I AM SOMEONE
<<
มิถุนายน 2554
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
22 มิถุนายน 2554

นิทานเซน : ปุ่มเร่งเวลา

ตามปรัชญาเซน มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเวลาที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง กล่าวถึงชายหนุ่มคนหนึ่ง ผู้ที่มีนิสัยใจเร็วด่วนได้ ไม่ว่าจะกระทำสิ่งใดล้วนไม่สามารถสงบจิตสงบใจ เพราะต้องการเร่งรัดให้ทุกสิ่งเป็นไปดั่งใจตน ครั้งหนึ่ง เขานัดพบคนรักที่ใต้ต้นไม้ แต่ทว่ามาก่อนเวลานัดมากเกินไป ด้วยนิสัยใจร้อนไม่ชอบรอทำให้เดินวนไปวนมา กระสับกระส่ายอยู่ใต้ต้นไม้แห่งนั้น

ยามนั้นเอง ปรากฏอาจารย์เซนซึ่งแท้จริงแล้วเป็นเซียนวิเศษผู้หนึ่ง เดินมาหยุดอยู่ตรงหน้าชายหนุ่มผู้นั้น พร้อมทั้งยื่นวัตถุทรงกลมชิ้นหนึ่งให้ พลางกล่าวว่า "นี่เป็นของวิเศษ หากเจ้าไม่ชอบการรอคอย ก็จงหมุนปุ่มนี้ไปทางขวาหนึ่งรอบ เจ้าก็สามารถที่จะย่นระยะเวลาจากความเป็นจริงให้เร็วขึ้นไปตามที่เจ้าต้องการ"

เมื่อชายหนุ่มได้ฟังดังนั้น ยังคงเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แต่เมื่อเขาลองหมุนปุ่มไปตามคำบอก พลันคนรักของเขาก็ปรากฏกายขึ้น ทั้งยังส่งสายตาหวานซึ้งให้กับเขา ในใจชายหนุ่มบังเกิดความอยากครอบครองจึงคิดว่าหากเร่งเวลาไปจนทั้งสองแต่งงานกันได้คงดียิ่ง จากนั้นหมุนปุ่มไปอีกรอบหนึ่ง ก็พลันพบว่าตนเองกลายเป็นเจ้าบ่าวอยู่ในงานแต่งงานอันเลิศหรูอลังการ ส่วนคนรักของเขาอยู่ในชุดเจ้าสาวงดงามรายรอบไปด้วยแขกเหรื่อมากมาย จากนั้นชายหนุ่มจึงคิดอยากใช้เวลาอยู่กับเจ้าสาวของเขาในห้องหอตามลำพังจึงได้หมุนปุ่มวนไปด้านขวาอีกครั้ง

หลังจากนั้น ชายหนุ่มก็ยังคงหมุนปุ่มวิเศษไปเรื่อยๆ ไปถึงตอนที่เขามีบุตรชาย กระทั่งมีหลานชาย ทั้งยังมิใช่เพียงคนเดียวแต่มีบุตรหลานเต็มบ้าน กระทั่งบุตรหลานสร้างเนื้อสร้างตัวกลายเป็นขุนนางใหญ่ไปปกครองทั่วทุกสารทิศ ผู้คนต่างพากันเคารพนับถือ...ถึงตอนนี้ ในใจชายหนุ่มเต็มไปด้วยความปีติยินดี

จากนั้นเมื่อหมุนปุ่มอีกรอบ ชายหนุ่มกลับกลายเป็นเฒ่าชรา โรคร้ายรุมเร้านอนรอความตายอยู่บนเตียง บรรดาบุตรหลานอกตัญญูบางส่วนพากันมาขนทรัพย์สินภายในบ้านออกไปจนเกลี้ยง ทั้งยังใจดำอำมหิตนำเฒ่าชราไปทิ้งยังชายป่า ชายที่ตอนนี้ทั้งชราทั้งป่วยไข้อดอยากหิวโหย ค่อยๆ อ่อนแรงลง ลมหายใจขาดช่วง ก้าวเข้าสู่ความตายทีละน้อย...ถึงตอนนี้ ชายหนุ่มแตกตื่นตกใจจนขนหัวลุก หยาดเหงื่อไหลโทรมกาย

"เป็นอย่างไรบ้าง?" เสียงอาจารย์เซนดังขึ้น "พ่อหนุ่ม ท่านยังอยากให้เวลาหมุนไปอย่างรวดเร็วอยู่หรือไม่?"

