ตุลาคม 2551
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
23 ตุลาคม 2551
 

อาการของทางเดินอาหารที่สำคัญ

ปัญหาสำคัญทางคลินิกที่มักจะพบในกระต่าย


โดย ผศ. น. สพ. สมโภชน์ วีระกุล (หมอแก้ว)


อาการของทางเดินอาหารที่สำคัญและที่คลินิกมากที่สุด


คือ อาการการเคลื่อนตัวผิดปกติของทางเดินอาหาร ทั้งการบีบตัวลดลงกว่าปกติ (Hypomotility) ทำให้อาหารสะสมและเพิ่มระยะเวลาในการเก็บอาหารในทางเดินอาหาร ไปจนถึงการหยุดการบีบตัว (Stasis) ของทางเดินอาหารส่วนท้าย ทำให้อาหารอุดตันอยู่ที่ลำไส้


 


ขบวนการเกิดโรคทางพยาธิวิทยา


เพราะกระต่ายมีขบวนการหมักอาหารที่ทางเดินอาหารส่วนท้าย และไวต่อการเปลี่ยนแปลงอาหาร ในการหมักที่ทางเดินอาหารส่วนท้ายและการบีบตัวของทางเดินอาหารนั้น ขึ้นกับชนิดของอาหารหยาบและความยาวของเยื่อใยในอาหารหรือหญ้านั้นๆ หากอาหารที่ได้รับมีเยื่อใยไม่เพียงพอ รวมทั้งมีความยาวของสายใยที่ไม่เหมาะสม  ก็จะทำให้เกิดปัญหาการบีบตัวเกิดขึ้นได้  และปกติผู้เลี้ยงก็มักจะเลี้ยงกระต่ายด้วยอาหารเม็ดสำเร็จรูป โดยไม่มีหญ้าเป็นองค์ประกอบ ในสมัยก่อนยอมรับกันว่าเยื่อใยในอาหารประมาณ 16-18% ก็เพียงพอ แต่การศึกษาในปัจจุบันพบว่า หากองค์ประกอบของอาหารนั้นๆ มีเยื่อใยต่ำมักจะเป็นปัญหาสำคัญในการก่อโรคทางเดินอาหารนี้ จึงแนะนำให้เลือกใช้อาหารที่มีความหยาบมากกว่า 20% หรือจนถึงมากกว่า 25% เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องโรคฟันงอกผิดปกติที่เกิดจากการจัดการ


ปกติในทางเดินอาหารจะพบก้อนขนได้เป็นเรื่องปกติ และก็สามารถตรวจพบได้ง่ายโดยการคลำ กระต่ายมักจะมีพฤติกรรมการแทะขนหรือกินสิ่งแปลกปลอมมากขึ้น เช่น พรม หากอาหารที่ได้รับนั้นมีเยื่อใยไม่เพียงพอ เพื่อให้ทางเดินอาหารยังคงบีบตัวได้ตามปกติ ซึ่งทั้งผู้เลี้ยงและสัตวแพทย์ควรให้ความสนใจกับประวัติดังกล่าว แต่หากการจัดการเรื่องอาหารไม่ได้รับการแก้ไข ทางเดินอาหารจะมีการบีบตัวลดลง ก็จะเกิดการสะสมของก้อนขน อุดตัน และเป็นปัญหาทางคลินิกขึ้นมาจนถึงต้องผ่าตัดนำออกมา


นอกจากนี้ยังเกิดจากความเครียดจากการเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม ออกกำลังกายน้อย อ้วน ได้รับยาหรือสารเคมีบางชนิด


มักจะเกิดสภาวะขาดน้ำในกระเพาะอาหาร ทำให้อาหารแห้งแข็งยิ่งขึ้น การรักษาทางอายุรกรรมอาจจะช่วยทำให้การบีบตัวกลับกลับมาเป็นปกติได้ และมูลจะเริ่มอ่อนนิ่ม และขับถ่ายออกได้ตามปกติ แต่ถ้าหากไม่ได้รับการรักษา อาหารก็ยังตกค้าง ก่อให้เกิดสภาวะเมตาบอลิกเปลี่ยนแปลง จุลชีพที่เป็นประโยชน์จะเริ่มตาย ขณะที่ตัวก่อโรคจะมากขึ้น  เมื่อทางเดินอาหารแห้งมาก จะส่งผลให้เกิดการหยุดบีบตัวต่อมา


กระต่ายที่ป่วยจะเริ่มปฏิเสธอาหาร การเคลื่อนตัวของทางเดินอาหารลดลง มูลมีขนาดเล็กลงและแห้ง เนื่องจากน้ำถูกดึงกลับเข้าไปในลำไส้ใหญ่


