มิถุนายน 2550

 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
23
24
26
27
28
29
30
 
All Blog
ย้อนรอยวันดีๆที่อยุธยาบ้านของเรา 7-9 เม.ย.50
เมื่อวันที่ 7-9 เม.ย.50 ที่ผ่านมา ผมกับแฟนได้มีโอกาสกลับไปเยี่ยมแม่ของผมที่เพิ่งผ่านการผ่าตัดมะเร็งเต้านมมา ซึ่งการเดินทางในครั้งนี้เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว นอกจากการไปเยี่ยมแม่ในครั้งนี้แล้ว ยังเป็นการไปเที่ยวพักผ่อน และไปต่ออายุหนังสือเดินทางของแฟนผมด้วยครับ มาร่วมเดิมทางกันเลยครับ (ปล.ภาพถ่ายด้วยกล้องโทรศัพท์ sony ericsson รุ่น K750i ครับ สวยมั๊ย)

วันที่ 8 ซึ่งเป็นวันที่เราได้ออกมาท่องเที่ยวกัน โดยมีผมเป็นไกด์(ผี) คอยพาเที่ยวและบรรยายสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งในการท่องเที่ยวในวันนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการเดินทางในแบบ unseen ของอยุธยากันครับ(ในที่ที่นักท่องเที่ยวคนอื่นไม่ค่อยได้ไปเที่ยว) โดยในวัดแรกที่เราได้ไปคือวัดกษัตราธิราชวรวิหาร ซึ่งตั้งอยู่นอกเกาะเมืองทางด้านทิศตะวันตก อยู่ตรงข้ามกับเจดีย์ศรีสุริโยทัยวัดนี้เดิมชื่อวัดกษัตราวาส เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหาร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๐ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัดของกษัตริย์ในตำบลที่ตั้งป้อมจำปาพล นอกพระนครฝั่งตะวันตก ส่วนด้านหลังวัดมีทุ่งกว้างเรียกว่า “ทุ่งประเชต” ซึ่งเป็นที่ตั้งกองทัพพม่าในการเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยาหลายครั้ง ก่อนเสียกรุงครั้งที่ ๒ วัดนี้ได้กลายเป็นบริเวณที่ตั้งกองทัพพม่าในการเข้าตีพระนคร ทำให้วัดเกิดความเสียหายไปบ้างตามสภาพการณ์สงครามขณะนั้น ต่อมา เมื่อได้มีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ ๑ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ (ทองอิน) กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ซึ่งเป็นพระเจ้าหลานเธอใน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ คงจะทันทอดพระเนตรวัดนี้ว่าเป็นวัดสำคัญในสมัยนั้น จึงโปรดให้มีการบูรณะ โดยทำพร้อมกับวัดในกรุงเทพฯ ทำให้วัดนี้กลับมามีความสมบูรณ์ มีพระสงฆ์จำพรรษาตั้งแต่นั้นมา ครั้นในรัชกาลที่ ๒ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ (เกศ) ต้นราชสกุล “อิศรางกูร” ทรงมีศรัทธาบูรณะปฏิสังขรณ์พระอารามตั้งแต่พระอุโบสถจนเสนาสนะทั้งปวงเรื่อยมา

พอเรามาถึงก็มาไหว้พระในพระอุโบสถกันครับ


พอหลังจากไหว้พระในพระอุโบสถเสร็จก็เดินออกมาเพื่อไปให้อาคารพาที่แพหน้าวัด ซึ่งวัดนี้อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จากภาพจะเห็นว่าอยู่ตรงข้ามกับเจดีย์พระศรีสุริโยทัย


ถ่ายจากแพย้อนขึ้นไปบนฝั่งจะเห็นศาลาริมน้ำ ผมว่าสวยดีนะมุมนี้


จากนั้นจึงเดินขึ้นกลับไปบนฝั่งเพื่อเดินรอบๆวัด ที่เห็นในภาพนี้เป็นกุฏิพระครับ สวยมั้ย สวยกว่าบ้านตูอีก เป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ครับ ผมว่ามันเหมือนตำหนักในวังซักแห่งเลย


ให้อาหารปลามามือเปื้อนครับ เลยล้างมือซะหน่อย(แอบใช้น้ำวัด)


มุมนี้เราจะเห็นพระอุโบสถและมีพระปรางค์ประธานอยู่เบื้องหลัง


จากนั้นจึงเดินไปที่ปรางค์ประธานครับ พระปรางค์องค์นี้น่าจะสร้างในช่วงสมัยอยุธยาตอนกลาง เดิมทีองค์ปรางทรุดโทรมมากครับ เพราะผมเห็นมาตั้งแต่เด็ก มีขี้ตะไคร่ รา ขึ้นเต็มจนองค์เป็นสีดำ ตอนหลังทางวัดจึงได้บูรณะใหม่แล้วทาสีขาวพร้อมสารกันเชื้อรา ผมว่าทำให้มันดูแปลกๆตาไปเลย ดูเหมือนของใหม่ไงไม่รู้ ชอบแบบเก่ามากกว่าคสาสสิคดี


