดู LG ก็แล้ว Beko ก็แล้ว Samsung ก็ดู Electrolux ก็แอบดู Siemen, Pana, Mitzu ดูทุกยี่ห้อ เรียกว่าดูเป็นปี ๆ ไม่ซื้อซะที ทำใจไม่ได้  ไม่ถูกใจถึงที่สุด  และแล้วในที่สุด Hitachi

    เดิมทีก็ไม่เคยแลหรอก ตู้เย็นอะไรก็ไม่ทราบมีตั้ง 6 ประตู/ช่อง เยอะไปมั้ย ที่กดน้ำที่กดน้ำแข็งก็ไม่มี จะกินน้ำแข็งก็ต้องเปิดเก๊ะ (ลิ้นชัก) ออกมาแล้วเอาทัพพีตักเอา ไม่สะดวก ต่อน้ำเข้าไม่ได้ ต้องเติมน้ำใส่กระติก แถมกระติกที่เติมน้ำสำหรับทำน้ำแข็ง ขนาด 1 ลิตร เล็กมาก เมื่อเทียบกับยี่ห้ออื่น คนอื่นเค๊าแท๊งค์ใหญ่กว่าเยอะ เรียกว่าตู้นี้ ไม่เคยอยู่ในลานสายตา เพราะตกสเปคตั้งแต่ไม่มีท่อน้ำต่อเข้าตู้

    แต่หลังจากสัจธรรมน้ำหยด น้ำนองถาดรองน้ำของเครื่องเก่า ต้องกระชากเปิดตู้เย็นเพื่อเช็ดน้ำนองทุกวัน  การกดน้ำแข็งทีไรต้องเช็คว่าไม่มีน้ำแข็งคาค้างอยู่ที่ทางออก ทุก ๆ ครั้ง  ทุก ๆ วัน  ก็ทำให้เราเริ่มทำใจว่าน้ำแข็งตักทัพพีเอาก็ได้ฟระ สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญอันสุดท้ายที่ให้ตัดสินใจได้คือความประหยัดไฟ

    อยากจะบอกว่าไอ้สลากเบอร์ห้าที่แปะ ๆ อยู่มันไม่ค่อยจะมีประโยชน์มากเพราะทุก ๆ ตู้ได้เบอร์ 5 กันหมด (ยกเว้น Beko ใช้มาตรฐานยุโรป)  แต่สิ่งที่เราอาจจะลืมให้ความสนใจคือตัวเลขเล็ก ๆ ด้านล่างที่บอกปริมาณไฟที่กินว่าตู้ไหนกินไฟกันเท่าไหร่ ทั้ง ๆ ที่เค้าก็เป็นเบอร์ 5 เหมือนกันหมด  ต่อให้ LG จะเอา Linear inverter มาขาย Panasonic หรือ Samsung หรือตู้อื่น ๆ ยุคใหม่ก็จะอ้างตนว่าเป็น inverter กันหมด พอเปรียบเทียบขนาดตู้เย็นกับปริมาณไฟที่กินจากสลากเบอร์ห้าก็จะพบว่า Hitachi 6 ประตูนี่แหละประหยัดไฟแบบกินขาด ทั้ง ๆ ที่ตู้ใหญ่กว่าชาวบ้านด้วย

    พอมานั่งนึกว่าเอ ถ้า compressor technology ก็สูสีกัน Refrigerant (R600a) ก็ตัวเดียวกัน อะไรคือปัจจัยล่ะที่ทำให้ Hitachi 6 ประตู/ลิ้นชัก ประหยัดกว่า เอาแบบตรงไปตรงมาก็คือไอ้การมี 6 ประตู/ลิ้นชัก นั่นแหละ ใช่ การที่เราจะกินน้ำแข็ง ก็เปิดลิ้นชักตักน้ำแข็ง จะหยิบไอติม ก็เปิดเฉพาะลิ้นชักเก็บไอติม จะเอาผลไม้ก็เปิดเก๊ะล่าง  การเลือกเปิดได้เฉพาะส่วนทำให้ตู้เย็นไม่ต้องสูญเสียความเย็นเท่ากับการเปิดตู้เย็นครึ่งตู้ หรือเปิดทั้งช่องฟรีซเซอร์ ที่เราอาจจะไม่เคยรู้มาก่อนก็คือส่วนที่เป็นที่กดน้ำและน้ำแข็งที่อยู่บนฝาตู้ช่องฟรีซ นั่นแหละ คือตำแหน่งที่สูญเสียความเย็นมากที่สุด  ผนังหรือช่องส่วนนี้ซึ่งเป็นพื้นที่ใหญ่พอควร ไม่ได้มีฉนวนที่หนาและดีพอเท่ากับผนังตู้ส่วนอื่น ๆ ต่อให้ไม่มีน้ำแข็งค้างท่อ มันก็จะมี condensation เกิดขึ้นเสมอเพราะอุณหภูมิที่แตกต่างระหว่าง -18 องศาข้างในตู้ กับอุณหภูมินอกตู้โดยเฉพาะอากาศร้อนที่เมืองไทย เป็นที่มาว่าทำไมถาดรองน้ำถึงมีน้ำนองอยู่ได้อยู่เรื่อย ๆ ถึงจะไม่มีน้ำแข็งค้างท่อ การกดน้ำกดน้ำแข็งที่ฝาตู้ได้เลยมันได้ความสะดวก แต่ไม่ได้ความประหยัดคุ้มค่า อันนี้เข้ากับไลฟ์สไตล์อเมริกันเลย (เปลือง กรูไม่สน เอาสะดวกไว้ก่อน)

    ทำใจอยู่นานกับการไม่มีที่กดน้ำแข็งและที่กดน้ำ แต่ด้วยเหตุผลด้านบน ความเบื่อที่ต้องเปิดกระชากตู้เพื่อเอาน้ำออกจากถาดรองน้ำ การกดน้ำแข็งที่ต้องตามมาด้วยการเปิดฝาตู้ฟรีซเซอร์เพื่อเช็คน้ำแข็งค้างท่อทุกวัน ก็เลยตัดสินใจว่าเอาตู้เนี้ยแหละ Hitachi R-ZXC740KT (ชื่อจำยากมาก) วิธีเรียกง่าย ๆ ก็คือ ฮิตาชิ 6 ประตู

