Group Blog
 
 
มกราคม 2559
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
8 มกราคม 2559
 
All Blogs
 
โรคซึมเศร้า












โรคซึมเศร้า

โรคนี้ ถือเป็นอันดับต้นๆทีเดียวของโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อย แต่คนทั่วไปไม่ค่อยมีความเข้าใจถึงโรคนี้ และตีความพฤติกรรมของผู้ใกล้ชิดไปต่างๆนาๆ โดยที่ไม่มีคำว่า โรค เข้ามามีส่วน จึงทำให้มีผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง



อาการแบบไหนถึงเข้าข่ายว่าของโรคซึมเศร้า ??

ควรได้รับการบำบัดเมื่อไร ??

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคได้แก่อะไรบ้าง ??

โรคนี้สามารถรักษาได้หรือไม่ ??


คำถามพวกนี้คงเกิดขึ้นในใจของผู้ที่ดูแลใกล้ชิดผู้ป่วย และ ตัวผู้ป่วยเอง
โดยเฉพาะคำถามที่ว่า โรคนี้จะหายไหม

เป็นที่น่ายินดีที่ การแพทย์เราก้าวหน้า จนสามารถรักษาโรคนี้หาย
แต่ก็ต้องอยู่ในการบำบัดที่ถูกต้อง และยิ่งเข้ารับการรักษาไวยิ่งมีโอกาศหาย



ทำความเข้าใจกันก่อน


ผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้ จะรู้สึกเหมือนตัวเองมีความทุกข์ตลอดเวลา มีมุมมองทางลบ บางครั้งก็ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับ ความรุนแรง และ ชนิดของซึมเศร้าแบบที่เป็น



โรคนี้ทำให้หลายๆคนอาจจะมองว่า ผู้ป่วยเป็นผู้มีความอ่อนแอทางจิตใจ ขี้เกียจ หรือ อ่อนไหวง่ายเกินไป ซึ่งอันที่จริงแล้วผู้ที่เป็นโรคนี้ไม่ได้หมายความว่า เขาจะเป็นผู้ที่มีจิตใจอ่อนแอ เพราะโรคอาจเกิดขึ้นจากความผิดปกติทางสรีระร่างกายได้

ด้วยการศึกษาและพัฒนาการรักษามาต่อเนื่อง จึงทำให้ซึมเศร้า ไม่ใช่โรคร้ายแรงที่รักษาไม่ได้ ถ้าหากมีความเข้าใจในโรคนี้ และได้รับการรักษาโดยเร็ว โอกาสที่จะหายก็มีมากขึ้น แม้โรคนี้ก็เกิดขึ้นกับใครก็ได้






ปัจจัยต่อการเกิดโรค


ในเรื่องของปัจจัยนั้น ก็ยังมีการศึกษาค้นคว้ากันมายาวนาน และหลายทฤษฏีก็ถูกลบล้างออกไป รวมทั้งมีรายงานผลใหม่ๆเข้ามา แมวจะยกมาแต่ในส่วนที่พอจะเชื่อถือได้ว่า น่าจะมีส่วนต่อการเกิดโรค แมวแบ่งเป็นส่วนใหญ่ๆ 2 ส่วน คือ ส่วนที่เกิดจากตัวผู้ป่วยเอง และ ส่วนที่เกิดจากสภาพแวดล้อม ในข้อปัจจัยที่ 1-3 จะเป็นส่วนที่เกิดจากตัวผู้ป่วย และปัจจัยที่ 4 ลงไป จะเป็นส่วนจากสภาพแวดล้อม




1. ปัจจัยจากพันธุกรรม


พันธุกรรม คือ อะไร ถ้าพูดกันเข้าใจง่ายๆ ก็คือ สิ่งที่รุ่น 1 ส่งผ่านมาอีกรุ่นหนึ่ง และอาจจะแฝงไว้ในรุ่นที่ 2 มาแสดงผลในรุ่นที่ 3 ก็ได้ เช่น ปู่และย่าเป็นโรคชนิดหนึ่งซึ่งสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ และได้ส่งต่อพันธุกรรมนั้นให้กับลูก แต่ในรุ่นของลูกโรคนั้นยังไม่แสดงผลออกมา และเมื่อลูกมีหลาน โรคนั้นอาจจะไปแสดงออกในรุ่นของหลานได้

มีหลายรายงานการวิจัยว่า พันธุกรรมมีส่วนมากทีเดียว แม้ว่าผู้ที่มีประวัติว่า พ่อแม่มีอาการของโรคซึมเศร้า จะถูกเลี้ยงดูโดยผู้อื่นแต่เกิด แต่ก็ยังมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรค มากกว่า ผู้ที่ถูกเลี้ยงดูมาแบบเดียวกันแต่ไม่มีประวัติว่า บิดาหรือมารดาเป็นโรค

