Group Blog
 
 
พฤษภาคม 2560
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
30 พฤษภาคม 2560
 
All Blogs
 
พัฒนาการทางจิตสังคม 8 ขั้น ตามทฤษฎีของแอริคสัน



พัฒนาการทางจิตสังคม 8 ขั้น ตามทฤษฎีของแอริคสัน 
(The Eight Stages of Psychosocial Development in Erikson)

สิ่งแวดล้อมทั้งทางกายภาพ (Physical) ทางสังคม (Social) ทางวัฒนธรรม (Cultural) และทางความคิด (Ideational) เข้ามามีอิทธิพลกับพัฒนาการของชีวิตมนุษย์ตั้งแต่แรกเกิดจนชรา ซึ่งส่งผลต่อความคิดริเริ่ม ความสามารถในการปรับตัว บุคลิกภาพและพฤติกรรมต่างๆ แอริค ฮอมเบอร์เกอร์ แอริคสัน (Erik Homburger Erikson) เป็นนักจิตวิทยาคลินิก เกิดที่ประเทศเยอรมันพบว่าพัฒนาการทางจิตวิทยาของมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงเหมือนกับโครงสร้างทางกายภาพร่างกาย มุมมองของแอริคสันจึงเน้นพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคมร่วมกัน นั่นคือ การเจริญเติบโตทางร่างกาย และสิ่งแวดล้อมจะมีความสัมพันธ์กับพัฒนาการทางจิตใจ และบุคลิกภาพ ทำให้บุคคลสามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ ทฤษฎีของแอริคสันนี้มีพื้นฐานจากทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ จุดเด่นของแอริคสันคือมุมมองพัฒนาการมนุษย์ตลอดช่วงอายุขัย ซึ่งแอริคสันมองพัฒนาการของบุคคลคนหนึ่งในลักษณะองค์รวม (Wholeness/Holistic) ตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งสิ้นอายุขัย ซึ่งโมเดลนี้แบ่งพัฒนาการของบุคคลไว้ 8 ขั้น

พัฒนาการทางจิตสังคม (Psychosocial Development Model) 8 ขั้นที่จะกล่าวต่อไปนี้ แบ่งช่วงชีวิตของมนุษย์ จากแรกเกิดถึงประมาณอายุ 80 ปีเป็น 8 ช่วง ตามการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย และสมอง จากวัยเด็กจนถึงวัยรุ่นจะมีการเจริญเติบโตเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและช้าลงในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น มีความคงที่ในวัยผู้ใหญ่ และหลังจากนั้นในวัยผู้ใหญ่ตอนกลางจนถึงวัยชราพัฒนาการในด้านต่างๆ เริ่มเสื่อมถอยลง แต่คงไว้ซึ่งประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงตามขั้นต่างๆ นี้เป็นเสมือนบันไดที่แต่ละบุคคลจะก้าวขึ้นไป การประสบกับปัญหาอุปสรรคเป็นเรื่องปกติ และอาจเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงพัฒนาการ ซึ่งจะเป็นเหมือนการเรียนรู้ การรู้จักแก้ไขปัญหา และเผชิญกับวิกฤตในช่วงต่างๆ การประสบกับความล้มเหลวในขั้นหนึ่งๆ จะมีผลกระทำต่อพัฒนาการของบุคคลคนนั้นในขั้นต่อๆ ไปด้วย เช่น การไม่ประสบผลสำเร็จในพัฒนาการขั้นต้นๆ จะส่งผลต่อพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนจากกลุ่มปกติ ตัวอย่างพฤติกรรม เช่น การเรียน และการเข้าสังคมของบุคคลในช่วงวัยเด็กตอนต้นประสบปัญหา ส่งผลให้เกิดปัญหาพฤติกรรมต่างๆ ในช่วงวัยรุ่น และเกิดปัญหาอุปสรรคการใช้ชีวิตในช่วงวัยผู้ใหญ่ตามมาเช่นกัน

รูปแบบพัฒนาการทางจิตสังคมของแอริคสันมี 8 ขั้น โดยขั้น 1 ถึงขั้น 4 เป็นช่วงของการสั่งสมประสบการณ์ และการเรียนรู้ในการแก้ปัญหา ในขั้น 5 เป็นเรื่องการปรับตัวเพื่อแสวงหาอัตลักษณ์ และขั้น 6 ถึงขั้น 8 เป็นการนำเอาอัตลักษณ์ไปใช้ โดยมีรายละเอียดตามขั้นต่างๆ ดังต่อไปนี้

ขั้นที่ 1 ความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจ กับ ความไม่ไว้วางใจ (Trust vs. Mistrust)

พัฒนาการขั้นแรกจะเกิดขึ้นในช่วงตั้งแต่แรกเกิดจนถึงขวบปีแรก ในช่วงนี้ทารกจะมีความสุขความพึงพอใจบริเวณปาก และกิจกรรมเกี่ยวกับการกลืนกิน ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปีแรกของชีวิต ทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาจะได้รับการตอบสนองที่เพียบพร้อม อยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม รับอาหารผ่านทางสายรก อยู่ในภาวะสงบเงียบ ทำให้ทารกมีความพึงพอใจรู้สึกมั่นคงปลอดภัย ต่อมาเมื่อทารกคลอดจากครรภ์มารดาจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม เช่น การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ การกลืนกินทางปาก การขับถ่ายทางทวารหนัก การได้ยินเสียง และอื่นๆ

ในขั้นนี้หากมารดาให้ความรักและการดูแลแก่ทารกอย่างสม่ำเสมอ ตอบสนองต่อความต้องการขั้นพื้นฐานทางกายและทางจิตใจอย่างต่อเนื่อง (เช่น เมื่อทารกหิวก็ได้กิน ได้รับการสัมผัสลูบคลำด้วยความรัก ทนุถนอม ได้นอนหลับอย่างสงบพอเพียง เมื่อขับถ่ายก็ได้รับการดูแลความสะอาด) จะทำให้ทารกพัฒนาความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจขั้นพื้นฐาน (Basic Trust) ต่อบุคคลและสิ่งแวดล้อม ความสำเร็จของพัฒนาการในขั้นแรกสังเกตุได้จากการที่ทารกไม่มีความวิตกกังวลมากจนเกินไป หรือไม่มีอารมณ์รุนแรง เช่น การแสดง พฤติกรรมร้องไห้โยเยโดยไม่สมเหตุสมผล หรือแสดงความโมโหหงุดหงิด เพื่อเรียกร้องความสนใจ เมื่อมารดาหรือผู้ดูแลคลาดสายตาไปการที่ทารกสามารถอยู่ตามลำพังในระยะเวลาสั้นๆ เมื่อเวลา ที่มารดาหรือผู้ดูแลผละจากทารกไป เพื่อทำธุระอื่นๆ ลักษณะดังกล่าวแสดงว่า ทารกเริ่มมีความรู้สึกมั่นคงและไว้วางใจ มีความมั่นใจว่ามารดาหรือผู้ดูแลจะกลับมาดูแลเช่นเดิม ถือเป็นจุดพื้นฐานเริ่มต้นของการพัฒนาอัตลักษณ์ (Ego Identity) ของบุคคลซึ่งจะเกิดขึ้นชัดเจนในช่วงวัยรุ่น

ทารกน้อยที่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการที่ดี จะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อบุคคลรอบข้างและสภาพแวดล้อม มีความเชื่อมั่นและความหวังในการเริ่มต้นพัฒนาการแห่งชีวิตในอนาคต เมื่อชีวิตพวกเขาจะต้องเผชิญกับปัญหา หรือความกดดัน เขาก็จะมีความเข้มแข็งในการฝ่าฟันปัญหา ซึ่งเป็นผลจากการได้รับประสบการณ์ทางบวกในช่วงต้นของชีวิตนั่นเอง

สำหรับทารกที่มีความรู้สึกไม่ไว้วางใจเกิดขึ้นถือเป็นความล้มเหลวของพัฒนาการขั้นแรกนี้ในตัวบุคคลคนนั้น ความไม่ไว้วางใจอาจมาจากมารดาหรือผู้ดูแลมีปฏิกิริยาตอบสนองไม่เหมาะสมต่อความต้องการของทารก การห่างเหิน หรือปฏิเสธบุตร รวมทั้งมารดาที่มีลักษณะพึ่งพาไม่ได้ หรือมารดาที่เลี้ยงดูทารกด้วยความหงุดหงิด โกรธ ทารกจะแสดงพฤติกรรมเรียกร้องมากเกินควร อย่างไม่มีเหตุผล หรืออาจแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในลักษณะอื่นๆ และพัฒนาความรู้สึกไม่ไว้วางใจต่อบุคคลและสิ่งแวดล้อม ไม่เข้าใจสิ่งแวดล้อม ไม่ไว้วางใจผู้อื่นในพัฒนาการขั้นต่อๆไป