    ราคา 6 หลักอีกแระ ซื้ออะไรก็ 6 หลักตลอด ในปัจจุบัน นับว่ามีตู้เย็นเสปคใกล้เคียงกันในท้องตลาดเยอะแยะที่ราคาถูกกว่านี้เกินครึ่งหรืออาจจะแค่ 1/3  ด้วยซ้ำ  แต่ไม่เป็นไรคิดว่าเราจ่ายหารสองอยู่ละ อย่าคิดมาก อีกอย่างลุงตู่ให้ช็อปช่วยชาติ 3 หมื่น ใช้ลดภาษี ปีหน้าต้องบอกลุงตู่ว่าขอ 3 แสนไปเลย

    มุกเดิม ไปจับ ไปดู ไปช็อป ไปถามข้อมูลในห้าง (งานนี้ พารากอน คับผม ที่อื่นไม่มีตัวเป็นๆ) ราคาโปรฯให้แรง ให้ลด ให้หักคะแนนบัตรเครดิตอย่างไร ก็ยังสู้ราคาร้าน futureworld ที่คลองเตยไม่ได้ กริ๊งเดียว ไม่ต้องต่อราคา ไม่ต้องรูดบัตร (รูดได้ บวกอีก 3%) สั่งวันนี้ ส่งวันนี้หรือพรุ่งนี้ ส่งก่อนแล้วค่อยโอน ทันใจคนใจร้อน

    ก็จัดไป อีกปัจจัยนึงในการตัดสินใจคือหาผู้อุปการะน้อง Electrolux รึยัง... ตู้เย็นสองประตู 20+ คิว เย็นเจี๊ยบ (แต่แหลกไฟ) made in Australia อายุ 13 ปี ยกให้ฟรี ใคร ๆ ก็เอา แหม... ยังเวิ๊คอยู่นี่จ๊ะ  ถ้าพยายามจะขายต่อ คงยาก อีกเรื่องคือคนซื้อคงไม่อยากมายกเอง มันหนัก (สัก 130 กก) มันใหญ่ (ใหญ่จริง 90*60*160 cm) สรุปว่ามีอยู่บ้านนึงตู้เย็นมีกี่ใบไม่เคยพอ  บ้านปะป๊านั่นเอง แค่โทรถามกริ๊งเดียวเอาไหม มีเหรอจะไม่เอา กินไฟนะ ไม่กลัว อั๊วจ่ายค่าไฟได้ น้ำหยด ปะป๊ามะม๊าไม่สน ไม่กินน้ำแข็ง ไม่ต่อน้ำเข้าด้วย ไม่มีปัญหา จัดไป จ้างลาลามูฟขนไปนครนายก ระยะทาง 100 กว่าโล ขนาดและความหนักดังกล่าว ลาลามูฟเรียกถูกมาก (ตอนแรกจะเรียกคนรู้จักที่ทำงานเค้ามีรถกะบะ เค้าจะเอา 3500) ลาล่ามูฟเรียกแค่ 1700 บาท ต้องแถมเงินเพิ่มไปอีกด้วยความเห็นใจ สรุปจ่ายไป 2,500 บาท ค่ายกค่าย้าย  คือนอกจากยกตู้เย็นให้ฟรี ต้องเสียอีก 2,500 ค่าขนย้าย ใครจะกล้าไปเรียกเก็บกับบุพการี  ตู้เย็นขนไปส่งถึงนู่น เสียบปลั๊กใช้งานไม่ทันถึงสัปดาห์ ตู้เต็มแล้วฮับ

    Hitachi 6 ประตู/ลิ้นชักตู้นี้มันดีอย่างไร ความประทับใจแรกใช้คือมันเงียบมาก เมื่อเทียบกับตู้เก่า เรียกว่าต้องเงี่ยหูฟังตอนดึกๆ สงัด ถึงจะได้ยินเสียงคอมเพรสเซอร์  อันที่สอง มันประหยัดไฟจริง ตอนนี้ผ่านไปเกือบ 2 เดือน เดือนแรกที่ใช้คือเดือน พย. ซึ่งเป็นเดือนที่ไม่ร้อนมาก เค้ากินไฟประมาณวันละ 1.3-1.4 unit/day (ตอนเปิดตู้ครั้งแรกนี่ กินไฟมาก มาก มาก) การกินไฟมีช่วงกว้างตั้งแต่ 1.46 W ไปจนถึง 180W   ใช่แล้วครับท่านอ่านไม่ผิด ตอนที่เค้ากินไฟน้อยที่สุดคือ 1 W กว่าๆ เท่าที่แอบวัดได้ เรียกว่าไม่มีตู้เย็น size นี้ตู้ไหนจะกินไฟ ณ ขณะใดขณะหนึ่งได้น้อยเท่านี้ ขนาดไฟ LED ในตู้เย็นก็กินไฟมากกว่า 1.46 W แล้ว แต่โอกาสที่จะเปิดมาเช็คเจอว่ากินไฟน้อยขนาดนี้มีไม่บ่อยครับ ฟลุ๊คเปิดมาเช็คถึงจะเจอ ส่วนใหญ่โดยเฉลี่ยเค้าจะกินไฟประมาณ 40-60W ขึ้นกับเราอัดของไม่เย็นเข้าไปทีละเยอะ ๆ แค่ไหน ส่วนตอนที่กินไฟ 180W ถ้าเปิดมาเจอ รู้เลยว่ากำลัง auto-defrost อยู่ ซึ่งตู้นี้เค้าจะ defrost ประมาณวันละครั้ง (สังเกตว่าทุก ๆ 24-40+ hr) คือเวลามันยืดขึ้นเรื่อย ๆ ถดไปเรื่อย ๆ ตู้ electrolux อันเก่าจะ auto defrost วันนึงสองหน  ช่วงที่เจอว่ากินไฟเหลือแค่ตัวเลขหลักเดียวนี่เข้าใจว่าเป็นช่วงที่เค้าเรียกใช้ frost recycling cooling technology ซึ่งเข้าใจว่า compressor ดับในช่วงนี้แล้วใช้ความเย็นที่เกิดจากเกล็ดน้ำแข็งที่เกาะที่ evaporator