แต่พันธุกรรมก็ยังไม่ใช่ปัจจัยสำคัญเพียงปัจจัยเดียวที่จะทำให้เกิดโรค ต้องมีปัจจัยอื่นเข้ามาร่วมด้วย มีการกระตุ้นให้โรคนี้แสดงออก



รูปแสดง การส่งต่อพันธุกรรม แบบ ข้ามรุ่น






2. ปัจจัยจากสารสื่อประสาท
เรียกกันง่ายๆว่า สารเคมีในสมอง


มนุษย์เราจะมีสารสื่อประสาทหลายชนิด แม้จะยังไม่แน่ชัดว่า ชนิดไหนบ้างที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคนี้ แมวจะอธิบายในส่วนของสารสื่อประสาทที่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางประสาท ขอรวบรวมสารสื่อประสาทไว้ในหมวดนี้เลยล่ะกัน แม้ว่าบางตัวจะไม่เกี่ยวข้องกับซึมเศร้ามากนัก เพื่อให้เป็นหมวดหมู่

สารสื่อประสาทเกี่ยวข้องกับเราตรงที่ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรับส่งข้อมูล หรือ ยับยั้งข้อมูลต่างๆ โดยสารแต่ละตัวจะมีตัวรับเฉพาะ โดยสารนี้จะวิ่งอยู่ในช่องว่างที่เรียกว่า ซีแนปส์ และเมื่อส่งผ่านข้อมูลเสร็จ จะถูกสลายไป และ บางส่วนก็กลับมาเป็นสารสื่อประสาทอีกครั้ง โดยข้อมูลนั้นจะถูกส่งผ่านไปยังกระแสประสาท




ดูข้อมูลสารสื่อประสาทชนิดต่างๆได้ที่นี่



ตัวที่ 1 : สารสื่อประสาท ซีโรโทนิน (selotonin)


หน้าที่ของสาร : เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ และ อารมณ์อย่างมาก

ความสำคัญ : หากระดับของซีโรโทนินมีน้อย อาจทำให้เกิดโรคทางจิตเวชได้ โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า การอดอาหารจะทำให้เราปวดศีรษะ และ หงุดหงิด เนื่องจากในซีโรโทนิน จะมีสารตริปโตฟาน ซึ่งสมองต้องการจากอาหาร

ผู้ป่วยซึมเศร้า จะมีการพบว่า มีซีโรโทนิน อยู่ในระดับต่ำกว่าคนปกติ ในส่วนของผู้ป่วยไบโพล่าร์(ในระยะซึมเศร้า) ก็เช่นเดียวกัน

วิธีดูแล : การดูแลไม่ยากค่ะ แค่มีการบริโภคที่ถูกต้อง ก็ช่วยสร้างภูมิต้านทานความวิตกกังวล หรือ ซึมเศร้าได้ เนื่องจากสารนี้ถึงแม้จะเกี่ยวข้องกับอารมณ์แต่ก็เกี่ยวข้องกับอาหารด้วย ควรกินให้ถูกต้องตามนี้



1. ควบคุมปริมาณของ แป้ง และ โปรตีน ให้เหมาะสม



พวกแป้งจะช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น และอารมณ์จะสงบลง โดยเฉพาะในหมู่ผู้หญิง และช่วยเพิ่มระดับของ ตริปโทฟาน แต่หากมากเกินจะทำให้ เชื่องซึม และ ง่วงนอน จึงควรทานพวกโปรตีนด้วย จะช่วยกระตุ้นให้ร่าเริงขึ้น

ในขณะเดียวกันโปรตีนมีส่วนช่วยในการยับยั้งการออกฤทธิ์ของซีโรโทนิน หากมากเกินไป จะเกินพอดี และ ยังทำให้หงุดหงิดง่ายอีกด้วย

กลุ่มที่ ซีโรโทนินต่ำ หรือ ผู้ป่วยซึมเศร้า แนะนำให้เสริมพวกแป้ง หรือ คาร์โบไฮเดรตมากกว่าปกติ น้ำตาลในช๊อคโกแลตก็ช่วยให้ระดับของซีโรโทนินสูงขึ้นด้วย แต่ก็ไม่ควรทานมากเกิน เพราะเสี่ยงต่อโรคอื่น



2. วิตามิน ซี และ วิตามิน บี 6 (กล้วยช่วยได้)