"ข้าจวนจะจบชีวิตแล้ว ยังจะต้องการให้เวลาหมุนไปเร็วอันใดอีกเล่า" ชายหนุ่มตอบอย่างทอดอาลัย

อาจารย์เซนจึงรับของวิเศษจากมือของชายหนุ่มกลับคืนมา พลันทุกสิ่งล้วนกลับคืนสู่สภาพเดิม พาชายหนุ่มย้อนกลับไปตอนที่เขายังคงยืนรอคนรักอยู่ที่ใต้ต้นไม้ ในยามนั้น ชายหนุ่มจึงค่อยสัมผัสถึงความอบอุ่นของแสงแดดที่สาดส่องลงมา สดับเสียงร้องอันไพเราะของนกน้อย มองเห็นผีเสื้อโผบินเหนือมวลดอกไม้

เป็นครั้งแรกที่ชายหนุ่มรู้สึกว่า การรอคอยอะไรบางอย่างนั้น ถือเป็นความสุขที่หอมหวานประการหนึ่ง

ที่มา : หนังสือ 《禅的故事精华版》, 慕云居 เรียบเรียง, สำนักพิมพ์ 地震出版社, 2006.12, ISBN 7-5028-2995-4

//www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9540000075572

เราเองก็เป็นคนใจร้อน ไม่ชอบการรอคอย แต่โชคดีที่เป็นคนขี้ลืมด้วย ทำให้ลืมการรอคอยไปโดยปริยาย


Create Date : 22 มิถุนายน 2554
Last Update : 22 มิถุนายน 2554 15:48:09 น. 8 comments
Counter : 1019 Pageviews.  

 
แอบอ่านข้อความในบล้อก
แบบ.......................................เงียบๆ





ด้วยความสนใจ
ในความเป็นตัวตนของคุณ




โลกส่วนตัวของคุณ
สวยงาม
ม่ะเหมือนใคร










โดย: นายเมฆ IP: 182.232.241.120 วันที่: 2 กรกฎาคม 2554 เวลา:4:47:15 น.  

 
พระสังฆปรินายกกล่าวว่า ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย เมื่อเราใช้ปัญญาของเราในการเพ่งพิจารณาในภายใน เราย่อมมีความสว่างแจ่มแจ้ง ทั้งภายในและภายนอก และเราอยู่ในฐานะที่จะรู้จักใจของเราเอง การรู้จักใจของเราเองก็คือการลุถึงวิมุติ(การหลุดเป็นอิสระ) การลุถึงวิมุติ ก็คือการลุถึงสมาธิฝ่ายปัญญา ซึ่งเป็นความไม่ต้องคิด “ความไม่ต้องคิด”คืออะไร? ความไม่ต้องคิด คือการเห็นและการรู้สิ่งทั้งหลายทั้งปวง(ตามที่เป็นจริง) ด้วยใจที่ไม่มีอะไรห่อหุ้มพัวพัน,เมื่อเราใช้มัน มันแทรกเข้าไปได้ในทุกสิ่งแต่ไม่ติดแจอยู่ในสิ่งใดเลย สิ่งที่เราต้องทำนั้นมีเพียงการชำระจิตใจให้ใสกระจ่าง เพื่อวิญญาณทั้งหกเมื่อแล่นไปตามอายตนะทั้งหก จะไม่ถูกทำให้เศร้าหมองโดยอารมณ์ทั้งหก เมื่อใดใจของเราทำหน้าที่ของมันได้โดยอิสระ ปราศจากอุปสรรค และอยู่ในสถานะที่จะ”มา”หรือ”ไป” ได้โดยอิสระ เมื่อนั้นชื่อว่าเราได้บรรลุสมาธิฝ่ายปัญญา หรืออิสรภาพ สถานะเช่นนี้มีนามว่า การทำหน้าที่ของ”ความไม่คิด”................แต่ว่า การหักห้ามความคิดถึงสิ่งใดๆให้ความคิดทั้งหมดถูกกดเอาไว้ ย่อมเป็นการกดธรรมะไว้(ไม่ให้ปรากฏหรือเป็นไปตามที่ควรจะเป็นไป) และข้อนี้ย่อมเป็นความเห็นผิด.


