[ Home] [ Tech] [ จิปาถะ] [ Cactus] Manager Online News
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2551
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
242526272829 
 
21 กุมภาพันธ์ 2551
 
All Blogs
 
BLUE SCREEN OF DEATH !

รู้จักกับ Blue Screen of Death
:: เพิ่มเติมที่นี่ คลิ๊ก !! ::

"จอฟ้ามรณะ" "มฤตยูจอฟ้า" หรือ "จอฟ้าแห่งความตาย" ไม่ว่าใครจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ Blue Screen of Death คือสิ่งที่ผู้ใช้พีซีไม่อยากเจอะเจอมากที่สุด เพราะถ้ามันปรากฏขึ้นเมื่อใด ย่อมหมายถึงได้เวลาที่คุณต้องล้างระบบ ติดตั้งวินโดวส์ใหม่กันแล้ว แต่ในความเป็นจริง จอฟ้ามรณะนี่มันน่ากลัวขนาดนั้นเลยหรือ?

Blue Screen of Death คืออะไร?
เชื่อแน่ๆ ว่าผู้ใช้พีซีไม่ว่าจะมือใหม่หรือมือเก๋า น่าจะเจออาการแบบรูปที่ 1 กันบ้าง ไม่มากก็น้อย
แต่ปฏิกิริยาที่เจออาจจะแตกต่างกัน ถ้าเป็นมือเก๋า ก็แค่ร้อง "ว้าเว้ย!!" แล้วก็หาทางแก้กันไป หน้าจอเดียวกันนี้ ถ้าเป็นมือใหม่หัดใช้คอมพ์ อาจถึงกับลนลานรีบต่อสายตรงที่ช่างซ่อมคอมพ์ทันทีเลยทีเดียว แต่ช้าก่อน!!?? ถ้าคุณได้อ่านบทความเรื่องนี้ อาจช่วยลดอาการลนลานได้บ้าง และถ้าคุณรู้สาเหตุที่มาที่ไปของอาการนี้คุณอาจช่วยเหลือตัวเองได้บ้างโดยไม่ต้องง้อช่างเลย
ทีนี้มาถึงคำตอบของคำถามที่ตั้งเป็นหัวข้อไว้ Blue Screen of Death ( ต่อไปขอย่อว่า BOD ) อธิบายง่ายๆ ก็คือ หน้าจอที่แสดงอาการผิดปกติของวินโดวส์ ซึ่งอาการที่เกิดได้ก็มาจากหลายๆ สาเหตุ ทั้งเกิดจากซอฟต์แวร์ก็ได้ หรือฮาร์ดแวร์ก็ได้ หรือเกิดพร้อมๆ กันเลยก็มี เหตุที่ตั้งชื่อให้มันน่ากลัวขนาดนั้น ก็เพราะถ้าหน้าจอสีฟ้านี้แสดงขึ้นมา มันหมายความว่าอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น ค่อนข้างหนักหนาจนวินโดวส์ไม่สามารถทำงานต่อไปได้ นอกจากรีเซ็ตเครื่องเพียงอย่างเดียว

ในบางกรณี การรีเซ็ตเครื่องหลังจากขึ้นบลูสกรีน ก็สามารถใช้งานเครื่องพีซีต่อได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าปัญหาจะหมดไป วันดีคืนดี หน้าจอมรณะก็อาจจะกลับมาหลอกหลอนได้อีก เพราะสาเหตุของปัญหายังไม่ได้ถูกขจัด ถามว่าทำไมบลูสกรีนอยู่ๆ ก็เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ทั้งๆทีใช้งานมาตั้งนานยังไม่เคยมีปัญหาแบบนี้? คำตอบของปัญหานี้จะไปโทษระบบปฏิบัติการเพียงอย่างเดียวก็คงจะไม่ได้ อย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่าการทำงานของเครื่องพีซีต้องประกอบไปด้วยฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เป็นหลัก

มาถึงตรงนี้อาจจะเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมหน้าจอมรณะถึงพบบ่อยได้นักในระบบปฏิบัติการ วินโดวส์ทุกยุค ทุกสมัย นั่นก็เพราะ วินโดวส์เป็นระบบปฏิบัติการที่จำเป็นต้องออกแบบให้ใช้กับเครื่องพีซีและอุปกรณ์ รอบข้างให้ได้หลากหลายที่สุดเท่าที่จะทำได้ แตกต่างจากระบบยูนิกซ์หรือ แมคโอเอส ที่ออกแบบมาเพื่อเครื่องยูนิกซ์หรือแอปเปิ้ลเพียงอย่างเดียว ลองนึกดูง่ายๆ แค่เมนบอร์ดที่ใช้กับเครื่องพีซีก็มีกี่ยี่ห้อ กี่รุ่น เข้าไปแล้ว ยังไม่นับกราฟิกการ์ด ซาวด์การ์ด โมเด็ม ฯลฯ และอีกสารพัดอุปกรณ์ที่ต้องนำมาเชื่อมต่อ ซึ่งอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้ถ้าเกิดปัญหาเรื่องความไม่เข้ากันเมื่อไหร่จอฟ้ามรณะก็บังเกิดขึ้นได้