ในตัวนี้จะช่วยเปลี่ยนให้ตริปโทฟาน เป็น ซีโรโทนิน ซึ่งจะทำให้ระดับของซีโรโทนินไม่ต่ำลงไป ถ้าไม่รู้จะกินอะไรดี กล้วย ค่ะ นี่เลยเป็นเหตุว่า ทำไมกินกล้วยแล้ว จะอารมณ์ดี แล้วก็ ง่วงนอน



3. ออกกำลังกาย



มีการศึกษาว่า ระดับของซีโรโทนิน ได้เพิ่มขึ้นตามการออกกำลังกาย อาจจะต้องติดต่อกันหลายวัน แต่มีการเปลี่ยนแปลงของซีโรโทนินไปในทางบวก จึงเป็นอีกหนทางที่จะช่วยป้องกัน ความวิตกกังวล โรคซึมเศร้า และโรคทางจิตเวชได้





ตัวที่ 2 : สารสื่อประสาท โดปามีน (dopamine)


หน้าที่ของสาร : สารนี้เกี่ยวข้องกับ ความตื่นตัว การเคลื่อนไหว และยังเกี่ยวข้องกับความสุขอีกด้วย คล้ายกับ เอนโดฟีน หรือ สารสร้างความสุข แต่ก็เกี่ยวข้องกับความก้าวร้าว(หงุดหงิด)



ความสำคัญ : ตัวนี้ก็เป็นอีกตัวที่ถ้าหากมีความผิดปกติ จะทำให้เกิดโรคทางจิตเวชได้ และ ยังเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันอีกด้วย เนื่องจากมีส่วนในการสร้างความสุข ถ้าหากโดปามีนหยุดทำงาน ก็จะทำให้เราเกิดอาการหงุดหงิดได้



ถ้าอยู่ในระดับที่มากเกิน จะเกิดโรค จิตเภท หรือ โรคจิต ซึ่งจะอธิบายให้ฟังในหัวข้อ โรคจิตเภท( Schizophrenia)

ถ้าอยู่ในระดับที่ต่ำเกิน จะเกิดโรค พาร์กินสัน



วิธีดูแล : ตัวนี้ค่อนข้างดูแลยากกว่า ซีโรโทนิน และเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตนค่อนข้างมาก แต่ก็พอสรุปได้ง่ายๆว่า



1. งดสารเสพย์ติด



สารเสพย์ติดนั้น จะไปกระตุ้นให้ โดปามีน ให้มีระดับสูง และเมื่อเรางดสารเสพย์ติด ระดับของ โดปามีน จะลดต่ำลง จึงทำให้เราเกิดอาการหงุดหงิด



2. วิตามิน E และ โปรตีน/แป้ง



ยังไม่แน่ชัดว่า วิตามิน E ช่วยโดปามีนยังไง แต่ในโรคของพาร์กินสัน ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับโดปามีน วิตามิน E ช่วยป้องกันพาร์กินสันได้ รวมทั้งโปรตีนก็ช่วยให้ระดับของ โดปามีน สูงขึ้น แต่ก็ทำให้หงุดหงิดง่ายตามด้วย หากเครียดให้ทานพวกแป้งเข้าช่วย ออกกำลังกายก็ช่วยได้เช่นเดียวกัน



3. ยาบำบัด



ยาเพิ่มระดับโดปามีน - ในกลุ่มของโรคจิตเภท ซึ่งมีระดับ โดปามีน สูงเกิน ก็จะต้องใช้ยาโดยเฉพาะ กลุ่มออกฤทธิ์ต้านโดปามีน แต่เนื่องจากว่า ยาจะมีผลข้างเคียงมาก เช่น มีอาการเกร็งที่คอ เคลื่อนไหวช้า ตัวแข็ง

ยาลดระดับโดปามีน - จะมีกลุ่มยาที่เข้าไปแล้วเปลี่ยนแปลงเป็นโดปามีน กลุ่มยาที่ออกฤทธิ์เลียนแบบโดปามีน และ กลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ต่อต้านเอมไซส์ ซึ่งจะทำให้โดปามีนทำงานได้ดีขึ้น





ตัวที่ 3 : สารสื่อประสาท กาบา (Gaba)


หน้าที่ของสาร : สารตัวนี้จะทำหน้าที่ ยับยั้ง ทั้งความคิด และ การเคลื่อนไหว

ความสำคัญ : กาบา จะมีฤทธิ์ในการต้าน โดปามีน ช่วยทำให้ควบคุมร่างกายและความนึกคิดได้

