พฤศจิกายน 2553

 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
 
 
โรคเป็นสาวก่อนวัย
โรคเป็นสาวก่อนวัย ตอนที่ 1

รศ.พญ.สุภาวดี ลิขิตมาศกุล
หัวหน้าสาขาต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

Precocious Puberty หรือที่เราอาจเคยได้ยินว่า “โรคเป็นสาวก่อนวัย” ซึ่งมักจะเกิดกับผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของการเจริญเติบโตในช่วงวัยเด็ก ทำให้เด็กมีเต้านมหรือมีประจำเดือน รังไข่และมดลูกหรืออัณฑะทำงานและพร้อมที่จะเจริญพันธ์ ซึ่งการเจริญเติบโตที่เร็วผิดปกตินี้อาจส่งผลเสียต่อเด็กหลายด้าน เช่น กระทบต่อเรื่องส่วนสูงของเด็ก (เพราะหลังจากที่มนุษย์เราเข้าสู่วัยเจริญพันธ์ ปลายกระดูกระหว่างข้อต่อจะปิดลง ทำให้หยุดสูง) โอกาสที่จะเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม (สันนิษฐานทางการแพทย์ว่า การมีเต้านมเร็วจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้มาก เพราะเนื้อเยื่อเต้านมถูกกระตุ้นจากฮอร์โมนเพศหญิงเร็วขึ้น) สภาพจิตใจของเด็ก รวมถึงอันตรายจากบุคคลภายนอก เช่น กรณีการถูกล่วงละเมิดทางเพศ และภาวะตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม
เราสามารถแบ่งช่วงการเจริญเติบโตของมนุษย์เป็น 4 ช่วง ได้แก่ช่วงอยู่ในครรภ์มารดา วัยเด็กเล็ก (ตั้งแต่แรกคลอด - 3 ขวบ) วัยเด็ก (3-8 ขวบ) และวัยรุ่นเจริญพันธุ์ ในแต่ละช่วงจะมีปัจจัยที่กระตุ้นการเจริญเติบโตที่แตกต่างกัน แต่อาจมีความผิดปกติด้านร่างกายหรือปัจจัยภายนอกบางอย่างที่กระทบต่อระบบควบคุมการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ทำให้เกิดการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ วัยเด็กจะมีปัจจัยสำคัญในการเจริญเติบโต นั่นก็คือ growth hormone และในวัยรุ่นซึ่งเป็นก้าวแรกสู่วัยเจริญพันธ์ก็จะมีฮอร์โมนเพศ (sex hormone) เป็นตัวกำหนดการเปลี่ยนแปลง โดยฮอร์โมนทั้งสองตัวนั้นผลิตมาจากต่อมใต้สมอง (พิทูอิทารี) ต่อมที่ควบคุมการผลิตฮอร์โมนเพศนั้นจะถูกควบคุมการเริ่มและหยุดสร้างฮอร์โมนด้วยระบบหนึ่ง มีชื่อว่า ไฮโปทาลามิก พิทูอิทารี โกนาดอล แอกซิล ซึ่งระบบนี้ควบคุมด้วยสมองส่วนไฮโปทาลามัสอีกต่อหนึ่ง ซึ่งระบบไฮโปทาลามิกนี้เป็นเหมือน “สวิตซ์ของการสั่งผลิตฮอร์โมน” นั่นเอง
ระบบ “ไฮโปทาลามิก พิทูอิทารี โกนาดอล แอกซิล” นี้จะถูกติดตั้งขึ้นในร่างกายตั้งแต่สองสามเดือนแรกที่เราอยู่ในท้องแม่ และทำงานมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งเราคลอดออกมา อายุได้หนึ่งขวบ สวิสซ์ก็จะปิดลงชั่วคราว จากนั้นระบบนี้จะฟื้นคืนชีพมาอีกครั้งเมื่อเราอายุประมาณ 6-8 ขวบ โดยจะเริ่มกระตุ้นการทำงานของร่างกายในเรื่องสารเคมีต่าง ๆ แต่ยังไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปร่างลักษณะทางเพศ จนกระทั่งฮอร์โมนและสารเคมีในร่างกายผลิตออกมามากเพียงพอแล้ว อวัยวะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตฮอร์โมนเพศ เช่น รังไข่หรือลูกอัณฑะ (ซึ่งควบคุมด้วยฮอร์โมนโกนาโดรโทรฟิน หลั่งจากต่อมใต้สมอง) จึงจะเริ่มทำงาน ทำให้เด็กเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายภายนอกเหมือนผู้ใหญ่มากขึ้น เช่น มีเต้านมและมีประจำเดือนในเด็กผู้หญิง และมีการเปลี่ยนแปลงของขนาดอัณฑะและองคชาติในเด็กผู้ชาย ซึ่งโดยทั่วไปจะเริ่มที่อายุประมาณ 8-9 ขวบ จากนั้นระบบไฮโปทาลามิกจะทำงานอย่างต่อเนื่องตลอดไป
สรุปก็คือ ระบบไฮโปทาลามิกมีหน้าที่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างและเก็บสะสมฮอร์โมนเพศและสารเคมีในร่างกายต่าง ๆ ในช่วงวัยเด็กเพื่อก้าวเข้าสู่วัยรุ่นนั่นเอง