ความจริงวินโดวส์เองก็มีข้อบังคับเรื่องของฮาร์ดแวร์คอมแพตทิเบิลอยู่ รายระเอียดของเรื่องนี้อยู่ที่ //www.microsoft.com/resources/documentation/windows/xp/all/proddocs/en-us/hsc_compat_overview.mspx ซึ่งอุปกรณ์แต่ละชิ้นถ้าผ่านการรับรองจากไมโครซอฟต์แล้ว จะมีโลโก้แสดงว่าวินโดวส์ คอมแพตทิเบิลอยู่ แต่สมัยนี้อุปกรณ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย บางตัวก็ติดโลโก้วินโดวส์คอมแพตทิเบิลมาด้วย แต่ผู้ใช้ก็ไม่มีทางรู้ว่าจริงหรือไม่ ยังไม่นับซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่ร้อยพ่อพันแม่พัฒนากันออกมา ดังนั้นในความเป็นจริง ผู้ใช้จึงไม่สามารถใช้อุปกรณ์ที่เป็นคอมแพตทิเบิลร่วมกันได้ทั้งหมดได้

ที่เล่ามาทั้งหมด แค่อยากจะชี้ให้เห็นถึงสาเหตุของปัญหาบลูสกรีนที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องบอกล่วงหน้า ตราบใดที่เรายังใช้วินโดวส์ที่ยังคงรันอยู่พีซีที่ภายในมีอุปกรณ์ติดตั้งไม่ซ้ำยี่ห้อกันเลยแม้แต่ยี่ห้อเดียว

ในวินโดวส์ NT, 2000 และ XP นั้น BOD ที่เกิดขึ้น มักเกิดมาจากเคอร์แนลหรือไดรเวอร์ ที่เกิดทำงานผิดพลาดโดยที่ไม่สามารถจะคืนสภาพการทำงานให้กลับมาเหมือนเดิมได้ เช่น ไดรเวอร์ส่งค่าบางอย่างที่ไม่ถูกต้องไปยังกระบวนการอื่นๆ ทำให่ตัวระบบปฏิบัติการทำงานผิดพลาด วิธีเดียวที่ผู้ใช้จะแก้ไขได้ คือ รีบูตเครื่องคอมพิวเตอร์
ซึ่งนั่นหมายความว่า ข้อมูลหรืองานที่คุณกำลังทำอยู่มีโอกาสที่จะหายไปด้วยเพราะวินโดวส์ไม่ได้ถูกสั่งปิดแบบปกติ
การพิจารณาแก้ปัญหา BOD ดูได้จากข้อความที่แสดงและเออเรอร์โค้ด บางปัญหาวินโดวส์จะแสดงข้อความที่เป็นสาเหตุอย่างชัดเจน แต่บางปัญหาก็ไม่สามารถอาศัยข้อความที่แสดงเพียงอย่างเดียว ต้องนำเอาเออเรอร์โค้ดมาร่วมพิจารณาด้วย ตำแหน่งของข้อความและเออเรอร์โค้ด เช่น

Error : IRQL_NOT_LESS_OR_EQUAL (Error Code : Stop 0x0000000A)
ความหมายของ 0xA นั้นหมายความว่า Kernel-mode process หรือไดรเวอร์นั้นไม่สามารถจะเข้าถึงเมโมรีที่จองไว้ได้ อาจเนื่องจากไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้าถึง หรือค่าที่เคอร์แนลส่งระดับ IRQL นั้นอยู่สูงเกินไป แต่ Kernel-mode process ที่มีค่า IRQL ต่ำกว่าสามารถเข้าถึงหน่วยความจำนั้นได้ โดยส่วนมาก Stop Message นี้มักจะมาจากการที่ไม่คอมแพตทิเบิลของฮาร์ดแวร์หรือซอฟท์แวร์ที่อยู่ในเครื่องนั่นเอง