ถ้าหากขาดสารตัวนี้ จะเกิดความวิตกกังวลรุนแรง สูญเสียความคิด ควบคุมร่างกายไม่ได้ พฤติกรรมผิดปกติ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคลมบ้าหมู

วิธีดูแล : ขอข้ามไปก่อน แมวยังหาข้อมูลสารตัวนี้ได้น้อยมาก แต่หลักสำคัญก็อย่างที่กล่าวไปแล้ว





ตัวที่ 4 : สารสื่อประสาท นอร์อิพิเนฟรีน (norepinephrin)


หน้าที่ของสาร : มีหน้าที่ยับยั้ง และ กระตุ้น เนื้อเยื่อต่างๆ รวมทั้งเกี่ยวกับการหลับ และ อารมณ์ต่างๆ

ความสำคัญ : เนื่องจากทำหน้าที่ในการกระตุ้น หรือ ยับยั้งการทำงาน จึงมีความสำคัญมาก เช่น หัวใจเต้นเร็วขึ้น ยับยั้งการทำงานของลำไส้ ลดความถี่ของการบีบตัว ช่วยคลายตัวในกล้ามเนื้อของปอด

ในส่วนของการนอนหลับ และ อารมณ์ต่างๆ ยังไม่มีรายงานว่า เกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้ามากเท่า ซีโรโทนิน


แต่ก็เชื่อกันว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และ ไบโพล่าร์(ระยะซึมเศร้า) มีระดับของสารสื่อประสาท นอร์อิพิเนฟรีน ต่ำด้วยเช่นกัน

การดูแล : การทานอาหารที่มีโปรตีน จะช่วยเพิ่มระดับของ นอร์อิฟิเนฟรีนได้





ตัวที่ 5 : สารสื่อประสาท อะเซทิลโคลีน (Acetycholin)


หน้าที่ของสาร : มีส่วนในการกระตุ้น ทั้งในส่วนของร่างกาย และ สำคัญมากในด้านความจำ

ความสำคัญ : ในส่วนของร่างกายจะช่วยในการกระตุ้น เช่น การเพิ่มของน้ำลาย แต่จะยับยั้งการเต้นของหัวใจให้ช้าลง ในขณะที่ นอร์อิฟิเนฟรีน จะกระตุ้นให้เต้นไวขึ้น ดังนั้นอะซีทีโคลีน จึงทำงานร่วมกับนอร์อิฟิเนฟรีน

ถ้าหากสมองที่ผลิตสารตัวนี้เสื่อมลง ก็มีผลทำให้เกิดโรค อัลไซเมอร์ และถ้าหากสารตัวนี้อยู่ในระดับต่ำ จะส่งผลต่อความทรงจำ สมาธิสั้น ขี้ลืม และ ส่งผลต่อการเคลื่อนไหว

วิธีดูแล : วิธีก็ไม่ยากค่ะ



1. งดสารเสพย์ติด



งดสารเสพย์ติด โดยเฉพาะ บุหรี่ เพราะ นิโคตินจะไปขัดขวางการทำงานของอะเซทิลโคลีน

2. ทานอาหารกลุ่มให้เหมาะสม



ก็พวกวิตามิน B ทั้งหลาย กล้วย ถั่ว ธัญพืชต่างๆ
อาหารกลุ่มโคลีน พบใน ไข่แดง ตับ ถั่วลิสง
น้ำมันปลา โอเมก้า 3
อาหาร วิตามิน ซี และ อี กินพวกผลไม้ก็ช่วยได้ ส้ม องุ่น แปะก๊วย มะพร้าว(มีเอสโตรเจน)



3. ออกกำลังกาย



การออกกำลังกาย จัดเป็น 1 ในวิธีดูแลสุขภาพร่างกายยอดฮิต ออกกำลังกาย ช่วยร่างกายเราได้เสมอ




จบในส่วนของสารสื่อประสาท





3. ปัจจัยทางชีวภาพอื่นๆ
เช่น ฮอร์โมน วิตามิน ความผิดปกติของร่างกาย และ โรค


เนื่องจากปัจจัยหมวดนี้ ข้อมูลไม่ค่อยมีมาก และ ค่อนข้างกระจัดกระจาย เลยขอรวมเป็นหัวข้อเดียวกันเลย

ฮอร์โมน - มีงานวิจัยว่า ผู้ชายที่มีฮอร์โมนเพศชายต่ำ มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า และ การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในแต่ละช่วงวัย ก็มีผลเช่นเดียวกัน และในผู้ป่วยซึมเศร้าบางราย มีการพบว่า ต่อมไทรอยด์มีความผิดปกติ

