你还好吗?
<<
กันยายน 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
13 กันยายน 2550

干将莫邪 กระบี่คู่ต้องมนต์ตรา




คนที่ชอบดูหนังจีนโบราณ คุ้น ๆ กันไหมคะ "กันเจียง กับ ม่อเหย๋" คุ้นแล้วใช่ไหมคะ? วันนี้เรามาลองดูตำนานของกระบี่คู่เล่มนี้กันค่ะ ว่ามีความเป็นมาอย่างไร ตามมาเลยค่ะ ไปที่แคว้นฉู่กัน

Gan Jiang




กันเจียงกับม่อเหย๋ เป็นชื่อสามีภรรยาคู่หนึ่ง กันเจียงเป็นนักหลอมโลหะฝีมือดีในแคว้นฉู่ เขาหลอมกระบี่คู่ เล่มหนึ่งเป็นกระบี่หญิง อีกเล่มเป็นกระบี่ชายตามคำสั่งของฉู่หวังโดยใช้เวลา 3 ปีกว่าจะหลอมสำเร็จ แต่เมื่อนำเข้าถวายฉู่หวังกลับพิโรธจนสังหารกันเจียงตาย หมอเหย๋ที่ตั้งครรภ์ได้ทำตามคำสั่งเสียของสามีว่า

“ข้าหลอมกระบี่รับใช้ฉู่หวัง สามปีจึงหลอมสำเร็จ ฉู่หวังพิโรธ ยามถวายกระบี่ต้องสังหารข้าแน่ หากเจ้าคลอดลูกเป็นชาย เติบใหญ่ให้บอกกับมันว่า “ออกจากบ้านไปทางทิศใต้มีหนันซัน บนเขามีต้นสนใหญ่งอกบนก้อนหิน กระบี่ซ่อนอยู่ด้านหลัง” ”

จากนั้น กันเจียงก็นำกระบี่หญิงเข้าพบฉู่หวัง ฉู่หวังโกรธมากให้คนตรวจสอบอย่างละเอียด ทราบว่ากระบี่มีเป็นคู่ หนึ่งหญิง หนึ่งชาย แต่ที่นำมากลับมีแค่กระบี่หญิง ไม่มีกระบี่ชาย ฉู่หวังโกรธเป็นฟืนเป็นไฟจึงสังหารกันเจียงดับดิ้นทันที

ม่อเหย๋คลอดลูกเป็นชายนามว่าจั้วชื่อ เมื่อโตขึ้นจั้วชื่อมักสงสัยว่าตนเองเหตุใดไม่มีบิดาจึงถามมารดาไปว่า

“ พ่อข้าอยู่แห่งใด?”

Mo Ye




ม่อเหย๋เล่าเรื่องพ่อให้ลูกฟัง จั้วชื่อไปตามที่พ่อสั่งเสียไว้แต่ไม่เห็นมีหนันซันดังว่า เห็นเพียงเสาไม้สนด้านหน้าตัวตึกมีก้อนหินวางอยู่ เขาจึงใช้ขวานฟันและพบว่าด้านหลังมีกระบี่เล่มหนึ่งซ่อนอยู่จริง ๆ ทุก ๆ วันเขามักคิดใช้กระบี่ชายเล่มนี้ล้างแค้นให้กับบิดา

ด้านฉู่หวังคืนหนึ่งฝันเห็นเด็กหน้าผากกว้าง พร่ำรำพันแต่คำว่าล้างแค้น ฉู่หวังรีบออกประกาศว่าหากใครสังหารเด็กในฝันนี้ได้จะให้รางวัล จั้วชื่อพอทราบเรื่องก็รีบหนีออกจากบ้านไปอยู่บนภูเขา ร้องไห้ด้วยความอาดูร พอดีพบกับจอมยุทธท่านหนึ่ง เขาถามจั้วชื่อว่า

“หนุ่มน้อยเอ๋ย ไฉนจึงร้องไห้ด้วยความโศกเศร้าเยี่ยงนี้?”?

จั้วชื่อตอบไปว่าเขาคือลูกของกันเจียงกับม่อเหย๋ บิดาถูกฉู่หวังฆ่าตาย เขาต้องการล้างแค้น จอมยุทธท่านนั้นบอกว่า

“ข้าได้ข่าวว่าฉู่หวังตั้งเงินรางวัลล่าหัวเจ้า จงมอบกระบี่และหัวของเจ้าให้ข้า ข้าจะแก้แค้นให้เจ้าเอง!”

ลูกชายของกันเจียงตอบตกลงโดยไม่ลังเล ตัดหัวตนเองมอบต่อจอมยุทธที่พบพานโดยบังเอิญพร้อมน้อมส่งกระบี่ให้ แต่ศพกลับไม่ล้มลง จอมยุทธท่านนั้นพูดกับจั้วชื่อว่า

“รับรองข้าต้องไม่ทำให้เจ้าผิดหวัง”