สาเหตุและหนทางแก้ปัญหาที่อาจเป็นไปได้
สาเหตุนี้อาจเกิดหลังการติดตั้ง device driver, system sevice หรือ Firmware ที่เสียหายหรือไม่สมบูรณ์ หาก Stop Message นั้นแสดงชื่อไดรเวอร์ที่ผิดพลาดมาด้วยให้แก้ไขโดยการยกเลิก หรือ rollback กลับไปใช้ ไดรเวอร์ที่สมบูรณ์ หรือหากยังแก้ไขไม่ได้ อาจจะเป็นที่ไฟล์ที่ใช้ในการติดตั้งไดรเวอร์เกิดเสียหาย เพราะไวรัสก็ได้ ต้องตรวจสอบจุดนี้ด้วย

ข้อผิดพลาดอาจเกิดจากตัวฮาร์ดแวร์ก็ได้ หากเออเรอร์นี้แจ้งประเภทของ Device มา ยกตัวอย่างเช่น กราฟิกการ์ดหรือไดรฟ์ ก็ให้ลองปลดหรือเปลี่ยนอุปกรณ์ที่Error Message แจ้งมาอาจจะช่วยแก้ปัญหาได้

หากปัญหานี้เกิดมาในช่วงที่คุณกำลังติดตั้งเซอร์วิสแพ็ค ของวินโดวส์ สาเหตุอาจ
จะมาจากการที่ไม่คอมแพตทิเบิลกันของไดรเวอร์หรือ System Service ที่ได้ติดตั้งไว้ให้ลองถอน Third-party Device ก่อนการติดตั้งเซอร์วิสแพ็ค และเมื่อหลังจากติดตั้งสำเร็จแล้วให้ลองติดต่อไปยังโรงงานผู้ผลิต เพื่อสอบถามหาไดรเวอร์ที่เข้ากันได้อีกที

Error : KMODE_EXCEPTION_NOT_HANDLED (Error Code : 0x0000001E)
ค่า 0x1E เป็นเครื่องบ่งบอกว่าวินโดวส์ เอ็กซ์พีตรวจสอบพบชุดคำสั่งที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่อาจระบุได้ ปัญหาที่พบจาก 0x1E นั้นใกล้เคียงกับการเกิดขึ้นของ 0xA อาจจะแตกต่างกันเล็กน้อย ที่ ค่า 0xA เกิดจากการใช้งานผิดพลาดที่หน่วยความจำ แต่ เจ้า 0x1E นั้น เป็นการผิดพลาดจากชุดคำสั่ง

สาเหตุและหนทางแก้ปัญหาที่อาจเป็นไปได้
0x1E โดย ส่วนมากจะปรากฏหลังจากติดตั้งไดรเวอร์ หรือ System sevices ที่ผิดพลาด หรือเกิดจากอุปกรณ์ที่ติดตั้งลงไปใหม่นั้นทำให้เกิดการขัดแย้งหรือแย่งกันใช้งานค่าบางอย่าง เช่น หน่วยความจำหรือ IRQ ( memory or IRQ conflicts) ถ้าเออเรอร์นี้ แสดงรายละเอียดของชื่อไดรเวอร์ที่มีปัญหาก็ให้ลองหยุดใช้ หรือ ถอดถอนไดรเวอร์เจ้าตัวที่มีปัญหาออก อาจจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ หรืออาจจะเป็นที่ไฟล์ไดรเวอร์ที่ติดตั้งนั้นเสียหายจากไวรัส เป็นต้น

แต่ถ้าเออเรอร์นั้นได้อ้างถึงไฟล์ชื่อ Win32k.sys อาจจะเกิดจากมีการติดตั้งไฟล์ตัวนี้มาแทนที่จากโปรแกรมอื่นๆ วิธีแก้ก็ลองให้พยายามยกเลิก system service นี้ โดยการสตาร์ทวินโดวส์ใน Safe Mode แต่หากยังแก้ไขไม่ได้ คงต้องใช้งาน Recovery Console เพื่อลบไฟล์ System Service ที่สร้างปัญหานั้นทิ้ง

ปัญหานี้ก็อาจจะเกิดมาจากอัพเดตไบออสที่เข้ากันไม่สมบูรณ์ เช่น ไบออสที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานพลังงาน (ACPI) ให้ลองแก้ไข โดยการกลับไปใช้ไบออสตัวเก่า หรือหาตัวที่สมบูรณ์กว่านี้