พัฒนาการทางด้านร่างกาย
- มีการเจริญเติบโตทางร่างกายอย่างรวดเร็ว
- มีการเคลื่อนไหวระยะแรก เป็นไปโดยปฏิกิริยาสะท้อน (Reflexive - ปฏิกิริยาตอบสนองสิ่งเร้าแบบอัตโนมัติ เช่น การกระพริบตา การกระตุก น้ำลายไหล เป็นต้น) แล้วค่อย ๆ หายไป ต่อมาจะพัฒนาเป็นการเคลื่อนไหวของร่างกาย รวมทั้งการเคลื่อนไหวที่มีจุดมุ่งหมายมากขึ้น ทารกจะสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆของร่างกายได้มากขึ้น จากการที่ทารกสามารถชันคอ คว่ำตัว ลุกขึ้นนั่ง คลานเข่า ยึดเกาะดึงตัวเพื่อยืนขึ้นเอง การเกาะเดินจนในที่สุดสามารถลุกขึ้นยืนได้เอง

พัฒนาการทางด้านภาษา
- ทารกแรกเกิด แสดงความต้องการให้ผู้เลี้ยงดูเข้าใจ ด้วยการร้องไห้
- 2 เดือน ฟังเสียงคุย หันหาเสียง เปล่งเสียงอ้อแอ้
- 4 เดือน เปล่งเสียงได้ยาวขึ้น ส่งเสียงอ้อแอ้โต้ตอบ เมื่อรู้สึกพอใจจะส่งเสียงเอิ๊กอ๊ากในลำคอ
- 6 เดือน หันหาเสียงเรียก ส่งเสียงหลายเสียง
- 9 เดือน ฟังรู้ภาษา เข้าใจสีหน้า ท่าทาง เลียนเสียงพยัญชนะแต่ไม่มีความหมาย
- 12 เดือน เรียกพ่อแม่/ พูดคำโดดที่มีความหมาย 1 คำ ทำท่าตามคำบอกที่มีท่าทางประกอบได้

พัฒนาการทางด้านความคิด
สำหรับพัฒนาการทางด้านความคิดนั้นจะขอกล่าวถึงแนวคิดของเพียเจท์ (Piaget) ซึ่งได้ศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการทางความคิดของมนุษย์ โดยพัฒนาการทางความคิดในระยะทารกนั้นเป็นระยะของ Sensori-motor Operation (แรกเกิด – 2 ปี) และแบ่งลำดับขั้นพัฒนาการเป็น 6 ระยะ เมื่อเปรียบเทียบพัฒนาการในช่วงแรกตามทฤษฎีของแอริคสัน ซึ่งอยู่ในช่วงอายุขวบปีแรก จะเทียบกับแนวคิดของเพียเจท์ได้ 4 ระยะคือ

  1. ระยะ 0 – 2 เดือน (Reflexive) พฤติกรรมต่างๆ เป็นปฏิกิริยาสะท้อน (ปฏิกิริยาตอบสนองสิ่งเร้าแบบอัตโนมัติ เช่น การกระพริบตา การกระตุก น้ำลายไหล เป็นต้น)

  2. ระยะ 1 – 4 เดือน (Primary circular reaction) ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นสิ่งกระตุ้นการเคลื่อนไหวของเด็ก เด็กจะทำซ้ำ ๆ แต่ยังไม่มีจุดมุ่งหมาย สนใจการเคลื่อนไหว ไม่ใช่สนใจผลของการเคลื่อนไหว

  3. ระยะ 4 – 9 เดือน (Secondary circular reaction) เริ่มมีความตั้งใจทำพฤติกรรมการเคลื่อนไหว และสนใจผลของพฤติกรรมนั้น ๆ

  4. ระยะ 9 – 12 เดือน (Coordination of secondary reaction) เริ่มแก้ปัญหาอย่างง่ายๆได้ ใช้พฤติกรรมในอดีตที่ผ่านมาช่วยแก้ปัญหา สามารถแยกสิ่งที่ต้องการออกจากสิ่งที่ไม่ต้องการ สามารถเลียนแบบการเคลื่อนไหว

ในขั้นนี้ทารกจะมีการเจริญเติบโตทางร่างกายอย่างรวดเร็ว ในขณะที่พัฒนาการทางความคิดเป็นแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน และมักเป็นปฎิกิริยาสะท้อน

ขั้นที่ 2 ความเป็นตัวของตัวเอง กับ ความละอายและสงสัย (Autonomy vs. Shame and Doubt)

ในพัฒนาการขั้นที่ 2 เกิดขึ้นระหว่างขวบปีที่ 2 – 3 ของชีวิต พัฒนาการในขั้นนี้เด็กจะมีพัฒนาการทางร่างกาย โดยเฉพาะกล้ามเนื้อมากขึ้น และเริ่มที่จะเรียนรู้การควบคุมส่วนต่างๆของร่างกาย เคลื่อนไหวร่างกายอย่างเป็นอิสระมากขึ้น สามารถที่จะเรียนรู้อย่างรวดเร็ว และเริ่มสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบข้าง เด็กในวัยนี้จะเริ่มฝึกหัดการขับถ่าย การควบคุมกล้ามเนื้อหูรูด

ความรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง (Sense of Autonomy) และการควบคุมตนเอง (Self Control) จะเกิดขึ้นได้ถ้าผู้ปกครองให้การอบรมเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม มีความมั่นคงอดทน ให้โอกาสเด็กได้ทำสิ่งต่างๆตามความปรารถนาของตนเองโดยอยู่ในการดูแลของผู้ปกครอง (เช่น การเคลื่อนไหว การเดิน การปีนป่ายการหยิบจับสิ่งของอย่างเป็นอิสระ โดยที่ผู้ปกครองไม่แสดงท่าทีตื่นตระหนก หรือกังวลมากเกินไป) จะทำให้เด็กรู้สึกภาคภูมิใจในความสำเร็จของตนเอง มีความรู้สึกที่ดีต่อผู้อื่น ผลดีอีกประการคือ เด็กจะพัฒนาความรู้สึกมุ่งมั่น (Will) ซึ่งหมายถึง ความมุ่งมั่นตั้งใจแน่วแน่ในการเลือก และในการยับยั้งตนเอง เด็กจะกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นและกล้าที่จะตัดสินมากขึ้น รวมทั้งมีความมุ่งมั่นและตั้งใจในการทำกิจกรรมต่างๆ ในทางตรงข้ามหากผู้ปกครองปล่อยปละละเลย ดุว่า หรือเข้มงวดกับเด็กมากเกินไป เด็กจะรู้สึกละอาย สงสัยในความสามารถของตนเอง ไม่มั่นใจในการแสดงความคิดเห็น ไม่มั่นใจว่าจะควบคุมชีวิตตนเองได้ ผลกระทบหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นคือทำให้เด็กมีบุคลิกภาพไม่เหมาะสม ขาดความเชื่อมั่น วิตกกังวล หวาดระแวงสงสัย หรือมีพฤติกรรมย้ำทำ นอกจากนี้ บุคคลที่ได้รับการพัฒนาความรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง และการควบคุมชีวิตตนเองอย่างเหมาะสม เมื่อโตขึ้นเขาจะเป็นผู้ใหญ่ที่จะสนับสนุน และเชื่อมั่นสถาบันทางกฎหมายของสังคม มีความเคารพและอยู่ภายใต้กฎหมายของสังคม

พัฒนาการทางด้านร่างกายและภาษา
- เด็กเป็นอิสระทางกาย (Physical Independence) มากขึ้น สามารถเดินวิ่งได้เอง สำรวจสิ่งแวดล้อมได้
- เด็กเริ่มพูดเป็นคำ ๆ ได้มากขึ้น เข้าใจคำสั่งและภาษาท่าทางมากขึ้น เมื่ออายุ 2 ปี พูด 2 – 3 คำต่อกันได้อย่างมีความหมาย

พัฒนาการทางด้านความคิด
พัฒนาการทางความคิด ระยะSensori-motor ของ Piaget ระยะ 12 – 18 เดือน (Tertiary Circular Reaction) เริ่มมีพฤติกรรมลองผิดลองถูก (Trail & Error) สนใจผลที่เกิดขึ้น เป็นตัวของตัวเอง เริ่มมีความเข้าใจวัตถุภายนอก รับรู้การคงอยู่ของวัตถุแม้เมื่อวัตถุนั้นถูกปิดบัง หรือซ่อนเล้นลับตาไป หรือถูกเคลื่อนย้ายไปที่อื่น (Object Permanence) ระยะ 18 – 24 เดือน เริ่มมีความคิด จินตนาการ มีความสามารถแก้ปัญหาด้วยวิธีใหม่ๆ แต่ยังเป็นลักษณะลองผิดลองถูกอยู่ (Invention of new means through mental combination)