สาเหตุที่ทำให้เป็นสาวก่อนวัย
สาเหตุที่ส่งผลให้ระบบดังกล่าวทำงานผิดปกติไป แบ่งได้ 3 สาเหตุใหญ่ ๆ ก็คือ

- สาเหตุจากภายใน
อย่างที่ได้กล่าวข้างต้นแล้วว่า สวิสซ์ควบคุมการผลิตฮอร์โมน (ระบบไฮโปทาลามิก) มีไฮโปทาลามัสควบคุมอยู่อีกต่อหนึ่ง ดังนั้นเด็กที่มีไฮโปทาลามัสผิดปกติตั้งแต่แรกเกิด หรือถูกกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุ ได้รับการผ่าตัดหรือฉายแสงที่สมอง หรือเป็นเนื้องอกของต่อมใต้สมองซึ่งอยู่ใกล้กับไฮโปทาลามัส ก็จะส่งผลให้การควบคุมการทำงานของระบบไอโปรทาลามิกนี้ผิดเพี้ยนไป ระบบจึงทำงานเร็วขึ้น เกิดเป็นสาวก่อนวัยขึ้นมา
อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ การเป็นเนื้องอกบางชนิดในช่วงแกนกลางของไฮโปทาลามัส (แกนกลางของสมอง) เช่น เนื้องอก Harmatoma ซึ่งเป็นติ่งเนื้อเล็ก ๆ ไม่ส่งผลให้เห็นจากอาการภายนอก แต่เนื้องอกชนิดนี้จะสามารถสร้างฮอร์โมนบางชนิดขึ้นมา และฮอร์โมนเหล่านั้นมีผลไปกระตุ้นฮอร์โมนโกนาโดรโทรฟินในต่อมใต้สมอง (Pituitary) ให้ทำงานเกิดขบวนการสร้างฮอร์โมนเพศขึ้น ก็จะส่งผลต่อการเป็นสาวก่อนวัยได้ รวมถึงการมีซีสต์และเนื้องอกที่รังไข่ อัณฑะ หรือต่อมเพศซึ่งสามารถส่งผลให้เป็นสาวก่อนวัยได้เช่นกัน และท้ายสุดคือ การผิดปกติของต่อมหมวกไตซึ่งทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเพศโดยตรง กรณีนี้พบได้ในเด็กที่เป็นโรค CAH (โรคต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมนมากเกินไป)

- สาเหตุจากภายนอก
สาเหตุนี้กล่าวง่าย ๆ คือ เมื่อวัยเด็กได้รับฮอร์โมนเพศซึ่งเป็นฮอร์โมนในช่วงวัยเจริญพันธุ์ ระบบร่างกายก็จะพัฒนาเร็วขึ้น ในอดีตพบว่า เด็กที่กินวิตามินหรือยาบางชนิดที่โฆษณาว่า เด็กกินยานี้แล้วจะโตเร็ว แท้จริงแล้วยานี้มีส่วนผสมของฮอร์โมนเพศ เมื่อกินยาประเภทดังกล่าวเข้าไปเด็กจะมีการสะสมไขมันมากขึ้น ทำให้เด็กอวบขึ้น ดูตัวโตกว่าเด็กรุ่นเดียวกัน เป็นผลพวงจากการได้รับฮอร์โมนก่อนวัย
การโตก่อนวัยนั้นส่งผลเสียต่อระบบโครงสร้างความสูงของเด็ก กระบวนการนี้อธิบายง่าย ๆ ก็คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงนั้นมีอยู่ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ฮอร์โมนตัวนี้จะเป็นตัวควบคุมให้ปลายของกระดูกซึ่งเจริญเติบโตอยู่ปิดลง ทำให้เด็กผู้หญิงหยุดสูงหลังจากมีประจำเดือน 2 ปี ส่วนปลายกระดูกของเด็กผู้ชายจะปิดช้ากว่าผู้หญิง 3-5 ปี (ผู้ชายเลยมีโอกาสสูงกว่าปกติ) ดังนั้นหากได้รับฮอร์โมนเพศดังกล่าวเข้าไปในวัยที่ไม่เหมาะสมและปริมาณมากเกินไป ก็จะส่งผลให้เด็กเกิดเป็นหนุ่มหรือเป็นสาวก่อนวัยได้