หลังจากเดินรอบวัดได้ซักพัก เราก็เดินทางต่อไปยังวัดพุทไธสวรรค์ ซึ่งอยู่บริเวณนอกเกาะเมืองด้านทิศใต้ โดยใช้เส้นทางที่ผ่านวัดไชยวัฒนาราม(แต่เราจะไม่แวะที่วัดนี้ เพราะไปบ่อยแล้ว) แล้วก็ขับไปตามป้ายเลยครับ พอถึงเสร็จเราก็เดินไปสักการะ อนุสาวรีย์ของพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ทั้ง 3 พระองค์ เท่าที่จำได้จะมี สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง(ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยา) สมเด็จพระนเรศวรมหาราช(ผู้กอบกู้อิสระภาพจากการเสียกรุงครั้งที่ 1) และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช(ผู้กอบกู้อิสระภาพจากการเสียกรุงครั้งที่ 2)


จากนั้นก็เดินเข้าไปชมในวัดครับ (แดดร้อนครับต้องกางร่ม)


วัดนี้เป็นวัดที่สร้างขึ้นบนสถานที่ที่เรียกว่า "เวียงเหล็ก" ซึ่งเวียงเหล็กนี้เป็นวังชั่วคราว ครั้นที่สมเด็จพระเจ้าอู่ทองทรงหาพื้นที่ที่เหมาะสมที่จะสถาปนากรุง จึงได้ทรงสร้างวังชั่วคราวขึ้นที่นี่ ภายหลังที่พระองค์ได้พบสถานที่ที่เหมาะสมที่จะสร้างกรุงแล้ว(ซึ่งก็คือบริเวณบึงชีขันในเกาะเมือง) จึงได้ถวายพื้นที่วังเดิมให้เป็นวัด

เจดีย์รายครับทรงลังกา


วิหารราย


ปรางประธานครับ ส่วนที่เป็นซากๆนั้นเป็นพระวิหารครับ


ถัดจากวิหารก็จะมีวิหารที่ประดิษฐานพระนอนครับ ซึ่งวิหารได้พังทลายไปเกือบหมด ไหนๆมาแล้วก็เลยไหว้พระกันซักหน่อยครับ


หลังจากนั้นเราจึงเดินไปถ่ายรูปที่ปรางค์ประธานครับ ปรางค์ประธานที่วัดนี้สูงใหญ่มาก สามารถมองเห็นได้แต่ไกล ซึ่งเป็นปรางค์ประธานที่สร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น แต่สภาพขององค์พระปรางค์ในปัจจุบันค่อนข้างจะไม่ค่อยเหมือนพระปรางค์ที่สร้างในสมัยอยุธยาตอนต้นซะทีเดียว เนื่องจากผ่านการบูรณะมาหลายสมัย ( ความรู้เล็กๆน้อย พระปรางค์ในช่วงอยุธยาตอนต้น ทรงจะไม่สูงชะลูดครับ และจะมีมุขยื่นออกมาจากตัวปรางค์ )


หลังจากที่เดินชมบริเวณวัดได้ซักพัก เราก็จะเดินออกจากเขตพุทธาวาสครับ ซึ่งเราก็จะผ่านระเบียงคตซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปเรียงรายกันสวยงามดีครับ


หลังจากที่เดินออกมาได้แป๊บเดียว ก็เจอกับเสียงผู้คนอื้ออึงกัน ผู้กันจำนวยมากกำลังออกันเพื่อจะเข้าไปในอาคารหลังหนึ่ง ถามไปถามมาจึงได้รู้ว่า แห่กันมาเช่าจตุคาม (ไม่ใช่จตุคำนะ)


หลังจากที่ฝ่าฝูงชนที่แห่กันมาเช่าจตุคามได้หน่อย เราก็เจอกับตำหนักพุทโฆษาจารย์ครับ ซึ่งจากที่ผมได้เคยเรียนมาพบว่าที่ตำหนักนี้มีงานเขียนสีในสมัยอยุธยาที่ยังสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง จึงอยากขึ้นไปดู แต่ว่าผมหาทางเข้าไม่เจอง่ะ ประกอบกับรีบด้วย เพราะยังมีที่ไปอีกหลายที่ เลยไม่ได้เข้าไปดู แต่ก็หวังว่าสักวันจะมาดูให้ได้


