Group Blog
 
 
พฤษภาคม 2560
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
30 พฤษภาคม 2560
 
All Blogs
 
ทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรม ของโคล์เบิร์ก



ทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรม ของโคล์เบิร์ก (Stages of Moral Development)

ลอเรนซ์ โคลเบิร์ก (Lawrence Kohlberg) ได้ศึกษาวิจัยพัฒนาการทางจริยธรรมของมนุษย์ในหลายประเทศที่มีวัฒนธรรมต่างกัน จริยธรรมในที่นี้เป็นเรื่องของความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความถูกผิด โดยเกิดจากกระบวนการคิดอย่างมีเหตุผล และอาศัยวุฒิภาวะทางปัญญา การวิจัยของโคลเบิร์กพบว่าพัฒนาการทางจริยธรรมของเด็กอายุ 10 ปียังพัฒนาไม่ถึงขั้นสูงสุด แต่ยังคงพัฒนาต่อไปเมื่ออายุมากขึ้น การศึกษาวิจัยนี้ทำให้เราทราบว่า การที่บุคคลใช้เหตุผลหนึ่งๆ ในการตัดสินใจเลือกกระทำต่อเหตุการณ์อย่างหนึ่งนั้นเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญในจิตใจของบุคคลผู้นั้น ซึ่งการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ของสังคมใดสังคมหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นการใช้เหตุผลที่ลึกซึ้งตามลำดับวุฒิภาวะทางจิตใจ และสติปัญญาของบุคคลนั้น ดังนั้นการศึกษาแนวคิดทฤษฎีนี้จะช่วยให้เราเข้าใจระดับพัฒนาการทางจริยธรรมของเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดกฎหมาย ซึ่งอาจเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งของสาเหตุพฤติกรรมกระทำผิด ตลอดจนการมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่างๆ ความเข้าใจนี้จะช่วยในการวางแผนบำบัด แก้ไข ฟื้นฟู รวมทั้งพัฒนาทักษะต่างๆ ให้แก่เด็กและเยาวชน เพื่อช่วยลดการมีความประพฤติที่ไม่เหมาะสมของเด็กและเยาวชนได้ ทฤษฎีนี้ได้แบ่งพัฒนาการทางจริยธรรมเป็น 3 ระดับ โดยแต่ละระดับจะแบ่งย่อยเป็น 2 ขั้น รวม 6 ขั้น ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ระดับที่ 1 ระดับก่อนมีจริยธรรมหรือระดับก่อนกฎเกณฑ์สังคม (Pre-Conventional Morality Level)

ในระดับที่ 1 นี้เด็กจะรับรู้กฎเกณฑ์ของพฤติกรรมที่ ‘ดี’ และ ‘ไม่ดี’ จากผู้มีอำนาจเหนือตนเอง เช่น พ่อแม่ ครูหรือเด็กที่โตกว่า และมักคำนึงถึงผลที่ตามมาว่าเป็นรางวัลหรือการถูกลงโทษในการตีความพฤติกรรมของตนเอง อย่างเช่นพฤติกรรมดี คือพฤติกรรมที่แสดงแล้วได้รับรางวัล ส่วนพฤติกรรมที่ไม่ดี คือพฤติกรรมที่แสดงแล้วถูกลงโทษ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้จะพบในเด็กที่อายุ 2 – 10 ปี โดยพัฒนาการทางจริยธรรมในระดับที่ 1 นี้จะแบ่งเป็น 2 ขั้น คือ

  • ขั้นที่ 1 การเชื่อฟัง และการถูกลงโทษ(Obedience and Punishment Orientation) ในขั้นนี้เด็กใช้ผลที่ตามมาของการแสดงพฤติกรรมเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า พฤติกรรมของตนเอง ‘ถูก’ หรือ ‘ผิด’
    ถ้าเด็กถูกทำโทษจะเรียนรู้ว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นผิด ถ้าเด็กได้รับรางวัลหรือคำชม เขาเรียนรู้ว่าสิ่งที่ตนทำนั้นถูก และจะทำซ้ำอีกเพื่อให้ได้รับรางวัล ดังนั้นเด็กจะยอมทำตามคำสั่งของผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าตนเองโดยไม่มีเงื่อนไข เพื่อไม่ให้ตนเองถูกลงโทษ ถือว่าเป็นการแสดงพฤติกรรมเพื่อหลบหลีกการถูกลงโทษ

  • ขั้นที่ 2 กฎเกณฑ์เป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ของตน(The Instrumental Relativist Orientation) ในขั้นนี้ใช้หลักการแสวงหารางวัล และการแลกเปลี่ยน บุคคลเลือกทำตามความพอใจของตนเอง โดยให้ความสำคัญต่อการได้รับรางวัลตอบแทน รางวัลอาจจะเป็นวัตถุหรือเป็นการตอบแทนทางกาย วาจา และใจ โดยในขั้นนี้ยังไม่คำนึงถึงความถูกต้องของสังคม แต่ทว่าเด็กจะสนใจทำตามข้อบังคับ เพื่อประโยชน์ หรือความพอใจของตนเอง หรือเพราะอยากได้ของตอบแทน ทั้งนี้บุคคลที่อยู่ในขั้นนี้ยังไม่มีความคิดเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น หรือความยุติธรรม ดังนั้นพฤติกรรมของเด็กในขั้นนี้จึงทำเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง แต่มักเป็นไปในลักษณะของการแลกเปลี่ยนกับคนอื่น