- กลุ่มเป็นสาวก่อนวัยโดยไม่มีสาเหตุ
พบว่าทุก 20 ปี มนุษย์จะมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เร็วขึ้น หกเดือนถึงหนึ่งปีของอายุเกณฑ์เดิม ปัจจุบันเด็กผู้หญิงเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 8 ขวบ ในขณะที่เด็กชายเริ่มที่อายุ 9 ขวบ ซึ่งส่วนใหญ่จะสัมพันธ์กับเรื่องของภาวะโภชนาการเกินหรือความอ้วน เพราะพบว่าเด็กที่มีร่างกายอ้วนมักจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เร็วกว่าเด็กที่ผอม การอ้วนเกิน ค่ามาตรฐานซึ่งถือว่าเป็นโรคอ้วนรุนแรง กลับจะส่งผลในทางกลับกัน คือทำให้เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ช้า หรือเริ่มเร็วและมีปัญหาเรื่องการมีประจำเดือนผิดปกติ ได้มีการสำรวจในเด็กที่เล่นยิมนาสติกและเป็นนักบัลเลย์ ซึ่งต้องควบคุมรูปร่างให้ผอม จะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ช้ากว่าคนในวัยเดียวกัน แต่เด็กที่ผอมมากจนมีน้ำหนักตัวต่ำกว่า 25% ของน้ำหนักมาตรฐานของอายุ ก็ถือว่าเป็นโรคซึ่งจะส่งผลให้เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ช้าเกินไปเช่นกัน
เมื่อความอ้วนเป็นข้อสังเกตหนึ่ง อีกข้อสันนิษฐานที่ตามมาก็คือ ระดับคอเลสเทอรอลในร่างกายอาจเชื่อมโยงกับโรคเป็นสาวก่อนวัยได้ สารเริ่มต้นของการสร้างฮอร์โมนเพศคือ คอเลสเทอรอลและเด็กรุ่นใหม่มีระดับคอเลสเทอรอลในเลือดมากกว่าคนสมัยก่อนมาก การตรวจเจาะระดับคอเลสเทอรอลเฉลี่ยของเด็กวัยเรียนเมื่อ 30-40 ปีก่อนจะพบค่าที่ประมาณ 100-130 mg% แต่เมื่อสิบปีที่ผ่านมาพบว่าคอเลสเทอรอลในเลือดเด็กวัยเดียวกันสูงถึง 150-170 mg% และในปัจจุบันเด็กบางคนมีค่าคอเลสเทอรอล สูงเกิน 200 mg% เพราะฉะนั้นอาจเป็นไปได้ว่า เมื่อสารตัวนี้เพิ่มมากขึ้นก็เหมือนมีวัตถุดิบมากขึ้น ทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนได้มากพอที่ร่างกายจะนำไปใช้งานได้ จึงก้าวเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งถ้าเทียบกับคนสมัยก่อน การสะสมฮอร์โมนอาจเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป จนพร้อมจึงก้าวเข้าสู่วัยรุ่นเจริญพันธุ์ อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของเด็กที่มีภาวะโภชนาการเกินหรือเด็กที่สมบูรณ์เร็ว ก็จะเป็นหนุ่มสาวได้เร็วขึ้นตามไปด้วย
จากข้อสันนิษฐานดังกล่าวอาจจะอธิบายเรื่องของอาหาร เช่น ไก่ ซึ่งเป็นประเด็นถกเถียงกันว่ามีการฉีดฮอร์โมนเร่งมากจนส่งผลมาถึงคนได้ว่า ในอดีต ไก่ที่เรากินเป็นไก่บ้าน เนื้อของไก่ส่วนใหญ่เป็นกล้ามเนื้อมากกว่าไขมัน แต่ในปัจจุบันเรามีไก่บ้านน้อยลง เหลือเพียงไกเลี้ยง ซึ่งถูกขุนให้อ้วนด้วยหัวอาหาร ทำให้มีปริมาณไขมันในเนื้อสูง เมื่อเด็กกินไก่จึงส่งผลให้เด็กมีไขมันและคอเลสเทอรอลในร่างกายมาก ซึ่งอาจส่งผลต่อภาวการณ์เป็นสาวก่อนวัยดังที่ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ ทั้งนี้เคยมีผู้ป่วยโรคนี้ที่มีรูปร่างอยู่ในเกณฑ์ท้วมอ้วน เมื่อตรวจดูคอเลสเทอรอลพบว่ามีเกณฑ์สูงกว่าเกณฑ์ปกติ (เกณฑ์ปกติคือ เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี คอเลสเทอรอลไม่ควรเกิน 170 mg%) ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้หลายรายชอบกินไก่เป็นประจำ และจากการแนะนำให้เด็กควบคุมสัดส่วนอาหารโดยการลดอาหารที่มีไขมันสูง พบว่าในบางรายสามารถชะงักภาวะการเจริญเติบโตก่อนวัยให้ช้าลงได้