ศพของจั้วชื่อจึงล้มลง

จอมยุทธเอาหัวของจั้วชื่อไปขอพบฉู่หวัง ฉู่หวังดีใจเป็นยิ่งนัก จอมยุทธบอกให้ฉู่หวังเอาหัวไปต้ม ฉู่หวังทำตาม ต้มหัวของจั้วชื่ออยู่ 3 วัน 3 คืนหัวก็ไม่เปื่อย หัวกระโดดออกมาจากหม้อต้มตาลืมโพลงคล้ายกับโกรธแค้นเป็นที่สุด จอมยุทธบอกว่า หัวของจั้วชื่อต้มแล้วไม่เปื่อยขอให้ฉู่หวังมาดูด้วยตนเอง รับรองเมื่อมาถึงจะต้องต้มได้เปื่อยแน่ ๆ เมื่อฉู่หวังมาถึงจอมยุทธเอากระบี่ฟันคอฉู่หวังขาดหัวตกลงไปในหม้อต้ม จากนั้นก็ตัดหัวตัวเองลงไปต้มด้วย สามหัวอยู่ด้วยกันจึงต้มเปื่อยผสมผสานกันจนไม่รู้ใครเป็นใคร เลยต้องแบ่งเป็นสามส่วนแล้วนำไปฝังไว้


เรื่องกันเจียงม่อเหย๋ที่นำมาเล่านี้นี้บันทึกอยู่ใน "โซวเสินจี้"(บั้นทึกค้นหาเทพ)แต่งโดยกันเป่า เรื่องโซวเสินจี้นี้บันทึกเกี่ยวกับเรื่องประหลาด ตำนานพิสดาร เรื่องของกันเจียงและม่อเหย๋นี้บางทีอาจแตกต่างกันออกไปจากบทที่คัดมานี้ เมื่อแรกเริ่มพบใน "อู๋เยวี่ยชุนชิวและเลี่ยอี้จ้วน ในหัวข้อ "ซันหวังมู่"(หลุมศพสามอ๋อง)





Create Date : 13 กันยายน 2550
Last Update : 15 มกราคม 2551 0:21:46 น. 12 comments
Counter : 6147 Pageviews.  

 
เอื๊อกกก อ่านแล้วสยองยังไงไม่รู้ค่ะ


โดย: จอมยุทธหญิง (magarita30 ) วันที่: 23 กันยายน 2550 เวลา:22:03:01 น.  

 
ตรงนี้อักษร 邪 อ่านว่า xie2 นะครับ ไม่ใช่ ye2 ถ้าได้ที่มาจากที่ไหนที่อ่าน ye2 ให้คิดไว้ก่อนว่า อ่านผิด
เอาต้นฉบับภาษาเหวินเอี๋ยนเหวินมาฝาก และผมแปลเองโดยพยายามแปลรักษาถ้อยคำเดิมมากที่สุด

ต้นฉบับเดิมจากบันทึก 《搜神记》卷十一

干将莫邪
กานเจี้ยงมว่อเสีย

楚干将、莫邪为楚王作剑,三年乃成。
กานเจี้ยง มว่อเสีย แห่งฉู่ทำกระบี่ให้ฉู่อ๋อง, สามปีจึงแล้ว.

王怒,欲杀之。
อ๋องพิโรธ, คิดฆ่าเขา.

剑有雌雄。
กระบี่มีตัวผู้ตัวเมีย.

其妻重身当产。
เมียเขาท้องแก่ใกล้คลอด.

夫语妻曰:吾为王作剑,三年乃称,
ผัวบอกเมียว่า: ข้าทำกระบี่ให้อ๋อง, สามปีจึงแล้ว,

王怒,往必杀我。
อ๋องโกรธ, ไปหาต้องฆ่าข้า.

汝若生子是男,大,告之曰
เธอถ้าคลอดบุตรเป็นชาย, พอโต, บอกมันว่า

出户望南山,松生石上,剑在其背。
ออกประตูดูเขาใต้, สนงอกบนหิน, กระบี่อยู่หลังมัน.

于是即将雌剑往见楚王。
จากนั้นก็เอากระบี่ตัวเมียไปเฝ้าฉู่อ๋อง.

王大怒,使相之,剑有二,一雄,一雌,雌来,雄不来。
อ๋องโกรธใหญ่, ให้ตรวจมัน, กระบี่มีสอง, หนึ่งผู้, หนึ่งเมีย, เมียมา, ผู้ไม่มา.

王怒,即杀之。
อ๋องโกรธ, จึงฆ่าเขา.


莫邪子名赤,此后壮,乃问其母曰:吾父所在?
มว่อเสียลูกนามฉื้อ, พอฉกรรจ์, จึงถามแม่เขาว่า: พ่อข้าอยู่ไหน?

母曰:汝父为楚王作剑,三年乃成,王怒,杀之。
แม่ว่า: พ่อเอ็งทำกระบี่ให้ฉู่อ๋อง, สามปีจึงแล้ว, อ๋องโกรธ, ฆ่าเขา.

去时嘱我语汝:出户望南山,松生石上,剑在其背。
เมื่อไปสั่งข้าบอกเอ็ง: ออกประตูดูเขาใต้, สนงอกบนหิน, กระบี่อยู่หลังมัน.

于是子出户南望,不见有山,但睹堂前松柱下石低之上。
ดังนั้นลูกออกประตูดูใต้, ไม่เห็นมีเขา, เพียงเห็นหน้าโถงมีต้นสนบนหิน.

即以斧破其背,得剑。日夜思欲报楚王。
จึงใช้ขวานพังหลังมัน, ได้กระบี่. วันคืนคิดใคร่แก้แค้นฉู่อ๋อง.

