“สืบชะตาสะพานสามช่วง-สืบชะตาน้ำ” ถวายในหลวง ความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของชาวดาราอั้ง


เดินข้ามผ่านสะพานสามช่วง

       สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง จัดขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า “ให้ช่วยเขา ช่วยตัวเอง” มีพระราชประสงค์ให้ชาวไทยภูเขาที่พักอาศัยอยู่ตามดอยต่างๆ ทางภาคเหนือเลิกปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอย โดยหาพืชอื่นปลูกทดแทนฝิ่น และพืชนั้นๆ ต้องทำรายได้ให้แก่เกษตรกรดีกว่ายาเสพติด

       ซึ่งชาวเขาที่อยู่ในบริเวณดอยอ่างขางก็ได้รับประโยชน์มากมายจากพระราชดำริของพระองค์ โดยเฉพาะชาวดาราอั้ง (ปะหล่อง) หมู่บ้านนอแล ที่ได้อพยพเข้ามาสู่ประเทศไทย และอาศัยอยู่บริเวณชายแดนไทย-พม่า จนเมื่อปี พ.ศ.2527 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเสด็จมาเยี่ยมเยียนราษฎรและสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ชาวดาราอั้งจึงมีโอกาสรับเสด็จ

       โดยมี นายนาโม หมั่นเฮิง เป็นผู้นำกลุ่มดาราอ้างในขณะนั้น เป็นตัวแทนชาวดาราอั้งมารับเสด็จ และได้ถวายพระพุทธรูปเก่าแก่องค์หนึ่งอันแสดงถึงความรักสงบ พร้อมเครื่องแต่งกายประจำเผ่าอันแสดงถึงเอกลักษณ์ของชนเผ่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทักทายและสอบถามประวัติความเป็นมา ทรงทราบถึงความยากลำบากและยังไม่เคยมีชนเผ่าดาราอ้ังอาศัยอยู่ในประเทศไทยมาก่อน จึงได้ทรงอนุญาตให้อาศัยอยู่ในพื้นที่ได้ หลังจากนั้น สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ก็ได้เข้ามาส่งเสริมอาชีพให้แก่ชาวบ้านนอแล




เด็กหญิงลูกคนเล็กตวงน้ำใส่น้ำเต้า

       ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระคุณต่อชนเผ่าดาราอ้ัง จึงได้จัดให้มีกิจกรรมเทิดพระเกียรติในทุกปี และเป็นวันรวมพลของชนเผ่าดาราอั้งในประเทศไทย ซึ่งมีกิจกรรมมากมาย เช่น การแข่งขันกีฬาเยาวชนต้านภัยยาเสพติด การละเล่นพื้นบ้าน การแสดงวัฒนธรรมชนเผ่า การปลูกป่า และการปฏิญาณตนเป็นคนดี

       สำหรับในปีนี้ ซึ่งเป็นปีมหามงคลเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา ชาวดาราอ้ังจึงได้มีการจัดพิธี “สืบชะตาสะพานสามช่วง และ สืบชะตาน้ำ” ขึ้น เพื่อเป็นการถวายพระพรแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงมีพระพลานามัยที่สมบูรณ์ และมีพระชนมายุยืนยาว

       พิธีสืบชะตาสะพานสามช่วง และพิธีสืบชะตาน้ำ เป็นความเชื่อของชาวดาราอ้ัง ที่จะจัดขึ้นเพื่อคนที่มีบุญญาธิการ หรือมีบารมีสูงส่ง เป็นการทำบุญให้กับคนที่เคารพนับถือสูงสุด เดิมเคยทำพิธีนี้ให้แก่ปู่ย่าตายาย คนเฒ่าคนแก่ เป็นการต่ออายุ แต่จะทำเพียงพิธีเดียว คือ สืบชะตาสะพานสามช่วง หรือสืบชะตาน้ำเท่านั้น เป็นพิธีเล็กๆ แต่สำหรับพิธีในปีนี้ที่นำมารวมกัน ก็เพื่อทำถวายแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว




นายอ่อน สุนันตา ที่ปรึกษาผู้ใหญ่บ้าน

       นายอ่อน สุนันตา ที่ปรึกษาผู้ใหญ่บ้านนอแล กล่าวว่า “พิธีสืบชะตาสะพานสามช่วงนี้มีความเชื่อว่า ช่วงอายุคนสามช่วงสามชาติเกิด ขอแบ่งมา เอามารวมกันเพื่อถวายในหลวง เพราะว่าอยากจะให้ในหลวงอยู่กับเรานานๆ มีอายุที่ยืนยาว คนที่มาร่วมงานนั้นจะขอแบ่งบุญกุศลที่เคยทำมาสามช่วงอายุเพื่อถวายให้กับในหลวง”