โดย: นายเมฆ IP: 182.232.241.120 วันที่: 2 กรกฎาคม 2554 เวลา:4:48:11 น.  

 
ในวันหนึ่ง พระสังฆปรินายกเว่ยหล่างได้แสดงธรรมแก่ผู้มาชุมนุมฟัง ด้วยข้อความดังต่อไปนี้
...........ในระบบการเจริญกัมมัฏฐานภาวนาของเรานั้น เรามิได้กำหนดลงไปที่จิต หรือกำหนดลงไปที่ความบริสุทธิ์ หรือว่าเราจะไปจับเอาตัวความหยุดนิ่งปราศจากความเคลื่อนไหวทุกประการ ก็หามิได้.
สำหรับการกำหนดจดจ่อลงไปที่จิตนั้น ไม่ควรทำ เพราะจิตเป็นของมืดมัวมาเสียก่อนแล้ว และเมื่อเรามองเห็นชัดว่า มันเป็นเพียงตัวมายาตัวหนึ่งเท่านั้นแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะไปจดจ่อกับมัน สำหรับการกำหนดลงไปที่ตัวความบริสุทธิ์นั้นเล่า ตัวธรรมชาติแท้ของเราก็บริสุทธิ์อย่างแท้จริงอยู่แล้ว และตลอดเวลา
ที่เราขับไล่อกุศลวิตกออกไปเสียให้สิ้นเชิง มันก็ไม่มีอะไรเหลืออยู่ในตัวเรา นอกจากความบริสุทธิ์อย่างเดียว
เพราะว่ามันเป็นด้วยอกุศลวิตก นี่แหละ ที่ทำให้ตถตา(ความเป็นเช่นนั้นเอง)ต้องเศร้าหมองไป ถ้าเราเพ่งจิตของเรา กำหนดลงไปที่ความบริสุทธิ์ เราก็มีแต่จะสร้างอวิชชาอันใหม่ขึ้นมาอีกอันหนึ่ง เท่านั้น คืออวิชชาแห่งความบริสุทธ์ เพราะเหตุที่อวิชชา เป็นสิ่งที่ไม่มีที่ตั้งอาศัย จึงเป็นความเขลาที่เราจะไปอิงอาศัยมัน.
ตัวความบริสุทธิ์นั้นไม่มีสัณฐาน ไม่มีรูปร่าง แต่มีคนบางคนที่อุตริถึงกับประดิษฐ์”รูปร่างของความบริสุทธิ์”
ขึ้นมา แล้วก็กุลีกุจอกับมันในฐานะเป็นปัญหาสำคัญของความหลุดพ้น. เมื่อถือหลักความคิดเช่นนี้ คนเหล่านั้นก็กลายเป็น ผู้ขับไล่ไสส่งความบริสุทธ์เสียเองแล้ว จิตเดิมแท้ของเขา ก็ถูกทำให้เศร้าหมองไปเพราะเหตุนั้น.



โดย: นายเมฆ IP: 182.232.241.120 วันที่: 2 กรกฎาคม 2554 เวลา:4:49:59 น.  