    ตู้เย็นยุคใหม่ ปิดฝาตู้ หรือฝาเก๊ะไม่แน่น เค้าร้องเตือน หนักข้อกว่านั้นคือมีแอพให้เช็ค จะว่าไป แอพของ Hitachi นี่ทำเอาเราเสียเวลาไปสองวันเต็ม คือ connect เท่าไหร่ก็ตายตอนจบ หลังจากโทรปรึกษาฮิตาชิประเทศไทย เกือบจะได้เจ้าหน้าที่มาออนไซต์ให้แล้วเชียว เราก็พบว่าปัญหาอยู่ที่เราไม่ได้ create account ก่อนเข้าไปใช้แอพเค้า (แล้วไม่ทราบทำไมอนุญาตให้เข้าไปตั้งนู่นนี่ได้จนเกือบจบ) พอเราสร้างบัญชีผู้ใช้ขึ้นมา ทำการเชื่อมต่อใหม่ทุกอย่างก็ผ่านฉลุย

    ที่ได้ใช้ทุกวันและต้องยกนิ้วให้น่าจะเป็น vacuum compartment คือตู้เย็นนี้เค้าจะมีส่วนลิ้นชักที่ซีลปิดสนิทและมีเครื่องดูดอากาศในเก๊ะให้เกิดแรงดันติดลบ  ที่เห็นในโฆษณาก็เน้นไปทางการเก็บเนื้อปลา การหมักเนื้อให้เครื่องปรุงเข้าเนื้อ บังเอิญเป็นคนกินผักผลไม้เป็นส่วนใหญ่ ตอนแรกก็ไม่นึกว่าจะได้ใช้ส่วนนี้อะไรหนักหนา ปรากฎว่าพอได้มาจริงกลายเป็นที่ใช้เก็บกับข้าวเก่าฮะ  กับข้าวที่เราทำเองหรือไปซื้อเค้ามา กินมื้อเดียวไม่หมด สมัยก่อนเวลาเก็บในตู้เย็น ถ้าอุ่นไม่ร้อนดีจริง หรือเป็นพวกมีกะทิ หรือเป็นแบบซื้อเค้ามา (ถ้าทำเองมักจะสะอาดกว่า อยู่ทนกว่า) รับรองว่าอาจจะได้มีการบูดเป็นเนือง ๆ อาจจะเป็นเพราะอุณหภูมิที่ขึ้น ๆ ลง ๆ  ทั้ง ๆ ที่ตู้เก่าเราตั้งค่าอุณหภูมิฝั่งเย็นไว้ 0 องศา ใช่คับ ตั้งไว้เย็นมาก เพราะพบอาหารบูดได้เป็นระยะ ๆ ถ้าเก็บไว้นานจริง หรือไม่ได้ออกมาอุ่นทุกวัน ซึ่งค่าเนี้ยมันบางทีก็เย็นเกินไปในบางส่วน เช่น บางทีน้ำดื่มในแก้วก็เกิดเป็นน้ำแข็งอ่อน ๆ ขึ้นมา ไข่ที่เก็บไว้ บางทีก็เป็นเกล็ดน้ำแข็ง 

    พอมาใช้ฮิตาชิใบนี้ เราก็เก็บกับข้าวกินไม่หมดเข้าช่องสูญญากาศเนี่ยแหละ เค้าให้เลือกอุณหภูมิได้ว่าจะเอา 0, 1 หรือ -1 องศาเซลเซียส ช่องนี้มันใหญ่พอจะเก็บกับข้าวได้สัก 7-8 รายการทีเดียว (ถ้าปริมาณแต่ละอย่างไม่เยอะมาก) ก็ดีตรงที่เป็นสัดส่วนดี ถ้ากับข้าวเต็มเก๊ะแปลว่ากับข้าวเก่าเริ่มเยอะแระ เร่งกินซะ  ถ้าหรอมแหรม ก็คือมีน้อย อาจจะเข้าครัวทำเพิ่มหรือซื้อเพิ่ม  เราคิดว่า vacuum ที่ 0.8 ATM อาจจะมีส่วนบ้างในการยับยั้งแบคทีเรีย คือปริมาณออกซิเจนในอากาศมีน้อยลง เค้าจะบูดยากขึ้น แต่ที่สำคัญคือ ในส่วนเก๊ะ vacuum นี้เราสามารถกำหนดอุณหภูมิ subzero คือ -1 องศาได้ โดยที่ส่วนอื่น ๆ ของตู้เย็นไม่ต้องเย็นเจี๊ยบขนาดนี้ เราก็ไม่ต้องกลัวน้ำดื่มจะเป็นน้ำแข็ง ไม่ต้องกลัวไข่จะเป็นน้ำแข็ง ตอนนี้พบว่าอุณหภูมิช่องเย็นปกติตั้งอยู่ที่ประมาณ 4-5 องศา ก็พอ ตราบใดที่กับข้าวเก่าเก็บที่ -1 C , 0.8 ATM  ใช้มาเกือบ 2 เดือน ยังไม่เจอกับข้าวเน่า เด้วต้องรอดูยาว ๆ ถึงหน้าร้อน  ส่วนเรื่อง platinum catalyst ที่เอาไว้กำจัดกลิ่นในช่องนี้ ยังทำงานได้ไม่ดีมาก คือถ้าเรากลัวกับข้าวบูด ก็ต้องแง้มฝาปิดภาชนะเพื่อให้ความเป็นสูญญากาศมันเข้าไปถึงอาหารได้ แต่เจออาหารที่กลิ่นแรงหน่อย (กระเทียม) เจ้า platinum catalyst ที่โม้ไว้เอาไม่อยู่หรอกครับ กลิ่นมันออกมาจากช่อง vacuum ได้เฉยเลย ขนาดเป็นช่องซีลติดลบแล้ว กลิ่นมันน่าจะแอบออกไปตอนสูบอากาศออกนั่นแหละ ไม่น่าจะออกผ่านซีลของเก๊ะได้ ดังนั้นอาหารกลิ่นแรงก็ต้องยอมปิดฝาไปอาจจะปิดไม่ต้องแน่นมาก เพื่อให้สูญญากาศเข้าถึงส่วนอาหารได้