อากาศร้อนครับเลยมาซื้อกาแฟที่ร้านค้าที่อยู่บริเวณวัด ผมก็เลยสั่งม๊อคค่ากับ(ชอบกินโดยส่วนตัว) ส่วนแฟนผมได้เห็นเมนูแปลก ก็เลยสั่งดู ชื่อว่า "ตะวันซีลอน" ครับ ปรากฎรสชาติอร่อยมาก ถามคนขายก็บอกว่าเป็นสูตรเฉพาะตัว เล่นเอาแฟนผมติดใจเลย พอกลับมาพิษณุโลก เวลาไปร้านกาแฟ ก็ลองสั่งให้ทางร้านเขาทำให้ ปรากฎว่ารสชาติไม่อร่อยเท่า สรุปว่า ร้านที่อยุธยาร้านนั้นอร่อยกว่าครับ


จากนั้นก็เดินทางออกจากวัดนี้ครับระหว่างทางก็จะเจอพ่อค้าแม่ค้าขายจตุคามฯกันเต็มเลย(มาแรงจริงๆ) เป้าหมายต่อไปคือวัดธรรมิกราชครับ ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ติดกับพระราชวังหลวงในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นวัดที่สร้างมาก่อนที่จะสถาปนากรุงเสียอีก ถ้านับตั้งแต่เริ่มมีการสถานปนาวัดนั้น ในปัจจุบันนี้อายุของวัดก็ 911 ปีครับ
พอขับมาถึงวัดก็เจอกับนี่ครับ ตามรูปเลยว่าเป็นบ่อน้ำโบราณ ซึ่งคงเป็นบ่อน้ำของวัดตั้งแต่สมัยก่อน


บ่อน้ำนั้นก่อด้วยอิฐ น้ำข้างในน้ำเขียวอื๋อเลย


จากนั้นจึงเดินเข้าไปไหว้พระที่วิหารพระนอน ซึ่งพระนอนองค์นี้สร้างโดยพระมเหสีของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งในขณะนั้นพระราชธิดาของพระนางพระประชวน พระนางจึงบนไว้ว่าถ้าหากพระราชธิดาของพระนางหายก็จะสร้างพระนอนถวาย ภายหลังพระราชธิดาหายพระประชวน จึงได้มีการสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นมา


ออกมาจากวิหารพระนอน ด้านหน้าวิหารพระนอนก็จะมีเชิญชวนให้ร่วมบริจาคเงิน ร่วมปิดทอง เพื่อร่วมหล่อเศียรหลวงพ่อแก่(จำลอง) เพื่อเอาไว้ประดิษฐานที่วัดนี้ ต้องขอกล่าวไว้สักนิดนะครับเป็นความรู้ หลวงพ่อแก่เดิมเป็นประพุทธรูปสัมฤทธิ์ ซึ่งเป็นพระประธานในวิหารหลวงของวัด ซึ่งจากลักษณะพุทธศิลป์ขององค์พระนั้น เป็นศิลปะที่มีก่อนการสร้างกรุงครับ ต่อมาเมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ 2 หลวงพ่อแก่ก็ถูกผู้คนทั้งชาวจีนและชาวไทย หลอมเอาไปขาย(เนื่องด้วยภาวะอดอยากเนื่องจากสงคราม จึงต้องจำใจ) จนเหลือแต่เศียร ภายหลังจึงได้มีการขุดค้นพบเศียรของหลวงพ่อแก่ จึงได้เอาไปประดิษฐานที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาครับ เห็นมั๊ยล่ะคนไทยเราเองแหละที่ทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง คนไทยนี้มักง่ายจริง อย่าไปโทษพม่าเขาเลย
กลับมาสู่เรื่องของเรานะครับ ในการทำบุญนั้นพอเราบริจาคเงินไป ทางวัดก็จะให้แผ่นทองมาให้เราเขียนชื่อ คนที่จะร่วมอนุโมทนาบุญครับ สำหรับผมนี่ก็ใส่ยกครอบครัวเลย+ชื่อแฟนผมด้วยครับ


จากนั้นก็เดินชมรอบๆวัดครับ และในภาพก็คือเจดีย์ประธานของวัด เป็นเจดีย์สิงห์ล้อมครับ ซึ่งจากรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นศิลปะที่มีก่อนการสร้างกรุงครับ ว่ากันว่าลักษณะของศิลปกรรมนั้นยิ่งใหญ่และเคียงบ่าเคียงไหล่ไม่แพ้กับศิลปะมอญหรือขอมเลยทีเดียว