วิตามิน - ในต่างประเทศ มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ที่ได้รับการบำบัดโดยการใช้แสงสังเคราะห์ เพื่อช่วยลดอาการวิตกกังวล และมีการตั้งสมมุติฐานว่า การขาดวิตามิน D มีผลทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า เราสามารถรับวิตามิน D ได้โดยการรับแสงแดดยามเช้าๆ

โรค - เช่น เบาหวาน มีรายงานว่า ภาวะซึมเศร้า จะส่งผลให้อาการของเบาหวานเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากส่งผลเกี่ยวกับน้ำตาล





4. ปัจจัยทางความคิด


เป็นการคิดแง่ลบ ของผู้ป่วยเองที่รู้สึกตัวเขาบกพร่อง ไร้คุณค่า และ มีความคิดในแง่ลบ โดยมักจะตีความสิ่งแวดล้อมรอบตัวในทางลบ ไม่ว่าจะเป็น สังคมทางครอบครัว การงาน หรือ เรื่องส่วนตัว

จะคิดว่า ตัวเองไม่สมควรได้รับการให้อภัย หรือ ได้ทำผิดต่อคนอื่นอย่างมาก ตัวเองไร้คุณค่าที่จะอยู่ โดยมีการคิดมากเกินความจริง เมื่อได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว





5. ปัจจัยทางสังคม / สิ่งกระตุ้น


อาจเกิดอย่างกะทันหัน เช่น สูญเสียผู้ที่เป็นที่รัก สูญเสียหน้าที่การงาน หรือ ปัญหาที่เรื้อรังมานานด้าน ครอบครัว การเงิน คู่ครอง ความยากลำบากในชีวิต


และอีกหัวข้อก็คือ เพศ ซึ่ง เพศหญิงจะมีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า มากกว่า เพศชาย แต่ในเพศหญิง ไม่มีรายงานว่า การหมดประจำเดือน จะช่วยเพิ่มความเสี่ยงแต่อย่างใด






อาการของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า







แนะนำให้ทำแบบประเมินผลต่างๆได้ตามลิงค์นี้ค่ะ



แบบคัดกรองภาวะซึมเศร้า กรมสุขภาพจิต

ดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทยฉบับสมบูรณ์

แบบคัดกรองความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย

แบบการประเมินและวิเคราะห์ความเครียด

แบบคัดกรองสภาวะซึมเศร้า

แบบวัดความซึมเศร้า CES-D

แบบทดสอบชนิด CES-D
สร้างโดยสมาคมจิตแพทย์อเมริกา
เหมาะสำหรับ การทดสอบในวัยผู้ใหญ่
และวัยที่อายุ 60 ปีขึ้นไป








การที่จะบอกว่า เป็นซึมเศร้า หรือเปล่า
ส่วนหนึ่งก็คือ ระยะเวลาที่เกิดอาการ ควรมากกว่า 2 อาทิตย์ขึ้นไป
และต้องมีอาการหลายอย่างประกอบกัน
โดยอาการเหล่านั้นได้แก่


ด้านจิตใจ - อารมณ์


- ความสนใจที่จะทำสิ่งต่างๆ ลดลงอย่างมาก
- ความรู้สึกเพลิดเพลินที่จะทำสิ่งต่างๆหมดไป
- มีความหงุดหงิด หรือ กระวนกระวายใจเสมอ
- รู้สึกขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง รู้สึกตัวเองไร้คุณค่า
- รู้สึกเศร้าหมอง หรือ เศร้าซึมต่อเนื่อง
- ไม่มีสมาธิ หรือ สมาธิสั้นลง
- อยากร้องไห้ โดยไม่มีสาเหตุ
- มีปัญหาในการคิด ตัดสินปัญหาไม่ได้
- คิดในแง่ลบ และ โทษตัวเอง
- อยากจะฆ่าตัวตาย


ด้านพฤติกรรม และ ร่างกาย


- กินอาหารมากขึ้น หรือ ลดลงจากเดิม อย่างผิดปกติ
- กิจกรรมทางเพศลดลง หรือ ขาดความสนใจในกิจกรรมทางเพศ
- เหินห่างกับคนรอบข้าง พยายามแยกตัวจากกิจกรรมทางสังคม
- มีอาการเจ็บป่วยทางกาย ปวดศีรษะ ปัญหาทางระบบอาหาร
เจ็บป่วยโดยไม่มีสาเหตุบ่อยๆ
- นอนไม่หลับ หรือ นอนมากเกินไป
- ไม่สนใจสุขอนามัยตัวเอง รูปร่างหน้าตา
- ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงอย่างมาก
- รู้สึก เหนื่อยอ่อน เบื่อหน่าย ไม่มีแรง และ ขาดแรงจูงใจ