 
ภิกษุ ฉิต่าว ได้อ่านมหาปรินิรวาณสูตรมานานเป็นสิบปี ท่านไม่เข้าใจในเนื้อหาแห่งพระสูตรที่กล่าวถึงเรื่องพระนิพพานที่ว่า “สิ่งทุกสิ่งไม่คงตัวอยู่อย่างถาวร. ดังนั้น สิ่งทั้งปวงจึงตกอยู่ใต้อำนาจของธรรมที่เป็นความเกิดขึ้นและความแตกดับ(กล่าวคือสังขตธรรมหรือธรรมอันปรุงแต่ง) เมื่อความเกิดขึ้นและความแตกดับมาสิ้นสุดลงด้วยกัน ศานติสุขแห่งความหยุดได้โดยสมบูรณ์ และความสิ้นสุดของการเปลี่ยนแปลง(กล่าวคือนิพพาน)
ย่อมปรากฏขึ้น”
พระสังฆปรินายกเว่ยหล่าง ได้อธิบายว่า “ไม่ว่าในขณะใดทั้งหมด นิพพานย่อมไม่มีปรากฎการณ์แห่งการเปลี่ยนแปลง หรือแห่งการเกิดดับ ไม่มีแม้กระทั่งความสิ้นสุดของการทำหน้าที่ของความเกิดขึ้น และความแตกดับ. นิพพานเป็นการแสดงออกของ..........ความหยุดได้โดยสมบูรณ์ และความสิ้นสุดของความเปลี่ยนแปลง....แต่แม้ในขณะแห่งการแสดงออกนั้น ก็ไม่มี ความเห็น ว่าเป็นการแสดงออก ดังนั้นจึงถูกเรียกว่า ความเปรมปรีดิ์อันไม่รู้จักหมดสิ้น ซึ่งไม่ต้องมีตัวผู้เปรมปรีดิ์หรือผู้ไม่เปรมปรีดิ์ แต่อย่างใด”


อธิบาย ....นิพพานไม่มีปรากฎแห่งการเปลี่ยนแปลงหรือเกิดดับนั้น....เป็นการดับสนิทไม่มีเหลือปราศจากอวิชชาตัณหาอุปาทาน....
การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป....นั้น เป็นการเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปแห่งอวิชชาทั้งปวง
เมื่อจิตเราเป็นอิสระอย่างเด็ดขาดต่อเครื่องขัดข้องคืออวิชชาทั้งหลาย การเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปก็ย่อมไม่มีโดยสภาพแห่งธรรมนั้นแล้ว และไม่มีแม้กระทั่งความสิ้นสุดของการทำหน้าที่ของความเกิดขึ้น และความแตกดับ......เพราะเนื้อหาแห่งพระนิพพานคือธรรมชาติล้วนๆ....เป็นสภาพมันเองอยู่อย่างนั้นแบบนั้น......
เป็นความอิสระอย่างเด็ดขาด “โดยที่ไม่ต้องอาศัยอะไรกับอะไร....เพื่ออะไร”
นิพพานเป็นการแสดงออกของสภาพธรรมอันเป็นธรรมชาติล้วนๆ......การแสดงออกนั้นเป็นการแสดงออกโดยตัวมันเองโดยโดยสภาพมันเอง......จึงไม่ควรให้มีความเห็นใดๆเข้าไปบัญญัติอีกว่านี่คือการแสดงออก
นี่คือนิพพาน นี่คือธรรมอันเป็นธรรมชาติล้วนๆ.....การมีความเห็นเช่นนี้ทำให้ ธรรมชาติอันแท้จริงในเนื้อหาแห่งธรรมนั้นหายไป และการมีความเห็นเช่นนี้กลายเป็นอวิชชาเข้ามาแทนที่
หากจิตเราปรุงแต่งว่าจิตหลุดพ้น......เมื่อจิตชนิดนี้ดับไปโดยตัวมันเอง.....นั่นแหละ.....ถึงจะเป็นการหลุดพ้นโดยแท้จริงโดยเนื้อหาของมันเอง.....เป็นสภาพมันล้วนๆอยู่อย่างนั้น



โดย: นายเมฆ IP: 182.232.241.120 วันที่: 2 กรกฎาคม 2554 เวลา:4:51:41 น.  