มาดูตัวสิงห์กันชัด ลายปูนปั้นสวยมาก ซึ่งสิงห์แต่ละตัวลายก็จะไม่เหมือนกันครับ


ป้ายประวัติของวัดครับ อ่านตามได้เลย


เดินขึ้นชมวิหารหลวงกันครับ


ภายในวิหารครับ ซึ่งเป็นวิหาร 9 ห้อง (ห้องนี่นับช่วงเสานะครับ หนึ่งช่วงเสาเท่ากับ 1 ห้อง) ซึ่งจากขนาดของวิหารและขนาดของเสา พอให้เราเห็นภาพได้ว่า เป็นวิหารขนาดใหญ่ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่มาก่อน


อีกมุมหนึ่งของพระวิหารหลวงร่มรื่นดีครับ ซึ่งจากภาพเราจะเห็นหน้าต่างของพระวิหารซึ่งเป็นลักษณะหน้าต่างในสมัยช่วงอยุธยาตอนต้นครับ โดยจะมีการเจาะเป็นช่องเล็กๆพอให้แสงและอากาศลอดเข้าไปได้


เดินรอบๆพระวิหารครับ ก็เหลือบไปเห็นวิหารหลังเล็กหลังหนึ่ง ซึ่งมีความแปลกตรงที่เหมือนมีเจดีย์อยู่ตรงกลางวิหารกับเหมือนมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ ซึ่งในส่วนนี้เกิดขึ้นเนื่องจากว่าเดิมทีมีประพุทธรูปประดิษฐานอยู่ แต่ต่อมาพระพุทธรูปเสียหายมาก ด้วยความที่คนในสมัยก่อนอยากจะบูรณะองค์พระขึ้นมาใหม่แต่การที่จะเอาองค์พระเดิมเอาไปทิ้งหรือเอาไปทำใหม่นั้นเป็นการไม่เหมาะสม จึงต้องมีการสร้างเจดีย์ครอบองค์พระเอาไว้แทน ซึ่งเราจะพบเห็นคติความเชื่อแบบนี้ในหลายแห่ง เช่น การสร้างเจดีย์ทับพระศรีสรรเพชรดาญาณที่ถูกพม่าเผาทำลาย ที่วัดโพธิ์ ฯลฯ


นี่คือภาพของอิฐที่กรมศิลปเอามาบูรณะครับ มีระบุปีไว้ด้วย


ภาพถ่ายวิหารหลวงครับ จะเห็นว่าใหญ่โตมากกก.ก.กก


หิวน้ำครับเลยไปซื้อกาแฟที่ร้านของลุงคนนี้ อร่อยไปอีกแบบ


จากนั้นจึงออกจากวัดเพื่อตระเวณเที่ยวต่อ จุดหมายต่อไปคือวัดสุวรรณดารารามครับ
วัดสุวรรณดารารามเป็นวัดที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อราชวงศ์จักรี เพราะเป็นวัดที่สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ได้สร้างไว้เมื่อครั้นยังทรงเป็นขุนนางในสมัยอยุธยาตอนปลาย
ภายหลังจากเสียกรุงครั้งที่ 2 สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯจึงได้ทรงกลับมาบูรณะปฏิสังขรใหม่อีกครั้ง ซึ่งพระอุโบสถของวัดนี้ค่อนข้างแปลกตา เพราะฐานของอุโบสถเป็นทรงโค้งแอ่นท้องสำเภา


ภายในพระอุโบสถจะมีภาพเขียนสี ที่วาดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งเรื่องราวประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่ทุกคนคงจะเห็นได้บ่อยในแบบเรียนประวัติศาสตร์ เช่น ภาพที่สมเด็จพระนเรศวรทรงทำยุทธหัตถี หรือภาพที่สมเด็จพระนเรศวรทรงประกาศอิสรภาพ นอกจากนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานพระประธานประจำพระอุโบสถอีกด้วย


บ่ายแล้วครับหิวข้าว ก็เลยไปกินก๋วยเตี๋ยวเรือวัดใหญ่ชื่อดัง มาถึงแล้วก็สั่งก๋วยเตี๋ยวเรือ+หมูสะเต๊ะ แต่...เอ..ไมไม่ถ่ายก๋วยเตี๋ยวมาด้วยหว่า ถ่ายแต่หมูเต๊ะ