อีกสาเหตุหนึ่ง อาจมาจากพื้นที่ฮาร์ดดิสก์ไม่เพียงพอต่อการติดตั้งโปรแกรมวิธีแก้ง่ายๆ เพียงแต่จัดหา หรือบริหารพื้นที่ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน เช่น การลบ Temporary File ทิ้ง (พวกไฟล์นามสกุล .tmp) พวก Internet Cache files, หรือ ไฟล์ต่างๆ ที่ไม่ได้ใช้งาน แล้วก็กลับไปติดตั้งโปรแกรม ที่ต้องการต่อได้ หรืออีกสาเหตุหนึ่ง ปัญหานี้อาจจะเกิดจากการที่หน่วยความจำไม่เพียงพอต่อการใช้งาน เนื่องจากโปรแกรมหรือเซอร์วิสบางตัวนำหน่วยความจำไปใช้งาน แล้วไม่ยอมคืนหน่วยความจำกลับมา ให้คุณใช้ยูทิลิตี้ที่ชื่อว่า Poolmon (Poolmon.exe) มาช่วยเหลือ (อยู่ในไดเรกทอรี SupportToolsของแผ่นติดตั้งวินโดวส์ เอ็กซ์พี) เจ้าตัวนี้สามารถช่วยคุณตรวจสอบว่าโปรแกรมตัวไหนนำหน่วยความจำไปใช้ และไม่ยอมคืนบ้าง เมื่อเจอแล้ว คุณอาจต้องถอนการติดตั้งโปรแกรมนั้นเสีย

Error : NTFS_FILE_SYSTEM (Error Code : 0x00000024)
0x24 บ่งบอกถึงปัญที่เกิดขึ้นจากไฟล์ Ntfs.sys ซึ่งเป็นไดรเวอร์ที่ใช้ในการอนุญาตให้ระบบสามารถอ่านและเขียนระบบไฟล์ซิสเต็มส์แบบ NTFS ปัญหานี้จะคล้ายกับโค้ด 0x23 ซึ่งมาจากความผิดพลาดในการอ่านหรือเขียนไฟล์ซิสเต็มส์แบบ FAT16 หรือFAT32

สาเหตุและหนทางแก้ปัญหาที่อาจเป็นไปได้
อาจเกิดจากการทำงานผิดพลาดของฮาร์ดแวร์ SCSI หรือ ATA หรือไดรเวอร์ที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์จำพวกนี้ ทำให้เกิดความผิดพลาดในการอ่านหรือเขียนข้อมูลสู่ดิสก์ไดรฟ์ จากปัญหานี้ถ้าคุณใช้งานฮาร์ดแบบ SCSI ให้ตรวจสอบที่รายละเอียดในส่วนของสายเชื่อมต่อ หรือจุดเชื่อมต่อต่างๆ และลองตรวจสอบที่ Event Viewer เพื่อตรวจหาข้อผิดพลาดที่อาจจะเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ ดังกล่าว

ตรวจสอบให้แน่ใจว่าระบบที่ใช้ในการตรวจสอบระบบของคุ ณ ไม่ว่าจะเป็นระบบ Anti virus หรือระบบแบ็กอัพที่ใช้งาน ทำงานเข้ากันได้อย่างสมบูรณ์กับ วินโดวส์ เอ็กซ์พี หลังจากนั้นให้ลองตรวจสอบกับอุปกรณ์ที่คุณใช้งาน บางชิ้นนั้นจะให้มากับเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจสอบความสมบูรณ์ของมันได้ (Diagnostic Tool) หากไม่มีเครื่องมือจำพวกนี้มาให้ เราก็สามารถตรวจสอบได้จากเครื่องมือของวินโดวส์ที่ให้ซึ่งมี 2 วิธีดังนี้ (ควรทำใน Safe mode)

วิธีที่ 1
1. ในช่อง Run ให้พิมพ์คำว่า "cmd"
2. ให้เริ่มต้นใช้งานเครื่องมือ Chkdsk, และใส่พารามิเตอร์เพื่อตรวจสอบความผิดพลาดของไฟล์โดยพิมพ์คำสั่ง ว่า "chkdsk [drive:] /f" (drive: คือชื่อไดรฟ์ที่คุณต้องการตรวจสอบ เช่น C: D: E: หรือ F: เป็นต้น)
ข้อควรระวัง ถ้าคุณไม่ได้ใช้งานระบบ NTFS ไฟล์ที่มีการตั้งชื่อยาวกว่า 8
ตัว อักษร อาจจะเกิดการสูญหายไปจากฮาร์ดดิสก์ได้ หลังจากการตรวจสอบด้วยวิธีนี้