 
ภิกษุ ฮังฉิ ท่านได้เดินทางมายังเมืองโซกาย เพื่อทำความเคารพพระสังฆปรินายกเว่ยหล่าง
พระสังฆปรินายกถามว่า ก็ท่านกำลังปฏิบัติอยู่อย่างไรเล่า?
ภิกษุ ฮังฉิ ตอบว่า.....แม้ธรรมคืออริยสัจทั้งหลาย ที่พระพุทธเจ้าทุกๆองค์สอนไว้ ข้าพเจ้าก็ไม่มีความจำเป็นอะไร ที่จะต้องเข้าไปแตะต้องด้วย
พระสังฆปรินายกถามอีกว่า แล้วเดี๋ยวนี้ท่านอยู่ใน “ชั้นแห่งคุณวิเศษ” ชั้นไหนเล่า?
ภิกษุ ฮังฉิ ตอบอีกว่า.....จะมี “ชั้นแห่งคุณวิเศษ” อะไรที่ไหนเล่า ในเมื่อข้าพเจ้าปฏิเสธไม่เกี่ยวข้อง

ด้วย แม้กับอริยสัจที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายได้สอนไว้?

หากผู้ที่เริ่มศึกษาธรรมและยังไม่เข้าใจธรรมทั้งปวง อ่านข้อความที่ภิกษุ ฮังฉิ โต้ตอบกับพระสังฆปรินายก
แล้ว คงนึกในใจว่า ภิกษุรูปนี้คงเป็นภิกษุผู้มีปัญญาอันมืดบอดเพราะท่านไม่เกี่ยวข้องไม่ใส่ใจในอริยสัจซึ่งเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ได้ตรัสรู้ และคงจะออกอาการงงๆที่พระสังฆปรินายกได้ฟังการโต้ตอบธรรมของท่านฮังฉิแล้ว ถึงกับตั้งท่านฮังฉิเป็นหัวหน้าคณะในนิกายเซน
โดยแท้จริงแล้ว ในสายตาของพระสังฆปรินายก ภิกษุ ฮังฉิ ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์เรียบร้อยแล้ว
ท่านถึงกล้าแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะ เพื่อเผยแพร่ธรรมที่พระพุทธองค์ได้ประกาศไว้ให้คงอยู่ต่อไป

การที่เข้าไปแตะต้องในอริยสัจทั้งหลาย ก็คือการเอาจิตไปปรุงแต่งเรื่องอันเกี่ยวกับว่าอะไรคือทุกข์ อะไรคือเหตุทำให้เกิดทุกข์..........การที่เอาจิตเข้าไปปรุงแต่งก็คือการพิจารณาธรรมอันเกี่ยวกับอริยสัจนั่นเอง
การพิจารณา ก็คือ การปรุงแต่งทางจิตนั่นเอง เป็นสังขตธรรม เป็นอวิชชาตัณหาอุปาทานอย่างหนึ่ง****

การที่ภิกษุ ฮังฉิ ท่านตอบว่า ไม่มีชั้นแห่งคุณวิเศษอะไรที่ไหน หมายถึงท่านกำลังบอกว่า ท่านเองก็ไม่ใช้จิตปรุงแต่งว่าท่านบรรลุธรรมอะไรชั้นไหนอย่างใด ไม่ได้ใช้จิตปรุงแต่งเข้าไปบัญญัติว่าท่านเป็นพระอรหันต์

การพิจารณา หรือ การบัญญัติว่าบรรลุธรรม .....มันกลายเป็นเครื่องเสียดแทง มันคืออวิชชาอย่างหนึ่ง
ที่ทำให้ธรรมชาติแห่งธรรมล้วนๆอันเป็นสภาพนิพพานธรรมอันแท้จริงไม่ปรากฏไม่แสดงออก



โดย: นายเมฆ IP: 182.232.241.120 วันที่: 2 กรกฎาคม 2554 เวลา:4:52:55 น.  