ระดับที่ 2 ระดับจริยธรรมตามกฎเกณฑ์ทางสังคม (Conventional Morality Level)

ระดับจริยธรรมในระดับที่ 2 นี้ บุคคลจะแสดงพฤติกรรมตามเกณฑ์ของสังคมที่ตนอยู่ ทำตามความคาดหวังของพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง บุคคลจะไม่คำนึงถึงผลตามมาที่จะเกิดแก่ตนเอง แต่คำนึงถึงจิตใจของผู้อื่น ยึดถือความซื่อสัตย์ และความจงรักภักดีเป็นสำคัญ จริยธรรมในระดับนี้มักพบในช่วงวัยรุ่นอายุประมาณ 10–16 ปี โดยพัฒนาการทางจริยธรรมนี้จะแบ่งเป็น 2 ขั้น คือ

  • ขั้นที่ 3 ความคาดหวังและการยอมรับในสังคมสำหรับ‘เด็กดี’ (The Interpersonal Concordance or “Good Boy-Nice Girl” Orientation) ในขั้นนี้บุคคลจะใช้หลักทำตามที่ผู้อื่นเห็นชอบ โดยจะแสดงพฤติกรรมเพื่อต้องการให้เป็นที่ยอมรับของกลุ่ม ทำให้ผู้อื่นพอใจ และยกย่องชมเชย บุคคลจะไม่ค่อยมีความเป็นตัวของตัวเอง มักคล้อยตามการชักจูงของผู้อื่น โดยเฉพาะเพื่อนพบในวัยรุ่นอายุ 10–15 ปี พัฒนาการทางจริยธรรมในขั้นนี้เป็นพฤติกรรมของ “คนดี” ตามมาตรฐานหรือความคาดหวังของพ่อ แม่ หรือเพื่อนวัยเดียวกัน ดังนั้นพฤติกรรมดีในที่นี้จึงหมายถึง พฤติกรรมที่จะทำให้ผู้อื่นชอบและยอมรับ รวมทั้งการไม่ประพฤติผิดเพราะกลัวว่าจะทำให้พ่อแม่เสียใจ

  • ขั้นที่ 4 กฎและระเบียบ (Law and Order Orientation) ในขั้นนี้บุคคลจะใช้หลักทำตามหน้าที่ของสังคม พัฒนาการทางจริยธรรมในขั้นนี้พบในวัยรุ่นช่วงอายุประมาณ 13–16 ปี บุคคลจะเรียนรู้ถึงการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม คำนึงถึงบทบาทและหน้าที่ของตนเองในสังคม และปฏิบัติตามหน้าที่ของสังคมอย่างเคร่งครัดเพื่อธำรงไว้ซึ่งกฎเกณฑ์ของสังคม เหตุผลในเชิงจริยธรรมในขั้นนี้ ถือว่าสังคมจะอยู่ด้วยความมีระเบียบจะต้องมีกฎหมายและข้อบังคับ คนดีหรือคนที่มีพฤติกรรมถูกต้องคือ คนที่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับหรือกฎหมาย

ระดับที่ 3 ระดับจริยธรรมตามหลักการด้วยวิจารณญาณ หรือระดับเหนือกฎเกณฑ์สังคม (Post-Conventional Morality Level)

พัฒนาการทางจริยธรรมในระดับนี้เป็นหลักจริยธรรมของผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป หากบุคคลพัฒนาจริยธรรมมาถึงขั้นนี้ก็จะมีการใช้วิจารณญาณตีความหมายของสถานการณ์ต่างๆ ตามหลักการ และมาตรฐานทางจริยธรรมก่อนที่จะแสดงพฤติกรรม ซึ่งการตัดสินใจว่า ‘ถูก’ ‘ผิด’ หรือ ‘ควร’ ‘ไม่ควร’ มาจากวิจารณญาณของตนเอง อยู่บนหลักของความยุติธรรม และเป็นที่ยอมรับของสังคม ปราศจากอิทธิพลของผู้ที่มีอำนาจ หรือกลุ่มที่ตนเป็นสมาชิก ซึ่งพัฒนาการทางจริยธรรมในระดับนี้ก็จะแบ่งเป็น 2 ขั้น คือ

  • ขั้นที่ 5 สัญญาสังคม หรือหลักการทำตามคำมั่นสัญญา (The Social-Contract Legalistic Orientation) บุคคลมีเหตุผลในการเลือกกระทำ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น เคารพการตัดสินใจของตนเอง และสามารถควบคุมตนเองได้ โดยมีพฤติกรรมที่ถูกต้องตามค่านิยมของตนและมาตรฐานของสังคม