ขั้นที่ 3 ความคิดริเริ่มกับความรู้สึกผิด (Initiative vs. Guilt)

พัฒนาการในขั้นนี้อยู่ในช่วงอายุ 3 – 5 ปี เด็กวัยนี้ร่างกายมีความสามารถและช่วยตัวเองได้มากขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ยังอยู่ในวงจำกัด การพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์สำหรับเด็กในช่วงวัยนี้ทำได้โดยให้เด็กได้ร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ท้าทายความสามารถของเขา รวมทั้งสิ่งแวดล้อมก็มีส่วนผลักดัน และเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็กได้

ระยะนี้เป็นระยะที่เด็กเริ่มเรียนรู้บทบาททางเพศ มาตรฐานทางศีลธรรมและการควบคุมอารมณ์ ครอบครัวจะเป็นแหล่งชี้แนะถึงสิ่งต่างๆ ในสังคมให้แก่เด็ก เด็กเริ่มสร้างบุคลิกภาพและความรู้สึกผิดชอบชั่วดีจากการได้มีกิจกรรมและประสบการณ์ร่วมกับสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว การอบรมสั่งสอนโดยพ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ในครอบครัวจะช่วยให้เด็กได้ซึมซาบเข้าไป เป็นการรู้สำนึกผิดชอบชั่วดีในความคิด และแสดงออกในพฤติกรรมของเด็ก การเรียนรู้นี้เด็กจะได้รับจากตัวแบบ (Role Model) ในครอบครัว โดยมีตัวแบบเป็นตัวอย่าง และให้ข้อมูลแก่เด็ก เพื่อเรียนรู้ว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด ดังนั้นความรู้สึกผิดชอบชั่วดีจึงสามารถสร้างขึ้นโดยการเรียนรู้จากบุคคลในครอบครัว และรวมถึงแนวความคิดค่านิยมของสังคม ในระยะนี้ครอบครัวมีบทบาทอย่างยิ่งในการปลูกฝังความรู้สึกผิดชอบชั่วดีให้แก่เด็ก การสร้างความสัมพันธ์ในระยะนี้จะเริ่มด้วยความสัมพันธ์ระหว่างแม่-เด็ก ต่อมาพ่อเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย และเมื่อสังคมของเด็กกว้างขวางขึ้นเด็กจะเริ่มสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น เด็กเริ่มเป็นตัวของตัวเอง เด็กที่มีประสบการณ์มากจะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้มาก เด็กที่ไม่สามารถพัฒนาผ่านขั้นความคิดริเริ่มไปได้จะเกิดความรู้สึกผิด และไม่กล้าที่จะเป็นผู้ริเริ่ม เนื่องจากเกิดความกลัวว่าจะทำผิดพลาดอีก

พัฒนาการของเด็กเป็นความรับผิดชอบร่วมกันทั้งเด็ก พ่อแม่ และชุมชน การได้ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน หรือการมีปฏิสัมพันธ์ (Interaction) ในสังคมจะเป็นการช่วยถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด เจตคติ ค่านิยมของสังคมให้แก่เด็กได้ทีละน้อย โดยมีผู้ใหญ่ช่วยกันประคับประคองให้เด็กพัฒนาไปสู่ความสมบูรณ์ได้ เด็กวัยนี้ควรได้รับโอกาสทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามความสามารถอย่างอิสระ เช่น การเล่น การคิด การประดิษฐ์ การจินตนาการต่างๆ และควรได้รับการสนับสนุนให้เข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ซึมซับความรู้สึกผิดชอบชั่วดี และหลักศีลธรรมจรรยา หากเด็กวัยนี้ได้รับการจำกัดในการทำกิจกรรมหรือถูกตำหนิ เมื่อคิดและทดลองทำสิ่งต่างๆ จะทำให้เด็กขาดความเชื่อมั่นในตนเอง มีความคิดคัดค้านหรือความรู้สึกผิดเกิดขึ้นเนื่องจากเขาไม่สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้สำเร็จดั่งใจและถูกลิดรอนหรือขัดขวางความสามารถของตนเอง ทำให้ความรู้สึกผิดเกิดสะสมในตัวเด็กและมีผลให้เด็กขาดความคิดสร้างสรรค์

พัฒนาการทางด้านร่างกายและภาษา
เด็กวัยนี้สามารถเดิน วิ่ง กระโดดโลดเต้นได้ เด็กจะมีทัศนคติไปในทางที่ดี ถ้าได้ทำกิจกรรมต่างๆ อย่างมีอิสระ ได้ใช้ความคิดและพลังงานของเขา และการได้สัมผัสกับสิ่งแวดล้อม เด็กต้องการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ในระยะแรกๆ ของขั้นนี้เด็กจะมีความกระตือรือร้นและเริ่มมีความก้าวร้าวเกิดขึ้น เพื่อจะเอาชนะ ลักษณะพฤติกรรมของเด็กวัยนี้จะแตกต่างกันไปตามเพศ และในที่สุดจะพัฒนาเป็นบุคลิกภาพที่แสดงถึงความเป็นชายและหญิงอย่างเห็นได้ชัด รูปแบบพฤติกรรมของเด็กชาย เด็กชายจะชอบกระโดดโลดเต้น ต้องการมีความรู้ใหม่ๆ และชอบยุ่งเรื่องของคนอื่น ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความอยากรู้อยากเห็นในสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องเพศ โดยแสดงออกมาในรูปแบบต่างๆ เช่น การไม่สามารถอยู่นิ่งๆ อาการกระวนกระวาย การจู่โจมถึงตัวบุคคล ในขณะที่เด็กหญิง รูปแบบที่แสดงออกมาจะเริ่มต้นคล้ายกับหญิงสาวทั่วไป เช่น มีเสน่ห์ น่ารัก มีทีท่าขวยเขิน เย้ายวน จนถึงขั้นที่แสดงออกถึงความสงบเสงี่ยมซึ่งเป็นลักษณะของสาวๆ ทั้งหมดนี้เป็นการเริ่มต้นที่แสดงออกถึงเพศแม่ เด็กหญิงเริ่มมีบทบาทของความเป็นแม่ต่อไปในรูปของท่วงทีการพูดคุย การแสดงออกต่าง ๆ ในสังคมจะสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมต่างๆ รวมถึงอุปนิสัยส่วนลึกที่จะยอมรับใครเข้ามาร่วมเกี่ยวข้องด้วย พฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้ถือว่าเป็นธรรมชาติของเด็ก สภาพแวดล้อมของครอบครัวมีบทบาทสำคัญต่อการแสดงออกของเด็กเป็นอย่างมาก เมื่อเด็กผ่านช่วงนี้ไป ความสนใจเรื่องเพศจะเปลี่ยนจากความสนใจในบุคคลอื่นเป็นการค้นหาสิ่งใหม่ๆ ให้กับตัวเอง

เด็กมีความสามารถทางภาษาและสามารถใช้ได้ดีขึ้นกว่าเดิม ชอบพูดและตั้งคำถามถึงสิ่งต่างๆ รอบตัว และมีจินตนาการทางความคิดต่างๆ ในขณะกำลังทำกิจกรรมนั้นๆ เด็กในช่วงนี้กำลังเรียนรู้ในสิ่งแปลกใหม่ ผู้ใหญ่ควรปล่อยให้เด็กได้พูดถาม และทำกิจกรรมต่างๆ อย่างอิสระภายในขอบเขตความสามารถ และจินตนาการของเขา การมีส่วนร่วมในกิจกรรมตลอดถึงการใช้ภาษาจะช่วยให้เด็กเกิดความคิดในการวางแผนและการริเริ่มทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้เขาต้องการที่จะศึกษาค้นคว้าต่อไป เด็กก็จะมีความคิดริเริ่ม แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าผู้ใหญ่คอยเข้มงวด ไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้ซักถาม หรือตำหนิดุว่าพฤติกรรมที่เขาแสดงออกอยู่ตลอดเวลา เขาก็จะรู้สึกผิด และไม่กล้าแสดงออกเมื่อคิดจะทำสิ่งใด

ขั้นที่ 4 ความขยันหมั่นเพียรกับความรู้สึกต่ำต้อย (Industry vs. Inferiority)