王梦见一儿,眉间广尺,言欲报仇。王即购之千金。
อ๋องฝันเห็นหนึ่งเด็ก, หว่างคิ้วกว้างเชียะ, พูดอยากแก้แค้น. อ๋องจึงตั้งค่าหัวมันพันตำลึงทอง.

儿闻之,亡去,入山行歌。
เด็กยินมัน, หนีไป, เข้าเขาขับเพลง. (ร้องไห้)

客有逢者,谓:子年少,何苦之甚悲耶?
แขก(หมายถึงคนอีกคนไม่ได้หมายถึงแขกมาเยี่ยม คำไทยเดิม)มาพบไซร้, ว่า: เจ้าอายุน้อย, ไยร้องไห้โศกเพียงนี้ฤๅ?

曰:吾干将、莫邪子也,楚王杀吾父,吾欲报之。
ว่า: ข้าลูกกานเจี้ยง มว่อเสียแฮ, ฉู่อ๋องฆ่าพ่อข้า, ข้าใคร่แก้แค้นมัน.

客曰:闻王购子头千金,将子头与剑来,为子报之。
แขกว่า: ยินอ๋องตั้งค่าหัวเจ้าพันตำลึงทอง, เอาหัวเจ้ากับกระบี่มา, แก้แค้นให้เจ้าเอง.

儿曰:幸甚!即自刎,两手捧头及剑奉之,立僵。
เด็กว่า: ประเสริฐแท้! จึงฆ่าตัว, สองมือประเคนหัวกับกระบี่ให้เขา, ยืนแข็ง.

客曰:不负子也。于是尸乃仆。
แขกว่า: ไม่คดเจ้าแฮ, นั่นแลซากจึงล้ม.

客持头往见楚王,王大喜。
แขกถือหัวมุ่งพบฉู่อ๋อง, อ๋องดีใจใหญ่.

客曰:此乃勇士头也,当于汤镬煮之。
แขกว่า: นี่คือหัวอ้ายคนฉกรรจ์แฮ, ควรให้ต้มมันหม้อน้ำร้อน.

王如其言,煮头,三日三夕不烂,
อ๋องตามคำเขา, ต้มหัว, สามวันสามคืนไม่เปื่อย,

头踔出汤中,踬目大怒。
หัวเต้นออกกลางน้ำร้อน, ถลึงตาโกรธใหญ่.

客曰:此儿头不烂,愿王自往临视之,是必烂也。
แขกว่า: เด็กนี้หัวไม่เปื่อย, เชิญอ๋องไปดูมันใกล้ๆ เอง, ย่อมต้องเปื่อยแฮ.

王即临之。客以剑拟王,王头随堕汤中。
อ๋องจึงใกล้มัน. แขกใช้กระบี่ปลิดหัวอ๋อง, หัวอ๋องกระเด็นร่วงลงกลางน้ำร้อน.

客亦自拟己头,头复堕汤中。
แขกก็ปลิดหัวตัวด้วย, หัวซ้ำร่วงกลางน้ำร้อน.

三首俱烂,不可识别,乃分其汤肉葬之。
สามหัวล้วนเปื่อย, ไม่อาจชี้จำแนก, จึงแบ่งซุปเนื้อนั้นฝังมัน.




โดย: นัท IP: 124.121.0.149 วันที่: 30 กันยายน 2550 เวลา:13:48:31 น.  