    ตอนก่อนจะซื้อตู้นี้ก็มีความกลุ้มใจเล็กน้อยเรื่องขนาดช่องฟรีซที่พอวัดเนื้อที่เทียบกันแล้ว พบว่าตู้ใหม่ฮิตาชิอาจจะมีเนื้อที่ฟรีซเซอร์ลดลง (นี่ขนาดหักเนื้อที่ทำน้ำแข็งของตู้เย็นเก่าอิเล็กโทรลักซ์ออกแล้ว) ก็เกรงว่าฟรีซเซอร์จะไม่พอใช้ ปรากฎว่าวันที่เราย้ายของจากช่องฟรีซตู้เก่ามาใส่ตู้ใหม่ เนื้อที่ช่องฟรีซเหลือเฟ้ย เหลือแบบเหลือเฟือด้วย แสดงว่าเนื้อที่ใช้สอยของตู้เก่าที่เราวัดมันใช้ไม่ได้จริงหรือมันเสียไปกับเนื้อที่ที่เป็นอากาศวางของไม่ได้ เช่น พื้นที่ตรงฝาตู้หรือช่องว่างระหว่างฝาตู้กับชั้นวางของด้านใน  พอเอาเข้าจริง ย้ายของมาตู้ใหม่ซึ่งช่องฟรีซเป็นลิ้นชักใหญ่ 1ช่อง โดยในลิ้นชักใหญ่นี้ ยังมีลิ้นชักย่อยอีก 2 ชั้น ชั้นบนสุดนี่จะเตี้ยมาก ๆ เหมือนกับถาดวางของซะมากกว่า สูงแค่ประมาณไม่เกิน 5 ซม. เหมือนกับเค้าดีไซน์มาให้สำหรับแช่สไลด์เนื้อ เรียกโม้ ๆ ว่า delicious freezing มีถาดอลูมิเนียมด้านล่างเพื่อให้สามารถ fast freeze เนื้อได้เร็ว (ในโบรชัวร์ ถ่ายรูปไว้อย่างนั้น) แต่เนื่องจากเราเป็นพวกไม่ค่อยทานเนื้อ ก็ไม่มีเนื้อให้แช่แน่นอน ตอนแรกก็อยากจะแกะชั้นนี้ออก เพราะรู้สึกว่ามันทำให้ชั้นกลาง (สูงประมาณ 8 ซม.) มันใช้งานได้จำกัด  แต่ในคู่มือเค้าเขียนขู่ไว้ว่า ห้ามถอดออก (จริง ๆ ถอดได้ แต่ถอดยากนิดนึงมันมีตัวล็อคพลาสติกอยู่) เราก็เลยไม่ได้ถอดออก ตอนนี้เอาไว้ใส่อะไรเตี้ย ๆ จริง ๆ พวกของที่เคยอยู่ตรงฝาตู้ช่องฟรีซ ส่วนใหญ่ก็โดนย้ายมาอยู่ในถาดบางนี้หมด เช่น เจล hot-cold pack, ใบมะกรูด, พริก อะไรที่ใส่กล่องแบน ๆ ได้ใส่ถุงแบน ๆ ได้ก็วางได้หมด

    ชั้นกลางก็วางของได้พอควรแต่ไม่สูงมาก วางไอติมแบบไพนท์ท่าตั้งไม่ได้ นอนกระปุกลงก็ยังไม่ได้ (ติดส่วนกว้าง)  ถ้ายอมถอดชั้นบนออก จะใส่ได้ แต่เค้าห้ามถอด หัดเชื่อเค้าบ้าง ไม่ถอดก็ไม่ถอด

    ชั้นล่างนี่โอ่โถงอยู่ กว้างมาก กว้างเท่าตู้ ลึก 45 ซม. สูง 14 ซม. เนื่องจากเราไม่ค่อยกินเนื้อ ก็ไม่มีอะไรจะแช่เลย ยกเว้น ไอติม กะ หนมปังที่ปกติทานตอนเช้า ทุกๆ จะซื้อทีละหลาย ๆ ชิ้น เอาใส่กล่องพลาสติกใหญ่ ๆ และแช่ชองฟรีซไว้ พอจะกินก็ค่อยเอาออกมาช่องธรรมดา

    นอกจากฟรีซช่องใหญ่นี้แล้วส่วนที่เย็นจัด ๆ ยังมีลิ้นชักช่องทำน้ำแข็งไว้รองรับน้ำแข็งที่ทำโดยเครื่องทำน้ำแข็งอัตโนมัติ ในลิ้นชักนี้นอกจากใช้เก็บน้ำแข็งแล้ว ยังมีซอกเล็ก ๆ มีฝาพลาสติกคลุมไว้ สามารถใส่ของเล็ก ๆ ได้ ตอนนี้ใช้ใส่ไอติมถ้วยเล็ก เนื้อที่โหรงเหรงมากเพราะมีไอติมถ้วยเล็กแค่ 2 ถ้วย   นอกจากลิ้นชักนี้แล้วยังมีอีกลิ้นชักสำหรับฟรีซอีกอันนึง ซึ่งสูงพอจะเก็บไอติมได้ เราก็อุทิศลิ้นชักนี้เป็นลิ้นชักไอติมแบบไพนท์ ใส่ได้ประมาณ 16 pints  ถ้ามีลดราคาก็จะซื้อมาตุน บางทีก็ตุนเยอะมากกว่า 16 ไพนท์ ก็จะเอาไปเก็บช่องฟรีซใหญ่ด้านล่าง สรุปว่าช่องฟรีซที่ตอนแรกเกรงจะไม่พอ กลายเป็นเหลือเฟือ