ขั้นนี้อยู่ในช่วงอายุ 6 – 12 ปี ช่วงวัยเด็กตอนปลายเป็นระยะที่เด็กมีความเจริญเติบโตและมีความอยากรู้อยากเห็นในสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มากขึ้นยิ่งกว่าในวัยเด็กตอนต้นและวัยเด็กตอนกลาง การเสาะแสวงหาสิ่งต่างๆ ทำให้เด็กมีประสบการณ์กับสิ่งใหม่ ๆ รอบตัวเขามากขึ้น เมื่อเขาคิดว่าสิ่งใดที่เขาต้องการเขาจะต้องแสวงหาให้ได้ตามความปรารถนา เนื่องจากในวัยที่ผ่านมาเขาไม่สามารถทำกิจกรรมหลายอย่างได้ เพราะมีผู้ใหญ่คอยบังคับและควบคุม เด็กในวัยนี้ต้องการแสดงความคิดเห็นและแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อแสดงความเป็นผู้ใหญ่ จุดสำคัญของพัฒนาการระยะนี้คือการได้แสดงออกว่าเขามีความคิด และมีความสามารถเหมือนผู้ใหญ่คนอื่นๆเช่นกัน ในช่วงอายุนี้บุคคลรอบข้างควรช่วยชี้แนะแนวทางในการดำเนินชีวิตเพราะเป็นระยะที่พวกเขาเริ่มไตร่ตรองถึงอนาคต การที่ได้พิสูจน์ว่ามีความสามารถกระทำสิ่งต่างๆ ในขอบเขตของเขาได้อย่างเหมาะสมทำให้เด็กในวัยนี้มีความเชื่อมั่นว่าเขาจะประสบความสำเร็จในอนาคต

พัฒนาการทางร่างกาย
การเจริญเติบโตด้านร่างกายของเด็กวัยนี้มีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้า ๆ สม่ำเสมอ มีการเปลี่ยนแปลงของกล้ามเนื้อและระบบประสาทซึ่งทำงานประสานกันได้ดีขึ้น การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของอวัยวะภายในเกือบทุกระบบ การเปลี่ยนแปลงด้านน้ำหนัก การเจริญเติบโตของกระดูกและฟัน และการขยายออกของร่างกายซึ่งเปลี่ยนไปในด้านส่วนสูงมากกว่าส่วนกว้าง โดยความสูงจะเพิ่มขึ้น 2 – 3 นิ้วต่อปี สัดส่วนร่างกายใกล้เคียงผู้ใหญ่มากขึ้น เด็กผู้หญิงจะมีการเจริญเติบโตทั้งด้านร่างกายและวุฒิภาวะเร็วกว่าเด็กผู้ชายประมาณ 1 – 2 ปี จากลักษณะการเจริญเติบโตทางด้านร่างกายดังกล่าว ทำให้เด็กวัยนี้เริ่มให้ความสนใจกับรูปร่างหน้าตา มีความอยากรู้อยากเห็นในเรื่องราวทางกายของเพศตรงข้าม อย่างไรก็ตามการเจริญเติบโตที่เกิดขึ้นทุกด้านของเด็กวัยนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ลักษณะทางพันธุกรรม การเลี้ยงดูเอาใจใส่จากครอบครัว และตัวเด็กเอง เช่น รูปแบบการรับประทานอาหาร การออกกำลังกายที่เหมาะสม การมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่สมบูรณ์แข็งแรง

พัฒนาการทางอารมณ์
พัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กวัยนี้คือ การมีความคิดละเอียดอ่อนมากขึ้น สามารถเข้าใจอารมณ์ของตนเองและผู้อื่นได้ดีขึ้น ควบคุมอารมณ์ของตนได้ เรียนรู้ที่จะแสดงอารมณ์ได้เหมาะสมในรูปแบบที่สังคมยอมรับได้ เด็กวัยนี้สามารถควบคุมและระงับความโกรธได้ดีขึ้น ไม่มีลักษณะของการโกรธง่ายและหายเร็ว พัฒนาการการแสดงออกจะเปลี่ยนไป จากเดิมที่แสดงออกด้วยการร้องไห้ดิ้นกับพื้นเสียงดัง ทิ้งตัวลงนอนเมื่ออยากได้รับการตอบสนองในสิ่งที่ต้องการ จะเปลี่ยนเป็นการคิดแก้แค้นในใจแต่ไม่ทำจริงดังที่คิด หรือการหลีกเลี่ยงจากสถานการณ์ที่ไม่พึงพอใจในทันที ไม่มีพฤติกรรมแบบต่อสู้โดยใช้กำลัง ด้านความรักเด็กวัยนี้แสดงออกด้วยการมีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น ร่าเริงแจ่มใส อารมณ์ดี จะระมัดระวังไม่ทำให้ผู้อื่นเสียใจหรือกระทบกระเทือนใจ โดยเฉพาะขณะอยู่ในกลุ่มเพื่อน หรือในสังคม เขาต้องการความรัก ความอบอุ่นมั่นคงในครอบครัวและหมู่คณะ นอกจากนี้เด็กจะเลิกกลัวสิ่งที่ไม่มีตัวตน พิสูจน์ไม่ได้ อารมณ์กลัวของเด็กวัยนี้เกิดจากประสบการณ์ และการเรียนรู้ที่ได้รับมา สิ่งที่เด็กวัยนี้กลัวมากที่สุดคือ กลัวการไม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่ม กลัวไม่มีเพื่อน ไม่ชอบการแข่งขัน ไม่ต้องการเด่นหรือด้อยกว่ากลุ่ม ชอบการยกย่องแต่ไม่ชอบการเปรียบ- เทียบ นอกจากนี้เด็กยังกลัวอันตรายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับตนและบุคคลที่รัก การตอบสนองความกลัวจะเป็นลักษณะการต่อสู้ การถอยหนี และการทำตัวให้เข้ากับสิ่งนั้นๆ ความกลัวของเด็กจะเริ่มลดลงเรื่อยๆ พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย เด็กจะเปลี่ยนจากความกลัวเป็นความกังวลเรื่องรูปร่างของตนเองแทน คือ กังวลจากความต้องการให้ตนมีรูปร่างที่แข็งแรงในเด็กชาย หรือมีรูปร่างหน้าตาสวยงามในเด็กหญิง

อย่างไรก็ตาม เด็กวัยนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงความรู้สึกที่เกิดขึ้นเร็ว บางครั้งทำตัวเป็นผู้ใหญ่ บางครั้งทำตัวเป็นเด็ก ความขัดแย้งทางอารมณ์จึงเกิดขึ้นได้เสมอ พัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กวัยนี้จึงขึ้นอยู่กับลักษณะการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ซึ่งมีผลสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาความรู้สึกมั่นคงของเด็กต่อไป

พัฒนาการทางด้านความคิดและสังคม
เด็กจะสนใจในสิ่งต่างๆ แล้วพยายามดัดแปลงให้มาสู่แบบฉบับของเขา ความสามารถในการเลียนแบบจะปรากฏออกมาในรูปของ การเรียนรู้ภายในขอบเขตความสามารถของตัวเอง ซึ่งมีพื้นฐานมาจากสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรมและสังคม เด็กจะมองเห็นว่าพ่อแม่เป็นตัวแทนของสังคม เป็นแบบอย่างแก่เขา แต่เขายังต้องการตัวแบบอื่นๆ เพื่อการเปรียบเทียบด้วย เช่น เพื่อนของพ่อแม่ และพ่อแม่ของเพื่อน เป็นบุคคลสำคัญที่ใหม่สำหรับเขา นอกจากนี้เพื่อนบ้าน เพื่อนในโรงเรียน เป็นสิ่งสำคัญทางสังคมที่เขาจะพิจารณา และคนแปลกหน้ากลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับเขา เด็กหญิงและเด็กชายจะแสวงหาผู้ใหญ่และบุคคลอื่นๆ เพื่อการวิเคราะห์ เขาคิดว่าพ่อแม่ยังไม่สมบูรณ์พอที่เขาจะเลียนแบบได้ครบทุกด้าน ในโลกของเด็กมีการสมมติตำแหน่งต่างๆ ที่สำคัญเหมือนผู้ใหญ่ เด็กมีความนับถือตนเองเป็นเกณฑ์เพื่อวัดความสำเร็จหรือความล้มเหลวของตน เด็กจะแสวงหาตัวแบบจากครอบครัวที่มีลักษณะพิเศษออกไป ทางด้านการปรับตัวของเด็กในสังคม เด็กจะมีการยอมรับตัวเองมากขึ้น นอกจากนี้โรงเรียน กลุ่มเพื่อนรุ่นเดียวกันและกลุ่มบุคคลทางศาสนา จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการปรับตัวของเด็กได้เป็นอย่างดี ในช่วงวัยนี้เด็กเริ่มเปลี่ยนความผูกพันจากครอบครัวไปสู่สถาบันอื่นในสังคม