 
พระสังฆปรินายกกล่าวไว้ว่า “เมื่อภาวะที่แท้แห่งจิตของเราปราศจากมลทิน ปราศจากความโง่
และปราศจากความกระวนกระวาย เมื่อเราตรวจตราภายในจิตของเราด้วยปรัชญาอยู่ทุกขณะโดยไม่ว่างเว้น เมื่อเราไม่ยึดติดอยู่กับสิ่งทั้งหลาย และไม่ยึดติดอยู่กับวัตถุที่ปรากฏ เราก็เป็นอิสระและเสรี
เราจะวางหลักเกณฑ์ในธรรมไปทำไม เมื่อเราอาจบรรลุจุดประสงค์ได้โดยไม่มีปัญหา ไม่ว่าเราจะเหลียวซ้ายหรือแลขวา....... ทั้งนี้เนื่องจากความพยายามของเราเองที่เราตระหนักชัด
ถึงภาวะที่แท้แห่งจิต และ เนื่องจากการตระหนักชัดกับการปฎิบัติธรรม นั้น
เป็นสิ่งที่ต้อง ปฏิบัติพร้อมกันไป ไม่ใช่ค่อยทำค่อยไปทีละขั้น ............
การวางหลักเกณฑ์ในธรรมจึงไม่จำเป็น เพราะธรรมทั้งหลาย ย่อมมีลักษณะเป็นนิพพานอยู่แล้วในเนื้อหา........เราจะสามารถไปกำหนดเป็นขีดขั้นได้อย่างไร? “


โดย: นายเมฆ IP: 182.232.241.120 วันที่: 2 กรกฎาคม 2554 เวลา:4:54:32 น.  

 
ข้อความบางส่วนที่น่าสนใจ...........ในสูตรเว่ยหล่าง
1.ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย จิตเดิมแท้ (essence of mind)ของเรา ซึ่งเป็นเมล็ดพืชหรือแก่นของการตรัสรู้นั้น เป็นของ”บริสุทธิ์ตามธรรมชาติ” และต้องอาศัย จิตเดิมแท้ นี้เท่านั้น มนุษย์เราจึงจะเข้าถึง
ความเป็นพุทธะได้โดยตรงๆ.

2.การที่ใครจะบรรลุอนุตตรสัมโพธิได้ ผู้นั้นจะต้องรู้แจ้งด้วยใจเอง ในธรรมชาติแท้ของตัวเอง หรือที่เรียกว่า
จิตเดิมแท้ อันเป็นสิ่งที่ใครสร้างขึ้นไม่ได้ หรือทำลายให้สูญหายไปก็ไม่ได้. ชั่วเวลาขณะจิตเดียวเท่านั้น
ผู้นั้นสามารถเห็นแจ้งจิตเดิมแท้ได้โดยตลอดกาลทั้งปวง ต่อจากนั้นทุกๆสิ่งก็จะเป็นอิสระจากการถูกกักขัง
กล่าวคือจะเป็นวิมุติหลุดพ้นไป. ตถตา(คือความเป็นแต่ที่เป็นอยู่เช่นนั้น ไม่อาจเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้,
ซึ่งเป็นชื่อของจิตเดิมแท้อีกชื่อหนึ่ง) ปรากฏขึ้นเป็นครั้งเดียวหรือชั่วขณะจิตเดียว ผู้นั้นก็จะเป็นอิสระจากความหลงได้ตลอดกาลไม่มีที่สิ้นสุด. ไม่ว่าสถานการณ์รอบข้างจะเป็นเช่นไร ใจของผู้นั้น ก็ยังคงอยู่ในสภาพแห่ง”ความเป็นเช่นนั้น”. สถานะเช่นนี้ ที่จิตได้ลุถึงนั่นแหละคือตัวสัจจธรรมแท้ ถ้าสามารถมองเห็น
สิ่งทั้งปวง โดยลักษณะการเช่นนี้ ก็จะได้รู้แจ้งจิตเดิมแท้ ซึ่งเป็นการตรัสรู้อันสูงสุด.

3.จิตเดิมแท้นั้น เป็นของบริสุทธิ์ อย่างบริสุทธิ์แท้จริง จิตเดิมแท้นั้น เป็นอิสระไม่อยู่ภายใต้อำนาจความต้องเป็นอยู่ หรือภายใต้ความดับสูญ อย่างอิสระแท้จริง จิตเดิมแท้นั้น เป็นสิ่งที่มีความสมบูรณ์อยู่ในตัวมันเองอย่างสมบูรณ์แท้จริง จิตเดิมแท้นั้น เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือความเปลี่ยนแปลง อย่างนอกเหนือแท้จริง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏออกมานี้ ไหลเทออกมาจากตัว จิตเดิมแท้.