วิธีที่ 2
1. ดับเบิลคลิ้กที่ My computer และเลือกไปที่ฮาร์ดดิสก์ที่ต้องการจะตรวจเช็ค
2. ที่หัวข้อ "File" บนเมนูบาร์ให้เลือกที่ Properties
3. เลือกแท็บที่เขียนว่า Tools
4. ให้เช็คที่ช่องที่เขียนว่า Error-checking box
5. ในหัวข้อเช็ค Check disk options ให้เลือกที่ Scan for and attempt recovery for and sectors หรือ จะเลือกที่automatically fix file system error ด้วยก็ไม่เสียหาย

อีกสาเหตุหนึ่งอาจจะมาจากปัญหา Nonpage pool memory ในหน่วยความนำในระบบหมดสิ้นอย่างสิ้นเชิง สาเหตุนี้สามารถแก้ได้อย่างง่ายได้ โดยใช้เงินในกระเป๋าคุณไปซื้อแรมมาเพิ่มนั่นเอง

Error : DATA_BUS_EROR (Error Code : 0x0000002E)
0x2E บ่งบอกถึงระบบตรวจสอบหน่วยความจำมีความผิดพลาด ซึ่งอาจจะเกิดมาจากความผิดพลาดในหน่วยความจำ เช่น ส่วนของการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล (ECC) หน่วยความจำในที่นี้รวมไปถึงหน่วยความจำหลักบนเมนบอร์ด แคช L2 หรือแม้หน่วยความจำในการ์ดแสดงผล ซึ่งจากสาเหตุที่เกิดขึ้นมาในข้างต้นนั้น ทำให้เกิดกันเข้ากันอย่างไม่สมบูรณ์ หรือความผิดพลาดบางอย่างในตัวอุปกรณ์ หรือดีไวซ์ไดรเวอร์นั้นพยายามจะเข้าถึงหน่วยความจำในตำแหน่งที่มีอยู่จริง ก็ทำให้เกิด BOD ได้ 0x2E ก็สามารถเกิดได้จากความเสียหายของฮาร์ดดิสก์อันเกิดจากไวรัสคอมพิวเตอร์ หรือปัญหาอื่นๆ ได้

สาเหตุและหนทางแก้ปัญหาที่อาจเป็นได้
0x2E โดยทั่วๆ ไปจะเกิดจากการผิดปกติ การทำงานคลาดเคลื่อน หรือการพังของอุปกรณ์หน่วยความจำในระบบ เช่น หน่วยความจำปกติ แคช L2 หรือหน่วยความจำในการ์ดแสดงผล ให้ลองเปลี่ยนอุปกรณ์ที่อาจจะเกิดความเสียหายได้ หรือลองถอดออกในกรณีที่ไม่มีของให้เปลี่ยน แล้วลองหาเครื่องมือที่เอาไว้ ตรวจสอบความถูกต้องของอุปกรณ์ดังกล่าว ( Diagnostics tool) ที่มาจากโรงงานผู้ผลิต เพื่อดูว่ามีส่วนไหนเสียหายหรือไม่

0x2E สามารถจะเกิดขึ้นหลังจากการที่คุณติดตั้งดีไวซ์ไดรเวอร์ที่มีความเสียหาย ถ้าเออเรอร์นั้นแสดงรายละเอียดของไฟล์หรือชื่อของส่วนที่ทำให้เกิดข้อผิดพลาด ก็ให้แก้ไขด้วยวิธีเดิมๆ ในข้างต้น คือยกเลิกการใช้งาน หรือถอดถอนทิ้งหรือถอยกลับไปใช้ไดรเวอร์ในรุ่นที่ยังใช้งานได้ดีอยู่ และให้ลองเข้าไปดูในเว็บไซต์ของบริษัทผู้ผลิตเพื่อดูรายระเอียดดีไวซ์ไดรเวอร์ที่เข้ากันได้สมบูรณ์กับระบบ

อีกสาเหตุหนึ่งที่ไม่น่าเชื่อ แต่ก็เป็นไปได้ ก็คือเกิดจากคราบสกปรกที่เกาะอยู่ตามผิวของอุปกรณ์ที่เมนบอร์ด ถ้าหากตรวจสอบและทำความสะอาดแล้วยังมีปัญหาอยู่แนะนำให้ส่งเครม