 
แล้วก็อธิบายต่อนิดนึง เกี่ยวกับชื่อของมว่อเสีย ที่อักษรตัวนั้นอ่านว่าเย๋ หรือ เสีย
ถ้าตรวจสอบดู อักษรตัวนี้สามารถอ่านว่า เย๋ ก็ได้ เสีย ก็ได้ แต่ความหมายนั้นต่างกัน
邪 เย๋ ไม่มีความหมายอะไร เป็นคำแสดงความสงสัย ในสมัยโบราณ เทียบได้กับ 耶
邪 เสีย มีความหมายว่า เลว อธรรม เดียรถีย์ มาร
ทั้งๆ ที่ความหมายไม่ดีดังว่า ไม่ทราบว่าทำไมชื่อของมว่อเสีย จึงกำหนดให้อ่านว่า มว่อเสีย จริงไหมครับ? หลายคนอาจสงสัย
ต้องมาดูทั้งชื่อถึงจะรู้
ในสมัยโบราณขนาดนั้น คนไม่ได้ใช้แซ่ ฉะนั้นมว่อเสียไม่ได้หมายความว่า แซ่มว่อ ชื่อเสีย (หรือเย๋ก็ตาม) คำว่ามว่อแปลว่า ไร้ ไม่มี ปราศจาก
เพราะฉะนั้นชื่อของนางจึงมีความหมายเป็นมงคล แปลว่า ปราศจากมาร ไม่มีอธรรม แค่นี้เห็นพอเป็นชื่อได้แล้วหรือยัง
ชื่อคนนั้นอาจจะต้องการตั้งให้เป็นมงคล คือเอาอักษรมงคลมาใส่ แต่อักษรที่ไม่เป็นมงคลก็เอามาใส่ได้ หากชื่อมีความหมายถึงการปราศจากสิ่งที่ไม่เป็นมงคล
เพื่อนของผมคนหนึ่งเป็นชาวปักกิ่งชื่อ 张涤非 คำว่า เฟย แปลว่า ไม่ใช่ ผิด ชั่ว เป็นคำไม่ดี แต่คำว่า ตี๋ แปลว่า ล้าง ฉะนั้น จางตี๋เฟย ก็หมายความว่า นายล้างชั่ว แซ่จาง ความหมายก็เป็นดีไป
การชื่อ 莫邪 อ่านมว่อเสียไม่อ่านมว่อเย๋ ก็นัยเดียวกันกับเรื่องนี้ ถึงแม้ว่าอาจมีความเป็นไปได้ในข้างที่ว่าชื่อเดิมของนางไม่มีความหมาย เป็นสำเนียงถิ่น ก็ตามที เพราะคำทั้งสองในภาษาโบราณมีความหมายอื่นทั้งคู่ คำว่ามว่อ อาจหมายความถึง 暮 (อ่านว่ามู่) แปลว่ายามรุ่งอรุณ 邪 ก็อาจหมายความถึง 耶 ซึ่งก็อาจมีความหมายเท่ากับ 爷 ได้ด้วย แต่ถ้าเอาความหมายจริงๆ ก็ไม่ได้เรื่องอะไร นักวิชาการจีนปัจจุบันจึงต้องกำหนดให้อ่านเสีย เพราะเห็นว่าอ่านอีกแบบจะไม่ได้ความหมาย อ่านอย่างนี้จะมีความหมายกว่า เลยอ่าน มว่อเสีย อันนี้คือตามคำอ่านในหนังสือจีนที่ตรวจสอบกันแล้วนะครับ ผมไม่ได้กำหนดเอง ถ้าใครจะบอกอ่านเย๋ แล้วมีหลักฐานยืนยันอีกก็ได้ มันไม่ใช่ภาษาเรา ก็แค่ว่าตามๆ กันไป แต่ถ้าเกิดการวิเคราะห์ก็จะได้ความรู้เพิ่มเติมอีกมาก


โดย: นัท IP: 124.121.0.149 วันที่: 30 กันยายน 2550 เวลา:14:40:53 น.  

 
ขอบคุณค่ะ คุณนัท

ก่อนเขียนมามิยะก็ไปเปิดดิกดูแล้วและก็เหมือนเคยถามครูค่ะ ได้คำตอบเหมือนกันเลยเขียนลงไป เพราะมามิยะเองก็ไม่ใช่คนจีน ไม่ใช่ภาษาของเรา ต่อให้ภาษาของเรา เรายังต้องเช็คเลยค่ะ ถือว่าแลกเปลี่ยนกันค่ะ ความจริงมามิยะรู้สึกขอบคุณระคนกับดีใจที่มีคนมาสนใจเรื่องจีน ๆ เหมือนกันค่ะ

แต่ตัวนี้เช็คใน 辞海 หน้า 713 ได้คำอ่านดังนี้ค่ะ



เข้าใจว่าเป็นเหตุผลเดียวกับที่คุณนัทอธิบายก็คือ "通用" ค่ะ เพราะชื่อของนางเขียนด้วยตัวอื่น ๆ ที่ออกเสียงเดียวกันก็คือการยืมเสียงกันมา ดูจากดิกข้างบนที่เขียนได้หลายตัวน่ะค่ะ จึงอ่านว่า "หมอเหย๋" ค่ะ ความจริงแล้ว ราชบัณฑิตกำหนดให้ทับศัพท์เป็นไทยคำว่า ye เป็น "เหยีย" ด้วยซ้ำค่ะ แต่เราเขียนบล็อคได้แต่บอกเอาไว้และเขียนตามสไตล์ไปหน่อยค่ะ (กำกับไว้ให้อ่านอย่างที่คิดว่าได้เสียงตรงมากที่สุดส่วนที่ราชการกำหนดก็เอาไว้เพื่ออ้างอิงค่ะ)


โดย: mamiya วันที่: 30 กันยายน 2550 เวลา:17:59:07 น.  

 
อ้อ คำว่า "เค่อ" (客)ที่คุณนัทแปลว่าแขกก็ถูกต้องนะคะ ว่าเป็นแขกจากความหมายที่คุณนัทวงเล็บเอาไว้ แต่ภาษาไทยไม่เก็บความอย่างภาษาจีนที่ให้มาข้างล่าง ดูรูปค่ะมีอธิบายคำว่าเค่อไว้ด้วยอย่างที่คุณนัทว่ามาค่ะ

客 แขก อาคันตุกะ คนนอกพื้นที่ คนต่างถิ่น คนแปลกหน้าที่ผ่านทางมา

แขก น. อาคันตุกะ ผู้มาหา ผู้มาจากต่างบ้าน หรือต่างถิ่น คนบ้านอื่นที่มาช่วยงาน แขกเหรื่อก็ว่า(พจนานุกรมไทยฉบับสมบูรณ์ มานิต มานิตเจริญ)

จึงจะเห็นได้ว่า คำไทยไม่เก็บความหมายของคำว่าคนแปลกหน้าที่ผ่านทางมา

ในคำแปลของเรื่องก้นเจี้ยงหมอเหย๋นี้(เอ...ความจริงเขียนเหยไม่ใส่จัตวาก็ออกเสียงเหย๋ได้เหมือนกันหนอ เพราะว่าคำว่าหน้าเหย๋เกก็ออกเสียงเดียวกัน)