ผลจากการบีบตัวลดลงของส่วนซีคัมและลำไส้ใหญ่ ทำให้การหมักของซีคัมมีปัญหา มีการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดด่าง และการผลิตสารอาหาร ส่งผลให้จุลชีพในทางเดินอาหารเปลี่ยนแปลง อาหารที่มีเยื่อใยต่ำ แต่มีแป้งคาร์โบไฮเดรตสูง จะไปสนับสนุนการเกิดเชื้อชนิด Escherichia coli และ Clostridium spp. ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหารุนแรงยิ่งขึ้น ได้แก่ ท้องร่วงเฉียบพลัน เกิดสารพิษในเลือด ลำไส้อักเสบอุดตัน รวมไปถึงท้องร่วงแบบเรื้อรัง รวมทั้งแบบเป็นๆ หายๆ 


การเบื่ออาหารจากการติดเชื้อ  สภาวะเมตาบอลิกผิดปกติ อาการเจ็บปวดช่องท้อง เครียด ก็ยิ่งจะชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งนี้เกิดจากการบีบตัวของทางเดินอาหารลดลง


ประวัติและอาการ


            มักจะพบอาการในกระต่ายที่มีช่วงอายุกลางวัยจนถึงแก่ ได้รับอาหารไม่เหมาะสม เช่น เมล็ดธัญพืช อาหารเม็ด ผลไม้ หรือขนมหวาน จึงอาจจะเห็นได้ในกระต่ายทุกวัย อาการที่มักจะพบ เช่น ขับถ่ายลดลง หรือมูลมีขนาดเล็กลง แห้งแข็ง จนไปถึงไม่ขับถ่ายเลย (บ่งชี้ว่าทางเดินอาหารหยุดบีบตัว) อาจจะมีการอาการท้องเสียแบบเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ  เจ็บท้อง (เมื่อมีอาการเจ็บ กระต่ายจะกัดฟัน มีท่าทางผิดปกติ) ในรายที่เป็นเรื้อรัง จะท้องเสียแบบเป็นๆ หายๆ มูลจะนิ่ม เหนียว และยังมีไข้ได้


อาการอื่นๆ เช่น ไม่ค่อยขยับหรือเล่นเหมือนเคย มีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคกระดูก และอาการทางประสาทได้ น้ำหนักลดลงในกรณีที่เป็นแบบเรื้อรัง หรืออ้วนมากในรายที่กินอาหารเม็ดเป็นหลัก หากรายใดมีอาการตื่นตัวง่าย มักจะบ่งบอกถึงการสารพิษของเชื้อโรคในเลือด หรือการอุดตันลำไส้แบบเฉียบพลัน ซึ่งมักจะพบว่ากระเพาะอาหารและลำไส้จะมีการขยายตัว กระต่ายจะมีอาการซึมอย่างมาก และช็อค


                อาการเบื่ออาหารอาจจะมีขั้นตอนให้เห็นในบางราย เช่น ปฏิเสธอาหารเม็ด แต่ยังกินอาหารเสริม (treats) หรืออย่างอื่น และเบื่ออาหารแบบถาวร 


การวินิจฉัย


การตรวจร่างกาย


            กระต่ายจะเบื่ออาหารให้เห็นมาแล้ว 1-3 วัน ทำการสำรวจกรงก่อนว่าลักษณะมูลเป็นอย่างไร ทำการคลำตรวจช่องท้อง จะพบก้อนแข็ง หรืออาจจะไม่พบอาหารเลย ส่วนซีคัมจะมีแก๊ส ของเหลวสะสม แข็งตึง ขยายตัวมากขึ้นกว่าปกติ และอาจจะคลำพบก้อนอาหารแข็งๆ ขึ้นกับความรุนแรงและระยะเวลาของการเกิดอาการ คลำกระเพาะอาหาร ปกติจะนิ่มมือ แต่เมื่อเริ่มเกิดอาการ กระเพาะอาหารจะแข็งตึง ขยายใหญ่จากแก๊สและของเหลว หากทางเดินอาหารหยุดการบีบตัวเลย จะพบขาดน้ำมาก กระเพาะจะยิ่งแข็งและขยายตัวมากกว่าเดิม จะไม่ได้ยินเสียงการเคลื่อนตัวของทางเดินอาหาร 


                เลือดไหลเวียนกลับช้า (CPR) เยื่อชุ่มซีด อยู่ในสภาวะ hypothermia ค่า CBC มักจะเป็นปกติ หากอยู่ในสภาวะแห้งน้ำ จะพบ PCV และ TS สูงขึ้น หากเกิดโรคตับแทรกซ้อน เช่น lipidosis จะทำให้ค่า Serum ALT หากทางเดินอาหารแตกหรือทะลุ อาจจะพบ inflammation leukogram