    ถ้าช่องฟรีซเหลือเฟือ ช่องแช่เย็นธรรมดาจะเรียกว่าอะไร ....  โ ค ตะ ระ เหลือเฟือ เป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่าตู้เย็นเรามันโหรงเหรงมากเลย อยู่กันแค่สองคนจะใช้ตู้อะไรใหญ่ขนาดนี้  ยิ่งตอนนี้เป็นเฟรนช์ดอร์ เปิดสะดวก เปิดพร้อมกัน 2 บาน ซ้ายขวา มันกว้างมาก (เทียบกับแต่ก่อน มันเป็น side by side แคบกว่า แต่ได้แนวดิ่ง)  สรุปว่าของไม่มีจะแช่ฮะ เพราะกับข้าวเก่าก็เข้าช่อง vacuum ไปหมด ข้างบนไม่รู้จะวางอะไร โหรงเหรง สนามฟุตบอล

    ช่องผักผลไม้ คือช่องใหญ่ที่อยู่ด้านล่างสุด ปรากฎช่องนี้มักจะเต็มที่สุดเกือบตลอดเวลา เนื่องจากเป็นคนรับประทานผลไม้ประจำ เวลาเหมาส้มมาลังหนึ่งก็จัดเข้าไป ช่องล่างจะแน่นตลอด ทางบริษัทเองก็โม้คุณสมบัติ Aero-Care Vege with Platinum Catalyst จะว่าโม้เกินเหตุรึเปล่าก็ไม่แน่ใจ แต่ที่แน่ ๆ ก็คือตู้เย็นนี้เก็บผักสด ผลไม้ได้ดีกว่าตู้เก่า สมัยก่อนส้ม พอเก่าเก็บหน่อยจะเกิดอาการเปลือกบางและแข็ง ตอนนี้เก็บไว้ได้ 2-3 สัปดาห์ไม่แข็ง ไม่เหี่ยว อาจจะเปลือกบางลงมั่ง ผักใบเขียวอะไรก็ไม่ค่อยเหี่ยวเท่าไหร่ (ผักต้องใส่ถุงพลาสติกหรือกล่องไว้)  เนื่องจากช่องผักผลไม้ใหญ่มาก ทำให้พื้นที่ช่องเย็นด้านบนมีเหลือเยอะมาก กระนั้นพื้นที่ช่องผักผลไม้ก็ยังเหลือเฟือ ไม่รู้จะแช่อะไร สุดท้ายก็เลยเอาข้าวสารมาแช่แทน เนื่องจากเก็บไว้ข้างนอกนาน ๆ มีมอดขึ้น อยู่ 2 คน ห้ามซื้อข้าวสารทีละ 5 โล กินไม่ทันมอด  เท่าที่สังเกต อุณหภูมิช่องผักด้านล่าง มักจะสูงกว่าช่องเย็นธรรมดาด้านบนอยู่ประมาณ 1-2 องศา และไม่ค่อยแกว่งขึ้นลงเท่าไหร่ ค่อนข้างนิ่งกว่า

    เรื่องทำน้ำแข็ง ที่ต่างจากตู้เดิมก็คือ น้ำแข็งเครื่องนี้เค้าจะทำ ๆ ทำ ๆ จนเต็มลิ้นชัก แล้วก็หยุดดื้อ ๆ มีบางจังหวะ จะรู้สึกเหมือนน้ำแข็งโหรงเหรง ใกล้หมด แต่เครื่องก็ไม่เห็นเริ่มทำน้ำแข็งสักที ต้องรอเกือบวัน แต่พอเค้าทำ เค้าก็จะทำเรื่อย ๆ จนลิ้นชักเต็ม เป็นซะแบบนี้ เท่าที่สังเกต เราสงสัยว่าคานกระดกที่เค้าเป็นตัวจับว่าน้ำแข็งว่าเต็มรึยังอาจจะแข็งค้างจาก freezing process ทำให้เครื่องคิดว่าน้ำแข็งยังเต็มอยู่  ต้องรอจนตู้เย็นเค้าจะ auto-defrost คานเค้าถึงจะตกลงมาแล้วน้ำแข็งถึงจะเร่ิมทำ (เดาเอง คิดเอง)  ตั้งแต่ใช้ตู้เย็นนี้มาเกือบ 2 เดือนละ เพิ่งเคยได้ยินเสียงน้ำแข็งตก (ใส่ลิ้นชัก) แค่ 3 ครั้ง เคยเปิดประตูช่องเย็นธรรมดา แล้วได้ยินเสียงปั้มน้ำกำลังดูดน้ำไปทำน้ำแข็งแค่ครั้งเดียว เทียบกับเครื่องเก่า จะได้ยินเสียงน้ำแข็งตก (ใส่กระบะ) อยู่เรื่อย ๆ 

    ไม่มีที่กดน้ำแข็ง เอาเข้าจริง ๆ ก็ไม่เดือดร้อนเท่าไหร่ ตอนนี้ พบว่าการที่ต้องเปิดลิ้นชักออกมาตักน้ำแข็งใส่แก้วหรือใส่ tumbler ก็ไม่ได้ลำบากขนาดนั้น ไม่ได้เป็นปัญหามาก ถึงจะไม่สะดวกเหมือนกดน้ำแข็งแล้วรองได้เลยเหมือนตู้เก่า แต่ถ้าเทียบกับการที่ไม่ต้องมารำคาญน้ำหยด ที่รองน้ำเต็ม ต้องเปิดประตูสะบัดน้ำออกจากถาดรองน้ำ หรือการที่ต้องคอยเปิดฝาตู้ฟรีซมาเช็คว่ามีน้ำแข็งค้างท่อหรือเปล่า คิดว่าแบบลิ้นชักตักทัพพีเอาก็ดี  ที่ขาดหายไปก็จะเป็นน้ำแข็งบด เครื่องใหม่ไม่มีปุ่มทำน้ำแข็งบด เครื่องเก่ามี จะว่าไปเราก็ใช้น้ำแข็งบดเฉพาะจะกินขนมหวานเย็น เฉาก๊วย ถ้าไม่ได้กินก็ไม่เดือดร้อนอีก