ลองดูที่ติดภาพมากนะคะ เขาแปลเป็น 侠客 น่ะค่ะ




อ้อ....การคุยกันแบบนี้ความจริงมามิยะชอบนะคะ อยากให้คิดเสียว่าเป็นการแลกเปลี่ยนกัน ไม่ใช่การโต้เถียงกันนะคะ เพราะอารมณ์อาจจะก้ำกึ่ง แต่ทว่าหากเราเข้าใจกันก็จะเป็นการ "ถก" เพื่อหาข้อเท็จจริงมากกว่า มีบ้างเราเข้าใจไม่ถูก มีบ้างท่านเข้าใจไม่ถูก เป็นเรื่องธรรมดาของการศึกษา การหาความรู้ ในโลกนี้ไม่มีใครรู้ไปเสียทั้งหมด อย่างที่ว่าทุกคนอาจเป็นครูในเรื่องที่ตนชำนาญ ขณะที่คนไม่ชำนาญก็ต้องรับฟังและนำมาขบคิด อย่างนี้เราก็จะรู้เพิ่มขึ้นได้ไม่ยาก หากเรามีใจต้องการบอกให้ผู้อื่นทราบสิ่งที่เราทราบก็ไม่ยากเลยที่จะตั้งอยู่บนความสงบ

บางครั้งในกระทู้อาจมีอารมณ์เยี่ยงนั้นเกิดขึ้นซึ่งน่าเบื่อมาก มามิยะไม่อยากจะไปออกความเห็นเลย เนื่องจากหากไม่ถูกคนที่ไม่มีใจคิดแลกเปลี่ยน เอาแต่อัตตาถ่ายเดียวก็จะกลายเป็นสงครามเล็ก ๆ ไปเสีย กับคำพูดเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็นำมาเป็นอารมณ์และประเด็นค่ะ

ทั้งหมดนี้เล่าให้ฟังค่ะ ตอนนี้ต้องไปก่อนค่ะ ขอบคุณอีกครั้ง สนุกดีนะคะอย่างน้อยก็มีคนคุย


โดย: mamiya วันที่: 30 กันยายน 2550 เวลา:18:29:57 น.  

 
อ้อ ฉือไห่ เป็นดิกที่รวมชื่อเฉพาะไว้ด้วยค่ะ หากว่าฉือไห่ให้อ่านเหย๋แล้วผิด มามิยะก็ไม่ทราบจริง ๆ ว่าจะหาสิ่งที่ถูกต้องได้อย่างไรค่ะ

ส่วนที่บอกว่ากระทู้ไม่ใช่ที่บล็อคนะคะ และก็ไม่ได้หมายถือคุณนัทค่ะ เป็นเรื่องประสบการณ์ของมามิยะที่เคยเกิดที่กระทู้ต่างหากค่ะ


โดย: mamiya วันที่: 30 กันยายน 2550 เวลา:18:43:03 น.  

 
ภาษาไทยในโบราณ คำว่า แขก คือ เค่อ ตรงกับภาษาจีนทุกประการครับ แต่ตอนนี้ความหมายแคบลง แถมกลายเป็นคำเรียกอย่างออกเชิงดูหมิ่นคนไทยบางท่านที่นับถืออิสลามอีกต่างหาก
ภาษาเปลี่ยนแปลงกันได้ เพราะฉะนั้นเมื่อผมเลือกคำโบราณมาใช้ จึงต้องอธิบาย