                ทำการ X-ray ซึ่งสามารถพบอาหารหรือก้อนขนในทางเดินอาหารได้ และการขยายตัวของกระเพาะอาหารและซีคัมจากมีการสะสมของแก๊ส อาจจะพบเห็นเป็นช่องอากาศไปตลอดลำไส้ได้ หากพบว่ากระเพาะขยายตัวมาก มีการสะสมของแก๊สและของเหลวมาก มักจะเกิดการอุดตันแบบเฉียบพลัน จะเป็นอันตรายถึงชีวิต หากพบก้อนมูลเล็กๆ หรือไม่พบเลยในลำไส้ใหญ่ บ่งชี้ถึงการหยุดการบีบตัวของทางเดินอาหารแล้ว


ในกรณีเบื่ออาหาร อาจจะเกิดได้จากโรคปริทนต์ โรคหัวใจ เนื้องอก มีความบาดเจ็บอยู่ ในกรณีที่ขับถ่ายลดลง เกิดได้จากเบื่ออาหาร กินน้อย กินสิ่งแปลกปลอม ลำไส้กลืนกัน มีเนื้องอกในทางเดินอาหาร ในกรณีท้องเสียแบบเรื้อรัง เกิดได้จากติดเชื้อแบคทีเรีย โรคพยาธิภายใน เนื้องอก เครียด กินสิ่งแปลกปลอม และโรค Infiltrative bowel disease


หลักในการรักษา











Critical Care (Oxbow)



                หากกระต่ายเริ่มเบื่ออาหารมาแล้ว 1-3 วันควรได้รับการแก้ไขในทันทีทันใด แต่หากเป็นมานานกว่า 3 วัน ต้องจัดให้อยู่ในสภาวะฉุกเฉิน


การให้สารน้ำ โดยการให้ทั้งทางปากและทางเส้นเลือด การให้ทางปากนั้นเพื่อลดสภาวะแห้งน้ำในทางเดินอาหารโดยตรง ในกรณีที่ป่วยไม่มาก กระต่ายจะตอบสนองได้ดีต่อการให้ทางปากและในชั้นใต้ผิวหนัง การให้ยาเพิ่มการบีบตัวของทางเดินอาหาร ยาแก้ปวด และการปรับด้วยสูตรอาหารซึ่งจะแสดงรายละเอียดต่อไป


แต่ในกรณีที่ขาดน้ำรุนแรง หรือเจ็บป่วยมาก จำเป็นต้องให้ทางเส้นเลือดหรือทางช่องกระดูก สารน้ำที่ใช้ได้ เช่น Lactate Ringer’s solution ประมาณ 100 mL/kg/day


และให้สัตว์อยู่ในสภาวะที่อบอุ่นเสมอ


การออกกำลัง หากสัตว์ไม่ถึงกับล้มป่วย หรือเริ่มมีอาการ ควรให้ได้ออกกำลังกายอย่างน้อย 10-15 นาที ทุก 6-8 ชั่วโมง จะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องการบีบตัวของทางเดินอาหารได้ และการปล่อยให้อยู่ในสนามหญ้า ก็จะทำให้หากินหญ้าได้ตามอิสระ


อาหาร เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เมื่อกระต่ายเริ่มกินใหม่ขณะหรือหลังจากการรักษา หากปล่อยให้เบื่ออาหาร ปัญหาจะยังคงอยู่ จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงจุลชีพ แบคที่เรียที่ก่อโรคจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น ให้สัตว์มีโอกาสได้เลือกอาหารจากพืชจำนวนมาก เพื่อกระตุ้นความอยากอาหาร เช่น ซีแลนโตรผักกาดหอม ผักชีฝรั่ง แครอท แดนดีเลียน  ผักขม คอลลาร์ด และอื่นๆ และที่สำคัญมากคือหญ้าที่มีคุณภาพสูง ซึ่งกระต่ายมักจะเริ่มกินพืชผักเหล่านี้ได้ หากยังไม่กิน ควรทำการบังคับป้อนโดยไซริงค์ ให้ Critical Care for Herbivore (Oxbow Pet Product) ขนาด 10-15 mL/kg PO q6-8h. สามารถให้ได้มากหรือบ่อยครั้งกว่านี้เท่าที่สัตว์ต้องการ ซึ่งมีองค์ประกอบเหมาะสมแล้ว