หลังจากนั้นก็เดินเที่ยววัดใหญ่กันครับ ก็ขอเล่าประวัติซะหน่อย
วัดใหญ่เดิมชื่อวัดป่าแก้วหรือวัดเจ้าพระยาไทย ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก จากกรุงเทพฯ เข้าตัวเมืองอยุธยาแล้วจะเห็นเจดีย์วัดสามปลื้ม (เจดีย์กลางถนน) ให้เลี้ยวซ้ายตรงไปประมาณ 1 กิโลเมตร จะเห็นวัดใหญ่ชัยมงคลอยู่ทางซ้ายมือ วัดนี้ตามข้อมูลประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าพระเจ้าอู่ทองทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1900 สำหรับเป็นสำนักของพระสงฆ์ซึ่งไปบวชเรียนมาแต่สำนักพระวันรัตน์มหาเถรในประเทศลังกา คณะสงฆ์ที่ไปศึกษาพระธรรมวินัยเรียกนามนิกายในภาษาไทยว่า “คณะป่าแก้ว” วัดนี้จึงได้ชื่อว่า วัดคณะป่าแก้ว ต่อมาเรียกให้สั้นลงว่า “วัดป่าแก้ว” ต่อมาคนเลื่อมใสบวชเรียนพระสงฆ์นิกายนี้ พระราชาธิบดีจึงตั้งอธิบดีสงฆ์นิกายนี้เป็นสมเด็จพระวันรัตน์มีตำแหน่งเป็นสังฆราชฝ่ายขวาคู่กับพระพุทธโฆษาจารย์เป็นอธิบดีสงฆ์ฝ่ายคันถธุระมีตำแหน่งเป็นสังฆราชฝ่ายซ้าย หลังจากนั้นได้เปลี่ยนชื่อเป็น“วัดเจ้าพระยาไทย” สันนิษฐานว่ามาจากที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงสร้างวัดป่าแก้วขึ้น ณ บริเวณที่ซึ่งได้ถวายพระเพลิงพระศพของเจ้าแก้วเจ้าไทยหรืออาจมาจากการที่วัดนี้เป็นที่ประทับของพระสังฆราชฝ่ายขวา ซึ่งในสมัยโบราณเรียกพระสงฆ์ว่า “เจ้าไทย” ฉะนั้นเจ้าพระยาไทยจึงหมายถึงตำแหน่งพระสังฆราช
ในปี พ.ศ. 2135 เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำศึกยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชแห่งพม่าที่ตำบลหนองสาหร่าย เมืองสุพรรณบุรี ทรงสร้างพระเจดีย์ใหญ่ขึ้นที่วัดนี้เป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะ การสร้างพระเจดีย์อาจสร้างเสริมพระเจดีย์เดิมที่มีอยู่หรืออาจสร้างใหม่ทั้งองค์ก็ได้ ไม่มีหลักฐานแน่นอน ขนานนามว่า “พระเจดีย์ชัยมงคล” แต่ราษฎรเรียกว่า “พระเจดีย์ใหญ่” ฉะนั้นนานวันเข้าวัดนี้จึงเรียกชื่อเป็น “วัดใหญ่ชัยมงคล” วัดนี้ร้างไปเมื่อคราวเสียกรุงครั้งสุดท้าย และเพิ่งจะตั้งขึ้นเป็นวัดที่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาเมื่อไม่นานมานี้
นอกจากนี้ยังมี วิหารพระพุทธไสยาสน์ สร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวร เพื่อเป็นที่ถวายสักการะบูชาและปฏิบัติพระกรรมฐาน ปัจจุบันมีการสร้างพระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราชอีกด้วย

นี่คือเจดีย์ประธานของวัดครับ ซึ่งนักโบราณคดีในปัจจุบันลงความเห็นว่า เจดีย์องค์นี้น่าจะสร้างมาก่อนที่จะสถาปนากรุงศรีอยุธยา ทังนี้ปัจจุบันเจดีย์องค์นี้เอียงลงทุกๆปีครับ น่าเป็นห่วงผมกลัวจะเป็นเหมือนพระธาตุพนม


มุมยอดฮิตครับที่ทุกคนถ่ายกัน แต่ผมถ่ายเศียรพระขาดง่ะ


ขึ้นไปบนเจดีย์กัน ทางค่อนช้างชันครับ


ข้างในเจดีย์เป็นโพรงกลวงครับ ตรงกลางเป็นโพรงที่ลึกมาก ซึ่งทางวัดได้ทำที่กั้นเพื่อป้องกันไม่ให้นักท่องเที่ยวพลัดตกลงไป ในนี้นั้นค่อนข้างอับและเหม็นขี้ข้างคาวมั๊กๆ


จากนั้นจึงลงจากเจดีย์เพื่อเดินไปยังอาคารที่เป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกันครับ พอมาถึงข้างในนั้นสภาพก็ไม่ได้ต่างกับที่ผมมาครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2538 เลย แต่ที่เปลี่ยนไปก็คือ ทางวัดไม่ให้เข้าไปใกล้ๆกับพระบรมราชานุสาวรีย์ โดยทำกระจกกั้นไว้ และที่สำคัญที่เล่นเอาเราขำในจำก็คือ ห้ามมิให้ทรงจ้าวเข้าทรง