เรื่องออกเสียง มว่อเสีย มว่อเย๋ แสดงว่าแม้กระทั่งคนจีนเองก็ต้องออกเสียงกันเป็นสองทางจริงๆ ถึงทำให้เกิดหนังสือที่ให้เสียงกันทั้งสองเสียงอย่างว่า ในเมื่อเป็นอย่างนี้ ก็คงต้องบอก ถูกทั้งคู่ เพราะภาษาที่เกิดจากการใช้ทั่วไป กับภาษาที่มีเฉพาะหน้าหนังสือ มีน้ำหนักพอกัน ในเมื่อชื่อเดิมนางออกเสียงว่ามว่อเย๋ แต่นักวิชาการบางท่านมีความเห็นว่าควรอ่านว่า มว่อเสีย หรือชื่อนางว่ามว่อเสีย แต่บางท่านเห็นว่าควรอ่าน มว่อเย๋ แสดงว่ายุติยาก และจะหาอะไรมายืนยันก็ไม่ได้ว่าอ่านยังไง
สมัยก่อนจะอ่านว่าไงไม่รู้ แต่ถ้าอ่านมว่อเย๋ แสดงว่าเป็นคำยืมเสียงภาษาถิ่น ถ้าอ่านมว่อเสีย แสดงว่าเป็นคำมีความหมาย
ในเมื่อฉือไห่กำหนดให้อ่าน มว่อเย๋ ก็ต้องตามฉือไห่ครับ เพราะคิดว่าเขาน่าจะตรวจสอบมาแล้ว แต่เรื่องความผิดพลาดของพจนานุกรมนี่ ประมาทไม่ได้นะครับ
ผมอยากจะชี้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเป็นตัวอย่าง เกิดจากคนที่เพียงแต่แก่เพราะอยู่นาน แต่ไม่มีความเข้าใจลึกซึ้งทางอักษรศาสตร์มาประชุมกัน ทำให้เกิดข้อผิดพลาดมากมาย และอักขรวิธีที่เคยถูกบางอย่าง (ซึ่งมีเหตุผลอันควรถูก หาได้กล่าวเพราะเพียงความเข้าใจไม่) ก็กลายเป็น "ผิด" ในปัจจุบัน ฉะนั้น พจนานุกรม ประมาทไม่ได้นะครับ อาจผิดเสียเฉยๆ ก็ได้
ชักตัวอย่างง่ายๆ คำที่เคยเขียนว่า เบียดเบียฬ ต้องเขียน เบียดเบียน ในปัจจุบัน คำว่า เบียน ไทยจะมีความหมายว่า เบียนบ่อนหรืออะไรอย่างนี้ก็ช่าง แต่ในที่นี้ ต้อง เบียฬ เพราะความหมายของ เบียฬ ตรงนี้ไม่ใช่ เบียนบ่อน แต่คือการข่มเหงคะเนงร้าย ซึ่งมาจากรูปบาลีว่า ปิฬ ดังนั้นการที่สมัยก่อนเขียน เบียฬ ก็ถูกต้องแล้วอย่างยิ่ง แต่ไปแก้อักขรวิธีโดยเทียบกับคำไทย ทำให้สองคำนี้กลายเป็นคำเดียวกัน จริงๆ แล้วไม่ใช่
ไข่มุกด์ ราชบัณฑิตยฯ กำหนดให้เขียน ไข่มุก โดยบอกว่า มุกด์ ที่มี ด เด็ก เป็นเฉพาะอัญมณีที่ชื่อว่า มุกดาหาร ส่วนไข่มุกเนี่ยเกิดจากหอยมุก เรียกหอยมุกกันมาแต่เดิม เลยไม่ใช่คำสันสกฤต ไม่มีตัว ด ราชบัณฑิตยฯ พูดโดยไม่คิดเลยว่า ที่เขาเรียกหอยว่าหอยมุก ไข่มุก ก็เพราะเทียบมาจาก อัญมณีมุกดาหารนั่นเอง เพราะคำว่ามุกที่ใช้เรียกหอย เกิดมาจากการที่เราเอาเปลือกและไข่มุกในตัวมันมาทำเครื่องประดับ โดยสรุปที่มาของชื่อมันมีที่มาเดียวกับ มุกดาหาร การเขียน ไข่มุกด์ จึงไม่ควรกำหนดให้ผิด
มีตัวอย่างอีกหลายๆ ตัวอย่าง ที่เห็นควรจะให้ราชบัณฑิตยฯ ชำระต่อไป นักวิชาการหลายท่านได้ชี้ข้อบกพร่องในสถาบันทางภาษาที่เรายอมรับที่สุด แสดงว่าแม้กระทั่งพจนานุกรม ก็ประมาทว่าถูกเสียหมดไม่ได้
ที่ว่านี่ไม่ได้จะบอกว่าฉือไห่ผิดนะครับ เพราะคิดว่าของเขาน่าจะทำกันรัดกุมกว่าเรา กว่าจะยุติว่าอ่านอะไรดีคงใช้เวลามาก่อน ตรงนี้ที่เขาเห็นว่าควรอ่านว่ามว่อเย๋ คงเพราะหาหลักฐานทางเอกสารโบราณ ว่าเป็นคำแทนเสียง ตกลงเราก็อ่านมว่อเย๋ก็แล้วกัน


โดย: นัท IP: 124.121.0.149 วันที่: 30 กันยายน 2550 เวลา:19:21:25 น.  

 
อ้อ ลืมพูดไป โดยปกติ เค่อ ในภาษาโบราณก็เหมือนคำสรรพนามอยู่แล้วครับ เค่อที่ปรากฏในหนังสือสมัยนั้นไม่ได้เป็นสยาเค่อเสมอไป เพียงแต่ในที่นี้คนอธิบายจะให้ความหมายว่าสยาเค่อคงเพราะต้องการความชัดเจน การที่ผมแปลว่า แขก คือการใช้คำไทยที่ตรงกันมาแทนตัวไปเลย ประหยัดคำ ไม่ต้องยืดยาวอีก ยังไงๆ ก็ไม่มีทางผิด เพราะมันเป็นคำเดียวกัน


โดย: นัท IP: 124.121.0.149 วันที่: 30 กันยายน 2550 เวลา:19:27:51 น.  