หรืออาจจะใช้อาหารเม็ดที่เหมาะสมผสมพืชผักอื่นๆ น้ำหรือน้ำผลไม้ได้  หากสัตว์ยังคงกินได้น้อย ก็อาจจะทำการสอดท่ออาหารผ่านจมูกลงไปยังกระเพาะโดยตรง (nasogastric intubation) ไม่ควรให้อาหารที่มีไขมัน และคาร์โบไฮเดรตสูง จะทำให้เกิดปัญหามากขึ้น ป้อนน้ำ ได้ทั้งน้ำเปล่า น้ำผัก หรือาจจะผสมกับน้ำผลไม้สักหน่อยเพิ่มเพิ่มความน่ากิน เมื่อเริ่มกินได้เอง ควรปรับอาหารให้เหมาะสมตามธรรมชาติ ให้หญ้าที่มีสายเยื่อใยยาวเพียงพอเป็นหลัก เช่น หญ้าทิโมธี อาจจะให้ร่วมกับผักสดชนิดอื่น  ควรงดหรือจำกัดปริมาณอาหารเม็ด  พวกกินเล่น และอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง


สัตวแพทย์ควรพูดคุยกับเจ้าของให้เข้าใจ และให้คอยสังเกตอาการต่อเนื่อง


การพิจารณาในการผ่าตัด สัตว์ที่ป่วยในสภาวะนี้ มักจะแก้ไขได้โดยทางอายุรกรรม และสัตว์มักจะอยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะสมหรือเสี่ยงต่อการผ่าตัด หรือการวางยาสลบ แต่หากพบว่าอาหารหรือก้อนขนจับตัวกันแข็งแน่น ไม่สามารถนวดให้แตกได้ หรือกินสิ่งแปลกปลอม และอุดตันทางเดินอาหาร ก็อาจจะพิจารณาทำการผ่าตัดแก้ไข  แต่ควรจะแก้ไขสภาพสัตว์ให้ดีขึ้นก่อนทำการผ่าตัด


การรักษาทางอายุรกรรม


            ในรายที่รุนแรงควรรักษาโดยการฉีด การให้กินมักจะไม่ได้ผล จะเริ่มเปลี่ยนมาให้กินยารักษาเมื่อการบีบตัวของทางเดินอาหารเริ่มกลับมาสู่ปกติ เช่น เมื่อเห็นมีการขับถ่าย เริ่มอยากอาหาร รวมทั้งผลจากภาพรังสีเอ๊กซเรย์


                ยากระตุ้นการบีบตัวทางเดินอาหาร Cisapride


ยาแก้ปวด Meloxicam หรือ Buprenorphine จำเป็นในการลดอาการเจ็บช่องท้อง ซึ่งเกิดจากแก๊สคั่ง และการอุดตันของลำไส้


ยาปฏิชีวนะ จะให้ในรายที่มีการเจริญของแบคทีเรียแทรกซ้อน ซึ่งมักพบเป็นปกติ ในสัตว์ที่เบื่ออาหารเป็นระยะเวลานาน จะพบอาการท้องเสีย พบแบคทีเรียในสิ่งขับถ่ายมาก มีการเสื่อมและเสียหายของทางเดินอาหาร เช่น มูลมีเลือดปน ควรให้ยาที่ออกฤทธิ์กว้าง เช่น Trimethoprim sulfa  หรือ Enrofloxacin หากพบว่าเป็นเชื้อ Clostridium spp. ควรให้ Metronidazole


ยาอื่นๆ ได้แก่ Cimetidineและ Ranitidine  เพื่อป้องกันการเกิดแผลหลุมในกระเพาะอาหาร  Simethicone  อาจจะช่วยลดความเจ็บปวดเนื่องจากการคั่งของแก๊ส


ยาห้ามใช้ ได้แก่ ยาปฏิชีวนะที่ออกฤิทธิ์กับเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก จะไปทำลายแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ และทำใหแบคทีเรียก่อโรคเจริญมากขึ้น อย่าให้โดยการกิน เช่น lincomycin, clindamycin, erythromycin, ampicillin, amoxicillin, cephalosporin หรือ penicillin และยากระตุ้นการบีบตัวในกรณีที่มีการอุดตันทางเดินอาหารแบบสมบูรณ์ จะทำให้ลำไส้แตกได้


ข้อควรระวัง ยาบางชนิด เช่น NSAIDs ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับไต และเกิดแผลหลุมในกระเพาะอาหารได้ การใช้ยาปฏิชีวนะโดยการกินนั้นจะมีผลไปเปลี่ยนแปลงจุลชีพในทางเดินอาหารได้ ควรจะงดเมื่อพบว่ามีอาการท้องเสียหรือเบื่ออาหาร