Error : NO_MORE_SYSTEM_PTES (Error Code : Stop 0x0000003F)
0x3F อาจเกิดขึ้นจาก Page Table Entries (PTE) ของระบบเกิดการทำงานผิดพลาด หรือ ไม่ปะติดปะต่อกันเมื่อระบบทำงานประมวลผลชุดคำสั่งที่มีการใช้ตัวเลขจำนวนมากกในการประมวลผล
หรือ อาจเกิดจำดีไวซ์ไดรเวอร์ ที่ติดตั้งนั้นไม่สามารถบริหารหน่วยความจำได้อย่างมีประสิทธิภาพได้
หรือ อาจเกิดจากโปรแกรมบางตัวจัดสรรหน่วยความจำที่เคอร์แนลต้องการใช้งานไม่ถูกต้อง

สาเหตุและหนทางแก้ปัญหาที่อาจเป็นไปได้
0x3F สามารถเกิดขึ้นหลังจากที่คุณติดตั้งไดรเวอร์ที่ไม่สมบูรณ์ ถ้าเออเรอร์นั้นแสดงรายละเอียดของไฟล์หรือชื่อของส่วนที่ทำให้เกิดข้อผิดพลาด ก็ให้แก้ไขด้วยวิธีเดิมๆ ในข้างต้น คือการยกเลิกการใช้งาน หรือกลับไปใช้ไดรเวอร์ตัวเก่า เป็นต้น

จริงๆ แล้ว PTEs นั้นอาจจะเหลืออีกเพียบ แต่เออเรอร์นี้ก็อาจจะเกิดขึ้นได้อีก เพราะว่าขนาดของ contiguous memory block ที่ไดรเวอร์ หรือ หน่วยความจำต้องใช้งานไม่เพียงพอ วิธีแก้ลองอัพเดตไดรเวอร์ตัวใหม่ที่สมบูรณ์ หรือโปรแกรมเวอร์ชันใหม่ๆ และให้ลองตรวจสอบจากเอกสารติดตั้งโปรแกรมดังกล่าวด้วย เกี่ยวกับ Minimum system reqirements ว่าต้องการเท่าใด

อีกสาเหตุที่อาจจะเป็นไปได้ก็น่าจะมาจากการที่มีความต้องการใช้งาน PTEs มากเกินค่าที่กำหนดไว้ วิธีแก้ไขก็ต้องปรับเปลี่ยนให้อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งในวินโดวส์ เอ็กซ์พีโปรเฟสชันแนลนั้นมีเครื่องมือที่จะให้เราสามารถขยายค่าของ PTEs ได้ตามต้องการ

ข้อควรระวัง
อย่าแก้ไขค่ารีจิสเตอร์เอง หากคุณไม่มีความรู้เพียงพอ เพราะค่ารีจิสเตอร์นั้นอยู่นอกเหนือการป้องกันขั้นพื้นฐานของระบบ ซึ่งหากแก้ไขผิดพลาดอาจจะทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบของท่านได้ ซึ่งรวมถึงการติดตั้งระบบปฏิบัติการใหม่ แต่ถ้าหากจำเป็นต้องแก้ไขจริงๆ แนะนำให้แบ็กอัพรีจิสเตอร์ไว้ก่อนดีกว่า

ขั้นตอนในการแก้ไขค่า PTEs ในรีจิสทรีทำได้ดังนี้
1. ในช่อง RUN ให้พิมพ์คำว่า "regdit"
2. ใน regedit ให้มองหา sub key ที่มีชื่อว่า HKEY_LOCAL_MACHINESYSTEMCurrentControlSetControlSession ManagerMemory Management
3. ดับเบิ้ลคลิกที่ PagedPoolSize และ SystemPages เพื่อดูค่าที่เคยตั้งไว้
4. ถ้าค่าของ PagedPoolSize ไม่เท่ากับศูนย์ ให้ตั้งค่าให้เป็น 0
5. ถ้าค่าของ SystemPages ไม่เท่ากับศูนย์ ให้ใส่ค่า 4000 สำหรับระบบที่มีหน่วยความจำ 128 เมกะไบต์ (หรือน้อยกว่า) และค่า 110000 สำหรับระบบที่มีหน่วยความจำมากกว่า 128 เมกะไบต์ขึ้นไป
6. ปิดโปรแกรมและรีบูตเครื่องใหม่

Error : PAGE_FAULT_IN_NONPAGED_AREA (Error Code : 0x00000050)
0x50 เกิดจากการเรียกใช้ข้อมูลซึ่งมิได้อยู่ในหน่วยความจำ ระบบจะรายงาน
เออเรอร์โค้ดนี้ขึ้นมาเมื่ออ้างถึงค่าบางค่าในเมโมรีแอดเดรสที่ไม่มีอยู่จริง หน่วยความจำในที่นี้รวมไปถึง L2 Cache และ หน่วยความจำในการ์ดแสดงผลด้วย