    ที่เป็นปัญหาน่ารำคาญคือการเติมน้ำ เนื่องจากกระติกเค้าเล็กมาก (1 L) สำหรับเราคือทุก ๆ 2-3 วันต้องเติมน้ำที ก็เป็นที่น่ารำคาญ ตอนหลังก็เลยประดิษฐ์ปั้มน้ำเติมน้ำจากกระติกใหญ่ ซึ่งต่อมามีการเปลี่ยนระบบเป็นแบบกาลักน้ำไม่ใช้ปั้ม เด้วจะเขียนเป็นอีกหัวข้อหนึ่งเพราะโครงการนี้ใช้เวลา 3-4 สัปดาห์ ลองผิดลองถูก มีน้ำท่วมตู้เย็น 2-3 ครั้ง แต่ตอนนี้เวิ๊คโอเคแระ

    เนื่องจากตู้เย็นไม่มีปุ่มกดน้ำ ถ้าอยากกินน้ำเย็น ก็ต้องรองใส่กระบวยแช่ไว้ในตู้เย็น แต่เราขี้เกียจรองใส่ขวดใส่กระบวยบ่อย ๆ ตอนหลังก็เลยไปหาซื้อแกลลอนบรรจุน้ำแบบมีก๊อกเปิดด้านล่างซึ่งมีขายบน shopee ราคาไม่แพงมาก (300-400 บาท) ก็ใช้ดีอยู่ แกลลอนนี้ใช้เป็นแหล่งจ่ายน้ำแบบกาลักน้ำให้กระติกทำน้ำแข็งด้วย    

    เรื่องน่ามหัศจรรย์และที่เป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้อยากมาเขียนบล็อกนี้ก็คือเรื่องประหยัดไฟ ตู้เก่าเราเคยวัดไว้เดือนเม.ย. ซึ่งเป็นเดือนที่ร้อนที่สุด พบว่าตู้เย็นกินไฟประมาณวันละ 3.3 ยูนิต  ช่วงหน้าไม่ร้อน เค้าน่าจะกินลดลงบ้าง แต่ดันไม่ได้วัดไว้   แต่ตู้ฮิตาชิตู้ใหม่ เราวัดเดือน พ.ย. พบว่าใช้ไฟเพียง 1.45 ยูนิตต่อวัน น้อยกว่ากันแค่ครึ่งเดียว  พอวัดต่อมาถึงตอนนี้ (เกือบจะครบ 2 เดือน) เดือน ธ.ค. เหลือแค่ 1.33 ยูนิตต่อวัน กะว่าจะวัดต่อไปให้ครบปี เก็บสถิติ สิ่งที่พอจะอธิบายได้ว่าทำไมตู้ใหม่ประหยัดไฟกว่าตู้เก่า ก็คือ 1) เรื่องเทคโนโลยี ตู้ใหม่ใช้ inverter compressor ใช้น้ำยาแบบใหม่ (R600a)  2) การที่ตู้ใหม่มีแบ่งหลายช่อง ทำให้เวลาเปิด ไม่ได้เปิดฝาตู้เย็นทั้งบานเหมือนแต่ก่อน เป็นต้นว่า ถ้าจะหยิบไอติม ก็เปิดเฉพาะช่องแช่ไอติม ไม่ได้เปิดช่องฟรีซใหญ่ ตักน้ำแข็งก็เปิดเฉพาะเก๊ะทำน้ำแข็ง หรือถ้าจะเป็นช่องเย็น ก็เปิดได้เฉพาะ จะเปิดบานเดียวหรือสองบานก็ได้ ดังนั้นการสูญเสียความเย็นมีไม่มาก ทุกวันนี้ช่องฟรีซใหญ่จะถูกเปิดน้อยที่สุด  3) การไม่มีช่องกดน้ำ กดน้ำแข็ง ตรงส่วนนี้น่าจะเป็น weak point ที่สำคัญของตู้เย็นเก่าของเราเพราะส่วนนี้มันบางที่สุด ไม่มีฉนวนดี ๆ เหมือนผนังตู้ด้านอื่น ตู้เย็นใหม่มีฉนวนแบบ VIP (Vacuum Insulation Panel) รอบด้าน  นอกจากนี้การที่เราไม่ต้องเปิดฝาช่องฟรีซมาเทน้ำหรือเช็คน้ำแข็งค้างบ่อย ๆ ปกติเรียกว่าแทบจะไม่ได้เปิดช่องฟรีซเลยด้วยซ้ำ เพราะการเปิดช่องฟรีซแม้จะเปิดไม่นาน แต่อุณหภูมิต่างจากอุณหภูมิห้องมากกว่าช่องปกติ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตู้เย็นสูญเสียความเย็น  4) การที่ตู้เย็นละลายน้ำแข็งแค่วันละครั้ง เทียบกับตู้เก่าละลายวันละสองครั้ง รวมถึงเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ฮิตาชิโม้ไว้ เช่น sensor cooling, frost recycling technology (ตอนที่กินไฟ 1 W น่ะ) อีกอันนึงที่ยังไม่ได้พูดถึงก็คือตู้เย็นเค้าจะเข้า ECO mode ทุกครั้งด้วยตัวเองถ้ามีโอกาส คือถ้าเราไม่ได้เปิดตู้เย็นบ่อย ไม่ได้โหลดอะไรเข้าไปทีละเข่ง เค้าจะเข้า ECO mode เอง ซึ่งคือส่วนใหญ่ของเวลาทั้งหมดที่เราสังเกตเห็น  ตู้เย็นเก่าเราถ้าจะเข้า ECO mode ต้องกด mode vacation เอง แต่ตู้นี้ไม่ต้อง ณ ตอนนี้ ซึ่งอากาศที่กทม.ค่อนข้างเย็น ตัวเลขเฉลี่ยที่ตู้เย็นกินไฟสัปดาห์ที่ผ่านมา อ่านแค่ 1.18 kWh/d 