พัฒนาการระยะนี้จะมีผลต่อระยะวัยรุ่น โดยทั่วไปเด็กวัยรุ่นมักต้องการได้รับการยอมรับจากผู้อื่น ชอบทำกิจกรรมต่างๆ สูงกว่าความสามารถตามการรับรู้ของตนเอง เป็นการทดลอง และเรียนรู้ศักยภาพ ของตนเอง ในขณะเดียวกันความกลัวความผิดพลาดหรือความล้มเหลวที่เกิดขึ้น ก็เป็นแรงผลักดันให้เขาพยายามทำกิจกรรมนั้นๆ ให้สำเร็จ เด็กวัยรุ่นจะพยายามเอาชนะ เพื่อความสำเร็จซึ่งเป็นแนวทางไปสู่ความเชื่อมั่นในตัวเองเมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ กล่าวได้ว่าเด็กวัยรุ่นมีพลังอย่างเพียบพร้อมที่จะปรับตัวเพื่อความสำเร็จในการทำงาน มีความขยันขันแข็ง พยายามคิดทำ คิดผลิตสิ่งต่างๆ ให้เหมือนผู้ใหญ่ด้วยการทุ่มเททั้งกำลังกายและกำลังใจ การได้รับคำชมเชย เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดกำลังใจ และมีความมานะพยายามมากขึ้น แต่ในทางตรงกันข้ามเด็กไม่ได้รับความสนใจ หรือผู้ใหญ่แสดงออกว่าสิ่งที่เขาทำเป็นเรื่องน่ารำคาญ เขาก็จะรู้สึกต่ำต้อย

การส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย

  1. แนะนำในเรื่องการออกกำลังกาย การเล่นกีฬา การใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง

  2. แนะนำเรื่องการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของเด็กวัยนี้ เด็กควรได้รับสารอาหารครบทุกหมู่ในปริมาณที่เพียงพอ สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือเด็กวัยนี้มักสนใจการเล่นกับเพื่อนมากกว่าเรื่องการรับประทานอาหาร

การส่งเสริมพัฒนาการด้านจิตใจ

  1. แนะนำเรื่องการรู้จักตนเอง การมองตนเองตามความเป็นจริง ด้วยการบริหารจิตใจ การทำสมาธิ การเสียสละเพื่อผู้อื่นอย่างเหมาะสม

  2. ฝึกการผ่อนคลายความเครียดในลักษณะต่างๆ เช่น การผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย จินตภาพบำบัด หรือการทำงานอดิเรกที่ชอบ เช่น ฟังเพลง เล่นดนตรี อ่านหนังสือที่ชอบ วาดภาพ เป็นต้น

การส่งเสริมพัฒนาการด้านสังคม

  1. แนะนำเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนได้อย่างเหมาะสม ให้รู้จักการยืดหยุ่น รู้จักการแพ้ ชนะ และให้อภัย เข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคคลตามสภาพความเป็นจริง เพื่อลดความคาดหวังจากผู้อื่นในทุกๆ ด้าน

  2. ฝึกพฤติกรรมการแสดงออกอย่างเหมาะสมในสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งพฤติกรรมทางด้านร่างกาย และคำพูด การจัดให้มีการแสดงบทบาทสมมติสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้เกิดทักษะนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป

ขั้นที่ 5 ความเป็นอัตลักษณ์กับความสับสนในบทบาท (Identity vs. Role Confusion)

ขั้นนี้อยู่ในช่วงอายุ 13 – 20 ปี การแสวงหาอัตลักษณ์ของบุคคล และการเสริมสร้างความรับผิดชอบถือว่าเป็นเอกลักษณ์สำคัญของวัยนี้ ซึ่งความรับผิดชอบดังกล่าวมีรากฐานมาจากการอบรมของพ่อแม่ และความรู้สึกไว้วางใจและความมั่นใจในตนเอง องค์ประกอบสำคัญของการสร้างความรู้สึกเป็น อัตลักษณ์ และผ่านพ้นความรู้สึกสับสนในตนเอง ได้แก่ ความเข้าใจในอัตลักษณ์และการแสวงหาสถานภาพทางสังคม ความเข้าใจในอัตลักษณ์ช่วยให้เด็กวัยรุ่นเกิดความเข้าใจในปัญหาต่างๆ และช่วยในการตัดสินใจ วางแผนเรื่องเกี่ยวกับอนาคต เช่น การเลือกอาชีพ การเลือกคู่ครอง เป็นต้น ในวัยนี้เด็กวัยรุ่นจะเกิดความคิดสงสัยในตัวเอง เช่น การคิดถามตนเองว่า “ฉันคือใคร?” หรือ “ฉันจะทำอาชีพอะไรดี?” เนื่องจากระยะวัยรุ่นเป็นระยะ ที่มีความรู้สึกสับสน ขาดความมั่นใจ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจเพื่อเตรียมเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ปัญหาของเด็กวัยนี้มักเป็นไปในทำนองที่ว่า ฉันไม่รู้ว่าฉันควรจะทำอะไร ฉันไม่รู้ว่าฉันจะดำเนินชีวิตไปในทิศทางใด และฉันไม่รู้ว่าฉันเป็นใคร อิทธิพลจากกลุ่มเพื่อนวัยเดียวกัน และความรู้สึกได้รับการยอมรับจากสังคมแวดล้อม ซึ่งรวมถึงกลุ่มย่อยทางวัฒนธรรม และศาสนามีผลต่อการปรับตัวของวัยรุ่นอย่างยิ่ง เด็กวัยรุ่นจะค่อย ๆ พัฒนาความเป็นตัวของตัวเองขึ้น เขาจะแสวงหาตนตามอุดมคติ (Ego – ideal) และค้นหาอัตลักษณ์เพื่อปรับตัวให้เข้ากับบทบาทใหม่ในสังคม เราพบว่าเด็กวัยรุ่นตอนปลายจำนวนมากยังไม่สามารถค้นพบอัตลักษณ์ของตน เด็กวัยรุ่นที่ประสบอุปสรรคในพัฒนาการขั้นนี้จะขาดทักษะที่เหมาะสมในการแก้ไขสถานการณ์ คือเมื่อเผชิญปัญหามักจะหลบเลี่ยงมากกว่าที่จะแก้ไข ในขณะที่สถานการณ์ หรือปัญหาหนึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไข เมื่อปัญหาอื่นๆประดังเข้ามา ก็เกิดการสั่งสม และซับซ้อนของปัญหา กล่าวคือเด็กวัยรุ่นยังไม่มีทักษะที่ดีในการแก้ปัญหา อย่างไรก็ตามวัยรุ่นแต่ละคนย่อมต้องการเวลาในการเรียนรู้ และปรับตัวเพื่อการพัฒนาไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่และได้รับการยอมรับจากบุคคลรอบข้างในสังคม

พัฒนาการทางร่างกาย
พัฒนาการทางด้านร่างกายประกอบด้วยการเจริญเติบโต และเปลี่ยนแปลงของร่างกายอย่างมาก รวมถึงพัฒนาการอัตลักษณ์ทางเพศที่ชัดเจน ในวัยนี้ ร่างกายของเขามีการผลิตฮอร์โมนเพศ (Sex hormone) และฮอร์โมนของการเจริญเติบโต (Growth hormone) อย่างมากและรวดเร็ว ส่งผลให้ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แขนขาจะยาวขึ้นก่อนจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอื่นประมาณ 2 ปี ในเพศหญิงจะมีไขมันมากกว่าเพศชาย วัยรุ่นชายจะมีพัฒนาการของกล้ามเนื้อมากกว่า ทำให้เพศชายดูแข็งแรงกว่า ระหว่างวัยรุ่นเพศชายและวัยรุ่นเพศหญิงจะมีการเปลี่ยนแปลงทางเพศที่ต่างกันอย่างชัดเจน อาทิเช่น วัยรุ่นชายจะเป็นหนุ่มขึ้น เสียงแตก หนวดเคราขึ้น และเริ่มมีฝันเปียก ส่วนวัยรุ่นหญิงจะเป็นสาวขึ้นคือ เต้านมมีขนาดโตขึ้น ไขมันที่เพิ่มขึ้นจะทำให้รูปร่างมีทรวดทรง สะโพกผายออก และเริ่มมีประจำเดือน นอกจากนี้ระดับสติปัญญา ความคิดจะพัฒนาสูงขึ้น คือมีความคิดเป็นแบบรูปธรรมมากขึ้นกว่าวัยก่อนหน้านี้ มีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ และสังเคราะห์สิ่งต่างๆได้มากขึ้นตามลำดับ จนเมื่อพ้นวัยรุ่นแล้วจะมีความสามารถทางสติปัญญาได้เหมือนผู้ใหญ่ แต่ในช่วงวัยรุ่นนี้ เด็กวัยรุ่นอาจขาดความยั้งคิด มีความหุนหันพลันแล่น ซึ่งการวิจัยพบว่าพฤติกรรมและการเปลี่ยนแปลงในวัยรุ่นส่วนใหญ่เป็นผลมาจาก การเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย คือการผลิตฮอร์โมนของต่อมไร้ท่อต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในสมอง และร่างกายของวัยรุ่น