4.มันเป็นการบังเอิญในวันนั้น เมื่อธงริ้วกำลังถูกลมพัดสะบัดพริ้วๆ อยู่ในสายลม ภิกษุสองรูปเกิดโต้เถียงกันขึ้นว่าสิ่งที่กำลังไหวสั่นระรัวอยู่นั้น ได้แก่ลมหรือได้แก่ธงนั้นเล่า เมื่อไม่มีทางตกลงกันได้ อาตมาจึง
เสนอข้อตัดสินให้แก่ภิกษุสองรูปนั้นว่า ไม่ใช่ลมหรือธงทั้งสองอย่าง ที่แท้จริงที่หวั่นไหวจริงๆนั้นได้แก่จิต
ของภิกษุทั้งสองรูปนั้นเองต่างหาก.

5.คนที่ไม่รู้จัก จิตเดิมแท้ ของตนเอง และยังแถมมีความเขลาไปว่า............. การบรรลุพุทธรรมนั้น มีได้ด้วยศาสนพิธีต่างๆที่กระทำกันทางกายภายนอก(ไม่เกี่ยวกับจิต) นี้แหละคือคนจำพวกที่เข้าใจอะไรได้ยาก.

6.ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย ผู้ใดอยากทำการปฏิบัติ(ทางจิต) จะทำที่บ้านก็ได้ ไม่มีความจำเป็นสำหรับคนเหล่านี้ ที่จะต้องอยู่ในสังฆาราม พวกที่ปฏิบัติตนอยู่กับบ้านนั้น อาจเปรียบกันได้กับชาวบ้านทางทิศตะวันออกที่ใจบุญ พวกที่อยู่ในสังฆาราม แต่ละเลยต่อการปฏิบัตินั้น ไม่แตกต่างอะไรไปจากชาวบ้าน
ที่อยู่ทางทิศตะวันตก แต่ใจบาป.

7.ผู้ที่มีใจเที่ยงธรรม การรักษาศีลไม่เป็นของจำเป็น
ผู้มีความประพฤติตรงแน่ว การปฏิบัติในฌานมันจะมีมาเอง(แม้จะไม่ตั้งใจทำ)

8.ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย การบำเพ็ญ “สมาธิที่ถูกวิธี” นั้น ได้แก่ การทำเป็นระเบียบตายตัว เพื่อให้เราเป็นคนตรงแน่วในทุกโอกาส ไม่ว่าคราวยืน นั่ง หรือนอน

9.ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย การนั่ง เพื่อการกัมมัฏฐานภาวนา? ในนิกายของเรานี้ การนั่ง หมายถึง
การได้รับอิสรภาพอันเด็ดขาด และมีจิตสงบได้ในทุกๆกรณีที่แวดล้อมเข้ามาจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายข้างดี หรือเป็นอย่างใดมา การกัมมัฏฐานภาวนานั้น หมายถึงการเห็นชัดแจ้งในภายใน ต่อ “ความแน่วไม่หวั่นไหว” ของจิตเดิมแท้.
10.เมื่อเราสามารถน้อมจิตของเราไปตามทางแห่งธรรมะอันแท้ และถูกตรงในทุกโอกาส และเมื่อปัญญาแจ่มแจ้งอยู่ในใจของเราไม่ขาดสาย จนกระทั้งเราสามารถตีตัวออกห่างเสียได้ทั้งจากความรู้แจ้งและความไม่รุ้ ไม่ข้องแวะด้วยความจริงหรือความเท็จ, เมื่อนั้นแหละ เราอาจจะถือว่า ตัวเราได้รู้แจ่มชัดแล้วใน
“ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ “ หรืออีกนัยหนึ่ง, ได้ลุถึงแล้วซึ่งพุทธภาวะ