โรคซึมเศร้าชนิดต่างๆ



เนื่องจากมีการแบ่งเยอะพอควร
แมวจะขอยกมาอธิบายแค่ 5 ชนิด
และจะพูดถึงการเศร้าแบบธรรมดาๆ(Normal sadness)
ว่าต่างจากโรคซึมเศร้ายังไง


ชนิดของซึมเศร้าแบบต่างๆ


1. ซึมเศร้าอ่อนๆ (Mild depression)
2. ซึมเศร้ารุนแรง (Major depression)
3. ซึมเศร้า ดีสไทเมีย หรือ ซึมเศร้าเรื้อรัง (Dysthymia)
4. ซึมเศร้าหลังคลอด (Baby Blues)
5. โรคอารมณ์แปรปรวนตามฤดูกาล
(Seasonal Affective Disorder - SAD)





ซึมเศร้าแบบธรรมดา


เนื่องจาก ทุกคนมีอารมณ์ มีความรู้สึก ดังนั้นก็สามารถเศร้าได้ โดยที่ไม่ต้องเป็นโรค แม้ว่าบางคนมีอาการเหมือนโรคซึมเศร้า เกือบจะทุกข้อ แต่ไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้า เนื่องจาก การเศร้าอย่างธรรมดา จะมีความรุนแรงน้อยกว่า และ ระยะเวลาไม่ยาวนาน สามารถหายได้ด้วยตัวเอง

โดยทั่วไป เราสามารถเศร้าได้ โดยการดูหนัง หรือมีสิ่งมีกระเทือนอารมณ์ แม้แต่การสูญเสียสิ่งที่รัก แต่ผู้ที่เศร้าแบบธรรมดาๆ จะมีการฟื้นตัวได้ในระยะเวลาต่อมา ไม่มีอาการเรื้อรัง หรือ คิดโทษตัวเองอย่างรุนแรง ในระยะยาวนาน ไม่มีอาการหลีกหนีความจริง แยกตัวออกจากสังคม หรือ บิดเบือนความจริง

ผู้ที่เป็นซึมเศร้าชนิดธรรมดาจะสามารถยับยั้งตัวเองได้ และ รู้สึกเหตุที่ทำให้เศร้า สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ต่างจากคนที่เข้าข่ายเป็นโรค จะไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ หรือ มีปัญหาในการดำเนินชีวิต




ชนิดต่างๆของโรคซึมเศร้า



1. ซึมเศร้าอ่อนๆ (Mild depression)



ซึมเศร้าชนิดนี้ จะไม่รุนแรงมากนัก มีอาการอยู่ปานกลาง แต่ก็มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น นอนไม่หลับ ไม่มีความสุข แต่ยังสามารถทำงานโดยทั่วไปได้

ผู้ป่วยมักไม่ทราบว่า ตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าชนิดนี้ เนื่องจาก ความคิดที่ว่า ก็แค่ความเศร้าธรรมดา และไม่ได้ไปขอคำปรึกษาจากแพทย์ หรือเล่าให้คนในครอบครัว / เพื่อนฟัง โดยทั่วไประดับนี้คนที่ไม่สนิท จะไม่ค่อยรู้ว่า ผู้ป่วยผิดปกติไป


โรคซึมเศร้าชนิดนี้ องค์การอนามัยโรคได้ระบุไว้ว่า ต้องมีอาการ 2 ใน 3 ตัวแรก และมีอาการไม่ต่ำกว่า 2 ข้อ

1. ในช่วง 2 สัปดาห์ มีอาการเศร้าอย่างผิดปกติ
2. สูญเสียความสนใจ หรือ ความต้องการ ที่จะทำในสิ่งที่เคยชอบทำ
3. รู้สึกเหนื่อยง่าย และ พลังงานในร่างกายลดลง (อ่อนล้า)
4. สูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเอง
5. รู้สึกว่า ทำในสิ่งที่ไม่น่าให้อภัย
6. คิดถึงการฆ่าตัวตาย
7. สูญเสียความสามารถในการคิดอ่าน
8. การเคลื่อนไหวช้าลง
9. มีปัญหาในการนอนหลับ ( หลับยาก / นอนไม่หลับ / หลับไม่สนิท)
10. ความอยากอาหาร และ น้ำหนักเปลี่ยนมาก (มาก หรือ ลดลง ก็ได้)
11. ความรู้สึกเกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศลดลง
12. มีการเจ็บป่วยทางร่างกาย โดยไม่ทราบสาเหตุ