 
จากความสงสัยที่คุณมามิยะชี้ให้ดูว่ามันอ่าน มว่อเย๋ และทำไมจึงมีหนังสือที่อธิบายว่า มว่อเสีย ทำให้ผมลองไปค้นหาดูแล้วพบว่า มว่อเย๋เป็นชื่อเฉพาะโบราณ ที่มีคนเขียนเป็นหลายทางแบบในฉือไห่ว่า และคำอ่านมว่อเสียเกิดจากหลังที่ตัวสะกด 莫邪 ได้รับความนิยม เพราะมีความหมายดีที่สุด ทำให้คนพากันอ่าน มว่อเสีย เพื่อทำให้ชื่อของนางมีความหมาย และจำง่ายว่าใช้ตัวนี้เขียน แต่ถ้าถือตามแบบโบราณ ควรอ่าน มว่อเย๋
ต้องขอบคุณคุณมามิยะที่ทำให้เกิดการตรวจสอบ ถ้าหากไม่ได้ไปค้นผมอาจจะเข้าใจว่าชื่อนางเมื่อก่อนอ่านว่าเสียจริงๆ ก็ได้
เรื่องภาษาก็อย่างที่ว่าแหละครับ ไม่ใช่ภาษาเรา เราก็อธิบายไปตามประสบการณ์ที่เจอ อาจมีอะไรลึกซึ้งกว่านั้นอยู่ เราก็ต้องตรวจสอบกันไป


โดย: นัท IP: 124.121.0.149 วันที่: 30 กันยายน 2550 เวลา:19:38:01 น.  

 
หายไปหลายวัน เคลียร์การบ้านค่ะ ใช้เวลาเขียนตั้งหนึ่งอาทิตย์เต็ม ๆ


สำหรับความเห็นของคุณนัท รับฟังไว้เป็นการแลกเปลี่ยนค่ะ แต่กับความผิดพลาดของดิกชั่นนารี ที่ไม่ใช่การพิมพ์ผิด ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม มามิยะขอพิจารณาเป็นข้อตกลงของสังคมค่ะ

หากว่าเราไม่มีสิ่งที่เป็นหนึ่งเดียวเพื่ออ้างอิงแล้ว ความวุ่นวายก็จะบังเกิดนะคะ เช่นคำเดียวมีการเขียนหลากหลาย ไม่มีข้อตกลงส่วนรวม นักวิชาการก็ถกกันไปเพื่อยืนยันความคิดของตนด้วยหลักฐานต่าง ๆ เพื่อให้ความเห็นของตนหนักแน่น แต่ตราบใดยังไม่มีเอกสารเป็นทางการ เพื่อความแน่นอน ก็ยังถือว่าเป็นเอกสารที่ไม่เป็นทางการเท่านั้นค่ะ และเมื่อสิ่งที่ออกมาตรงกันโดยรวม เราควรยึดเอกสารทางราชการไปก่อนค่ะ ไม่ว่าจะเป็นใครที่กำหนดกฎเกณฑ์นั้นขอให้เกียรติแก่บุคคลเหล่านั้นค่ะ ขณะเดียวกัน หากเราทราบอะไรแล้วถึงแม้จะถูกต้องแต่ยังไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมได้ก็ต้องยึดตามเอกสารที่เป็นทางการอยู่ดีค่ะ เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย

จำได้ว่าตอนเรียน อาจารย์(คนไทยค่ะ)เคยว่าไว้ ภาษาเปลี่ยนแปลงไปตามความนิยม เป็นสิ่งที่คนส่วนรวม หรือคนส่วนใหญ่ตกลงร่วมกัน มันมีชีวิต เปลี่ยนไปตามยุคสมัย บางทีเขียนผิด ๆ ยังกลายเป็นถูกเลยค่ะ นั่นก็เพราะคนส่วนใหญ่ใช้มันจนถูก ยกตัวอย่างเช่น คำว่า "เหิน" ปัจจุบันเขียนแบบนี้ตามพจนานุกรมใช่ไหมคะ แต่มามิยะมีเพื่อนที่เป็นอาจารย์ เขาบอกว่า ต้องเขียน "เหิร" ตอนสมัยเขาเรียนมันเขียนแบบนี้ มามิยะไม่ได้ออกความเห็นอะไร เพียงแต่รับฟังไว้ค่ะ

มีอีก ป้ายของราชการ เคยเห็นเขียน ยาเสพย์ติด แบบนี้ ก็จำได้ว่า ยาเสพติด ไม่ต้องมี ย์ ก็ได้นี่นา แล้วทำไม ตอนนี้จึงเขียนกันไปแบบนั้น หรือว่า จอมยุทธ์ เดียวนี้ทำไมต้อง ใส่การันต์ด้วย เมื่อก่อน การสะกดสองตัวก็ออกเสียงตัวเดียวอยู่แล้ว

ที่ยกตัวอย่างมาเป็นเพียงข้อสงสัย แต่กำลังจะบอกว่าภาษานั้นเปลี่ยนแปลง อย่าง ม่อเสีย ที่คุณนัทบอก มามิยะไม่เคยได้ยินเรื่องเอกสารทางราชการเลย แต่เมื่อเห็นครั้งแรกตัวเองยังอ่านมันว่า ม่อเสีย เลยล่ะค่ะ แต่ภาษามันดิ้นได้ มารู้ภายหลังเหมือนกัน ตอนเห็นคำอ่านในฉือไห่ใหม่ ๆ ยังคลางแคลง และมาถามครูเลยค่ะ และต่อมาก็ถามเพื่อนอีกคน เขารู้ภาษาจีนดีมาก คนนี้นับเป็นสุดยอดความภูมิใจของมามิยะเลยก็ว่าได้ มีหลายเรื่องที่เขาสอนและให้ข้อคิด มามิยะโดนพี่เขาบอกว่า "นี่มันภาษาโบราณนา ถ้าแกศึกษาให้ดี แกจะรู้อะไรอีกมาก" ตอนนี้พี่เขาผันตัวไปเรียนอี้จิงแล้ว ขอบอกว่าอย่างจริงจัง แรก ๆ ยังรู้สึกว่า ทำไมหนอพี่เรียนแล้วมีการทำนายดวงชะตาด้วย รู้เรื่องอะไรก็ตั้งเยอะ จะเชื่อดวงหรือ? ไป ๆ มา ๆ เมื่อเวลาผ่านไป อายุมากขึ้น กับการที่ไม่เชื่อเลย เริ่มมีหลายสิ่งหลายอย่างที่บอกว่ามันเป็นไปได้