11.ปรัชญา(ปัญญา) คือ “สิ่งที่ใจเป็น”
สมาธิ คือ “สิ่งที่พุทธะเป็น”
ในการบำเพ็ญปรัชญาและสมาธิ ต้องให้แต่ละอย่างลงจังหวะต่อกันและกัน
แล้วความคิดของเราก็จะบริสุทธิ์
คำสอนข้อนี้จะเข้าใจได้ ก็แต่โดยการ “ประพฤติดูจนช่ำชอง”
ที่ว่าสมาธิตั้งมั่นนั้น ที่จริงมิใช่สมาธิอะไรเลย
คำสอนที่ถูกต้องนั้นคือ ให้บำเพ็ญปัญญา คู่กันไปกับสมาธิ โดยไม่แยกกัน.

12.การเริ่มต้นปฏิบัติ “ด้วยการแสวงหานั้น” เป็นการถือเอาทางผิดโดยสิ้นเชิง
เพราะเมื่อสิ่งเหล่านี้มีอยู่ในเราเองแล้ว เรื่องของมันก็คือทำให้เห็นแจ้งออกมา ไม่ใช่เที่ยววิ่งแสวงหา.

13.การพยายามจะ “จับฉวย” หรือ “กุมตัว” สภาวธรรมเหล่านี้ เป็นการกระทำที่ขัดขวางต่อธรรมชาติแท้ของมันอย่างตรงกันข้าม

14.ฉันไม่รู้(สึกว่ามี) ธรรมะของพระพุทธเจ้าเลย

15.การทำจิตให้เป็นอิสระจากมลทินทั้งปวง คือ ศีลของภาวะที่แท้แห่งจิต
การทำจิตให้เป็นอิสระจากความกระวนกระวายทั้งหลาย คือสมาธิ ของภาวะที่แท้แห่งจิต
สิ่งที่ไม่เพิ่มขึ้นหรือลดลง นั่นแหละคือ วัชร (วัชร หมายถึง ภาวะที่แท้แห่งจิต)
การมา และ การไป เป็นสมาธิในขั้นต่างๆ
16.ความเป็นตัวตนนั้นไม่ใช่อะไร นอกจากเป็นภาพลวงอันเกิดจาก การประชุมกันของขันธ์ห้า
และภาพลวงนี้ ก็ไม่มีอะไรที่จะเกี่ยวข้องกับความจริงแท้.
17.การยึดมั่นว่า มีตถตา(ความเป็นเช่นนั้นเองไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอื่น)สำหรับเราที่จะยึดหมาย หรือ มุ่งไปสู่
ย่อมเป็นธรรมที่ไม่บริสุทธิ์อย่างหนึ่ง
18.ผู้เดินทาง ควรกำจัดความคิดทั้งมวลเสีย ความดีก็เช่นเดียวกับความชั่ว สิ่งนี้ย่อมเป็นเพียงหนทางที่เรียกกันว่า”ภาวะที่แท้แห่งจิต” เท่านั้น โดยแท้จริงแล้ว ย่อมไม่อาจเรียกเป็นชื่อใดๆได้ “ธรรมชาติอันไม่เป็นของคู่” นี้ คือ “ธรรมชาติที่แท้จริง”


โดย: นายเมฆ IP: 182.232.241.120 วันที่: 2 กรกฎาคม 2554 เวลา:4:56:35 น.  

 
write back to........me




suchambadee@hotmail.com


โดย: นายเมฆ IP: 182.232.241.120 วันที่: 2 กรกฎาคม 2554 เวลา:6:10:13 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Alex on the rock
Location :
มหาสารคาม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 42 คน [?]




Blog นี้เป็นพื้นที่ส่วนตัว เป็นความเห็นส่วนตัว ผู้อ่านอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อเขียนใน Blog กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยความสุภาพและเคารพสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญของเจ้าของ Blog ด้วย หากผู้อ่านที่แสดงความคิดเห็นไม่อาจจะปฏิบัติตามนี้ได้ เจ้าของ Blog สามารถลบความคิดเห็นของท่านโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบ
[Add Alex on the rock's blog to your web]