       พิธีสืบชะตาสะพานสามช่วง มีขั้นตอนเริ่มจากการสวดขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ จากนั้นก็จะมีการสวดมนต์ของพระสงฆ์และชาวดาราอ้ัง จากนั้นพระและผู้ร่วมพิธีจะข้ามสะพานพร้อมทั้งอธิษฐานจิตให้แก่คนที่จะทำบุญให้ ยิ่งมีการข้ามสะพานมากเท่าไหร่ก็จะเกิดกุศลแก่ผู้ที่เราทำบุญให้มากขึ้นเท่านั้น

       “สะพานเราสร้างเก็บไว้ให้คนเดินผ่าน คนเราเดินผ่าน ภูตผีวิญญาณ สิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรก็เดินผ่าน เราได้อธิษฐานไว้ก่อนแล้วว่า ถ้าใครเดินผ่านขอให้บุญกุศลนั้นอุทิศไปอย่างที่เราตั้งใจไว้ คือส่งไปให้ถึงในหลวง อีกอย่างก็มีสะพานให้คนข้าม ไม่ต้องเปียกต้องแฉะ คนเดินผ่านก็สบายใจ มีสะพานไว้ก็ได้ประโยชน์ด้วย”







ส่งต่อน้ำเต้าสู่ผู้เข้ารวมพิธีทุกคน

       “ส่วนพิธีการสืบชะตาน้ำ ก็จะใช้น้ำที่ไม่มีวันแห้งเหือด สายน้ำจากตรงนี้ก็เกิดขึ้นที่นี่ และไหลไปไกล ไปรวมกับสายน้ำอื่นๆ ไม่มีที่สิ้นสุด การใช้น้ำก็เพราะเราอยากจะขอให้อายุของในหลวงยืนยาวเหมือนกับสายน้ำ ไม่มีที่สิ้นสุด น้ำเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ ถ้าขาดน้ำก็ไม่ได้ อีกอย่าง น้ำเป็นสิ่งที่เย็น ทำให้คนเย็น ไม่ร้อน เหมือนเวลาเราเหนื่อยเราก็กินน้ำ แบบนี้ เราก็ถือว่าใช้น้ำมาทำบุญให้ในหลวง เพราะว่าพวกเราชาวดาราอ้ังได้อยู่ใต้พระบรมโพธิสมภาร ได้มีอยู่มีกินมีใช้ทุกวันนี้ก็เพราะบารมีของท่าน ถ้าไม่มีในหลวงเราก็ไม่รู้จะอยู่ที่ไหน เราก็เลยจะขอเอาบุญกุศลที่มีมาร่วมบุญให้ยิ่งใหญ่เพื่อถวายแก่ในหลวง”

       ขั้นตอนการทำพิธีสืบชะตาน้ำ เริ่มจากผู้ที่ทำพิธีจะขอขมาเจ้าป่าเจ้าเขาเพื่อขอน้ำจากต้นน้ำไปทำบุญ และมีการอธิษฐานในพิธีขอน้ำ โดยขอให้ผู้ที่จะทำบุญให้อยู่ไปนานๆ จนตะไคร้ออกลูกและสากออกดอก จากนั้นจะมีเด็กหญิงที่ได้รับการคัดเลือกมาจากครอบครัวที่พ่อแม่อยู่ด้วยกันมาเป็นผู้ตวงน้ำใส่น้ำเต้า (เด็กหญิงจะต้องเป็นลูกคนเล็กของครอบครัว เพราะเชื่อว่าเป็นผู้มีความบริสุทธิ์) จากนั้นก็ส่งต่อให้เด็กชาย (เด็กชายต้องเป็นลูกคนโต เพราะเชื่อว่าเป็นผู้มีความรับผิดชอบ และมีความแข็งแรง)




ตั้งจิตอธิษฐานส่งไปยังในหลวง

       จากนั้นจะส่งต่อให้กับเด็กผู้หญิงอีกคน แล้วจึงส่งต่อให้กับผู้ร่วมพิธี จนน้ำเต้าพร้อมสายสิญจน์ถูกส่งมาจนถึงหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และให้เด็กชายเป็นผู้ถวายน้ำเต้า (เพราะเชื่อว่าในหลวงเป้นเหมือนพระ หรือเทพผู้ศักดิ์สิทธิ์ จึงไม่ให้เด็กหญิงส่งของให้) เมื่อถวายน้ำเสร็จแล้ว จะมีการสวด การถวายดอกไม้ จุดธูปเทียนและให้พร จากนั้นก็จะมีการอธิษฐานชา