แนวทางการรักษา
เมื่อนำบุตรหลานของท่านเข้าพบแพทย์ แพทย์จะเริ่มวินิจฉัยจากการเอ็กซ์เรย์กระดูกก่อนว่า มีโครงสร้างกระดูกล้ำหน้าหรือไม่ หากมี แพทย์ก็จะอัลตราซาวนด์มดลูก รังไข่หรือวัดอัณฑะและอวัยวะเพศของเด็กว่ามีขนาดเปลี่ยนแปลงเหมือนกับได้รับฮอร์โมนเพศกระตุ้นหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น แพทย์ก็จะ เอ็กซ์เรย์สมองเพื่อตรวจหาสาเหตุ ซึ่งอาจมาจากความผิดปกติของสมองดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งถ้าหากตรวจพบต้องทำการรักษา หรือหากเด็กมีประวัติได้รับฮอร์โมนเพศก็ต้องสั่งระงับยานั้น หากกรณีที่ตรวจไม่พบสาเหตุ การรักษาจะทำได้เพียงการฉีดยาชะลอการเป็นสาว เพื่อรักษาให้เด็กสามารถเจริญเติบโตตามโครงสร้างที่ควรจะเป็น และลดความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น มะเร็งเต้านมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมไปถึงเรื่องของสภาพจิตใจของเด็กที่อาจยังไม่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วย
ยาที่ใช้ฉีดเป็นฮอร์โมนสังเคราะห์ขึ้น ชื่อ GnRH-agonist โดยจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อเดือนละหนึ่งครั้ง ฮอร์โมนชนิดนี้จะยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง มีผลทำให้ฮอร์โมนเพศจากรังไข่ลดลง ซึ่งยาชนิดนี้จำเป็นต้องฉีดติดต่อกันไปจนอายุประมาณ 10-12 ปี และเมื่อหยุดฉีดเด็กจะเริ่มเป็นสาวภายใน 3-6 เดือน ทั้งนี้พบว่าการใช้ยาจะได้ผลก็ต่อเมื่อเด็กยังไม่มีประจำเดือน และควรรักษาก่อน 8 ขวบจะได้ผลดีที่สุด ท้ายสุดที่อยากแนะนำคือ การจัดสัดส่วนอาหารให้เด็กรับประทานอย่างเหมาะสม ไม่กินของที่มีไขมันมากเกินไป มีการควบคุมอัตราการเพิ่มของน้ำหนักและความสูงควรให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตามวัย เพราะเด็กอ้วนจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้มาก โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง ถือเป็นปัญหาทางร่างกายซึ่งสามารถควบคุมปัจจัยจากภายนอกได้ ในส่วนด้านจิตใจของเด็กการอบรมเลี้ยงดูบุตรมีผลต่ออุปนิสัยเด็กอย่างแน่นอน และสื่อในปัจจุบันนี้ ยังมีผลกระทบต่อเด็กแต่ถ้าผู้ปกครองซึ่งเป็นต้นแบบที่ดี เฝ้าอบรมบุตรหลานและดูแลอย่างใกล้ชิด ก็เสมือนเป็นเกราะป้องกันภัยให้แก่เด็กเป็นอย่างดี



Create Date : 17 พฤศจิกายน 2553
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2553 21:18:38 น.
Counter : 833 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

momyyumi
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]