พาหนะคู่ใจสำหรับเรา 2 คนในวันนี้

เตรียมพร้อมออกเดินทางต่อแล้วครับ


จากนั้นก็เดินออกจากวัดนี้ครับ ซึ่งระหว่างทางออกก็จะเห็นผู้คนเอารูปปั้นไก่มาถวาย


จากนั้นเราสองคนก็ไปซื้อของกันนิดหน่อยที่ศูนย์การค้าอยุธยาพาร์ค พอออกมาจากที่นั่นเสร็จก็เป็นเวลาเกือบๆห้าโมงเย็นแล้วพวกเราก็ติดสินใจเดินทางกลับบ้าน(ผม) ด้วยเส้นทางสายเอเชีย พอก่อนที่จะข้ามสะพานข้ามแม่น้ำป่าสักที่ถนนสายเอเชีย ผมก็บอกให้แฟนผมไม่ต้องข้ามสะพาน ให้ขับลอดใต้สะพานแล้วเลี้ยวเข้าตัวอำเภอนครหลวง เพื่อไปที่เที่ยวที่สุดท้ายซึ่งก็คือ ปราสาทนครหลวง ซึ่งถือเป็น unseen จริงๆสำหรับสถานที่ท่องเที่ยวในอยุธยา จากบริเวณถนนสายเอเชียนั้นเราขับเข้ามาประมาณ 10 กิโลเมตร ตามเส้นทางที่เข้าตัวอำเภอนครหลวง เราก็มาถึงที่ปราสาทนครหลวงครับ


ปราสาทนครหลวงตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสักครับ มูลเหตุการสร้างนั้นเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2174 หลังจากที่พระเจ้าปราสาททองทรงครองราชย์ได้ 2 ปี พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ช่างไปถ่ายแบบปราสาทที่เมืองพระนครหลวงแห่งกัมพูชา เพื่อให้เป็นทั้งศาสนสถานเช่นวัดทั่วไป และเป็นที่ประทับระหว่างทางยามพระองค์เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทที่สระบุรีตามโบราณราชประเพณี สันนิษฐานว่าปราสาทนครหลวงสร้างยังไม่แล้วเสร็จในรัชกาลนั้น คงปล่อยทิ้งร้างหลังกรุงแตกเรื่อยมา ส่วนสาเหตุที่ทิ้งร้างนั้นไม่สามารถคาดเดาได้ แต่อาจเกิดเกิดจากที่กษัตริย์ในสมัยต่อมา ไม่เห็นความจำเป็นของการสร้าง หรืออาจจะเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลืองด้วยใช่เหตุ จนในสมัยรัตนโกสินทร์ ตาปะขาวปิ่นได้สร้างต่อเป็นวัดขึ้นในปี พ.ศ. 2352 (ตรงกับรัชกาลที่ 1) ชาวบ้านเรียกว่า วัดนครหรือวัดนครหลวง วัดนี้กลายเป็นวัดใหญ่เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงเชิญชวนให้พระบรมวงศานุวงศ์และชาวบ้านร่วมกันบูรณะ ได้สร้างมณฑปที่มุมหักศอกและระหว่างกึ่งกลางระเบียงคด เชื่อมต่อกันด้วยวิหารคดแทนของเดิมที่พังทลายลง
ปราสาทนครหลวง ก่อด้วยอิฐทั้งหลัง ตั้งอยู่บนเขา ซึ่งทำขึ้นโดยนำดินมาถมให้สูง มีระเบียงล้อมรอบเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนลดหลั่นกันสามชั้น แต่ละชั้นมีประตูเข้าสู่ชั้นสูงสุดนับสิบประตู ระเบียงคดแต่ละชั้นสร้างปรางค์ประจำทิศทั้งสี่มุม และที่กึ่งกลางก็มีปรางค์ด้วย

ตอนนี้กำลังเดินขึ้นไปด้านบนครับ


ขอเดินขึ้นไปชั้นบนสุดก่อนเลยครับ ซึ่งบนชั้นบนสุดก็จะมีมณฑปที่เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทสี่รอยพระซึ่งพระพุทธบาทสี่รอยนั้น นายปิ่นหรือตาปะขาวปิ่นเป็นผู้สร้างขึ้นในคราวเดียวกับวัดนครหลวง มีลักษณะเป็นพระพุทธบาทซ้อนกันสี่รอย ลึกลงไปในเนื้อหิน รอยที่ใหญ่ที่สุดกว้างประมาณ 2.50 ม. ยาว 5.50 ม. ประดิษฐานในมณฑปบนชั้นสูงสุดของปราสาทนครหลวงที่มณฑปมีจารึกที่หน้าบันว่าปฏิสังขรณ์เมื่อ ร.ศ. 122 (พ.ศ. 2446 ใน รัชกาลที่ 5)
พอเราเข้าไปเราก็เจอกับยามนอนเฝ้าเลยครับ