       “การสวดโดยใช้ใบชา คือชาเป็นสิ่งที่บอกว่าเป็นดาราอ้ัง เป็นชาวเขาเผ่าหนึ่ง เวลาเราจะทำงาน จะเป็นเรื่องการทำพิธี หรือจะทำอะไรก็ต้องใช้ชา ชาเป็นส่วนสำคัญในการดำรงชีวิต หรือตอนเรามาอยู่ที่นี่ ทางโครงการหลวงก็มาส่งเสริมให้เราปลูกชา ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ชาวบ้านชอบอยู่แล้ว ชีวิตเราก็มีชาอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าไม่มีเราก็ต้องหาชามาให้ได้ การสวดนั้นจะให้ใบชามาให้ทุกคนร่วมอธิษฐาน แล้วก็เก็บคืนไป ให้ทุกคนพูดส่งไปถึงในหลวงผ่านใบชานี้ จากนั้นก็จะเก็บรวมกันไปต้มเป็นน้ำชา แจกให้ทุกคนกิน ในหลวงได้บุญ ได้ต่ออายุ คนทำก็ได้บุญ หรือจะเก็บไว้ต้มกินเองก็ได้”





ผู้สูงวัยร่วมอธิษฐานใบชา

       การทำพิธีในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยนายอ่อนได้กล่าวไว้ว่า “การที่เราได้อาศัยอยู่ที่นี่ ได้อยู่บนผืนแผ่นดินไทยก็เป็นบุญแล้ว การที่เราได้ทำมาหากินเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่แค่ที่เราได้นอน ได้กิน ได้มีที่อยู่ที่นอน แค่นี้ก็เป็นบุญวาสนาที่เราได้อยู่ใต้พระบารมีของท่านแล้ว แถมเรายังได้ทำงานอย่างถูกต้อง เราได้พออยู่พอกิน ไม่เหมือนกับที่เราเคยหนีหัวซุกหัวซุน เข้าป่าเข้าดอย ต้องหนีทหารต้องหนีการสู้รบ มันเดือดร้อนเหมือนเรากำถ่านไฟแดงเอาไว้ในมือ ทีนี้ เราได้มาอยู่ตรงนี้แล้ว ถ้าพูดถึงความซาบซึ้ง ทุกคนซาบซึ้งมากอยู่แล้ว มันไม่รู้จะพูดยังไง”

       “จากสมัยก่อน ชาวบ้านเขาก็ทำมาหากิน ปลูกข้าว ปลูกข้าวโพด ปลูกฝิ่น หลังจากที่ผู้นำเราแต่ก่อนเคยได้เข้าเฝ้าในหลวง ก็มีโอกาสได้ถวายพระพุทธรูป ได้มีโอกาสขอที่อยู่อาศัย ขออาศัยอยู่แถวๆ ตามแนวชายแดนตรงนี้ ในหลวงก็อนุญาต แล้วก็เลยมีทางโครงการหลวงมาช่วงส่งเสริม ตอนแรกก็มาปลูกไม้ผลไม้อะไรต่างๆ เป็นการทดลองก่อน ต่อมาพอเริ่มเข้าใจแล้วก็เริ่มทำเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา จนฝิ่นหรือว่าอะไรต่างๆ ลดลงเรื่อยๆ ถึงตอนนี้จะให้เขาไปปลูกฝิ่นกันก็ไม่ไปแล้ว มันยุ่งยากลำบาก อยู่แบบนี้ทำงานแบบนี้ดีกว่า สบายใจด้วย ผมก็ไม่รู้ว่าโครงการหลวงเกิดขึ้นเพราะชาวเขาหรือเปล่า แต่คิดว่าโครงการหลวงเป็นตัวแทนของในหลวงที่มาช่วยเรา ให้เราได้ทำงาน ช่วยให้เรามีที่อยู่ที่ทำกิน ให้เราอยู่ได้”










ที่มา://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9540000151314








Free TextEditor



Create Date : 06 ธันวาคม 2554
Last Update : 6 ธันวาคม 2554 16:54:40 น.
Counter : 882 Pageviews.

1 comments
  
seo ค่ำนี้อากาศเริ่มเย็นๆ ระวังเป็นหวัดนะครับ Directory
โดย: nooblue88 วันที่: 8 ธันวาคม 2554 เวลา:23:23:01 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

MC TROMUST
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]



ธันวาคม 2554

 
 
 
 
2
7
9
10
23
24
25
26
28
29
31
 
All Blog
  •  Bloggang.com