สาเหตุและหนทางแก้ปัญหาที่อาจเป็นไปได้
ถ้าเออเรอร์นี้เกิดขึ้นมาหลังจากคุณติดตั้งฮาร์ดแวร์ใหม่เข้าไป ให้ถอดหรือเปลี่ยนฮาร์ดแวร์ดังกล่าว ถ้าหากพอจะแก้ไขปัญหานี้ได้ ให้รัน Diagnostic tools เพื่อตรวจสอบความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในบางส่วนของอุปกรณ์

0x50 อาจจะเกิดขึ้นหลังจากคุณได้ติดตั้งดีไวซ์ไดรเวอร์ที่เสียหายลงไปในระบบของคุณ ให้ลองถอดถอนออกจากระบบ หรือกลับไปใช้ไดรเวอร์ตัวที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหา
ให้หมั่นอัพเดตไดรเวอร์และซอฟต์แวร์ของอุปกรณ์ที่มีความสำคัญมากๆ เช่น การ์ดแลน การ์ดแสดงผล แต่ถ้าหากว่าอุปกรณ์ดังกล่าวไม่มีรุ่นใหม่เลย ให้ลองใช้ไดรเวอร์รุ่นใหม่ของอุปกรณ์รุ่นที่ใกล้เคียงกัน ยกตัวอย่างเช่น หากคุณมีเครื่องพิมพ์ รุ่น 1100c แล้วทำให้เกิดปัญหา 0x50 ให้ลองหาไดรเวอร์รุ่น 1100A หรือ รุ่น 1000 มาใช้ชั่วคราว อาจจะแก้ปัญหานี้ได้

Error : KERNEL_STACK_INPAGE_ERROR (Error : 0x00000077)
0x77 แสดงถึงข้อมูลซึ่งถูกเรียกใช้จากเวอร์ชวลเมโมรี ไม่สามารถหาพบหรืออ่านไปยังหน่วยความจำได้ หรืออาจจะหมายถึงฮาร์ดิสก์มีความเสียหาย หรือข้อมูลได้ถูกทำลาย หรืออาจจะเป็นไปได้ ที่มีไวรัสอยู่ในระบบ

สาเหตุและหนทางแก้ปัญหาที่อาจเป็นไปได้
0x77 อาจจะเกิดมาจากแบ็ดเซ็กเตอร์ หรือดิสก์คอนโทรลเลอร์มีความผิดพลาด หรือในกรณีที่อาจจะเกิดยากหน่อย คือ ค่า Non page pool หมดสิ้นไปจากระบบเลย ก็อาจทำให้เกิดเออเรอร์นี้ได้ แต่ถ้าจะสืบให้ได้รายละเอียดมากกว่านี่ ให้ดูที่ค่าตัวเลขที่สองและสามของเออเรอร์โค้ดยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นปัญหาทางด้านความผิดปกติของ I/O เออเรอร์โค้ดหมายเลข0xC0000185 หมายถึงเพจจิงไฟล์นั้นทำงานอยู่บนดิสก์ SCSI ให้ลองตรวจสอบสายเคเบิล และจุดเชื่อมต่อก่อน ถ้าเออเรอ์โค้ดหมายเลข 0xC000009C หรือ 0xC000016A หมายความว่า ไม่พบข้อมูลที่ได้ร้องขอหรือไม่มีอยู่จริง ให้ลองแก้ไขโดยการรีบูตเครื่อง ถ้าคิดว่ามาจากปัญหาเรื่องเกี่ยวกับความเสียหายของดิสก์ให้ลองใช้โปรแกรม " Autochk" เพื่อตรวจสอบ และระบุแบ็ดเซ็กเตอร์ที่เกิดขึ้นบนดิสก์

อีกกรณีที่ทำให้เกิด 0x77 อาจมาจากความผิดพลาดหรือเสียหายของหน่วยความจำที่มีอยู่ในระบบ อาทิ หน่วยความจำหลัก , L2 Cache หรือ หน่วยความจำในการ์ดแสดงผล ให้ลองเปลี่ยนอุปกรณ์เหล่านี้ อาจจะแก้ปัญหาได้
หรืออีกสาเหตุหนึ่งอาจเกิดจากคราบสกปรกที่เกาะอยู่ตามผิวของอุปกรณ์บนเมนบอร์ดก็เป็นไปได้เช่นเดียวกัน