พัฒนาการทางอารมณ์
ในช่วงวัยนี้อารมณ์จะปั่นป่วน เปลี่ยนแปลงง่าย หงุดหงิดง่าย เครียดง่าย โกรธง่าย อาจเกิดอารมณ์ซึมเศร้าโดยไม่มีสาเหตุได้ง่าย อารมณ์ที่ไม่ดีเหล่านี้อาจทำให้เกิดพฤติกรรมเกเร ก้าวร้าว มีผลต่อการเรียนและการดำเนินชีวิต ในวัยรุ่นตอนต้น การควบคุมอารมณ์ยังไม่ค่อยดีนัก บางครั้งยังทำอะไรตามอารมณ์ตัวเองอยู่บ้าง แต่จะค่อยๆ ดีขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น อารมณ์เพศวัยนี้จะมีมาก ทำให้มีความสนใจเรื่องทางเพศ หรือมีพฤติกรรมทางเพศ เช่น การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติในวัยนี้ แต่พฤติกรรมบางอย่างอาจเป็นปัญหา เช่น เบี่ยงเบนทางเพศ กามวิปริต หรือการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น

พัฒนาการทางจริยธรรม
วัยนี้จะมีความคิดเชิงอุดมคติสูง (Idealism) เพราะเขาสามารถแยกแยะความผิดชอบชั่วดีได้

มีมโนธรรม ต้องการให้มีความถูกต้อง ความชอบธรรมในสังคม ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ต้องการเป็นคนดี เป็นที่ชื่นชอบของคนอื่น และจะรู้สึกอึดอัดคับข้องใจกับความไม่ถูกต้องในสังคม หรือในบ้าน แม้แต่พ่อแม่ของตนเองเขาก็เริ่มรู้สึกว่าไม่ได้ดีสมบูรณ์แบบเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไปแล้ว บางครั้งเขาจะแสดงออก ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์พ่อแม่ หรือครู อาจารย์ตรงๆ การต่อต้าน ประท้วงจึงเกิดได้บ่อยในวัยนี้ เมื่อเขาเห็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง หรือมีการเอาเปรียบ เบียดเบียน ความไม่เสมอภาคกัน เมื่อพ้นวัยรุ่นตอนต้นไป การควบคุมตนเองจะดีขึ้น จนเป็นระบบจริยธรรมที่สมบูรณ์เหมือนผู้ใหญ่

พัฒนาการทางสังคม
วัยนี้จะเริ่มห่างจากทางบ้าน ไม่ค่อยสนิทสนมคลุกคลีกับพ่อแม่พี่น้องเหมือนเดิม แต่จะสนใจเพื่อนมากกว่า จะใช้เวลากับเพื่อนนานๆ มีกิจกรรมนอกบ้านมาก ไม่อยากไปไหนกับทางบ้าน เริ่มมีความสนใจเพศตรงข้าม สนใจสังคมสิ่งแวดล้อม ปรับตัวเองให้เข้ากับกฎเกณฑ์กติกาของกลุ่ม ของสังคมได้ดีขึ้น มีทักษะทางสังคมมากขึ้น รู้จักการสื่อสารเจรจา การแก้ปัญหา การประนีประนอม การยืดหยุ่นโอนอ่อน และการทำงานร่วมกับผู้อื่น พัฒนาการทางสังคมที่ดีจะเป็นพื้นฐานมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ความภาคภูมิใจในตนเอง และบุคลิกภาพที่ดี

ถ้าบุคคลไม่สามารถปรับตัว หรือพบอุปสรรคในพัฒนาการขั้นนี้ เขาจะเกิดความรู้สึกรุนแรง ซึ่งมีผลต่อบุคลิกภาพ และการแสดงออกของเขา การได้พูดหรือได้แสดงความคิดเห็นต่อหน้าคนหมู่มากนับว่าเป็นประโยชน์เป็นการแสวงหาอัตลักษณ์ของตัวเองอย่างหนึ่ง นอกจากนั้นวัยรุ่นจะเลือกผู้ใหญ่ที่ไม่ใช่พ่อแม่ มาเป็นแบบอย่างที่มีความหมาย และเป็นที่ไว้วางใจของเขา วัยรุ่นจะมองคุณค่าของวัฒนธรรม ศาสนา และอุดมคติว่า เป็นสิ่งที่ดีงาม และเป็นสิ่งที่สนับสนุนส่งเสริมพัฒนาการและการแสวงหาอัตลักษณ์ของเขา ถ้าเขาประสบความสำเร็จในการแสวงหาตนเอง เขาจะสามารถแสดงบทบาทของตนเองได้อย่างเหมาะสม แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเขาไม่สามารถฟันฝ่าอุปสรรค ปัญหาต่างๆ และไม่มั่นใจในอัตลักษณ์ของตน เขาจะเกิดความสับสนและแสดงบทบาทที่ไม่เหมาะสม

ประเด็นปัญหาที่พบได้บ่อยในวัยรุ่น ได้แก่ ความสัมพันธ์กับพ่อแม่ หรือบุคคลในครอบครัว การใช้สารเสพติด ปัญหาเกี่ยวกับประเด็นทางเพศ ปัญหาบุคลิกภาพ และพฤติกรรมที่ขัดต่อกฎเกณฑ์ต่างๆ

ปัญหาความสัมพันธ์กับพ่อแม่
วัยนี้จะแสดงพฤติกรรมที่แสดงความเป็นตัวตนของเขาค่อนข้างมาก การพูดจาไม่ค่อยเรียบร้อยซึ่งอาจเลียนแบบมาจากกลุ่มเพื่อน อารมณ์แปรปรวน ไม่มีความสม่ำเสมอต่อความรับผิดชอบต่าง ๆ เอาแต่ใจตัวเอง ทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครูอาจารย์หงุดหงิดไม่พอใจได้มากๆ ถ้าบุคคลรอบข้างไม่เข้าใจ การแสดงออกเหล่านี้ และใช้วิธีการจัดการที่ไม่ถูกต้อง เช่น ใช้การดุด่าว่ากล่าว บ่นตำหนิ หรือลงโทษรุนแรง จะเกิดปฏิกิริยาต่อต้าน ซึ่งไม่ช่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเหล่านั้น วิธีการจัดการกับปัญหาพฤติกรรมเหล่านี้ ทำได้โดยเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจความต้องการของเขา มีการตอบสนองโดยประนีประนอมยืดหยุ่น แต่ยังคงขอบเขตที่เหมาะสม ควรใช้การจูงใจ ให้วัยรุ่นได้ออกความคิด และร่วมมือโดยสมัครใจมากกว่าการบังคับ หรือการใช้ความรุนแรง

ปัญหาการใช้สารเสพติด
ตามธรรมชาติของวัยรุ่นจะมีความอยากรู้อยากเห็นอยากลองมาก การที่อยู่ใกล้ชิดกับกลุ่มเพื่อนที่ใช้สารเสพติด ย่อมมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกชักจูงให้ใช้สารเสพติดต่างๆ วัยรุ่นส่วนใหญ่ไม่กล้าปฏิเสธเพื่อนเพราะกลัวเพื่อนไม่คบ หรือถูกเพื่อนท้าทาย หรือบางคนใช้เพราะอยากให้เหมือนเพื่อนๆ เพื่อให้ได้รับ การยอมรับ เมื่อลองแล้วเกิดความพอใจ และติดสารเสพติดเหล่านั้นไป

ปัญหาทางเพศ
พฤติกรรมรักร่วมเพศ (Homosexualism) เป็นพฤติกรรมที่จะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้มาก คนที่เป็นรักร่วมเพศมักจะเจอปัญหาในการดำเนินชีวิตได้มากกว่าคนทั่วไป ในบางสังคมมีการต่อต้านพฤติกรรมรักร่วมเพศ มีการรังเกียจ ล้อเลียน ไม่ยอมรับ บางประเทศมีกฎหมายลงโทษผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน

รักร่วมเพศ คือพฤติกรรมที่พึงพอใจทางเพศกับเพศเดียวกัน อาจมีการแสดงออกภายนอกให้เห็นชัดเจนหรือไม่ก็ได้ พฤติกรรมรักร่วมเพศอาจมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี เช่น เด็กผู้ชายถูกเลี้ยงดูมาท่ามกลางญาติพี่น้องที่มีแต่ผู้หญิง อาจทำให้อยากมีความเป็นผู้หญิงเหมือนกัน และก็เกิดชอบเพศชายด้วยกัน เพราะมีความคิดว่าตนเองเป็นเพศหญิง เป็นต้น