สภาวะโรคซึมเศร้าชนิดนี้ อาจจะเป็นในช่วงระยะเวลาสั้น (3-4 อาทิตย์) หรือ เป็นช่วงเวลาระยะหนึ่งแล้วก็พักเป็นช่วงๆก็ได้






2. ซึมเศร้ารุนแรง (Major depression)



ผู้ป่วยในโรคซึมเศร้าชนิดรุนแรง จะมีการแสดงออกของโรคอย่างน้อย 5 ข้อ และ มีความคิดที่รุนแรงกว่า รวมทั้งการแสดงออกจะแสดงในระยะสั้น (แต่ก็นานกว่า 2 อาทิตย์) เฉียบพลัน แต่รุนแรง และ ทำให้มีปัญหาอย่างมากในการดำเนินชีวิต

ในระยะนี้ จะมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูง และ มีความรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า หรือ ได้กระทำความผิดอย่างรุนแรงที่ไม่น่าให้อภัย มีความรู้สึกเฉื่อยชา หลีกหนีสังคม และอาจเกิดอาการ "หลงผิด" ระยะนี้อาจจะต้องบำบัดโดยการใช้ยาเข้าร่วมด้วย หรือ บำบัดด้วยไฟฟ้า และในรายที่มีการเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ก็อาจต้องพักอยู่ในโรงพยาบาล ในความดูแลของแพทย์

มีรายงานว่า ผู้ป่วยในระยะนี้ มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จถึง 15% ส่วนอัตราที่พยายามฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จ ก็สูงขึ้นอีกเท่าตัว






3. ซึมเศร้า ดีสไทเมีย หรือ ซึมเศร้าเรื้อรัง (Dysthymia)


สำหรับชนิดดีสไทเมีย จะคล้ายซึมเศร้าชนิดอย่างอ่อน แต่จะมีความเรื้อรัง อย่างน้อยต้องมีอาการแสดงต่อเนื่องมาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้ แต่จะขาดความพึงพอใจในชีวิตไป มีความรู้สึก เศร้า นอนไม่หลับ ขาดความเชื่อมั่นใจตัวเอง หรือ คิดว่าตัวเองไม่มีค่าได้รับสิ่งนั้น อย่าง คำชม หรือ รางวัลต่างๆ

ซึมเศร้าชนิดนี้ จัดเป็นปัญหาอย่างมาก เพราะทำให้สูญเสียบุคลากรที่มีความสามารถ รวมทั้งงบประมาณในการรักษาอย่างมาก เพราะการรักษาจะกินเวลานาน รวมทั้งผู้ป่วยบางคน ไม่คิดว่า ตัวเป็นซึมเศร้า จึงทิ้งระยะเวลาไว้นานเกิน กว่าจะได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง





4. ซึมเศร้าหลังคลอด (Baby blues)


อาการนี้จะเกิดกับคุณแม่หลังคลอดลูก โชคดีที่โรคนี้พบได้ไม่บ่อยนัก พบได้ 0.001-0.003 % เท่านั้น
ความรุนแรงจะแบ่งเป็น 2 ระดับ

ระดับที่ 1 เป็นความรุนแรงในระดับต่ำ เรียกว่า Postpartum Blues หรือ Baby blues เป็นอารมณ์เศร้าหลังคลอด

สามารถหายได้เองใน 2-3วัน หรือ ไม่เกิน 2 อาทิตย์ อาการจะคล้ายกับโรคซึมเศร้า แต่จะมีบางส่วนเพิ่มเข้ามาเช่น


1. รู้สึกไม่ชอบลูก โกรธ หรือ เกลียด ลูกที่พึ่งคลอด
2. รู้สึกไม่ผูกพันกับลูก หรือ ไม่มีความรู้สึกอะไรกับลูก
3. มีความรู้สึกวิตกกังวล คิดว่า เป็นแม่ที่ดีไม่ได้ หรือ คิดว่าเลี้ยงลูกไม่ได้
4. นอนไม่หลับ หรือ รู้สึกว่า อยากนอนตลอดเวลา คิดว่า นอนไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะนอนเท่าไร
5. แยกความสัมพันธ์ของเวลาไม่ออก ระหว่าง นาที และ ชั่วโมง
6. เศร้า ร้องไห้ โดยไม่มีสาเหตุ

อาการดังกล่าวเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นของผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด


ระดับที่ 2 เป็นระดับที่รุนแรง เรียกว่า Postpartum Depression เป็น โรคซีมเศร้าหลังคลอด