Error : MISMATCHED_HAL (Error Code : 0x00000079)
0x79 บ่งบอกถึง hardware abstraction layer (HAL) และชนิดของเคอร์แนล ที่ใช้งานไม่ตรงกัน หรือพูดง่ายๆ ว่าฮาร์ดแวร์ที่วินโดวส์รู้จักไม่ตรงกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้ง โดยส่วนมากเออเรอร์นี้มักจะเกิดมาจากค่า ACPI มีการเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างเช่น การนำโอเอสที่เป็นแบบ Multi processor มาใช้งานบนเครื่องที่เป็น Single Processor เป็นต้น

สาเหตุและหนทางแก้ปัญหาที่อาจเป็นไปได้
0x79 เกิดจากระบบที่ใช้งานไฟล์ Ntoskrnl.exe หรือ Hal.dll ที่เก่าเกินไป ซึ่งปัญหานี้สามารถแก้ไขได้อย่างง่ายๆ โดยการก๊อบปี้ไฟล์ที่ถูกต้องไปทับไฟล์เดิม ซึ่งไฟล์พวกนี้สามารถหาได้จากแผ่นติดตั้งวินโดวส์เอ็กซ์พีนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น บนระบบซิงกิ้ลโปรเซสเซอร์ไฟล์เคอร์แนลจะชื่อ Ntoskrnl.exe แต่บนระบบมัลติโปรเซสเซอร์ ไฟล์เคอร์แนลใช้ชื่อว่า Ntkrnlmp.exe เป็นต้น


อีกสาเหตุหนึ่งอาจเกิดจากไบออสไม่ได้กำหนดหมายเลข IRQ ให้กับ ACPI ดังนั้นคุณสามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเองโดยการกำหนดค่า IRQ ให้เองภายในไบออสภายใต้หัวข้อ ACPI

Error : INACCESSIBLE_BOOT_DEVICE (Error Code : 0x0000007B)
0x7B หมายถึงวินโดวส์ เอ็กซ์พีไม่สามารถเข้าถึงซิสเท็มส์พาร์ทิชัน หรือ บูตโวลุ่ม ในระหว่างเริ่มต้นกระบวนการทำงาน หรืออาจเกิดจากติดตั้งหรือการอัพเกรดไดรเวอร์ของสตอเรจอะแดปเตอร์ผิดรุ่น
พารามิเตอร์ตัวที่สอง ก็มีความสำคัญมากเพราะช่วยขยายความถึง รายละเอียดของเออเรอร์โค้ด 0x7B ยกตัวอย่างเช่น
*0xC000034 หมายถึงดิสก์หรือดิสก์คอนโทรลเลอร์ทำงานล้มเหลว หรือมีการตั้งค่าที่ไม่ถูกต้อง
*0xC000000E หมายถึง Storage-related drivers หรือโปรแกรมบางตัว (ยกตัวอย่าง เช่น tape management software) ไม่คอมแพตทิเบิลกับวินโดวส์ เอ็กซ์พี เป็นต้น

สาเหตุและหนทางแก้ปัญหาที่อาจเป็นไปได้
ถ้าเออเรอร์นี้เกิดหลังจากที่คุณติดตั้งฮาร์ดดิสก์ลูกใหม่ ให้แก้ไขได้โดยการแก้ไขไฟล์ Boot.ini (ปกติจะอยู่ที่ c: หรือไดรฟ์อื่นๆ แล้วแต่ว่าวินโดวส์จะติดตั้งไว้ที่ไดรฟ์ใด) และปรับปรุงค่าของ Boot manager เพื่ออนุญาตให้ระบบเริ่มต้นทำงานได้


ให้ตรวจสอบว่าเฟิร์มแวร์ของระบบ ไม่ว่าเป็นของดิสก์คอนโทรลเลอร์ หรือการตั้งค่าไบออสของเมนบอร์ดว่าถูกต้องหรือไม่ หรือในบางกรณีวินโดวส์ เอ็กซ์พีไม่รู้จักอุปกรณ์ดิสก์คอนโทรลเลอร์นั้นๆ ให้ลองหาไดรเวอร์จากผู้ผลิตหรือจากเว็บไซต์เพื่อนำมาติดตั้ง ก็จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้


***มีต่อภาค 2 จ๊ะ ***

** ข้อมูล Blue Screen of Death คัมภีร์แก้ปัญหาจอมรณะ ทั้งหมดคัดลอกมาจากหนังสือ PCtoday


Create Date : 21 กุมภาพันธ์ 2551
Last Update : 23 มิถุนายน 2551 11:32:17 น. 0 comments
Counter : 596 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

แมวอุณหภูมิห้อง
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




loading...

free counters

New Comments
Friends' blogs
[Add แมวอุณหภูมิห้อง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.