การรักษาผู้ที่เป็นรักร่วมเพศ มักไม่ได้ผล เนื่องจากผู้ที่เป็นรักร่วมเพศมักจะพอใจในลักษณะแบบนี้อยู่แล้ว การช่วยเหลือทำได้โดยการให้คำปรึกษาผู้ที่เป็นพ่อแม่ และผู้ป่วย เพื่อให้ปรับตัวได้ ไม่รังเกียจลูกที่เป็นแบบนี้ และการพูดคุยเพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าใจและแสดงออกอย่างเหมาะสม ไม่มากเกินไปจนเกิดการรังเกียจ และต่อต้านจากคนใกล้ชิด หรือเพื่อนบ้านในชุมชน การป้องกันภาวะรักร่วมเพศ ทำได้โดยการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่เพศเดียวกับเด็ก เพื่อให้มีการถ่ายทอดแบบอย่างทางเพศจากพ่อหรือแม่เพศเดียวกับเด็ก

การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง (Masturbation) ในวัยรุ่นถึงว่าเป็นพฤติกรรมปกติ ไม่มีอันตราย ไม่มีผลเสียต่อร่างกายหรือจิตใจ แต่ว่าควรแนะนำให้เด็กได้เห็นถึงความเหมาะสมของเวลาและสถานที่ ไม่ควรหมกมุ่นมากจนเป็นปัญหาต่อการใช้เวลา ทำให้ขาดการทำกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์มากกว่า

การมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น (Sexual Relationship) มักเกิดจากวัยรุ่นที่ขาดการยับยั้งชั่งใจ หรือมีปัญหาทางอารมณ์ และใช้เพศสัมพันธ์เป็นการทดแทน เพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นมักไม่ได้ยั้งคิดให้รอบคอบ ขาดการไตร่ตรอง ทำตามอารมณ์เพศ หรืออยู่ภายใต้ฤทธิ์ของสารเสพติด ทำให้เกิดปัญหาการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์เมื่อยังไม่พร้อม การทำแท้ง การเลี้ยงลูกที่ไม่ถูกต้อง ปัญหาครอบครัว และกลายเป็นปัญหาสังคมในที่สุด

ปัญหาบุคลิกภาพ
ช่วงวัยรุ่นจะมีพัฒนาการทางบุคลิกภาพอย่างชัดเจน ทั้งนิสัยใจคอ ความคิด การกระทำ มีรูปแบบที่สม่ำเสมอ จนสามารถคาดการณ์ได้ว่าในเหตุการณ์แบบนี้ เขาจะแสดงออกอย่างไร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ ประสบการณ์ และการเรียนรู้ที่ผ่านมา จะทำให้วัยรุ่นมีบุคลิกภาพดีด้วย แต่ในทางตรงข้าม การประสบ อุปสรรคต่างๆ เช่น การขาดผู้ปกครองคอยดูแล สั่งสอน หรือการเรียนรู้แบบผิดๆ จะทำให้วัยรุ่นมีปัญหาบุคลิกภาพได้ ทำให้เขาปรับตัวเข้ากับคนอื่นยาก และเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ในกรณีที่เป็นปัญหามากๆ อาจนำไปสู่อาการผิดปกติทางบุคลิกภาพ (Personality Disorders)

อาการพฤติกรรมเกเร (Conduct Disorder)
เป็นโรคที่มีปัญหาพฤติกรรมกลุ่มที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน โดยตนเองพอใจ ได้แก่ การละเมิดสิทธิผู้อื่น การขโมย ฉ้อโกง ตีชิงวิ่งราว ทำร้ายผู้อื่น ทำลายข้าวของ เกเร หรือละเมิดกฎเกณฑ์ของหมู่คณะหรือสังคม การหนีเรียน ไม่กลับบ้าน หนีเที่ยว โกหก หลอกลวง ล่วงเกินทางเพศ การใช้สารเสพติด อาการดังกล่าวนี้มักจะเกิดขึ้นต่อเนื่องมานานพอสมควร สัมพันธ์กับปัญหาในครอบครัว การเลี้ยงดู ปัญหาอารมณ์ การรักษาควรรีบทำให้เร็วที่สุด เพราะการปล่อยไว้นาน จะยิ่งเรื้อรังรักษายาก และกลายเป็นบุคลิกภาพแบบอันธพาล ตและต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder) เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่

การป้องกันปัญหาวัยรุ่น
1. การเลี้ยงดูอย่างถูกต้อง ให้ความรักความอบอุ่น
2. การฝึกให้รู้จักระเบียบวินัย การควบคุมตัวเอง
3. การฝึกทักษะชีวิต ให้แก้ไขปัญหาได้ถูกต้อง มีทักษะในการปฏิเสธสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
4. การสอนให้เด็กรู้จักคบเพื่อน ทักษะสังคมดี
5. การฝึกให้วัยรุ่นได้เรียนรู้ และเสริมสร้างอัตลักษณ์

ขั้นที่ 6 ความใกล้ชิดสนิทสนมกับความรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง (Intimacy vs. Isolation)

บุคคลในขั้นนี้อยู่ช่วงอายุประมาณ 21 – 35 ปี เป็นวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ที่สามารถหาอัตลักษณ์ของตนเองได้จากช่วงก่อนแล้ว บุคคลในช่วงอายุนี้จะรู้จักตนเอง รู้ว่าตนเองมีความเชื่ออย่างไร ต้องการอะไรในชีวิต เกิดความรู้สึกต้องการมีเพื่อนสนิทที่จะรับและแลกเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ที่ตนมีอยู่ แบ่งปันความเชื่อถือ ความสุข และความต้องการของตนแก่ผู้อื่น นั่นคือ คู่สมรส หรือเพื่อนสนิท จึงมีการพัฒนาความรู้สึกผูกพันกับผู้อื่น แต่ถ้าบุคคลไม่สามารถสร้างความรู้สึกผูกพันใกล้ชิดกับผู้อื่นได้ มีความต้องการแข่งขันหรือทะเลาะเบาะแว้งกับผู้อื่น ก็จะนำไปสู่ความรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง

บุคคลในช่วงนี้มีความเป็นอิสระในสังคมมากกว่าวัยก่อนๆ ในช่วงต้น มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัวและสังคม ความสมบูรณ์ของจิตใจในช่วงนี้คือ การได้รับการยอมรับ มีความก้าวหน้า มีอาชีพที่เหมาะสม มีการสมาคมกับเพศตรงข้ามเพื่อการเลือกคู่ครองต่อไป การปรับตัวของผู้ใหญ่ในวัยนี้คือ การเลือกคู่ครอง และการมีหน้าที่การงานที่เหมาะสม รวมทั้งการเข้ากันได้ดีกับเพื่อนร่วมงาน การไม่สามารถปรับตัวได้จะทำให้บุคคลแยกตัวออกไปจากสังคมและครอบครัว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ แม้บางคนที่แต่งงานแล้ว แต่ไม่สามารถแบ่งปันชีวิต และกิจกรรมกับคู่สมรสได้ จะรู้สึกโดดเดี่ยว และส่งผลต่อการปรับตัวของบุตร เมื่อบุตรเติบโตและ ออกไปเผชิญชีวิตในสังคมภายนอก ดังนั้น งานและความรัก จึงเป็นสิ่งที่ทำให้บุคคลในช่วงวัยนี้ประสบความสำเร็จในชีวิต

องค์ประกอบที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จ ในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้นนี้ประกอบด้วย

  1. ประสิทธิภาพทางร่างกาย วัยนี้เป็นช่วงที่ร่างกายมีความกระฉับกระเฉงสูงสุด และมีพลังเต็มที่ และจากนั้นก็จะค่อยๆ ลดลง ผู้ที่ทำงานหนักจึงต้องคำนึงถึงสุขภาพด้วยเช่นกัน

  2. ประสิทธิภาพของสมอง คนที่มีสติปัญญาดีจะมีความสามารถในการเรียนรู้ การทำงานและการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ๆ มีความคิดสร้างสรรค์ มีเหตุผล มีความมั่นใจในตนเอง และรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่ตนทำงานอยู่ได้

  3. สุขภาพจิต ผู้ที่อยู่ในวัยนี้ ควรฝึกฝนจิตใจให้เข้มแข็งเพื่อเผชิญกับปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยอมรับความจริง ผู้ที่มีสุขภาพจิตดีจะเป็นผู้ที่มีความร่าเริง เบิกบาน มีผู้ชอบคบหาด้วย และมักจะมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานเสมอ

  4. การปรับตัวในงานอาชีพ อาจกล่าวได้ว่า ผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตนั้น ส่วนหนึ่งคือ การประสบความสำเร็จในอาชีพการงานของตน ดังนั้นผู้ที่ประสบความสำเร็จในงานก็ย่อมนำความสุขมาสู่ตนเอง และครอบครัว

  5. การปรับตัวในชีวิตครอบครัว หากบุคคลสามารถปรับตัวเข้ากับคู่สมรสได้ดี ย่อมมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และร่วมกันฝ่าฟันอุปสรรคปัญหา และเป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน หากไม่สามารถปรับตัวเข้ากันได้ก็จะนำไปสู่ปัญหาการทะเลาะเบาะแว้ง และการหย่าร้างในที่สุด

บทบาทเหล่านี้ถือเป็นบทบาทใหม่ที่ต้องอาศัยความอดทน ความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน และการมีวุฒิภาวะทางจิตใจ ซึ่งผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตครอบครัว ส่วนใหญ่ก็จะมีความสำเร็จในชีวิตการงานด้วยเช่นกัน

ขั้นที่ 7 การสืบทอดกับการคำนึงถึงแต่ตนเอง (Generativity vs. Self absorption/ Stagnation)

ขั้นนี้อยู่ในช่วงอายุ 36 – 59 ปี เริ่มเข้าสู่วัยกลางคน เป็นระยะที่บุคคลมีครอบครัว มีบุตร และเลี้ยงดูบุตรด้วยความเอาใจใส่ ในระยะนี้บุคคลต้องการมีบุตรไว้สืบสกุล การจะมีบุตรซึ่งถือว่าเป็นสมาชิกใหม่ในครอบครัวนั้นต้องมาจากรากฐานของความรักและความไว้วางใจซึ่งกันและกัน บุคคลที่ไม่สามารถพัฒนามาถึงขั้นนี้ย่อมเกิดความรู้สึกท้อถอยและเหนื่อยหน่ายในชีวิต คิดถึงแต่ตนเอง เริ่มมีความเจ็บป่วยเรื้อรัง และปฏิเสธความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น ไม่เตรียมสภาพแวดล้อมที่ดีให้แก่ชนรุ่นหลัง ทำงานอย่างขาดความรับผิดชอบ ปล่อยปละละเลย เป็นต้น

นอกจากนี้ในช่วงวัยนี้ยังเป็นวัยที่สนใจและต้องการสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม โดยความรู้สึกต่อสังคมนั้นจะเข้ามารวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชีวิตส่วนตัว รู้จักแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับตนเอง ปัญหาครอบครัว และเลี้ยงดูบุตรด้วยความเอาใจใส่ ระยะนี้เป็นระยะที่บุคคลตั้งใจทำงานเพื่อให้สิ่งต่างๆดีขึ้น รวมทั้งพัฒนาการทางจริยธรรมก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน

ในวัยนี้จะมีความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้น ได้แก่

  1. ความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย ได้แก่ รูปร่าง หน้าตา ท่าทาง และประสาทสัมผัส ตลอดจนการทำงานของต่อมต่างๆ ในร่างกายเสื่อมลง จึงเป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพอารมณ์ด้วย เช่น หงุดหงิด กังวล เป็นต้น

  2. ความเปลี่ยนแปลงในหน้าที่การงาน ในระยะนี้อาจมีการโยกย้ายงานไปยังตำแหน่งหรือหน้าที่ใหม่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความกังวลใจได้

  3. ความเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ บุคคลในวัยนี้มักมีความกังวลในสุขภาพร่างกาย และมีความเป็นห่วงในหน้าที่การงาน จึงมีผลกระทบต่ออารมณ์ ทำให้มีการแปรเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น โกรธง่าย เป็นต้น

  4. ความเปลี่ยนแปลงในด้านความสนใจ ในวัยนี้จะมีความสนใจในเรื่องต่างๆ ที่ลึกซึ้งเป็นพิเศษ มีการทำงานอดิเรกต่างๆ เพื่อหาความสุขให้แก่ตนเอง

โดยส่วนใหญ่ความสุขของคนวัยกลางคนคือ การมีความสุขสงบในชีวิตครอบครัว มีคู่ครองและบุตรที่ดี ประสบความสำเร็จในอาชีพ โดยมีงานที่มีเกียรติ มีผู้ให้ความเคารพนับถือ และมีหน้าที่การงานไม่มัวหมอง นอกจากนี้ยังมีการใช้เวลาว่างและร่างกายให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและครอบครัวด้วย



ขั้นที่ 8 ความมั่นคงสมบูรณ์ในชีวิตกับความสิ้นหวัง (Integrity vs. Despair)

ขั้นนี้อยู่ในช่วงอายุ 60 – 80 ปี นั่นคือ เข้าสู่วัยชรา พัฒนาการขั้นสุดท้ายนี้มีพื้นฐานจากการปรับตัวในช่วงต้นของชีวิต บุคคลในช่วงวัยนี้มักแสวงหาความมั่นคงภายในจิตใจ ซึ่งเกิดเมื่อบุคคลสามารถผ่านพัฒนาการในขั้นต่างๆ มาได้อย่างดี เป็นวัยของการยอมรับความเป็นจริง ใช้คุณค่าจากประสบการณ์ ที่สั่งสมมา ให้เป็นประโยชน์ต่อชนรุ่นหลัง และเป็นช่วงของการระลึกถึงความทรงจำในอดีต ถ้าในอดีตที่ผ่านมาบุคคลมีความสุข ประสบความสำเร็จในพัฒนาการ และสิ่งต่างๆ รอบตัว ก็จะมีทัศนคติที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น มีความมั่นคงทางจิตใจ แต่ในทางตรงข้ามถ้าบุคคลมีความทรงจำที่ผิดหวังอยู่ตลอด และพบปัญหาอุปสรรคในพัฒนาการของช่วงที่ผ่านมา จะมีความรู้สึกท้อแท้ หมดหวัง เหนื่อยหน่ายกับชีวิต วิตกกังวลกับอดีตที่ไม่ดีงามของตนเอง ขาดกำลังใจในการต่อสู้ และไม่สามารถพัฒนาชีวิตในวัยชราได้อย่างมีความสุข

ผู้ที่สามารถปรับตัวได้ในช่วงเกษียณอายุการทำงานจะเห็นว่า ตนได้ทำประโยชน์แก่สังคมอย่างเต็มที่แล้ว เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง มีความพอใจในชีวิต รู้จักหาความสุข ความสงบในจิตใจ ยอมรับกับสภาพความเป็นจริง และความเป็นอยู่ของตนเองในปัจจุบัน และไม่รู้สึกเสียใจ หรือเสียดายเวลาที่ผ่านมากับ ประสบการณ์ในอดีตของตนเอง

วัยชราเป็นวัยที่มีพัฒนาการทางด้านต่างๆ ถดถอยลง สมรรถภาพของผู้ชราในวัยเดียวกันก็อาจมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาสุขภาพ แต่โดยหลักๆ จะพบความเสื่อมถอยของพัฒนาการในด้านต่างๆ ดังนี้

  1. พัฒนาการทางด้านร่างกาย สภาพร่างกายมีการเสื่อมถอย มีความเจ็บไข้ได้ป่วยบ่อยๆ และใช้เวลานานกว่าคนหนุ่มสาวในการฟื้นจากความเจ็บป่วย กล้ามเนื้อหย่อนสมรรถภาพ การทรงตัวไม่ดี

  2. พัฒนาการทางด้านสติปัญญา หลงลืมง่าย ความจำเลอะเลือน แต่เหตุผลยังดี ทักษะในการคิดริเริ่มอาจจะไม่คล่องแคล่วเหมือนก่อน และความรอบคอบลดลง แต่พบว่า พัฒนาการทางด้านสมองยังดีกว่าทางด้านร่างกาย

  3. พัฒนาการทางด้านอารมณ์ มีอารมณ์ไม่คงที่ ชอบบ่น แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม สังคม และประสบการณ์ที่ผ่านมาด้วย ความพอใจของวัยชรานี้ส่วนใหญ่เกิดจากมิตรภาพและประสบการณ์ที่ตนเองได้ช่วยเหลือผู้อื่น

  4. พัฒนาการทางด้านสังคม วัยชราส่วนมากจะให้ความสนใจทางศาสนา หรือเป็นผู้ให้ ความสนับสนุนดูแลลูกหลานในครอบครัว




Create Date : 30 พฤษภาคม 2560
Last Update : 30 พฤษภาคม 2560 22:58:51 น. 0 comments
Counter : 485 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

meku
Location :
ประจวบคีรีขันธ์ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add meku's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friends


 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.