    อวยมาตลอด ถ้าว่ามีข้อเสียไหม อะไรที่ไม่ดี  เท่าที่นึกออกตอนนี้ ก็คือ

    1) ประตูตู้หน้าบานและลิ้นชักเป็นกระจก ติดแม่เหล็กไม่ได้ ดังนั้นถ้ามีแม่เหล็กของที่ระลึกที่สะสมมา เก็บใส่กล่องขึ้น หรือไปติดด้านข้างหรือด้านหลังแทน (ก็ไม่มีใครเห็น)  บังเอิญว่าแต่เดิมเราก็เป็นคนชอบซื้อแม่เหล็กที่ระลึกติดตู้เย็นสะสมเยอะ แต่เราเก็บขึ้นไปตั้งแต่หลายปีก่อนเพราะรู้สึกว่ามันเยอะขึ้นจนมันเลอะเทอะไปหมดแล้ว สะสมฝุ่นด้วย ทำความสะอาดยาก ก็เลยไม่เดือดร้อนเท่าไหร่

    2) ไม่มีด้ามจับไว้แขวนผ้าเช็ดมือ อันนี้ก็เดือดร้อนเล็กน้อย เพราะความเคยชินที่เคยพาดผ้าขนหนูพาดไว้ที่ราวจับตู้เย็น โชคดีที่ตรงใกล้อ่างล้างมือมีด้ามจับลิ้นชักเก๊ะตรงไอส์แลนด์ครัว เราก็เลยต้องเอามาแขวนตรงนี้แทน ก็เปลี่ยนพฤติกรรมเล็กน้อย จริง ๆ แล้วแขวนอยู่ตรงนี้ก็ใกล้อ่างล้างมือกว่า

    3) ไม่มีนาฬิกาบนตู้เย็น จะว่าไปตู้เก่าก็ไม่ค่อยได้ดูเท่าไหร่ แต่มันก็เคยชิน ตอนนี้ก็เลยถอยนาฬิกาเสียวมี่แบบ e-ink แบน ๆ มาติดไว้แทน ชดเชย

    4) ตู้เย็นนี้เค้าไม่ให้ปรับเป็นองศา เค้าให้ปรับความเย็นเป็น 1-3 ขีด มีฟังก์ชั่นให้ปรับละเอียดได้ เป็น 7-8 ระดับ แต่ไม่มีให้เลือกว่าจะเอาช่องฟรีซเท่าไหร่ ช่องเย็นเท่าไหร่ คนที่เคยปรับแบบองศามาก่อนอาจจะรู้สึกไม่ชิน เราเองแรก ๆ ก็ไม่ชิน แต่ความที่มีอุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิตามจุดต่าง ๆ (ตอนนี้ติดไว้ 4 จุด แต่ตู้เย็นมันมีทั้งหมด 5 ช่อง 6 ประตู/ลิ้นชัก จะว่าไปเราว่าจริง ๆ มันก็ง่ายดี ก็ปรับไว้อยู่ตรงกลางน่ะแหละคือ 2 ขีด ตามที่เค้าแนะนำ เท่าที่แอบดูมาเป็นเดือน ๆ ช่องฟรีซก็จะอยู่แถว ๆ -18 ถึง -20 องศา  ส่วนช่องเย็นก็อยู่ประมาณ 2-4 องศา ตามที่เค้าแจ้งไว้นั่นแหละ

    5) เรื่องกระติกน้ำสำหรับทำน้ำแข็งที่เล็กเกินไป (นี่ขนาดกินน้ำแข็งคนเดียว อีกคนที่บ้านเค้าไม่กิน) เรายังต้องเติมน้ำทุก ๆ 3-4 วัน อันนี้ยอมรับว่าไม่ชิน เพราะแต่เดิมไม่เคยต้องเติม แต่ตอนนี้ทำระบบกาลักน้ำให้เค้าไซฟ่อนจากแกลลอนใหญ่แล้วก็คิดว่าไม่มีปัญหา ข้อดีของการใช้กระติกก็คือได้มีโอกาสออกมาล้างทำความสะอาดบ้าง

    6) แอพ เห่ย ไปหน่อย จริง ๆ แล้วตู้เย็น ฮิตาชิ 6 ประตู/ลิ้นชักแบบนี้เค้ามีอีกรุ่นนึงเล็กกว่านี้หน่อยนึง แต่ไม่มีฟังก์ชั่นนี้ iOT ไม่มีแอพ ตอนแรกเราก็คิดว่าตู้เล็กน่าจะพอ แต่พอเห็นบอกมีแอพ ก็อยากได้ ปรากฎว่าแอพมันเห่ยไปหน่อย ตอนติดตั้งก็เสียเวลาเราไป 2 วัน เนื่องจากเราไม่ได้ create account กับ Hitachi ก่อน แต่แอพเค้าไม่บล็อกไว้ตรงนี้ ปล่อยให้เราดำเนินการเชื่อมต่อแล้วก็ไป fail ตอนท้ายสุด หาสาเหตุไม่เจอ แต่พอหลังจาก create account แล้วก็ไม่มีปัญหาเชื่อมต่อ/ติดตั้ง แต่แอพมันเอาไว้แค่ดูจำนวนครั้งเปิดปิดตู้เย็น เอาไว้ตั้ง setting ตู้เย็น  ส่วนที่เหลือค่อนข้าง manual คือถ้าจะให้จดติดตามว่าแช่อะไรไว้บ้าง ต้องถ่ายรูปเอง จดเอง เราผิดหวังว่าจริง ๆ น่าจะมีแจ้งอุณหภูมิของแต่ละส่วน แต่อันนี้ไม่มี ก็เลยรู้สึกว่าแอพมันก็ไม่เห็นมีอะไรเท่าไหร่ ไม่มีก็ยังได้  ข้อดีก็มีแค่ว่าถ้าปิดตู้เย็นไม่แน่น เค้าจะแจ้งเตือน  แต่ต่อให้ไม่มีแอพ ตอนที่เราปิดไม่แน่น ถ้าไม่รีบวิ่งหนีออกจากบ้านไปก่อน มันก็มีเสียงร้องเตือนอยู่แล้ว ดังนั้น ไม่มีแอพ จริง ๆ ก็โอเคอยู่