สำหรับระยะนี้ จะมีความยาวนานของอาการ และ ความรุนแรงมากกว่าในระดับที่ 1 อาการอาจจะยาวนานเป็นเดือน หรือ เป็นปีทีเดียว ทำให้เกิดความทุกข์ใจในการเลี้ยงลูก หรือ ไม่สามารถดูแลได้ สำหรับระยะนี้ บางคนจำเป็นต้องเข้ารับการรักษา และ พักฟื้นในโรงพยาบาล


คุณแม่ที่ป่วยในระดับที่ 2 อาจจะเกิดความรู้สึก อยากฆ่าตัวตาย

สำหรับโรคนี้ ดาราฮอลิวูด Brooke Shields ซึ่งเคยประสบกับโรคซึมเศร้าหลังคลอด ได้เขียนหนังสือชื่อเรื่อง Down Came the Rain: My Journey Through Postpartum Depression






5. โรคอารมณ์แปรปรวนตามฤดูกาล (Seasonal Affective Disorder - SAD)


สำหรับสาเหตุการเกิดโรคซึมเศร้าชนิดนี้ ยังไม่แน่ชัดว่า เกิดจากอะไร มีข้อสันนิษฐานว่า อาจจะเกิดจากสาเหตุเหล่านี้

1. นาฬิกาชีวิตในแต่ละคน เดินผิดพลาด เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของแสงแต่ละวัน ในช่วงฤดูกาลเปลี่ยนไป

2. เมลาโทนิน ผลิตเพิ่มมากขึ้น จึงส่งผลกระทบต่ออารมณ์

3. เซราโทนิน ลดลง เนื่องจากขาดแสงอาทิตย์เข้ามามีส่วน จึงทำให้ผลิตน้อยลง

โรคนี้มักเกิดในเมืองที่มีในแต่ละวันได้รับแสงแดดน้อย หรือ แต่ละวันมีช่วงเวลาของความมืดมากกว่าความสว่าง และมักเกิดในผู้หญิง และมักเกิดในช่วงอายุ 20 ปี ขึ้นไป

อาการจะเหมือนซึมเศร้า มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้เช่นเดียวกัน แต่จะเป็นแค่ในช่วงเวลาเดิมๆของแต่ละปี หรือ ฤดูกาลที่หมุนเวียนมา แต่บางคนก็เป็นในช่วงฤดูร้อนได้เช่นเดียวกัน




การรักษาและบำบัด



ในการรักษานั้น ผู้ป่วยแต่ละคนอาจจะได้รับวิธีการรักษาหลายๆแนวทางพร้อมกัน เมื่อบำบัดในแนวทางหนึ่งแล้ว ไม่ดีขึ้น ก็อาจจะหาวิธีบำบัดด้านอื่นที่ โดยดูที่ระดับความรุนแรงของผู้ป่วย และ การตอบสนองต่อการรักษา



ซึ่งวิธีเหล่านั้นก็แตกต่างกันไป เช่น

1. การบำบัดด้วยยา
2. จิตบำบัด
3. รักษาด้วยการใช้ไฟฟ้า (ECT)


เอกสารอ้างอิง

1) รศ.นพ มาโนช หล่อตระกูล, โรคซึมเศร้า,หมอชาวบ้าน: กรุงเทพฯ, 2545

2) มุกดา ศรียงศ์ และคณะ, จิตวิทยาทั่วไป, รามคำแหง : กรุงเทพฯ,2544

3) รศ.สิริวรรณ สาระนาค, จิตวิทยาบุคลิกภาพและการปรับตัว, รามคำแหง : กรุงเทพฯ , 2549

4) พญ.สมรัก ชูวานิศวงศ์ และคณะ , เอกสารการทำความเข้าใจกับโรคจิตเวช, สมาคมสายใยครอบครัว : กรุงเทพ

5) ดร.ศรีเรือน แก้วกังวล , ทฤษฏีจิตวิทยาบุคลิกภาพ, หมอชาวบ้าน : กรุงเทพฯ , 2551

6) //www.depressionet.com.au/what-is-depression/mild-depression.html




Create Date : 08 มกราคม 2559
Last Update : 8 มกราคม 2559 23:41:31 น. 1 comments
Counter : 3040 Pageviews.

 
ขอบคุณค่ะ


โดย: ว่างเปล่า IP: 43.240.114.15 วันที่: 22 กรกฎาคม 2564 เวลา:11:45:29 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ขี้เหงา...เอาแต่ใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]














Friends' blogs
[Add ขี้เหงา...เอาแต่ใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.