มณฑป ซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5


รอบๆบริเวณชั้นบนสุดก็จะเป็นระเบียงคตที่ประดิษฐานพระพุทธรูปจำนวนหลายองค์ แต่มีองค์หนึ่งซึ่งผมต้องการไปสักการะมาก ก็คือพระสังกะจาย ซึ่งผมได้ยินมาว่าขออะไรไปแล้วจะสมหวัง ก็เลยไปขอพรครับ (โทษทีไม่มีรูปให้ดู)


วิวเมื่อมองลงมาด้านล่างครับ จะเห็นชั้นที่ลดหลั่นกันลงมาของปราสาท และวิวทุ่งนา แต่อยากจะบอกว่าวิวอีกด้านไม่ดีเลย เพราะมีโรงสีและโรงงานสร้างอยู่ใกล้ๆกันเลย แย่จริงๆ


หลังจากนั้นจึงเดินลงมาสำรวจในชั้นที่ 2 และชั้นที่ 1 กันครับ
และนี่คือระเบียงคด ซึ่งระเบียงคตก็คือส่วนที่เชื่อมต่อปรางค์แต่ละองค์ ปัจจุบันเหลือแต่ผนังของระเบียงคด ถ้าสังเกตดูจะเห็นว่าช่างได้ทำช่องหลอกไว้เป็นซี่คล้ายลูกกรง เรียกว่า “ลูกมะหวด” ช่องดังกล่าวนี้ตัน อากาศและแสงไม่สามารถผ่านเข้ามาได้ เป็นลักษณะศิลปะแบบขอม คล้ายกับโบสถ์วัดหน้าพระเมรุ วัดมหาธาตุ วัดไชยวัฒนาราม ฯลฯ


มองย้อนขึ้นไปจะเห็นร่องรอยการสร้างที่แตกต่างกันทั้ง 2 สมัย


ผมว่ามันดูขัดๆกันไงไม่รู้


รอบๆระเบียงคตก็จะมีพระปรางค์ที่มีทั้งหมด 30 องค์ รูปทรงคล้ายปรางค์ขอม แต่ก่อด้วยอิฐ ไม่ใช่ศิลาแลง องค์ปรางค์มีการย่อมุมไม้ยี่สิบ หมายถึงมุมหนึ่งทำเป็นมุมเล็กได้ห้ามุม (สี่มุมคูณด้วยห้าจึงมี 20 มุม) จากการบูรณะของกรมศิลปากรพบว่า การสร้างปรางค์ของเดิมใช้โครงไม้ขึ้นรูปก่อนแล้วก่ออิฐล้อตาม พระปรางค์ส่วนใหญ่ของปราสาทมักจะสร้างไม่เสร็จครับ


แต่ก็มีพระปรางค์ปรางองค์ที่ก่อสร้างได้เกือบสมบูรณ์


ที่เห็นมีธงประดับอยู่นี่เพราะว่าเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ทางวัดเพิ่งมีงานเฉลิมฉลองวัดครับ เลยยังไม่ได้เอาธงประดับออก


เป้าหมายต่อไปของผมคือหารอยบากปูนโบราณครับ ซึ่งรอยบากปูนนี้จะเป็นในเรื่องของเชิงช่างครับ โดยถ้าหากใครเคยเรียนการก่อสร้างมาบ้างก็จะพอรู้ว่า ในการที่เราจะก่ออิฐนั้น จะต้องมีการทำรอยบาก เพื่อให้การพอกปูนหรืออิฐทับครั้งต่อไปนั้นติดกันได้ดี ซึ่งในที่สุดก็หาพบครับ ซึ่งรอยบากปูนนั้นมีให้เห็นอยู่ทั่วๆไป แต่ไม่ใช่กับรอยนี้เพราะรอยนี้ได้สื่อให้เห็นถึงอารมณ์เชิงช่างของคนโบราณ ที่ได้บากเอาไว้เป็นรูปเจดีย์