จะเขียนทีต้องเช็คมากกินเวลาจังเลย บางทีก็เบื่อเช็คเหมือนกัน ตัวอักษรตัวเดียว คำ ๆ เดียว ต้องเช็คตั้งนาน เสียเวลาชะมัด เช็คสักหลายเล่ม มันเหนื่อยเหมือนกันนะคะ ถ้าไม่รักภาษาจีนแล้ว คงเซ็งตายเป็นแน่แท้ เช่นการบ้านเป็นต้น หาข้อมูลแทบตายเขียนออกมาได้แล้วกะจิ๊ดเดียวจริง ๆ

ไม่มีอะไรหรอกค่ะ เพียงแต่อยากจะเสนอความคิดเห็นบ้าง คุณนัทอย่าได้มีอคติกับท่านผู้แต่งดิกเหล่านั้นเลย มามิยะอาจจะเดินทางใกล้วัยเดียวกันเลยเห็นใจและเริ่มเข้าใจพวกท่าน ละเว้นสาเหตุที่ว่าทำไมพวกเขาจึงได้เข้ามานั่งกันในคณะจัดทำได้ ส่วนนั้นก็คงมีเหตุ และเหตุนั้นเรามิอาจไปรู้ได้ จึงต้องเก็บเอาไว้เป็นเรื่องนอกเหนือ เมื่อฟัง หรือเห็นสิ่งใดก็พิจารณาไปตามวิจารญาณที่พึงมีเก็บไว้เป็นข้อรับฟัง

มามิยะทราบว่าเรื่องเหล่านี้ คุณนัทเองก็ทราบ ที่เล่าเพราะอยากแลกเปลี่ยนความคิดเห็นค่ะ เราเป็นเพื่อนกันแล้วใช่หรือเปล่าคะ? อ้อ คนที่สนใจอะไรที่จีน ๆ คุยเรื่องจีน ๆ ก็กลุ่มที่อยู่ด้วยกันเนี่ยแหละค่ะ ถ้าใครได้ยินพวกเราคุยกันคงต้องว่า พวกนี้ประหลาดแน่เลย

มีอยู่คืนหนึ่งพวกเราคุยกันถึงเรื่องหวังป๋อ จนดึกจนดื่น อาจมีบางคืน เราก็คุยเรื่อง หลู่ซิ่น กันบ้าง หรือบางคราเราก็หันไปยุ่งกับเรื่องราวของหลี่ไป๋ หวังเหวย ลู่หยิว จนเหมือนกับพวกเขาอยู่ใกล้ ๆ นี่เอง (นี่ดึกแล้วหรือเปล่า มามิยะชักเพ้อเจ้อ) คนคุยเรื่องจีคังกันน้อยไปหน่อย เลยไปหาข้อมูลเน็ต โอ....ไหงกลายเป็น ดาราเกาหลีไปได้

แต่เมื่อมาคุยกันในบล็อคแล้วก็ได้คุณนัท กับคุณชัชมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันตั้งหลายเรื่อง ดีเหมือนกันนะคะ

สนุกและได้ความรู้ค่ะ



โดย: mamiya วันที่: 7 ตุลาคม 2550 เวลา:23:45:01 น.  

 
แหงนดูวันเวลา ... 2550 !!

ถือว่าผมโชคยังดีที่ได้ผ่านมาอ่านบทความพิเศษวันนี้ ในปี 2553 ไม่ว่าจะเรื่องตำนานกระบี่หรือการถกเรื่องภาษา ดีเยี่ยมวิเศษมากครับ


โดย: อางู้ วันที่: 16 เมษายน 2553 เวลา:9:23:39 น.  

 
ใครจะคาดคิดว่าการถกคำจีน เมื่อปี 2550 วันนี้เรามี google translate แล้ว


โดย: Gunz (Loonggunz ) วันที่: 15 ธันวาคม 2563 เวลา:16:19:44 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

mamiya
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 33 คน [?]




สงวนลิขสิทธิ์ตามพรบ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้นำไปเผยแพร่และอ้างอิง ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของข้อความ ในสื่อคอมพิวเตอร์แห่งนี้เพื่อการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร ผู้ละเมิดจะถูกดำเนินคดี ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด งานเขียนทุกชิ้นในบล็อคนี้ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิทางปัญญา โดยลิขสิทธิเป็นของผู้เขียน กรุณาให้เกียรติผู้เขียนเมื่อนำไปเผยแพร่ต่อควรขออนุญาตก่อน
[Add mamiya's blog to your web]