ยานำมาใช้ทดแทนกันได้ เช่น Metoclopramide ใช้กระตุ้นการบีบตัวของทางเดินอาหาร แต่ผลยังไม่แน่นอน การให้เอนไซม์ช่วยย่อย เช่น น้ำสับปะรด สารสกัดมะละกอ หรือเอนไซม์จากคับอ่อน ซึ่งอาจจะช่วยแก้ไขได้ แต่ต้องระวังในรายที่เกิดแผลหลุมในกระเพาะอาหาร อาจจะทำให้เกิดการแตกตามมาได้ การให้สารหล่อลื่น


หลังการรักษา ควรสังเกตอาการสัตว์อย่างต่อเนื่อง ทั้งความอยากอาหาร การขับถ่าย และป้องกันอาการกำเริบกลับมาเป็นอีก เช่น ควรได้รับอาหารหยาบ ที่มีสายเยือใยยาวเพียงพอ มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ มีการออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่าให้อ้วน ซึ่งมักเกิดจากอาหารเม็ดที่ไม่เหมาะสม


การพยากรณ์โรค


ขึ้นกับสาเหตุของการเกิด ในกรณีที่มีอาการท้องเสียแบบเรื้อรังขะพยากรณ์ Excellent to good หลังจากปรับเปลี่ยนอาหาร รวมทั้งสัตว์ที่ได้รับการรักษาเมื่อพบอาการผิดปกติแต่เนิ่นๆ แต่การพยากรณ์หลังการเปิดผ่า enterotomy หรือ gastrotomy มักไม่ดี คือ guarded to poor กระต่ายส่วนใหญ่จะรอดจากการผ่าตัด แต่การเคลื่อนที่ของทางเดินอาหารมักจะไม่กลับสู่สภาวะปกติได้


กระต่ายมักจะตายได้ เนื่องจากสภาะวเมตาบิลิกผิดปกติ กระเพาะอาหารแตก หรือแบคทีเรียก่อโรค


ฝ่ายวิชาการบริษัทเอ็กโซติก แอนิมัล แคร์


เอกสารหลัก:


Meredith A and Crossley DA (2002): Rabbit. In Meredith A, Redrobe S, eds. BSAVA manual of exotic pets fourth edition. BSAVA, UK. 76-92.


Oglesbee, Barbara L (2006): The 5 minute veterinary consult for ferret and rabbit. Blackwell Publishing, Oxford. 422 pp.


แนะนำเอกสารอ่านเพิ่มเติม


                Brown, SA and Rosenthal KL (1997): The anorexic rabbit. Proc. North. Am. Vet. Conf. 788 pp.


                Cheeke PR (1987): Rabbit feeding and nutrition. Academix Press, Orlando, FL.


                Donoghue S (1997): Nutrition and pet rabbits. In: Rosenthal KL, ed. Practical Exotic Animal Medicine: The Compendium Collection. Trenton, NJ: Veterinary Learning Systems. 107 pp.


                Jenkins JR (1992): Feeding recommendations for the house rabbit. Vet. Clin. North. Am. Exotic. Anim. Pract. 2, 143-151.


                Jenkins JR (2004): Gastrointestinal diseases. In: Quesenberry KE, Carpenter JW, eds. Ferrets, Rabbits and Rodents: Clinical Medicine and Surgery. 2nd Ed. WB Saunders, Philadelphia. 161-171.


                Paul-Murphy JA and Ramer JC (1998): Urgent care of the pet rabbits. Vet. Clin. North. Am. Exotic. Anim. Pract. 1, 127-152.


                Rees Davies R and Rees Davies JAE (2003): Rabbit gastrointestinal physiology. Vet. Clin. North. Am. Exotic. Anim. Pract. 6, 139-153.






Free TextEditor




 

Create Date : 23 ตุลาคม 2551
2 comments
Last Update : 30 ตุลาคม 2551 16:14:01 น.
Counter : 1581 Pageviews.

 
 
 
 
ขอบคุณค่ะ น้องกระต่ายกินแต่ผักและหญ้า บางทีก็มีแอปเปิ้ลชิ้นเล็กๆพอให้แก้เบื่อ แข็งแรงดีค่ะ
 
 

โดย: sandseasun วันที่: 23 ตุลาคม 2551 เวลา:21:58:01 น.  

 
 
 
กระต่ายเราเบื่ออาหารเรากลัวมันตาย ใครมีวิธีรักสาบอกด้วย
 
 

โดย: แจ๊ค IP: 202.149.25.236 วันที่: 18 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:20:09:24 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

แม่หมีตัวอ้วน
 
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add แม่หมีตัวอ้วน's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com