จากนั้นจึงเดินลงมาข้างล่างครับ


ด้านหน้าของปราสาทจะมีตำหนักนครหลวง หรือ ศาลพระจันทร์ลอย ตั้งอยู่ด้านหน้าปราสาทนครหลวง มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบอาคารจัตุรมุข ปฏิสังขรณ์ใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระปลัด (ปลื้ม) หรือพระครูวิหาร-กิจจานุการได้นำพระจันทร์ลอยจากวัดเทพจันทร์ลอย ต. พระจันทร์-ลอย อ. นครหลวง ซึ่งอยู่ใกล้กับปราสาทนครหลวงมาประดิษฐานไว้ แผ่นหินพระจันทร์ลอยมีลักษณะเป็นแผ่นหินแกรนิตทรงกลมคล้ายดวงจันทร์ขนาดใหญ่ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 ม. หนา 6 นิ้ว บนแผ่นหินมีรูปแกะสลักที่ค่อนข้างดูยาก ด้านหนึ่งสลักเป็นรูปพระเจดีย์สององค์และพระพุทธรูปสามองค์ ส่วนอีกด้านหนึ่งสลักเป็นรูปปลาคล้ายสัญลักษณ์ราศีมีน มีผู้สันนิษฐานว่าแผ่นหินดังกล่าวอาจเป็นธรรมจักรที่ยังสร้างไม่เสร็จก็เป็นได้
ซึ่งผมไม่ได้ถ่ายรูปไว้ครับ เพราะเมมโมรี่โทรศัพท์ใกล้เต็ม

ท้ายสุดของการทัวร์ครับ ก็ไปเดินริมแม่น้ำกัน ซึ่งจากจุดนี้เราก็จะเห็นจุดบรรจบกันของแม่น้ำป่าสัก กับลำน้ำอะไรสักอย่างผมก็ไม่รู้เหมือนกัน

เดินเลียบริมน้ำครับ

ลำน้ำสองสายบรรจบกัน


และแล้วก็จบการเดินทางในครั้งนี้ครับ ขอโทษด้วยที่ถ่ายรูปได้นิดเดียว เพราะเมมโมรี่ของโทรศัพท์มีจำกัด และคุณภาพของภาพไม่ค่อยดีเท่าไร เพราะใช้กล้องมือถือถ่ายครับ(ตอนนั้นยังไม่มีกล้องดิจตอล) ขอบคุณล่วงหน้าสำหรับผู้ที่เข้ามาชมและแนะนำครับ










Create Date : 25 มิถุนายน 2550
Last Update : 9 ตุลาคม 2550 8:19:21 น.
Counter : 4790 Pageviews.

9 comments
  
รอภาพอะ
โดย: tanoy~ตะนอย วันที่: 25 มิถุนายน 2550 เวลา:11:56:04 น.
  
สวยมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆเลย
เห็นแล้วอยากไปถ้ามีโอกาสจะลองไปคะ
โดย: penlove วันที่: 24 กรกฎาคม 2550 เวลา:22:13:45 น.
  
อยากไปมั่งจัง
โดย: เอฟ IP: 58.9.146.35 วันที่: 1 สิงหาคม 2550 เวลา:11:21:57 น.
  
โดย: hnai IP: 117.47.29.245 วันที่: 29 สิงหาคม 2550 เวลา:10:08:14 น.
  
ขอบคุณครับหากมีบุญผมจะไปกราบนมัสการรอยพระบาทแน่นอน
เรื่องแบบนี้ผมชอบครับตอนนี้ถือศิล5ผมเคยเห็นสิ่งดีๆมาบ้างเล่าแล้ว
หลายคนคงไม่เชื่อนะว่าจะมีแบบนี้วันนี้ผมพยายามจะรักษาใจตัวเอง
ให้สะอาดบริสุทธิ์ทุกวันผมปราถนานิพพานขอชวนทุกๆท่านมาร่วมรัก
ษาศิล5ให้สะอาดกันเถิดหากมีโอกาสผมจะพาเพื่อนๆร่วมไปกราบรอย
พระพุทธบามสี่รอยด้วยกันนะ
โดย: ต้อม IP: 114.128.58.172 วันที่: 16 มีนาคม 2552 เวลา:15:59:45 น.
  
อยากไปเที่ยวมากแต่ไม่มีเงิน
โดย: ตั้ว IP: 112.142.146.172 วันที่: 12 กรกฎาคม 2552 เวลา:20:14:29 น.
  
อยากไปเที่ยวมากแต่ไม่มีเงิน
โดย: ตั้ว IP: 112.142.146.172 วันที่: 12 กรกฎาคม 2552 เวลา:20:15:18 น.
  
สวยมากเลยครับ ขอบคุณครับที่ให้ข้อมูลเห็นแล้วอยากไปเที่ยวเลยครับ
โดย: พัฒน์พงษ์ IP: 125.24.46.243 วันที่: 26 ตุลาคม 2552 เวลา:11:07:32 น.
  
กแดกกะพ
โดย: เพเกดเด้เดดเเ IP: 118.173.250.107 วันที่: 17 พฤศจิกายน 2552 เวลา:10:41:17 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ปืนแก๊ป
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Google