    7) อันนี้คนที่บ้านบ่น เราเปล่า คือเค้าบ่นว่าชั้นวางของช่องเย็นธรรมดามันเป็นชั้นกระจกใหญ่กว้างเป็นแผ่นเดียว (ถ้าดูซัมซุงเฟรนช์ดอร์ เค้าจะมีรางแนวดิ่งตรงกลางและชั้นเค้าจะแบ่งครึ่ง ปรับได้)  ของฮิตาชิเป็นชั้นเดียว กว้างตามความกว้างตู้เย็น ไม่มีแบ่งครึ่ง ทำให้ดูเหมือนไม่ค่อย flexible  ในการปรับระดับชั้น  จริง ๆ แล้วเราไม่เดือดร้อน เพราะตู้เย็นมันโหรงเหรง ไม่มีของ จะวางยังไงยังไง ก็ไม่เคยแน่น การที่เค้าเป็นชั้นเดียวต่อเนื่องมันก็ดีตรงที่วางของได้ไร้รอยต่อ แต่ก็เหมือนที่เค้าบ่น คือมันปรับยากกว่าตู้เก่า ถ้าจะปรับ

   8) อันนี้ก็คนที่บ้านฝากบ่น ว่ามันแพง จริง ๆ แล้วการที่ของจะราคาแพงหรือไม่แพงมันขึ้นอยู่กับความคุ้มค่าหรือประสบการณ์ใช้งานที่เราพึงได้รับจากมันด้วย เราอาจจะมีสิทธิ์เลือกซื้อของที่ถูกกว่า แต่หากได้มาแล้วไม่รู้สึกคุ้มค่าหรือได้ประสบการณ์การใช้ที่เลวร้าย ของนั้นอาจจะราคาแพงยิ่งกว่า ยอมรับว่าตู้เย็นราคา 6 หลักถือว่าสูงเอาการ แต่ความที่ตู้เย็นนี้มัน made in Japan งานประกอบเข้าขั้นประณีต (ดูรูป) อีกอย่างคนเรามันจะหาเหตุผลมาบอกตัวเองเพื่อให้มันดูไม่เลวร้าย เช่น เราจ่ายหารสอง เหลือคนละครึ่ง เอาไปลดภาษีช่วยชาติได้ ปีโควิด ไม่ได้ไปเที่ยวตปท. เงินเหลือ ฯลฯ

   9) อันนี้เราบ่น เป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่เป็นความจริง เวลาดึกๆ ลงมาจกของในตู้เย็น ถ้าเปิดชั้นบนก็โอเคเพราะมีไฟ LED แต่บรรดาช่องอื่น ๆ ที่เป็นลิ้นชักทั้งหลายมันไม่มีไฟ ไม่ว่าจะเก๊ะน้ำแข็ง เก๊ะไอติม เก๊ะฟรีซ รวมถึงเก๊ะผลไม้ซึ่งใหญ่มาก ยิ่งใหญ่ยิ่งมืดโดยเฉพาะตรงซอกด้านใน จะเปิดไฟเพดานก็แสบตา มันคงจะยากสำหรับผู้ผลิตที่จะติดไฟ LED ไว้ที่ลิ้นชักซึ่งเป็นส่วนที่ขยับได้ เมื่อเทียบกับการมีไฟอยู่ที่ผนังด้านในตู้ที่ไม่ขยับเคลื่อน  จริง ๆ ถ้าเราจะม้อด (คนไทยเรียก โม) -modify น่ะคับ ก็คงจะพอทำได้ แต่คงต้องปิดเครื่องสักพักแล้วหาที่จั้มไฟตรงหรือไฟบ้านติดหม้อแปลงเพิ่ม แต่ตอนนี้รอก่อนครับ ไว้ถ้ามีโอกาสเสร็จแน่ รับรองได้ไฟ LED ทุกเก๊ะ

    โดยสรุป คิดว่าโอเคและคิดถูกแล้วที่เปลี่ยนตู้เย็น มันประหยัดไฟขึ้นเยอะ เราปรับตัวเองเข้าหาเค้านิดนึง ก็อยู่ด้วยกันได้ดี ประทับใจในความเงียบของตู้เย็น (ต้องเงี่ยหูฟังกันเลยทีเดียว) ประทับใจในความประหยัดไฟ ใครจะเชื่อว่าเดือนธันวาคม เค้าจะกินไฟแค่เฉลี่ยแค่วันละ 1.18 ยูนิตได้  เก๊ะช่อง vacuum ก็ทำงานได้ดี ยังไม่เจอกับข้าวบูด (ใช้มากว่า 2 เดือนละ) ราคาอาจจะแพงไปนิด แต่ตู้เก่าเราก็ราคาประมาณนี้ ช่วยไม่ได้คงเพราะมัน made in Japan เลยราคาสูงหน่อยนึง ก็ถ้าใครพอไหวจัดได้ แนะนำเลยครับ


 


Create Date : 18 มกราคม 2564
Last Update : 30 ตุลาคม 2564 11:56:35 น. 2 comments
Counter : 2156 Pageviews.

 
อ่านจนจบ สนุกและ detail ดีมากๆ เลยคะ ส่วนตัวเป็นคนไม่ขอบอ่านอะไรยาวๆ แต่พอดีสนใจตู้เย็นนี้พอดี บวกกับข้อมูลดี และอ่านไปขำไป สนุกดีคะ ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆนะคะ


โดย: Nid IP: 182.232.246.46 วันที่: 24 มิถุนายน 2564 เวลา:18:35:35 น.  

 
อ่านจนจบ สนุกและ detail ดีมากๆ เลยคะ ส่วนตัวเป็นคนไม่ขอบอ่านอะไรยาวๆ แต่พอดีสนใจตู้เย็นนี้พอดี บวกกับข้อมูลดี และอ่านไปขำไป สนุกดีคะ ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆนะคะ


โดย: Nid IP: 182.232.246.46 วันที่: 24 มิถุนายน 2564 เวลา:18:35:59 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
space

gollygui
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]






space
space
[Add gollygui's blog to your web]
space
space
space
space
space