  • ขั้นที่ 6 หลักการคุณธรรมสากล (The Universal-Ethical Principle Orientation) ขั้นนี้ถือว่าเป็นหลักการมาตรฐานจริยธรรมสากล เป็นหลักการเพื่อมนุษยธรรม ในขั้นนี้สิ่งที่ ‘ถูก’ และ ‘ผิด’ เป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับมโนธรรมที่แต่ละคนยึดถือ บุคคลจะแสดงพฤติกรรมตามหลักการคุณธรรมสากล โดยคำนึงถึงความถูกต้อง ยอมรับในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน มีคุณธรรมประจำใจ ละอาย เกรงกลัวต่อบาป มีความยืดหยุ่นและยึดหลักจริยธรรมของตนอย่างมีสติ

พัฒนาการทางจริยธรรมจะมีความเกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางด้านความคิดเป็นเหตุเป็นผล (ตรรกะ) บุคคลจะมีพัฒนาการทางจริยธรรมเป็นไปตามลำดับไม่มีการข้ามขั้น เช่น บุคคลที่มีพัฒนาการทางจริยธรรมในขั้น 3 การแสดงพฤติกรรมเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากกลุ่ม จะไม่สามารถพัฒนาแบบก้าวกระโดดไปยังขั้น 5 ซึ่งเป็นเรื่องการตระหนักถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก แต่อาจพัฒนาก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ ผ่านขั้นที่ 4 และไปถึงขั้นที่ 5 เป็นลำดับ การที่เราศึกษาแนวคิดเหตุผลเชิงจริยธรมนี้จะทำให้เราตระหนักถึงข้อจำกัดทางด้านความคิดในแต่ละขั้นพัฒนาการปัจจุบันของบุคคล ซึ่งเหล่านี้เป็นแรงผลักดันที่ส่งผลต่อพัฒนาการทางจริยธรรมของบุคคลนั้น และยังเกี่ยวข้องกับการแสดงพฤติกรรมต่างๆ ของบุคคลด้วยเช่นกัน



เอกสารอ้างอิง

  • พรรณทิพย์ ศิริวรรณบุศย์. (2520). จิตวิทยาพัฒนาการ. กรุงเทพมหานคร: คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  • ศรีเรือน แก้วกังวาล. (2551) ทฤษฎีจิตวิทยาบุคลิกภาพ. กรุงเทพมหานคร: หมอชาวบ้าน. Bronfenbrenner, U. (1979). The Ecology of Human Development: Experiments by Nature and Design. Cambridge, MA: Harvard University.
  • Erikson, E. (1968). Identity, youth and crisis. New York: Norton.
  • Lawrence, K. (1981). Essays on Moral Development, Vol. I: The Philosophy of Moral Development. San Francisco, CA: Harper & Row.
  • Lawrence, K. (1973). The Claim to Moral Adequacy of a Highest Stage of Moral Judgment. Journal of Philosophy 70: 630–646.
  • Lawrence, K. (1958). "The Development of Modes of Thinking and Choices in Years 10 to 16". Ph. D. Dissertation, University of Chicago.
  • Lawrence, K. & Lickona, T. (1976). "Moral stages and moralization: The cognitive-developmental approach". Moral Development and Behavior: Theory, Research and Social Issues. Holt, NY: Rinehart and Winston.
  • Mind in Society. Cambridge, MA: Harvard University. 1978.
  • Piaget, J. (1977). "The essential Piaget" ed by Howard E. Gruber and J. Jacques Voneche Gruber, New York: Basic Books
  • Piaget, J. (1932). The Moral Judgment of the Child. London: Kegan Paul, Trench, Trubner and Co.
  • Richard, M. R. (2008). Theories of personality. (9th ed). Victoria: Thomson/Wadsworth
  • Wood SE, Wood CE and Boyd D (2006). Mastering the world of psychology (2 ed.). Allyn & Bacon.
  • Schlinger, H.D. (2008). The long good-bye: why B.F. Skinner's Verbal Behavior is alive and well on the 50th anniversary of its publication.
  • Slee, P. & Shute, R. (2003). Child development: Thinking about theories. New York: Oxford University.
  • Smith, P.K., Cowie, H. & Blades, M. Understanding Children's Development. Basic psychology (4 ed.). Oxford, England: Blackwell.

    เอกสารอิเล็กทรอนิกส์
    - วรุณา กลกิจโกวินท์.(2552). พัฒนาการทางจิตใจในเด็ก. ค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2552, จาก //www.vajira.ac.th/psycho/elearning/PsychoDevelopChild.doc
    - ทฤษฎีจิตสังคมของแอริคสัน. (12 สิงหาคม 2550) ครูบ้านนอก. คัดมาเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2552 จาก//www.kroobannok.com/



Create Date : 30 พฤษภาคม 2560
Last Update : 30 พฤษภาคม 2560 22:59:28 น. 0 comments
Counter : 1108 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

meku
Location :
ประจวบคีรีขันธ์ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add meku's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friends


 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.